ติดตามผ่านช่อง : Siammongkol Youtube Channel

กรุงเทพฯ สมัยรัชกาลที่ 1 ผ่านฟ้าเปลี่ยวสุด พญาไทมีโขลงช้าง

กรุงเทพฯ สมัยรัชกาลที่ 1 ผ่านฟ้าเปลี่ยวสุด พญาไทมีโขลงช้าง

บริเวณ “ผ่านฟ้า” ช่วงปลายรัชกาลที่ 4

ผู้เขียน คนไกล วงนอก
เผยแพร่ วันอาทิตย์ที่ 10 เมษายน พ.ศ.2565

ผ่านฟ้า วันนี้เป็นแหล่งชุมชน ที่มีวัดวาอาราม, หน่วยงานราชการ, บ้านเรือนประชาชน, ร้านอาหารเจ้าอร่อย ฯลฯ และรถติด แต่ย้อนไปนับตั้งแต่รัชกาลที่ 5 ขึ้นไป ผ่านฟ้าเป็นย่านหนึ่งของกรุงเทพฯ ที่เรียกว่า “เปลี่ยว”

ที่ว่า “เปลี่ยว” นั้นเปลี่ยวขนาดไหนมาดูกัน

สมัยรัชกาลที่ 5 ยังไม่ได้สร้างถนนราชดำเนิน และยังไม่มีสะพานผ่านฟ้าลีลาศที่จะข้ามคลองบางลำภูหรือคลองรอบกรุง ด้านในกำแพงพระนครใกล้ๆ กับป้อมมหากาฬ มีบ้านเรือนประชาชนอยู่เพียงไม่กี่หลังคาเรือน พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นร่องสวน ส่วนด้านนอกกำแพงก็ยิ่งเปลี่ยวหนักเข้าไปอีก มีสภาพไม่ต่างกับชนบท มีบ้านเพียงไม่กี่หลังบริเวณริมคลองตรงข้ามกับป้อมมหากาฬ

ถ้าถอยกลับไปสมัยรัชกาลที่ 1 ผ่านฟ้าไม่ใช่แค่เปลี่ยวธรรมดา แต่ต้องเรียกว่าเปลี่ยวสุดๆๆ

สมัยรัชกาลที่ 1 กำแพงพระนคร, คลองรอบกรุง อย่างคลองโอ่งอ่าง คลองบางลำพู รวมถึงคลองมหานาค เพิ่งจะสร้างและขุด บริเวณนี้จึงมีแต่ป้อมกำแพงพระนครอย่างเดียวที่ตั้งอยู่ แม้แต่วัดสระเกศก็ยังไม่มีพระเจดีย์ภูเขาทอง เพิ่งมาสร้างในสมัยหลัง (รัชกาลที่ 3) พื้นที่ห่างจากกำแพงพระนครเพียงไม่ไกลนักมีสภาพเป็นป่าดง เช่น บริเวณทุ่งพญาไทขณะนั้น เป็นดงใหญ่มีสัตว์ต่างๆ อาศัยอยู่ เช่น โขลงช้าง, ฝูงลิง, หมูป่า, กวาง ฯลฯ

ทว่าด้วยสภาพสังคมขณะนั้นแม้จะ “เปลี่ยว” ขนาดไหนคาดว่าคงยังไม่ถึงขั้นวิ่งราวชิงทรัพย์ แต่ก็มีเหตุระทึกขวัญ อย่าง “จระเข้คาบคน”

คนที่ถูกจระเข้คาบไปคือ นายทองอยู่ บุตรชายคนโตของพระยาพิทักษ์สาลี ขุนนางวังหน้า (ขณะนั้นรัชกาลที่ 2 ทรงเป็นวังหน้า) มีบ้านอยู่ที่บ้านสนามควาย ตำบลคลองบางลำภู (บริเวณสะพานมหาดไทยอุทิศปัจจุบัน) ซึ่งใน “ประวัติตระกูล 3 ตระกูล” บันทึกว่า

“พระยาพิทักษ์สาลีได้นำนายทองอยู่ถวายตัวเป็นมหาดเล็ก ทรงโปรดปรานให้ฝึกหัดเป็นตัวพระราม พออายุครบอุปสมบทก็ทูลลาอุปสมบทแล้วมาจัดการบ้านเรือน และปลูกปะรำดาผ้ากว่าจะแล้วเสร็จเป็นเวลา 5 ทุ่มเศษ ก็ชวนบ่าวไพร่ที่ช่วยทำงานลงอาบน้ำที่ท่าบ้าน ทันใดนั้นจระเข้ก็คาบเอานายทองอยู่ไป

พวกบ่าวที่ลงอาบน้ำกับนายทองอยู่…มาเรียนพระยาพิทักษ์ๆ ก็รีบนำความกราบบังคมทูลพระเลิศหล้าฯ ก็ดำรัสสั่งให้ปิดปากคลองบางลำภูเร็ว ถ้าได้ความประการใด ก็ให้มารายงานได้ทุกเวลา

ขณะเมื่อจระเข้คาบนายทองอยู่ไปนั้น นายทองอยู่ได้จับขี้หมามันบิดและบีบแน่น คิดถึงการบวชและภาวนาพระอรหังเป็นที่พึ่ง มันก็ว่ายทู่ตามผิวน้ำจมไม่ลง พอไปถึงหน้าวัดบางลำภู มันก็วาง [นายทองอยู่] ลงที่ชายเลน พอ [นายทองอยู่] ขยับจะหนีมันๆ ก็เข้าคาบไว้อีก จึงทำนิ่งไม่กระตุกกระติก มันก็วางไว้ดั่งก่อน แล้วมันก็ถอยห่างออกไปประมาณวาเศษ [นายทองอยู่] เสือกตัวถีบขึ้นตลิ่งได้ ประมาณ 6 ทุ่มเศษ [เที่ยงคืนเศษ] ต้องเดินเปลือยกายมาแต่หน้าวัดบางลำภูจนถึงบ้าน

เมื่อพระยาพิทักษ์สาลีกลับจากการปิดคลองบางลำภูถึงบ้าน เห็นหมดหวัง พอจะเข้าเรือนนอน จึงให้สาวใช้ไปปิดประตูนอกชาน ทันใดนั้นสาวใช้ก็ตกใจวุ้ยว้าย ร้องบอกว่า ปีศาจพ่อทองอยู่มายืนนิ่งอยู่นี่แน่เจ้าข้า ทันใดนั้น พระยาพิทักษ์ก็ออกไปดู เห็นลูกก็เข้าประคองกอดพาขึ้นเรือน ล้างโคลนเลนเลือดฝาด แล้วก็เอาผ้าขาวผูกพันบาดแผลไว้ ก็รีบเข้าไปกราบบังคมทูลให้ทรงทราบ จึงดำรัสสั่งแพทย์ที่อยู่เวรให้รีบไปช่วยรักษาโดยเร็ว แก้ไขให้พูดได้จะได้รู้เรื่องกัน…

หมอก็จัดการทำบาดแผล ใส่น้ำมัน ผูกพันผ้าไว้เรียบร้อยแล้ว เวลา 9 ทุ่มเศษ [ตี 3 เศษ] ก็พอพูดได้บ้างเล็กน้อย พอรุ่งเช้า ก็เล่าเรื่องจระเข้คาบพาไปได้ดี พระยาพิทักษ์ต้องไปกราบบังคมทูลรายการ ให้ทรงทราบเสมอ ประมาณเดือนเศษ แผลก็หายเป็นปรกติ ก็เข้าเฝ้ากราบบังคมทูลลาอุปสมบทอีก

จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าพระราชทาน เงิน 4 ชั่ง ผ้า 4 สำรับ ดำรัสว่าเงินนั้นช่วยบวชเป็นการบุญ ส่วนผ้านั้นให้เอาไว้ใช้เมื่อลาสิกขาบท แล้วทรงพระกรุณาโปรดเกล้าพระราชทานนามให้ใหม่ ให้ชื่อนายสมบูรณ์ อ้ายทองอยู่นั้น จระเข้มันกล้องเจ้าปางตาย ดำรัสเท่านั้นแล้วก็คืนเข้าข้างใน ก็กลับบ้านจัดการอุปสมบท ณ ที่วัดสระเกศข้างบ้านนั้นเอง”

 

ข้อมูลจาก

เทพชู ทับทอง. กรุงเทพฯ แห่งความหลัง, ห้างหุ้นส่วนจำกัด อักษรบัณฑิต, ไม่ระบุปีที่พิมพ์

ประวัติตระกูล 3 ตระกูล และลิลิตสกุณชาดก พิมพ์ในการฌาปนกิจศพ ท่านฟุ้ง ฤทธาคนี ณ เมรุวัดมกุฏกษัตริยาราม วันที่ 29 มกราคม 2502

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 7 มกราคม 2564

Source: https://www.silpa-mag.com/history/article_75845

The post กรุงเทพฯ สมัยรัชกาลที่ 1 ผ่านฟ้าเปลี่ยวสุด พญาไทมีโขลงช้าง appeared first on Thailand News.