รู้ไหมว่า “มหาสารคามเคยมีสนามบิน”…แล้วทำไมถึงเปลี่ยนไป?
เครื่องบินที่มาแสดงในงานเปิดสนามบินที่มณฑลร้อยเอ็ด วันที่ 7 เมษายน 2465 (ภาพจากการค้นคว้าของ คุณวีระ วุฒิจำนงค์)
ผู้เขียน
จักรมนตรี ชนะพันธ์
เผยแพร่
วันพฤหัสที่ 14 เมษายน พ.ศ.2565
จังหวัดมหาสารคามตั้งอยู่กึ่งกลางของภาคอีสาน เป็นจังหวัดขนาดเล็กมีพื้นที่เป็นลำดับที่15 ของภาคอีสาน จังหวัดมหาสารคามมีพัฒนาการตั้งขึ้นเป็น “เมืองมหาสารคาม” เมื่อ พ.ศ. 2408 รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ประชาชนส่วนใหญ่นับถือพุทธศาสนา และประกอบอาชีพด้านกสิกรรม ดำรงชีวิตตามขนบธรรมเนียมจารีตประเพณี “ฮีตสิบสอง คองสิบสี่” ใช้ชีวิตอย่างเรียบง่ายมีการไปมาหาสู่กัน ช่วยเหลือพึ่งพาอาศัยกันตามแบบของคนอีสานทั่วไป
เมื่อปี พ.ศ. 2464 ในยุคของ พระยาสารคามคณาภิบาล (ทิพย์ โรจน์ประดิษฐ์) เจ้าเมืองคนที่ 7 (พ.ศ.2462 – 2466) ทางราชการเมืองมหาสารคามจึงได้มีการก่อสร้างสนามบินประจำจังหวัดในมณฑลร้อยเอ็ด ขึ้นที่บริเวณหนองข่า ปัจจุบันส่วนหนึ่งคือโรงพยาบาลสุทธาเวช โดยทางราชการได้รับความร่วมมือจากประชาชนชาวจังหวัดมหาสารคามและผู้ต้องขังในเรือนจำมหาสารคาม ช่วยกันตัดไม้ถางวัชพืชทำความสะอาด แล้วช่วยกันก่อสร้างสนามบินมหาสารคามจนแล้วเสร็จ และยังได้ร่วมบริจาคเงินให้กับทางราชการ เพื่อเป็นกำลังทรัพย์บำรุงกำลังของกองทัพอากาศส่วนหนึ่งในการก่อสร้างสนามบิน ซึ่งการบริจาคได้รับการตอบรับ และร่วมมือจากประชาชนในมณฑลร้อยเอ็ดและชาวเมืองมหาสารคามเป็นอย่างดี ดังในคำแถลงการณ์ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต องค์เสนาธิการทหารบก เรื่องแสดงการบินในมณฑลร้อยเอ็ด เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ.2465 ว่า
“…ประชาชนในมณฑลนี้เห็นประโยชน์ของการบินอันเป็นกำลังของชาติบ้านเมืองอย่างแน่แท้ เมื่อคิดดูว่ามณฑลนี้เป็นมณฑลชั้นนอกมีเพียง 3 จังหวัดเท่านั้น ก็ยังได้เงินมากมายอย่างน่าพิศวงเพียงนี้ แสดงให้เห็นประจักษ์ว่าประชาชนในมณฑลร้อยเอ็ดเต็มไปด้วยความมุ่งหมายที่จะช่วยบำรุงกำลังของชาติให้เจริญยิ่งขึ้นตามลำดับ ไม่สักแต่กล่าวด้วยวาจาว่า รักชาติ…” (กองจดหมายเหตุแห่งชาติ. เอกสารส่วนบุคคล. สบ. 2.47/69 บันทึกรายงานเสด็จตรวจราชการมณฑลภาคอีสานของจอมพลสมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ เจ้าฟ้ากรมนครสวรรค์วรพินิต. 2465)
ได้เงินบริจาคทั้งสิ้น 225,300 บาท 20 สตางค์ เมื่อการก่อสร้างสนามบินได้เสร็จเรียบร้อย สมุหเทศาภิบาลมณฑลร้อยเอ็ดได้แจ้งความประสงค์ต่อกระทรวงกลาโหม ขอให้นักบินนำเครื่องบินไปแสดงให้พลเมืองดูเพื่อเป็นการปลุกใจให้เห็นประโยชน์ของการบิน และได้จัดงานเปิดสนามบินมหาสารคามอย่างใหญ่โต มีการเก็บบัตรค่าผ่านประตู ในวันที่ 7 เมษายน 2465 นายร้อยเอกหลี สุวรรณานุช นายหัวหน้านักบิน ได้นำเครื่องบินจากสนามบินจังหวัดนครราชสีมา จำนวน 5 เครื่อง ไปลงที่สนามบินจังหวัดร้อยเอ็ดและจังหวัดมหาสารคาม เปิดให้ประชาชนเข้าดูตัวเครื่องบิน ประชาชนในจังหวัดมหาสารคามให้ความสนใจเป็นอย่างมาก ได้มีผู้คนเข้ามาดูเครื่องบินและมาเที่ยวงานเปิดสนามบินอย่างไม่ขาดสาย
เครื่องบินชนิดเบรเกต์ (Breguet 14B) ชนิดปีกสองชั้น (ภาพจาก http://www.atom.rmutphysics.com/charud /oldnews/241/index241-13.htm)
จากนั้นในวันที่ 8 และวันที่ 9 เมษายน นักบินได้นำเครื่องบินขึ้นแสดงในอากาศและบินลงรับคนโดยสารขึ้นเครื่องบินพาไปในอากาศวิถี การที่ประชาชนในมณฑลร้อยเอ็ด (ร้อยเอ็ด มหาสารคามและกาฬสินธุ์) ได้เต็มใจช่วยกันบริจาคทรัพย์บำรุงกำลังทางอากาศเป็นจำนวนเงินบริจาคทั้งสิ้น 225,300 บาท 20 สตางค์ และเพื่อให้เป็นเครื่องหมายแสดงถึงคุณงามความดีในความสามัคคีพร้อมเพรียง กระทรวงกลาโหมจึงได้จารึกอักษรไว้ที่เครื่องบินชนิดเบรเกต์ (Breguet 14B) ของกรมอากาศยานสำหรับใช้ในกิจการไปรษณีย์และการอื่นๆเป็นจำนวน 9 เครื่องว่า มณฑลร้อยเอ็ด 1 – 9
นอกจากจะมีเครื่องบินมณฑลประจำมณฑลร้อยเอ็ดทั้ง 9 ลำแล้ว ยังมีเครื่องบินอีกลำหนึ่งที่สำหรับใช้ในกิจการไปรษณีย์และการอื่นๆลำใหญ่กว่าเครื่องบินธรรมดา มีชื่อว่า ขัติยะนารี จากบันทึกในหนังสืออดีตรำลึก ของคุณแม่บุญมี คำบุศย์ ที่จัดพิมพ์แจกในงานวันเกิดครบ 7 รอบเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2541 บันทึกไว้ว่า
“หน้าที่หลักของเครื่องบินก็คือเดินเมล์อากาศจากกรุงเทพฯ โคราช ร้อยเอ็ด นครพนม มหาสารคาม อุบลราชธานีและอุดรธานี ข้าพเจ้าเคยเห็นเครื่องบินพยาบาลมาลงที่สนามบินเป็นสีขาวมีกากบาทสีแดง ลำใหญ่กว่าเครื่องบินธรรมดาชื่อ ขัติยะนารี ในว่าบริจาคโดยแม่หญิงขอนแก่นนำโดยคุณหญิงภรรยาผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นคนชักชวนเรี่ยไร”
ในเดือนมิถุนายน ปี พ.ศ.2465 กรมอากาศยานร่วมมือกับกรมไปรษณีย์โทรเลข เปิดสายการเดินอากาศไปรษณีย์ สายที่1 เป็นการทดลองในเส้นทางจังหวัดนครราชสีมา-มหาสารคาม-ร้อยเอ็ด-อุบลราชธานี ตามพระดำริของเสนาธิการทหารบก โดยเครื่องบินที่ใช้ทำการขนส่งพัสดุทางอากาศคือเครื่องบินชนิดเบรเกต์ โดยเริ่มเที่ยวบินแรกในวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ.2465 เวลา 8.00 น.เครื่องบินเครื่องที่ 1 ออกจากนครราชสีมาไปยังมหาสารคามและร้อยเอ็ด เครื่องบินแต่ละเครื่องดังกล่าวได้บินต่อไปยังอุบลราชธานีและนครราชสีมาตามลำดับ
ต่อมากรมไปรษณีย์โทรเลขจึงได้ประกาศเปลี่ยนจากการทดลองเป็นการเดินอากาศไปรษณีย์ประจำ จึงมีประกาศในราชกิจจานุเบกษา “คำแถลงการณ์ของกรมเสนาธิการทหารบก เรื่อง สนามบินสำหรับจังหวัดกาฬสินธุ์ และจังหวัดมหาสารคาม” แจ้งความ ณ วันที่ 24 มิ.ย. 2465 (หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. ราชกิจจานุเบกษา คำแถลงการณ์ของกรมเสนาธิการทหารบก เรื่อง สนามบินสำหรับจังหวัดกาฬสินธุ์และจังหวัดมหาสารคาม. เล่มที่ 39 หน้า 902- 903 วันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2465) และเริ่มใช้งานการเดินอากาศประจำตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2466
ต่อมาในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2466 กรมอากาศยานและกรมไปรษณีย์โทรเลขได้เปิดการเดินอากาศไปรษณีย์สายที่ 2 ระหว่างจังหวัดนครราชสีมา มหาสารคาม ร้อยเอ็ด อุดรธานีและหนองคาย โดยเริ่มเที่ยวบินแรกในวันที่ 3 ธันวาคม 2466
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต
ในเดือนธันวาคม ปี พ.ศ. 2469 จอมพล สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต เสด็จมาตรวจราชการที่มณฑลภาคอีสานและมณฑลนครราชสีมา พระองค์ได้ทรงเสด็จโดยเครื่องบินจากจังหวัดนครราชสีมามาลงที่สนามบินจังหวัดมหาสารคาม ดังในรายงานตรวจราชการมณฑลภาคอีสานและนครราชสีมา ส่วนว่าด้วยการเมืองและการพรรณนาทั่วไปในเดือนธันวาคม พ.ศ.2469 ว่า
“…แทนที่จะไปมัวเดินทางเกวียนอยู่ตั้ง 10 วัน ทั้งมีนิยมว่าในการที่จะถือเงินทองจำนวนมากไปมา ไปทางเครื่องบินเป็นที่ปลอดภัยดีกว่าไปทางเกวียน มีข้อแปลกประหลาดอีกอย่างหนึ่งก็คือว่า ในภาคอีสานนี้ราษฎรรู้จักเครื่องบินก่อนรถยนต์ เพราะเครื่องบินได้ขึ้นมาแสดงตั้งแต่ พ.ศ. 2465แล้ว ไม่ช้านักก็เดินอากาศไปรษณีย์ แต่รถยนต์เพิ่งได้มีขึ้นมาเป็นครั้งแรกต่อใน พ.ศ. 2466…” (กองจดหมายเหตุแห่งชาติ. เอกสารส่วนบุคคล. สบ. 2.47/69 บันทึกรายงานเสด็จตรวจราชการมณฑลภาคอีสานของจอมพล สมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ เจ้าฟ้ากรมนครสวรรค์วรพินิต. 2470)
เมื่อพระองค์ได้ทรงเสด็จโดยเครื่องบินมาลงจอดที่สนามบินมหาสารคามแล้ว เหล่าข้าราชบริพารประชาชนชาวจังหวัดมหาสารคาม ถวายต้อนรับเสด็จกันอย่างเนืองแน่น แล้วพระองค์ก็ได้เสด็จขึ้นรถยนต์พระที่นั่งต่อไปยังจังหวัดร้อยเอ็ด ประชาชนชาวเมืองมหาสารคามได้เดินเท้าส่งเสด็จพระองค์ถึงบ้านส่องนางใย
ในปี พ.ศ. 2468 มีการสร้างสนามบินมหาสารคามแห่งที่ 2 ขึ้น มหาเสวกโท พระยารณชัยชาญยุทธ สมุหเทศาภิบาลมณฑลร้อยเอ็ดได้ดำริการสร้างสนามบินระหว่างทางสายอากาศไปรษณีย์ เป็นสนามบินสำรองของทางราชการขึ้น กรมการอำเภอพยัคฆภูมิพิสัยและกรมการอำเภอวาปีปทุม จึงได้พาประชาชนในท้องที่ทั้ง 2 อำเภอ ตัดถางวัชพืชทำความสะอาดและก่อสร้างสนามบินขึ้นที่สนามทางทิศใต้ของบ้านยางศรีสุราช ต.ดงบัง อ.พยัคฆภูมิพิสัย (ปัจจุบันคือบ้านยาง อำเภอยางสีสุราช จังหวัดมหาสารคาม) เพื่อใช้เป็นสนามบินสำรองของทางราชการ “ดังประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 17 พฤษภาคม 2468 เล่ม 42 หน้า 456 แจ้งความกระทรวงกลาโหม เรื่องสนามบินตำบลดงบัง อำเภอพยัคฆภูมิพิสัย จังหวัดมหาสารคาม ว่าทางกระทรวงกลาโหมได้รับสนามบินตำบลดงบัง อำเภอพยัคฆภูมิพิสัย เพื่อเป็นสนามบินสำรองของทางราชการเอาไว้ใช้ในราชการเรียบร้อยแล้ว” (หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. ราชกิจจานุเบกษา แจ้งความกระทรวงกลาโหม เรื่องสนามบินตำบลดงบัง อำเภอพยัคฆภูมิพิสัย จังหวัดมหาสารคาม เล่ม 42 หน้า 456 วันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2468)
แต่จากเอกสารหลักฐานของทางราชการและจากคำบอกเล่าของคนท้องถิ่น ไม่ปรากฏว่ามีเครื่องบินเดินอากาศไปรษณีย์ได้ไปใช้และลงจอดฉุกเฉินที่สนามบินแห่งนี้เลย และหลังจากที่สร้างสนามบินสำรองนี้ขึ้นมาในช่วงระยะเวลาที่ไม่นาน กิจการการเดินอากาศไปรษณีย์ของทางราชการก็ได้เลิกกิจการไปในปี พ.ศ. 2472
ปี พ.ศ. 2472 เมื่อกรมรถไฟหลวงได้เปิดเดินรถไฟสายจังหวัดนครราชสีมา-อุบลราชธานีขึ้น การคมนาคมระหว่างจังหวัดทั้งสองพ้นจากความกันดาร ไปรษณีย์ส่งไป-มาได้ทุกวัน กรมอากาศยานและกรมไปรษณีย์โทรเลข จึงได้เลิกการบินไปรษณีย์สายที่ 1 เส้นทางจังหวัดนครราชสีมา-มหาสารคาม-ร้อยเอ็ด-อุบลราชธานี ตั้งแต่วันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2472 เป็นต้นมา
ต่อมาปี พ.ศ. 2474 เมื่อกรมอากาศยานได้รับคำสั่งจากกระทรวงกลาโหม ให้เลิกกิจการการบินไปรษณีย์และมอบให้กระทรวงพานิชย์และคมนาคมดำเนินการต่อไป ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2474 จากนั้นมาสนามบินในมณฑลร้อยเอ็ด รวมถึงของจังหวัดมหาสารคาม ก็ไม่ได้ใช้งานกิจการการบินไปรษณีย์ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
ในปี พ.ศ. 2499 ช่วงสงครามเวียดนาม ทางกองทัพสหรัฐอเมริกาได้นำเครื่องบินมาลงจอดฉุกเฉินและทิ้งไว้ที่สนามบินเก่ามหาสารคาม (ถ่ายภาพโดย Kermit Krueger อาสาสมัครสันติภาพสหรัฐฯ ในวิทยาลัยฝึกอบรมครูมหาสารคามตั้งแต่ปี พ.ศ. 2503 – 2508 ภาพจาก http://isaanrecord.com/en/2016/05/?print=print-search)
เมื่อปี พ.ศ. 2502 ได้ใช้พื้นที่ของสนามบินเก่าก่อตั้งสนามม้าขึ้น โดยมีนายเกศ วงศ์กาไสย ขณะนั้นดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีเมืองมหาสารคาม เป็นเจ้าของสนามม้าแห่งแรก ต่อมาในปี พ.ศ. 2514 สนามม้าได้ย้ายไปอยู่พื้นที่บริเวณริมถนนมหาสารคาม – วาปีปทุม (ปัจจุบันได้เป็นโกลบอลเฮาส์มหาสารคาม) และได้เลิกกิจการไปในปี พ.ศ. 2540
วิทยาลัยวิชาการศึกษามหาสารคาม ก่อตั้งขึ้นเมื่อ วันที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2511 บนพื้นที่ 197 ไร่ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อที่จะขยายการศึกษาชั้นสูงไปสู่ภูมิภาค ทางกองทัพอากาศจึงได้โอนพื้นที่ราชพัสดุสนามบินเก่าทั้งสิ้น 197 ไร่ให้เป็นพื้นที่ของวิทยาลัยวิชาการศึกษามหาสารคาม และต่อมาได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาสารคาม เมื่อปีพุทธศักราช 2517 และได้แยกตัวเป็นมหาวิทยาลัยเอกเทศภายใต้ชื่อ “มหาวิทยาลัยมหาสารคาม” เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2537
ต่อมาทางคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้ใช้พื้นที่สนามเก่าเป็นพื้นที่ก่อสร้างอาคารศูนย์บริการทางแพทย์ฯ ของคณะแพทยศาสตร์ เพื่อให้บริการด้านการรักษาโรคและป้องกันโรค รวมไปถึงบริการทางด้านสาธารณสุขแก่นิสิตและประชาชนทั่วไป รวมทั้งเป็นที่ฝึกฝนประสบการณ์ของนิสิตแพทย์ของมหาวิทยาลัย ได้เปิดให้บริการด้านการแพทย์เมื่อปี พ.ศ. 2555
ภาพมุมสูงของพื้นที่ส่วนหนึ่งของสนามบินเก่า ปัจจุบัน คือ โรงพยาบาลสุทธาเวช
เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2559 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนิน ทรงเปิดโรงพยาบาลสุทธาเวช ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้พระราชทานชื่อว่า “โรงพยาบาลสุทธาเวช” หมายถึง โรงพยาบาลซึ่งพร้อมด้วยการแพทย์อันดีงาม พร้อมกับพระราชทานพระราชานุญาตให้เชิญอักษรพระนามาภิไธย “ส.ธ.” ประดับที่ป้ายชื่อโรงพยาบาลอีกด้วย
อ้างอิง
หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. ราชกิจจานุเบกษา คำแถลงการณ์ของกรมเสนาธิการทหารบก เรื่อง สนามบินสำหรับจังหวัดกาฬสินธุ์และจังหวัดมหาสารคาม. เล่มที่ 39 หน้า 902- 903 วันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2465 .
หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. ราชกิจจานุเบกษา แจ้งความกระทรวงกลาโหม เรื่อง สนามบินตำบลดงบัง อำเภอพยัคฆภูมิพิสัย จังหวัดมหาสารคาม. เล่ม 42 หน้า 456 วันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2468.
กองจดหมายเหตุแห่งชาติ. เอกสารส่วนบุคคล. สบ. 2.47/69 บันทึกรายงานเสด็จตรวจราชการมณฑลภาคอีสานของจอมพลสมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ เจ้าฟ้ากรมนครสวรรค์วรพินิต. (2470).
กองทัพไทย. ประวัติกองทัพไทยในรอบ 200 ปี พ.ศ. 2325-2525. กรุงเทพฯ: กรมแผนที่ทหาร, 2525.
ธีรชัย บุญมาธรรม. พัฒนาการของเมืองมหาสารคาม ช่วงเจ้าเมืองเป็นคนท้องถิ่น พ.ศ. 2408-2455. มหาสารคาม: อภิชาตการพิมพ์, 2554.
บุญมี คำบุศย์. อดีตรำลึก. กรุงเทพฯ. นำอักษรการพิมพ์. 2441 พิมพ์แจกเนื่องในงานวันเกิดครบ 7 รอบ เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2541 หน้า 43-44
สัมภาษณ์
ดร. พรชัย ศรีสารคาม
นางทองเลี่ยม เวียงแก้ว
รศ. ธีรชัย บุญมาธรรม
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก เมื่อ 7 มีนาคม 2562
Source: https://www.silpa-mag.com/history/article_7628
The post รู้ไหมว่า “มหาสารคามเคยมีสนามบิน”…แล้วทำไมถึงเปลี่ยนไป? appeared first on Thailand News.