ติดตามผ่านช่อง : Siammongkol Youtube Channel

วิถี “ตลาดน้อย” ยุคตั้งต้น ชุมชน “จีน” กับความเฟื่องฟูที่ถูกผนวกรวมกับย่านสำเพ็ง

วิถี “ตลาดน้อย” ยุคตั้งต้น ชุมชน “จีน” กับความเฟื่องฟูที่ถูกผนวกรวมกับย่านสำเพ็ง

บรรยากาศแม่น้ำเจ้าพระยาสมัยก่อน (ภาพจากหนังสือ “Twentieth Century Impressions of Siam”)

ผู้เขียน
เสมียนนารี
เผยแพร่
วันเสาร์ที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ.2565

ย่านตลาดน้อย เป็นชุมชนจีนที่เกิดขึ้นมาจากการขยายตัวของสำเพ็งซึ่งเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของกรุงเทพฯ ในช่วงรัตนโกสินทร์ตอนต้น โดยที่บรรดาชาวจีนต่างพากันเรียกตลาดแห่งใหม่ที่ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของสำเพ็งซึ่งถือเป็นตลาดใหญ่ในขณะนั้นว่า “ตะลัคเกียะ” ซึ่งแปลเป็นไทยว่า “ตลาดน้อย” และด้วยความที่อยู่ใกล้กับสำเพ็งมากในบางครั้งตลาดน้อยจึงถูกเรียกในฐานะส่วนหนึ่งของสำเพ็งด้วย

สภาพโดยทั่วไปของตลาดน้อยมีลักษณะใกล้เคียงกับย่านเก่าอื่นๆ ในกรุงเทพฯ เช่น กฎีจีน ที่เป็นผลมาจากการผสมผสานกันระหว่างผู้คนหลายกลุ่มชาติพันธุ์และศาสนาโดยเริ่มเป็นชุมชนที่หนาแน่นมากขึ้นภายหลังจากกรุงศรีอยุธยาแตก ผู้คนจึงพากันอพยพลงมาทางใต้ และบางส่วนได้ตั้งถิ่นฐานอยู่ในบางกอก รวมทั้งกลุ่มคริสต์ศาสนิกชนชาวโปรตุเกสที่อพยพมารวมกันอยู่ที่วัดซางตาครู้สที่กุฎีจีน ซึ่งเป็นชุมชนใหญ่ในสมัยธนบุรี

แต่ต่อมาเกิดขัดแย้งกับบาทหลวงฝรั่งเศส จึงได้แยกตัวมาอยู่ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาในบริเวณตลาดน้อย ซึ่งก็อยู่ใกล้ๆ กับลานประหารนักโทษบริเวณป่าช้าวัดตะเคียน (วัดมหาพฤฒาราม) จึงให้ชื่อวัดใหม่ว่า “กาลวารี” ซึ่่งเป็นชื่อลานประหารนักโทษในเมืองเยรูซเล็มที่ใช้ตรึงกางเขนพระเยซู ต่อมาเรียก เพี้ยนกันไปจนกลายเป็น “กาลหว่าร์” ในปัจจุบัน

จนเมื่อรัชกาลที่ 1 ทรงย้ายเมืองมาอยู่ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา ชุมชนชาวจีนที่เคยอาศัยอยู่ทางย่านกุฎีจีนบางส่วนพากันอพยพมารวมกันอยู่ที่ตลาดน้อย ซึ่งในขณะนั้นยังมีสภาพเป็นชานพระนคร โดยชาวจีนกลุ่มแรกๆ ที่อพยพเข้ามาน่าจะเป็นชาวจีนฮกเกี้ยน ซึ่งได้สร้าง ศาลเจ้าโจวซือกง ศาลเจ้าเก่าแก่ที่สุดย่านนี้เอาไว้

ไม่เฉพาะแต่คริสตังโปรตุเกสและชาวจีนเท่านั้น เมื่อครั้งที่องค์เชียงสือและชาวญวนอพยพเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร รัชกาลที่ 1 ก็พระราชทานที่ดินทางด้านใต้พระนครให้กับชุมชนชาวญวณอาศัยอยู่และได้สร้างวัดอนัมนิกายเอาไว้ โดยเรียกกันทั่วไปว่าวัดญวนตลาดน้อย (วัดอุภัยราชบำรุง) เช่นเดียวกับชุมชนชาวญวนในย่านพาหุรัดและบางโพ

ตลาดน้อยกับท่าเรือ “โปเส็ง”

พัฒนาการของชุมชนย่านตลาดน้อยสัมพันธ์กับการเติบโตทางเศรษฐกิจของกรุงเทพฯ อย่างแนบแน่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อการค้าสำเภาเฟื้องฟูขึ้นในสมัยต้นกรุงเทพฯ เนื่องจากรัฐบาลเปิดโอกาสให้บรรดาพ่อค้าศักดินาซึ่งมีทั้ง “เจ้าและขุนนางเจ๊สัวราษฎรผู้มีทรัพย์” ทำให้การค้าสำเภาได้อย่างค่อนข้างเสรี พ่อค้าเอกชนชาวจีนส่วนหนึ่งที่มั่งคั่งขึ้นมาจากการค้าสำเภายังได้ผันตัวเองเข้าไปอยู่ในระบบศักดินาด้วยการเข้าเป็นขุนนางในกรมท่า ซึ่งเอกลักษณ์เช่นนี้เกิดขึ้นกับขุนนางชาวจีนในระดับกลางทั่วไป รวมทั้งพระอภัยวานิช (จาค) ชาวจีนฮกเกี้ยนตระกูลโปษยะจินดา ตระกูลเก่าแก่ในย่านตลาดน้อยด้วย

ท่าเรือ “โปเส็ง” ของพระอภัยวานิช (จาค) เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่เมื่อไหร่ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด แต่อย่างน้อยน่าจะรุ่งเรืองมาตั้งแต่ช่วงสมัยรัชกาลที่ 2 โดยที่เจ้าสัวจาคได้รับพระราชทานที่ดินริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาในบริเวณตลาดน้อยและได้สร้างอาคารสถาปัตยกรรมแบบจีนขึ้นหมู่หนึ่ง สำหรับอาคารที่ใช้เป็นที่พักนั้นได้ชื่อว่าบ้าน “โซวเฮงไถ่” อาคารทรงจีนบางส่วนยังคงเหลือให้เห็นอยู่ในปัจจุบัน

เช่นเดียวกับทางฝั่งตรงข้ามซึ่งเป็นท่าเรือใหญ่อีกแห่งหนึ่ง คือท่าเรือ “ฮวยจุ่งโล้ง” ท่าเรือกลไฟของพระยาพิศาลศุภผล (ชื่น) ต้นตระกูล พิศาลบุตร ต่อมาได้ขายให้แก่นายตันลิบบ๊วย แห่งตระกูล หวั่งหลี

การค้าสำเภาของท่าเรือ “โปเส็ง” นั้นส่วนมากแล้วเป็นสินค้าประเภทยาสมุนไพรที่นำมาจากภาคใต้ โดยดำเนินกิจการเรื่อยมาจนถึงรุ่นลูกคือ หลวงอภัยวานิช (สอน) แต่แล้วความรุ่งเรืองของท่าเรือ “โปเส็ง” ก็เป็นอันต้องประสบกับคลื่นลมจากการแข่งขันของเรือกำปั่นและเรือกลไฟที่เข้ามาพร้อมกับสนธิสัญญาเบาริ่ง ซึ่งมาแทนที่เรือสำเภาที่ใช้กันอยู่แต่เดิมในขณะที่พ่อค้าบางส่วนสามารถปรับตัวเองเข้าระบบการค้าเสรีแบบใหม่นี้ด้วยการผันตัวเองเข้าสู่ระบบเจ้าภาษีนายอากร ที่เติบโตขึ้นมาพร้อมกับการค้าต่างประเทศ แต่สำหรับท่าเรือ “โปเส็ง” กลับต้องค่อยๆ ปิดฉากตัวเองไปพร้อมๆ กับการอนิจกรรมของเจ้าสัวสอนในปี 2437

ในช่วงเวลาที่ท่าเรือโปเส็งยังคงรุ่งเรืองอยู่นั้น ย่านตลาดน้อยน่าจะกลายเป็นชุมชนที่หนาแน่นขึ้นมาเช่นเดียวกันกับชุมชนจีนสำเพ็งและราชวงศ์ ที่เติบโตขึ้นมาพร้อมๆ กันปริมาณเรือพาณิชย์ในแม่น้ำเจ้าพระยาและจำนวนแรงงานจีนอพยพบางส่วนที่หลั่งไหลเข้ามารวมกันอยู่ในชุมชนริมแม่น้ำด้านใต้พระนคร ซึ่งกลายเป็นแหล่งงานขนาดใหญ่ที่สุดของเมืองท่ากรุงเทพฯ ไปแล้ว

ความหลากหลายของจีนกลุ่มต่างๆที่เข้ามานี้เห็นได้จากจำนวนศาลเจ้าทั้งของชาวจีนแต้จิ๋ว ฮกเกี้ยน ไหหลำ และจีนแคะในบริเวณตลาดน้อย ที่สร้างขึ้นมาในช่วงเวลาดังกล่าว รวมทั้งคริสตังชาวจีนบางส่วนที่มักมาอาศัยรวมกันอยู่ที่วัดกาลหว่าร์ ซึ่งทำหน้าที่ศูนย์กลางของคริสตังชาวจีน

 

อ้างอิง :

นิภาพร รัชตพัฒนากุล. “‘เจ๊ก’ ในบางกอก…” ใน, ศิลปวัฒนธรรม ฉบับกุมภาพันธ์ 2546

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 10 พฤศจิกายน 2560

Source: https://www.silpa-mag.com/history/article_12832

The post วิถี “ตลาดน้อย” ยุคตั้งต้น ชุมชน “จีน” กับความเฟื่องฟูที่ถูกผนวกรวมกับย่านสำเพ็ง appeared first on Thailand News.