ตีแผ่ขุนนาง-เจ้านายข่มเหงราษฎรสมัยร.4 ชาวบ้านไร้ที่พึ่ง ต้องพึ่งพระเจ้าแผ่นดิน
ภาพประกอบเนื้อหา – ฉากทะเลาะในละครเรื่องไกรทอง (ภาพจากหนังสือ “ร้องรำทำเพลง : ดนตรีและนาฏสิลป์ชาวสยาม”)
ในยุคสมัยที่ยังมีระบบไพร่และทาสอยู่ เอกสารบันทึกหลักฐานต่างๆ ปรากฏข้อมูลเกี่ยวกับการข่มเหงไพร่ทาสราษฎรให้เห็นกันอยู่หลายส่วน เอกสารอย่างพระราชพงศาวดารยังปรากฏเนื้อหาเล่าถึงเรื่องเจ้านายและเจ้าหน้าที่ในราชการกระทำตามอำเภอใจเรื่อยมาจนถึงในสมัยรัชกาลที่ 4
พระราชพงศาวดารรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 3 มีใจความตอนหนึ่งว่า “ในแผ่นดินนั้น พระเจ้าลูกเธอและตำรวจมีอำนาจเที่ยวเกาะกุมราษฎรชาวบ้านมาชำระความตามอำเภอใจ แล้วฉุกบุตรหลานหญิงสาวชาวบ้านเอาไปเป็นห้าม ทำดังนี้เนือง ๆ ราษฎรก็ไม่สู้ ได้ความทุกข์ ไม่อาจเข้าร้องถวายฎีกาได้…”
ในสมัยรัชกาลที่ 4 มีประกาศฉบับหนึ่งเรื่อง “มิให้เฝ้ากรมหมื่นถาวรวรยศ แลกรมหมื่นอลงกฎกิจปรีชาที่วัง นอกจากผู้เปนกรมขึ้น” ลงประกาศ “ณวันเสาร์ เดือนยี่ ขึ้น 12 ค่ำ ปีมะเมียสัมฤทธิศก” เนื้อหามีว่า กรมหมื่นถาวรวรยศ และกรมหมื่นอลงกฎกิจปรีชา เมื่ออยู่วังมัก “ทรงเมาโดยมาก” หากมิใช่เป็นคนในบังคับบัญชาแล้ว ประกาศมีว่า “อย่าให้ไปเฝ้าที่วังเลย เพราะไปพบเสด็จกำลังเมาอยู่เกลือกจะทรงกริ้วด้วยเหตุอันมิได้ควร แลจะทรงเตะถีบชกถองทำการเกินๆ…”
มิหนำซ้ำ หากเกิดเหตุเข้าแล้วจะหาพยานยากยิ่ง แถมจะตัดสินยากอีกต่างหาก ดังความช่วงหนึ่งในประกาศที่ว่า
“…ผู้ตัดสินก็จะตัดสินยาก เพราะได้ประกาศไว้แต่ก่อนแล้ว ว่าอย่าให้ผู้ใดเข้าไปวิวาทกับเจ้าของบ้าน
ถ้าใครเข้าไปวิวาทจะเอาเปนแพ้เจ้าของบ้านดังนี้ ก็วังเจ้าต่างกรมสองวังนี้พระองค์เจ้าเจ้าวังมีปรกติมักทรงเมาอยู่ไว้ใจยาก มักจะก่อความขึ้นง่ายๆ เพราะฉนั้นให้ข้าราชการตำแหน่งอื่น นอกจากกรมที่บังคับไว้นั้น เว้นเสียอย่าเข้าไปเลย ถึงมีเหตุที่ควรจะเฝ้าก็ให้คอยเฝ้าในพระราชวังนี้เถิด
แลกรมที่ออกชื่อมาก่อน ว่าเปนกรมขึ้นอยู่ในบังคับพระองค์เจ้าสองกรมนั้น เมื่อมีเหตุในราชการควรไปเฝ้า ฤๅมีรับสั่งให้หาไปด้วยราชการก็ต้องไปเฝ้า ถึงกระนั้นก็ให้ระวัง เมื่อเวลาเจ้าทรงเมาอยู่อย่าเข้าไปเฝ้าเลยอย่าถุ้มเถียงให้ขัดเคืองขึ้นได้”
หากเป็นเหตุด่วนที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่น “มีพระบรมราชโองการรับสั่งให้ไปเชิญเสด็จก็ดี ทูลถามการงานใดๆ ก็ดี เชิญพระอาการก็ดี” เมื่อผู้ไปถึงแล้ว จะพบหรือไม่พบ หรือไปพบในสภาพเมาอยู่ หากไม่ได้ราชการตามพระประสงค์ ในประกาศระบุแนวทางดำเนินการว่า ให้กลับมากราบทูลฯ ในทันที อย่ารอช้า
ในประกาศยังลงท้ายความว่า
“…ในการที่มีพระบรมราชโองการรับสั่งใช้ไปถึงมีวิวาทบาดคล้องขึ้น จะเอาตามประกาศไว้ก่อนไม่ได้ ชื่อว่าข้าในกรมข่มเหงผู้ถือรับสั่ง อนึ่งใครๆ ก็ดี เมื่อเจ้าบ้านเจ้าวังไปเชิญไปหาตัวคนบ้านอื่น มาในวังในบ้านของตัวแล้ว ผู้ที่ต้องเชิญให้หามาเองก็ดี แต่มาพูดจาขัดคอกับเจ้าของวังเจ้าของบ้าน ชกตีกับเจ้าของวังเจ้าของบ้านขึ้น จะตัดสินเอาเปนบุกรุกไม่ได้
เพราะเจ้าของวังเจ้าของบ้านไปหามาเองยอมให้เข้าไปเอง ต่อผู้ที่มานั้นคุมสมัคพรรคพวกก็ดีแต่ตัวก็ดี บุกรุกเข้าไปเอง ไม่มีความยอมแต่เจ้าของวังเจ้าของบ้านก่อน จึงควรว่าบุกรุกได้”
ในหมายประกาศอีกฉบับที่ออกประกาศเมื่อ พ.ศ. 2402 ยังระบุถึงเจ้านายซึ่งมีความประพฤติ “เสด็จออกไปนอกวัง เที่ยวคุมเหงทุบตีราษฎรผู้มิได้มีความผิด ฤๅเสด็จไปเที่ยวแย่งชิงเอาทรัพย์สิ่งของราษฎรให้ได้ความเดือดร้อน”
จากการตรวจค้นเอกสารโดยชัย เรืองศิลป์ ผู้ศึกษาประวัติศาสตร์สมัยรัตนโกสินทร์พบอีกหนึ่งกรณีตัวอย่างที่สะท้อนว่าราษฎรไม่อาจพึ่งพิงระบบที่มีอยู่ อาทิ ศาลหรือมูลนายได้ในกรณีที่จำเลยเป็นเชื้อพระวงศ์ ดังเรื่องที่เกิดขึ้นขณะราษฎรกำลังฟังเทศน์มหาชาติที่วัดแก้ว ในคลองบางขุนศรี เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2407
ขณะฟังเทศน์นั้น หม่อมเจ้าปรีดาในกรมขุนธิเบศบวร หม่อมราชวงศ์ดั้น หม่อมราชวงศ์โมรา หม่อมราชวงศ์มณี หม่อมราชวงศ์ลาย นายจรลูกพระอินทรรักษา กับพรรคพวกซึ่งเป็นข้าราชการสังกัดวังหลวงและวังหน้า รวมกันกว่า 40 คน เมาสุราและถือศาสตราวุธต่าง ๆ “เข้าแย่งชิงคนฟังเทศน์ แลทุบตีฟันแทงคนฟังเทศน์มีบาดเจ็บเป็นหลายคน”
“แลแย่งชิงสิ่งของ ๆ ราษฎรมาบ้าง แล้วตามไปจับจีนเกิดที่เป็นพวกเข้าไปฟังเทศน์อยู่ เอาดาบสับศีรษะสามเสี่ยง แล้วเอาดาบตัดหางเปียจีนเกิด มัดไพร่หลังมา ส่งอายัดมอบนายสอนพระธำมรงค์ กรมพระนครบาลไว้
นายสอนพระธำมรงค์ก็รับตัวจีนเกิดผู้หาผิดมิได้ไว้ การในกรมพระนครบาลก็ไม่ได้ความว่าจีนเกิดผิดอะไร เมื่อจับทำประหลาดมาดังนี้ ก็หามีใครว่าประการใดไม่ ฝ่ายราษฎรที่ถูกเจ็บเข้าชื่อกันเป็นอันมาก แต่มาได้บ้างไม่ได้บ้าง มีหัวหมื่นในกรมพระตำรวจเป็นหัวหน้าอยู่สองนายสามนายทำเรื่องราวมายื่นร้องฎีกาแก่ในหลวง เมื่อเดือนอ้ายข้างแรม ที่หัวความเกิดแล้วเดือนเศษ กล่าวโทษออกชื่อแต่หม่อมราชวงศ์ดั้นกับนายจรบุตรพระอินทรรักษาสองนายคุมสมัครพรรคพวกไปประมาณ 40 คนเศษ ไปทำการดังว่าแล้วนั้น
แล้วพวกราษฎรที่ถูกเจ็บแลเสียสิ่งของได้เชิญนายอำเภอมาชัณสูตรบาดแผล แลทำคำกฎหมายตราสินสิ่งของหายไว้ แล้วจึงได้ทำเรื่องราวยื่นแก่พระยาเพชรชฎา พระยาเพชรชฎาว่ารับไม่ได้ ให้ไปเรียนแก่พระยายมราชเถิด
ครั้งนั้น เจ้าพระยาภูธราภียยังไม่ได้เลื่อนที่ ยังเป็นเจ้าพระยายมราชอยู่ คืนเรื่องราวเสีย ว่าเป็นความในพระบรมวงศานุวงศ์ รับชำระไม่ได้ ด้วยเหตุนี้ราษฎรสิ้นที่พึ่ง จึงได้พร้อมใจกันทำเรื่องราวเข้ามาร้องแก่ในหลวง…จึงเอาแต่อนุมานตัดใจว่า ซึ่งราษฎรว่าได้ฟ้องพระยาเพชรชฎาแล้วก็ไม่รับ ฟ้องเจ้าพระยาภูธราภัยแล้ว ก็ไม่รับนั้นก็เห็นจะจริง”
เมื่อเกิดการโยนเรื่องไปมา ชัย เรืองศิลป์ เล่าความไว้ว่า ในหลวงมอบเรื่องให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงเทเวศรวัชรินทรกับพระยาอัพภันตริกามาตย์ชำระความ แต่ปรากฏว่า ความกลายเป็นนายจร เป็นหลานเจ้าพระยาภูธราภัย ตระลาการไม่สามารถเอาตัวมาชำระได้
“ในหลวงจึงได้ไปว่ากล่าวแก่บุตรหลานเจ้าพระยาภูธราภัยที่อยู่ในวัง ให้ไปกราบเรียนตักเตือนให้ส่งตัวนายจรบ่าวนาย ท่านก็ส่งตัวนายจรได้มาวันนั้นได้มอบหมายให้กรมหลวงเทเวศรวัชรินทรกับพระยาอัพภันตริกามาตย์ ก็ได้ความเป็นสัตย์สมฟ้องของราษฎรทุกประการ จะมีเหตุต่อสู้ราษฎรได้ก็หาไม่”
เมื่อสอบสวนย้อนกลับไปยังพบว่า ก่อนก่อเรื่องในวัด กลุ่มผู้ก่อการได้แย่งเรือหรือยืมเรือราษฎรอีกลำหนึ่งด้วย เมื่อถึงวัดชีปะขาวก็แย่งเงินคนมาซื้อเหล้าเลี้ยงกันเฮฮาสนุกสนาน
รัชกาลที่ 4 ไม่เพียงมีพระกระแสรับสั่งมอบหมายกำหนดตัวผู้ตัดสินแบบเฉพาะเจาะจง ในเอกสารประวัติศาสตร์ยังปรากฏว่าพระองค์เป็นที่พึ่งของราษฎรซึ่งถูกเจ้านายและขุนนางกดขี่ข่มเหงจนเดือดร้อนต่างๆ นานา เห็นได้จากประกาศรับฎีกาของราษฎรที่พระที่นั่งสุทไธสวรรย์ ในวันขึ้น 7 ค่ำ ขึ้น 14 ค่ำ และแรม 7 ค่ำ แรม 14 ค่ำ (หรือ 13 ค่ำในเดือนคี่) ของทุกๆ เดือน
นอกจากนี้ ยังมีประกาศอย่างชัดเจนในประกาศเรื่อง “ข้าเจ้าแขงบ่าวนายแรงข่มเหงราษฎร” ระบุถึงเหตุการณ์อันธพาลซึ่ง “อวดตัวต่างๆ ว่าเป็นมหาดเล็กหลวง ตำรวจหลวง และเป็นทหาร และเป็นไพร่หลวงอยู่ในส่วนหลวงบ้าง ว่าเป็นข้าเจ้าแขง บ่าวนายแรงบ้าง แลเป็นลูกจ้างพวกพ้องของชาวนอกประเทศบ้าง แลเป็นสมัครพรรคพวกของเศรษฐีมีทรัพย์บ้าง…เที่ยวทำข่มเหงชกตีรันฟันแทงแย่งชิงคนเดินทางบ้าง บุกรุกเข้าไปในบ้านในเรือนโรงร้าง ทุบตีรันฟันแทงเจ้าของบ้านเจ้าของเรือนเจ้าของโรงเจ้าของร้านให้มีบาดเจ็บบ้าง
ทำสิ่งของต่าง ๆ ให้แตกหักหายฤๅแย่งชิงเอาไปเสียบ้าง การเป็นความดังนี้เนือง ๆ ฝ่ายทวยราษฎรที่โง่เขลาขลาดก็รังเกียจไปว่า ในหลวงแลข้าราชการคงจะเข้าด้วยคนหลวง ไม่ทำโทษกันนักหนา…จะกลับให้ความตัวแพ้จะต้องเสียเบี้ยปรับฤๅจะไกล่เกลี่ยให้เป็นเสมอเลิกแล้วกัน…ก็พากันอดออมนิ่งความเสีย ฤๅฝากตัวเข้าพวกพาลนั้นเสีย ด้วยเหตุนี้พวกพาลนั้นจึงกำเริบใจมากขึ้น…
ตั้งแต่นี้ไปเมื่อหน้าให้ผู้ต้องข่มเหงต้องพิพาททำเรื่องราวไปยื่นต่อกรมพระนครบาล ฤๅเจ้ากรมปลัดกรมกองตระเวนซ้ายขวา ให้ชัณสูตรบาดแผลแลตราสินสิ่งของที่แตกหักหายทั้งปวงตามธรรมเนียม…ให้ทำเรื่องราวอีกฉบับหนึ่งให้ความต้องกันกับที่ฟ้องไว้ แลให้เอาแต่ความจริงที่ควรจะสืบพยานรางวัลสมได้มาทูลเกล้าฯถวายเมื่อเวลาเสด็จออกท้องสนาม หน้าพระที่นั่งสุทไธศวรรย์ในเร็ว ๆ นี้”
จากเอกสารหลักฐานบันทึกและประกาศข้างต้น ย่อมสะท้อนเหตุการณ์ในอดีตและความเป็นอยู่ของราษฎรซึ่งสัมพันธ์กับเหล่าเจ้าหน้าที่ ขุนนาง เจ้านายในแผ่นดิน เมื่อเกิดปัญหาขึ้นแล้ว บางครั้งที่พึ่งของพวกเขา ท้ายที่สุดแล้ว ยังเป็นช่องทางที่พระเจ้าแผ่นดินทรงเปิดรับเรื่องของราษฎรไว้โดยไม่ได้เข้าข้างเจ้านายหรือเชื้อพระวงศ์ เมื่อเป็นดังนี้ เหตุการณ์เจ้านายและขุนนางที่กดขี่ข่มเหงราษฎรจึงลดน้อยถอยลง
จากสภาพดังว่ามานี้ คำว่า “เล่นอย่างเจ้า” หรือ “เล่นเจ้า” อันสื่อถึงการกดขี่ข่มเหงหรือโกงกันซึ่งหน้าจึงเลือนลางไปมากจนคำนี้จางหายไปตามกาลเวลาในที่สุด
หมายเหตุ : บทความนี้เรียบเรียงโดย ธนพงศ์ พุทธิวนิช
อ้างอิง :
146 ประกาศห้ามมิให้เฝ้ากรมหมื่นถาวรวรยศ แลกรมหมื่นอลงกฎกิจปรีชาที่วัง นอกจากผู้เปนกรมขึ้น. ประชุมประกาศรัชกาลที่ 4 ภาค 4 ประกาศปีมะเมีย พ.ศ. 2401 พิมพ์ในงานพระศพ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทวะวงศวโรปการ ครบศตมาห ณ วันที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2466; พิมพ์ที่โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร.
พระราชหัตถเลขาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานไปยังที่ประชุมเสนาบดีชั้นผู้ใหญ่, อ้างถึงใน “ศาลไทยในอดีต”. ประยุทธ สิทธิพันธ์. สำนักพิมพ์สาส์นสวรรค์, 2506.
ชัย เรืองศิลป์. ประวัติศาสตร์ สมัย พ.ศ. 2352-2453 ด้านสังคม. กรุงเทพฯ : ศิลปาบรรณาคาร. 2545.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 16 มิถุนายน 2564
Source: https://www.silpa-mag.com/history/article_69434
The post ตีแผ่ขุนนาง-เจ้านายข่มเหงราษฎรสมัยร.4 ชาวบ้านไร้ที่พึ่ง ต้องพึ่งพระเจ้าแผ่นดิน appeared first on Thailand News.