ติดตามผ่านช่อง : Siammongkol Youtube Channel

“สืบหา ‘พระเทพบิดรกรุงรัตนโกสินทร์’ รูปพระเจ้าอู่ทองที่ถูกแปลงให้เป็นพระพุทธรูป”

“สืบหา ‘พระเทพบิดรกรุงรัตนโกสินทร์’ รูปพระเจ้าอู่ทองที่ถูกแปลงให้เป็นพระพุทธรูป”

บทความนี้ต้องการ “แก้สงสัย” เบื้องต้นเกี่ยวกับ “พระเทพบิดร” หรือ “พระเชษฐบิดร” ที่เชื่อกันว่า
เป็นเทวรูปหรือพระพุทธรูปทรงเครื่องซึ่งเคยประดิษฐานหรือยังคงประดิษฐานในวัดพุทไธสวรรย์ จ.พระนครศรีอยุธยา จนกระทั่งได้เชิญมาประดิษฐานยังพระบรมมหาราชวัง กรุงเทพมหานคร ในรัชกาลที่ 1 แต่ถูกยุบหลอมใหม่ กลายเป็นพระพุทธรูป

โดยแยกนำเสนอเป็น 3 หัวข้อ เพื่อให้ง่ายต่อการทำความเข้าใจเบื้องต้น ก่อนจะเรียบเรียงเป็นบทความขนาดยาวเพื่อนำเสนอในโอกาสต่อไป ดังนี้

1. พระเทพบิดรที่ปรางค์ประธานวัดพุทไธสวรรย์
2. พระเทพบิดรกรุงเก่ามาจากไหน
3. พระเทพบิดรกรุงรัตนโกสินทร์เคยประดิษฐานที่ใด
4. พระเทพบิดรกรุงรัตนโกสินทร์ย้ายไปประดิษฐานที่ไหน
5. พระเทพบิดรกรุงรัตนโกสินทร์มีพุทธลักษณะเช่นไร

1. พระเทพบิดรที่ปรางค์ประธานวัดพุทไธสวรรย์

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงให้ข้อมูลเกี่ยวกับพระเทพบิดร จากการสัมภาษณ์ชาวกรุงเก่า
ว่าเดิมเป็นเทวรูปประดิษฐานที่มุขของปรางค์ประธานวัดพุทไธสวรรย์ เรียกว่า “รูปพระเจ้าอู่ทอง”
ต่อมาภายหลังเกิดดุร้ายขึ้นมา หรือถ้าเป็นสมัยนี้ก็คือ เฮี้ยนหนัก ทำให้ชาวบ้านหวาดผวา

กรมหมื่นเทพพลภักดิ์ พระเจ้าลูกยาเธอในรัชกาลที่ 1 ทรงกำกับการซ่อมเพนียดที่กรุงเก่าจึงทรงเชิญมา
ประดิษฐานยังพระนคร โปรดเกล้าฯ ให้ยุบแล้วหล่อเป็นพระพุทธรูปเงินทรงเครื่อง ประดิษฐานไว้ในหอพระเทพบิดร ส่วนตำแหน่งเดิมที่ประดิษฐานพระเทพบิดรได้ปั้นเป็นพระพุทธรูปไว้แทน (ดำรงราชานุภาพ 2516, 21)

พระเทพบิดร (ต่อไปนี้จะเรียกว่า “พระเทพบิดรกรุงเก่า”) จึงอาจเคยเป็น “เทวรูป” หรือ “รูปสมมติ”
ของพระเจ้าอู่ทองมาก่อน แต่จะมีหน้าตาอย่างไรไม่ปรากฏ เมื่อเชิญมาไว้ยังกรุงเทพมหานครก็ถูกยุบหล่อใหม่แปลงเป็น “พระพุทธรูปเงินทรงเครื่อง” เชิญประดิษฐานไว้ใน “หอพระเทพบิดร”

ส่วนที่มุขปรางค์ประธานวัดพุทไธสวรรย์สร้างเป็น “พระพุทธรูปปูนปั้น” ประดิษฐานไว้แทน

ภาพถ่ายเก่าประมาณรัชกาลที่ 5 – 6 แสดงให้เห็นว่าเคยเป็นพระพุทธรูปทรงเครื่องยืน จีวรห่มคลุม พระหัตถ์ขวาประทานอภัยหน้าพระอุระ พระหัตถ์ซ้ายแนบข้างพระวรกาย ใกล้เคียงกับที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงระบุว่า เป็นปางประทานพรด้วยพระหัตถ์ขวา แสดงให้เห็นว่าเครื่องทรงที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน คงปั้นขึ้นใหม่ อาจเพื่อให้รับกับพระเทพบิดรกรุงรัตนโกสินทร์ที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงระบุว่าเป็นพระพุทธรูปทรงเครื่องก็เป็นได้

2. พระเทพบิดรกรุงเก่ามาจากไหน

พระราชพงศาวดารฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพน (พนรัตน์ 2558, 466) ระบุว่า ใน จ.ศ. 1145 หรือตรงกับ พ.ศ. 2326 เมื่อรัชกาลที่ 1 ทรงสถาปนาพระอารามขึ้นในพระราชวัง อันประกอบไปด้วยพระอุโบสถ เจดีย์ วิหาร และศาลารายต่างๆ แล้วนั้น ก็โปรดเกล้าฯ

“ให้อัญเชีญรูปพระเทพบิดร คือสมเดจ์พระเจ้ารามาธิบดีอู่ทอง ซึ่งเปนประถมกระษัตรแรกส้างกรุงเก่า
มาแปลงเปนพระพุทธรูปหุ่มเงีนปิดทอง แล้วประดิษฐานไว้ในพระวิหารนั้น ให้นามว่าหอพระเทพบิดร”
(ทิพากรวงศ์ 2539, 46)

จะเห็นได้ว่าข้อมูลจากทั้ง 2 แหล่งให้รายละเอียดของพระเทพบิดรกรุงเก่าไม่ตรงกัน เพราะในขณะที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงระบุว่าเชิญเทวรูปพระเทพบิดรมาจากวัดพุทไธสวรรย์มาแปลง เป็นพระพุทธรูปเงินทรงเครื่อง แต่พระราชพงศาวดารไม่ได้ระบุว่าเชิญมาจากที่ใด โดยให้ข้อมูลแค่เพียงว่าเป็นพระพุทธรูปหุ้มเงินปิดทอง ไม่ได้ระบุว่าเป็นพระพุทธรูปทรงเครื่อง

กรณีนี้คงต้องยึดข้อมูลจากพระราชพงศาวดารฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ฯ เป็นหลัก เพราะเขียนร่วมสมัยกับเหตุการณ์ซึ่งเกิดขึ้นในรัชกาลที่ 1 ว่าพระเทพบิดร เป็นพระพุทธรูปหุ้มเงินปิดทองที่มาจากกรุงเก่า

พระราชกำหนดใหม่ลำดับที่ 40 ในกฎหมายตราสามดวง (2550, 2: 759) ตราขึ้นเมื่อ จ.ศ. 1147 หรือ พ.ศ. 2328 กล่าวว่าธรรมเนียมกรุงเก่าว่าผู้ถือน้ำพระพัทสัจจาซึ่งคงต้องกระทำในพระราชวังหลวง จะต้องไปถวายบังคมพระเทพบิดรก่อนพระรัตนตรัย สอดคล้องกับคำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม (2555, 28)
ที่ระบุว่าพระบรมรูปสมเด็จพระเจ้าอู่ทองประดิษฐานที่หอพระเทพบิดรภายในพระราชวังหลวงกรุงเก่า
จึงเป็นไปได้ที่รัชกาลที่ 1 น่าจะเชิญพระเทพบิดรกรุงเก่ามาจากพระราชวังหลวงอยุธยา มากกว่าจะเป็นวัดพุทไธสวรรย์

อย่างไรก็ดี ไม่ว่าพระเทพบิดรกรุงเก่าจะเคยประดิษฐาน ณ ที่แห่งใด ก็เป็นที่แน่นอนว่า ทั้งสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ และพระราชพงศาวดารฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ฯ ต่างให้ข้อมูลตรงกันว่าท้ายที่สุดแล้วรัชกาลที่ 1 ก็โปรดเกล้าฯ เชิญพระเทพบิดรมาประดิษฐานยังพระวิหารซึ่งตั้งนามตามพระนามพระพุทธรูปองค์นี้ว่า “หอพระเทพบิดร”

3. พระเทพบิดรกรุงรัตนโกสินทร์เคยประดิษฐานที่ใด

ข้อมูลเกี่ยวกับหอพระเทพบิดรที่ประดิษฐานพระเทพบิดร (ต่อไปนี้จะเรียกว่า “พระเทพบิดรกรุงรัตนโกสินทร์”) ส่วนมากถือตามพระราชวิจารณ์จดหมายเหตุความทรงจำของกรมหลวงนรินทรเทวีของรัชกาลที่ 5 ทรงพระราชนิพนธ์ถึง “หอพระเชษฐบิดร” อันตั้งอยู่ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว) ไว้ดังนี้

“ด้านเหนือของพระมณฑปตรงประตูเหนือนั้น เป็นที่ตั้งหอพระเชษฐบิดรที่เชิญมาแต่กรุงเก่า รูปร่างจะเป็นอย่างไรไม่ปรากฏแต่เรียกกันว่าวิหารขาว ครั้นเมื่อรัชกาลที่ 1 ทรงทำใหม่อย่างเดียวกับวัดพระเชตุพน
จึงเปลี่ยนเรียกว่าวิหารยอด แต่วิหารขาวยังเรียกกันอยู่ก็มีพระเชษฐบิดร ก็ยังคงอยู่ในวิหารยอดจนทุกวันนี้”
(จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว 2501)

สรุปความตามพระราชวิจารณ์ได้ว่า “หอพระเชษฐบิดร” ที่ประดิษฐานพระเทพบิดร หรือพระเชษฐบิดร สร้างขึ้นในรัชกาลที่ 1 บนตำแหน่งเดียวกับวิหารยอดในปัจจุบันเรียกกันสามัญว่า “วิหารขาว” ต่อมารัชกาลที่ 1 โปรดเกล้าฯ ให้รื้อลงอีกแล้วสร้างใหม่เป็นมณฑปยอดมงกุฎแบบเดียวกับหอพระไตรปิฎกวัดพระเชตุพนฯ เรียกว่า “วิหารยอด”

อย่างไรก็ดี พระราชวิจารณ์ดังกล่าวก็ไม่ตรงกับข้อมูลจากจดหมายเหตุการปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดารามของพระศรีภูริปรีชาและนายชำนิโวหาร (ห้องเอกสารตัวเขียน หอสมุดแห่งชาติ จ.ศ. 1196, ไม่มีเลขหน้า) จ.ศ. 1196 หรือ พ.ศ. 2377 ตรงกับรัชกาลที่ 3 ระบุชัดเจนว่าวิหารยอดทรงมงกุฎหรือวิหารยอด สร้างขึ้นในรัชกาลที่ 3 ทั้งยังได้กล่าวถึงรูปร่างหน้าตา รวมไปถึงตำแหน่งที่ตั้งของ “หอพระเชษฐบิดร” ในวัดพระศรีรัตนศาสดารามไว้อย่างชัดเจนด้วยว่า

“หอพระเชษฐบิดรนั้น มีถานบัดบันลังก์ตั้งแทบมุมพระระเบียงเฉลียงทิศภายยัพย ด้านเหนือแห่งพระอาวาศ วัดโดยรีมีกำหนด 13 วา กว้าง 5 วาศอกคืบ พื้นสูง 2 สอกคืบ แต่พื้นขึ้นไปถึงที่สุดฉ้อฟ้า 8 วาคืบฯ มีห้อง 7 ห้อง ด้านสกัดหุ้มกลองข้างปจิมทิศก่อผนังปิดมิให้มีพระทวารฯ มุขบูรพทิศตวันออกนั้น ลดชั้นชุกะชีมีกำแพงแก้ว สูง 2 สอกคืบ 6 นิ้ว… …ซุ้มพระทวารมีถานบัดทรงเครื่อง รับเสาซุ้มจะระนำ ปิดทองล่องกระจกฃาว กระจกเขียว หลังสิงแลท้องอัศดงทรงพ้นล่วงขึ้นไปถึงซุ้มจะระนำ ทรงเครื่องลดชั้น 5 ชั้น ปิดทองล่องกระจกฃาว กระจกเขียว ถึงตัวเหมแลกาบขนุนบัวกลุ่ม ปิดทองล่องกระจกฃาว กระจกเขียว ปลีปลายแลลูกแก้ว ตลอดยอดปิดทอง”
(ห้องเอกสารตัวเขียน หอสมุดแห่งชาติ จ.ศ. 1196, ไม่มีเลขหน้า)

หอพระเชษฐบิดรที่กล่าวถึงข้างต้นทั้งตำแหน่งที่ตั้ง คือ “ทิศพายัพ” หรือทิศตะวันตกเฉียงเหนือของวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ลักษณะทางสถาปัตยกรรม มีขนาด 7 ห้อง ผนังสกัดหลังทึบไม่มีประตู และพระทวารเป็นซุ้มยอดบุษบก ตรงกับตำแหน่งและลักษณะทางสถาปัตยกรรมของ “หอพระนาก” ที่ตั้งอยู่มุมพระระเบียงด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือมากที่สุด จึงเป็นไปได้ที่หอพระนากซึ่งแต่เดิม เคยเชื่อกันว่าสร้างขึ้นเพื่อประดิษฐานพระนาก แท้จริงแล้วคือหอพระเชษฐบิดร หรือหอพระเทพบิดรที่ประดิษฐานพระพุทธรูป พระเทพบิดรกรุงรัตนโกสินทร์มาตั้งแต่แรกสร้างในรัชกาลที่ 1 ส่วนวิหารขาวที่เคยเชื่อว่าเป็นหอพระเทพบิดรเดิมนั้น จะมีจริงหรือไม่ ในที่นี้ยังไม่ปรากฏหลักฐานยืนยันแน่ชัด นอกจากในพระราชวิจารณ์จดหมายเหตุฯ ของรัชกาลที่ 5

4. พระเทพบิดรกรุงรัตนโกสินทร์ย้ายไปประดิษฐานที่ไหน

น่าเสียดายที่จดหมายเหตุการณ์ปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดารามซึ่งให้รายละเอียดของพระพุทธรูป
ที่ประดิษฐานในหอพระเทพบิดรหรือหอพระนากในปัจจุบันไว้ค่อนข้างมาก ทั้ง “พระใหญ่ห้ามสมุทสายยูยุดติดผนังสูง 6 สอก แท่นรอง 2 สอก” ต่อมาเชิญไปประดิษฐาน ในวิหารยอดและถูกเข้าใจผิดว่าเป็น “พระนาก” ซึ่งจดหมายเหตุฯ ระบุว่า “พระนาคสมาธิเปนพระประทาน สูง 2 ศอก แท่นสูง 2 ศอกคืบ”ไม่ได้กล่าวถึงพระเทพบิดรกรุงรัตนโกสินทร์อย่างชัดเจน แต่กล่าวรวมไปกับพระพุทธรูปยืนปางห้ามสมุทร จำนวน 10 องค์แทน (ห้องเอกสารตัวเขียน หอสมุดแห่งชาติ จ.ศ. 1196, ไม่มีเลขหน้า)

แสดงให้เห็นว่าพระเทพบิดรกรุงรัตนโกสินทร์ ได้ลดความสำคัญลงและถูกแทนที่ด้วยพระนาก ซึ่งจดหมายเหตุในรัชกาลที่ 3 ระบุว่าพระนาก ได้กลายเป็นพระประธานของหอพระเทพบิดรแล้ว และในที่สุดก็กลายเป็นชื่อหอพระนากแทนหอพระเทพบิดรไปในสมัยรัชกาลที่ 5 ดังปรากฏในหนังสือ พระราชพิธีสิบสองเดือนว่า

“หอพระนาคนั้นแต่เดิมเป็นที่ไว้พระพุทธรูปต่างๆ หลายสิบองค์ หุ้มทองบ้างหุ้มเงินบ้างหุ้มนาคบ้าง ทั้งรูปพระเชษฐบิดร คือรูปสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 ซึ่งสร้างกรุงทวารวดีศรีอยุธยาโบราณ ที่แปลงเป็นพระพุทธรูปเสียแล้วนั้นก็ประดิษฐานอยู่ด้วย…ในครั้งเมื่อทรงปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดารามครั้งนี้ โปรดให้อัญเชิญพระพุทธรูปทั้งปวงนั้นขึ้นไปไว้เสียบนพระวิหารยอด จัดหอพระนาคไว้เป็นที่เก็บพระอัฐิเจ้านายอย่างเดียวพระอัฐิเจ้านาย ซึ่งไปอยู่ในหอพระนาคนั้น เก็บอยู่ในผนังข้างหลังพระวิหาร”
(จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว 2542, 306)

พระราชนิพนธ์ของรัชกาลที่ 5 ข้างต้นยืนยันว่า พระเทพบิดรกรุงรัตนโกสินทร์เคยประดิษฐาน ในหอพระนากมาก่อน จนกระทั่งเมื่อมีการปฏิสังขรณ์ใหญ่วัดพระศรีรัตนศาสดารามคราวฉลองสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 100 ปี ราว พ.ศ. 2424 – 2425 จึงได้เชิญพระพุทธรูปทั้งหมดในหอพระเทพบิดรซึ่งน่าจะรวมไปถึง พระเทพบิดรกรุงรัตนโกสินทร์ไปประดิษฐานในวิหารยอดด้วยกันทั้งหมด และใช้หอพระนากเป็นที่ประดิษฐานพระบรมอัฐิ และพระอัฐิเจ้านายในพระราชวงศ์จักรี แทนนับแต่นั้นจนถึงปัจจุบัน

ดังนั้น พระเทพบิดรกรุงรัตนโกสินทร์ที่ยุบแปลงจากพระเทพบิดรกรุงเก่าที่เชื่อกันว่าเป็นรูปพระเจ้าอู่ทอง
หากไม่ได้รับเชิญไปประดิษฐานที่อื่น ก็น่าจะอยู่ในวิหารยอดนั่นเอง

5. พระเทพบิดรกรุงรัตนโกสินทร์มีพุทธลักษณะเช่นไร

หนังสือพระพุทธปฏิมาในพระบรมมหาราชวัง เรียงเรียงโดย ม.ร.ว. สุริยวุฒิ สุขสวัสดิ์ แสดงภาพพระพุทธรูปยืนประทานอภัยสองพระหัตถ์ หรือปางห้ามสมุทร 3 องค์ที่ประดิษฐานในท้ายจระนำ ของปราสาทพระเทพบิดร เป็นพระพุทธรูปทรงครองจีวรห่มคลุม 1 องค์ พระพุทธรูปทรงเครื่องแบบจีวรห่มเฉียง 1 องค์ และพระพุทธรูปทรงครองจีวรห่มเฉียง 1 องค์ โดยเสนอว่าไม่องค์ใดก็องค์หนึ่งอาจได้แก่พระเทพบิดรกรุงรัตนโกสินทร์นั้น (สุริยวุฒิ 2535, 71 – 88)

อย่างไรก็ดี หากยึดตามพระราชพงศาวดารฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ฯ ที่ระบุว่าพระเทพบิดร เป็นพระพุทธรูปหุ้มเงินปิดทอง แท่นสูง 2 ศอกคืบ พระพุทธรูปทั้ง 3 องค์นี้ที่เป็นพระพุทธรูปหุ้มทองแต่ถูกรักดำทาไว้เพื่อความปลอดภัย โดยเฉพาะองค์ที่ทรงครองจีวรห่มเฉียงเป็นรูปแบบที่เพิ่งมีขึ้นในพระพุทธเพชรรัตน์ และพระพุทธเนาวรัตน์ในหอพระสุลาลัยพิมาน ซึ่งเป็นพระพุทธรูปทรงเครื่องฉลองพระองค์ ที่รัชกาลที่ 1 ทรงสร้างเมื่อปลายรัชกาล ขณะที่หลักฐานร่วมสมัยให้ข้อมูลว่า พระเทพบิดรกรุงรัตนโกสินทร์ซ่อมแปลงใหม่ เมื่อต้นรัชกาลราว พ.ศ. 2326 – 2328

ปัจจุบันพระพุทธรูปทั้ง 3 องค์ได้รับการปฏิสังขรณ์ใหม่และประดิษฐานในซุ้มพระวิมานซึ่งเคยเป็นที่ ประดิษฐานพระบรมอัฐิสมเด็จกรมพระราชวังบวรสถานมงคล พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว
กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ และกรมพระราชวังบวรสถานภิมุขมาตั้งแต่ พ.ศ. 2461 ในรัชกาลที่ 6 ภายใน “พระวิหารพระธาตุ” (ราชกิจจานุเบกษา 2461, ออนไลน์)

ซึ่งเปลี่ยนมาเรียกว่า “ท้ายจระนำปราสาทพระเทพบิดร” เมื่อ พ.ศ. 2474 ในรัชกาลที่ 7 ภายหลังเชิญพระบรมอัฐิทั้งหมดไปประดิษฐานที่หอพระนาก แทน (ราชกิจจานุเบกษา 2474, ออนไลน์)

ด้วยเหตุนี้ พระวิมานที่ท้ายจระนำของปราสาทพระเทพบิดร จึงสร้างขึ้นในรัชกาลที่ 6 เพื่อประดิษฐานพระบรมอัฐิของวังหน้า จากที่เคยเชื่อกันว่าเป็นที่ประดิษฐาน พระเทพบิดรกรุงรัตนโกสินทร์

ในที่นี้เห็นว่าถ้าถือตามที่รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้เชิญพระพุทธรูปจากหอพระเทพบิดรหรือหอพระนากไปประดิษฐานในวิหารยอด และหากพระเทพบิดรยังคงประดิษฐานที่วิหารยอด ไม่ได้ถูกเชิญไปที่ใด ก็มีความเป็นไปได้ที่พระพุทธรูปยืนหุ้มเงินองค์หนึ่งในวิหารยอด น่าจะได้แก่พระเทพบิดรกรุงรัตนโกสินทร์

พระพุทธรูปองค์นี้มีความสูงเฉพาะองค์ราว 95 ซม. เป็นพระพุทธรูปประทานอภัยสองพระหัตถ์ หรือปางห้ามสมุทร ทรงครองจีวรห่มคลุม พระอุษณีษะและพระเกตุมาลาหายไป ทรงยืนบนฐานสิงห์กลมรองรับบัวคลุ่ม ลักษณะของพระพักตร์ทั้งพระขนงโก่งต่อกันรับกับพระนาสิก พระเนตรเรียวยาว

ใกล้เคียงกับพระพักตร์ของพระชัยวัฒน์ ประจำรัชกาลที่ 1 ซึ่งทรงสร้างขึ้นสำหรับพระราชพิธีปราบดาภิเษก พ.ศ. 2325 ก่อนหน้าพระเทพบิดรกรุงรัตนโกสินทร์ราว 1 – 3 ปี สอดคล้องกับหน้ากระดานฐานสิงห์เรียบเกลี้ยง ไม่มีลวดลาย แบบที่นิยมในรัชกาลที่ 1 จึงเป็นไปได้ที่พระพุทธรูปองค์นี้ น่าจะได้แก่พระเทพบิดรกรุงรัตนโกสินทร์ที่ตามหากัน

บรรณานุกรม
1. กฎหมายตราสามดวง ฉบับราชบัณฑิตยสถาน. 2550. 2 เล่ม.กรุงเทพฯ: ราชบัณฑิตยสถาน

2. คำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม เอกสารจากหอหลวง. 2555. พิมพ์ครั้งที่ 2 กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.

3. จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ. 2501. พระราชวิจารณ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เรื่องจดหมายความทรงจำของกรมหลวงนรินทรเทวี. พระนคร: กรมศิลปากร. (พิมพ์แจกเป็นอนุสรณ์
ในงานพระราชทานเพลิงพระศพ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงทิพยรัตนกิริฏกุลินี วันที่ 26 ตุลาคม
พุทธศักราช 2501).

4. จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ. 2542. พระราชพิธีสิบสองเดือน. พิมพ์ครั้งที่ 18. กรุงเทพฯ:
บรรณาคาร.

5. ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จฯ กรมพระยา. 2516. “คำอธิบายจดหมายเหตุเรื่องทรงปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดารามในสมัยรัชกาลที่ 3.” ใน ปาฐกถาเรื่องสงวนรักษาของโบราณ จดหมายเหตุการณ์ปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดารามและการซ่อมภาพผนังเรื่องรามเกียรติ์ที่วัดพระศรีรัตนศาสดารามในการสมโภชพระนครครบร้อยปี พ.ศ. 2425. พิมพ์ครั้งที่ 4. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร. (พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ
นายเล็ก ณ สงขลา 29 เมษายน 2516).

6. ทิพากรวงศ์, เจ้าพระยา. 2539. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์รัชกาลที่ 1 ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์
ฉบับตัวเขียน. ประชุมพงศาวดารฉบับราษฎร์ภาคที่ 1. กรุงเทพฯ: อมรินทร์วิชาการ.

7. พิริยะ ไกรฤกษ์. 2552. ลักษณะไทย 1 พระพุทธปฏิมา อัตลักษณ์พุทธศิลป์ไทย. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ:
อมรินทร์. http://www.laksanathai.com/book1/p419.aspx

8. ราชกิจจานุเบกษา. 2461. “พระราชพิธีเชิญพระบรมรูปจากพระที่นั่งศิวาไลยมหาปราสาท
ประดิษฐานยังปราสาทพระเทพบิดร พระพุทธศักราช 2461.” http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2461/D/116.PDF (สืบค้นเมื่อ 15 มีนาคม 2560).

9. ราชกิจจานุเบกษา. 2474. “หมายกำหนดการ ที่ 16/2474 พระราชพิธีตรุษสงกรานต์และพระราชพิธี
ถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา พุทธศักราช 2474-5.” http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2474/D/5100.PDF (สืบค้นเมื่อ 15 มีนาคม 2560).

10. สุริยวุฒิ สุขสวัสดิ์, ม.ร.ว. 2535. พระพุทธปฏิมาในพระบรมมหาราชวัง. กรุงเทพฯ: อมรินทร์.
(สำนักราชเลขาธิการจัดพิมพ์เนื่องในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษา 5 รอบ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ วันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2535).

11. ห้องเอกสารตัวเขียน หอสมุดแห่งชาติ. จ.ศ. 1196. บัญชีที่ซึ่งปฏิสังขรณ์ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม.
จดหมายเหตุรัชกาลที่ 1. เลขที่ 6.

(บทความเรื่องนี้มาจาก เพจห้องเรียนประวัติศาสตร์ศิลป์

https://www.facebook.com/ArtHistoryClassroom/?fref=ts)

The post “สืบหา ‘พระเทพบิดรกรุงรัตนโกสินทร์’ รูปพระเจ้าอู่ทองที่ถูกแปลงให้เป็นพระพุทธรูป” appeared first on Thailand News.