“คอกในคุ้ม-คุ้มในคอก” ในเวียงเชียงใหม่
หอคำเมืองนครเชียงใหม่
ที่มา
ศิลปวัฒนธรรม ฉบับมกราคม 2546
ผู้เขียน
สมโชติ อ๋องสกุล, มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
เผยแพร่
วันอังคารที่ 19 เมษายน พ.ศ.2565
“คอก” ในภาษาล้านนาหมายถึง ๑. ที่ขัง ที่จำกัดอิสรภาพ เช่นเรือนจำ ๒. จอกน้ำ กระบอกไม้ไผ่ที่ตัดขังปล้องใช้ใส่น้ำดื่มในการเดินทางเรียกว่า “บอกคอก” ๓. แขนที่เหยียดตรงไม่ได้เรียกว่า “แขนคอก” (ดูพจนานุกรมล้านนา-ไทย ฉบับแม่ฟ้าหลวง ปรับปรุงครั้งที่ ๑ พ.ศ. ๒๕๔๕ หน้า ๑๕๐) ในที่นี้หมายถึงที่ขังหรือคุก
“คุ้ม” ในภาษาล้านนาหมายถึง ๑. ที่ประทับของกษัตริย์ ที่อยู่ของเจ้านาย ๒. บางท้องถิ่นเช่นเชียงคำใช้หมายถึงกลุ่มเรือน (ดูพจนานุกรมล้านนา-ไทย ฉบับแม่ฟ้าหลวง ปรับปรุงครั้งที่ ๑ พ.ศ. ๒๕๔๕ หน้า ๑๕๗) ในที่นี้หมายถึงที่ประทับของกษัตริย์และที่อยู่ของเจ้านายในล้านนา
๑. คุ้มในเวียงเชียงใหม่
จาการสำรวจคุ้มในเวียงเชียงใหม่ของผู้เขียนเมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๗ พบว่ามีคุ้มที่พอสืบประวัติได้จำนวนประมาณ ๒๕ คุ้มและส่วนใหญ่อยู่ในเขตกำแพงชั้นใน (ดูสมโชติ อ๋องสกุล “หอคำและคุ้มในนครเชียงใหม่” วารสารเมืองโบราณ ปีที่ ๒๒ ฉบับที่ ๓ กรกฎาคม-กันยายน ๒๕๓๙ หน้า ๘๙-๙๘) คุ้มดังกล่าวแบ่งได้ดังนี้
๑. คุ้มที่ยังคงได้รับการดูแลรักษาโดยทายาท เช่น คุ้มแจ่งหัวลิน (รินแก้ว) คุ้มราชสัมพันธวงศ์ (สิงห์แก้ว) คุ้มบุรีรัตน์ (เจ้าหน่อเมือง)
๒. คุ้มที่ทายาทขายผู้อื่นแล้วและยังคงได้รับการดูแลรักษา เช่น คุ้มเจ้าบุรีรัตน์ (มหาอินทร์) คุ้มเจ้าบุรีรัตน์ (เจ้าแก้วมุงเมือง) คุ้มเจ้าอุปราชสุริยะวงศ์ คุ้มเจดีย์งาม คุ้มเจ้าวงศ์ตะวัน ฯลฯ
๓. คุ้มที่ทายาทรื้อถวายวัด เช่น พระเจ้าอินทวิชยานนท์เจ้าหลวงองค์ที่ ๗ (พ.ศ. ๒๔๑๓-๒๔๔๐) ให้รื้อคุ้มหลวงกลางเวียงของพระเจ้ากาวิโลรสฯ เจ้าหลวงองค์ที่ ๖ (พ.ศ. ๒๓๙๙-๒๔๑๓) ถวายวัดกิตติ ให้รื้อคุ้มหลวงของพระเจ้ามโหตรประเทศเจ้าหลวงองค์ที่ ๕ (พ.ศ. ๒๓๙๐-๒๓๙๗) ถวายวัดพันเตา
๔. คุ้มที่ทายาทมอบให้ทางราชการแล้วถูกรื้อเหลือแต่บริเวณ เช่น บริเวณโรงเรียนยุพราชวิทยาลัย บริเวณศาลแขวง บริเวณวิทยาลัยอาชีวศึกษา บริเวณที่ตั้งสำนักงานเทศบาลนครเชียงใหม่ ฯลฯ
๕. คุ้มที่ทายาทขายผู้อื่นแล้วถูกรื้อไปเหลือแต่รูปภาพ เช่น คุ้มริมปิงของเจ้าแก้วนวรัฐ
๖. คุ้มที่มีแต่ภาพคือคุ้มเวียงแก้ว ซึ่งเข้าใจว่าเดิมตั้งที่บริเวณเรือนจำหรือทัณฑสถานหญิง
แต่ละคุ้มของเจ้านายระดับเจ้าขัน ๕ ใบคือ ๑. เจ้าหลวง ๒. เจ้าอุปราช ๓. เจ้าราชวงศ์ ๔. เจ้าราชบุตร ๕. เจ้าบุรีรัตน์ ล้วนเป็นที่บริหารราชการ มีไพร่มีทาสจำนวนมาก มียุ้งข้าว มองตำข้าว มีโรงครัว โรงช้าง โรงม้า โรงเก็บอาวุธ เก็บเครื่องดนตรี บางคุ้มมีโรงละครและ “คอก” ฯลฯ (ดูอนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพเจ้าวงศ์จันทร์ คชเสนี ๒๕๔๐)
๒. คอกในคุ้ม
ในสมัยพระเจ้าอินทวิชยานนท์เจ้าหลวงเชียงใหม่องค์ที่ ๗ (พ.ศ. ๒๔๑๓-๒๔๔๐) คอกที่เป็นทางการอยู่ในคุ้มของเจ้าอุปราชบุญทวงศ์ เจ้าอุปราชบุญทวงศ์เป็นบุตรคนที่ ๒ ของเจ้ามหาพรหมคำคงเป็นน้องชายของเจ้าหลวง มีอำนาจมากในบริเวณคุ้ม (คือบริเวณหลังสถานีตำรวจกองเมืองปัจจุบัน) มีคอกใหญ่ ผู้ต้องโทษที่ศาลลูกขุนของเจ้าหลวงพิจารณาโทษแล้วต้องมาไว้ที่คอกในคุ้มแห่งนี้
คนต้องโทษที่อยู่ในคอกส่วนหนึ่งถูกนำไปประหารชีวิตที่ท่าวังตาล มีเพียงบางคนที่รอดเพราะได้รับอภัยโทษในวาระทำบุญของเจ้าหลวง เช่นปี พ.ศ. ๒๓๖๖ เดือน ๘ เหนือ แรม ๔ ค่ำ เจ้าคำฝั้นเจ้าหลวงเชียงใหม่องค์ที่ ๓ (พ.ศ. ๒๓๖๖-๒๓๖๘) บวชที่วัดเชียงมั่นได้เชิญเจ้าหลวงลำปางและเจ้าหลวงลำพูนเป็นประธาน ครั้งนั้นเจ้าดวงทิพ เจ้าหลวงลำปางให้ปล่อยนักโทษคดีฆ่าช้างเอางาจำนวน ๖ คนให้พ้นโทษประหารชีวิต (ปราณี ศิริธร รำลึกสัมมนาราชทัณฑ์ ๒๕๒๓ อ้างจากราชวงศ์ปกรณ์ผูกที่ ๘)
ครั้นเจ้าอุปราชบุญทวงศ์ถึงแก่กรรมเมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๕ เจ้าอินทวิชยานนท์ให้ใช้คอกของคุ้มเจ้าบุรีรัตน์ (มหาอินทร์) เป็นคอกทางการ เจ้าบุรีรัตน์ (มหาอินทร์) เป็นแม่ทัพคราวไปศึกเจ้าฟ้าโกหล่านเมืองหมอกใหม่ แคว้นฉาน ได้รับชัยชนะ และเป็นแม่ทัพครั้งปราบกบฏพญาผาบ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๒ ภายในคอกที่คุ้มเจ้าบุรีรัตน์ (มหาอินทร์) ซึ่งอยู่กลางเวียงจึงเต็มไปด้วย “ชาวนา” ที่ต้องโทษกบฏ บริเวณคุ้มเจ้าบุรีรัตน์ (มหาอินทร์) จึงเป็นที่ชุมชนช่างที่หลากหลาย เช่น ช่างจักสาน ช่างเหล็ก ช่างแกะสลัก ช่างไม้ ฯลฯ ซึ่งเข้าใจว่าส่วนหนึ่งคือแรงงานฝีมือของกบฏชาวนาที่ถูกจับขังคอกนั่นเอง
เวลานั้นทางการสยามต้องทำสัญญากับอังกฤษเพื่อคุ้มครองคนในบังคับของอังกฤษเรียกว่าสัญญาเชียงใหม่ ฉบับที่ ๑ พ.ศ. ๒๔๑๖ และฉบับที่ ๒ พ.ศ. ๒๔๒๖ เพื่อคุ้มครองคนในบังคับอังกฤษไม่ให้ถูกจับเข้า “คอก” ด้วยวิธีการของล้านนา จึงเริ่มส่งข้าหลวงขึ้นมาควบคุมด้านต่างๆ รวมทั้งด้านการศาล
อย่างไรก็ตามการพิจารณาคดีแบบล้านนา ก็ดำเนินต่อมาอีกระยะหนึ่งต้องย้ายคอกไปอยู่ตามคอกในคุ้มของเจ้าที่มีหน้าที่พิพากษาคดีความ คือเมื่อเจ้าบุรีรัตน์ (มหาอินทร์) ถึงแก่กรรมใน พ.ศ. ๒๔๓๘ พระเจ้าอินทวิชยานนท์ก็ให้เจ้าราชภาติกวงศ์ (หน่อเมือง) หัวหน้าผู้พิพากษาศาลพื้นเมืองเป็นเจ้าบุรีรัตน์ (หน่อเมือง) และให้ย้าย “คอก” ไปไว้ที่คอกในคุ้มเจ้าบุรีรัตน์ (หน่อเมือง) ที่ประตูเชียงใหม่ และเมื่อเจ้าบุรีรัตน์ (หน่อเมือง) ถึงแก่กรรมก็ให้ย้ายคอกไปคอกที่คุ้มเจ้าทักษิณนิเกตุ (มหายศ) เสนาวัง บุตรของเจ้ามหาวงศ์สายนายเรือน (ปราณี ศิริธร เรื่องเดิม หน้า ๓๖)
๓. คุ้มในคอก
ครั้นสมัยเจ้าอินทวโรรสสุริยวงษ์เป็นเจ้าหลวงองค์ที่ ๘ (พ.ศ. ๒๔๔๔-๒๔๕๒) อำนาจรัฐของสยามแผ่เข้าสู่เชียงใหม่มากขึ้นสามารถจัดตั้งมณฑลเทศาภิบาลเรียกว่ามณฑลพายัพใน พ.ศ. ๒๔๔๒ จากเดิมที่มีศูนย์บริหารอยู่ริมแม่น้ำปิงก็เริ่มย้ายเข้าพื้นที่กลางเวียง เพราะได้รับบริจาคที่ดินของคุ้มกลางเวียงเพื่อใช้เป็นที่ตั้งศาลามณฑล เป็นที่ตั้งศาลแขวง เป็นที่ตั้งโรงเรียนประจำมณฑล
จากนั้นพระยานริศรราชกิจ (สาย โชติกเสถียร) ข้าหลวงใหญ่ได้ขอพื้นที่หลังคุ้มกลางเวียงเป็นเรือนจำ และขอบริเวณคุ้มเจ้าบุญทวงศ์เป็นสถานีตำรวจกองเมือง ซึ่งเจ้าอินทวโรรสฯ ได้มอบให้ตามความประสงค์ของทางราชการ โดยเหตุที่บริเวณสร้างเรือนจำหรือคอกแห่งใหม่นั้น เดิมเป็นที่ตั้งคุ้มเวียงแก้ว ซึ่งจากภาพเป็นคุ้มที่สวยงามมาก และเชื่อกันว่าเป็นคุ้มสมัยพระเจ้ากาวิละเจ้าหลวงเชียงใหม่องค์แรก (พ.ศ. ๒๓๒๕-๒๓๕๘) แม้จะมีการรื้อไปก่อนหน้ามีการมอบพื้นที่ให้ทางการแล้ว เมื่อมีการสร้างคอกหรือเรือนจำขึ้นบริเวณดังกล่าวในสมัยพระยานริศรราชกิจ (สาย) เป็นข้าหลวงใหญ่แล้ว ก็กล่าวได้ว่า “คุ้มอยู่ในคอก” ตั้งแต่นั้นมา โดยมีการนำนักโทษจากคอกในคุ้มเจ้าทักษิณนิเกตุ (มหายศ) มาไว้ที่คอกใหม่อันเป็นที่เคยตั้งคุ้มเวียงแก้ว โดยครั้งแรกทำเป็นรั้วไม้สัก
พ.ศ. ๒๔๔๕ สมัยเจ้าพระยาสุรสีห์วิศิษฐศักดิ์ (เชย กัลยาณมิตร) เป็นข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลพายัพ (พ.ศ. ๒๔๔๕-๒๔๕๘) กลุ่มเงี้ยวได้ก่อปฏิกิริยาที่เมืองแพร่ ลำปาง เชียงใหม่ หลังจากปราบสำเร็จคงมีผู้ต้องโทษเพิ่มขึ้น จึงได้มีการก่อกำแพงด้วยอิฐและสร้างอาคารคุมขังให้แข็งแรง โดยมีพระยอดเมืองขวาง (ม.ล.อั้น เสนีวงศ์) คุมโครงการ (ปราณี ศิริธร เรื่องเดิม ๒๕๒๓ หน้า ๒๓-๒๔) คอกในบริเวณคุ้มเดิมจึงมั่นคงตั้งแต่นั้นมา
๔. พื้นที่คุ้มในคอก ยุคนายกฯ คนเมือง
การย้ายคอกออกนอกเมืองไปบริเวณศูนย์ราชการแห่งใหม่ ได้ดำเนินมาตั้งแต่ทศวรรษ ๒๕๓๐ และสำเร็จตามแผนเป็นระยะ ขณะเดียวกันได้เกิดกระแสขอใช้พื้นที่คอกเป็นพื้นที่สาธารณะทั้งในเชียงรายและเชียงใหม่ กรณีเชียงใหม่กรมราชทัณฑ์ให้นักโทษชายย้ายไปอยู่ในคอกใหม่ที่ศูนย์ราชการ และให้นักโทษหญิงอยู่คอกเก่า เมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๑-๒๕๔๒ แล้วเรียกว่าทัณฑสถานหญิงจังหวัดเชียงใหม่
ครั้นปี ๒๕๔๔ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี กรมราชทัณฑ์ได้ขึ้นป้ายใหญ่หน้าทัณฑสถานหญิงจังหวัดเชียงใหม่ว่า “กรมราชทัณฑ์โดยความเห็นชอบของ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี (พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร) จะมอบพื้นที่ทัณฑสถานแห่งนี้ให้เป็นสวนสาธารณะ และศูนย์วัฒนธรรมของประชาชนชาวเชียงใหม่ทุกคน ๑๕ กรกฎาคม ๒๕๔๔”
บัดนี้การมอบพื้นที่คุ้มในคอกยังไม่เกิดขึ้น (ตามแผนต้องรอถึงปี ๒๕๔๗) แต่เทศบาลนครเชียงใหม่ได้เตรียมโครงการปรับปรุงพื้นที่ดังกล่าวอย่างเบ็ดเสร็จแล้ว ทำให้เกิดกระแสขอมีส่วนร่วมคิดจากภาคประชาชน นับเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญที่ภาครัฐต้องรับฟังความคิดเห็น และเปิดโอกาสให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วม
๕. ร่องรอยโบราณคดีในพื้นที่
จากการสำรวจพื้นที่ทัณฑสถานหญิงจังหวัดเชียงใหม่เมื่อ ๒๗ ตุลาคม ๒๕๔๕ พบว่าบริเวณที่ตั้งศาลเจ้าพ่อมือเหล็กมีโบราณสถานที่มีลักษณะคล้ายซุ้มประตูโขง ส่วนบนมีลายปูนปั้นสวยงามแบบเดียวกับซุ้มประตูโขงวัดเจ็ดยอด ซึ่งสร้างในสมัยพระเจ้าติโลกราช (พ.ศ. ๑๙๘๔-๒๐๓๐) ส่วนล่างมีลายปูนปั้นรูปสิงห์สวยงามมาก กรมศิลปากรควรเร่งเข้าสำรวจเพื่อบูรณะต่อไป
พื้นที่คุ้มในคอกแห่งนี้นอกจากเคยเป็นที่ตั้งคุ้มเวียงแก้ว โบราณสถานที่เหลืออยู่อาจบอกว่าเคยเป็นวัดตั้งแต่สมัยราชวงศ์มังรายด้วย และโดยเหตุที่ตั้งอยู่ด้านตะวันตกเฉียงเหนือของเมือง ถือเป็นพื้นที่ “อายุเมือง” ตามคติมหาทักษา พื้นที่แห่งนี้จึงมีความสำคัญในระบบความเชื่อ การคิดใช้พื้นที่แห่งนี้ในอนาคตต้องคำนึงเรื่องนี้ด้วย
เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 21 กุมภาพันธ์ 2560
Source: https://www.silpa-mag.com/history/article_6655
The post “คอกในคุ้ม-คุ้มในคอก” ในเวียงเชียงใหม่ appeared first on Thailand News.