ติดตามผ่านช่อง : Siammongkol Youtube Channel

ราชการไทยกำหนดเวลาทำงานต่อวัน-บันทึกขาดลามาสาย ครั้งแรกเมื่อใด

ราชการไทยกำหนดเวลาทำงานต่อวัน-บันทึกขาดลามาสาย ครั้งแรกเมื่อใด

(ภาพประกอบ) ข้าราชการกองล่าง กระทรวงยุติธรรม ถ่ายประมาณปี พ.ศ.2470-2472 แถวบนสุดจากซ้ายคนที่สอง คือ นายสัญญา ธรรมศักดิ์ แถวที่สองริมขวาสุด คือ นายเสวตร์ โรจนเวทย์ นอกนั้นไม่ทราบนาม

ผู้เขียน
เสมียนนารี
เผยแพร่
วันพฤหัสที่ 9 มิถุนายน พ.ศ.2565

“ตามวัน และเวลาราชการ” คือประโยคที่เราได้ยินกันอยู่บ่อยๆ นั่นคือ ทำงานสัปดาห์ละ 5 วัน วันจันทร์-ศุกร์ วันละ 8 ชั่วโมง เวลาทำงาน 8.30-16.30 น. (อาจมียกเว้นแต่เจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคง, ทางการแพทย์ ฯลฯ) และมีการบันทึกเวลาขาดลามาสาย

แต่กว่าจะมาเป็น “ตามวัน และเวลาราชการ” เช่นปัจจุบัน วันและเวลาของราชการเป็นอย่างไร

เรื่องนี้ วิภัส เลิศรัตนรังษี อธิบายไว้ในส่วนหนึ่งบทความของเขาที่ชื่อว่า “‘เวลาอย่างใหม่’ กับการสร้างระบบราชการในสมัยรัชกาลที่ 5” ซึ่งขอคัดย่อบางส่วนมานำเสนอดังนี้

ในสมัยรัชกาลที่ 5 รัฐบาลยังนำเวลาจาก “นาฬิกากล” มากำกับการทำงาน เพื่อประโยชน์ในงานราชการ โดยกำหนดให้มาทำงานตามเวลาที่แน่นอน แทนการอนุวัติไปตามพระราชประสงค์ของพระเจ้าแผ่นดินและไปตามประสงค์ของเสนาบดีอย่างแต่ก่อน เริ่มทยอบบังคับใช้กับบางหน่วยตั้งแต่ พ.ศ. 2418 ยกเว้นแต่ “ออฟฟิศหลวง” (ทำงาน 24 ชั่วโมง ตลอด 7 วันต่อสัปดาห์ ข้าราชการในออฟฟิศหลวงจึงต้องแบ่งกันมาทำงานเป็น 3 ผลัดต่อวัน )

พ.ศ. 2428 เมื่อพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงเทวะวงศ์วโรปการ ทรงรับตำแหน่งเสนาบดีกรมท่า พระองค์ได้รับพระราชทานวังสราญรมย์เป็นศาลาว่าราชการ นับเป็นการแยกพื้นที่ทำงาน (ออกจากจวนเสนาบดี) และเวลาราชการออกมาสำเร็จครั้งแรก

พ.ศ. 2435 มีการจัดตั้ง 12 กระทรวงขึ้นพร้อมกัน ได้กำหนดเวลาทำงานไว้วันละ 6 ชั่วโมง 6 วันต่อสัปดาห์ (วันเสาร์ทำงานครึ่งวัน) หากกำหนดเวลาเปิด-ปิดของแต่ละหน่วยงานนั้นไม่ใช่เวลาเดียวกัน ดังที่มีผู้บันทึกว่า

การทำเดี๋ยวนี้ ไม่ใคร่เปนเวลาเดียวกันตลอด แล้วแต่ราชการจะเปนไป ที่ใดมีการกลางวันก็เปิดออฟฟิศเที่ยงปิดย่ำค่ำ ที่เปิดก่อนเที่ยงก็กลับบ่ายเย็น เวลางานอยู่ในวัน 6 ชั่วโมงเปนประมาณ

เวลาหน่วยงานราชการเปิด-ปิดไม่ตรงกัน การบริหารราชการแผ่นดินขาดความเป็นเอกภาพ พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงเทวะวงศ์วโรปการ ได้เสนอให้ทุกกระทรวงกำหนดเวลาให้เป็นแบบเดียวกันคือ 11.00-17.00น. โดยให้เริ่มใช้ในระหว่างที่พระเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสยุโรปใน พ.ศ. 2440

แต่เมื่อถึงรัชกาลที่ 6 ตั้งแต่ พ.ศ. 2454 เนื่องจากข้าราชการจำนวนมากสมัครเป็นพลเสือป่าและต้องเข้าฝึกซ้อมทุกวันในเวลา 17.00 น. ที่ลานพระราชวังดุสิต ซึ่งเป็นเวลาเลิกงานพอดี ทำให้ข้าราชการวิตกกันว่าการเดินทางไปสายบ่อย ๆ ก็อาจจะทำให้ต้นสังกัดของตนมีปัญหาได้ พวกเขาจึงเข้าชื่อกันขอให้เลื่อนเวลาราชการเร็วขึ้นอีก 1 ชั่วโมง ทุกกระทรวงในกรุงเทพฯ จึงปรับเวลาราชการเป็น 10.00-16.00 น. และใช้ไปจนถึง พ.ศ. 2475

ในส่วนของหน่วยงานราชการหัวเมือง ที่ทำการสังกัดกระทรวงมหาดไทยกว่า 3,610 แห่งยังได้กลายเป็นศูนย์กลางของการเผยแพร่ระบบ “เวลาอย่างใหม่” คู่ขนานไปกับวัดที่เป็นศูนย์กลางของ “เวลาอย่างเก่า” เครือข่ายโทรเลขที่ครอบคลุมทุกภูมิภาคราวทศวรรษ 2440 บังคับให้หน้าปัดนาฬิกากลของทุกหน่วยงานราชการเดินตรงกัน ประหนึ่งว่าทั้งประเทศกำลังใช้นาฬิกาเรือนเดียวกัน

แต่ที่น่าสนใจกว่านั้นคือความหลงใหลในคุณค่าของเวลาของเสนาบดีมหาดไทย ดังที่ได้ประทานตู้นาฬิกาให้กับศาลาว่าการของทุกเมือง เมื่อถึงวาระสำคัญของพระองค์แทนการติดพระรูปหรือสร้างพระอนุสาวรีย์

แต่การประดิษฐ์สิ่งใดสิ่งหนึ่ง ย่อมหมายถึงการประดิษฐ์อันตรายจากสิ่งนั้นขึ้นมาด้วย การนำเข้า “เวลาอย่างใหม่” มาใช้โดยหวังที่จะได้ควบคุมระบบราชการก็อาจจะกลายเป็นภัยต่อชนชั้นนำโดยไม่รู้ตัว ดังกรณีที่น่าสนใจคือการสร้าง “บัญชีชั่วโมงทำงาน” ของพระยาศรีสหเทพ (เส็ง วิริยศิริ) ปลัดกระทรวงมหาดไทยใน พ.ศ. 2437

ในบัญชีดังกล่าว จะระบุว่าข้าราชการตั้งแต่เสนาบดีลงไปถึงเสมียนทำงานปีละกี่ชั่วโมง ขาดราชการกี่วัน ทำงานมากหรือน้อยกว่าเวลาอัตราที่กำหนด และหากปฏิบัติราชการนอกสถานที่ก็ให้นับเป็นชั่วโมงทำงานเหมือนกัน

เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทอดพระเนตรบัญชีฉบับนี้แล้วพอพระราชหฤทัยมาก มีรับสั่งถึงพระยาศรีสหเทพว่าเปนการมีคุณต่อราชการว่าข้าราชการแลเสมียนผู้ใดได้ทำราชการฉลองพระเดชพระคุณมากแลน้อยแลเปนหลักฐานที่จะได้ตรวจสอบในการที่จะพระราชทานบำเหน็จบำนาญ แก่ผู้ซึ่งจงรักภักดีต่อราชการสืบไปภายน่า แลทั้งเปนเครื่องป้องกันที่จะไม่ให้ข้าราชการแลเสมียนแชเชือนไปไม่มารับราชการให้เสียราชการในกระทรวง

ทว่าความกระตือรือร้นที่จะเปลี่ยนแปลงสามัญสำนึกของข้าราชการกลายเป็นข้อขัดแย้งกับค่านิยมของสังคม ไม่นานนักหลายกระทรวงได้ยกเลิกการบันทึกชั่วโมงทำงานของเสนาบดี ปลัดทูลฉลอง อธิบดีกรม และเจ้ากรม แต่จะบังคับใช้บัญชีดังกล่าวเฉพาะข้าราชการชั้นผู้น้อยและเสมียนพนักงานเท่านั้น แม้แต่กระทรวงมหาดไทยในสมัยรัชกาลที่ 6 ก็เปลี่ยนมาเป็นการประเมินผลตามอัตวิสัยของผู้เป็นนายที่เรียกว่ารายงานลับ

อาการเคร่งครัดกับผู้น้อยแต่ผ่อนปรนกับผู้ใหญ่จึงฝังตัวอยู่ในระบบการประเมินผลมาตั้งแต่ในสมัยนั้น ดังที่กระทรวงธรรมการประกาศว่า และใบตรวจนั้น ให้เสมียนตรารับกลับไปรวบรวมไว้ทุกเดือน เมื่อสิ้นปีหนึ่งให้ทำงบปีขึ้นเสนออีกครั้งหนึ่ง เพื่อปลัดทูลฉลองจะได้นำเสนอเสนาบดีขอความดำริห์ที่จะได้ลงโทษผู้เกียจคร้านและบำเหน็จผู้หมั่นและได้ราชการด้วยอย่างใด แล้วแต่เสนาบดีจะเห็นสมควร

เมื่อบัญชีชั่วโมงทำงานถูกดัดแปลงมาใช้เพื่อค้ำจุนระบบชนชั้น สำนึกเวลาที่เท่าเทียมกันจึงไม่อาจจะถือกำเนิดขึ้นในทันที และความคิดนั้นยังถูกมองว่าเป็นสิ่งที่แปลกปลอม ดังที่หลวงวิจิตรวาทการบันทึกเอาไว้ว่า

มีน้อยเหลือเกินที่จะมาถึงกระทรวงในเวลา 10 ตามกำหนด โดยมากมากันเกือบเที่ยง แม้เสมียนธรรมดาก็มาเกือบเที่ยง มีสมุดลงเวลาเหมือนกัน แต่ไม่ปรากฏว่ามีใครกวดขันเรื่องเวลาทำงาน ท่านเจ้ากรมเองมาราวบ่าย 3 โมง ทำงานชั่วโมงเดียวก็กลับบ้านได้ คนคนเดียวที่มาตรงเวลา คือผู้ที่มีตำแหน่งเป็นนายเวร

เมื่อสภาพแวดล้อมการทำงานในกระทรวงการต่างประเทศเป็นเช่นนั้น หลวงวิจิตรวาทการจึงเลือกที่จะมาทำงานตรงเวลาเพื่อสร้างความโดดเด่นและแตกต่างไปจากข้าราชการส่วนใหญ่ ที่สำคัญคือ กระทรวงการต่างประเทศมักจะเงียบเหงาในเวลากลางวัน แต่คึกคักในเวลากลางคืนเพราะเป็นเวลาทำงานของเสนาบดี

นักการทูตชาวอังกฤษบันทึกเอาไว้ว่า หากจะมาขอเข้าพบเสนาบดีว่าการต่างประเทศในเวลาราชการก็จำเป็นจะต้องรู้ภาษาสยามอยู่ 2 คำ คือคำว่า “อยู่” และ “ไม่อยู่” เพราะมีเวลาทำงานไม่เหมือนข้าราชการทั่วไป

อีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ข้าราชการไม่อุทิศแรงกายให้กับเวลาราชการ เพราะข้าราชการในเวลานั้นตระหนักรู้ได้โดยธรรมชาติว่า “เวลาราชการ” ที่แท้จริงหาใช่เวลาทำงานในกระทรวงหรือการเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทในรัฐพิธี ถ้าต้องการจะอุทิศตนให้กับเวลาราชการก็สมควรใช้เวลานั้นไปกับกิจกรรมที่เป็นพระราชนิยม ดังตัวอย่างของข้าราชการขอให้เลื่อนเวลาราชการเพื่อไม่ให้กระทบการฝึกพลเสือป่า

 

ข้อมูลจาก :

วิภัส เลิศรัตนรังษี. “ ‘เวลาอย่างใหม่’ กับการสร้างระบบราชการในสมัยรัชกาลที่ 5” ใน, ศิลปวัฒนธรรม พฤศจิกายน 2563

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 25 มกราคม 2564

Source: https://www.silpa-mag.com/history/article_61990

The post ราชการไทยกำหนดเวลาทำงานต่อวัน-บันทึกขาดลามาสาย ครั้งแรกเมื่อใด appeared first on Thailand News.