แรกมี “คลองมหาสวัสดิ์” คลองแห่งพระราชศรัทธาของรัชกาลที่ 4
คลองมหาสวัสดิ์ บริเวณวัดสาลวัน ไม่ระบุปีที่ถ่าย (ภาพจากหนังสือ มหาสวัสดี 150 ปี มหานทีพระราชทาน, โครงการศิลปศาสตร์อาสา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พ.ศ. 2553)
ผู้เขียน
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อาชว์ภูริชญ์ น้อมเนียน ภาควิชามนุษยศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
เผยแพร่
วันพุธที่ 6 เมษายน พ.ศ.2565
สมเด็จพระมหากษัตริยาธิราชเจ้าแห่งพระบรมราชวงศ์จักรีทรงมีพระคุณูปการต่อพสกนิกรมาทุกรัชกาลด้วยพระมหากรุณาธิคุณดังกล่าวจึงทำให้พระราชอาณาจักรสยาม (ไทย) มีความสงบสุขร่มรื่นร่มเย็นภายใต้พระบรมโพธิสมภารตราบเท่าถึงปัจจุบัน
พระคุณูปการที่ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจทั้งปวงเหล่านั้นย่อมมีเป้าหมายเพื่อประโยชน์สุขทั้งในปัจจุบันและอนาคตทั้งของพระองค์เองและพสกนิกรของพระองค์ ในส่วนที่เป็นของพระองค์เองนั้นด้วยทรงศึกษาหลักธรรมคำสอนพระพุทธศาสนาเป็นที่ตั้งจึงทรงมีพระราชหฤทัยน้อมไปเพื่อการทำนุบำรุงส่งเสริมพระพุทธศาสนาให้สถิตถาวรดำรงอยู่ ดังเช่น พระราชนิพนธ์กลอน เพลงยาวรบพม่าที่ท่าดินแดง ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ล้นเกล้ารัชกาลที่ 1 ความว่า “ตั้งใจอุปถัมภก ยอยกพระพุทธศาสนา จะป้องกันขอบขัณฑสีมา รักษาประชาชนแลมนตรี” เป็นต้น
จนมาถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระสยามเทวมหามกุฏวิทยมหาราช ล้นเกล้ารัชกาลที่ 4 ซึ่งเป็นรัชสมัยที่เริ่มมีการเปิดพระราชอาณาจักรต้อนรับความหลากหลายเชิงพหุวัฒนธรรมในมิติต่าง ๆ เช่น มิติด้านการศึกษา มิติด้านการปกครอง และมิติด้านการศาสนา เป็นต้น
แต่ในส่วนที่เป็นพระราชศรัทธาอันเกี่ยวเนื่องกับมิติด้านการศาสนานั้น สิ่งหนึ่งที่จะนำมากล่าวคือ “คลองแห่งพระราชศรัทธา” ที่ล้นเกล้ารัชกาลที่ 4 ได้ทรงมีพระราชหฤทัยมาตั้งแต่ครั้งเสด็จออกผนวชเป็นพระภิกษุมีพระราชฉายาในทางพระพุทธศาสนาว่า “วชิรญาโณ” ซึ่งพระองค์ได้เสด็จจาริกธุดงค์มาพบพระปฐมเจดีย์อันมีพระบรมสารีริกธาตุประดิษฐานอยู่ จนเมื่อทรงลาผนวชแล้วสืบครองพระบรมราชสมบัติก็มิได้ละเลยพระราชศรัทธาที่จะกลับไปทำนุบำรุงพระปฐมเจดีย์องค์นั้นให้กลับมาเจริญรุ่งเรืองอีกครั้งหนึ่ง
ครั้นวันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2402 ทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาทิพากรวงศ์มหาโกษาธิบดี (ขำ บุนนาค) และพระภาษีสมบัติบริบูรณ์ เป็นแม่กองจ้างของชาวจีนเริ่มขุดคลองเริ่มต้นจากคลองลัดบางกรวย หรือ คลองบางกอกน้อย ใกล้วัดชัยพฤกษมาลา ไหลผ่านเป็นเส้นแบ่งเขตระหว่างอำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี กับเขตตลิ่งชันกับเขตทวีวัฒนา กรุงเทพมหานคร ผ่านอำเภอพุทธมณฑล ไปออกแม่น้ำท่าจีน ที่ตำบลงิ้วราย อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม รวมความยาว 28 กิโลเมตร แล้วเสร็จเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2403 ถือเป็นคลองที่มีความกว้างในสมัยนั้น คือกว้าง 7 วา หรือ 14 เมตร ใช้เงินทั้งสิ้น 1,101 ชั่ง 10 ตำลึง เป็นเงินพระคลังมหาสมบัติ 100 ชั่ง เงินบริจาคเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ 1 ชั่ง 1- ตำลึง อีก 1,000 เป็นของท้าวเทพอากร (เงิน) ที่ถูกริบเข้าพระคลังมหาสมบัติ
เมื่อเป้าหมายของคลองพระราชศรัทธาสายนี้เสร็จแล้วได้เชื่อมกับคลองเจดีย์บูชาจากแม่น้ำนครชัยศรีถึงวัดพระปฐมเจดีย์ทำให้ร่นระยะทางได้ใกล้ขึ้น ตามที่ปรากฏในวารสารเพื่อการประชาสัมพันธ์อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม (เพลินพุทธมณฑล, 2558 : 4) ดังนี้
จนในปีพุทธศักราช 2405 หลังจากที่ขุดคลองเสร็จแล้ว 2 ปี พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระสยามเทวมหามกุฏวิทยมหาราช ล้นเกล้ารัชกาลที่ 4 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อคลองที่ขุดใหม่ว่า “มหาสวัสดี” เพื่อให้คู่กันกับคลอง “เจดียบูชา” ดังความปรากฏในหมายรับสั่ง รัชกาลที่ 4 ความว่า
“อนึงเวลาบ่าย 4 โมงเสท นายนอยตำรวจวังมาสังวา ด้วยเจ้าพระยารวิวงษมหาโกษาธิบดีรับพระบรมราชโองการไสเกลาฯ ทรงพระกรุณาโปรฎเกล้าฯ ดำรัษเหนือเกล้าสังวาคลองวัดไชยพฤกษมาลาขุดทลุออกไปลำแม่ลำเมือง ณคอรไชศรีนั้น ยังหาไดพระราชทานชื่อคลอง บัดนีพระราชทานชื่อว่า คลองมหาสวัสดีจะไดคูกันกับคลองเจดีย”
ที่มา :
อภิลักษณ์ เกษมผลกูล (บรรณาธิการ). (2558). เพลินพุทธมณฑล. วารสารเพื่อการประชาสัมพันธ์อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม ศูนย์สยามทรรศน์ศึกษา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ปีที่ 1 ฉบับที่ 1 (ตุลาคม 2558 – มกราคม 2559)
คลองมหาสวัสดิ์ – สำนักงานเขตทวีวัฒนา (bangkok.go.th). (ออนไลน์). เข้าถึงเมื่อวันที่ 6 เมษายน 2564.
เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 7 เมษายน 2564
Source: https://www.silpa-mag.com/history/article_65478
The post แรกมี “คลองมหาสวัสดิ์” คลองแห่งพระราชศรัทธาของรัชกาลที่ 4 appeared first on Thailand News.