สัญลักษณ์แห่งตัวตน อนุสรณ์สถานการประท้วง กรณีเปรียบเทียบพม่า-ไทย
ลักษณะโดดเด่นประการหนึ่งของสมัยหลังอาญานิคมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทุกวันนี้ คือการพยายามของชนชั้นปกครองที่จะ “ฟื้นฟูธรรมเนียมประเพณี” การฟื้นฟูนี้เป็นเสมือนการออกกำลังขุดหาอดีตเพื่อสืบหาจุดกำเนิดของรัฐชาติ เป็นผลจากความวิตกว่าธรรมเนียมประเพณีจะ “สูญหาย” ไปในกระบวนการพัฒนาและปรับประเทศให้ทันสมัย ความพยายามฟื้นฟูและอนุรักษ์ธรรมเนียมประเพณี หมายความว่าจะต้องมีคน (หรือองค์กรหน่วยงานราชการ) ตรวจสอบความแท้จริง (authenticity) ของธรรมเนียมประเพณีที่ฟื้นฟูแล้ว การรับรองความแท้จริงของธรรมเนียมประเพณี (หรือของอดีต) ต้องทำโดยผู้มีอำนาจหรือผู้ที่อ้างว่ามีอำนาจในการรับรองธรรมเนียมประเพณี
ปัจจุบันนี้ ความแท้จริง (authenticity) มีความเกี่ยวข้องกับวาทกรรม (discourses) ด้านเอกลักษณ์ของชาติอย่างมาก เนื่องจากคุณค่าทางสัญลักษณ์และการพาณิชย์ของมรดกวัฒนธรรม มีคุณค่าด้านความหมายต่อโครงการสร้างชาติที่ดำเนินอยู่ในปัจจุบัน
ประชาชนแต่ละสมัยจำเป็นต้องได้รับการศึกษาและปลูกฝังผ่านเรื่องเล่าของชาติ (narratives of nations) ซึ่งสำคัญต่อความทรงจำร่วมกัน (collective memories) ของทุกชุมชนในชาติ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติและอุทยานประวัติศาสตร์จัดแสดงสิ่งที่เก็บรวบรวมได้จากอดีต และประชาชนทั้งเด็กและผู้ใหญ่ต่างก็เดินทางไปเยี่ยมชมสถานที่สำคัญที่สุดของชาติตามเรื่องเล่า (narratives) ของชาติของตน
การตามหาความแท้จริงของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นโครงการของผู้นำประเทศพม่าสมัยหลังอาณานิคมเช่นเดียวกับผู้นำประเทศอื่นๆ ส่วนใหญ่ในภูมิภาคนี้ นับเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องสร้างอดีตของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ไม่แปดเปื้อนอิทธิพลต่างชาติ และปราศจากอุปสรรคจากรัฐบาลประเทศตะวันตก สถานการณ์เศรษฐกิจโลก การศึกษาประวัติศาสตร์ ด้วยวิธีแบบตะวันตก และวัฒนธรรมตะวันตก (Reynolds 1992 : 149)
ด้านการพาณิชย์ นักท่องเที่ยวต่างชาตินำมาซึ่งการแลกเปลี่ยนทางเศรษฐกิจ เมื่อพวกเขาเข้าชมอุทยานประวัติศาสตร์และโบราณสถาน คุณค่าของสถานที่เหล่านี้สามารถเพิ่มขึ้นได้หากได้เป็นแหล่งมรดกโลก (World Heritage) (Peleggi 1996)
วิธีการบูรณะและจัดแสดงโบราณสถาน โบราณวัตถุในปัจจุบันสามารถเปลี่ยนโฉมหน้าซากวัตถุจากอดีตได้ด้วยความคิดสร้างสรรค์อันน่าทึ่ง เทวสถานและศาสนสถานสามารถนำมารื้อสร้างใหม่หรือทำเป็นแบบจำลองได้ วังและวัดก็สามารถสร้างใหม่ได้ บางครั้งหากไม่ปรากฏบันทึกที่เกี่ยวกับของเดิมอยู่ก็สร้างโดยอาศัยจินตนาการอันสูงส่ง
หลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้สร้างธีมปาร์คหลายประเภท ทั้งทามานมินิ (Taman mini) หรือเมืองจำลอง “อินโดนีเซียแสนสวย”, อุทยานแห่งศตวรรษ (Centennial Park) ในฟิลิปปินส์ ซึ่งกำลังก่อสร้างในบริเวณที่เคยฐานทัพอากาศคลาร์ก รวมทั้งเมืองโบราณ (Ancient City) ในไทย ซึ่งมีผังเป็นรูปแผนที่ประเทศไทย
เมื่อประชาชนทั่วไปและนักท่องเที่ยวต่างชาติมาเที่ยวธีมปาร์คที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์นี้ พวกเขาจะมีส่วนร่วมในการผจญภัยยุคใหม่อันแปลกประหลาดที่สามารถสมมติได้ว่า กำลังมองย้อนไปในอดีต แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องจ่ายเงินเพื่อสิทธิพิเศษนี้ด้วย
ด้วยการสร้างสรรค์โลกเสมือนจริง ในที่สุดวิทยาการโลกไซเบอร์อาจจะสามารถนำนักท่องเที่ยวกลับไปสู่อดีตได้แม้ในขณะที่นั่งพักผ่อนอย่างสบายใจที่บ้าน เหตุการณ์ทั้งหมดเหล่านี้ ตั้งคำถามเกี่ยวกับความแท้จริงของสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นถึงแม้ว่าสิ่งเหล่านี้จะมีการรับรองผ่านวาทกรรมที่ประกันความจริงในส่วนหนึ่งตามความเป็นจริงแล้ว ความแท้จริงส่วนใหญ่มักเป็นการ “จัดฉาก” (Staged) หรือถูกสร้างขึ้นเพื่อให้ภาพสมมติของความจริงแก่นักท่องเที่ยว
บทความนี้ต้องการสำรวจแนวคิดที่แตกต่างกันเล็กน้อยเกี่ยวกับความแท้จริง แต่ไม่มีแนวคิดใดจะทรงพลังเท่าบทความที่ผู้เขียนใช้กล่าวในตอนต้น ข้อความที่คัดลอกมาต่อไปนี้อาจช่วยให้ความกระจ่างว่า “ความแท้จริง” มีความหมายอย่างไรในอีกบริบทหนึ่ง
“ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของชาติที่ไม่เปลี่ยนแปลง แม้เวลาจะผ่านเลย-ความไร้กาลเวลานี้-จำเป็นต้องถูกทำเครื่องหมายไว้ด้วยสัญลักษณ์เพื่อแสดงความแท้จริงของตน
ความแท้จริงของความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวนี้สามารถแสดงออกและรับรองได้ผ่านคุณค่าแห่งความบริสุทธิ์ ความมีเกียรติ ความดี และจิตวิญญาณที่ชาติควรจะมีอยู่ในตัว ตัวแทนที่จับต้องได้จะทำให้สิ่งเหล่านี้ไม่เสื่อมสลายไปในทางประวัติศาสตร์” (Duara 1998 : 290)
ข้อโต้แย้งที่คัดลอกมานี้หมายความว่า ถึงแม้บางครั้งชาติจะเกิดขึ้นจากความขัดแย้งอันรุนแรง ชาติก็ยังคงเป็นกรณีประวัติศาสตร์ที่ไม่เปลี่ยนแปลง
กรณีประวัติศาสตร์ที่ไม่เปลี่ยนแปลงนี้ถูกสัมผัสโดยความหมายอันศักดิ์สิทธิ์มาก จนกระทั่งการลดความศักดิ์สิทธิ์ และการไม่ให้เกียรติต่อกรณีประวัติศาสตร์นี้สามารถก่อให้เกิดปฏิกิริยาอันรุนแรง ความแท้จริงของกรณีประวัติศาสตร์นี้ไม่ได้ถูกจัดฉากหรือสร้างขึ้นมา ตรงกันข้ามการนำเสนอกรณีประวัติศาสตร์นี้ก่อให้เกิดความรู้สึกหลงใหลอันยิ่งใหญ่ การนำเสนอนี้อาจผ่านทางธงชาติ ผู้นำประเทศ (อย่างเช่นราชวงศ์ หรือวีรบุรุษของการเคลื่อนไหวเพื่อเอกราช) หรือศาสนสถาน รัฐเป็นผู้ดูแลการนำเสนอตัวแทนของกรณีประวัติศาสตร์เหล่านี้อย่างเคร่งครัด อย่างที่ดัวร่า (Daura) เคยกล่าวไว้ว่า “รัฐเดิมพันอำนาจโดยชอบธรรมส่วนใหญ่ของรัฐด้วยการทำหน้าที่ผู้ปกป้องความแท้จริง (authenticity) ของ ‘ตัวตนวัฒนธรรม’ (body cultural) และเมื่อ ‘ตัวตนวัฒนธรรม’ สึกกร่อนไปตามกาลเวลา รัฐก็สร้าง ‘ตัวตนวัฒนธรรม’ ขึ้นมาใหม่ซ้ำแล้วซ้ำเล่า” (Daura 1998 : 307)
ถึงแม้ว่าดัวร่าจะไม่ได้กล่าวอย่างโจ่งแจ้ง เราก็สามารถเห็นได้ตามคำจำกัดความนี้ว่าความแท้จริงนี้เป็นสิ่งที่แข่งขันกันได้ กลุ่มและปัจเจกชนอื่นๆ ต่างมีความเห็นต่างจากรัฐต่อสิ่งที่รัฐจัดว่าเป็นความแท้จริง น้อยครั้งมากที่รัฐจะสามารถเป็นผู้ปกป้อง “ตัวตนวัฒนธรรม” อย่างสมบูรณ์ ดังนั้นรัฐจึงต้องป้องกันการเสื่อมสลายของ “ตัวตนวัฒนธรรม” นั้น บางครั้งความพยายามของผู้ขัดแย้งกับรัฐเช่นกลุ่มผู้เสียเปรียบหรือชนกลุ่มน้อยที่จะผลักดันการควบคุมของรัฐออกไป ทำให้ความหมายทางการของสถานที่สำคัญและศักดิ์สิทธิ์ของชาติเหล่านี้ถูกคุกคามหรือสึกกร่อนไป รัฐบาลประเทศตะวันตกก็ประสบปัญหาอย่างมากในการทำหน้าที่ผู้ปกป้อง “ตัวตนวัฒนธรรม” ที่ไม่ใช่ของตนเอง
ต่อไปนี้จะเป็นการอภิปรายเรื่องความแท้จริงของกรณีประวัติศาสตร์ที่ไม่เปลี่ยนแปลงนี้ โดยเปรียบเทียบสถานที่สำคัญของชาติที่มีชื่อเสียงสองแห่งในประเทศพม่าและไทยที่แตกต่างกันมาก
ลักษณะเหมือนกันของทั้งสองแห่งนี้คือ ทั้งสองเป็นองค์ประกอบสำคัญในเรื่องเล่าของชาติของทั้งพม่าและไทย
ที่ตั้งของทั้งสองสร้างความสัมพันธ์เชิงสัญญวิทยา (semiotics) ของพื้นที่ทางการเมือง เจดีย์ชเวดากองตั้งอยู่ระหว่างสภาแห่งชาติที่อยู่ทางทิศตะวันตกและทะเลสาบกันดอว์จีทางทิศตะวันออก เป็นสถานที่รองรับการต่อสู้อันมากมายในสมัยอาณานิคมและหลังอาณานิคม อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ตั้งอยู่บนถนนราชดำเนินที่สร้างสมัยปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 เพื่อเชื่อมเมืองเก่าริมแม่น้ำกับบริเวณที่พระมหากษัตริย์ทรงย้ายไปประทับเมื่อเมืองขยายตัว ดังนั้นทั้งสองแห่งจึงตั้งอยู่บนทิศแห่งอำนาจ
ความน่าสนใจในขณะนี้คือการพิจารณาว่าการเดินทางของประวัติศาสตร์ได้ประทับรอยลงไปบนสถานที่ทั้งสองซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของชาติอย่างไร
เจดีย์ชเวดากอง (พม่า) และอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย (ไทย)
หากมองโดยผิวเผิน สถานที่ทั้งสองแห่งนี้เป็นอนุสรณ์สถานที่แตกต่างกันมาก
เจดีย์ชเวดากองเป็นศาสนสถานและเป็นเจดีย์เก่าๆ องค์หนึ่ง มีประวัติอันยาวนานตั้งแต่สมัยก่อนพุกามแล้วเริ่มมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ตั้งแต่บัดนั้น ดังที่ปรากฏอยู่ในจารึกของพระเจ้าธรรมเจดีย์ในยุคปลายคริสต์ศตวรรษที่ 15 คนที่มีโอกาสท่องเที่ยวไปในหลายประเทศอาจจะไม่ตระหนัก ถึงความสำคัญของเจดีย์ชเวดากองในทันที แต่สำหรับหลายๆ คนเจดีย์ชเวดากองเป็นศาสนสถานที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของโลก
ในทางกลับกันอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยไม่เกี่ยวข้องอะไรกับศาสนาเลย เนื่องจากสร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์ในโอกาสที่การปกครองระบอบสมบูรณาญสิทธิราชย์สิ้นสุดลงในปี ค.ศ. 1932 อนุสาวรีย์นี้ไม่เป็นที่รู้จักภายนอกประเทศนัก ยกเว้นกลุ่มคนที่รู้จักเมืองไทย และอนุสาวรีย์นี้ก็ยังใหม่เพราะสร้างเสร็จและเปิดในปี ค.ศ. 1940
ในปี ค.ศ. 1932 ก็ไม่มีเหตุการณ์สำคัญใดๆ เกิดขึ้นในบริเวณที่ตั้งอนุสาวรีย์เลย เมื่อเปรียบเทียบกับเจดีย์ชเวดากอง อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยมีประวัติน้อยนิดและไม่เป็นได้มีส่วนในการสร้างความต่อเนื่องกับอดีตอันเก่าแก่ของประเทศ
ยังมีลักษณะอื่นๆ บางประการที่แบ่งสถานที่สำคัญของชาติสองแห่งนี้
เจดีย์ชเวดากองเป็นสิ่งปลูกสร้างที่โดดเด่นที่สุดในเมืองย่างกุ้ง หากคุณไม่รู้ว่าจะไปที่เจดีย์ได้อย่างไร เพียงแค่มองขึ้นไปสูงๆ แล้วจะไปถูกเอง หากมองจากเจดีย์ชเวดากองที่ตั้งอยู่บนเขาสิงคุตร์ลงมาก็จะเห็นเมืองย่างกุ้งทั้งเมือง ในฐานะที่เจดีย์ชเวดากองเป็นศาสนสถานจึงมีทั้งชาวพุทธและนักท่องเที่ยวมาเยือนตลอดทั้งวัน ในทางสุนทรียศาสตร์เจดีย์ชเวดากองมีความงามสง่า มีการประดับประดางดงาม ยอดเจดีย์ส่องประกายอร่ามเรืองรองเมื่อสะท้อนกับแสงอาทิตย์ในยามเช้าและบ่าย
อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เป็นที่รู้จักน้อยกว่า เข้าถึงได้ยากกว่า และมีผู้เยี่ยมชมน้อยกว่าเจดีย์ชเวดากอง
อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยตั้งอยู่บนถนนเส้นหลักของกรุงเทพฯ คือถนนราชดำเนินที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงโปรดให้สร้างในศตวรรษที่ผ่านมา อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยครอบคลุมเนื้อที่ส่วนใหญ่ของเกาะกลางถนน นักท่องเที่ยวที่ไปเยี่ยมชมต้องมีความกล้าหาญมาก เพราะจะต้องฝ่ากระแสการจราจรอันคับคั่งเพื่อข้ามถนนไปยังอนุสาวรีย์ เมื่อไปถึงตัวอนุสาวรีย์แล้ว ก็ไม่มีอะไรน่าชื่นชมนักเมื่อเปรียบเทียบกับเจดีย์ชเวดากอง จริงๆ แล้วสถานที่ดีที่สุดในการชมอนุสาวรีย์ คือบนรถเมล์ปรับอากาศที่วิ่งวนรอบวงเวียนเพื่อมุ่งหน้าไปยังพระบรมมหาราชวังหรือโบราณสถานอื่นๆ ซึ่งเป็นที่รู้จักมากกว่า
อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยไม่ใช่อนุสาวรีย์ของประชาชนและไม่มีชื่อเสียง ถึงแม้จะมีบทบาทต่อประวัติศาสตร์ชาติไทย ดังที่จะได้อธิบายต่อไป อนุสาวรีย์ธรรมดาๆ ที่สร้างด้วยซีเมนต์และปูนปั้นนี้ไม่มีอะไรน่าชมเท่าไรเลย
ฐานะของเจดีย์ชเวดากอง ในการต่อสู้เพื่อชาติ
สถานที่ทั้งสองมีบทบาทการเป็นศูนย์รวมความสนใจในช่วงเวลาสำคัญของประวัติศาสตร์การเมืองพม่าและไทย
เจดีย์ชเวดากองมีหลักฐานเป็นชิ้นเป็นอันมากกว่าเพราะมีประวัติศาสตร์อันยาวนานกว่า เมื่อกษัตริย์ (พระเจ้าธรรมเจดีย์) เริ่มประเพณีการถวายเครื่องบูชาแก่พระเจดีย์เป็นประจำทุกปีในคริสต์ศตวรรษที่ 15 นับจากนั้นมาราชวงศ์ก็บริจาคเครื่องบูชาและเงินเพราะแรงจูงใจทั้งด้านการเมืองและศาสนา (Moore 1999 : 145)
สิ่งปลูกสร้างหลายแห่งเกิดจากการบริจาคของพ่อค้าและคนกลุ่มอื่นๆ บริเวณฐานของพระเจดีย์มีระฆังขนาดมหึมาและเจดีย์องค์เล็กๆ อีกหลายองค์ โครงสร้างขนาดใหญ่ของพระเจดีย์เป็นผลผลิตของประวัติศาสตร์ ปล้องไฉนและยอดฉัตรสร้างและต่อเติมในช่วงเวลาสำคัญทางประวัติศาสตร์หลายต่อหลายครั้ง ประวัติศาสตร์ช่วงนี้เป็นที่รู้กันดีอยู่แล้วจึงไม่จำเป็นต้องกล่าวซ้ำอีก แต่สิ่งที่น่าค้นหาคือประเด็นสำคัญของประวัติศาสตร์ที่ทำให้เจดีย์ชเวดากองเป็นสถานที่พิเศษ ในการนี้ฐานะของเจดีย์ชเวดากองในความเป็นเอกลักษณ์ของชาติไม่ได้เป็นเพียงผลผลิตจากระบบอุปถัมภ์และการส่งเสริมของราชการ หากแต่ยังเป็นผลผลิตของความบังเอิญอีกด้วย
เจดีย์ชเวดากองในฐานะศาสนสถาน ให้ความรู้สึกสงบสุขและเป็นอิสระจากพันธนาการ อย่างเช่นในนิยายอันโด่งดังของเทียนเพเมี้ยน (Thein Pe Myint) เรื่องเต็ดปงยี (Tet Pongyi) ตัวเอกของเรื่องเห็นเจดีย์ชเวดากองแล้วความคิดของเขาก็ได้รับการชำระล้างให้บริสุทธิ์ (Mendelson 1975 : 200) อย่างไรก็ตามในฐานะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของชาติ เจดีย์ชเวดากองได้จารึกประวัติศาสตร์อีกประการหนึ่งที่แตกต่างไปมาก เนื่องจากสิ่งที่เกี่ยวโยงกับความศรัทธาและยึดมั่นในศาสนาก็คือ ประวัติศาสตร์ของสงครามและการต่อสู้เพื่อการสร้างชาติ (U Win Pe 1999 : 149)
สมัยสงครามอังกฤษ-พม่าสองครั้งแรก เจดีย์ชเวดากองเป็นป้อมปราการและกลายเป็นสนามรบ ผู้ใดได้ครองเจดีย์ชเวดากองย่อมมีโอกาสในการได้ครองเมืองสูง
สงครามครั้งแรกในปี ค.ศ. 1824 กองทัพอังกฤษเข้ายึดเจดีย์ในวันที่ 11 พฤษภาคม ใช้เจดีย์เป็นค่ายทหารและเป็นที่ตั้งของหน่วยทหารปืนใหญ่ (Moore 1999 : 149) มีการฝังศพทหารอังกฤษที่นั่น (U Win Pe 1999 : 176) กองทัพพม่าเข้าโจมตีกองทัพอังกฤษตลอดช่วงหกเดือนให้หลัง และ “ประวัติศาสตร์ของสงครามอังกฤษ-พม่าครั้งแรกก็คือประวัติศาสตร์ของเจดีย์ชเวดากองนั้นเอง” (Biggs 1953 : 1)
สมัยสงครามอังกฤษ-พม่าครั้งที่สองในปี ค.ศ. 1852 กองทัพพม่าเข้าครองเจดีย์ชเวดากองและต่อสู้กับกองทัพอังกฤษจนกระทั่งเจดีย์ชเวดากองถูกยึด อันหมายถึงการล่มสลายของเมือง (Biggs 1963 : 7-8)
สิ่งที่แปลกเกี่ยวกับจุลสารของบิ๊กส์ (Biggs) เรื่องเจดีย์ชเวดากองซึ่งเขียนในปี ค.ศ. 1895 คือเนื้อหาบทแรกเกี่ยวกับรายละเอียดทางทหารดังที่กล่าวข้างต้นมากกว่าความสำคัญทางศาสนาของเจดีย์ นี่เป็น “บทนำ” สู่ประเด็นของเขา สิ่งสำคัญที่สุดในใจของผู้แต่ง (Biggs) คือความสำคัญของเจดีย์ชเวดากองในฐานะป้อมปราการทางทหารซึ่งถือเป็นการรับรู้ที่ตรงกับประวัติศาสตร์ของเจดีย์ในศตวรรษที่ 20 อย่างที่บิ๊กส์ (Biggs) เองก็อาจคาดไม่ถึง
ในสมัยที่พม่าเป็นเมืองขึ้น อังกฤษมักจะตั้งข้อสงสัยในความพยายามของกษัตริย์พม่าที่จะทำหน้าที่พุทธศาสนูปถัมภก ปี ค.ศ. 1870 เมื่อพระเจ้ามินดงขอเดินทางไปถวายยอดฉัตรแก่พระธาตุชเวมอดอในพะโค (หงสาวดี) อังกฤษปฏิเสธคำขอนั้นด้วยเกรงว่าพระเจ้ามินดงจะ “อยู่ในตำแหน่งที่มีอิทธิพล และอังกฤษต้องป้องกันไม่ให้สะสมอิทธิพลนั้นให้เกิดอันตรายต่อการปกครองพม่าของประเทศอังกฤษ” (Myo Myint 1987 : 192) การกระทำเพื่อศาสนาจึงถูกตีความเป็นการกระทำเพื่อการต่อต้านและการกบฏ
หนึ่งปีให้หลัง ในปี ค.ศ. 1871 เมื่อพระเจ้ามินดงประสบความสำเร็จในการถวายยอดฉัตรใหม่แก่พระเจดีย์ชเวดากอง อังกฤษประกาศว่าการกระทำนั้น “ก่อให้เกิดผลร้ายต่อจิตใจของประชาชนโดยรวม โดยทำเพื่อต้องการคงความตื่นเต้นและความวิตกกังวลในหมู่ประชาชน” (Myo Myint 1987 : 192)
สามสิบปีก่อนหน้านั้น ในปี ค.ศ. 1841 ก่อนสงครามอังกฤษ-พม่าครั้งที่สอง พระราชบิดาของพระเจ้ามินดงคือพระเจ้าธราวดีได้เดินทางไปกรุงย่างกุ้งพร้อมกับกองกำลังทหารกลุ่มใหญ่ เพื่อตกแต่งฉัตรประดับยอดพระเจดีย์ชเวดากองใหม่ (Myo Myint 1987 : 189) นักประวัติศาสตร์ไม่อาจทราบได้ว่าพระเจ้ามินดงและพระราชบิดาคิดอะไรอยู่ ถึงแม้จะเป็นที่ชัดเจนว่าตั้งแต่กลางคริสต์ศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา เจดีย์ชเวดากองกลายเป็นจุดกดดันที่อังกฤษกับพม่าแข่งขันกันเพื่อผลประโยชน์
ตัวเจดีย์ชเวดากองเองได้บันทึกประวัติศาสตร์บางส่วนนี้ไว้อย่างกระท่อนกระแท่นไม่ต่อเนื่อง ฐานของเจดีย์และเนินเขาสิงคุตร์อันเป็นที่ตั้งของเจดีย์ มีอนุสรณ์มากมายที่เป็นเสมือนจดหมายเหตุของชาติพม่าปรากฏอยู่ที่บันไดด้านทิศเหนือจะเห็น “ทเวเซกัน (Thway say kan)” หรือที่เรียกกันว่า “อ่างล้างเลือด” เป็นที่ที่ทหารพม่าใช้ล้างเลือดจากดาบในสมัยสงครามอังกฤษ-พม่าครั้งที่หนึ่ง (Moore et al. 1999 : 11) ที่ฐานเจดีย์ทิศตะวันตกเฉียงใต้มีอนุสาวรีย์พร้อมกับจารึกสี่ภาษา (พม่า อังกฤษ ฝรั่งเศส รัสเซีย) ตั้งอยู่ เพื่อเป็นอนุสรณ์แก่การประท้วงของนักศึกษาต่อบัญญัติมหาวิทยาลัยย่างกุ้งในปี ค.ศ. 1920 กลุ่มนักศึกษาแกนนำได้กล่าวปฏิญาณตน ณ จุด นี้ (U Win Pe 1999 : 176)
เจดีย์ชเวดากองอยู่ภายใต้การควบคุมของกองกำลังทหารอังกฤษตั้งแต่สมัยสงครามอังกฤษ-พม่าจนถึงปี ค.ศ. 1929 อีกทศวรรษให้หลังหรือนานกว่านั้น ช่วงเกิดเหตุการณ์ที่นำไปสู่ความไม่สงบในปลายเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1938 เจดีย์ชเวดากองเป็นศูนย์กลางความเคลื่อนไหวอีกครั้งหนึ่ง มีฝูงชนมาชุมนุมกันถึง 10,000 คน และ 1,500 คนในนั้นเป็นพระภิกษุ ข่าวลืออันเป็นผลมาจากการชุมนุมครั้งนั้นว่าเจดีย์ชเวดากองใกล้จะถูกโจมตีทำให้บรรยากาศทางการเมืองร้อนระอุขึ้นทันที (Mendelson 1975 : 212)
ช่วงก่อนได้รับเอกราช มีการประท้วงและการชุมนุมหยุดงานที่เจดีย์ชเวดากองหลายครั้ง การประชุมของกลุ่มประชาชนอิสระต่อต้านฟาสซิสต์ (Anti-Fascist Peoples Freedom League) ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1945 ก็เกิดขึ้นที่นี้
เดือนกันยายน ค.ศ. 1946 กลุ่มตำรวจได้ประท้วงหยุดงานและมาตั้งค่ายที่นี่ (Cady 1958 : 524-525, 536) เพลงชาติพม่าเองก็กระหึ่มขึ้นเป็นครั้งแรกบนเขาสิงคุตร์
ในปี ค.ศ. 1961 ช่วงปลายของรัฐบาลอนุ (U Nu) พระสงฆ์กว่าห้าร้อยรูปได้มาชุมนุมกันที่ฐานของพระเจดีย์และกล่าวโทษอนุ (U Nu) ว่า “ลดระดับพุทธศาสนาลงเป็นเพียงการนับถือภูตผี” (Mendelson 1975 : 353) และอีกครั้งหนึ่งในปี ค.ศ. 1974 เจดีย์ชเวดากองเป็นศูนย์กลางของความไม่สงบ เมื่อนักศึกษาประท้วงเรื่องสถานที่เหมาะสมที่สุดเพื่อฝังศพอูถั่น (U Thant) เลขาธิการองค์การสหชาชาติในสมัยนั้น (Steinberg 1982 : 43)
ช่วงเหตุการณ์ความวุ่นวายในเดือนกรกฎาคม สิงหาคม และกันยายน ปี ค.ศ. 1988 เจดีย์ชเวดากองเป็นศูนย์กลางของการประท้วงอีกครั้ง เดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1988 นายพล เนวิน (Ne Win) ลาออกจากประธานพรรคสังคมนิยมพม่า (Burma Socialist Program Party) ส่วนหนึ่งเพื่อรับผิดชอบต่อการเสียชีวิตของนักศึกษาที่ปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจในเดือนมีนาคม และมิถุนายน (Sesser 1993 : 207-208) ระหว่างวันที่ 8-13 สิงหาคมที่มียอดผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น เมื่อผู้นำทางการทหารเข้าควบคุมสถานการณ์ และอำนาจในการบริหารประเทศก็ยังไม่คงที่
วันที่ 26 สิงหาคม ออง ซาน ซูจี (Aung San Suu Kyi) กล่าวปราศรัยที่เจดีย์ชเวดากองและประกาศตัวเป็นทายาทการเมืองของบิดา คือนายพลอองซาน (Aung San) ผู้ก่อตั้งกองทัพบกพม่า ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าเป็นบิดาผู้ก่อตั้งรัฐชาติพม่า (Aung San Suu Kyi 1995 : 192-198) คำปราศรัยของเธอ ในวันที่ 26 สิงหาคม ทำให้ประชาชนลุกฮือ และภายหลังถูกกองกำลังทหารปราบปรามในวันที่ 18-19 กันยายน (Sesser 1993 : 219-223)
หลายต่อหลายครั้งในช่วงเหตุการณ์เหล่านี้ ทั้งในปี ค.ศ. 1824, 1852, 1938, 1945, 1946, 1961, 1974 และ 1988 เจดีย์ชเวดากองได้ยุติความเป็นศาสนสถานและเปลี่ยนเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สงครามแห่งที่มั่นได้เกิดขึ้นระหว่างคนหลายกลุ่ม ประชาชนชาวพม่าหลายคนได้สละชีวิตในสงครามที่มั่นแห่งนี้เมื่อปะทะกับกองทัพอังกฤษ ทำให้เจดีย์ชเวดากองกลายเป็นอนุสรณ์สถานแห่งสงคราม ที่เชิงเขาสิงคุตร์ด้านทิศเหนือมีอนุสรณ์สถานของสุสานวีรบุรุษแห่งนายพลอองซาน (Memorial to the Fallen Heroes Mausoleum of Bogyoke Aung San) แนวคิดเรื่องการพลีชีพเพื่อชาตินี้ได้รับการสนับสนุนครั้งล่าสุดในปี ค.ศ. 1990 เมื่อรัฐบาลทหารพม่าเห็นควรที่จะสร้างสุสานทหารนิรนามไว้ใกล้ๆ กัน
อูวินเป (U Win Pe) กล่าวว่า “เจดีย์ชเวดากองให้ความรู้สึกของความเป็นชาติแก่ประชาชนชาวพม่า” (U Win Pe 1999 : 177) ในขณะที่เจดีย์ชเวดากองไม่ได้ถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นศูนย์รวมของชาติในลักษณะนี้ กระบวนการที่ทำให้เกิดความรู้สึกนี้ขึ้นก็มิได้เป็นเพียงอุบัติเหตุ
การที่อังกฤษใช้เจดีย์ชเวดากองเป็นป้อมปราการ และการที่พม่าตัดสินใจเข้ายึดคืนคือเป็นจุดเริ่มต้นทำให้เจดีย์ชเวดากองกลายเป็นศูนย์รวมของความรู้สึกของประชาชนดังเช่นทุกวันนี้
อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตย
ในกรณีของอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยในกรุงเทพฯ ซึ่งเคยเป็นสถานที่จัดการประท้วงเช่นเดียวกันในคริสต์ศตวรรษที่ 20 อนุสาวรีย์นี้แตกต่างจากเจดีย์ชเวดากองมากและเพิ่งจะได้รับความหมายประวัติศาสตร์ใหม่ในช่วง 25 ปีที่ผ่านมา อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเปิดอย่างเป็นทางการในวันที่ 24 มิถุนายน ค.ศ. 1940 เพื่อฉลองวันครบรอบแปดปีที่การปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ได้สิ้นสุดลง
เหตุการณ์ที่แถลงการณ์ว่าเป็น “การปฏิวัติ” นี้ แท้จริงแล้วจบลงไปอย่างรวดเร็วเกินกว่าจะสามารถใช้คำจำกัดความเช่นนั้นได้ บางครั้งเหตุการณ์นี้ก็ถูกเรียกอย่างเลี่ยงๆ ว่า “การเปลี่ยนรัฐบาล” ซึ่งเป็นผลมาจากการสะสมนานนับหลายทศวรรษของการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐศาสตร์และการเมือง ที่กระตุ้นให้เกิดการโต้เถียงเรื่องสิทธิของผู้ถูกปกครอง สถานะของผู้หญิง และสิทธิพิเศษของกลุ่มเชื้อพระวงศ์ (Reynolds 1998 : 479-480) อย่างไรก็ดี “ประชาธิปไตย” ก็ถูกปิดกั้นจนถึงปลายทศวรรษนั้น อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยสร้างขึ้นสมัยรัฐบาลทหารนำโดยจอมพลแปลก พิบูลสงคราม
หน่วยวัดต่างๆ ของอนุสาวรีย์เป็นสัญลักษณ์ของข้อมูลสำคัญๆ เกี่ยวกับเหตุการณ์ในครั้งนั้น วันที่ 24 ของเดือน 3 (มิถุนายนในปฏิทินแบบเก่า); หลักหกประการของพรรคประชาชน; และปีที่ 75 ตามการนับพุทธศักราช (2475 =1932)
หลักหกประการประกอบด้วย เอกราช สันติภาพ สิทธิในความเสมอภาค อิสรภาพ ความปลอดภัยทางเศรษฐกิจ และการศึกษา (มาลินี 1988:71)
เดิมมีแผนตกแต่งด้านทั้งแปดของอนุสาวรีย์ด้วยปูนปั้น แต่มีเพียงสี่ด้านเท่านั้นที่สำเร็จ ที่เหลืออีกสี่ด้านถ่ายแบบมาจากด้านที่เสร็จแล้ว ส่วนที่ไม่ได้สร้างคือพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ทรงรับรัฐธรรมนูญ ภาพกลุ่มผู้วางแผนเปลี่ยนรัฐบาลในปี ค.ศ. 1932 ภาพประชาชนแสดงความไม่พอใจต่อกลุ่มผู้วางแผน และสุดท้ายเป็นภาพประชาชนกำลังทำความเคารพรัฐธรรมนูญที่ตั้งอยู่บนพาน ผู้ที่ทราบว่าการตกแต่งด้านทั้งแปดไม่สมบูรณ์ต่างรู้สึกว่าสิ่งนี้อาจหมายถึง “ความไม่สมบูรณ์” ของประชาธิปไตยในเมืองไทย
การศึกษากรณีทางประวัติศาสตร์อีกสองกรณีของอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย แสดงให้เห็นว่าประวัติศาสตร์ยุคแรก (ที่นักประวัติศาสตร์หนึ่งในสองคนนี้เรียกว่า “เรื่องแรก”) ถูกลืมและถูกครอบงำด้วยเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอีก 30 ปีหลังจากการสถาปนาอนุสาวรีย์ได้อย่างไร มาลินี คุ้มสุภา และธงชัย วินิจจะกูล ได้ “ตีความ” (reread) อนุสาวรีย์ใหม่ และพยายามคลี่คลายปมของเรื่องราวต่างๆ เกี่ยวกับอนุสาวรีย์ที่เล่าสืบกันมาในหลายทศวรรษที่ผ่านมา (มาลินี 1998, ธงชัย 1999)
อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเข้าสู่จิตสำนึกของประชาชนครั้งแรกในกลางทศวรรษที่ 70 ระหว่างที่มีการประท้วงวันที่ 14 ตุลาคม ค.ศ. 1973 ซึ่งนำไปสู่การเมืองไทยยุคใหม่ บทความหนึ่ง ระบุว่ามีประชาชนถึง 500,000 คนมาชุมนุมกันบริเวณถนนราชดำเนินและถนนใกล้เคียง (Anderson 1998 : 154) ในขณะที่การประท้วงเริ่มขึ้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถนนกว้างใหญ่อันเป็นที่ตั้งของอนุสาวรีย์นี้ก็ดึงดูดผู้คนจำนวนนับหมื่นที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์การเมืองไทย ถนนราชดำเนินและอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเป็นศูนย์กลางการประท้วงอีกครั้งหนึ่งในปี ค.ศ. 1992 เมื่อผู้บัญชาการทหารบกขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหลังจากได้กล่าวสละอำนาจไปก่อนหน้านี้
การประท้วงวันที่ 14 ตุลาคม ค.ศ. 1973 เป็นการยืนยันว่าอนุสาวรีย์เป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในประเทศไทย หนังสือและนิตยสารหลายเล่มหลายฉบับที่ลงเรื่องเกี่ยวกับเหตุการณ์ดังกล่าวมักลงภาพอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยทั้งแบบเป็นภาพถ่ายหรือกราฟิกดีไซน์ ปีกทั้งสี่ของอนุสาวรีย์และโครงสร้างตรงกลางกลายเป็นตัวแทนของการสิ้นสุดของรัฐบาลทหารและการเริ่มต้นของประชาธิปไตยแบบรัฐสภา
อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเป็นเครื่องหมายของเหตุการณ์นั้นเพราะมีภาพลักษณ์ตรงกับสิ่งที่ “ประชาธิปไตย” ถูกจินตนาการว่าเป็นเพราะความรุนแรง และความเสียหายอันใหญ่หลวงกว่าที่เกิดขึ้นเมื่อทหารคืนสู่อํานาจในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม ค.ศ. 1976 จึงอาจกล่าวได้ว่าอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยไม่ได้แบกรับความหมายอันโศกสลดของเหตุการณ์นี้ ซึ่งถือเป็นการ “สิ้นสุด” อย่างชั่วคราวของประชาธิปไตยไทย
สรุป
ทั้งเจดีย์ชเวดากองและอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ชาติ ทั้งสองมีหน้าที่อย่างเป็น “ทางการ” ในเรื่องเล่า (narratives) แบบชาตินิยม เจดีย์ชเวดากองเป็นพุทธศาสนสถานที่สำคัญ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเป็นหลักฐานของการเริ่มต้นการปกครองแบบประชาธิปไตยที่มีรัฐธรรมนูญ หน้าที่อย่างเป็นทางการนี้ได้รับการส่งเสริมว่าเป็น “ความแท้จริง” (authenticity) ของสถานที่ทั้งสอง
ในขณะเดียวกัน เรื่องเล่าแบบอื่นๆ ได้เกิดขึ้นและมีการสะสมมาตลอดระยะเวลาที่ประวัติศาสตร์ดำเนินไป ตะกอนของความหมายเหล่านี้ได้ก่อตัวขึ้นและแยกตัวไปจากความหมายอันแท้จริงที่กำหนดมาให้โดยอำนาจชอบธรรมตามกฎหมาย สำหรับกรณีของทั้งสองที่นี้ การประท้วง การขับเคลื่อนของมวลชน การชุมนุมทางการเมือง การปราศรัยที่เต็มไปด้วยรสชาติ ได้เกิดขึ้นที่สองแห่งนี้และบริเวณโดยรอบ เรื่องเล่าแบบอื่นๆ แข่งขันกับบทบาทที่แท้จริงและได้กัดกร่อนบทบาทที่แท้จริงของสถานที่ทั้งสองแห่งตามประวัติศาสตร์ชาตินิยม
ทั้งสองที่นี้ดึงดูดประวัติศาสตร์ที่อยู่เหนือการควบคุมของคนใดคนหนึ่ง ประวัติศาสตร์ที่เป็นจิตวิญญาณเท่ากับที่เป็นปรปักษ์ ประวัติศาสตร์ที่ต่อต้านการเสกสรรปั้นแต่งและการควบคุม
สิ่งที่น่าสนใจที่สุดเกี่ยวกับอนุสรณ์สถานทั้งสองแห่งนี้คือ ความซับซ้อนของความหมายที่ได้เติบโตขึ้นรอบๆ สถานที่ทั้งสอง อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยที่มีอายุน้อยกว่าปัจจุบันถูกมองว่า เป็นศูนย์รวมของความใฝ่ฝันและความทะเยอทะยานเพื่อระบอบการเมืองที่ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง หากยังมีความขัดแย้งในตัวเองและความไม่ลงรอยกันอยู่ในความฝัน และความทะเยอทะยานเหล่านี้
อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยไม่ได้แบกรับความรู้สึกอันลึกซึ้ง ในการต่อสู้สมัยอาณานิคมอย่างที่ปรากฏอยู่ที่เขาสิงคุตร์และบนฐานของเจดีย์ชเวดากอง เจดีย์ชเวดากองต้องถูกจดจำในฐานะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ปกป้องรัฐชาติพม่า ซึ่งเป็นสัญลักษณ์อันแท้จริงของความเป็นชาติพม่า แต่เจดีย์ชเวดากองก็ยังเป็นพื้นที่สำหรับแสดงความรู้สึกของประชาชน และเป็นอนุสาวรีย์ที่มีความหมายต่อชาวพม่าอย่างที่เราไม่สามารถตีค่าแทนได้ เจดีย์ชเวดากองเป็นสถานที่ที่ชาติจะอ้อนวอนเพื่อต่อสู้กับรัฐ
ดังนั้นจะกลับสู่ประเด็นเมื่อเริ่มอภิปรายสิ่งที่ “แท้จริง” (authenticity) ไม่แสดงให้เห็นได้ด้วยตัวเอง แต่จะเป็นประเด็นในการอภิปรายและตีความอยู่เสมอ
บทความนี้ปรับปรุงจากบทความเรื่อง Icon of Identity as Sites of Protest; Burma and Thailand Compared ของ Craig J. Reynolds ที่เสนอต่อ “The PROSEA-ANU International Workshop on Deliberating the Asian Values Debates; National Values, Chinese Values and Muslim Values in Southeast Asia”, 24-25 ธันวาคม พ.ศ. 2541 ที่ PROSEA. Academia Sinica, Taipei, Taiwan
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 8 สิงหาคม 2565
The post สัญลักษณ์แห่งตัวตน อนุสรณ์สถานการประท้วง กรณีเปรียบเทียบพม่า-ไทย appeared first on Thailand News.