ติดตามผ่านช่อง : Siammongkol Youtube Channel

ข้อสังเกตที่น่าสนใจว่า ทำไม รามเกียรติ์ (เรื่องราวในศาสนาพราหมณ์) ถึงมาวาดในวัดพระแก้ว (พุทธเถรวาท)

ข้อสังเกตที่น่าสนใจว่า ทำไม รามเกียรติ์ (เรื่องราวในศาสนาพราหมณ์) ถึงมาวาดในวัดพระแก้ว (พุทธเถรวาท)

รามเกียรติ์ “พุทธ” ในวัดพระแก้ว

ความรับรู้ที่มีต่อความหมายเชิงสัญลักษณ์ของจิตรกรรมภาพรามเกียรติ์รอบพระระเบียงวัดพระแก้ว ซึ่งวาดขึ้นตามบทพระราชนิพนธ์รามเกียรติ์ในรัชกาลที่ 1 ส่วนใหญ่มุ่งไปที่การเฉลิมพระเกียรติยศและแสดงพระบุญญาธิการของพระมหากษัตริย์ในฐานะที่ทรงเป็นองค์อวตารของพระนารายณ์ เพราะสอดคล้องกับทั้งตำแหน่งของวัดพระแก้วในฐานะพระอารามประจำพระบรมมหาราชวังทั้งการวาดภาพโดยอาศัยเค้าโครงจากบทพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 1 รวมไปถึงงานศิลปกรรมในรัชกาลที่ 1 ก็เต็มไปด้วยภาพรามเกียรติ์

แต่การอธิบายดังกล่าวก็ยังไม่อาจคลายข้อสงสัยได้ว่าเหตุใดภาพรามเกียรติ์อันเป็นเรื่องราวของพระเป็นเจ้าในศาสนาพราหมณ์ จึงเป็นส่วนหนึ่งของงานประดับตกแต่งพระอารามในพุทธศาสนานิกายเถรวาท ซึ่งมีความเคร่งครัดในตัวบทพระอรรถกถาบาลีเป็นสรณะ

นักวิชาการด้านพุทธศาสนศึกษาผู้เชี่ยวชาญเรื่องนิกายเถรวาทอุษาคเนย์อย่างฟรองซัว บิซอท (François Bizot) ศึกษาความหมายเชิงสัญลักษณ์ของภาพรามเกียรติ์รอบระเบียงคดของวัดพระแก้ว กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา ประกอบกับคัมภีร์ของศาสนาพราหมณ์และพุทธศาสนา

รามายณะทั้งฉบับวาลมิกิและฉบับพื้นบ้านของอินเดีย รามเกียรติ์ทั้งฉบับหลวงและฉบับพื้นบ้านของกัมพูชา และรามเกียรติ์ฉบับพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 1 พบว่ามีภาพรามเกียรติ์ดังกล่าวมีความหมายเชิงสัญลักษณ์สอดคล้องกับการบำเพ็ญวิปัสสนา กัมมฐานของพระโยคาวจร คือ พระภิกษุผู้บำเพ็ญวิปัสสนากัมมฐาน อย่างน่าสนใจแตกต่างจากความรับรู้ของเราอย่างสิ้นเชิง* ดังนี้

ไตรโลกา : กายแห่งพระโยคาวจร
อโยธยา : ที่ตั้งแห่งจิตของพระโยคาวจร
พระราม : จิตของพระโยคาวจร
พระลักษมณ์ : เจตสิกของพระโยคาวจร
หนุมาน : ลมปราณแห่งพระโยคาวจร
สีดา : ดวงแก้วในจิตแห่งพระโยคาวจร
ทศกัณฑ์และพี่น้อง 12 ตน: ปฏิจจสมุปบาท
ท้าวทศรถและมเหสี : บุพการี
ฤษีทั้ง 4 ตน : น ม พ ท หรือธาตุทั้ง 4 อันได้แก่ ดิน น้ำ ลม ไฟ
การอภิเษกสมรส : การเริ่มมองเห็นดวงแก้ว
การลักพาตัวนางสีดา : ดวงแก้วที่หลุดลอย
เกาะลงกา : ครรภ์แห่งมารดา
วานรสมุนพระราม : การประกอบกุศลกรรมแห่งพระโยคาวจร
ถนนพระราม : สะพานหรือเรือ
พิเภก : ผู้สอนกรรมฐาน
การสู้รบ : การเจริญกรรมฐานของพระโยคาวจร
ความตายของทศกัณฐ์ : การทำลายเครื่องเหนี่ยวรั้งทั้งหลาย
การเนรเทศนางสีดา : ความตายของพระโยคาวจร
ป่า : การฌาปนกิจ
มหาเมฆราช : สัปเหร่อ
พระมงกุฎและพระลบ : นามรูปแห่งพระโยคาวจร
ตอนอวสาน : หนทางแห่งพระนิพพาน

จะเป็นไปได้หรือไม่ที่ภาพรามเกียรติ์ของวัดพระแก้ว อาจมีนัยแห่งความหมายเชิงสัญลักษณ์ที่เกี่ยวข้องกับพุทธศาสนาโดยเฉพาะอย่างยิ่งสายวิปัสสนากัมมฐานของพระโยคาวจรมากกว่าที่เคยเชื่อกัน

ทั้งนี้ การนำเรื่องราวในศาสนาพราหมณ์มาใช้เป็นสื่อสัญลักษณ์ทางพุทธศาสนาปรากฏมาแล้วในภาพสลักรามายณะของปราสาทพิมาย เช่น ภาพทศกัณฐ์ (ราวณะ) บุกยมโลก** และภาพพระลักษณ์รบอินทรชิต*** นัยของภาพล้วนสื่อความหมายสอดคล้องกับเรื่องของธรรมที่ดำรงอยู่ทั้งในหลักการของพุทธศาสนาและศาสนาพราหมณ์อย่างไม่แยกออกจากกัน

ที่มา
* http://abhidharma.ru/A/Vedalla/Content/0003.pdf
** http://www.finearts.cmu.ac.th/wp-content/uploads/2012/01/Fine-Art-P-59-90.pdf
***http://www.finearts.cmu.ac.th/wp-content/uploads/2014/02/6-Pitchaya_283-324-nocrop.pdf

(บทความเรื่องนี้นำมาจากเพจ https://www.facebook.com/ArtHistoryClassroom/)

The post ข้อสังเกตที่น่าสนใจว่า ทำไม รามเกียรติ์ (เรื่องราวในศาสนาพราหมณ์) ถึงมาวาดในวัดพระแก้ว (พุทธเถรวาท) appeared first on Thailand News.