ติดตามผ่านช่อง : Siammongkol Youtube Channel

ความเป็นกรุงเทพฯ ที่แท้จริง เริ่มสมัยรัชกาลที่ 3

ความเป็นกรุงเทพฯ ที่แท้จริง เริ่มสมัยรัชกาลที่ 3

กรุงเทพฯ ฝั่งตะวันออกแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณพระบรมมหาราชวัง เห็นพื้นที่สนามหลวงอยู่มุมซ้ายบน ตอนล่าง คือท่าราชวรดิษฐ์ (ภาพจาก กรุงเทพฯ 2489-2539)

ที่มา
กรุงเทพฯ มาจากไหน?, สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก กุมภาพันธ์ 2548
ผู้เขียน
สุจิตต์ วงษ์เทศ.
เผยแพร่
วันเสาร์ที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ.2565

กรุงเทพฯ ไม่ได้สร้างเสร็จในปีเดียว แม้ในแผ่นดินเดียว คือ แผ่นดินรัชกาลที่ 1 ก็สร้างไม่เสร็จ เพราะยังมีศึกสงครามติดพัน หลายครั้งหลายคราว ภายในกําแพงพระนครด้านทิศตะวันออกยังเป็นป่า เมื่อปลายแผ่นดินรัชกาลที่ 1 เพิ่งเริ่มบุกเบิกสร้างวัด แต่เรียบร้อยในรัชกาลที่ 2 คือวัดสุทัศน์ แม้พื้นที่ด้านหน้าวัดพระเชตุพนทางตะวันออกครั้งนั้นก็ยังไม่ได้ปรับปรุง ยังเป็นป่าช้าที่ฝังศพด้วยซ้ำไป

ความเป็นกรุงเทพฯ อย่างแท้จริง มีขึ้นอย่างชัดเจนเมื่อแผ่นดินรัชกาลที่ 3 เพราะการสงครามห่างหายไป ความมั่งคั่งจากการค้าสําเภามีมากขึ้น ทําให้มีการก่อสร้างวัดวาอารามและอาคารสถานที่กระจายทั่วไปทั้งภายในและภายนอกกําแพงพระนคร โดยเฉพาะบริเวณสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาตั้งแต่ตัวเมืองลงไปทางทิศใต้ ซึ่งเป็นย่านการค้าสําเภากับต่างประเทศ แล้วเป็นเหตุให้มีการตัดถนนสายแรกในรัชกาลที่ 4 คือ ถนนเจริญกรุง รวมทั้งสองฝั่งคลองบางกอกใหญ่กับแยกคลองด่านไปทางบางขุนเทียน

แผนที่กรุงเทพฯ ในสมัยรัชกาลที่ 3 จะเห็นความหนาแน่นของชุมชนเมืองอย่างชัดเจน (ภาพจาก กรุงเทพฯ 2489-2539)

 

แต่ภายในกําแพงพระนครเอง ก็ใช่ว่าจะสวยสดงดงามไปเสียทุกอย่าง เพราะชุมชนย่านวัดสุทัศน์ที่เป็นวัดสําคัญอีกแห่งหนึ่งของพระนคร ยังมีที่รกร้างว่างเปล่าอยู่โดยรอบ มีคนจนยาจก วณิพกอนาถาทําเพิงพักซุกหัวนอน แล้วมี “แขกเลี้ยงวัว” อยู่ในที่รกร้างแห่งนั้นต่อเนื่องไปถึงบริเวณสี่แยกคอกวัว ถนนราชดําเนิน ทุกวันนี้ เรื่องนี้มีร่องรอยอยู่ในบทละครตลกเสียดสีเรื่องระเด่นลันได ของพระมหามนตรี (ทรัพย์) กวีสมัยรัชกาลที่ 3

เรื่องย่อระเด่นลันไดมีว่า ในครั้งนั้นมีแขกฮินดูคนหนึ่งชื่อ ลันได อาศัยอยู่ในบริเวณเสาชิงช้าตรงหน้าโบสถ์พราหมณ์ เที่ยวสีซอขอทานเลี้ยงอาตมา ลันไดพูดไทยไม่ค่อยได้ เพราะเป็นแขกเทศมาแต่นอก จึงหัดร้องเพลงขอทานเรื่องสุวรรณหงส์ ได้เพียงสองสามคําว่า “สุวรรณหงส์ถูกหอกอย่าบอกใคร บอกใครก็บอกใคร” ร้องทวนไปมาอยู่ได้เพียงเท่านี้

ในตอนนั้นยังมีแขกอินเดียอีกคนหนึ่ง เรียกกันว่า แขกประดู่ ตั้งคอกเลี้ยงวัวอยู่ที่ตรงแถวริมคลองหลอดระหว่างสี่แยกคอกวัวไปถึงเชิงสะพานมอญที่ใดที่หนึ่ง นายประดู่นี้มีเมียเป็นแขกมาจากเมืองมลายู ชื่อ นางประแดะ จนเกิดมีเรื่องผิดฝาผิดตัวกันขึ้นอื้อฉาว

รายละเอียดของท้องเรื่องนั้นจะเป็นจริงอยู่บ้าง หรือพระมหามนตรีคิดเสริมขึ้นให้ขบขันไม่ทราบได้ แต่ส่วนที่เป็นจริงและปฏิเสธไม่ได้ก็คือ ย่านเสาชิงช้าสมัยนั้นยังล้าหลังรุงรังเป็นเรือกสวนและป่าผลไม้ที่มีชุมชนแขกเลี้ยงวัวอยู่อย่างยากจน

กรุงเทพฯ ในโลกกว้างทางการค้า สมัยรัชกาลที่ 3

รัฐบาลยุคต้นกรุงเทพฯ สนใจการค้าต่างประเทศมากเพราะเป็นแหล่งรายได้สําคัญมาทดแทนรายได้ที่ขาดหายไป อันเนื่องมาจากการเสื่อมของระบบราชการที่ไม่อาจเกณฑ์แรงงานไพร่ได้ดังก่อน ทําให้ต้องหารายได้ไว้จ้างแรงงานมากขึ้น

ภาพลายเส้นกรุงเทพฯ ในสายตาชาวตะวันตกสมัยรัชกาลที่ 3 ที่เห็นความหนาแน่นของเรือนแพในแม่น้ำเจ้าพระยา (ภาพจาก กรุงเทพฯ 2489-2539)

 

ประสบการณ์ทางการค้ากับต่างประเทศนั้น พระเจ้าแผ่นดินในราชวงศ์จักรีทรงมีอยู่แล้วอย่างกว้างขวางมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ถึงแผ่นดินรัชกาลที่ 3 จึงทรงพยายามเปิดให้มีการค้าค่อนข้างเสรี แต่การค้าที่ค่อนข้างเสรีนี้ยังจํากัดอยู่เฉพาะกลุ่มชนชั้นสูง แม้พ่อค้าจีนเอกชนก็ต้องพึ่งพาชนชั้นสูง

รัชกาลที่ 3 ทรงได้รับยกย่องว่าเป็นเจ้าสัวมาตั้งแต่ครั้งดํารงพระยศเป็นกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ในแผ่นดินรัชกาลที่ 2 เพราะทรงค้าสําเภาอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะค้ากับจีน เรื่องนี้ นายมี หรือหมื่นพรหมสมพัตสร กวีในแผ่นดินรัชกาลที่ 3 เขียนเพลง ยาวสรรเสริญพระเกียรติไว้ว่า

  เรือไหหลําสําเภาเหล่ากําปั่น    สมอทอดจอดเป็นหลั่นจีนฝรั่ง

แต่งบรรณามาถวายไม่วายครั้ง     สิ่งของคั่งกันเข้าก็เยาลง

แพรผ้าลายขายถูกไปทุกสิ่ง         พวกชายหญิงนิยมสมประสงค์

นุ่งลายอย่างกางเพลาะเที่ยวเหยาะยง  จนนุ่งลงทํางานการนิคม

เพื่อให้คนรุ่นหลังรู้ว่าสมัยต้นกรุงเทพฯ มีการค้าสําเภากับคนจีนจนร่ำรวย ที่วัดทองนพคุณ ฝั่งธนบุรี กับที่วัดยานนาวาฝั่งพระนคร จึงสร้างเรือสําเภาจําลองไว้เป็นพยาน

สําเภาที่ไปจากสยามมักจะเข้าเทียบท่าตามเมืองท่าต่างๆ เช่น กวางตุ้ง เคียงมุ้ย และจางลิ้ม ล้วนอยู่ในมณฑลกวางตุ้ง เอ้หมึง ในมณฑลฮกเกี้ยน เลี่ยงโผในมณฑลจีเกียง เซี่ยงไฮ้และโซจิว ในมณฑลกังหนํา กับเมืองท่าอีกหลายเมืองในเกาะไหหลํา สําเภาเกือบทุกลําล้วนต่อในสยามทั้งสิ้น

สินค้าที่บรรทุกไปจากสยาม เช่น พริกไทยดํา น้ำตาลทรายขาว ดีบุก กระวาน ไม้กฤษณา ไม้ฝาง ไม้โกงกาง ไม้แดง ฝ้าย งาช้าง ครั่ง ข้าวสาร หมากแห้ง ปลาเค็ม หนังสัตว์ป่าทุกชนิด หนังงู หนังกระเบน กระดองเต่า เขาสัตว์ นอแรด กระดูกสัตว์ เอ็นกวาง ขนนกกระทุง นกยูง นกกระเต็น นกกระสา รังนก และอื่นๆ

ตอนขากลับ สําเภาทุกลําจะบรรทุกสินค้าเมืองจีนมาขายในสยาม เช่น ถ้วยชามเนื้อหยาบ เครื่องเคลือบ สังกะสีแท่ง ปรอท ชา เส้นหมี่ ผลไม้ แห้ว ไหมดิบ ผ้าและแพรหลายชนิด รองเท้า พัด ร่ม กระดาษเขียนหนังสือ กระดาษเงินกระดาษทอง ธูปกระเทียมดองบรรจุไห ตุ๊กตาจีน และอื่นๆ

ตอนขากลับนี้จะมีคนจีนโดยสารเรือเข้ามาในสยามด้วย บางลํามีมากถึง 1,200 คน แต่ละปีจะมีคนจีนเข้ามาถึงกรุงเทพฯ ราว 7,000 คน

ประเทศคู่ค้าสําคัญที่สุดคือจีน นอกจากนั้นก็ค้ากับประเทศใกล้เคียง รวมทั้งค้ากับอังกฤษผ่านอาณานิคม

ลักษณะการค้าเป็นแบบการค้าส่งผ่าน คือขนสินค้าที่ผลิตในเมืองจีนไปขาย เพื่อซื้อสินค้าพื้นเมืองจากประเทศใกล้เคียง เช่น รง ไหม ผ้าไหม หนังสัตว์ งาช้าง กฤษณา ฯลฯ อันเป็นสินค้าสําหรับตลาดเมืองจีน ส่วนการค้ากับยุโรปมักผ่านหมู่เกาะอินเดียตะวันออก โดยเฉพาะที่เมืองปัตตาเวียและเมืองท่าอื่นๆ ของเกาะชวา โดยกรุงเทพฯ เอาสินค้าประเภทอาหาร เช่น ปลาแห้งและข้าวไปขายแล้วซื้อสินค้าจากยุโรปกลับมา

นอกจากนั้นยังส่งช้างและดีบุกไปขายทางเมืองท่าของอินเดียใต้หรือโจฬมณฑล แล้วซื้อผ้าชนิดต่างๆ จากอินเดียใต้กลับมา

จํานวนเรือจากสยามที่ไปค้าขายกับประเทศต่างๆ มีบันทึกว่าประมาณปีละ 200 ลํา จํานวนหนึ่งในสี่ของทั้งหมดค้าขายกับบ้านเมืองต่างๆ ทางแหลมมลายูของอังกฤษและเมืองแถบนั้นมากยิ่งกว่าประเทศอื่นๆ ยกเว้นกับจีน

ขอบเขตการค้ายุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ มีร่องรอยอยู่ในวรรณกรรม เรื่องพระอภัยมณีของสุนทรภู่ได้ระบุรายชื่อบ้านเมืองต่างๆ ที่มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกันทั้งการค้าและการเมืองในยุคนั้น ดังนี้ผลของการค้าสําเภาทําให้เกิดความมั่งคั่งและมั่งมี บางกลุ่มได้เป็นเศรษฐีมหาศาล มีการแบ่งทรัพย์สินส่วนเกินก่อสร้างสถูป สถานทางศาสนาเพื่อหวังผลกุศลบุญราศีในอนาคต ทั้งบริเวณในเมือง นอกเมือง และชานเมืองของกรุงเทพฯ

พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงได้รับยกย่องว่าทรงเป็นพระเจ้าแผ่นดินที่สร้างสรรค์กรุงเทพฯ ให้เป็นราชธานีที่ยิ่งใหญ่และสมบูรณ์ที่สุด ดังเห็นได้จากวัดวาอารามที่สร้างขึ้นในสมัยนี้มีจำนวนมาก แสดงให้เห็นการขยายตัวของกรุงเทพฯ อย่างแท้จริง เช่น

กลุ่มวัดในคลองด่าน คือวัดราชโอรส วัดหนัง วัดนางนอง และวัดอีกหลายวัดเรียงรายอยู่สองฝั่ง

วัดเฉลิมพระเกียรติที่เมืองนนทบุรี

วัดเทพธิดารามและวัดราชนัดดารามที่อยู่ในกําแพงเมือง

วัดที่พระองค์ทรงสร้างและปฏิสังขรณ์มักมีศิลปะสถาปัตยกรรมแบบจีน

แต่ที่เป็นสัญลักษณ์สําคัญที่สุดคือ วัดอรุณราชวราราม ที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา พระองค์ทรงออกแบบและควบคุมการก่อสร้างด้วยพระองค์เองให้เป็นพระธาตุหลวงถวายเป็นพระราชกุศลให้กับพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระราชบิดาของพระองค์

นอกจากนั้น ยังโปรดให้ สร้างพระพุทธรูปขนาดใหญ่ไว้ที่ วัดกัลยาณมิตรเทียบเท่าพระพุทธรูปประธานในวิหารวัดพนัญเชิง กรุงเก่า แล้วโปรดให้สร้างเจดีย์ภูเขาทองไว้ริมคลองมหานาคที่วัดสระเกศ เทียบเท่าเจดีย์ภูเขาทองริมคลองมหานาคที่กรุงเก่าด้วย แต่มาสําเร็จสมบูรณ์ในรัชกาลหลัง

วัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร ตั้งอยู่บริเวณปากคลองบางหลวง (คลองบางกอกใหญ่) (ภาพจาก กรุงเทพฯ 2489-2539)

 

ทั้งหมดนี้คือสัญลักษณ์ของการสร้างราชธานีใหม่ให้ยิ่งใหญ่เสมอกรุงศรีอยุธยาอย่างแท้จริง

วัด เป็นศูนย์กลางของชุมชนชาวสยามมาแต่ไหนแต่ไร เป็นมาแต่ดึกดําบรรพ์โพ้น ตั้งแต่ยุคทวารวดี ยุคศรีอยุธยา สืบมาถึงทุกวันนี้ วัดอยู่ตรงไหน ชุมชนอยู่ตรงนั้น ฉะนั้นถ้าจะเข้าใจ ชุมชนกรุงเทพฯ ในอดีต ก็ต้องรู้จักวัดในกรุงเทพฯ ก่อน แล้วจะมองเห็นชุมชน ร่องรอยเรื่องนี้มีอยู่ในเพลงยาวสรรเสริญพระเกียรติรัชกาลที่ 3 ที่เสมียนมีแต่งไว้ มีรายชื่อวัด ประวัติย่อผู้สร้าง บางทีก็มีประวัติศาสตร์ที่พงศาวดารไม่ได้จดไว้ซ่อนอยู่ด้วยว่า โปรดการสร้างวัดเพราะค้าสําเภามีกําไรมั่งคั่งจนถึงขนาดเป็นที่รู้ทั่วกันครั้งนั้นว่า

ทูลเรื่องอื่นมิได้ชื่นเหมือนเรื่องวัด เวียนแต่ตรัสถามไม่ให้ใฝ่ฝัน

ถึงวัดนั้นวัดนี้เป็นนิรันดร์  ถึงเรื่องนั้นเขียนถากสลักกลึง

สร้างวัด ขยายชุมชน

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ โปรดให้ปฏิสังขรณ์วัดสะแก เมื่อเสร็จแล้วได้ชื่อใหม่ว่า วัดสระเกศ

มีคําบอกเล่าสืบมาว่า เดิมเป็นวัดเล็กๆ ในหมู่บ้านกลางทุ่ง เมื่อเสด็จยกทัพกลับจากรบเขมรก่อนปราบดาภิเษกได้แวะอาบน้ำกับสระหัวที่วัดนี้จึงให้นามเมื่อปฏิสังขรณ์เสร็จว่า วัดสระเกศ แล้วให้เป็นที่เผาศพคนในเมืองที่หามออกทางประตูผี คราวเกิดโรคระบาดมีฝูงแร้งลงกินซากศพเต็มไปหมดจนได้ชื่อ แร้งวัดสระเกศ

ครั้นปลายรัชกาล โปรดให้อัญเชิญชะลอพระศรีศากยมุนี พระพุทธรูปทองสัมฤทธิ์องค์ใหญ่ในวิหารหลวงวัดมหาธาตุเมือง สุโขทัย ลงมาเป็นประธานในวิหารหลวงวัดที่ทรงสร้างขึ้นใหม่ไว้กลางพระนคร ตรงบริเวณที่สวนรกร้างว่างเปล่าตามแบบวิหารหลวงวัดพนัญเชิงกรุงศรีอยุธยา ภายหลังได้ชื่อว่า วัดสุทัศน์

วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร ด้านหน้ามีเสาชิงช้าโบราณสถานประจำเทวสถานโบสถ์พราหมณ์(ภาพจาก กรุงเทพฯ 2489-2539)

 

บริเวณที่สร้างวัดขึ้นใหม่นี้ ต่อไปจะมีเทวสถานเรียก โบสถ์พราหมณ์ และเสาชิงช้าในคติพราหมณ์ กับเป็นย่านตลาดเรียก ตลาดเสาชิงช้าหน้าโบสถ์พราหมณ์ มีวณิพกยากจนจํานวนมาก ชุมนุมขอทานอยู่บริเวณนี้ และเหตุจากขอทานผอมโกโรโกโส เหมือนเปรต เลยเรียกพวกนี้ว่า เปรตวัดสุทัศน์

ทั้งบริเวณวัดสระเกศและวัดสุทัศน์ล้วนเป็นพื้นที่เรือกสวนไร่นามาก่อน ฉะนั้นการปฏิสังขรณ์และสร้างวัดขึ้นใหม่จึงเท่ากับขยายชุมชนไปสู่บริเวณรกร้างว่างเปล่าให้มีถิ่นฐานบ้านเรือนขึ้นมาในพระนคร ซึ่งจะยิ่งเห็นผลในรัชกาลต่อๆ ไป เช่นรัชกาลที่ 3 โปรด ให้สร้างวัดเทพธิดารามกับราชนัดดา คู่กันอยู่ใกล้ๆ วัดสุทัศน์ เป็นต้น นอกจากนั้นยังโปรดฯ ให้สร้างวัดวาอารามตามเส้นทาง คลองด่านที่ผ่านย่านบางขุนเทียน เช่น วัดราชโอรส วัดนางนอง วัดหนัง และวัดอื่นๆ เรียงรายหลายวัด เท่ากับเป็นการขยายชุมชนนั้นเอง

 

เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์เมื่อ 29 พฤศจิกายน 2562

Source: https://www.silpa-mag.com/history/article_42217

The post ความเป็นกรุงเทพฯ ที่แท้จริง เริ่มสมัยรัชกาลที่ 3 appeared first on Thailand News.