ติดตามผ่านช่อง : Siammongkol Youtube Channel

นิสิตคนที่ 1 ของจุฬาลงกรณ์ ผู้ไม่เคยเข้าเรียนที่จุฬาฯ ?!?

นิสิตคนที่ 1 ของจุฬาลงกรณ์ ผู้ไม่เคยเข้าเรียนที่จุฬาฯ ?!?

ท่านเจ้าคุณราชเสนากำลังรับพระราชทานปริญญารัฐศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2510

ผู้เขียน คนไกล วงนอก
เผยแพร่ วันศุกร์ที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ.2565

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของประเทศ ในปี 2510 เป็นปีที่ครบ 50 ปี พระยาราชเสนา (ศิริ เทพหัสดิน ณ อยุธยา) ท่านได้รับปริญญารัฐศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ โดยชาวจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยถือว่าท่านเป็น “จุฬาฯ หมายเลขหนึ่ง”  

ทำไมชาวจุฬาฯ จึงถือท่านเจ้าคุณผู้ที่ไม่เคยเข้าเรียนที่จุฬาฯ เป็น “จุฬาฯ หมายเลขหนึ่ง”

เวลาที่สถาปนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นปีแรกนั้น พระยาราชเสนา รับราชการมีบรรดาศักดิ์เป็น พระยศสุนทร ผู้ว่าราชการเมืองนครราชสีมา และเป็นพระยาภูมิพิชัย ผู้ว่าราชการเมืองชัยภูมิแล้ว

ประวัติของท่านเจ้าคุณราชเสนา และการเป็นนิสิตคนที่ 1 ของจุฬาฯ กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม เคยเรียบเรียงไว้ในบทความชื่อ “นิสิตคนที่ 1 (ศิลปวัฒนธรรม, มีนาคม 2560)

โดยการเขียนเก็บความบางส่วนจากหนังสือที่พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพท่านเจ้าคุณ เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม ปี 2517 ที่ อาจารย์แม้นมาส ชวลิต เขียนไว้ และจากที่บุคคลอื่นๆ เขียนถึงท่าน มากล่าวถึงพอเป็นสังเขปเท่านั้น

พระยาราชเสนา (ศิริ เทพหัสดิน ณ อยุธยา) (7 มีนาคม 2424-13 มกราคม 2517)

พระยาราชเสนา มีนามเดิมว่า ศิริ เทพหัสดิน ณ อยุธยา  เป็นบุตรจมื่นศักดิ์แสนยากร (ม.ล. ปาด เทพหัสดิน) มารดาชื่อน้อม เกิดเมื่อวันที่ 7 มีนาคม ร.ศ. 100 (พ.ศ. 2424) ที่ตำบลเวิ้งบ้านพระยาศรีสหเทพ (ที่เรียกว่าย่านสี่กั๊กพระยาศรีในทุกวันนี้) สะพานมอญ กรุงเทพมหานคร

(ที่ท่านเกิดในราชสกุลเทพหัสดินนั้น มีข้อสังเกตอยู่เล็กน้อยว่า สกุลนี้มีบทบาทเกี่ยวกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอยู่พอสมควรทีเดียว โดยผู้ที่ดิ้นรนเรื่องการก่อตั้งมหาวิทยาลัยนั้นก็คือเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี เสนาบดีกระทรวงธรรมการในเวลานั้น ซึ่งก็เป็นสมาชิกผู้หนึ่งของราชสกุลนี้ บุตรสาวสองคนของเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี คือคุณปรียากับคุณธารี ก็เป็นนิสิตหญิงสองคนแรกของคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ (ในจำนวนนิสิตชายหญิงรุ่นแรก 13 คน) โดยเฉพาะคุณปรียานั้นได้เป็น ผู้อำนวยการสำนักผังเมือง (เทียบเท่าอธิบดี) ที่เป็นสตรีคนแรกด้วย)

ท่านเจ้าคุณราชเสนาเริ่มเรียนหนังสือที่โรงเรียนวัดราชบพิธ จนสอบไล่วิชาหนังสือไทยประโยค 1 ได้ จากนั้นก็มาเรียนประโยค 2 ที่วัดพระเชตุพน พร้อมกันนั้นก็ได้เข้ารับราชการเป็นเสมียนกองทหารรักษาราชการมณฑลบูรพา กระทรวงกลาโหมด้วย แม้จะมีอายุเพียง 13 ปีเท่านั้นก็ตาม

ปี 2440 เมื่ออายุได้ราว 16 ปี บิดาได้นำไปถวายตัวเป็นมหาดเล็ก สังกัดเวรเดช ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งโดยเหตุนี้เองในเวลาต่อมา ท่านจึงได้เข้าศึกษาในโรงเรียนมหาดเล็ก และนั่นก็คือที่มาของฐานะความเป็น “นิสิตคนที่ 1” ในอีกหลายสิบปีต่อมา

ประสบการณ์ในการศึกษาในช่วงนี้ของท่าน ต่อมาท่านได้เรียบเรียงขึ้นเป็นบทความชื่อ “ต้นกำเนิดของคณะรัฐประศาสนศาสตร์แห่งจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย” อันช่วยให้เราได้เห็นภาพการศึกษาเพื่อสร้างข้าราชการฝ่ายปกครองขึ้นมาในสมัยนั้น (นอกเหนือไปจากพระนิพนธ์เรื่องโรงเรียนมหาดเล็กหลวงของสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ) ท่านเรียนจนสำเร็จ ผ่านการเป็น “มหาดเล็กฝึกหัดราชการ” (คือออกไปฝึกงานในความดูแลของข้าหลวง – ท่านเองไปฝึกที่มณฑลบูรพา เมืองเสียมราฐ) จนสอบได้ “ประโยคกระทรวง” ในปี 2443

ตรงนี้พึงเข้าใจว่า ในการจัดเตรียมคนทำงานสำหรับการปกครองแบบเทศาภิบาลที่ได้เริ่มขึ้นในเวลานั้น นอกจากโรงเรียนมหาดเล็กในกรุงเทพมหานครแล้ว ในบางมณฑลก็มีโรงเรียนสอนการปกครองของตน ผู้ที่เรียนสำเร็จสอบไล่ได้เรียกว่า “ประโยคมณฑล” ดังกรมขุนมรุพงศ์ศิริพัฒน์ได้สร้างขึ้นที่มณฑลปราจีนบุรี

ท่านเจ้าคุณราชเสนา เริ่มไต่เต้าจากการเป็น “นายชำนาญกระบวน” (ท่านเป็นคนสุดท้ายที่ได้ตำแหน่งนี้) ข้าราชการตำแหน่งนายเวร กระทรวงมหาดไทยในปี 2444 แล้วมาเป็น “พันจันทนุมาศ” ตำแหน่งหัวพันในกระทรวงมหาดไทย จนปี 2447 ก็ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น หลวงสุริยามาตย์ ปลัดกรมพลำภัง (กรมการปกครองในเวลานี้)

การที่ท่านได้เลื่อนเป็นหลวงโดยไม่ต้องเป็นขุนนี้ นายพ่วง สุวรรณรัฐ ศิษย์คนหนึ่งของท่าน ซึ่งได้เป็นถึงปลัดกระทรวงมหาดไทยและรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย อธิบายว่า เพราะเหตุจากท่านสำเร็จจากโรงเรียนการปกครองนั่นเอง (ข้อนี้บางทีจะเป็นเฉพาะผู้รับราชการในกระทรวง เพราะน่าสังเกตว่า พระยาสุนทรเทพกิจจารักษ์ (ทอง จันทรางศุ) เองก็ผ่านโรงเรียนมหาดเล็ก กระนั้นเมื่อออกไปรับราชการหัวเมืองก็ยังต้องเป็น “ขุนอนุรักษ์ภูเบศร์ ก่อนจะขึ้นเป็น “หลวง” ในราชทินนามเดิม สำหรับบรรดาพวกที่สอบได้ “ประโยคมณฑล” จากหัวเมืองเข้าใจว่าก็คงต้องเป็นไปตามขั้น ดังพระยาสัจจาภิรมย์ก็ต้องผ่านการเป็น “ขุนวิจิตรธานี” มาก่อน แล้วจึงได้เป็น “หลวงเดชะวิไชย” เอาในปี 2454)

ในปี 2451 ปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ท่านเจ้าคุณราชเสนาก็ได้เลื่อนเป็นข้าหลวงมหาดไทยดูแลมณฑลกรุงเก่า จากมณฑลกรุงเก่า ในปี 2458 แผ่นดินพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ก็ดำรงตำแหน่งผู้รั้งราชการเมืองบุรีรัมย์  ปีต่อมาได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น พระยศสุนทร ผู้ว่าราชการเมืองบุรีรัมย์ ในปีเดียวกันนั้นเองก็ย้ายไปเป็นปลัดมณฑลนครราชสีมา, เป็นผู้ว่าราชการเมืองนครราชสีมา และเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิตามลำดับ

ปี 2462 ท่านได้เป็นพระยาศิริชัยบุรินทร์ เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม ปีต่อมาท่านได้รับคำสั่งให้กลับเข้ามารับราชการในกรุงเทพมหานครอีกครั้ง ในตำแหน่งเจ้ากรมการเมือง (ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นกรมการภายนอก และเป็นกองการต่างประเทศ) และได้รับราชทินนามว่า พระยาราชเสนา

ปี 2469 ดำรงตำแหน่งเจ้ากรมการปกครอง แล้วไปเป็นเจ้ากรมทะเบียน ตำแหน่งสุดท้ายของท่านก่อนที่จะเวรคืนตำแหน่งราชการเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2475 หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ก็คือตำแหน่งเกณฑ์เมืองรั้ง (มีฐานะคล้ายผู้ตรวจราชการกระทรวงในปัจจุบัน) ในกระทรวงมหาดไทย

อย่างไรก็ตาม แม้จะได้กราบถวายบังคมลาจากราชการแล้ว ในปี 2479 กระทรวงมหาดไทยได้แต่งตั้งให้ท่านเป็นนายกเทศมนตรีเมืองนครราชสีมา จนหมดภาวะในปี 2482 แต่หากสภาเทศบาลเมืองนครราชสีมาได้เลือกท่านเป็นนายกเทศมนตรีอีกวาระหนึ่ง ทั้งสองวาระนี้เป็นการทำงานที่ท่านมิได้ขอรับเงินเดือนเลย นอกจากนี้ท่านยังเคยรับเชิญสอนวิชาการปกครองที่จุฬาฯ ที่จริงหลังปี 2500 มาท่านก็ยังทำงานให้กับรัฐบาลคณะปฏิวัติของ จอมพลสฤษดิ์อยู่แม้จะมีอายุมากแล้วก็ตาม

นอกเหนือไปจากงานในหน้าที่แล้ว ท่านเจ้าคุณราชเสนาก็ยังมีราชการพิเศษอื่นๆ เช่นเป็นผู้แทนฝ่ายสยามในคณะข้าหลวงใหญ่สยาม-ฝรั่งเศส ประจำแม่น้ำโขงในปี 2471 เป็นต้น งานสำคัญอย่างหนึ่งของท่านที่นับว่ามีค่าอย่างยิ่งคือการรวบรวมสนธิสัญญาระหว่างไทยกับประเทศต่างๆ ขึ้นไว้เป็นเล่ม (ต่อมาท่านได้มอบงานนี้ให้เป็นลิขสิทธิ์กรมศิลปากร)

ในปี 2510 อันเป็นปีที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีอายุครบ 50 ปี และท่านเองมีอายุได้ 86 สภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้มอบปริญญารัฐศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์แก่ท่าน คำประกาศเกียรติคุณที่ทางมหาวิทยาลัยเรียบเรียงขึ้นนั้นดูจะเป็นการสรุปประวัติและงานของท่านไว้ได้ดี จึงขอคัดทั้งหมดมาลงไว้ ดังนี้

ด้วยสภาจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย ได้พิจารณาเห็นว่า พระยาราชเสนา (ศิริ เทพหัสดิน ณ อยุธยา) นิสิตเก่าจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัยตั้งแต่สมัยยังเป็นโรงเรียนข้าราชการพลเรือน และได้รับประกาศนียบัตรทางการปกครองเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2443 นับว่าเป็นนิสิตเก่าคนที่ 1 รุ่นที่ 1 เมื่อ 67 ปีมาแล้ว

พระยาราชเสนาเคยรับราชการฝ่ายปกครอง ดำรงตำแหน่งต่างๆ ตั้งแต่ตำแหน่งเริ่มต้นจนถึงเป็นผู้ว่าราชการจังหวัด ปลัดมณฑล เจ้ากรมปกครอง ฯลฯ ได้แสดงความสามารถดีเด่นจนได้รับสถาปนาและเลื่อนยศบรรดาศักดิ์ตามลำดับตลอดมาจนรับพระราชทานบำนาญ นอกจากราชการประจำ พระยาราชเสนายังได้รับแต่งตั้งให้ปฏิบัติราชการพิเศษ เช่น เป็นข้าหลวงใหญ่ฝรั่งเศสสยามประจำแม่น้ำโขง ข้าหลวงใหญ่ปักปันเขตแดนไทย-อินโดจีน และเป็นกรรมการของรัฐบาลมากมายหลายหน้าที่ ครั้งสุดท้ายยังได้รับแต่งตั้งจากรัฐบาลคณะปฏิวัติให้เป็นที่ปรึกษาของคณะกรรมการปรับปรุงการปกครองและการพิจารณาเรื่องนครหลวงของไทย ท่านผู้นี้ได้เคยเขียนบทความและบันทึกประวัติศาสตร์ทางการปกครองไว้ ณ ที่หลายแห่ง ซึ่งนับว่ามีคุณค่าทางรัฐศาสตร์ของไทย ทั้งในส่วนวิชาการก็เคยเป็นอาจารย์ทางวิชารัฐศาสตร์ในจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย เป็นผู้สอนและเป็นประธานและกรรมการในการอบรมและสอบไล่ของกระทรวงมหาดไทยในวิชาการปกครอง เป็นที่รับนับถือและเคารพยกย่องในทางรัฐศาสตร์ โบราณคดี และประวัติศาสตร์ สมควรยกย่องในฐานะนิสิตเก่าและอาจารย์เก่ารุ่นอาวุโสที่สุดผู้มีกิติคุณทั้งทางราชการและวิชาการ สภาจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัยจึงเห็นสมควรอย่างยิ่งที่จะให้ได้รับพระราชทานปริญญารัฐศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์เพื่อเป็นการยกย่องเกียรติคุณสืบไป” [เน้นโดยผู้เขียน]

ท่านเจ้าคุณราชเสนาได้ตอบผู้ที่ถามถึงความรู้สึกของท่านในการที่ได้รับปริญญากิตติมศักดิ์ในวันนั้นว่า

“รู้สึกเป็นเกียรติและยินดีเป็นล้นเกล้าฯ ขอขอบคุณสภามหาวิทยาลัยที่ได้เสนอชื่อให้ได้รับพระราชทานปริญญาครั้งนี้ด้วย”

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 14 เมษายน 2563

Source: https://www.silpa-mag.com/history/article_48471

The post นิสิตคนที่ 1 ของจุฬาลงกรณ์ ผู้ไม่เคยเข้าเรียนที่จุฬาฯ ?!? appeared first on Thailand News.