ติดตามผ่านช่อง : Siammongkol Youtube Channel

การ “ตากอากาศ” ครั้งแรกของคนไทย และ “ถนนขี่ม้าตากอากาศ”…คือที่ไหน?

การ “ตากอากาศ” ครั้งแรกของคนไทย และ “ถนนขี่ม้าตากอากาศ”…คือที่ไหน?

ภาพถ่ายเก่า ถนนเจริญกรุง

 

คำว่า “ตากอากาศ” ซึ่งมีความหมายว่าไปเที่ยวเพื่อพักผ่อน หรือเปลี่ยนบรรยากาศนั้น มีความเป็นมาอย่างไร คนไทยเริ่มใช้คำว่า “ตากอากาศ” ตั้งแต่เมื่อไหร่ เอนก นาวิมูลได้สืบเสาะ ค้นหาและรวบรวมข้อมูลมาเขียนเล่าไว้ในหนังสือ แรกมีในสยาม โดยมีใจความดังนี้

การ “ตากอากาศ” ในเมืองไทยปรากฏหลักฐานว่ามีมาตั้งแต่เมื่อ 300 ปีที่แล้วคือในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช โดยสถานที่ที่ทรงใช้ประทับพักผ่อนหรือตากอากาศนี้ก็คือที่พระราชวังลพบุรี ตามที่มีบันทึกในจดหมายเหตุบาทหลวงฝรั่งเศส ภาคที่ 1 ในเนื้อความตอนหนึ่งว่า

“เมื่อต้นเดือนธันวาคม พระเจ้าแผ่นดินสยามได้เสด็จพระราชดำเนินไปยังเมืองละโว้เพื่อทรงเปลี่ยนอากาศ และทรงพระราชสำราญในการคล้องช้าง ตามธรรมดาในปีหนึ่ง เคยประทับอยู่ในเมืองนี้แปดเดือน…”

เมือง “ละโว้” ในที่นี้ก็หมายถึง “ลพบุรี” นั่นเอง

นอกจากในจดหมายเหตุดังกล่าวนี้แล้ว ก็ยังมีบันทึกอีกหลายฉบับที่บ่งชี้ถึงสถานที่ประทับพักผ่อนเปลี่ยนอากาศของพระนารายณ์มหาราชไปในทิศทางเดียวกัน คือที่พระราชวังลพบุรี

อย่างไรก็ตาม หลังจากช่วงสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชก็ไม่พบว่ามีหลักฐานไหนที่จะชี้ให้เห็นว่ามีคนไทยคนใดไปเที่ยวตากอากาศอีก จนกระทั่งเวลาล่วงเลยมาถึงในช่วงสมัยของรัชกาลที่ 3 จึงได้พบว่ามีประชุมพงศาวดารภาคที่ 31 แปลจดหมายเหตุของมิชชันนารีเอาไว้ ดังนี้

“ฝ่ายเรเวอเรนต์ เอบิล เมื่อได้ทำการที่เมืองกวางตุ้งและโดยสารเรือไปยังเกาะชวา และเกาะอื่น ๆ เพื่อตรวจหลักฐานของฮอลันดาตามคำสั่งโดยตรงของผู้อำนวยการคณะแล้ว จึงออกเดินทางไปเมืองสิงคโปร์ เพื่อหาเรือต่อมาเมืองไทย บังเอิญพบกับมิสเตอร์ทอมลินซึ่งออกไปเปลี่ยนอากาศที่นั่น กำลังเดินทางกลับมากรุงเทพฯ เขาทั้งสองจึงได้เดินทางมาด้วยกัน

วันที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2374 จึงโดยสารเรือชื่อโซเฟีย…”

นอกเหนือจากนี้ก็พบว่า หมอบรัดเลย์เองก็บันทึกเรื่องราวถึงการไปเปลี่ยนอากาศ (เขียนเป็นภาษาอังกฤษว่า change of air) ของตนในยามป่วยด้วย โดยคำว่า “เปลี่ยนอากาศ” เอนก นาวิกมูล ผู้เขียนมีความเห็นว่าน่าจะหมายถึงคำว่า “ตากอากาศ” ที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน ดังนั้นจึงเป็นที่น่าสงสัยว่า

คำว่า “เปลี่ยนอากาศ” ถูกเปลี่ยนมาเป็นคำว่า “ตากอากาศ” ตั้งแต่เมื่อไหร่?

บันทึกเก่าแก่ที่สุดที่พบว่ามีการใช้คำว่า “ตากอากาศ” นั้นคือบันทึกที่เขียนขึ้นใน พ.ศ. 2412 หรือในช่วงต้นสมัยของรัชกาลที่ 5 ซึ่งก็คือ พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ เขียนโดย เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค) ในตอนที่มีความว่า

“ครั้นมาถึงเดือน 3 พวกกงสุลเข้าชื่อกันมีหนังสือถวายว่า ชาวยุโรปเคยขี่รถขี่ม้าเที่ยวตากอากาศ ได้ความสบายไม่มีไข้ เข้ามาอยู่ที่กรุงเทพมหานคร ไม่มีถนนหนทางที่จะขี่รถขี่ม้าไปเที่ยว พากันเจ็บไข้เนือง ๆ …”

เมื่อนับดูจากความเก่าแก่ของบันทึกนี้แล้วก็จะพบว่าคนไทยน่าจะใช้คำว่า “ตากอากาศ” มาตั้งแต่เกือบ 150 ปีที่แล้ว

ถนนขี่ม้าตากอากาศ

จากข้อความใน พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ ที่ยกมาข้างต้นนั้นเป็นบันทึกที่กล่าวอ้างถึงเหตุการณ์หนึ่งในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ทำให้เกิดถนนสายสำคัญที่ยังคงใช้สัญจรกันอยู่ในปัจจุบัน โดยเหตุการณ์นั้นคือในตอนที่ชาวต่างชาติจากกงสุลต่าง ๆ ได้ทำการรวบรวมรายชื่อเป็นหนังสือเพื่อถวายแก่รัชกาลที่ 4 ขอร้องให้สร้างถนนสายยาวสำหรับการขี่ม้าตากอากาศ ทั้งนี้รัชกาลที่ 4 ก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการสร้างถนนเส้นหนึ่งขึ้นใน พ.ศ. 2404 โดยถนนเส้นนั้นก็คือ ถนนเจริญกรุง

ถนนเจริญกรุงสร้างเสร็จสิ้นใน พ.ศ. 2407 เมื่อสร้างเสร็จแล้ว ก็มีการฉลองถนนกันถึง 3 วัน

 

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 3 ธันวาคม 2561

Source: https://www.silpa-mag.com/history/article_23670

The post การ “ตากอากาศ” ครั้งแรกของคนไทย และ “ถนนขี่ม้าตากอากาศ”…คือที่ไหน? appeared first on Thailand News.