ติดตามผ่านช่อง : Siammongkol Youtube Channel

สถานภาพทางสังคมและเศรษฐกิจที่ต่ำกว่าในวัยเด็กและการได้รับค่าแรงต่ำต่อเนื่องยาวนาน เชื่อมโยงกับความเสี่ยงเกิดภาวะสมองเสื่อมและการเสื่อมถอยของความจำที่เกิดขึ้นเร็วกว่า

สถานภาพทางสังคมและเศรษฐกิจที่ต่ำกว่าในวัยเด็กและการได้รับค่าแรงต่ำต่อเนื่องยาวนาน เชื่อมโยงกับความเสี่ยงเกิดภาวะสมองเสื่อมและการเสื่อมถอยของความจำที่เกิดขึ้นเร็วกว่า

ความขาดแคลนเชิงสังคมและเศรษฐกิจ รวมถึงความเสียเปรียบด้านละแวกที่อยู่อาศัยและค่าแรงต่ำต่อเนื่องยาวนาน มีความเชื่อมโยงกับความเสี่ยงสูงกว่าที่จะเกิดภาวะสมองเสื่อม สมรรถนะการทำงานรู้คิดของสมองที่ต่ำกว่า และการเสื่อมถอยของความจำที่เกิดขึ้นเร็วกว่า จากงานศึกษาวิจัยหลายงานที่นำเสนอในวันนี้ภายในงานประชุมนานาชาติของสมาคมอัลไซเมอร์ ประจำปี 2565 หรือ Alzheimer’s Association International Conference(R) (AAIC(R)) 2022 ซึ่งจัดขึ้นในเมืองซานดิเอโกและทางออนไลน์

สถานภาพทางสังคมและเศรษฐกิจ ( SES) ซึ่งสะท้อนการวัดทั้งในเชิงสังคมและเศรษฐกิจของประสบการณ์การทำงานของบุคคล ตลอดจนการเข้าถึงทรัพยากรเชิงเศรษฐกิจและตำแหน่งทางสังคมของปัจเจกบุคคลหรือของครอบครัว มีความเชื่อมโยงกับทั้งสุขภาพในเชิงกายภาพและเชิงสรีรศาสตร์และสุขภาวะ งานวิจัยที่ศึกษาผลกระทบของสถานภาพทางสังคมและเศรษฐกิจต่อการทำงานรู้คิดของสมองมีเพิ่มมากขึ้น ในการนี้ ข้อค้นพบสำคัญที่นำเสนอภายในงานประชุม AAIC ประจำปี 2565 มีดังต่อไปนี้

ปัจเจกบุคคลที่ประสบกับความขาดแคลนเชิงสังคมและเศรษฐกิจในระดับสูง ซึ่งวัดโดยใช้รายได้/ความมั่งคั่ง อัตราการว่างงาน การเป็นเจ้าของรถยนต์/บ้าน และความแออัดของครัวเรือน มีแนวโน้มสูงกว่าอย่างมีนัยสำคัญที่จะเกิดภาวะสมองเสื่อม เมื่อเทียบกับปัจเจกบุคคลที่มีสถานภาพทางเศรษฐกิจและสังคมสูงกว่า แม้จะมีความเสี่ยงทางกรรมพันธุ์มากกว่าก็ตาม
ทรัพยากรคุณภาพต่ำในละแวกที่อยู่อาศัยและความยากลำบากในการจ่ายเพื่อตอบสนองความต้องการขั้นพื้นฐาน มีความเชื่อมโยงกับคะแนนการทดสอบการทำงานรู้คิดของสมองที่ต่ำกว่าในบุคคลชาวผิวดำและชาวลาติน
สถานภาพทางสังคมและเศรษฐกิจที่สูงกว่าของพ่อแม่มีความเชื่อมโยงกับความเข้มแข็งที่สูงกว่าต่อผลกระทบเชิงลบของสารบ่งชี้อัลไซเมอร์ พีเทา-181 ( ptau-181) ความสามารถด้านการบริหารจัดการของสมอง (executive function) ระดับเส้นฐานที่ดีกว่า และความเสื่อมถอยของสมองที่ช้ากว่าในช่วงวัยที่สูงขึ้น
เมื่อเทียบกับแรงงานที่ได้รับค่าแรงสูงกว่า แรงงานที่ได้รับคำแรงต่ำอย่างต่อเนื่องยาวนานประสบกับการเสื่อมถอยของความจำที่เกิดขึ้นรวดเร็วกว่าอย่างมีนัยสำคัญในช่วงวัยที่สูงขึ้น
“เป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งที่เราต้องมุ่งศึกษาปัจจัยสังคมกำหนดสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับการทำงานรู้คิดของสมอง รวมถึงสถานภาพทางสังคมและเศรษฐกิจ เพื่อที่เราจะได้ดำเนินนโยบายสาธารณสุขและสร้างสภาพแวดล้อมในชุมชนที่จะยกระดับสุขภาพและสุขภาวะของทุกคน” แมทธิว โบมการ์ท (Matthew Baumgart) รองประธานฝ่ายนโยบายสุขภาพ สมาคมอัลไซเมอร์ กล่าว

ในการประชุมหัวข้อ “การส่งเสริมมุมมองที่หลากหลาย: แก้ปัญหาความแตกต่างเหลื่อมล้ำด้านสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับโรคอัลไซเมอร์และภาวะสมองเสื่อมทุกชนิด” (Promoting Diverse Perspectives: Addressing Health Disparities Related to Alzheimer’s and All Dementias) ของสมาคมอัลไซเมอร์ที่เพิ่งจัดขึ้นเมื่อไม่นานนี้ นักวิจัยได้รวมตัวกันเพื่อแบ่งปันความรู้และขับเคลื่อนการทำงานร่วมกันเกี่ยวกับประเด็นความเสมอภาคทางสุขภาพที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง รวมถึงปัจจัยสังคมที่กำหนดความเสี่ยงเกิดภาวะสมองเสื่อมอย่างสถานภาพทางสังคมและเศรษฐกิจ

ความขาดแคลนทางสังคมและเศรษฐกิจเชื่อมโยงกับความเสี่ยงเกิดภาวะสมองเสื่อมที่เพิ่มขึ้น

นักวิจัยเริ่มที่จะเข้าใจว่าความเสี่ยงของการเสื่อมถอยของการทำงานรู้คิดของสมองและภาวะสมองเสื่อมถูกกำหนดโดยสภาพที่บุคคลเกิด เติบโต อาศัย ทำงาน และแก่ตัวอย่างมีนัยสำคัญ เพื่อทำความเข้าใจให้ดียิ่งขึ้นว่าสภาพทางเศรษฐกิจและสังคมและความเสี่ยงเชิงพันธุกรรมที่จะเกิดภาวะสมองเสื่อมอาจมีปฏิสัมพันธ์กันอย่างไร แมทเธียส คลี ( Matthias Klee) นักศึกษาปริญญาเอกด้านจิตวิทยา มหาวิทยาลัยลักเซมเบิร์ก (University of Luxembourg) และทีมได้ทำงานร่วมกับนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเอ็กซ์เตอร์ (Exeter) และออกซ์ฟอร์ด (Oxford) ในการศึกษาข้อมูลจากประวัติของผู้เข้าร่วม 196,368 รายในคลังทรัพยากรชีวภาพ ยูเค ไบโอแบงค์ (U.K. Biobank) ซึ่งมีการประเมินความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะสมองเสื่อมโดยใช้คะแนนความเสี่ยง

ด้วยกลุ่มตัวอย่างนี้ นักวิจัยได้สำรวจอิทธิพลของความขาดแคลนเชิงสังคมและเศรษฐกิจของปัจเจกบุคคล อย่างเช่นรายได้และความมั่งคั่งที่ต่ำ และความขาดแคลนเชิงสังคมและเศรษฐกิจระดับพื้นที่ อย่างเช่นอัตราการว่างงานและการเป็นเจ้าของรถยนต์/บ้าน ต่อความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะสมองเสื่อม และเปรียบเทียบกับความเสี่ยงเชิงพันธุกรรมที่จะเกิดภาวะสมองเสื่อม

คลีและทีมรายงานในงานประชุม AAIC ประจำปี 2565 ว่า

ความขาดแคลนเชิงสังคมและเศรษฐกิจทั้งในระดับปัจเจกและระดับพื้นที่มีความเชื่อมโยงกับความเสี่ยงเกิดภาวะสมองเสื่อมที่สูงขึ้นสำหรับกลุ่มผู้ที่อยู่ในละแวกที่อยู่อาศัยที่มีความเสียเปรียบอย่างมาก
สำหรับผู้เข้าร่วมการวิจัยที่มีความเสี่ยงเชิงพันธุกรรมในระดับปานกลางหรือสูง ความขาดแคลนระดับพื้นที่ที่สูงกว่ามีความเชื่อมโยงกับความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะสมองเสื่อมในระดับที่สูงยิ่งขึ้นไปอีก หลังจากวิเคราะห์โดยคำนึงถึงความแตกต่างทางสถานภาพทางสังคมและเศรษฐกิจระดับปัจเจก
การวิเคราะห์โดยใช้การสร้างภาพตัวบ่งชี้แสดงให้เห็นว่าความขาดแคลนเชิงสังคมและเศรษฐกิจทั้งในระดับปัจเจกและระดับพื้นที่มีความเชื่อมโยงกับปัญหารอยโรคในสมองเนื้อขาวในระดับที่สูงกว่า ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้การเสื่อมถอยและความเสียหายของสมอง
“ข้อค้นพบของเราชี้ให้เห็นความสำคัญของสภาพที่บุคคลอาศัยอยู่ ทำงาน และแก่ตัว สำหรับความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะสมองเสื่อม โดยเฉพาะในกลุ่มที่มีความเปราะบางเชิงพันธุกรรมสูงกว่าอยู่แล้ว” คลี กล่าว “ทั้งพฤติกรรมทางสุขภาพระดับปัจเจกและสภาพการใช้ชีวิตที่ไม่สามารถได้รับอิทธิพลมีความเกี่ยวข้องในการอธิบายความเสี่ยงเกิดภาวะสมองเสื่อม โดยเฉพาะสำหรับปัจเจกบุคคลที่มีความเปราะบางเชิงพันธุกรรมสูงกว่า องค์ความรู้นี้เปิดโอกาสใหม่ ๆ ในการลดจำนวนผู้คนที่ได้รับผลกระทบจากภาวะสมองเสื่อม ไม่เพียงด้วยการแทรกแซงเชิงสาธารณสุข แต่รวมถึงการยกระดับสภาพเชิงสังคมและเศรษฐกิจด้วยการออกนโยบาย”

ความขัดสนเชิงเศรษฐกิจและความเสียเปรียบด้านละแวกที่อยู่อาศัยเชื่อมโยงกับคะแนนการทดสอบการทำงานรู้คิดของสมองที่ต่ำกว่า

งานวิจัยจำนวนมากได้แสดงว่าสถานภาพทางสังคมและเศรษฐกิจมีอิทธิพลต่อความเสี่ยงเกิดภาวะสมองเสื่อมในช่วงหลังของชีวิต สถานภาพทางสังคมและเศรษฐกิจมักได้รับการศึกษาโดยใช้จำนวนปีของการเข้ารับการศึกษาและระดับรายได้เป็นปัจจัยทั่วไปในการวิจัยด้านสุขภาพ อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีความเข้าใจว่าตัวชี้วัดที่เป็นอัตวิสัย อย่างเช่นการรับรู้ด้านสภาพแวดล้อมของละแวกที่อยู่อาศัยและการเข้าถึงทรัพยากร อาจมีบทบาทในด้านสุขภาพของสมองเช่นกัน

เพื่อทำความเข้าใจความสัมพันธ์นี้ให้ดียิ่งขึ้น แอนโธนี ลองโกเรีย ( Anthony Longoria) วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต นักศึกษาปริญญาเอกด้านจิตวิทยาเชิงคลินิกมหาวิทยาลัยเท็กซัส เซาธ์เวสเทิร์น (University of Texas Southwestern) ได้ศึกษาการรับรู้สภาพแวดล้อมเชิงกายภาพของละแวกที่อยู่อาศัยและการรับรู้สถานภาพทางสังคมและเศรษฐกิจควบคู่กับการวัดการทำงานรู้คิดของสมอง (โดยใช้คะแนนการประเมินการทำงานรู้คิดของสมองมอนทรีอัล หรือ Montreal Cognitive Assessment scores) ในปัจเจกบุคคลที่หลากหลายจำนวน 3,858 รายในการศึกษาวิจัยแดลลัส ฮาร์ท (Dallas Heart Study)

นักวิจัยพบว่าทรัพยากรคุณภาพต่ำกว่าในละแวกที่อยู่อาศัย การเข้าถึงอาหาร/ระบบทำความร้อนและการดูแลสุขภาพที่ด้อยกว่า และการเผชิญกับความรุนแรง มีความเชื่อมโยงกับคะแนนที่ต่ำกว่าในการทดสอบการทำงานรู้คิดของสมองที่ใช้โดยทั่วไปในผู้เข้าร่วมวิจัยชาวผิวดำและชาวฮิสแปนิก แต่ไม่รวมถึงในผู้เข้าร่วมวิจัยชาวผิวขาว

“นี่เป็นเรื่องสำคัญ เมื่อคำนึงว่าชนกลุ่มน้อยประสบกับความขัดสนเชิงเศรษฐกิจและความเสียเปรียบด้านละแวกที่อยู่อาศัยอย่างไม่ได้สัดส่วน ประกอบกับมีแนวโน้มสูงกว่าที่จะได้รับการวินิจฉัยว่ามีภาวะสมองเสื่อมและได้รับการดูแลที่ทันท่วงทีน้อยกว่า” ลองโกเรีย กล่าว

การวิเคราะห์ข้อมูลเพิ่มเติมแสดงว่าความเสียเปรียบด้านละแวกที่อยู่อาศัยและสถานภาพทางเศรษฐกิจที่เป็นที่รับรู้ อาจส่งผลต่อปริมาณสสารสีขาว ( white matter volume หรือ WMV) และสัญญาณความเข้มสูงของสสารสีขาว (white matter hyperintensities หรือ WMH) ในสมอง ซึ่งทั้งคู่มีความเชื่อมโยงกับความเสี่ยงเกิดภาวะสมองเสื่อมและปัจจัยด้านหลอดเลือด รายได้และระดับการศึกษาที่ต่ำกว่าตามที่มีการรายงานมีความเชื่อมโยงกับสัญญาณความเข้มสูงของสสารสีขาวในกลุ่มตัวอย่างโดยรวม ขณะที่ความไว้วางใจ การเข้าถึงบริการดูแลรักษาสุขภาพ รายได้ และระดับการศึกษาที่ต่ำกว่ามีความเชื่อมโยงกับปริมาณสสารสีขาวในสมองที่ต่ำกว่า ทั้งนี้ “ความรุนแรง” มีความเชื่อมโยงกับสัญญาณความเข้มสูงของสสารสีขาวที่สูงกว่าในผู้หญิงผิวดำ “ความไว้วางใจ” ที่ต่ำกว่ามีความเชื่อมโยงกับปริมาณสสารสีขาวที่ต่ำกว่าในผู้ชายชาวฮิสแปนิก และ “การเข้าถึงการดูแลทางการแพทย์” ที่ต่ำกว่ามีความเชื่อมโยงกับปริมาณสสารสีขาวที่ต่ำกว่าในผู้หญิงผิวขาว

“นักวิทยาศาสตร์และผู้ออกนโยบายควรเน้นย้ำเรื่องการปรับปรุงทรัพยากรในละแวกที่อยู่อาศัย รวมถึงความปลอดภัย การเข้าถึงอาหารคุณภาพสูง พื้นที่กลางแจ้งที่สะอาด และบริการดูแลรักษาสุขภาพ ในการพัฒนานโยบายสาธารณสุขเพื่อช่วยลดความเสี่ยงของชุมชนที่จะเกิดโรคอัลไซเมอร์และภาวะสมองเสื่อมที่เกี่ยวข้อง” ลองโกเรีย กล่าว

สถานภาพทางสังคมและเศรษฐกิจของพ่อแม่เชื่อมโยงกับผลกระทบของโรคอัลไซเมอร์ที่ลดลงในช่วงหลังของชีวิต

ปัจจุบันมีงานวิจัยจำนวนน้อยที่ได้ศึกษาผลกระทบของสภาพเชิงสังคมและเศรษฐกิจต่อความเข้มแข็งของสมอง รวมถึงตัวบ่งชี้เชิงชีววิทยาสำหรับการเสื่อมของระบบประสาท เพื่อศึกษาเรื่องนี้ ดร.เจนนิเฟอร์ แมนลี ( Jennifer Manly) อาจารย์ด้านประสาทจิตวิทยา ศูนย์การแพทย์เออร์วิง มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย (University Irving Medical Center) และทีม ได้ร่วมมือกับผู้เข้าร่วมในการศึกษาตัวแทนประชากรต่างรุ่นวัยในนครนิวยอร์ก เพื่อระบุว่าสถานภาพเชิงสังคมและเศรษฐกิจของพ่อแม่ วัดจากจำนวนปีของการศึกษา เป็นกันชนต่อความเชื่อมโยงกับระดับของพลาสมาพีเทา-181 (สารบ่งชี้ความเสื่อมถอยของสมองและโรคอัลไซเมอร์) หรือไม่ พวกเขายังได้ศึกษาว่ามีความเชื่อมโยงกับการเปลี่ยนแปลงของความจำในกลุ่มผู้ใหญ่วัยกลางคนหรือไม่ และว่าการบรรเทาของโรคอัลไซเมอร์และการเปลี่ยนแปลงของสมองที่เกี่ยวข้องมีความใกล้เคียงกันในกลุ่มเชื้อชาติและชาติพันธุ์หรือไม่

ตามที่รายงานในงานประชุม AAIC ประจำปี 2565 แมนลีกับทีมพบว่าสถานภาพทางสังคมและเศรษฐกิจที่สูงกว่าของพ่อแม่มีความเชื่อมโยงกับผลกระทบที่ลดลงของสารบ่งชี้อัลไซเมอร์ พีเทา-181 ต่อความจำ ภาษา และการจัดการตัวเองของสมองลูกเมื่อมีอายุมากขึ้น

“หลักฐานจากการศึกษาวิจัยหลากหลายชาติพันธุ์ต่างรุ่นวัยชี้ว่า สภาพเชิงสังคมและเศรษฐกิจในช่วงต้นของชีวิตอาจส่งเสริมศัยกภาพการทำงานรู้คิดของสมองต่อการเปลี่ยนแปลงของสมองที่เกี่ยวข้องกับอัลไซเมอร์” แมนลี กล่าว “ข้อมูลเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าการลงทุนเชิงโครงสร้างและเชิงนโยบาย ในเรื่องอย่างเช่นการเข้าถึงการศึกษาคุณภาพสูง มีนัยเชิงรุ่นวัยอย่างไร การแทรกแซงที่ลดความยากจนวัยเด็กสามารถลดความแตกต่างเหลื่อมล้ำที่เกี่ยวข้องกับอัลไซเมอร์ให้แคบลงได้”

ค่าแรงต่อชั่วโมงที่ต่ำเชื่อมโยงกับการเสื่อมถอยของความจำที่เกิดขึ้นเร็วกว่าในช่วงวัยที่สูงขึ้น

การวิจัยเกี่ยวกับผลกระทบของรายได้ที่ต่ำกว่าต่อสุขภาพกำลังขยายตัวอย่างรวดเร็ว เพื่อศึกษาว่าการมีรายได้ต่อชั่วโมงต่ำเป็นระยะเวลานานมีความเชื่อมโยงกับการเสื่อมถอยของความจำหรือไม่ ดร.แคทรินา เคซิออส ( Katrina Kezios) นักวิจัยหลังปริญญาเอก วิทยาลัยสาธารณสุขเมลแมน มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย (Columbia University Mailman School of Public Health) และทีมได้ใช้ข้อมูลจากการศึกษาระยะยาวระดับชาติกับผู้ใหญ่ชาวอเมริกันที่ทำงานรับค่าจ้างในช่วงวัยกลางคน

เคซิออสและทีมได้จัดหมวดหมู่ประวัติการมีค่าจ้างต่ำของผู้เข้าร่วมการศึกษาวิจัยโดยแบ่งเป็น (ก) ผู้ที่ไม่เคยได้รับค่าจ้างต่ำเลย (ข) ผู้ที่ได้รับค่าจ้างต่ำบางช่วง และ (ค) ผู้ที่ได้รับค่าจ้างต่ำอยู่เสมอ แล้วจากนั้นจึงสำรวจความสัมพันธ์กับความเสื่อมถอยของความจำเป็นระยะเวลา 12 ปี

ผู้วิจัยพบว่า เมื่อเทียบกับแรงงานที่ไม่เคยได้รับค่าจ้างต่ำเลย ผู้ได้รับค่าจ้างต่ำต่อเนื่องยาวนานมีการเสื่อมถอยของความจำที่รวดเร็วกว่าอย่างมีนัยสำคัญในช่วงวัยที่สูงขึ้น คนกลุ่มนี้ประสบกับการเสื่อมถอยของการทำงานรู้คิดของสมองเกินกว่าที่ควรราวหนึ่งปีในระยะเวลา 10 ปี กล่าวอีกนัยหนึ่ง ระดับการเสื่อมถอยของการทำงานรู้คิดของสมองในระยะเวลา 10 ปีที่พบในผู้ได้รับค่าจ้างต่ำต่อเนื่องยาวนานจะอยู่ในระดับเดียวกับที่ผู้ไม่เคยได้รับค่าจ้างต่ำประสบในระยะเวลา 11 ปี

“ข้อค้นพบของเราบ่งชี้ว่า นโยบายทางสังคมที่ยกระดับสุขภาวะทางการเงินของแรงงานค่าแรงต่ำ รวมถึงการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ อาจจะมีประโยชน์ต่อสุขภาพทางปัญญาของสมอง” เคซิออส กล่าว

เกี่ยวกับการประชุมนานาชาติของสมาคมโรคอัลไซเมอร์ (AAIC(R))

การประชุมนานาชาติของสมาคมโรคอัลไซเมอร์ ( AAIC) เป็นการประชุมเกี่ยวกับโรคอัลไซเมอร์และโรคสมองเสื่อมที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก และเป็นส่วนหนึ่งของโครงการวิจัยของสมาคมโรคอัลไซเมอร์ โดยนักวิจัยจากทั่วโลกจะมารวมตัวกันเพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่ ๆ เกี่ยวกับโรคสมองเสื่อม รวมถึงให้การสนับสนุนชุมชนนักวิจัยที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง
โฮมเพจของ AAIC 2022: www.alz.org/aaic/
ห้องข่าวของ AAIC 2022: www.alz.org/aaic/pressroom.asp
แฮชแท็ก AAIC 2022: #AAIC22

เกี่ยวกับสมาคมโรคอัลไซเมอร์

สมาคมโรคอัลไซเมอร์ ( Alzheimer’s Association) เป็นองค์กรอาสาสมัครด้านสุขภาพชั้นนำของโลก ซึ่งอุทิศตนให้กับการดูแลรักษา การสนับสนุน และการวิจัยโรคอัลไซเมอร์ โดยมีจุดมุ่งหมายหลักในการกำจัดโรคอัลไซเมอร์และภาวะสมองเสื่อมให้หมดไป ด้วยการสนับสนุนการวิจัยระดับโลก การลดความเสี่ยงของการเกิดโรค การวินิจฉัยโรคตั้งแต่เนิ่น ๆ รวมถึงการยกระดับคุณภาพการดูแลรักษา เพื่อทำให้โลกของเราปราศจากโรคอัลไซเมอร์และโรคสมองเสื่อมทั้งหมด สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาเยี่ยมชมเว็บไซต์ alz.org หรือโทรสายด่วน 800.272.3900

รูปภาพ –  https://mma.prnewswire.com/media/1869652/SES_Low_Wages_Tied_to_Faster_Decline.jpg
โลโก้ –  https://mma.prnewswire.com/media/1869584/AAIC22_purple_font_rgb_Logo.jpg  

Credit : ข่าวประชาสัมพันธ์กรมประชาสัมพันธ์กรุงเทพมหานคร : Read More