ติดตามผ่านช่อง : Siammongkol Youtube Channel

เขื่อนเจ้าพระยา เขื่อนที่ใช้เวลาถึง 5 แผ่นดิน จึงได้ก่อสร้าง?

เขื่อนเจ้าพระยา เขื่อนที่ใช้เวลาถึง 5 แผ่นดิน จึงได้ก่อสร้าง?

เขื่อนเจ้าพระยาทอดขวางแม่น้ำเจ้าพระยาที่จังหวัดชัยนาท มีสะพานเชื่อมพื้นที่สองฝั่งแม่น้ำ และประตูน้ำติดกับเขื่อนเพื่อให้เรือล่องผ่านเขื่อนไปมาได้ ภาพถ่ายเมื่อเขื่อนเปิดใช้งาน พ.ศ. 2500 (ภาพจาก “ประวัติศาสตร์ชัยนาท”)

เขื่อนเจ้าพระยา เขื่อนทดน้ำที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย สร้างอยู่บนแม่น้ำเจ้าพระยา ที่จังหวัดชัยนาท ในโครงการชลประทานใหญ่เจ้าพระยาใหญ่ ที่มีแนวคิดในการก่อสร้างตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 แต่ก็มีอันต้องเลื่อนโครงการออกไปถึง 2 ครั้ง กว่าจะได้ลงมือดำเนินและแล้วเสร็จก็ผ่านมาถึงสมัยรัชกาลที่ 9

เหตุขัดข้องในการสร้าง “เขื่อนเจ้าพระยา” นี้ กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม เขียนไว้ในหนังสือเล่มพิเศษชื่อ “ประวัติศาสตร์ชัยนาท” (พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2558) เนื้อหาส่วนหนึ่งที่คัดมามีดังนี้

เขื่อนเจ้าพระยา เขื่อนเจ้าพระยาเป็นหัวใจสําคัญของโครงการชลประทานพัฒนาลุ่มน้ำเจ้าพระยา เพื่อการเพาะปลูกสําหรับพื้นที่ราบภาคกลางสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ที่มีการริเริ่มตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องจากการเพาะปลูกในเขตพื้นที่ตั้งแต่จังหวัดชัยนาทถึงอ่าวไทยต้อง อาศัยน้ำฝนเป็นหลัก ปีที่ฝนแล้งเกษตรกรจึงได้รับความเดือดร้อนอยู่เสมอ

พ.ศ. 2445 นายเย โฮมัน วันเดอร์ไฮเด ผู้เชี่ยวชาญการชลประทาน ชาวฮอลันดา เสนอให้สร้างโครงการชลประทานเจ้าพระยาใหญ่ ที่อําเภอสรรพยา จังหวัดชัยนาท แต่ประเทศไทยต้องใช้งบประมาณบํารุงประเทศในทางอื่นก่อน แผนการก่อสร้างโครงการเจ้าพระยาใหญ่จึงต้องระงับไว้ก่อน

รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เกิดภาวะฝนแล้ง ติดต่อกัน 2-3 ปี จึงมีการเสนอโครงการพัฒนาลุ่มน้ำเจ้าพระยาอีกครั้งใน ปี พ.ศ. 2456 โดย เซอร์ทอมมัส เวิร์ด ผู้เชี่ยวชาญชาวอังกฤษ ขณะนั้น อยู่ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 1 โครงการจึงถูกระงับไปอีกครั้ง

จนกระทั่งในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติ หลายประเทศทั่วโลกประสบปัญหาการผลิตพืชอาหารจนเกิดภาวะขาดแคลน ประเทศที่มีสภาพภูมิศาสตร์เหมาะแก่การเพาะปลูกก็ประสบกับภาวะเศรษฐกิจ ไม่สามารถดําเนินการผลิตพืชอาหารได้อย่างครบวงจร หรือผลิตได้ แต่มีผลผลิตน้อยมาก ซึ่งรวมถึงประเทศไทยด้วย

หน่วยงานระดับประเทศไม่ว่าจะเป็นธนาคารโลก องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ต่างให้ความสําคัญในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ในปี พ.ศ. 2493 ธนาคารโลกจึงอนุมัติเงินกู้เพื่อสร้างโครงการเจ้าพระยาใหญ่แก่รัฐบาลไทยเป็นเงินจํานวน 18 ล้านดอลลาร์สหรัฐ พ.ศ. 2494 กรมชลประทานเตรียมงานก่อสร้างเบื้องต้น กําหนดที่ตั้งเขื่อนเจ้าพระยาอยู่บริเวณคุ้งบางกระเบียน หมู่ที่ 3 ตําบลบางหลวง อําเภอสรรพยา จังหวัดชัยนาท พ.ศ. 2495 เริ่มการก่อสร้างเขื่อนเจ้าพระยา และ ระบบระบายน้ำจนแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2500

(ภาพจากเพจ ห้องวิจัยประวัติศาสตร์)

เขื่อนเจ้าพระยา เป็นเขื่อนทดน้ำที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทย สร้างปิดกั้นแม่น้ำเจ้าพระยา มีช่องระบายน้ำกว้าง 12.50 เมตร จํานวน 16 ช่อง เพื่อทดน้ำส่งให้พื้นที่ในเขตโครงการชลประทานเจ้าพระยาใหญ่ 17 จังหวัด คิดเป็นพื้นที่ 7,500, 000 ไร่ โดยเขื่อนเจ้าพระยาจะระบายน้ำสู่คลองส่ง และคลองแยกต่างๆ ดังนี้

คลองชัยนาท-ป่าสัก มีคลองซอยแยกส่งน้ำ 66 คลอง
คลองชัยนาท-อยุธยา มีคลองซอยแยกส่งน้ำ 22 คลอง
แม่น้ำน้อย มีคลองซอยแยกส่งน้ำ 162 คลอง
คลองมะขามเฒ่าต่อกับแม่น้ำสุพรรณ มีคลองซอยแยกส่งน้ำ 70 คลอง

พิธีเปิดใช้เขื่อนเจ้าพระยา เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2500 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดําเนินไปทรงเป็นองค์ประธานเปิดเขื่อนเจ้าพระยา

(ภาพจากเพจ ห้องวิจัยประวัติศาสตร์)

 

เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์เมื่อ 2 มีนาคม 2564

Source: https://www.silpa-mag.com/history/article_63830

 

The post เขื่อนเจ้าพระยา เขื่อนที่ใช้เวลาถึง 5 แผ่นดิน จึงได้ก่อสร้าง? appeared first on Thailand News.