ติดตามผ่านช่อง : Siammongkol Youtube Channel

แรกมี ‘น้ำมันก๊าด’ ใช้ในสยาม ราษฎรไม่คุ้นชินจนเกิดไฟไหม้หลายคดี

แรกมี ‘น้ำมันก๊าด’ ใช้ในสยาม ราษฎรไม่คุ้นชินจนเกิดไฟไหม้หลายคดี

วัดชนะสงคราม ภาพถ่ายสมัยรัชกาลที่ 5 บริเวณหน้าวัดมีรถรางไฟฟ้าวิ่งบนถนนจักรพงษ์

ที่มา
ศิลปวัฒนธรรม ฉบับพฤษภาคม 2558
ผู้เขียน
ดร. นนทพร อยู่มั่งมี
เผยแพร่
วันเสาร์ที่ 30 เมษายน พ.ศ.2565

การให้แสงสว่างแก่ที่พักอาศัย ในยุคที่กรุงเทพฯ ยามค่ำคืนปราศจากแสงไฟฟ้าซึ่งต้องพึ่งพาแสงสว่างจากตะเกียงน้ำมันเป็นหลัก และแม้จะมีไฟฟ้าในกรุงเทพฯ เมื่อปี .. 2427 แต่แสงสว่างชนิดนี้จำกัดอยู่เฉพาะการใช้งานของรัฐ เช่น ตามท้องถนนบางสาย กับตามบ้านเรือนของผู้มีฐานะซึ่งต้องซื้อหาอุปกรณ์และจ่ายค่าไฟในราคาสูง การที่แสงสว่างจำกัดส่งผลต่อกิจวัตรของผู้คน เช่น ความบันเทิง และการสัญจรของราษฎร เช่นที่ขุนวิจิตรมาตรากล่าวถึงวิถีชีวิตในกรุงเทพฯ ยามค่ำคืน ดังนี้

มหรสพสมัยโน้น (ยังไม่มีไฟฟ้าแสดงแต่วันข้างขึ้น ราวขึ้น 8 ค่ำ ไปจนถึงประมาณสามทุ่ม พระจันทร์ยังสว่างอยู่ ข้างแรมเดือนมืดไม่มีแสดง โรงละครนฤมิตรที่วัดสระเกศเท่าที่ข้าพเจ้าจำได้แสดงตอนบ่าย พอถึงเย็นก็เลิก ต่อมาเมื่อข้าพเจ้าเริ่มไปอยู่กรุงเทพฯ มีไฟฟ้าแล้ว คือเพิ่งเริ่มจะมีโดยเฉพาะตามถนนนั้นขึงสายไฟฟ้าขวางระหว่างตึก ดวงโคมไฟฟ้าห้อยติดกับสายอยู่กลางถนนแต่สูงมาก แสงไฟก็ริบหรี่ไม่สว่าง คนเดินอาศัยร้านเจ๊กเขียนหวย ซึ่งมีตะเกียงกระจกตั้งโต๊ะสว่างไปสองข้างถนนระยะห่างๆ กันไปสว่างมากกว่าไฟฟ้า

ไฟฟ้าเมื่อแรกมีนี้ ถ้าเป็นข้างขึ้นพระจันทร์สว่าง ไฟดับหมด พอถึงข้างแรมพระจันทร์มืดจึงเปิดไฟ สลับไปอย่างนี้ทุกข้างขึ้นข้างแรม ส่วนตามตึกบ้านเรือนที่ต้องการใช้ไฟฟ้า คิดค่าเช่าเป็นดวงๆ ละ 6 สลึง (หนึ่งบาทห้าสิบสตางค์ดวงหนึ่งไฟ 10 แรงเทียน จะติดกี่ดวงก็ได้ตามราคาที่คิดเป็นดวง เท่าที่เห็นใช้กันเพียงหนึ่งหรือสองดวงเท่านั้น ไฟฟ้าดีอย่างหนึ่งเป็นการบอกเวลา คือเวลาสองทุ่มตรง ไฟจะดับแวบหนึ่งให้รู้ว่าสองทุ่ม ใครมีนาฬิกาก็ตั้งจากไฟฟ้าได้ทันที

แหล่งเชื้อเพลิงที่ให้แสงสว่างยามค่ำคืนที่สำคัญคือน้ำมันมะพร้าว จนกระทั่งราวพุทธศตวรรษที่ 25 หรือช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 ราษฎรในกรุงเทพฯ เริ่มใช้น้ำมันก๊าดเป็นเชื้อเพลิงให้แสงสว่างซึ่งตรงกับระยะเวลาเดียวกับที่เมืองในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีการใช้เชื้อเพลิงชนิดนี้ เช่นที่สุราบายา ในเกาะชวา ราษฎรพื้นเมืองใช้น้ำมันก๊าดหลังปี .2407 (.1864)

ผลจากเชื้อเพลิงชนิดใหม่ปรากฏในรูปของคดีไฟไหม้จำนวนมากเนื่องจากความไม่คุ้นชินของบรรดาราษฎร เช่นที่พระยาอนุมานราชธนกล่าวไว้ ดังนี้

เขาว่าเมื่อมีน้ำมันก๊าดใช้ใหม่ๆ มักเกิดไฟไหม้บ้านเรือนบ่อยๆ เพราะไปเข้าใจว่าเหมือนน้ำมันมะพร้าว ไม่รู้พิษสงของมันว่า มันลุกผึบได้ทันทีถ้าใกล้ไฟ พอรู้ก็หวาดเกรงกัน จึงยังมีผู้ดื้อใช้น้ำมันมะพร้าวอยู่ก็เป็นอันมาก ถ้าซื้อน้ำมันก๊าดทั้งปีบมาใช้ เวลาจะเปิดเอาปีบน้ำมันออก ถ้าอยู่ในสวน ก็ต้องหิ้วปีบไปเปิดหรือเก็บไว้ในสวนให้ห่างไกลจากตัวเรือน เพราะกลัวจะระเบิดเกิดลุกเป็นไฟไหม้บ้านเรือนขึ้น

ราษฎรในเมืองหลวงสามารถซื้อหาน้ำมันก๊าดได้จากโรงขายน้ำมันของชาวจีน พร้อมกับซื้อตะเกียงสำหรับให้แสงสว่างที่มีขายในกรุงเทพฯ อีกด้วย เช่น คดีไฟไหม้ตึกแถวอำแดงผาด ย่านถนนเฟื่องนคร เมื่อปี .2450 ให้รายละเอียดดังนี้

วันนี้เวลาบ่าย 3 โมงอำแดงช่วยได้วานผู้มีชื่อคือนายเคล้าซึ่งอยู่ห้องเดียวกันไปซื้อตะเกียงแก้วตั้ง คือดวงที่ลุกขึ้นนี้ จากร้านสี่กั๊กเสาชิงช้า ครั้นเมื่อซื้อมาแล้ว นายเคล้าเปนผู้เติมน้ำมันในคืนวันเดียวกันนั้นเองเวลา 2 ทุ่มเศษ ข้าพเจ้าได้ลองจุดแล้วเอาไปตั้งริมฝา พอจุดขึ้นไฟในตะเกียงก็พุบขึ้นโคมแตกน้ำมันก็ไหลซึมไปตามพื้นไปอิกห้องหนึ่ง คือห้องของอำแดงเจิมไปลุกที่หมอน 1 ใบ ที่นอนน้ำมันผ้าห่มปะลังเก้ด 1 ผืน

คดีของอำแดงผาดนอกจากจะบอกถึงการซื้อหาอุปกรณ์ให้แสงสว่างแล้วยังบ่งชี้ถึงอันตรายจากน้ำมันก๊าด หรือที่เรียกกันว่าน้ำมันปิโตรเลียม ซึ่งราษฎรจำนวนไม่น้อยประมาทจนเกิดอันตรายแก่ชีวิตและทรัพย์สินหนึ่งในนั้นรวมถึงคดีของหญิงชาวจีนชื่ออำแดงหมุย เกือบต้องสูญเสียห้องพักของตนเมื่อปี .2449 จากความประมาท ดังนี้

อำแดงหมุยหญิงจีนเจ้าของห้องเติมตะเกียงเหล็กวิลาดจุดเพลิงแล้วติดไว้ที่ฝาครัวเพลิงลุกขึ้นเพราะน้ำมันปิโตรเลียมที่เติมมากเกินไป เพลิงลุกจนหูตะเกียงอันบัดกรีไว้สำหรับแขวนละลายตะเกียงตกยังพื้นน้ำมันหกเพลิงลุกขึ้นที่พื้นนั้น

น้ำมันก๊าดจึงเป็นเชื้อเพลิงชนิดใหม่ที่ราษฎรเริ่มให้ความนิยมแต่ต้องแลกมาด้วยอันตรายจากการใช้งานในชีวิตประจำวัน ไม่เพียงเท่านั้น เชื้อเพลิงชนิดนี้ยังนับเป็นอุปกรณ์อย่างหนึ่งของการก่อคดีสำคัญในกรุงเทพฯ คือคดีลอบวางเพลิง ที่กระทบต่อความสงบสุขและสร้างความหวาดหวั่นให้กับบรรดาราษฎรไปจนถึงพระมหากษัตริย์

 

คัดบางส่วนจากบทความ “คดีไฟไหม้ในกรุงเทพฯ สมัยรัชกาลที่ 5 : ภาพสะท้อนวิถีชีวิตของราษฎรและการปกครองของรัฐสมัยใหม่” โดย ดร. นนทพร อยู่มั่งมี ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับพฤษภาคม 2558

เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 12 พฤษภาคม 2563

Source: https://www.silpa-mag.com/history/article_49779

The post แรกมี ‘น้ำมันก๊าด’ ใช้ในสยาม ราษฎรไม่คุ้นชินจนเกิดไฟไหม้หลายคดี appeared first on Thailand News.