ติดตามผ่านช่อง : Siammongkol Youtube Channel

ความเชื่อเรื่องโชคลาง คำทำนาย ในสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง

ความเชื่อเรื่องโชคลาง คำทำนาย ในสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง

ส่วนฐานของพระที่นั่งจักรวรรดิไพชยนต์ในปัจจุบัน ภายในพระราชวังโบราณ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

ผู้เขียน
กันตพงศ์ ก้อนนาค
เผยแพร่
วันพฤหัสที่ 9 มิถุนายน พ.ศ.2565

ความเชื่อเรื่องโชคลาง คำทำนายเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับคนไทยมาอย่างยาวนาน ย้อนกลับไปในอดีตพบเรื่องราวทางประวัติศาสตร์หลายเหตุการณ์ที่มีความเชื่อการทำนายทายทักแทรกอยู่ แม้แต่องค์พระมหากษัตริย์ในอดีตก็ทรงมีความเชื่อเรื่องเช่นนี้

สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง หรือ สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 5 ทรงครองราชย์ระหว่างปี พ.ศ. 2171- 2199 ทรงเป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์ปราสาททอง ในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) บันทึกเรื่องราวของพระองค์ไว้อย่างน่าสนใจเหมาะที่จะนำมาศึกษา เพราะในรัชสมัยของพระองค์มีข้อความหลายช่วงที่แสดงให้เห็นความเชื่อเรื่องโชคลาง และการทำนายปรากฏอยู่

“สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระสุบินนิมิตว่าสมเด็จอมรินทราธิราช เสด็จลงมานั่งแทบพระองค์ไสยาสน์ตรัสว่าบอกว่าให้ตั้งจักรพยุหะ แล้วสมเด็จอมรินทราธิราชหายไป ในเพลาเช้าเสด็จออกขุนนาง ทรงพระกรุณาตรัสเล่าสุบินให้พฤฒาจารย์ทั้งปวงฟังพระมหาราชครูพระครูปโรหิตโหราจารย์ถวายพยากรณ์ทำนายว่า เพลาวานนี้ทรงพระกรุณาให้ชื่อพระมหาปราสาทว่า ศิริยศโสธรรมมหาพิมารบันยังค์ นั้นเห็นไม่ต้องนาม สมเด็จอมรินทราธิราชจึงลงมาบอกให้ตั้งจักรพยุหะ อันจักรพยุหะนี้เป็นที่ตั้งใหญ่ในมหาพิไชยสงคราม อาจข่มเสียได้ซึ่งปัจจามิตรทั้งหลายขอพระราชทานเอานามจักรอันนี้ ให้ชื่อพระมหาปราสาทว่า จักรวัติไพชยันตมหาปราสาดตามลัคนาเทพสังหรณ์ในพระสุบินนิมิตอันประเสริฐ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตรัสได้ทรงฟัง ก็มีพระทัยปรีดายิ่งนัก จึงได้แปลงชื่อพระมหาปราสาทตามคำพระมหาราชครูทั้งปวง”

เมื่อแรกสร้างพระที่นั่งองค์นี้มีชื่อว่าพระที่นั่งศิริยโศธรมหาพิมานบรรยงก์และเปลี่ยนชื่อพระที่นั่งองค์นี้ในภายหลังว่า พระที่นั่งจักรวรรดิไพชยนต์ ตามหลักฐานที่ปรากฏ อันเป็นผลจากการทำนายพระสุบินของสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง และยังแสดงถึงการวางระเบียบแบบแผนการก่อสร้างอาคารสมัยอยุธยาที่มีเรื่องราวความเชื่อทางด้านโหราศาสตร์เข้ามาเกี่ยวข้องอีกด้วย

แม้ว่าในพระราชพงศาวดารส่วนใหญ่จะกล่าวถึงเรื่องความยิ่งใหญ่ของพระมหากษัตริย์ที่ทรงเป็นเทวราชา พระบารมีอันมากล้นเป็นดั่งเจ้าชีวิตของคนทั้งปวง ยังสอดแทรกให้ได้ทราบถึงขนบธรรมเนียมในราชสำนักหลายอย่างลงไปหรือแม้แต่เรื่องความเชื่อคุณไสยมนตร์ดำก็มีปรากฎอยู่ด้วยรัชสมัยของสมเด็จพระเจ้าปราสาททองที่ชาวบ้านต่างลือกันว่าในงานพระราชทานเพลิงพระศพเจ้านายพระองค์หนึ่งมีเศษเนื้อในอุทรบางส่วนไม่ไหม้ไฟพูดกันว่า เจ้านายพระองค์นี้ต้องคุณไสย ลือไปกันถึงจะมีการค้นหาหนังสือเรื่องมนตร์ดำ คนที่มีก็เกรงกลัวความผิดจึงนำหนังสือไปทิ้งน้ำก็มาก มีความปรากฏว่า

“ลุศักราช 997 ปีกุนศก (พ.ศ. 2178) สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จไปพระราชทานเพลิงพระเจ้าลูกเธอฝ่ายใน ณ วัดไชยวัฒนาราม ได้เนื้อในท้องเผาไม่ไหม้สงสัยว่าต้องคุณ ครั้งนั้นประชาราษฎรลือกันว่า จะให้ค้นผู้คนตำรับตำราที่หมอผู้เฒ่าผู้แก่ ต่างคนกลัวความผิด บรรดามีตำรารับความรู้วิชาการทิ้งน้ำเสียสิ้น”

ในเรื่องนี้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตั้งพระราชกระทู้ว่าด้วยพระราชอัธยาศัยของสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง และทรงให้พระยาโบราณราชธานินทร์ฯ เป็นผู้แก้ความถวายตามความเห็น ความตอนหนึ่งในกระทู้ถามตอบสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตั้งพระราชกระทู้เรื่องที่พบเนื้อในอุทรที่ไม่ไหม้นี้ว่า สมเด็จพระเจ้าปราสาททองทรงเชื่ออะไรยับเยินมาก พระยาโบราณราชธานินทร์ฯ แก้ถวายตามความเห็นในเรื่องนี้ว่า ในเวลานั้นเป็นสมัยการเล่นเวทมนตร์ เชื่อว่าเวทมนตร์ยุคนั้นขลังและมีผู้เชื่อถืออยู่มากเห็นได้จากพระเจ้าปราสาททองเองก็ทรงถือเรื่องเวทมนตร์และได้ราชสมบัติเพราะเวทมนตร์

ส่วนการลบศักราชมีความปรากฎว่า

“ลุศักราช 1,000 ปีขาลสัมฤทธิศก (พ.ศ. 2181) สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตรัสปรึกษาแก่เสนาพฤฒามาตย์ราชปโรหิตทั้งหลาย บัดนี้จุลศักราชถ้วน 1,000 ปี การกลียุคจะบังเกิดไปภายหน้าทั่วประเทศธานีใหญ่น้อยเป็นอันมาก เราคิดว่าจะเสี่ยงบารมีลบศักราช บัดนี้ขาลสัมฤทธิศกจะเอากุนเป็นสัมฤทธิศก”

ยุคสมัยดังกล่าวผู้คนมีความเชื่อถือเรื่องตัวเลขดวงชะตาคงมีไม่ใช่น้อยเห็นได้จากการเปลี่ยนศักราชของสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง อาจเป็นกุศโลบายอย่างหนึ่งที่พระองค์น่าจะดึงมวลชนให้มาสนับสนุนพระองค์เพิ่มขึ้น เพราะก่อนหน้ารัชสมัยของพระองค์จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์หลายแหล่งจะพบวิธีการขึ้นมามีอำนาจและปราบดาภิเษกขึ้นเป็นกษัตริย์ทรงอาจมีศัตรูทางการเมืองอยู่ไม่น้อย จึงทรงทำทุกทางเพื่อให้ราษฎรนิยมมากขึ้น

และขณะนั้นบ้านเมืองรอบข้างก็ยังไม่ค่อยสงบดีนักจึงทรงกล้าที่จะส่งราชฑูตไปเชื้อเชิญอาณาจักรน้อยใหญ่มาร่วมใช้ศักราชแบบใหม่ที่พระองค์ทรงให้เปลี่ยน แต่เมืองน้อยใหญ่เหล่านี้ก็ไม่ได้เล่นด้วย กรณีของเมืองพม่าเป็นตัวอย่างหนึ่งที่ชัดเจนหรือแม้แต่พระยาโบราณราธานินทร์ฯ มองว่าการกระทำดังกล่าวเพื่อที่จะแสดงพระกรุณาแก่ราษฎร ซึ่งเป็นเหตุที่จะให้ราษฎรมีความนิยมนับถือมากขึ้น และยังมองว่าเรื่องการเปลี่ยนศักราชนี้ว่าน่าจะเป็น พระโหราธิบดีเป็นผู้อยู่เบื้องหลัง เพราะสมเด็จพระเจ้าปราสาททองทรงเชื่อถือพระโหราผู้นี้อยู่มาก

ความเชื่อเรื่องโชคลางที่ทรงมีอยู่แต่เดิมรวมกับความนับถือที่ทรงมีต่อพระโหราธิบดีผ่านการเปลี่ยนศักราชมาได้สามปีก็มีเหตุการณ์ที่ทำให้พระองค์ทรงเชื่อถือเรื่องโชคลาง และคำทำนายจากพระโหราธิบดีอีกครั้ง “ศักราช 1003 ปีมะเส็งศก (พ.ศ. 2184) สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินลงไปประพาสพระที่นั่งไอยสวรรยทิพยอาศน วันนั้นเสด็จอยู่แรม เพลาค่ำเสด็จมายืนอยู่หน้ามุขสมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระณารายน์ราชกุมารส่องโคม อสนีลงต้องหน้าบันแว่นประดับ แลรูปสัตว์ตกกระจายลงมารอบพระองค์ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแลสมเด็จพระเจ้าลูกเธอจะได้เป็นอันตรายหามิได้ ทรงพระกรุณาให้พระโหราทำนาย ถวายพยากรณ์ว่าเป็นมหาศุภนิมิตจะทรงพระกฤษดาธิการยิ่งขึ้นไปจะได้พระราชลาภจากต่างประเทศ”

และคำทำนายนั้นก็เป็นจริงเมื่อ “ถึงเดือน 10 กำปั่นอลิมมัตหร่ำลูกค้าเมืองเทศ บรรทุกพรรณนาผ้าและได้ม้าเทศสูง 2 ศอก 3 นิ้ว เข้ามาถวายสองม้ากับกั้นหยั่นฝักดำถมยาราชาวดีประดับนพรัตน์เล่มหนึ่ง สิ่งของนอกนั้นเป็นอันมาก”

“ศักราช 1005 ปีมะแมศก (พ.ศ. 2186) พระโหราถวายฎีกาว่าใน 3 วันจะเกิดเพลิงในพระราชวัง สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตรัสได้ทรงฟังตกพระทัย ด้วยพระโหราคนนี้แม่นยำนัก” สิ่งที่ทำให้พระเจ้าปราสาททองทรงเชื่อถือพระโหราผู้นี้มากนั้น เพราะเหตุที่เกิดขึ้นก่อนหน้า ณ พระที่นั่งไพชยนต์มหาปราสาท มีหนูตกลงมา พระองค์ทรงนำขันทองครอบหนูไว้ ทรงให้พระโหรามาทายว่าภายในขันทองนั้นเป็นสัตว์กี่เท้า พระโหราผู้นี้คำนวณแล้วทูลพระองค์ว่าเป็นสัตว์สี่เท้า และมีสี่ตัวด้วยกัน สมเด็จพระเจ้าปราสาททองทรงตอบว่ามีสี่เท้านั้นถูกต้อง แต่มีสี่ตัวนั้นผิด ผลปรากฏว่า มีสี่ตัวจริงรวมลูกหนูอีกสามตัวด้วย และนี่เองเป็นเหตุที่ทำให้พระองค์ทรงเชื่อถือพระโหราผู้นี้เป็นอันมากหรือมากยิ่งขึ้นไปอีก

เมื่อเป็นเช่นนี้พระเจ้าปราสาททองทรงให้ขนสิ่งของมีค่าในพระราชวังหลวงไปยังวัดไชยวัฒนาราม รวมไปถึงเรือพระที่นั่งด้วย และทรงให้ไพร่พลสามพันเตรียมพร้าขอไม้พันผ้าชุบน้ำเป็นเครื่องดับไฟ ไม่ให้หุงข้าวปลาอาหารภายในพระราชวัง เหตุการณ์กลับเป็นปกติไม่มีเค้าว่าจะเกิดเพลิงไหม้เลยแม้แต่น้อย จนผ่านไปหลายวันเข้าใจว่าไม่มีเหตุร้ายตามคำทำนาย

ปรากฏว่าเกิดฝนตกและมีฟ้าผ่าต้องลงยอดพระที่นั่งองค์หนึ่งเกิดเพลิงลุกไหม้เผาผลาญอาคารหลายหลังในพระราชวัง พระเจ้าปราสาททองทรงถามพระโหราว่าการที่เกิดเพลิงไหม้เช่นนี้เป็นเรื่องดีหรือไม่ พระโหรากราบทูลว่าเป็นเรื่องดี พระที่นั่งที่ถูกอสุนิบาตนั้นซ่อมแซมใช้เวลากว่าปีจึงแล้วเสร็จ พระองค์พระราชทานนามพระที่นั่งองค์นี้ว่า “พระที่นั่งวิหาร-สมเด็จ” ซึ่งเป็นที่มาพระนาม “สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง” เพราะพระที่นั่งองค์นี้เครื่องบนหุ้มด้วยทองคำ

รื่องราวที่เกิดในรัชสมัยของสมเด็จพระเจ้าปราสาททองนอกจากแสดงความเข้มข้นทางการเมือง ยังมีเรื่องราวเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่สะท้อนความเชื่อเรื่องโชคลาง การทำนายทายทักที่อยู่คู่กับสังคมไทยมาตั้งแต่สมัยโบราณ ไม่ว่าสูงสุดของแผ่นดิน เช่น สมเด็จพระเจ้าปราสาททองหรือชาวบ้านสามัญทั่วไปล้วนมีความเชื่อในเรื่องนี้ การกระทำของแต่ละบุคคลย่อมมีผลแห่งการกระทำนั้นๆ บุคคลล้วนเป็นผู้ลิขิตเองคงมิใช่สิ่งเหนือธรรมชาติกำหนดเป็นแน่

 

อ้างอิง :

คณะกรรมการอำนวยการจัดงานฉลองสิริราชสมบัติครบ 50 ปีประชุมพงศาวดาร ฉบับกาญจนาภิเษก เล่ม 3กรุงเทพฯ : กองวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร. (2542).

มูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา. นามานุกรมพระมหากษัตริย์ไทย. กรุงเทพฯ : นานมีบุ๊คส์พับลิเคชั่นส์. (2554).

พระยาโบราณราชธานินทร์. กรุงเก่า เล่าเรื่อง. กรุงเทพฯ : มติชน.  (2554).

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 21 มิถุนายน 2562

Source: https://www.silpa-mag.com/history/article_34409

The post ความเชื่อเรื่องโชคลาง คำทำนาย ในสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง appeared first on Thailand News.