ติดตามผ่านช่อง : Siammongkol Youtube Channel

จุดประสงค์การขุด “คลอง” ในประวัติศาสตร์ไทย ที่แปรเปลี่ยนไปตามยุคสมัย อย่างไร?

จุดประสงค์การขุด “คลอง” ในประวัติศาสตร์ไทย ที่แปรเปลี่ยนไปตามยุคสมัย อย่างไร?

โกดังสินค้าริมคลองบางหลวง (ภาพจาก หนังสือ แม่น้ำลำคลอง สำนักพิมพ์มติชน, 2555)

ผู้เขียน
กลับบางแสน
เผยแพร่
วันพุธที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ.2565

ในบทความเรื่อง คลองกับระบบเศรษฐกิจของไทย พ.ศ. 2367-2453 ของ กิตติ ตันไทย ได้อธิบายถึงการขุดคลองในเมืองไทยในอดีตว่ามีวัตถุประสงค์แท้จริงเพื่ออะไร รวมทั้งอธิบายถึงเมื่อขุดคลองแล้วผลประโยชน์ที่แท้จริงเกิดขึ้นกับผู้ขุดคลองหรือราษฎรในท้องถิ่นนั้นๆ หรือไม่อย่างไร

นอกจากนี้ บทความได้พาไปทำความเข้าใจเกี่ยวระบบกรรมสิทธิ์ในปัจจัยการผลิตที่เกิดขึ้นจากคลอง รวมทั้งเข้าใจถึงการขยายตัวของผลผลิตที่เกิดขึ้นจากการขุดคลองด้วย ซึ่งบทความดังกล่าวนี้ได้ตอบโต้ “ทฤษฎีสังคมพลังน้ำ” (hydraulic society) ของ วิตโฟเกล (wittfogel) ที่อธิบายว่าสังคมของเอเชียเป็นสังคมพลังน้ำ โดยที่ราษฎรเพาะปลูกโดยอาศัยการชลประทานเป็นสำคัญ แต่ กิตติ ตันไทย มองว่าไม่รัดกุมมากพอ เพราะละเลยหลักฐานทางประวัติศาสตร์จึงได้อธิบายความสำคัญของคลองของแต่ยุคสมัยในประวัติศาสตร์ดังนี้

คลองขุดสมัยอยุธยาและต้นรัตนโกสินทร์ พบว่ามีจุดมุ่งหมายเพื่อการคมนาคม อาจจะมีการขุดคลองเพื่อยุทธศาสตร์บ้างตามสถานการณ์ความจำเป็น ส่วนการขุดคลองเพื่อเพาะปลูกมีแค่วงแคบๆ ซึ่งพบว่าคลองในสมัยอยุธยาและต้นรัตนโกสินทร์แบ่งออกเป็น 3 ลักษณะ คือ “คลองภายในเมือง”, “คลองลัด” และ “คลองเชื่อม” โดยที่ คลองภายในเมือง ขุดขึ้นเพื่อป้องกันข้าศึกรุกรานโดยเป็นแนวกันทางธรรมชาติที่ช่วยป้องกันข้าศึก อย่างเช่น การขุด “คลองขื่อหน้า” ในสมัยอยุธยาเพื่อให้มีแม่น้ำล้อมรอบตัวเมืองทุกด้าน เป็นต้น หรือ สมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงให้ขุดคลองหลอด เพื่อป้องกันข้าศึก แต่ในขณะเดียวกันก็เพื่อการคมนาคมสะดวกมากยิ่งขึ้น

คลองลัด มีจุดประสงค์ในการขุดเพื่อย่นระยะทางคมนาคมให้สั้นลง เพื่อที่ให้ราษฎรไปมาได้สะดวกรวดเร็วในการประกอบอาชีพ อย่างเช่น คลองบางกอกใหญ่ (พ.ศ. 2065) เป็นต้น

คลองเชื่อมแม่น้ำ เป็นการขุดเพื่อการคมนาคมมากกว่าเพราะปลูก เพราะรัฐบาลห้ามขายข้าวออกนอกประเทศ ทำให้รัฐบาลและชาวนาขาดแรงกระตุ้นในการเพิ่มผลผลิตข้าว อย่างเช่น คลองสุนัขหอน คลองบางขุนเทียน เป็นต้น

คลองขุดสมัยรัชกาลที่ 4 กล่าวโดยทั่วไปแล้ว คลองขุดสมัยนี้ส่วนใหญ่ขุดเพื่อการคมนาคมและการค้าขายเป็นสำคัญ เห็นได้ชัดหลังจากที่ไทยทำสัญญาบาวริ่ง ส่งผลให้ภาวะเศรษฐกิจบ้านเมืองมีความเจริญรุ่งเรืองขึ้นมาก โดยเฉพาะการค้าอ้อยและน้ำตาล อย่างเช่น การขุดคลองภาษีเจริญ (พ.ศ. 2410) เพื่อเชื่อมแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำท่าจีน และแม่น้ำแม่กลองเข้าด้วยกัน ทำให้การคมนาคมระหว่างกรุงเทพฯ กับราชบุรี และสมุทรสาครสะดวกยิ่งขึ้น ทั้งยังเกื้อหนุนการขนส่งอ้อยและน้ำตาลอีกด้วย

คลองขุดสมัยรัชกาลที่ 5 กล่าวโดยทั่วไปแล้วจะเห็นได้ว่า เป็นการขุดคลองเพื่อคมนาคมและขยายพื้นที่เพาะปลูกมากกว่าชลประทาน กล่าวคือ เมื่อภาวะการค้าน้ำตาลเสื่อมลงในปลายปี 2410 และข้าวเริ่มมามีบทบาทกลายเป็นสินค้าที่ทำรายได้หลักให้แก่ประเทศ ภาวะดังกล่าวทำให้แนวคิดในการขุดคลองเพื่อการคมนาคมและการเกษตรควบคู่กันไป ซึ่งคลองในสมัยรัชกาลที่ 5 อาจแบ่งได้เป็น 3 ประเภท คือ “คลองที่รัฐบาลขุด”, “คลองที่บริษัทคลองคูนาสยามขุด” และ “คลองที่เอกชนขุด”

คลองที่รัฐบาลขุด มีการขุดคลองถึง 8 คลอง เช่น คลองเปรมประชากร (พ.ศ. 2421) ขุดเพื่อย่นระยะคมนาคมระหว่างอยุธยากับกรุงเทพฯ และขยายพื้นที่การเพาะปลูกพร้อมกันด้วย รวมทั้งสมัยนี้ได้มีพระราชบัญญัติประกาศขุดคลอง พ.ศ. 2420 ที่กำหนดว่า ราษฎรที่ต้องการทำนาจะต้องช่วยขุดคลองหรือใช้แรงงาน พร้อมทั้งรัฐบาลจะงดเว้นค่านาและค่าสมพัตสร 3 ปี ทำให้การขุดคลองเพื่อการเพาะปลูกมีมากยิ่งขึ้น อย่างเช่น คลองประเวศบุรีรมย์ คลองทวีวัฒนา เป็นต้น

คลองที่บริษัทคลองคูนาสยามขุด จากภาวะการค้าและราคาข้าวที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว ทำให้ราษฎรต้องการที่ดินปลูกข้าวมากขึ้น ที่ดินริมคลองจึงมีราคาตามไปด้วย สภาวะเช่นนี้กระตุ้นให้เอกชนกระตือรือร้นที่จะขุดคลองขายที่ดินเพิ่มขึ้น ด้วยเหตุนี้ พระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์ได้ร่วมกับนายโยกิม แกรซี่ พระนานพิธภาษี และนายยม ตั้งบริษัทขุดคลองและคูนาสยามขึ้น เพื่อทำการขุดคลอง เช่น คลองรังสิตประยูรศักดิ์ เป็นต้น

คลองที่เอกชนขุด ขุดเพื่อต้องการกรรมสิทธิ์ที่ดินสองฝั่งคลอง เพราะมีกำไรมาก เช่น คลองพระยาบรรฦา คลองบางพลีใหญ่ เป็นต้น

จากที่กล่าวมาข้างต้นจะเห็นได้ว่าบทความชิ้นนี้ต้องการที่จะอธิบายถึงจุดเปลี่ยนที่สำคัญของการขุดคลอง จากแต่เดิมขุดคลองเพื่อการคมนาคมเป็นหลัก สู่การขุดคลองเพื่อขยายพื้นที่เพาะปลูก โดยบทความนี้ได้อธิบายว่า สัญญาบาวริ่ง ที่ทำกับอังกฤษใน พ.ศ. 2398 เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ เพราะภาวะการค้าข้าวเริ่มขยายตัวอย่างรวดเร็ว รัฐบาลจึงเร่งเพิ่มปริมาณผลิตข้าว เห็นได้ชัดจากการที่รัฐบาลส่งเสริมให้มีการขุดคลองเพื่อบุกเบิกที่นา ซึ่งดำเนินการอย่างกว้างขวางทั้งภาครัฐและเอกชน

นโยบายการขุดคลองเพื่อวัตถุประสงค์ใหม่ขยายตัวอย่างต่อเนื่องมาในสมัยรัชกาลที่ 5 ปรากฏว่ามีการขุดคลองถึง 15 คลอง (พ.ศ. 2413-2447) ผนวกกับนโยบายเลิกทาสและเลิกไพร่ ทำให้พวกไพร่มีอิสระและเป็นกำลังสำคัญในการผลิตข้าว สะท้อนให้เห็นว่าการขุดคลองในช่วงนี้ประสบความสำเร็จเพื่อวัตถุประสงค์ใหม่ คือ ขุดคลองเพื่อเพิ่มผลผลิตข้าว

ประเด็นต่อมาที่จะตอบปัญหาตั้งแต่บทความได้ถามไว้ข้างต้น คือ เมื่อขุดแล้วผลประโยชน์ที่แท้จริงเกิดขึ้นกับผู้ขุดคลองหรือราษฎรในท้องถิ่นนั้นๆ บทความชิ้นนี้ได้อธิบายว่าผลของการขุดคลองได้ขยายพื้นที่เพาะปลูกเพิ่มขึ้นอย่างมากมาย โดยการถือครองที่ดินมี 2 กรณี คือ การถือที่ดินโดยการได้รับพระราชทาน จะมอบแก่พวกพระราชโอรส พระราชธิดา เป็นต้น และการถือครองที่ดินโดยการจับจอง โดยการจับจองครองที่ดินริมฝั่งคลอง ราษฎรจะต้องออกเงินช่วยเสียค่าขุด

ซึ่งคนที่ได้ผลประโยชน์มากสุดคือ เจ้านาย ขุนนาง และผู้มีทรัพย์ เพราะมีฐานะดีและมีทุนทรัพย์ ประกอบกับระเบียบวิธีการจับจองที่เอื้ออำนวยให้กับคนกลุ่มนี้มากกว่าราษฎรทั่วไป ส่วนชาวนาที่ไม่มีทุนทรัพย์ต้องเช่าที่นาของผู้มีบรรดาศักดิ์และผู้มีทรัพย์เพื่อเลี้ยงชีพ นอกจากนี้ชาวนายังต้องเสียค่านาเองอีกด้วย นับว่าเจ้าของนาเหล่านี้ “ทำนาบนหลังคน” อยู่อย่างสุขสบายภายใต้การขูดรีดชาวนา

กล่าวโดยสรุปคือ การขุดคลองตั้งแต่สมัยอยุธยา จนถึงสมัยรัชกาลที่ 3 นั้น ส่วนใหญ่ขุดขึ้นเพื่อการคมนาคม หรืออาจจะใช้เพื่อการยุทธศาสตร์ป้องกันข้าศึกเป็นสำคัญ แต่เมื่อถึงช่วงรัชกาลที่ 4 เริ่มมีนโยบายเปลี่ยนแปลงวัตถุประสงค์ในขุดคลองแต่ก็ยังไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก แต่ผลของสนธิสัญญาบาวริ่ง เกี่ยวกับการค้าข้าว ได้ส่งผลกระทบมายังรัชสมัยต่อมา คือ รัชกาลที่ 5 ที่เปลี่ยนนโยบายการขุดคลองเพื่อการคมนาคมอย่างเดียว มาเป็นการขุดเพื่อคมนาคมและขยายพื้นที่การเพาะปลูกควบคู่กันไป

แม้ “ทฤษฎีสังคมพลังน้ำ” (hydraulic society) ของ วิตโฟเกล (wittfogel) ที่อธิบายว่าสังคมไทยขุดคลองเพื่อเพาะปลูกเป็นสำคัญ แต่จากบทความนี้ได้ตอบคำถามอย่างชัดเจน ที่พบว่ามีข้อขัดแย้งกับข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ เนื่องจากการขุดคลองในประวัติศาสตร์ไทยไม่ใช่การขุดคลองเพื่อการชลประทานอย่างเดียวตาม “ทฤษฎีสังคมพลังน้ำ” (hydraulic society)

 

อ้างอิง :

กิตติ ตันไทย. (2527). คลองกับระบบเศรษฐกิจของไทย พ.ศ. 2367-2453. ในหนังสือ ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจไทยจนถึง พ.ศ. 2484. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 6 กรกฎาคม 2565

Source: https://www.silpa-mag.com/history/article_89320

The post จุดประสงค์การขุด “คลอง” ในประวัติศาสตร์ไทย ที่แปรเปลี่ยนไปตามยุคสมัย อย่างไร? appeared first on Thailand News.