ติดตามผ่านช่อง : Siammongkol Youtube Channel

“ปากยม” เมืองของคนรูปหล่อ จุดยุทธศาสตร์ในสงครามล้านนา-อยุธยา ตั้งอยู่ที่ใด?

“ปากยม” เมืองของคนรูปหล่อ จุดยุทธศาสตร์ในสงครามล้านนา-อยุธยา ตั้งอยู่ที่ใด?

ในสงครามความขัดแย้งระหว่างอาณาจักรอยุธยาในรัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ กับอาณาจักรล้านนาในรัชสมัยพระเจ้าติโลกราช ช่วงหนึ่งที่พระเจ้าติโลกราชยกกองทัพลงมาพิชิตเมืองสองแคว (พิษณุโลก) ไว้ในครอบครองแล้ว ยังได้ยกทัพลงมาเอา “เมืองปากยม” ที่อยู่ทางใต้ของเมืองสองแควอีกเมืองหนึ่ง

“เมืองปากยม” ตั้งบนจุดยุทธศาสตร์สำคัญบนเส้นทางคมนาคมที่เชื่อมแม่น้ำน่านกับแม่น้ำยม และเป็นด้านหน้าป้องกันการโจมตีของกองทัพอยุธยาที่จะยกกองทัพขึ้นมาจากทิศใต้ “เมืองปากยม” นี้ตั้งอยู่ที่ใด?

จากการศึกษาของ พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ ในบทความ “ปากยม เมืองของคนรูปหล่อ” (ศิลปวัฒนธรรม ฉบับมกราคม 2540) พบจุดที่น่าจะเป็นที่ตั้งของเมือง “เมืองปากยม” ถึง 7 แห่ง จนเมื่อศึกษาจากแผนที่ ลักษณะภูมิศาสตร์ของแม่น้ำยม แม่น้ำน่าน ภูมิศาสตร์การสงคราม และหลักฐานทางโบราณคดี จึงได้ข้อสรุปที่ตั้งของ “เมืองปากยม” บทความมีรายละเอียดดังนี้

ภาพประกอบเนื้อหา – แม่น้ำน่าน บริเวณจังหวัดพิษณุโลก ถ่ายเมื่อราว ค.ศ. 1952-04 (ภาพจาก University of Wisconsin-Milwaukee Libraries)

เอกสารทางประวัติศาสตร์ที่เป็นศิลาจารึกพบที่เมืองสุโขทัย คือจารึกหลักที่ 38 “ศิลาจารึกกฎหมายลักษณะโจร” ซึ่งทำขึ้นเมื่อ พ.ศ. 1940 มีกล่าวถึงเมือง ๆ หนึ่งชื่อ เมืองปากยม ในเอกสารของล้านนา เช่น ตำนานสิบห้าราชวงศ์ ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ หรือที่รวบรวมอยู่ในหนังสือพงศาวดารโยนก เป็นต้น เล่าเรื่องเกี่ยวกับเมืองปากยมว่า เมื่อ พ.ศ. 1994 พระยายุธิษฐิระเจ้าเมืองสองแคว หรือพิษณุโลก เกิดผิดใจกับพระญาติคือสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถแห่งกรุงศรีอยุธยา จึงบอกไปยังพระเจ้าติโลกราชแห่งล้านนา ให้ยกทัพลงมากันเอาเมืองสองแควเข้าไว้ในขอบเขตของแคว้นล้านนาเสีย

พระเจ้าติโลกราชได้ยกทัพลงมาตามเส้นทางแม่น้ำน่าน ยึดได้เมืองตามรายทางมาจนถึงเมืองสองแคว พระยายุธิษฐิระได้ชักชวนพระเจ้าติโลกราชให้ลงไปเอาเมืองปากยมที่อยู่ทางใต้เมืองสองแคว พระเจ้าติโลกราชจึงยกทัพลงไปยึดเมืองปากยมได้จับตัวเจ้าเมืองไว้ ปรากฏว่าเจ้าเมืองปากยมผู้นี้เป็นหนุ่มรูปหล่อ พระเจ้าติโลกราชจึงไม่ยอมฆ่าแต่จะเลี้ยงไว้ พระยายุธิษฐิระไม่ยอมและยื่นคำขาดว่า หากไม่ยอมฆ่าเจ้าเมืองปากยมก็ให้ฆ่าพระยายุธิษฐิระเสีย พระเจ้าติโลกราชจึงได้ยอมฆ่าเจ้าเมืองรูปหล่อ

เมื่อยึดเมืองปากยมได้แล้ว หมื่นด้ง ทหารเอกของพระเจ้าติโลกราชรับอาสาไปตีเมืองเชลียงหรือศรีสัชนาลัย แต่ในพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์กล่าวว่าจะยกไปตีเมืองสุโขทัย เอกสารของล้านนากล่าวว่ากองทัพของหมื่นด้ง “แห่เข้ามาถึงน้ำลืม” ซึ่งพระยาประชากิจกรจักร์ (แช่ม บุนนาค) ได้ทำเชิงอรรถอธิบายไว้ในหนังสือพงศาวดารโยนกของท่านว่าหมายถึงน้ำรึม ซึ่งห่างจากเมืองกำแพงเพชรประมาณ 200 เส้น (8 กิโลเมตร) มีตำบลบ้านชื่อบ้านน้ำรึมอยู่ หมื่นด้งค้างคืนอยู่ที่นั่น ตกกลางคืนชาวเมืองลอบโจมตีแตกทัพกลับมาที่เมืองสองแคว

ชื่อของเมืองปากยมและเรื่องราวที่เกี่ยวข้องดังที่ยกขึ้นมากล่าวนี้ แสดงว่าเมืองปากยมต้องตั้งอยู่ที่ปากแม่น้ำยมที่ไหลมาออกแม่น้ำน่าน เพราะตามเรื่องนั้นแสดงว่าพระเจ้าติโลกราชยกทัพจากเมืองสองแควลงมาตามแม่น้ำน่าน เมื่อยึดเมืองปากยมได้แล้ว การที่ตำนานของล้านนากล่าวว่าหมื่นด้งยกทัพจะไปตีเมืองเชลียงและพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์กล่าวว่าหมื่นด้งจะยกไปตีเมืองสุโขทัยนั้น ถูกต้องตามสภาพภูมิศาสตร์ทั้งสองฉบับ เพราะเรื่องตอนนี้แสดงว่า หมื่นด้งได้ยกทัพทวนขึ้นไปตามเส้นทางแม่น้ำยม ซึ่งจะไปได้ทั้งเมืองสุโขทัยและเมืองเชลียงหรือศรีสัชนาลัย เพราะเมืองทั้งสองตั้งอยู่บนฝั่งของแม่น้ำยมเหมือนกัน

แต่ที่เอกสารของล้านนากล่าวว่า กองทัพของหมื่นด้ง “แห่เข้ามาถึงน้ำลืม” ซึ่งพระยาประชากิจกรจักร์อธิบายว่าอยู่แถบเมืองกำแพงเพชรนั้น เป็นเรื่องที่จะได้อธิบายในบทความนี้ต่อไปด้วย โดยบทความนี้มีวัตถุประสงค์ที่จะอธิบายตำแหน่งที่ตั้งของเมืองปากยม จากการพิจารณาสภาพภูมิประเทศและการเปลี่ยนแปลงของภูมิประเทศบริเวณแถบนั้น เพราะเห็นว่า หากมีการเข้าใจสภาพภูมิประเทศบริเวณดังกล่าวได้ ก็จะสามารถทำความเข้าใจเรื่องราวที่กล่าวอยู่ในเอกสารโบราณ ทั้งของล้านนาและที่เป็นพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาได้ง่ายขึ้น

ปัจจุบัน แม่น้ำยมพบกับแม่น้ำน่านในเขตท้องที่อำเภอชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์ แต่บริเวณแถบนั้นก็ไม่มีร่องรอยอันจะเป็นหลักฐานได้ว่าเคยเป็นบ้านเมืองในสมัยโบราณเมื่อสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้นมาก่อน ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร มีความเห็นว่า เมืองปากยมควรอยู่ในเขตท้องที่ตำบลบางคลานหรือวังคลาน อำเภอโพทะเล จังหวัดพิจิตร ซึ่งอยู่เหนือขึ้นมาถัดจากเขตท้องที่อำเภอชุมแสง เพราะตรงที่นั้นเป็นที่ที่แม่น้ำยมพบกับแม่น้ำน่านอีกแห่งหนึ่ง แต่เป็นแม่น้ำน่านสายเดิม มิใช่แม่น้ำน่านสายปัจจุบันซึ่งเปลี่ยนทางเดินในสมัยรัชกาลที่ 5 นี้เอง

แผนที่แผ่นที่ 1 ที่นำมาลงด้วยนี้ ทำขึ้นจากแผนที่ของกรมแผนที่ทหาร มาตราส่วน 1 : 250,000 ลำดับชุด 1501 S ระวาง NE 47-15 และ ND 47-3 แสดงเส้นทางแม่น้ำน่านสายปัจจุบันเมื่อผ่านเมืองพิษณุโลกลงมาทางทิศใต้แล้ว ถึงบริเวณบ้านย่านยาว ท้องที่อำเภอบางกระทุ่ม ซึ่งเป็นอำเภอใต้สุดของจังหวัดพิษณุโลก จะเห็นแม่น้ำยมที่ไหลมาจากเมืองสุโขทัยทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือเข้ามาใกล้แม่น้ำน่านมากที่สุด โดยจะอยู่ห่างจากแม่น้ำน่านประมาณ 2-3 กิโลเมตรใต้จากนั้นลงมาถึงบริเวณท้องที่อำเภอสามง่าม อำเภอเหนือสุดของจังหวัดพิจิตร แม่น้ำน่านจะหักข้อศอกไหลไปทางทิศตะวันออกประมาณ 5-6 กิโลเมตร หลังจากนั้นจึงจะหักลงใต้อีกครั้ง ผ่านตัวจังหวัดพิจิตรล่องใต้ไปพบกับแม่น้ำยมที่อำเภอชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์

แผนที่แผ่นที่ 1 แสดงทางน้ำเชื่อมต่อระหว่างแม่น้ำยมและแม่น้ำน่าน (ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม ฉบับมกราคม 2540))

ตรงบริเวณอำเภอสามง่าม จังหวัดพิจิตร ที่แม่น้ำน่านไหลหักข้อศอกไปทางทิศตะวันออกนั้น คือจุดที่แม่น้ำน่านเปลี่ยนทิศทางเดินไปจากเดิม แต่เดิมจะไหลตรงลงทางทิศใต้ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเล่าไว้ในเรื่องเที่ยวเมืองพระร่วงว่า สมัยที่พระองค์เสด็จไปถึงที่นั้นเป็น พ.ศ. 2451 เป็นปลายรัชกาลที่ 5 ทรงเล่าว่าก่อนหน้านี้ประมาณ 45 ปี พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสเมืองพิจิตรโบราณซึ่งตั้งอยู่บนฝั่งของแม่น้ำน่านสายเก่านี้ พระองค์เสด็จโดยเรือกลไฟชื่ออรรคราชวรเดช ได้ขึ้นมาตามลำแม่น้ำน่านสายเก่าจนถึงเมืองพิจิตรโบราณนี้ได้ แต่สมัยที่สมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จมาครั้งนี้นั้น เป็นเวลาที่แม่น้ำน่านเปลี่ยนทางเดินแล้ว แม่น้ำน่านสายเดิมได้ตื้นเขินจนไม่สามารถใช้เป็นเส้นทางคมนาคมได้ ปากแม่น้ำก็อุดตัน แต่ยังเห็นเป็นร่องลึกอยู่โดยที่บางตอนก็มีน้ำขังอยู่เหมือนเป็นสระยาวเป็นตอน ๆ ไป

แม่น้ำน่านสายเก่าปัจจุบันเรียกกันว่า แม่น้ำเมืองเก่า เพราะไหลผ่านเมืองพิจิตรโบราณ ที่ตั้งอยู่ริมฝั่งฟากตะวันออก บางตอนก็เรียกชื่อว่าแม่น้ำพิจิตร เป็นทางน้ำที่อยู่ตรงกลางระหว่างแม่น้ำยมที่ขนานอยู่ทางทิศตะวันตกมีระยะห่างกันประมาณ 5-6 กิโลเมตร ในขณะที่ทางด้านทิศตะวันออกจะเป็นแม่น้ำน่านสายปัจจุบันที่ไหลคู่ขนานมีระยะห่างกันประมาณ 10-15 กิโลเมตร ในที่สุดเส้นทางแม่น้ำน่านสายเดิมนี้ก็จะบรรจบกับแม่น้ำยมที่ตำบลบางคลานหรือวังคลาน อำเภอโพทะเล จังหวัดพิจิตร และที่นี้เองที่ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร มีความเห็นว่าควรเป็นที่ตั้งของเมืองปากยม ทั้งนี้เป็นการพิจารณาจากสภาพทางภูมิศาสตร์ที่แม่น้ำยมพบกับแม่น้ำน่านแต่เดิม

บริเวณบ้านวังคลานที่แม่น้ำสองสายมาพบกันนั้น ไม่พบร่องรอยของคูเมืองกำแพงเมืองอันเป็นเครื่องหมายแสดงว่าเคยเป็นบ้านเมืองมาก่อนแต่อย่างใด แต่กระนั้นจากการสำรวจของรองศาสตราจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม แห่งมหาวิทยาลัยศิลปากรได้รายงานว่า บริเวณดังกล่าวที่อยู่ในเขตท้องที่อำเภอโพทะเล ได้พบหลักฐานที่เป็นเศษเครื่องปั้นดินเผาเคลือบหรือเครื่องสังคโลก มีปริมาณที่ทำให้เชื่อได้ว่า บริเวณนั้นเคยเป็นที่อยู่ของผู้คนมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยแล้ว ดังนั้นก็เป็นไปได้ว่า เมืองปากยมอาจอยู่ที่บริเวณนั้นจริง ๆ โดยเป็นชุมชนใหญ่ที่มิได้ขุดคูเมืองสร้างกำแพง แต่อาศัยสภาพภูมิประเทศที่เอื้ออำนวยเป็นปราการป้องกันภัยตามธรรมชาติก็ได้

แต่เมื่อพิจารณาว่า จากเมืองสองแควหรือพิษณุโลก เมื่อพระเจ้าติโลกราชยกทัพไปตีเมืองปากยมซึ่งหากจะตั้งอยู่บริเวณบ้านวังคลาน อำเภอโพทะเลจริง ๆ ก็ต้องผ่านเมืองพิจิตร แต่เหตุใดจึงมิได้มีการกล่าวถึงเมืองพิจิตรในเอกสารทางประวัติศาสตร์ตอนนี้เลย

เมืองพิจิตรตั้งอยู่ริมแม่น้ำน่านสายเดิมฝั่งตะวันออก ก่อสร้างมีกำแพงก่ออิฐแข็งแรง เป็นเมืองที่มีมาแล้วตั้งแต่รัชกาลสมเด็จพระนครินทราชาธิราชแห่งกรุงศรีอยุธยา ก่อนหน้าที่จะมีศึกล้านนาในครั้งนี้ หลักฐานทางประวัติศาสตร์คือลานทองคำพบที่วัดมหาธาตุ เมืองพิจิตร ก็เป็นพระสุพรรณบัฏจากกรุงศรีอยุธยาแต่งตั้งสมณศักดิ์ที่เมืองพิจิตร ลักษณะของการสร้างเมืองที่ทำป้อมเป็นเกาะลอยอยู่กลางคูเมือง เป็นลักษณะของป้อมที่มีการก่อสร้างที่เมืองสุพรรณบุรี การเลือกทำเลที่ตั้งเมืองบนที่แบนราบริมฝั่งแม่น้ำ และการชลประทานนำน้ำจากแม่น้ำสายหลัก คือแม่น้ำน่านเพื่อนำมาหล่อเลี้ยงดูเมืองและเพื่อการเกษตรกรรมของเมือง ก็เป็นวิธีการเดียวกันกับบ้านเมืองในที่ราบลุ่มแม่น้ำภาคกลาง มิใช่เมืองที่มีการก่อสร้างตามลักษณะอันเป็นคตินิยมของเมืองในแคว้นสุโขทัย กล่าวคือ เป็นเมืองที่จัดตั้งขึ้นโดยอำนาจจากกรุงศรีอยุธยาอย่างแน่นอน

การที่บรรยายเกี่ยวกับเมืองพิจิตรให้ทราบในตอนนี้ก็เพื่อแสดงว่า ในช่วงเวลาที่เกิดศึกกับพระเจ้าติโลกราชโดยความร่วมมือจากพระยายุธิษฐิระ ผู้เป็นเชื้อพระวงศ์สายหนึ่งของราชวงศ์สุโขทัยนั้น เมืองพิจิตรเป็นหัวเมืองที่อยู่ในเครือข่ายของกรุงศรีอยุธยาอย่างแท้จริง และมีลักษณะของการก่อสร้างเมืองที่มั่นคงแข็งแรง เหตุไฉนจึงปล่อยให้กองทัพล้านนายกผ่านไปยังเมืองปากยมที่ตั้งอยู่ที่ตำบลวังคลานใต้ลงไปได้อย่างง่าย ๆ รวมทั้งปล่อยให้มีการยกกองทัพทวนเส้นทางแม่น้ำยมขึ้นเหนือ ซึ่งจะต้องผ่านเมืองพิจิตรในรัศมีประมาณ 5-6 กิโลเมตรได้โดยมิเข้าขัดขวาง

หรือจะเป็นเพราะว่า เมืองปากยมมิได้ตั้งอยู่ที่ตำบลวังคลาน อำเภอโพทะเล จังหวัดพิจิตร อย่างที่เข้าใจกัน ควรลองพิจารณากันใหม่อีกครั้ง

จากแผนที่แผ่นที่ 1 ซึ่งคัดลอกมาจากแผนที่ของกรมแผนที่ทหารจะเห็นว่า ตั้งแต่เหนือบ้านวังคลานขึ้นไประหว่างแม่น้ำน่านสายเดิมกับแม่น้ำยม มีทางน้ำเชื่อมแม่น้ำทั้งสองสายให้ติดต่อกันอย่างชัดเจน 2 เส้นทาง คือ เหนืออำเภอโพทะเลขึ้นไปประมาณ 15 กิโลเมตร เป็นทางน้ำที่แทงจากแม่น้ำยมลงมาหาแม่น้ำน่านสายเดิม ตำแหน่งบนแม่น้ำน่านสายเดิมที่แม่น้ำยมแทงมาพบนั้นมีลักษณะทางภูมิประเทศที่เรียกว่า ปากยม ได้ ถ้าหากทางน้ำที่แทงทะลุออกมานั้นเดิมเป็นทางน้ำสายหลักของแม่น้ำยม และภายหลังเปลี่ยนทางเดินเป็นเส้นตรงลงใต้ตามเส้นแม่น้ำยมในปัจจุบัน

เหนือขึ้นไปอีกประมาณ 20 กิโลเมตรใต้เมืองพิจิตรเก่าเล็กน้อย จะเห็นทางน้ำจากแม่น้ำน่านสายเดิมแทงมาบรรจบกับแม่น้ำยม ลักษณะเช่นนี้หากแต่เดิมทางน้ำที่แทงมาเชื่อมนี้เป็นเส้นทางหลักของแม่น้ำน่านสายเดิม ก่อนที่แม่น้ำน่านสายเดิมจะเปลี่ยนทางเดินตรงลงไปทางทิศใต้ต่อไป บริเวณที่ทางน้ำจากแม่น้ำน่านแทงมาพบแม่น้ำยมนั้นก็จะมีคำเรียกตามสภาพภูมิประเทศว่าปากยมด้วย

ที่แม่น้ำยมในแนวระดับเดียวกันกับเมืองพิจิตรเก่า มีทางน้ำที่มีทิศทางว่าแทงมาจากแม่น้ำน่านสายเดิม แต่ต่อมาในอดีตแม่น้ำน่านสายเดิมได้เปลี่ยนทิศทางตรงลงใต้ ทำให้ปลายข้างหนึ่งของทางน้ำนี้ไม่ต่อกับแม่น้ำน่านสายเดิม แต่ลักษณะของทิศทางของทางน้ำนี้จะเกิดจากแม่น้ำยมไม่ได้ เพราะแม่น้ำยมย่อมไม่แทงย้อนขึ้นเหนือเป็นมุมแหลมเช่นนี้ ทางน้ำที่มีลักษณะปลายข้างหนึ่งไม่ต่อกับแม่น้ำน่าน แต่ปลายข้างหนึ่งแทงมาพบแม่น้ำยมเช่นนี้ ตั้งแต่แนวระดับเดียวกับเมืองพิจิตรเก่าขึ้นเหนือไปถึงอำเภอสามง่าม พบว่ามีถึง 3 ตำแหน่ง ทางน้ำทั้งสามสายนี้ในอดีตขณะที่มีน้ำไหลอยู่อย่างสมบูรณ์และเคยเป็นทางน้ำหลักของแม่น้ำน่านสายเดิม ทั้งสามตำแหน่งนี้จะมีชื่อเรียกตามลักษณะของภูมิประเทศว่า ปากยม ได้ทั้งสิ้น

มาถึงตอนนี้จะเห็นว่า การหาเมืองปากยมโดยพิจารณาจากคำเรียกตามสภาพภูมิประเทศแต่เพียงอย่างเดียวมิใช่ของง่ายอีกต่อไป ดังนั้น ผู้เขียนจึงได้ทำเครื่องหมายกากบาทลงบนแผนที่แผ่นที่ 1 บนตำแหน่งของบริเวณที่อาจเป็นปากยมตามคำเรียกจากสภาพภูมิประเทศ ซึ่งตั้งแต่อำเภอโพทะเลขึ้นไปถึงอำเภอสามง่าม ผู้เขียนสามารถกากบาทลงไปได้ถึง 5 ตำแหน่ง

แต่เมื่อพิจารณาเรื่องทางประวัติศาสตร์ที่ผู้เขียนยังมีความเห็นว่า แม้จะถือเป็นหลักฐานไม่ได้ว่า การที่เมืองพิจิตรมิได้มีบทบาทในการขัดขวางการรุกรานเมืองปากยมจากพระเจ้าติโลกราช เพราะไม่มีเอกสารกล่าวถึง แต่ก็มีเหตุผลที่น่าคิดว่า เมืองปากยมน่าจะอยู่เหนือเมืองพิจิตรขึ้นไปห่าง ๆ สักหน่อยจนพ้นเขตอิทธิพล มิใช่อยู่ใกล้กันกับเหตุการณ์แค่ปลายจมูกดังที่ได้ตั้งเป็นข้อสงสัยไว้ และในเมื่อความเห็นเกี่ยวกับเมืองปากยมว่าอยู่ที่บ้านบางคลานหรือวังคลาน มิได้มีอะไรมากไปกว่าที่กล่าวมาแล้ว ด้วยเหตุนี้ จึงจำเป็นที่จะต้องคลำหาเมืองปากยมเหนือขึ้นไปอีก โดยพิจารณาจากสภาพภูมิประเทศเป็นหลักก่อน หลังจากนั้นจึงจะหาหลักฐานอย่างอื่นมาประกอบเพิ่มเติม แผนที่แผ่นที่ 2 ถ่ายสำเนาขยายมาจากแผนที่ของพระวิภาคภูวดล (เจมส์ ฟิตซรอย แม็คคาร์ธี) ซึ่งรัฐบาลสยามได้ช่วยออกเงินจัดพิมพ์ขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2443 ในสมัยรัชกาลที่ 5 บริเวณใต้เมืองพิษณุโลกลงมาผู้เขียนได้ทำวงกลมไว้ในสำเนาแผนที่ จะเห็นมีเส้นทางน้ำแทงจากแม่น้ำยมมาออกแม่น้ำน่าน เส้นทางน้ำสายนี้ไม่ปรากฏในแผนที่แผ่นที่ 1 ซึ่งเป็นแผนที่ปัจจุบัน บริเวณที่มีทางน้ำจากแม่น้ำยมมาเชื่อมแม่น้ำน่านนี้จะอยู่ตรงส่วนที่แม่น้ำยมกับแม่น้ำน่านไหลมาใกล้ชิดกันมากที่สุด

แผนที่แผ่นที่ 2 สำเนาขยายมาจากแผนที่ของแม็คคาร์ธี แสดงทางน้ำจากแม่น้ำยมพบแม่น้ำน่าน (ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม ฉบับมกราคม 2540))

แม่น้ำน่านในแผนที่ของแม็คคาร์ธีนี้เป็นแม่น้ำน่านสายปัจจุบัน ไม่มีการลงเส้นแม่น้ำน่านสายเดิมเอาไว้ ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบรูปร่างของแม่น้ำยมและน่านในแผนที่ของแม็คคาร์ธีตอนนี้ กับรูปร่างของแม่น้ำยมกับน่านในช่วงระหว่างเมืองพิษณุโลกกับตอนที่อยู่ในระดับเดียวกับเมืองพิจิตรเก่า-ใหม่แล้วจะเห็นว่า มีรูปร่างที่เหมือนกันมาก ทำให้สามารถทราบได้ไม่ยากนักว่า ตรงที่แม่น้ำยมแทงลงมาพบกับแม่น้ำน่านนั้น อยู่เหนือบ้านย่านยาวในเขตอำเภอบางกระทุ่ม อำเภอที่อยู่ใต้สุดของจังหวัดพิษณุโลกเล็กน้อย ผู้เขียนได้ลงเครื่องหมายรูปดาวไว้ที่บริเวณแม่น้ำยมพบแม่น้ำน่านในแผนที่แผ่นที่ 1 ตามที่แผนที่ของแม็คคาร์ธีระบุไว้ด้วย ดังนั้น โดยศัพท์ที่เกี่ยวกับลักษณะภูมิประเทศ ตรงจุดนี้ก็อาจมีชื่อเรียกในอดีตว่า ปากยม ได้อีกตำแหน่งหนึ่ง เมื่อครั้งที่ทางน้ำแทงมาจากแม่น้ำยมเส้นนี้เป็นเส้นทางหลักของแม่น้ำยมก่อนที่จะเปลี่ยนเป็นเช่นปัจจุบัน ซึ่งในแผนที่ของแม็คคาร์ธีเรียกว่า “แม่น้ำเก่า (Me Nam Kao)” โดยเรียกแม่น้ำน่านว่า “แม่น้ำ (Menam)”

จากการสำรวจของรองศาสตราจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม พบว่า บริเวณแถบนี้แถวบ้านกำแพงดินซึ่งอยู่ใกล้ ๆ กันกับบ้านย่านยาวและปากยมอีกแห่งนี้ ได้พบร่องรอยของคันดินล้อมรอบเป็นรูปสี่เหลี่ยมขนาดเล็กซึ่งเป็นร่องรอยของวัดโบราณอยู่หลายแห่ง นอกจากนี้ยังพบเศษเครื่องปั้นดินเผาเนื้อแกร่งซึ่งแสดงถึงการเป็นชุมชนโบราณมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น ดังนั้นบริเวณที่แม่น้ำยมแทงออกมาพบกับแม่น้ำน่านตามแผนที่ของแม็คคาร์ธี จึงอาจที่จะเป็นที่ตั้งของเมืองปากยมได้อีกตำแหน่งหนึ่ง

ในหนังสือลิลิตยวนพ่าย ซึ่งเป็นงานวรรณกรรมสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น เป็นเรื่องการสงครามระหว่างพระเจ้าติโลกราชแห่งล้านนากับสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถแห่งกรุงศรีอยุธยา ในลิลิตเรื่องนี้จะเน้นการมีชัยชนะของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเมื่อครั้งที่ทรงทำสงครามยึดเมืองเชียงชื่นหรือศรีสัชนาลัยคืนมาจากล้านนาได้ แต่ในตอนต้นลิลิตยวนพ่ายได้มีการเล่าเรื่องอย่างรวบรัดตั้งแต่ครั้งแรกที่พระเจ้าติโลกราชยกทัพลงมาตามเส้นทางแม่น้ำน่านตามคำเชิญชวนของพระยายุธิษฐิระ พระองค์ได้เข้ามาตั้งทัพอยู่ที่เมืองสองแควหรือพิษณุโลก และพระยายุธิษฐิระได้ชักชวนลงไปเอาเมืองปากยมได้นั้น เรื่องตอนนี้ลิลิตยวนพ่ายกล่าวอย่างสั้น ๆ ว่า

ฯลฯ

“แถลงปางเมื่อลาวลง   ชัยนารถ นั้นฤา

เพราะยุทธิษฐิระได้   ย่างยาว”

ปัจจุบันไม่มีปัญหาแล้วเกี่ยวกับ “ชัยนารถ” ว่า มิใช่เมืองชัยนาทโบราณที่อยู่ในท้องที่จังหวัดชัยนาท หากแต่หมายถึงเมืองสองแควหรือพิษณุโลกที่พระเจ้าติโลกราชยกทัพมาตั้งอยู่ตามคำเชิญของพระยายุธิษฐิระผู้เป็นเจ้าเมือง กล่าวคือ เมืองสองแควหรือเมืองพิษณุโลกมีชื่ออีกชื่อหนึ่งว่า ชัยนาท

แต่ในบาทต่อไปที่กล่าวว่า “เพราะยุทธิษฐิระได้   ย่างยาว” นั้น หมายถึงว่ายุธิษฐิระกำลังทำอะไร โดยทั่วไปอาศัยความรู้ทางประวัติศาสตร์ที่มีเรื่องราวในตอนนี้ว่า พระยายุธิษฐิระผิดใจกับสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ จึงเชิญชวนให้พระเจ้าติโลกราชลงมา (ชักศึกเข้าบ้าน) ดังนั้นจึงแปลสำนวน ย่างยาว นี้ว่าหมายถึงการชักศึกเข้าบ้าน คือพระยายุธิษฐิระพอโกรธขึ้นมาก็ก้าวยาวสวบ ๆ ขึ้นไปเชียงใหม่ ชักชวนพระเจ้าติโลกราชให้ยกกองทัพมา

จะเห็นว่าการแปลความหมายที่ทำกันอยู่นี้มีลักษณะค่อนข้างจะเป็นการ “ข่มขืนให้ได้ความ” อยู่สักหน่อย เพราะหากว่าไม่มีความรู้ประวัติศาสตร์ในตอนนี้ก็จะไม่มีผู้ใดเข้าใจสำนวนภาษาที่ใช้ในตอนนี้อย่างแน่นอน เพราะเป็นสำนวนที่ไม่เคยพบว่ามีการใช้ในที่อื่นใดมาก่อน ไม่มีทั้งสำนวนตรงกันข้ามหรือใกล้เคียงเพื่อการเปรียบเทียบ เช่น ย่างสั้น ย่างซื่อ ย่างน้อย ย่างใหญ่ เป็นต้น

ดังนั้น ผู้เขียนจึงไม่ยอมให้ความคิดของตนเองต้องถูกข่มขืนเป็นรายต่อไป จึงมีความคิดใหม่ว่า บริเวณบ้านย่านยาวมีหลักฐานว่า เป็นบ้านเก่าแก่มาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น ตั้งอยู่เหนือเมืองพิจิตร คืออยู่ระหว่างกึ่งกลางจากเมืองพิษณุโลกไปเมืองพิจิตร ตามเส้นทางแม่น้ำน่าน และใกล้ ๆ กันก็มีสภาพภูมิประเทศที่แม่น้ำยมไหลมาออกแม่น้ำน่านจึงอาจมีคำเรียกตามสภาพภูมิประเทศว่า “ปากยม” ได้

จากหลักฐานทั้งสามประการนี้ ผู้เขียนจึงมีความเห็นว่า ลิลิตยวนพ่ายซึ่งมีต้นฉบับคัดลอกกันต่อ ๆ มาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้นนั้น เมื่อคัดลอกกันต่อ ๆ มาหลายครั้งเข้า คำว่าย่านยาวก็อาจกลายเป็นย่างยาวได้ เรื่องนี้ก็ขอฝากนักวรรณกรรมให้ช่วยตรวจสอบต้นฉบับเก่า ๆ ในหอสมุดแห่งชาติว่า จะมีต้นฉบับตัวเขียนฉบับใดบ้างที่เขียนว่า ย่านยาว มิใช่ย่างยาว ซึ่งถ้าหากพบว่ามีอยู่แม้เพียงฉบับเดียว เรื่องต่าง ๆ ที่กล่าวมาก็เป็นอันว่าใช้ได้

เรื่องนี้ผู้เขียนเคยสำรวจจากฉบับพิมพ์ของอาจารย์ฉันทิชย์ กระแสสินธุ์ ผู้ซึ่งได้มีการสอบทานกับต้นฉบับตัวเขียนอีก 3 ฉบับ หนังสือยวนพ่ายฉบับพิมพ์ของอาจารย์ฉันทิชย์ กระแสสินธุ์ ก็ยังคงเป็นย่างยาวเหมือนฉบับพิมพ์อื่น ๆ และในคำอธิบายของท่าน ก็มิได้เฉลียวใจว่า อาจจะคัดลอกกันมาผิดจากคำว่า ย่านยาว แต่ไม่เป็นไร ถึงจะเป็นย่างยาวทุกฉบับก็ตามที เพราะอาจจะเขียนผิดมาตั้งแต่ฉบับแรก ๆ แล้วก็ได้ เพราะผู้เขียนยังมีความเห็นว่า สำนวนภาษาไทยว่าย่างยาวและมีความหมายว่าไปชักเอาศึกเข้าบ้านนั้น ไม่มี

และถ้าหากเป็นไปตามที่ผู้เขียนเข้าใจ บ้านย่านยาวนี้ก็คือเมืองปากยมในอดีตนั่นเอง และจะแปลความหมายโคลงบาทนี้ง่ายขึ้นว่า ยุธิษฐิระคงได้ติดต่อให้พระเจ้าติโลกราชลงมาเอาเมืองสองแควที่ตนเองเป็นเจ้าเมือง ให้เอาไว้ในเขตแคว้นล้านนาแล้ว ต่อมา เมื่อทราบว่า ยุธิษฐิระสามารถยึดเมืองปากยมที่อยู่ทางใต้ได้อีก พระองค์จึงเริ่มเปิดสงครามยกทัพลงมาตั้งที่เมืองสองแคว และเลยลงมาเอาเมืองปากยม (คือย่านยาว) แถม

การได้เมืองปากยมนับว่าเป็นการยึดได้จุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญ เพราะถ้าหากพระองค์คิดทำสงครามนานปี โดยมาตั้งศูนย์การรบที่เมืองสองแควหรือพิษณุโลก การที่สามารถมีอิทธิพลครอบงำลงไปถึงเมืองปากยมซึ่งเรียกว่าย่านยาวในลิลิตยวนพ่ายนั้น เท่ากับเป็นการป้องกันการส่งกำลังมาเสริมจากทางใต้ อย่างน้อยก็จากเมืองพิจิตรซึ่งเป็นเมืองที่อยู่ในเครือข่ายของกรุงศรีอยุธยา ทำให้พระเจ้าติโลกราชสามารถรบกวนหรือยึดครองเมืองสำคัญของเมืองเหนือ คือเมืองสุโขทัยและศรีสัชนาลัยที่ตั้งอยู่บนฝั่งแม่น้ำยมได้อย่างสะดวก

ถึงตอนนี้จึงอยากอธิบายสภาพทางภูมิศาสตร์แถบนั้นเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องที่หมื่นด้งทหารเอกของพระเจ้าติโลกราช ที่ยกทัพจากปากยมทวนเส้นทางแม่น้ำยมเพื่อไปรบเอาเมืองสุโขทัยและศรีสัชนาลัยว่า เหตุใดจึง “แห่กันไปถึงน้ำลืม” ซึ่งพระยาประชากิจกรจักร์ (แช่ม บุนนาค) ได้อธิบายไว้ในหนังสือพงศาวดารโยนกของท่านว่า ที่หมื่นด้งแห่กันไปนั้นคือบ้านน้ำรึม ซึ่งอยู่ไกลออกไปจากเส้นทางแม่น้ำนมจนเกือบจะถึงเมืองกำแพงเพชรอยู่แล้ว จึงถูกตีแตกพ่ายหนีกลับไปยังที่ตั้งทัพหลวงที่เมืองสองแคว

ตอนนี้จึงอยากอธิบายสภาพภูมิประเทศแถบนั้นเพิ่มเติม เกี่ยวกับเรื่องที่ว่าหมื่นด้งยกทัพออกจากปากยมทวนเส้นทางแม่น้ำยมจะไปตีเมืองสุโขทัยหรือศรีสัชนาลัยเมืองใดเมืองหนึ่ง แต่เหตุใดจึง “แห่กันไปถึงน้ำลืม” ซึ่งพระยาประชากิจกรจักร์อธิบายว่า อีกประมาณ 8 กิโลเมตรก็จะถึงเมืองกำแพงเพชรอยู่แล้ว ซึ่งเป็นคนละเส้นทางที่จะไปเมืองสุโขทัยและและศรีสัชนาลัย

จากแผนที่แผ่นที่ 1 จะเห็นว่า ที่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำยมจะมีทางน้ำหลายสายยุ่งไปหมด ผู้เขียนคัดลอกมาลงเฉพาะเส้นทางน้ำสายสำคัญ ๆ ที่มีเส้นติดต่อยืดยาวไปถึงเมืองกำแพงเพชรซึ่งอยู่ไปทางทิศที่ทางน้ำเหล่านี้ไหลมาเท่านั้น เพราะสภาพภูมิประเทศของแม่น้ำยมตอนนี้เป็นที่ต่ำ มีระดับต่ำกว่าผืนดินริมฝั่งแม่น้ำปิงบริเวณตัวเมืองกำแพงเพชรประมาณตั้งแต่ 20 เมตรขึ้นไป ทางน้ำเหล่านี้เป็นทางน้ำที่ไม่มีน้ำไหลตลอดปี (unpermanent stream) คือจะมีน้ำก็ต่อเมื่อถึงฤดูฝน เมื่อแม่น้ำปิงล้นฝั่งก็จะไหลเทเข้ามาตามทางน้ำเหล่านี้ ซึ่งรวมทั้งหากแม่น้ำยมมีน้ำมากล้นฝั่งในเวลาเดียวกัน บริเวณแถบนี้ก็จะมีน้ำนองเต็มไปหมด แต่ในฤดูแล้งทางน้ำบางสายเหล่านี้ที่มีท้องน้ำเป็นร่องลึก ก็จะมีน้ำขังอยู่เป็นแห่ง ๆ เหตุนี้แม่น้ำยมตั้งแต่ใต้เมืองสุโขทัยลงมาเมื่อผ่านที่ลุ่มแถบนี้จึงมีการเปลี่ยนแปลงทางเดินอยู่เป็นประจำ เมื่อเป็นเช่นนี้ แม่น้ำยมช่วงนี้จึงไม่นิยมใช้เป็นเส้นทางสัญจรระหว่างบ้านเมืองที่อยู่ริมน้ำเหมือนแม่น้ำสายอื่น หรือหากจะเป็นเครื่องหมายของเส้นทางในการเดินทางบกก็ไม่ได้ เพราะสภาพพื้นที่เป็นที่ลุ่มและแม่น้ำที่มีการเปลี่ยนทางเดินบ่อย ๆ

หมื่นด้งเป็นชาวล้านนา กำลังหนุ่มไฟแรง จึงรับอาสาขึ้นไปที่เมืองสุโขทัย ศรีสัชนาลัยเลย โดยแยกทางจับเส้นทางแม่น้ำยมขึ้นไป เป็นเส้นทางที่คนในท้องถิ่นผู้รู้ภูมิประเทศที่เขาไม่ใช้กัน จึงหลงทางจับเส้นทางแม่น้ำผิดสาย “แห่” กันไปถึงบ้านน้ำรึมใกล้เมืองกำแพงเพชร แถวนั้นคงเป็นบ้านใหญ่มีผู้คนอยู่มาก ทัพหมื่นด้งจึงถูกตีแตกกระเจิงกลับมายังเมืองสองแควที่ตั้งทัพหลวง พอดีมีข่าวศึกล้านช้างจะเข้ามารุกรานดินแดนล้านนา พระเจ้าติโลกราชจึงนำพระยายุธิษฐิระและครอบครัวไพร่พลกลับล้านนาไปทางเมืองแพร่ น่าน ทางเก่าขามา แผนการศึกในการยึดครองพื้นที่อันเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญในการทำสงครามที่จะมีต่อไปจึงไม่เป็นผลสำเร็จ

สรุป

ที่ตั้งเมืองปากยมหากพิจารณาจากสภาพภูมิประเทศเพียงอย่างเดียว คือตำแหน่งที่แม่น้ำยมไหลมาพบแม่น้ำน่าน ก็จะได้ตำแหน่งที่มีชื่อเรียกทางภูมิศาสตร์ว่าปากยมได้ถึง 7 ตำแหน่ง เมื่อนำหลักฐานทางโบราณคดีเข้ามาพิจารณาด้วย ก็จะเหลือตำแหน่งที่อาจเป็นที่ตั้งของเมืองปากยมเพียงสองแห่ง คือ แถบบริเวณเหนือบ้านย่านยาว อำเภอบางกระทุ่ม จังหวัดพิษณุโลก กับที่บ้านวังคลานหรือบางคลาน อำเภอโพทะเล จังหวัดพิจิตร ครั้นเมื่อนำเหตุผลเกี่ยวกับภูมิศาสตร์การสงครามเข้ามาพิจารณาประกอบด้วย เมืองปากยมก็ควรจะอยู่เหนือเมืองพิจิตร ดังนั้นจึงเหลือที่ตั้งของเมืองปากยมเพียงแห่งเดียว ที่แม่น้ำยมไหลมาพบแม่น้ำน่านเหนือบ้านย่านยาวตามแผนที่ของแม็คคาร์ธี

และถ้าหากต้นฉบับตัวเขียนลิลิตยวนพ่าย เขียนและคัดลอกกันต่อมาอย่างผิดพลาดจากคำว่าย่านยาวมาเป็นย่างยาวแล้ว ก็ยิ่งจะไม่มีปัญหาเลยว่า หนุ่มรูปหล่อคนนั้นมีบ้านอยู่ที่ย่านยาว จังหวัดพิษณุโลก มิใช่ที่บ้านวังคลานหรือบางคลาน จังหวัดพิจิตร

 

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 10 สิงหาคม 2565

The post “ปากยม” เมืองของคนรูปหล่อ จุดยุทธศาสตร์ในสงครามล้านนา-อยุธยา ตั้งอยู่ที่ใด? appeared first on Thailand News.