ติดตามผ่านช่อง : Siammongkol Youtube Channel

ส่องการพักผ่อนแบบชนชั้นสูงสยาม อิทธิพลจากฝรั่ง ดูยุคเริ่มยอมถ่ายรูป สู่ฮิตพักตากอากาศ

ส่องการพักผ่อนแบบชนชั้นสูงสยาม อิทธิพลจากฝรั่ง ดูยุคเริ่มยอมถ่ายรูป สู่ฮิตพักตากอากาศ

ที่มา
ศิลปวัฒนธรรม ฉบับสิงหาคม 2551
ผู้เขียน
วีรยุทธ ศรีสุวรรณกิจ
เผยแพร่
วันอาทิตย์ที่ 17 เมษายน พ.ศ.2565

ชนชั้นสูงสยามกับการพักผ่อนหย่อนใจของฝรั่ง [1]

เมื่อเอ่ยถึง “การพักผ่อนหย่อนใจ หลายท่านคงจะนึกถึงกิจกรรมต่างๆ ที่เราคุ้นเคยในชีวิตประจำวัน เช่น การเล่นกีฬา การสังสรรค์ การร้องเพลงเต้นรำ การเดินช็อปปิ้ง การชมภาพยนตร์ และการท่องเที่ยว กิจกรรมเหล่านี้มีการแบ่งส่วนอย่างชัดเจนออกจากการงาน การพักผ่อนดังกล่าวทำหน้าที่สร้างความสำราญในเวลาว่างที่แสนจะจืดชืดของเรา หรือเป็นกำไรชีวิตหลังจากที่เราต้องฝ่าฟันภาระการงานที่แสนหนักหน่วง การพักผ่อนหย่อนใจที่ว่านี้เราต่างคุ้นเคยมาเป็นเวลานาน เราคงรู้ คงเห็น แล้วคงทำตามๆ กันมาตั้งแต่สมัยพ่อแม่จนแทบจะหาที่มาไม่ได้ หากจะตั้งข้อสังเกตสักนิด เราอาจจะพบความน่าแปลกใจบางอย่างที่อาจไม่ทันฉุกคิด เป็นต้นว่า การพักผ่อนส่วนใหญ่ที่ได้รับความนิยมอยู่ทุกวันนี้ไม่ใช่ของไทยแท้ แต่กลับเป็นสินค้านำเข้ามาจากฝรั่งเช่นเดียวกับสิ่งของอื่นๆ ในชีวิตประจำวัน

ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ เมื่อลองหันมองไปรอบๆ ตัวเราจะพบว่า การพักผ่อนที่นิยมในทุกวันนี้แทบจะไม่มีอะไรเป็นของไทยแท้ ฟุตบอลมาจากแดนผู้ดี เพลงที่เราร้องเราฟังกันจนติดหูก็เป็นร็อค แจ๊ส แร็พ ริทึ่มแอนด์บลู ของฝรั่งและคนผิวสี บางครั้งจะซื้อของก็ต้องไปคาร์ฟูหรือโลตัสห้างสัญชาติฝรั่ง เพราะตลาดสด ตลาดน้ำ และตลาดนัด คงจะไม่มีของให้เราซื้อได้ทุกอย่าง เวลาเราจะชมความบันเทิงคงไม่มีใครนั่งไปดูโขนดูละครไทย แต่พวกเรากลับไปดูหนังโรงที่มีเครื่องฉายทันสมัยที่ฝรั่งคิดขึ้น และหากเลือกที่จะเชื่อการสังสรรค์หลังเลิกงานหรือในวันหยุดเสาร์อาทิตย์ก็ได้รับอิทธิพลมาจากฝรั่งเช่นกัน

แต่กระนั้นการพักผ่อนของไทยก็ไม่ได้หายไปไหน เพียงแต่เราอาจจะไม่นิยมชมชอบเท่ากับของใหม่ที่ทันสมัยกว่า เราคงต้องยอมรับว่า หนังแผ่นคงจะน่าดูกว่าลิเก เล่นวิดีโอเกมคงน่าสนุกกว่าเล่นหมากเก็บหรือมอญซ่อนผ้า เที่ยวอาร์ซีเอคงสนุกกว่าเที่ยวงานวัด กิจกรรมแบบไทยๆ จึงเหมือนกับของเก่าอันทรงคุณค่าควรอนุรักษ์ในพิพิธภัณฑ์ มากกว่าของที่มีชีวิตยังเล่นยังใช้ในสังคม

การขยายเส้นทางรถไฟมาถึงหัวหิน ทำให้การเดินทางสะดวกมากขึ้น หัวหินจึงเป็นสถานที่พักผ่อนตากอากาศอีกแห่งหนึ่ง นอกเหนือจากเขาสามมุข อ่างศิลา และเกาะสีชัง ชลบุรี

ความแตกต่างอันชัดเจนของการพักผ่อนหย่อนใจทั้งไทยและเทศแสดงให้เห็นว่า การพักผ่อนทั้งสองเป็นสิ่งที่ไม่เหมือนกัน การจะสืบค้นหาการเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่เกี่ยวกับการพักผ่อนในสยามจึงเป็นสิ่งท้าทายอย่างยิ่ง แต่ปัญหาในการศึกษากลับอยู่ที่ว่าเราจะสืบยังไงและจะสืบหาเรื่องไหนประเด็นไหนก่อน

บทความนี้ขอถือวิสาสะเริ่มศึกษาเรื่องราวจากสิ่งที่ผู้ค้นคว้าคุ้นเคยก่อนนั่นคือ การพักผ่อนหย่อนใจแบบฝรั่งกับพวกผู้ดีสยาม ซึ่งทั้งสองสิ่งเข้ามาเกี่ยวข้องกันมีความสัมพันธ์กันอย่างลึกซึ้ง ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมอันน่าทึ่งในช่วงสมัยหนึ่งของสยาม หากเราอยากจะเห็นที่มาที่ไปของปรากฏการณ์ดังกล่าว เราคงต้องหลับตาแล้วถอยหลังย้อนเวลากลับไปราวร้อยกว่าปีในสมัยรัชกาลที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ อันเป็นต้นเรื่องของการเปลี่ยนแปลงทางสังคมหลายสิ่งหลายอย่างของสยามประเทศในเวลาต่อมา

เค้าลางในสมัยรัชกาลที่ 4 

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เราพอจะเริ่มเห็นเค้าลางของการพักผ่อนแบบใหม่ที่ฝรั่งนำเข้ามาสู่สยาม การเสด็จประพาสและเดินทางไปเปลี่ยนอากาศที่เขาสามมุข [2] (.. 2402อ่างศิลา และเกาะสีชัง ชลบุรี ของรัชกาลที่ 4 และขุนนางชั้นสูง [3] ถือเป็นจุดเริ่มแรกเป็นสิ่งที่ไม่เคยมีมาก่อนในบ้านเมืองสยาม จะว่าไปเพียงแค่การไปเที่ยวชายทะเลอาจจะไม่สลักสำคัญอะไรในปัจจุบัน เพราะใครๆ ก็ไปเที่ยวทะเลกันได้ แค่มีเงินจ่ายค่ารถค่าน้ำมันก็ไปได้แล้ว และหากถามว่าเราไปทะเลทำไม เราก็คงไม่ต้องคิดอะไรมากนอกจากตอบไปว่า “ไปเพื่อพักผ่อนและหาความเพลิดเพลิน”

แต่ในสมัยรัชกาลที่ 4 การไปทะเลกลับมีความพิเศษกว่ามากอย่างคาดไม่ถึง คงจะไม่ผิดซะทีเดียวหากจะบอกว่า นี่คือการแสดงตนยอมรับแนวคิดฝรั่งในเรื่องการพักผ่อนอย่างเป็นทางการ เป็นแนวคิดที่เชื่อว่า การพักตากอากาศชายทะเลมีส่วนในการรักษาโรคภัยไข้เจ็บได้ แนวคิดนี้เป็นสิ่งที่เฟื่องฟูอยู่แล้วที่ยุโรปในขณะนั้น เมื่อฝรั่งเดินทางเข้ามาสยาม ก็นำแนวคิดและค่านิยมการดำรงชีวิตเข้ามาด้วย แนวคิดเหล่านี้ถูกถ่ายทอดไปสู่ชนชั้นสูงโดยตรงพร้อมทั้งรูปแบบและแนวคิดที่มีต่อเรื่องการพักผ่อนที่สะท้อนออกมาในเรื่องการพักตากอากาศชายทะเล การพักผ่อนหย่อนใจแบบฝรั่งในสยามระยะแรกๆ จึงมีวัตถุประสงค์อย่างหนึ่งเพื่อการรักษาสุขภาพ และได้จุดประกายให้พวกชนชั้นสูงเริ่มจากการแล่นเรือออกไปตากอากาศยังหัวเมืองชายทะเลเป็นครั้งแรก

ในเวลาไล่เลี่ยกันชนชั้นสูงสยามก็เปิดรับสิ่งที่ดูแปลกตายิ่งๆ ขึ้นไป พวกชนชั้นสูงหันไปคลั่งไคล้สิ่งประดิษฐ์ของเล่นแปลกๆ จากฝรั่ง ที่เห็นได้ชัดเจนก็คือ “กล้องถ่ายรูป” ไม่น่าเชื่อว่าการถ่ายรูปที่เป็นงานอดิเรกที่แสนจะธรรมดาในปัจจุบันเดิมจะเคยเป็นเรื่องสยองขวัญ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงอธิบายไว้ว่า “…เมื่อแรกมีช่างถ่ายรูปนั้นไม่ค่อยมีใครยอมถ่ายรูปกัน เพราะเกรงว่าจะเอาไปทำร้ายด้วยเวทมนต์ ขนาดสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ เป็นขุนนางชั้นสูงก็ยังไม่ยอมถ่ายรูป” [4]

แต่การต่อต้านดังกล่าวกลับคลี่คลายลงอย่างรวดเร็วเมื่อพระมหากษัตริย์ทรงเปิดพระทัยรับความแปลกใหม่ของการถ่ายภาพ ใน พ.. 2399 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงส่งพระบรมสาทิสลักษณ์ของพระองค์เอง ฉายคู่กับสมเด็จพระเทพศิรินทรา บรมราชินี ไปให้ประธานาธิบดีแฟรงคลิน เพียร์ซ แห่งสหรัฐอเมริกา พร้อมด้วยพระราชสาส์นลงวันที่ 10 มิถุนายน พ.2399 [5] เมื่อใจเปิดกว้างจากเรื่องสยองขวัญก็กลับกลายเป็นความคลั่งไคล้

สมัยรัชกาลที่ 5

ในสมัยต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงชื่นชอบการถ่ายภาพเป็นงานอดิเรกเป็นอย่างยิ่ง ในคราวเสด็จประพาสต้นครั้งที่ 2 เมื่อ พ.. 2449 พระองค์ทรงหยุดถ่ายรูปทิวทัศน์ วัดวาอาราม ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนกว่า 40 ครั้ง [6] บรรดาชนชั้นสูงสมัยนั้นก็พลอยนิยมการถ่ายรูปไปด้วย หนังสือพิมพ์ The Bangkok Times Weekly Mail ซึ่งกล่าวถึง “กลุ่มช่างถ่ายรูปสมัครเล่น” ที่ช่วยกันบันทึกภาพตามเส้นทางเสด็จพระราชดำเนินเข้ากลับสู่สยามตั้งแต่เมืองจันตบูนปากน้ำ จนกระทั่งถึงกรุงเทพฯ ว่า ประกอบด้วย พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงดำรงราชานุภาพ กรมหมื่นอดิศร กรมหมื่นจันทบุรี พระยามนตรี หม่อมอนุวงส์ พระนรินทร์ พระยาศรีสหเทพ พระยาอมรินทร์ พระยาราชสงคราม หลวงจาตุรงค์ หลวงบุรี หลวงสุวพิทย์ หลวงจิตจำนง หลวงนาวา หลวงจันทรมาส จหมื่นจงวา ส่วนที่เหลือนั้นล้วนแต่เป็นชาวตะวันตกทั้งสิ้น [7]

นอกจากการเล่นถ่ายรูปแล้วบรรดาชนชั้นสูงยังตื่นตาตื่นใจกับการพักผ่อนและเล่นสิ่งประดิษฐ์แปลกใหม่หลากหลายชนิด ภาพคลาสสิคภาพหนึ่งที่มักกล่าวถึงบ่อยครั้งก็คือ การเล่น โครเกต์” (การตีลูกลอดห่วงของรัชกาลที่ 5 กับข้าราชสำนักเมื่อ พ.2418 [8] นอกจากนี้ยังมีการขับรถยนต์ โดยเจ้าของคนแรกก็คือ เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี (เจิม แสงชูโต[9]

การขับเรือยนต์เล่นของกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ [10] และการเล่นกล้วยไม้ของสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต [11] สังเกตได้ว่าการพักผ่อนหย่อนใจแบบใหม่ของฝรั่งที่เข้ามาจะมาอยู่กับพวกชนชั้นสูงเสมอ ทั้งนี้เพราะกิจกรรมเหล่านี้เสียค่าใช้จ่ายสูง คงไม่มีพวกไพร่หรือสามัญชนคนใดจะมีปัญญาซื้อกล้องล่องเรือไปเที่ยวไกลๆ ได้ การพักผ่อนแบบตะวันตกในสยามจึงเป็นการพักผ่อนเฉพาะของชนชั้นสูงและพวกผู้ดีมีสตางค์โดยเฉพาะ

กำหนดเวลาทำงานแบบสากล

นอกจากตัวกิจกรรมแล้ว ในช่วงเวลาดังกล่าวก็มีการปรับเปลี่ยนทางสังคมที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการพักผ่อนแบบใหม่ คงจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดที่สั่นสะเทือนสังคมได้เท่ากับเปลี่ยนแปลงที่ปรากฏในกรอบเล็กๆ ของหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งในสมัยรัชกาลที่ 5 เชื่อหรือไม่ว่าการเปลี่ยนแปลงนี้สั่นสะเทือนคนทุกคนเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน เราไม่มีทางหลีกเลี่ยงการเปลี่ยนแปลงนี้ได้ แต่เรากลับก้าวเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ก็ตาม การเปลี่ยนแปลงที่ว่านี้คือการลงประกาศสั้นๆ ของกระทรวงการคลังใจความว่า ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม (.. 2441เป็นต้นไป กระทรวงการคลังเปิดทำการในวันจันทร์เสาร์ เวลา 10.00 นาฬิกา ถึง 14.00 นาฬิกา วันเสาร์เวลา 10.00 นาฬิกา ถึง 14.00 นาฬิกา วันอาทิตย์หยุดทำการ ผู้ประกาศคือ หม่อมเจ้าปิยะภักดี” [12]

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพกับกล้องถ่ายรูปในสมัยแรกๆ

ถึงตอนนี้อาจจะสงสัยว่าการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยแค่เรื่องประกาศเวลาทำงานจะสั่นสะเทือนสังคมสยามอย่างไร ความน่าทึ่งของปรากฏการณ์นี้อยู่ที่ว่า นี่คือการกำหนดเวลาทำงานแบบสากลเป็นทางการครั้งแรกเท่าที่เคยมีมาในสยาม [13] เป็นการอิงกับระบบเวลาการทำงานของฝรั่ง คือ ทำงานเช้า เลิกงานเย็น ทำงานทุกวัน หยุดทำงานในวันอาทิตย์ การกำหนดวันและเวลาทำงานดังกล่าวส่งผลอันใหญ่หลวงต่อมา ทำให้คนสยามมีมาตรฐานในการจัดเวลาพักที่แน่นอน รู้ว่าทำงานวันไหนหยุดวันไหน เราจะเลิกงานกี่โมง พอเลิกงานเราจะทำอะไรต่อไป

การรู้เวลาพักที่แน่นอนทำให้เราสามารถกำหนดการพักผ่อนที่แน่นอนล่วงหน้าได้ สามารถนัดเพื่อนๆ ได้ ลักษณะดังกล่าวจึงเอื้อต่อความเจริญของการพักผ่อนแบบใหม่ที่เข้ามา ซึ่งอิงกับระบบการจัดเวลาทำงานและพักผ่อนอันเป็นสากล ปรากฏการณ์นี้ยังทำให้เกิดความผิดฝาผิดตัวอันสืบเนื่องมาถึงปัจจุบัน ทำให้คนสยามอย่างเราท่านต้องหยุดทำงานในวันอาทิตย์ ทั้งๆ ที่การหยุดงานในวันอาทิตย์ไม่เกี่ยวอะไรกับคนสยามเลย เพราะการหยุดทำงานวันอาทิตย์เป็นการหยุดทำงานตามวันสำคัญทางศาสนาของชาวคริสต์ ทั้งๆ ที่คนไทยส่วนใหญ่เป็นชาวพุทธ ดังนั้นมีวันหยุดในลักษณะดังกล่าวแสดงถึงการปรับตัวให้เข้ากับการพักผ่อนแบบใหม่ของฝรั่ง เมื่อการพักผ่อนรูปแบบใหม่ๆ เข้ามาในภายหลัง เราจึงหาความสำราญได้โดยไม่แปลกแยก

เมื่อมีการจัดเวลาพักผ่อนที่เอื้ออำนวย การพักผ่อนหย่อนใจแบบฝรั่งในสยามก็พัฒนามีรูปแบบต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย ความแปลกใหม่สิ่งแรกที่เห็นได้ชัดคือ การเกิดสถานที่ให้บริการพักผ่อนอย่างเป็นทางการ สถานที่ดังกล่าวอาจจะไม่สะดุดตาเมื่อมองจากมุมปรกติทั่วไป หากจะลองสังเกตสักนิดพื้นที่โล่งกว้างเขียวชอุ่มด้วยผืนหญ้าล้อมรอบไปด้วยลู่วิ่งอันใหญ่โตบริเวณถนนอังรีดูนังด์เรื่อยไปจนถึงถนนราชดำริ เวลาเรานั่งรถไฟฟ้าจะสังเกตเห็นสถานที่แห่งนี้ได้ชัดเจน

บางคนอาจจะตั้งข้อสงสัยว่าสถานที่นี้คืออะไร เหมือนเป็นที่ที่มีกำแพงใหญ่โตสงวนไว้สำหรับคนกลุ่มหนึ่งเท่านั้น แต่หลายคนก็คงตอบได้ว่าสถานที่แห่งนี้ก็คือ “รอแยลสปอร์ตคลับ” (ในรัชกาลที่ 6 เปลี่ยนชื่อเป็น สโมสรราชกรีฑา และปัจจุบันเรียกว่า ราชกรีฑาสโมสรเป็นสถานที่ที่ให้บริการกิจกรรมต่างๆ แก่สมาชิกซึ่งเป็นชาวตะวันตก มีกิจกรรมต่างๆ ไว้บริการ เช่น การแข่งม้า โปโล เทนนิส คริคเก็ต และกีฬาชนิดอื่นๆ [14] การก่อตั้งราชกรีฑาสโมสรเกิดขึ้นเพราะว่า ชาวต่างชาติต้องการให้สยามมีสโมสรที่ให้สมาชิกได้โดยเฉพาะชาวต่างชาติได้พักผ่อน เช่นเดียวกับเมืองอื่นๆ ที่มีสโมสรอยู่ก่อนแล้ว เช่น ฮ่องกง สิงคโปร์ และย่างกุ้ง [15]

แน่นอนว่าพื้นที่แห่งนี้ไม่ได้เป็นเพียงที่เดินเล่นของฝรั่งและพวกผู้ดีเท่านั้น การก่อตั้งสโมสรแห่งนี้คือจุดเริ่มที่แสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงสำคัญของประเทศสยาม เมื่อมีการสร้างพื้นที่สาธารณะเพื่อการพักผ่อนโดยเฉพาะ สถานที่ลักษณะนี้ไม่เคยมีมาก่อนเพราะคนสยามไม่เคยเสียเงินเพื่อใช้บริการพื้นที่ในลักษณะ “Club House” เช่นนี้ สโมสรแห่งนี้เปิดบริการให้ชาวต่างชาติรวมทั้งผู้ดีสยามที่มีฐานะเข้ามาใช้บริการ โดยมีทั้งกีฬาและสถานที่เพื่อพบปะสังสรรค์ไว้ให้บริการ ในเวลาต่อมา “รอแยลสปอร์ตคลับ” ก็เป็นสนามม้าขึ้นชื่อของสยาม จนมีชื่อเรียกอย่างคุ้นหาจวบจนปัจจุบันว่า สนามฝรั่ง”

ในเวลาต่อมา การพักผ่อนหย่อนใจอีกหลากหลายประเภทก็หลั่งไหลเข้าสู่สยาม แต่การพักผ่อนหย่อนใจใหม่ๆ ที่เข้ามาตั้งแต่ปลายสมัยรัชกาลที่ 5 กลับมีลักษณะต่างไปจากเดิม ถึงสมัยนี้ไม่ใช่เป็นเพียงการเล่นของแปลกๆ ใหม่ๆ เท่านั้น แต่การพักผ่อนที่ว่านี้ได้รวมถึงการดำเนินงานและการให้บริการอย่างเป็นระบบมีทั้งสถานที่รองรับสมาชิกและองค์กรสนับสนุนกิจกรรมให้ดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเราอาจจะเห็นมาบ้างแล้วในกรณี รอแยลสปอร์ตคลับ”

สมัยรัชกาลที่ 6 

เค้าลางการเปลี่ยนแปลงของการพักผ่อนแบบฝรั่งในสยามเริ่มขึ้นตั้งแต่เมื่อรัชกาลที่ 6 (ครั้นยังดำรงตำแหน่งสยามมกุฎราชกุมารเสด็จนิวัติพระนครหลังจากทรงสำเร็จการศึกษาจากประเทศอังกฤษเมื่อ พ.. 2445 การเสด็จฯ กลับมาของพระองค์พร้อมทั้งคนหนุ่มรุ่นใหม่ที่มีโอกาสใช้ชีวิตที่เมืองนอกนับ 10 ปี มีส่วนในการนำการพักผ่อนแบบใหม่ๆ เข้ามา และกลุ่มคนรุ่นใหม่เหล่านี้ก็มีบทบาทสำคัญในฐานะผู้ใช้บริการและสนับสนุนการพักผ่อนแบบใหม่ที่ตนคุ้นเคยจากเมืองนอก ให้เป็นที่แพร่หลายและเจริญรุ่งเรืองสืบต่อมา

มหกรรมแห่งการพักผ่อนหย่อนใจในสมัยนี้เริ่มตั้งแต่ การเข้ามาของ ละครพูดแบบตะวันตก” ละครในลักษณะนี้ไม่ใช่ละครร้องแบบเดียวกับละครปรีดาลัยอันโด่งดัง แต่เป็นละครแบบฝรั่งที่มีการพูดโต้ตอบล้วนๆ เป็นละครประเภทเดียวกับละครเวทีอย่างที่เราเห็นกันในปัจจุบัน ละครดังกล่าวเข้าสู่สยามโดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวตามพระราชนิยมส่วนพระองค์ แล้วจัดแสดงโดยมีพระองค์และข้าราชบริพารใกล้ชิดเป็นผู้เล่น การจัดแสดงมักจะเก็บค่าเข้าชมที่แพง เพื่อหารายได้เข้าการกุศล ในระหว่างการเสด็จพระราชดำเนินประพาสปักษ์ใต้ ร.. 128 (.. 2452ของรัชกาลที่ 6 มีการบันทึกถึงรายได้จากการเก็บค่าเข้าชมละครไว้ว่า

“…วันที่ 28 พฤษภาคม รัตนโกสินทรศก 128 ละครสราญรมย์ที่เล่นเมื่อคืนนี้ นับว่าเป็นอันเรียบร้อยดี เป็นที่พอใจของคนที่มาดูมากที่ซึ่งจัดไว้เป็นที่นั่งคนดูนั้นไม่ว่างเลย บ๊อกซ์มี 12 บ๊อกซ์ มีเก้าอี้บ๊อกซ์ละ 6 เก้าอี้ ขายบ๊อกซ์ละ 30 บาทเต็มหมด นอกนั้นก็มีเก้าอี้ปลีกและขั้นบันไดให้นั่ง ขายตั๋วราคาถูกๆ ตั้งแต่ 3 บาท ถึง 1 บาท ได้เงินรวมเบ็ดเสร็จประมาณ 800 บาท ยังค่าโปรแกรมและบทร้องอีกสัก 40 บาท ได้ เพราะฉะนั้นนับว่าอยู่ในฐานรวย เงินนี้ทูลกระหม่อมทรงพระราชทานอุทิศถวายเป็นค่าปฏิสังขรณ์พระบรมธาตุ” [16]

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงร่วมเล่นโครเกต์ (การตีลูกลอดห่วง) กับพระบรมวงศานุวงศ์ ในพระบรมมหาราชวัง

ความแปลกของละครประเภทนี้อยู่ที่ว่า เป็นละครที่ดำเนินเรื่องโดยเป็นบทพูดล้วนๆ ซึ่งต่างจากละครไทยที่มักมีบทร้อง ส่วนเนื้อเรื่องก็ทรงพระราชนิพนธ์ขึ้นใหม่ หรือทรงดัดแปลงจากบทประพันธ์ของชาวตะวันตก ไม่เพียงแต่บทพูดเท่านั้น ละครประเภทนี้ยังสร้างความตื่นตระหนกแก่คนดูจากการแสดง “แม่พลอย” ในเรื่องสี่แผ่นดินคงจะเข้าใจเรื่องนี้เป็นอย่างดีถึงเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดในคืนหนึ่งที่ไปชมละครกับ “คุณเปรม” เมื่อแม่พลอยถึงกับตกใจเมื่อเห็นนักแสดงชายร่วมแสดงอย่างใกล้ชิดกับนักแสดงหญิง ซึ่งไม่เคยมีมาก่อนในละครแบบไทยๆ และแม่พลอยก็ถึงกับพูดอะไรไม่ออกเมื่อเห็นนักแสดงนำในเรื่อง คือ ในหลวงรัชกาลที่ 6 กับพระวรกัญญาฯ สวมกอดบอกรักกันในฉากสุดท้ายของละคร [17]

เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ทุกคนตกใจและสะท้อนได้เป็นอย่างดีว่า ความแตกต่างทางวัฒนธรรมการพักผ่อนในเรื่องการชมการแสดงถือเป็นสิ่งสำคัญที่สังคมสยามต้องปรับตัว มีรายงานบางชิ้นกล่าวว่า ละครพูดแบบตะวันตกไม่เป็นที่นิยมเท่าใดเพราะมีความแปลกที่คนสยามยังไม่คุ้นเคย ละครประเภทนี้จึงเหมือนเล่นกันเองดูกันเองในหมู่ราชสำนักรัชกาลที่ 6 และได้ทำหน้าที่เป็นละครเพื่อการกุศล เป็นที่เข้าสมาคมของพวกผู้ดีไปในที่สุด

สมาคมฟุตบอล-การเล่นกอล์ฟ

นอกจากละครพูดแล้ว ยังมีการก่อตั้งสมาคมกีฬาขึ้นอย่างเป็นทางการนั่นคือ สมาคมฟุตบอล” แม้ว่าในความเป็นจริง ฟุตบอลเป็นกีฬาที่ชาวตะวันตกได้นำมาเล่นกันเองในสยามตั้งแต่ก่อนหน้านั้นแล้วก็ตาม แต่ไม่ได้มีการสนับสนุนให้มีการก่อตั้งสมาคมหรือจัดการแข่งขันอย่างเป็นทางการระหว่างสโมสรแต่อย่างใด พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสนับสนุนการก่อตั้งสมาคมฟุตบอลขึ้นอย่างเป็นทางการ ในนาม “คณะฟุตบอลแห่งสยาม” เมื่อวันที่ 25 เมษายน พ.. 2459 เพื่อควบคุมการแข่งขันชิงถ้วยต่างๆ มีถ้วยใหญ่ ถ้วยน้อย และถ้วยนักรบ [18] และสนับสนุนให้มีการจัดการแข่งขันระหว่างสโมสรสมาชิกด้วยกัน ทำให้เกิดระบบการแข่งขันกีฬาระหว่างกลุ่มองค์กรอย่างเป็นทางการ มีสมาชิก มีผู้เล่น มีการแข่งขัน มีรางวัล และมีกองเชียร์จวบจนปัจจุบัน

กีฬาอื่นๆ ก็เช่นเดียวกัน ลักษณะที่เห็นได้ชัดเจนคือมีการสนับสนุนการแข่งขันจัดตั้งสโมสรและสมาคม เช่น กอล์ฟ ชาวอังกฤษกลุ่มหนึ่งได้นำเข้ามาเล่นในสมัยรัชกาลที่ 5 กอล์ฟเป็นกีฬาของชาวยุโรป ต่อมามีคนไทยร่วมเล่นด้วยแต่เป็นการเล่นเพื่อเข้าสังคม ความนิยมจึงอยู่ในวงจำกัด พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 พระราชทานพระบรมราชานุญาตเปิดสนามกอล์ฟแห่งแรกในประเทศขึ้นที่ทุ่งพระสุเมรุ (สนามหลวงต่อมามีการก่อตั้ง “The Bangkok Golf Club ขึ้นที่ The United Club” เมื่อวันอังคารที่ 10 ธันวาคม พ.. 2438 สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพได้รับเลือกเป็นประธาน จวบจนสมัยรัชกาลที่ 7 จึงมีการก่อตั้งสโมสรกอล์ฟแห่งแรกของคนไทยขึ้นชื่อว่า “สโมสรกอลฟดุสิต” ในเดือนมิถุนายน พ.. 2470 โดยมีสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพเป็นนายกสโมสร [19]

เช่นเดียวกับกอล์ฟ “เทนนิส” ก็เป็นกีฬาที่นิยมเล่นในสยาม สโมสรลอนเทนนิสแห่งแรกของสยาม ตั้งขึ้นที่พระราชอุทยานสราญรมย์ ในราว พ.. 2454 ในสโมสรนี้มีสมาชิกราว 10 คน และมีสองสนาม ต่อมาจำนวนสมาชิกเพิ่มขึ้น จึงย้ายไปเล่นที่สนามของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สโมสรนี้รุ่งเรืองอยู่หลายปี แต่ที่สุดก็ต้องล้มเลิกไปเพราะไม่มีสนามเป็นของตนเอง [20]

ต่อมามีความคิดกันในหมู่นักกีฬาเหล่านี้ว่าควรมีการจัดตั้งสโมสรเป็นการถาวรเสียเลย ซึ่งเป็นความจริงขึ้นมาในปี พ.. 2460 ซึ่งร่วมใจกันตั้งชื่อว่า “สโมสรสีลม” เพราะอยู่ในย่านถนนสีลม มีเครื่องหมายของสโมสรเป็นรูปโรงสีลม [21] จนปลาย พ.2463 พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ มิสเตอร์อาร์.ดีเคร็ก และพระยาสุพรรณสมบัติ ได้จัดตั้งลอนเทนนิสสมาคมแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 14 เมษายน พ.. 2470 โดยความร่วมมือจากสโมสรเทนนิสต่างๆ รวม 12 สโมสร [22]

ที่พักตากอากาศ

นอกจากนี้การพักผ่อนหย่อนใจยังขยายตัวออกไปด้วยเส้นทางคมนาคม ทางรถไฟสายใต้ที่สร้างสำเร็จในสมัยรัชกาลที่ 6 ถือเป็นจุดเริ่มของการเกิดสถานที่พักตากอากาศอันเลื่องชื่อนามว่า หัวหิน” ทางรถไฟสายใต้เปิดเดินทางจากสถานีบ้านชะอำหัวหิน เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน พ.. 2454 ก่อนหน้านั้นได้เปิดเดินรถไฟจากสถานีธนบุรีเพชรบุรี เมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.2446 และจากสถานีเพชรบุรีบ้านชะอำ เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน พ.2454 [23]

การขยายเส้นทางรถไฟถึงหัวหินทำให้ชนชั้นสูงไม่ต้องนั่งเรือออกอ่าวไทยไปเกาะสีชังให้ลำบากเช่นสมัยก่อน การโดยสารรถไฟมาหัวหินมีความสะดวกมากกว่า สามารถขนข้าทาสบริวารเดินทางมาด้วยกันทั้งขบวน ลักษณะภูมิประเทศอันงดงามของชายหาดบริเวณนี้ เป็นเหตุจูงใจให้พระบรมวงศานุวงศ์ ขุนนาง คหบดีจากกรุงเทพฯ เริ่มมาสร้างบ้านพักชายทะเล พระราชวังของพระมหากษัตริย์ประกอบด้วย พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน และพระราชวังไกลกังวล ส่วนบรรดาเจ้านายและข้าราชการชั้นสูงก็มักสร้างบ้านพักในบริเวณนี้เช่นกัน ได้แก่ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ กรมหมื่นเทววงศ์วโรทัย กรมพระจันทบุรีนฤนาถ สมเด็จฯ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ จอมมารดาอ่อน เจ้าจอมอาบ เจ้าพระยามหิธร [24]

ทางรถไฟดังกล่าวไม่ได้เป็นเพียงเส้นทางที่ชนชั้นสูงเดินทางมาพักตากอากาศเท่านั้น หากแต่เป็นเส้นทางที่เชื่อมชายทะเลกับเมืองกรุงเข้าด้วยกัน ทำให้เกิดการขยายตัวของวัฒนธรรมการท่องเที่ยวขึ้น ในเริ่มแรกหัวหินอาจจะเป็นเสมือนสงวนเฉพาะสำหรับชนชั้นสูงมาสร้างบ้านพักตากอากาศส่วนตัว ต่อมาเมื่อมีเส้นทางรถไฟมาถึงทำให้คนมาเที่ยวหัวหินมากขึ้น ทำให้มีการสร้างที่พักเพื่อรองรับผู้มีฐานะและชาวต่างชาติที่หลั่งไหลไปพักตากอากาศ ในการสร้างที่พักพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำริให้พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน ผู้บัญชาการกรมรถไฟหลวง สร้างโรงแรมก่อด้วยอิฐขึ้นที่หัวหินพร้อมสนามกอล์ฟและสนามเทนนิส ใน พ.. 2465 ซึ่งเป็นที่รู้จักในนามว่า “โฮเต็ลหัวหิน” จนถึงปัจจุบัน (2551)

แทบไม่น่าเชื่อว่าแค่ช่วงเวลาไม่ถึงร้อยปีตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4รัชกาลที่ 7 การพักผ่อนหย่อนใจแบบฝรั่งที่เดินทางเข้ามาสู่สยามประเทศจะพำนักทักทายทำความรู้จักกับคนสยาม และลงหลักปักฐานจนเจริญรุ่งเรืองขึ้นตามลำดับ เมื่อชนชั้นสูงปฏิเสธความกลัวและยอมรับความแปลกใหม่ที่ไม่คุ้นเคยได้ การพักผ่อนหย่อนใจที่เหมือนเป็นคนแปลกหน้าในทีแรกมาบัดนี้กลับกลายเป็นสหายที่คุ้นเคยไปในที่สุด ความนิยมชมชอบเห็นได้จากการพักผ่อนในรูปแบบต่างๆ ที่เจริญขึ้นตามลำดับ และได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากบรรดาชนชั้นสูง ความแปลกใหม่ความน่าทึ่งเป็นสิ่งเย้ายวนให้พวกผู้ดีไขว่คว้าหาโอกาสที่จะพักผ่อนในแบบที่ฝรั่งที่เจริญแล้วทำ

กิจกรรมเหล่านี้ยังมีสถานภาพเป็นของสูงสงวนเฉพาะชนชั้นสูง เพราะผู้มีเงินทองเท่านั้นจึงสามารถจับจ่ายอุปกรณ์หรือเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมได้ การพักผ่อนหย่อนใจของตะวันตกจึงเจริญเคียงคู่กับชนชั้นสูงสยามตั้งแต่แรก แต่กระนั้นก็ดีความสำคัญของการพักผ่อนหย่อนใจแบบฝรั่งที่แพร่เข้ามาไม่ได้มีเพียงเรื่องการปรับตัวเพื่อยอมรับของคนสยามหรือพัฒนาการของกิจกรรมเหล่านี้ในสยามเท่านั้น บางครั้งความสนุกสนานอาจจะมีความสำคัญน้อยกว่าความโก้หรูหรือเจตนารมณ์บางอย่างที่ชนชั้นสูงใช้กิจกรรมเหล่านี้เป็นเครื่องมือเพื่อประโยชน์ทางสังคมบางประการ ในทางเดียวกันช่วงสมัยดังกล่าวคนสยามก็ไม่ได้สนใจแค่เพียงการพักผ่อนของฝรั่งเท่านั้น เรายังมีรากเหง้าการพักผ่อนในแบบดั้งเดิมของเราอยู่ แต่เพราะเหตุใดในภายหลังการพักผ่อนแบบใหม่ของฝรั่งกลับได้รับความนิยมมากกว่า และการพักผ่อนของคนสยามเป็นเช่นไรต่อไป

เรื่องเหล่านื้ถือเป็นประเด็นน่าสนใจที่รอคอยโอกาสอันดีในการศึกษาและไขความกระจ่าง ซึ่งจะทำให้ทราบถึงการเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่เกี่ยวข้องกับการดำรงชีวิตของคนสยาม รวมทั้งบริบทต่างๆ ของสังคมที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงแห่งยุคสมัยจนทำให้เราเป็นเราในทุกวันนี้

 

เชิงอรรถ :

[1] ดัดแปลงจาก วีรยุทธ ศรีสุวรรณกิจ. “การพักผ่อนหย่อนใจแบบตะวันตกของชนชั้นนำสยาม พ.24452475.” วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิตภาควิชาประวัติศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย2550

[2] เจ้าพระยาทิพากรวงศมหาโกษาธิบดีพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 4พิมพ์ครั้งที่ 6. (กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง, 2548), 148.

[3] เรื่องเดียวกัน296.

[4] “สำเนาลายพระหัตถ์สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ถึง สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ลงวันที่ 7 ตุลาคม พ.2477,” ใน สาส์นสมเด็จ (ภาค 4). (พระนคร : ศิลปากร2493), 190.

[5] ศักดา ศิริพันธุ์กษัตริย์และกล้อง : วิวัฒนาการการถ่ายภาพในประเทศไทย .23882535. (กรุงเทพฯ : ด่านสุทธาการพิมพ์2535), 24.

[6] เรื่องเดียวกัน109.

[7] เรื่องเดียวกัน117.

[8] สมบัติ พลายน้อยเกร็ดโบราณคดีประเพณีไทยพิมพ์ครั้งที่ 4. (กรุงเทพฯ : รวมสาส์น 19772534), 288.

[9] “สำเนาลายพระหัตถ์สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ถึง สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ลงวันที่ 12 สิงหาคม พ.2481,” ใน สาส์นสมเด็จ (ภาค 23). (พระนคร : ศิลปากร2493), 190.

[10] เรื่องของเจ้าพระยามหิธร. พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพเจ้าพระยามหิธร (ลออ ไกรฤกษ์ณ วัดเทพศิรินทราวาส วันที่ 15 พฤศจิกายน พ.2499124125.

[11] สมเด็จฯ เจ้าฟ้า กรมพระนครสวรรค์วรพินิตตำราเล่นกล้วยไม้. (พระนคร : โรงพิมพ์จันหว่า2502), .

[12] “Notice,” in Bangkok Times. (14 Feb 1899), p. 4.

[13] ในความเป็นจริงการประกาศเวลาทำงานแบบสากลอาจจะมีฉบับอื่นในช่วงเวลาใกล้ๆ กัน แต่ประกาศฉบับนี้คือการลงประกาศอย่างเป็นทางการเท่าที่พบได้ในปัจจุบัน อีกทั้งการลงประกาศนี้ย่อมมีผลเฉพาะกระทรวงการคลัง หน่วยงานราชการหรือห้างร้านเอกชนอาจจะยังไม่อิงตามเวลาทำงานนี้ก็เป็นได้ แต่ในเวลาต่อมาหน่วยงานต่างๆ ย่อมเปลี่ยนมาใช้เวลาทำงานมาตรฐานนี้ และกลายเป็นที่ยอมรับเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

[14] Celebrating 100 years : The Royal Sport Club. (Bangkok : Mark Standen Pub., 2000), p. 29.

[15] Ibid., p. 28.

[16] พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจดหมายเหตุประพาสหัวเมืองปักษ์ใต้ 42 ร.128 ของ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช. (พระนคร : โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย2502), 205.

[17] ม..คึกฤทธิ์ ปราโมชสี่แผ่นดินพิมพ์ครั้งที่ 12. (กรุงเทพฯ : ดอกหญ้า2544), 492.

[18] ถนอมวงศ์ กฤษณ์เพ็ชร์. “พัฒนาการของพลศึกษาในประเทศไทยระหว่าง พ.2325-2525,” รายงานผลการวิจัยภาควิชาพลศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย252584.

[19] สจชสบ.2.55/4 “งบประมาณสำหรับสนามกอลฟดุสิต”

[20] “ประวัติเทนนิสฉบับ นายนัติ นิยมวานิช อดีตเลขานุการกิตติมศักดิ์,” แหล่งที่มา www.ltat.org (เว็บไซต์ของลอนเทนนิสสมาคมแห่งประเทศไทยฯ)

[21] ประทุมพรสารคดีชุด ฉันรักกรุงเทพฯ ตอน พระอาทิตย์ขึ้นที่ถนนสีลม133134.

[22] “ประวัติเทนนิสฉบับ นายนัติ นิยมวานิช อดีตเลขานุการกิตติมศักดิ์,” แหล่งที่มา www.ltat.org (เว็บไซต์ของลอนเทนนิสสมาคมแห่งประเทศไทยฯ)

[23] สงวน อั้นคงสิ่งแรกในเมืองไทยพิมพ์ครั้งที่ 2. (พระนคร : แพร่พิทยา2514), 401.

[24] บัณฑิต จุลาสัยโฮเต็ลหัวหินแห่งสยามประเทศพิมพ์ครั้งที่ 2. (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย2541), 14.

 

บรรณานุกรม :

คึกฤทธิ์ ปราโมช..สี่แผ่นดินพิมพ์ครั้งที่ 12กรุงเทพฯ : ดอกหญ้า2544.

ดำรงราชานุภาพสมเด็จฯ กรมพระยา และ นริศรานุวัดติวงศ์สมเด็จฯ เจ้าฟ้า กรมพระยาสาส์นสมเด็จ (ภาค 4) / ลายพระหัตถ์สมเด็จกรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ และ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพพระนคร : ศิลปากร2493.

______. สาส์นสมเด็จ (ภาค 23) / ลายพระหัตถ์สมเด็จกรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ และ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพพระนคร : ศิลปากร2493.

ถนอมวงศ์ กฤษณ์เพ็ชร์พัฒนาการของพลศึกษาในประเทศไทยระหว่าง พ.23252525. รายงานผลการวิจัยภาควิชาพลศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย2525.

ทิพากรวงศมหาโกษาธิบดีเจ้าพระยาพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 4. พิมพ์ครั้งที่ 6กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง2548.

นครสวรรค์วรพินิตสมเด็จฯ เจ้าฟ้า กรมพระตำราเล่นกล้วยไม้. พระนคร : โรงพิมพ์จันหว่า2502.

บัณฑิต จุลาสัยโฮเต็ลหัวหินแห่งสยามประเทศพิมพ์ครั้งที่ 2กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย2541.

ประทุมพรสารคดีชุด ฉันรักกรุงเทพฯ ตอน พระอาทิตย์ขึ้นที่ถนนสีลมกรุงเทพฯ : แพรวสำนักพิมพ์2547.

มงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวพระบาทสมเด็จพระจดหมายเหตุประพาสหัวเมืองปักษ์ใต้ 42 ร.128 ของ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช. พระนคร : โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย2502.

เรื่องของเจ้าพระยามหิธรพระนคร : โรงพิมพ์ตีรณสาร2499. (พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพเจ้าพระยามหิธร (ลออ ไกรฤกษ์ณ วัดเทพศิรินทราวาส วันที่ 15 พฤศจิกายน พ.2499).

ศักดา ศิริพันธุ์กษัตริย์และกล้อง : วิวัฒนาการการถ่ายภาพในประเทศไทย พ.23882535กรุงเทพฯ : ด่านสุทธาการพิมพ์2535.

สงวน อั้นคงสิ่งแรกในเมืองไทยพิมพ์ครั้งที่ 2พระนคร : แพร่พิทยา, 2514.

สจชสบ2.55/4 “งบประมาณสำหรับสนามกอลฟดุสิต”

สมบัติ พลายน้อยเกร็ดโบราณคดีประเพณีไทย. พิมพ์ครั้งที่ 4กรุงเทพฯ : รวมสาส์น 19772539.

Celebrating 100 years : The Royal Sport Club. Bangkok : Mark Standen Pub., 2000.

“Notice,” in Bangkok Times. 14 Feb. 1899. htpp://www.ltat.org (20 มิถุนายน 2549).

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 12 เมษายน 2562

Source: https://www.silpa-mag.com/history/article_29754

The post ส่องการพักผ่อนแบบชนชั้นสูงสยาม อิทธิพลจากฝรั่ง ดูยุคเริ่มยอมถ่ายรูป สู่ฮิตพักตากอากาศ appeared first on Thailand News.