ติดตามผ่านช่อง : Siammongkol Youtube Channel

พระเจ้าตากสินฯ สถาปนากรุงธนบุรี เมืองสุพรรณ “ตกสำรวจ” ต้องรกร้างกว่า 80 ปี

พระเจ้าตากสินฯ สถาปนากรุงธนบุรี เมืองสุพรรณ “ตกสำรวจ” ต้องรกร้างกว่า 80 ปี

วิหารพระอาจารย์ธรรมโชติ วัดเขานางบวช อำเภอเดิมบางนวช จังหวัดสุรรณบุรี (ภาพจาก หนังสือประวัติศาสตร์เมืองสุพรรณโดย มนัส โอภากุล สำนักพิมพ์มติชน)

 

ในปัจจุบันจังหวัดสุพรรณบุรีเป็นจังหวัดที่ถนนหนทางดีจนคนหลายอิจฉา อาหารการกินไม่ว่าจะเป็น สาลี่, กุ้งแม่น้ำเผา ฯลฯ ก็อร่อยจนประเภทกินแล้วระลึกชาติได้ ย้อนกลับไปเมื่อสมัยกรุงศรีอยุธยาเมืองสุพรรณก็มีฐานะเป็นหนึ่งในเมืองหน้าด่านสำคัญ แต่เมื่อพระเจ้าตากสินมหาราชทรงสถาปนากรุงธนบุรี เมืองสุพรรณกลับ “ตกสำรวจ” ต้องรกร้างเป็นเวลากว่า 80 ปี

เรื่องนี้ มนัส โอภากุล ปราชญ์เมืองสุพรรณเอง เขียนเรื่องนี้ไว้ในบทความชื่อ “สุพรรณเป็นเมืองโจร เมืองคนดุจริงหรือ?”  (ศิลปวัฒนธรรม, พฤษภาคม 2540) ซึ่งขอสรุปย่อมาดังนี้

ซากเจดีย์ยุทธหัตถี พระบรมราชานุสรณ์ในการกระทำยุทธหัตถีกับพระมหาอุปราชาของพม่า ที่ ต.ดอนเจดีย์ อ. ศรีประจันต์ ถ่ายเมือ พ.ศ. 2498 (ภาพจากหนังสือสุพรรณบุรีเมื่อวันวาน ของกรมศิลปากร)

 

เมื่อเสียกรุงศรีอยุธยาใน พ.ศ. 2310 เมืองสุพรรณบุรีและเมืองหน้าด่านอื่นๆ ที่รายล้อมพระนครศรีอยุธยาต่างได้รับความเสียหายไปตามๆ กัน ภายหลังสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชจะสถาปนากรุงธนบุรี  ได้พยายามรวบรวมหัวเมืองต่างๆ ดังนี้

“เมื่อพระเจ้ากรุงธนราชาภิเษกแล้ว ที่ทรงตั้งข้าราชการไปรักษาหัวเมืองใหญ่น้อยทั้งปวง แต่หัวเมืองในสมัยนั้น ประมาณดูตามเรื่อง ปรากฎในทางพงศาวดาร จะมีผู้คนรวบรวมตั้งตัวเป็นเมืองโดยเร็ว เห็นจะมีไม่กี่เมือง ถ้าจะลองคะเนนับดู หัวเมืองข้างเหนือกรุงเก่าหนึ่ง เมืองลพบุรีหนึ่ง เมืองอ่างทองหนึ่ง

เมืองทางตะวันออก มีเมืองฉะเชิงเทราหนึ่ง เมืองชลบุรีหนึ่ง เมืองระยองหนึ่ง เมืองจันทบุรีหนึ่ง เมืองตราษหนึ่ง หัวเมืองตะวันตกมีนครไชยศรีหนึ่ง สมุทราสาครหนึ่ง เมืองเพชรบุรีหนึ่ง รวม 11 เมืองนี้ เห็นจะมีคนเหลืออยู่พอจะตั้งเมืองได้…” (ประชุมพงศาวดาร ฉบับหอสมุดแห่งชาติเล่ม 3 สำนักพิมพ์ก้าวหน้า)

เจดีย์วัดชุมนุมสงฆ์ หนึ่งในเจดีย์สมัยอยุธยา ที่หลงเหลืออยู่ (ภาพจากหนังสือประวัติศาสตร์เมืองสุพรรณบุรี)

 

นั่นแสดงว่า ครั้งนั้นเมืองสุพรรณ “ตกสำรวจ” จริง

ประจักษ์พยานในเรื่องไม่ใช่ใครอื่นแต่เป็น สุนทรภู่ กวีดังแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ พ.ศ. 2379 สุนทรภู่เดินทางไปสุพรรณบุรีและได้แต่ง “นิราศเมืองสุพรรณ” ไว้บางตอนดังนี้

ตะวันเห็นหาดหน้า                ท่ามี
เมืองสุพรรณบุรี                  รกร้าง
ศาลตั้งฝั่งนที                       ที่หาด ลาดแฮ
โรงเล่าเขาต้มค้าง                  ขอบคุ้งหุงสุรา (133)

วัดกระไกรใกล้บ้าน                ศรีประจัน
ถามเหล่าชาวสุพรรณ             เพื่อนซี้
ทองประศรีที่สำคัญ                ข้างวัด แคแฮ
เดิมสนุกทุกวันนี้                  รกเรื้อเสือคะนอง (137)

พ.ศ. 2379 ที่สุนทรภู่เดินทางไปเมืองสุพรรณนั้น คือ 69 ปี หลังจากกรุงศรีอยุธยาแตก แต่สุพรรณก็ยังคงเป็นเมืองร้าง หลังจากนั้นอีก 4 ปี (พ.ศ. 2383) เสมียนมี หรือหมื่นพรมสมพักศร แต่งกลอนนิราศสุพรรณ กล่าวถึงสภาพบ้านเรือนในเวลานั้นว่า

ตะวันเย็นค่ำย่ำแสงสุริยา                       ทัศนานั่งดูเมืองสุพรรณ
ดูโรยร่วงแรมร้างน่าสังเวช                   ดั่งประเทศแนวป่าพนาสัณฑ์
พฤษาชาติแซกแซมขึ้นแกมกัน                อเนกอนันต์เล็กใหญ่ไม้นานา
………………………………………….               ……………………………………….
พระเจดีย์วิหารบูราณสร้าง                    ก็โรยร้างหรุบสิ้นอุปถัมภ์
ทั้งพาราอาภัพยับระยำ                       สุดจะร่ำเรื่องว่าน่าเสียดาย
น่าสงสารเมืองสุพรรณทุกวันนี้              ที่มั่งมีนั้นก็มากยากก็หลาย
สุดจะร่ำคำเปรียบเทียบภิปราย               กลืนน้ำลายติดคอแล้วพ่อคุณ

กระทั่ง พ.ศ. 2394 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงให้ตั้งจังหวัดสุพรรณบุรีขึ้น เมืองสุพรรณบุรีจึงค่อยๆ กลับมารุ่งเรืองอีกครั้ง

 

เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์ เมื่อ 21 กรกฎาคม พ.ศ.2561

Source: https://www.silpa-mag.com/history/article_18564

The post พระเจ้าตากสินฯ สถาปนากรุงธนบุรี เมืองสุพรรณ “ตกสำรวจ” ต้องรกร้างกว่า 80 ปี appeared first on Thailand News.