ติดตามผ่านช่อง : Siammongkol Youtube Channel

เมื่อ “เช-ลิ-โฟ-ชิ” ไม่ใช่ “ไชยา” เมืองหลวงของ “อาณาจักรศรีวิชัย” จะอยู่ที่ไหน?

เมื่อ “เช-ลิ-โฟ-ชิ” ไม่ใช่ “ไชยา” เมืองหลวงของ “อาณาจักรศรีวิชัย” จะอยู่ที่ไหน?

ความเป็นมา ที่ตั้ง และเมืองหลวงของอาณาจักรศรีวิชัย ถูกกล่าวถึงเป็นอย่างมาก เสมือนว่าไม่มีความจำเป็นใด ๆ ต้องรู้ไปมากยิ่งขึ้นกว่านี้อีกแล้ว โดยเป็นการยอมรับอย่างขัดเขินกันในหมู่นักประวัติศาสตร์ไทยว่า เมืองที่สำคัญของอาณาจักรศรีวิชัยอยู่ที่ “ไชยา” ส่วนต่างชาติกลับไปยกย่องให้ “ปาเล็มบัง” เป็นเมืองหลวงของอาณาจักรศรีวิชัยเสียมากกว่า แล้วเราจะยอมรับกันได้หรือไม่

เพื่อเป็นการปรับข้อมูลให้เป็นปัจจุบัน หรือเรียกว่าการอัพเดตเรื่องราวของศรีวิชัยนั้น ผู้เขียนเห็นว่าเรื่องราวของดินแดนภาคใต้ของประเทศไทยไปจนถึงชวานั้นยังน่าสนใจและควรค่าแก่การสานต่อจากนักประวัติศาสตร์รุ่นเดิม ควรปรับ เพิ่ม หรือโต้แย้งข้อมูลให้ทันสมัยขึ้น ตรวจสอบเอกสารกันอีกรอบ เอามาดูอีกสักครั้งว่าพบประเด็นที่น่าสนใจในเอกสารโบราณประการอื่นอีกหรือไม่

ทั้งนี้ควรอ้างอิงหลักการอันเป็นที่ยอมรับได้ ผู้เขียนเห็นว่าในเอกสารโบราณ ชาวต่างชาติมักพูดถึงเรื่องราวสำคัญทั่วไปเสียมากกว่า มีเพียงเอกสารของหลวงจีนอี้จิงเท่านั้นที่พูดถึง “เวลา” “ระยะทาง” และ “จำนวนวัน” สัมพันธ์กับสถานที่ที่ท่านพำนัก และสภาพภูมิอากาศในขณะนั้น

ดังนั้น เอกสารของหลวงจีนอี้จิงอาจจะคลายปมปริศนาเกี่ยวกับชื่อเมืองและสถานที่ตั้งของเมืองในระยะก่อตัวของอาณาจักรศรีวิชัยได้ และอาจส่งผลให้เรื่องราวที่เกี่ยวเนื่องกับอาณาจักรศรีวิชัยมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น

พระบรมธาตุไชยา สุราษฎร์ธานี

เพื่อนำผู้อ่านไปสู่เรื่องที่เกี่ยวกับความสับสนเรื่องชื่อต่าง ๆ ของอาณาจักรศรีวิชัย ผู้เขียนขอเกริ่นนำเรื่องราวทางประวัติศาสตร์และทางโบราณคดีในภาคใต้ของประเทศไทยโดยย่อ โดยเฉพาะเรื่อง กำเนิดและที่ตั้งของอาณาจักรศรีวิชัย ในช่วง 40-50 ปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน

ข้อมูลจากผู้รู้และนักปราชญ์หลายท่านทำให้เรารู้ว่า ท่านเหล่านี้พยายามระบุตำแหน่ง “เมืองหลวง” ของอาณาจักรศรีวิชัยด้วยหลักฐานทางโบราณคดีต่าง ๆ เท่าที่มีการค้นพบ อาทิ โบราณสถาน ประติมากรรมทางศาสนาพุทธและฮินดู โดยเรียกกันว่า “ศิลปะแบบศรีวิชัย” อันมีความคล้ายกับงานศิลปะของราชวงศ์ไศเลนทร์ สันนิษฐานว่าเป็นศาสนาพุทธสกุลวัชรยานแบบอินเดียภาคตะวันออกเฉียงเหนือของราชวงศ์ปาละ

นอกจากนี้มีหลักฐานจารึกและเอกสารโบราณจำนวนมากที่นักวิชาการทั้งไทยและเทศนำมาอ้างอิง กำเนิดความเป็นมา และความรุ่งเรืองของอาณาจักรศรีวิชัยตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 12 เป็นต้นมา กล่าวตรงกันว่าอาณาจักรศรีวิชัยเจริญขึ้นในพุทธศตวรรษที่ 13-14 ด้วยเหตุผลของการเป็นที่ตั้งเมืองท่าค้าขายระหว่างจีน เวียดนาม เขมร ฝั่งหนึ่ง กับอินเดีย อาหรับ เปอร์เซีย และยุโรป อีกฝั่งหนึ่ง

เมื่อพูดถึงคำว่า “ศรีวิชัย” นั้น นักวิชาการในปัจจุบันยอมรับว่าเกิดมาจาก ยอร์ช เซเดส์ (พ.ศ. 2461) ท่านได้ระบุเมืองหลวงของอาณาจักรศรีวิชัยอยู่ที่ปาเล็มบัง ในเกาะสุมาตราใต้ และนักวิชาการชาวต่างชาติท่านอื่น ๆ ต่างยอมรับ ถึงแม้ว่าได้พยายามขุดค้นทางโบราณคดีที่ปาเล็มบัง ก็ไม่พบหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับ “ศรีวิชัย” อย่างชัดเจน

รวมทั้งจารึกเคดุกันบุกิต พ.ศ. 1225 ก็ระบุเพียงชื่อสถานที่ 5 แห่ง และมีชื่อพระราชา (เรียกดาปุนตาไฮยำ) ทรงพระนามศรีชัยนาศ ก็ไม่เกี่ยวอะไรกับอาณาจักรศรีวิชัยมากนัก เครื่องลายครามที่ขุดขึ้นมาได้เป็นลายครามของพุทธศตวรรษที่ 14-15 ถ้าปาเล็มบังไม่ได้เป็นเมืองหลวงของอาณาจักรศรีวิชัย นักวิชาการอีกกลุ่มหนึ่งระบุว่า “ไชยา” เป็นศูนย์กลางของศรีวิชัย ในราวพุทธศตวรรษที่ 12-14 อย่างแน่นอน…หรืออาจยาวนานกว่านั้นด้วย (หม่อมเจ้าจันทร์จิรายุ รัชนี, 2542; สิปปนันท์ นวลละออง 2557; ธรรมทาส พานิช, 2534; นงคราญ ศรีชาย, 2544)

(ซ้าย) พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรปัทมปาณี พบที่อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี, (ขวา) พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร 4 กร พบที่ Kurkihor ทางตะวันออกของอินเดีย ซึ่งมีการสันนิษฐานว่า พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรปัทมปาณีที่พบที่ไชยา หากอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ก็น่าจะมีลักษณะใกล้เคียงกัน (ภาพจากหนังสือ Khandalavala, Karl and Sadashiv Gorakshkav. Eastern Indian Bronzes. Bombay : Lalit Kalā Akademi, 1986)

“ศรีวิชัย” เป็นเพียงชื่อหนึ่งของการเรียกชื่อที่แตกต่างกันในจารึกและเอกสารโบราณ ชื่ออื่น ๆ มี นครโพธิ สัมโพธิ ศรีโพธิ ศรีบูซา สัมฮุดซี ชวกะ ซาบาก โฟ-ชิ และสันโฟชิ

เมื่อตามรอยหลวงจีนอี้จิงจะพบว่า หลวงจีนอี้จิงแวะพำนักอยู่ที่นครโฟ-ชิ เป็นเวลา 6 เดือน บันทึกในเอกสารว่า “สหพันธรัฐศรีวิชัย” หรือเป็นดินแดนประเทศทั้ง 10 แห่งทะเลใต้

ขาไป หลวงจีนอี้จิงพักอยู่ที่เมือง “โฟ-ชิ” 6 เดือน เพื่อเรียนภาษาสันสกฤต ต่อจากนั้นท่านเดินทางอีก 15 วัน ถึง โม-โล-ยู (มลายู) พักที่มลายู 2 เดือน เพื่อให้ลมเปลี่ยนทิศ แล้วแล่นใบผ่านช่องแคบมะละกา 15 วัน ถึง เชียชะ หรือ เคียขะ (เกดะห์ ไทรบุรี) ต่อจากนั้นก็ข้ามสมุทรไปถึงอินเดีย หลวงจีนอี้จิงพักอยู่ที่อินเดียหลายปี (พ.ศ. 1215-28 รวม 13 ปี) พักที่เมืองนาลันทา

หลวงจีนอี้จิงยังได้ระบุอีกว่า ถ้าแล่นใบจากเมืองโฟชิไปทางตะวันออกเป็นเวลา 4 วัน จะถึงเมือง “โฮลิง” โฮลิง หรือโพลิง มาจากคำว่า โพธิ + กะลิง เพราะชาวกลิงคะมาจาก กลิงครัฐ (ใกล้แม่น้ำคงคา) มาอยู่ที่โฮลิงกับโฟ-ชิ มาจุมดาร์นักโบราณคดี บันทึกว่าชาวอินเดียเดินทางหรือหนีเข้ามาที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย เพราะมีพวกกษัตริย์จาลุกย์เข้ามารุกรานนับร้อยปี ตั้งแต่ประมาณ พ.ศ. 1100 (บทความของ น. ณ ปากน้ำ)

เมืองกาลิงคะอยู่ภายใต้ราชวงศ์คงคาและไศโรจน์ภาวะ ปกครองโดยราชวงศ์ไศละ อันนามของกษัตริย์ราชวงศ์คงคาล้วนแต่ต่อท้ายด้วยคำว่ามหาราชทั้งสิ้น จึงน่าจะเป็นไปได้ที่ราชวงศ์เหล่านี้เป็นต้นราชวงศ์ไศเลนทร์ และชาวกลิงคะจึงมีความสัมพันธ์กับไศเลนทร์ (ต้นกำเนิดคำว่าโฮลิง)

ขากลับ กลับมาที่ “โฟ-ชิ” อีกครั้ง และในขณะนั้นประเทศโมโลยูได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของโฟชิไปแล้ว ท่านได้พำนักต่อที่โฟชิอีก 8 ปี ระหว่าง พ.ศ. 1230-38 เพื่อแปลพระสูตรในพระพุทธศาสนาจากภาษาสันสกฤตเป็นภาษาจีน และระบุไว้ว่า ที่เมือง “โฟ-ชิ” มีพระสงฆ์ในพุทธศาสนากว่า 1,000 รูป มีพระธรรมวินัยและพิธีกรรมทุกอย่างคล้ายกับที่ปฏิบัติกันที่อินเดีย แสดงให้เห็นว่าเป็นเมืองสำคัญทางพุทธศาสนาในแถบนี้ (1. ตั้งอยู่บนแม่น้ำโพธิ 2. ฮวยหนิงไปหาพระภิกษุญาณภัทรที่เมืองโพลิง – พ่อค้าจีนพูดผิดเป็นโฮลิง)

หลวงจีนอี้จิงระบุว่า เมืองโฮลิง ตันตัน กาจาหรือเกียฉา (เกดะห์) และพันพัน เป็นเมืองประเทศราช (เมืองขึ้น) ของ “โฟ-ชิ” นับได้ว่าเป็นเมืองหลวงของ “อาณาจักรศรีวิชัย” จึงยังคงเป็นปริศนาให้นักประวัติศาสตร์และนักโบราณคดีค้นคว้ามาจนถึงทุกวันนี้ว่า เมือง “โฟ-ชิ” คือ “ไชยา” ใช่หรือไม่

เพื่อเป็นการแก้ปมปริศนาที่ตั้งของเมือง “โฟ-ชิ” ผู้เขียนเห็นว่าการเดินทางของหลวงจีนอี้จิงได้ทิ้งข้อมูลที่บอกถึงชื่อสถานที่ เวลา และระยะทางของแต่ละสถานที่ไว้ หลวงจีนอี้จิงและคนในสมัยนั้นสื่อสารเพื่อระบุเวลากันด้วยเงาแดด (หรือเทียบเคียงได้กับนาฬิกาแดด) เป็นที่รู้กันอยู่แล้วว่าโลกกลม ดังนั้น ในวันเวลาเดียวกัน แต่ต่างพื้นที่ ต่างเดือนกันออกไป “เงาแดด” ย่อมต่างกัน

ผู้เขียนเกิดความใคร่รู้ว่าเมื่อนำ “ความยาวของเงาแดด” ตามที่หลวงจีนอี้จิงได้ระบุตามเมืองต่าง ๆ ที่ท่านได้ไปถึง ทำให้เราระบุ “เมืองหลวง” ของอาณาจักรศรีวิชัยเมื่อราวพุทธศตวรรษที่ 11-12 จนสามารถไขปริศนาชื่อเมืองอื่น ๆ ที่ระบุไว้ จนกระทั่งอาจจะนำไปสู่การพลิกเปลี่ยนข้อมูลทางประวัติศาสตร์ของดินแดนต่าง ๆ ในภาคใต้ของประเทศไทยได้

ข้อมูลตำแหน่งตามพิกัดทางภูมิศาสตร์ พบว่า

เมืองไชยา ตั้งอยู่ที่ 9 องศา 08 ลิปดา เหนือ (ตรงศีรษะ 2 ครั้ง คือ 15 เมษายน และ 30 สิงหาคม)

ปาเล็มบัง เมืองท่าเก่า (จิวเกียง, Chiu-chiang) ตั้งอยู่ที่ 3 องศา 0 ลิปดา ใต้ (ตรงศีรษะ 2 ครั้ง คือ 14 มีนาคม และ 1 ตุลาคม)

ตำแหน่งที่ตั้งของเมืองศรีวิชัยจากพงศาวดารใหม่ราชวงศ์ถัง โดยข้อมูลการคำนวณของศาสตราจารย์ พี. เจ. บี (P. J. Bee, 1974) ระบุว่า ศรีวิชัยตั้งอยู่ที่เส้นรุ้งที่ 6 องศา 7 ลิปดา เหนือ ในขณะนั้นเรียกว่า ชิลิโฟชิ

เมื่อกลับไปอ่านจดหมายเหตุการเดินทางของหลวงจีนอี้จิง พบข้อความการระบุเงาแดดหรือการบอกเวลาตามเงานาฬิกาแดด ได้ดังนี้

“…ในเมืองศรีวิชัยเงาแดดไม่เปลี่ยนแปลงในกลางเดือนที่ 8 และกลางฤดูใบไม้ผลิ และในสองวันนี้จะไม่มีเงาแดดในตอนเที่ยงวัน…”

“…ที่โมโลยู (Mo-lo-yu) ตอนเที่ยงวันไม่มีเงาคน” แสดงว่า โมโลยูน่าจะอยู่ที่เส้นศูนย์สูตร

“…ที่โฮลิง (Ho-ling) ตอนเที่ยงวันของฤดูร้อน เข็มสูง 8 ชิ (Sh’ih) มีเงาชี้ไปทางใต้ยาว 2 ชิ 5 ชุน ( fs’un)” แสดงว่าโฮลิงอยู่เหนือเส้นศูนย์สูตร (หมายเหตุ ชิ คือฟุต ชุน คือนิ้ว ในมาตราวัดของอังกฤษ)

“…ที่โฟเช (Fo-che) ตอนเที่ยงวันของฤดูร้อน เข็มสูง 8 ชิ มีเงาชี้ไปทางใต้ยาว 2 ชิ 4 ชุน” แสดงว่า โฮลิงและโฟเช อยู่ไม่ห่างกันมาก และโฟเชอยู่เหนือโฮลิงเล็กน้อย

เมื่อได้คำนวณตามความเอียงแกนหมุนของโลก โดยใช้ข้อมูลวันที่ 21 มิถุนายน และค่าคำนวณตามความเอียงแกนหมุนของโลกในปัจจุบัน กับขณะที่อี้จิงพำนักอยู่ที่โฟเช เมื่อปี พ.ศ. 1230 โดยมีการวัดค่าความคลาดเคลื่อนจากหลักการที่ว่าโลกมีการหมุนเอียงจากระนาบทางโคจรรอบดวงอาทิตย์เป็นมุมกับแนวดิ่ง คือวันที่ 21 มิถุนายน ดวงอาทิตย์จะส่องตรงเส้น Tropic of Cancer หรือเส้นรุ้ง 23 องศา 26 ลิปดา 22 ฟิลิปดา เหนือ แต่ความเอียงแกนหมุนของโลกปัจจุบัน ลดลง 0.475 ฟิลิปดาต่อปี เมื่อคำนวณแล้วพบว่าในปี พ.ศ. 1230 เส้น Tropic of Cancer คือเส้นรุ้ง 23 องศา 32 ลิปดา 25 ฟิลิปดา เหนือ

ผลจากการคำนวณ (เพิ่ม) พบว่า

เมืองโฟเช หรือ โฟชิ อยู่ที่ 7 องศา 17 ลิปดา เหนือ

เมืองโฮลิง อยู่ที่ 6 องศา 44 ลิปดา เหนือ

(อำเภอไชยา อยู่ที่เส้นละติจูด 9 องศา 8 ลิปดา เหนือ จึงไม่สอดคล้องกับค่าที่ได้จากการคำนวณ ดังนั้น ไชยาไม่ใช่เมืองโฟชิ ส่วนเมืองนครศรีธรรมราชหรือตามพรลิงค์ อยู่ที่เส้นละติจูด 8 องศา 25ลิปดา เหนือ จึงไม่สอดคล้องกับค่าที่ได้จากการคำนวณ ดังนั้น นครศรีธรรมราชไม่ใช่เมืองโฮลิง)

ผลจากการคำนวณเงาแดดจากบันทึกของหลวงจีนอี้จิง

7 องศา 17 ลิปดา เหนือ คือตำแหน่งของ “สิงหนคร” จังหวัดสงขลา ในปัจจุบัน

และ 6 องศา 44 ลิปดา เหนือ คือตำแหน่งของ “เมืองยะรัง” จังหวัดปัตตานี

เป็นไปได้หรือไม่ว่า หลวงจีนอี้จิงได้มาพำนักอยู่ที่เมือง “สิงหนคร” เพื่อเรียนภาษาสันสกฤต 6 เดือน และเดินทางอีก 15 วัน ถึงโมโลยู อันเป็นระยะทางประมาณ 1,100 กิโลเมตร ถ้าเป็นไปได้แสดงว่า

…จากกวางตุ้งมาโฟชิ 20 วัน (จึงเป็นไปได้) จากโฟชิ ไปโมโลยู 15 วัน (ก็เป็นไปได้) เดินเรือ 1 วันได้ระยะทางราว 100 กิโลเมตรทะเล และจากโมโลยู ไปปาเล็มบัง 5 วัน

การกำหนดตำแหน่งที่ตั้งของเมืองหลวงของศรีวิชัย (โฟชิ) ตามข้อมูลใหม่ ที่พระราชวังจะตั้งอยู่ริมทะเลสาบสงขลา ติดกับร่องน้ำของเกาะนางคำ (หรือแม่น้ำโพธิ ตามบันทึกของหลวงจีนอี้จิง) กำแพงเมืองยาวหลายลี้ เส้นประคือสันนิษฐานแนวกำแพงพระราชวังเมืองหลวงของศรีวิชัยบนแผนที่จังหวัดสงขลา แผนที่ฉบับของกรมแผนที่ทหาร จัดพิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2528 (ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม ฉบับกรกฎาคม 2558)

ในการอ้างถึงเมืองโฟชิว่าคือ “ปาเล็มบัง” เป็นไปได้ยาก ด้วยสภาพการเดินทางด้วยเรือในสมัยนั้น การล่องเรือจากกวางตุ้งให้ถึงปาเล็มบังภายใน 20 วัน ทำไม่ได้ เพราะน่าจะใช้เวลามากกว่านี้ 1 เท่าตัว เมืองโฟชิที่หลวงจีนอี้จิงไปพำนักจึงมิใช่ตำแหน่งของเมืองปาเล็มบัง (เมืองท่าเก่า)

ข้อมูลจากศิลาจารึกที่พบในเกาะสุมาตราทั้ง 6 หลัก ระบุปี พ.ศ. 1225-29 นั้น ทำให้เราทราบว่า กษัตริย์ศรีชัยนาศะทรงยกกองทัพจากเมืองโฟชิไปตีโมโลยูกับปาเล็มบังจนได้เป็นเมืองขึ้น ดังนั้นในปี พ.ศ. 1229 หลวงจีนอี้จิงเดินทางกลับจากอินเดียมาที่โมโลยูในระหว่างเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม (วัดเงาแดดแล้วไม่มีเงา เท่ากับ 0) กล่าวว่า

ในขณะนั้นโมโลยูกลายเป็นส่วนหนึ่งของโฟชิ ถ้าเมืองโฟชิคือตำแหน่งเดียวกับสิงหนครปัจจุบัน การกล่าวถึง “ดินแดง” (อาณาจักรเชียะโท้ว) ที่โรกุโร กุวาตะ ชาวญี่ปุ่นได้ศึกษาค้นคว้าจากหลักฐานหลาย ๆ ด้านและเปรียบเทียบให้ดูว่าเป็นเมืองเดียวกันกับเมือง “ชิลิฮุดซี” ซึ่งราชสำนักจีนบันทึกไว้ว่าเป็นเมืองหลวงของอาณาจักรแถบนี้ ในสมัยนั้นกษัตริย์โหมิโต (หริมิตร – อ้างถึงโดย โรกุโร กุวาตะ) ได้ส่งทูตไปประเทศจีนครั้งแรกในปี พ.ศ. 1213 จีนบันทึกชื่อว่าชิลิฮุดซี แทนชื่อเมืองเชียะโท้ว (ได้ส่งทูตไปประเทศจีนในระหว่างปี พ.ศ. 1213-85 จำนวน 8 ครั้ง) และจากบันทึกของหลวงจีนอี้จิงยังระบุว่า “พระราชามีเรือแล่นอยู่ระหว่างเกดะห์ เมืองท่าทางฝั่งตะวันตกของโฟชิ เพื่อไปยังเมืองท่าของประเทศอินเดีย” เมืองเชียะโท้วมีอาณาเขตทิศเหนือติดทะเล ทิศใต้ติดโฮโลตัน (อี้จิงบอกว่า “ตันตัน”)

ซึ่งภายหลังจากที่หลวงจีนอี้จิงเดินทางกลับจากอินเดียในปี พ.ศ. 1228 และกลับเมืองจีนแล้ว ท่านได้กลับมาพำนักที่โฟชิอีกในระหว่างปี พ.ศ. 1230-38 เพื่อคัดลอกและแปลคัมภีร์ภาษาสันสกฤตเป็นภาษาจีน ท่านได้บันทึกอีกว่า เมืองโฮลิง พันพัน กาจา (เกดะห์ หรือไทรบุรี อาหรับเรียกเมือง “กาละ”) และตันตัน ได้เข้ารวมเป็นประเทศราชของนครโฟชิ เรียกชื่อใหม่ว่า ประเทศชิลิโฟชิ และประเทศชิลิโฟชิเป็นเมืองหลวงของประเทศทั้งสิบแห่งทะเลใต้

จากหลักฐานที่มีอยู่นี้ เมืองตันตันควรมีอาณาเขตอยู่ใต้เชียะโท้ว และในปี พ.ศ. 1150-51 ระหว่างที่ราชทูตชางซุนอัญเชิญเรือพระราชส์นของจักรพรรดิจีนเข้ามานั้น เมืองตันตันจึงมีอาณาเขตต่อแดนกับเมืองเชียะโท้ว ตามประวัติจากบันทึกของจีนนั้น เราทราบว่าตันตันส่งสิ่งของบรรณาการไปเจริญไมตรีกับประเทศจีนในปี พ.ศ. 1073 และในจำนวนนั้นมีไข่มุกอย่างดีรวมอยู่ด้วย ดังนั้น เมืองตันตันจึงควรจะเป็นเมืองกลันตัน (มีอาณาเขตติดทะเล)

ต่อมาในปลายสมัยราชวงศ์ถัง (พ.ศ. 1447) ราชสำนักจีนได้บันทึกชื่อของเมืองชิลิโฟชิ โดยเรียกชื่อใหม่ว่าเมืองสันโฟชิ เป็นเมืองหลวง ตั้งอยู่ที่บริเวณ “สิงหนคร” ในปัจจุบัน ในสมัยที่หลวงจีนอี้จิงพำนักอยู่ที่เมืองนี้ ได้บันทึกไว้ว่าชาวบ้านเรียกเมือง “โพธิ” ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโพธิ และเป็นไปได้ว่า แม่น้ำโพธิ คือร่องน้ำระหว่างแผ่นดินบกของจังหวัดสงขลาและเกาะนางคำ ซึ่งเป็นเกาะในทะเลสาบสงขลาตอนกลาง ถัดจากอำเภอกระแสสินธุ์ จังหวัดสงขลา ลงไปถึงบริเวณบ้านปากรอ อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา

สอดคล้องกับบันทึกของม้าตวนลินที่ได้บันทึกเรื่องราวของรัฐ “พันพัน” ในสมัยราวพุทธศตวรรษที่ 12 ที่มีเขตติดต่อกับลังกาสุกะ (เมืองโฮลิง) ว่า “ประชาชนส่วนใหญ่ตั้งบ้านเรือนอยู่ตามริมฝั่งทะเล ชนชาติเหล่านี้ไม่รู้จักก่อกำแพงสำหรับบ้านเรือน คงใช้แต่เพียงรั้วไม้เท่านั้น พระราชาประทับแบบครึ่งบรรทมอยู่เหนือเตียงทองรูปมังกร ขุนนางผู้ใหญ่ต้องคุกเข่า และในราชสำนักมีพราหมณ์ชาวอินเดียอยู่จำนวนมาก ลูกศรที่ใช้มีปลายแหลมทำด้วยหินแข็งมาก ใบหอกทำด้วยเหล็กแหลมมีคมทั้งสองด้าน ในรัฐพันพันมีสำนักสงฆ์และภิกษุณี 10 แห่ง ท่านเหล่านี้ศึกษาคัมภีร์ในพุทธศาสนา ฉันเนื้อและไม่ดื่มเหล้า”

ตามบันทึกการอ่านนาฬิกาแดดของหลวงจีนอี้จิง ทำให้เราสามารถคำนวณค่าองศาของเมืองโฟชิและโฮลิงได้ โดยนำเอาความยาวเงาแดดที่ 2 ฟุต 4 นิ้ว และ 2 ฟุต 5 นิ้ว มาใช้คำนวณ ในทางกลับกันถ้าเราทราบค่าองศาของเมืองต่าง ๆ เราก็สามารถคำนวณค่าเงาแดดของแต่ละเมืองนั้นได้ อี้จิงวัดเงาแดดโดยบันทึกวันที่วัดนี้ว่า “เป็นวันที่พระอาทิตย์โคจรไปทางทิศเหนือมากที่สุดหรือโคจรถึงเหนือสุด” ในตอนเที่ยงวันของฤดูร้อน วันนี้ตรงกับวันที่ 21 มิถุนายน ภาษาอังกฤษเรียก SUMMER SOLSTICE หรือครีษมายัน ซึ่งดวงอาทิตย์จะอยู่สูงเลยเส้นศูนย์สูตรไปทางทิศเหนือมากที่สุด และเป็นวันที่กลางวันยาวนานที่สุดทางซีกโลกเหนือตรงกับฤดูร้อน และเงาแดดจะทอดไปทางทิศใต้มากที่สุดนั่นเอง

คำนวณเงาแดดของแต่ละเมือง เสาสูง 8 ฟุต ในวันที่ 21 มิถุนายน ของปี พ.ศ. 1230 จะได้ค่าดังนี้

เมือง ไชยา เส้นละติจูด 9 องศา 8 ลิปดา เหนือ ความยาวเงาแดด 2 ฟุต 0.66 นิ้ว

เมือง นครศรีธรรมราช (ตามพรลิงค์) เส้นละติจูด 8 องศา 25 ลิปดา เหนือ ความยาวเงาแดด 2 ฟุต 1.95 นิ้ว

เมือง ปาเล็มบัง เมืองท่าเก่า (จิวเกียง, Chiu-chiang) เส้นละติจูด 3 องศาใต้ ความยาวเงาแดด 4 ฟุต

ดังนั้น เมืองไชยาและนครศรีธรรมราช เงาแดดสั้น จึงมิใช่เมืองโฟชิและโฮลิง ส่วนที่ปาเล็มบังคำนวณค่าได้ 4 ฟุต จึงมิใช่เมืองโฟชิเช่นเดียวกัน

เจดีย์วัดแก้ว โบราณสถานสำคัญของเมืองไชยา

จะสังเกตเห็นได้ว่าค่าเงาแดดของแต่ละเมือง (คำนวณในวันที่ 21 มิถุนายน ของปี พ.ศ. 1230 ที่หลวงจีนอี้จิงมาพำนักในเมืองโฟชิ) จะมีค่าไม่เท่ากัน แตกต่างกันออกไปตามตำแหน่งทางภูมิศาสตร์และเส้นละติจูดของแต่ละเมือง

สรุปก็คือ โฟชิไม่ใช่ทั้งที่ไชยาและปาเล็มบัง (เมืองท่าเก่า) และโฮลิงก็ไม่ใช่นครศรีธรรมราช (ตามพรลิงค์) เมืองโฟชิอยู่ที่อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา และโฮลิงก็ไม่ได้อยู่ในเกาะชวา แต่อยู่ที่อำเภอยะรัง ในจังหวัดปัตตานี

ในปี พ.ศ. 2461 ศาสตราจารย์ยอร์ช เซเดส์ ผู้เชี่ยวชาญการอ่านจารึกสมัยโบราณของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ชาวฝรั่งเศส ได้นำเสนอเรื่องราวของอาณาจักรศรีวิชัย (อย่างเป็นทางการ) โดยวางตำแหน่งศูนย์กลางของศรีวิชัยไว้ที่เมืองปาเล็มบังในเกาะสุมาตรา ทำให้การศึกษาค้นคว้าทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีทำได้อย่างยากลำบาก เนื่องจากเกิดมีข้อขัดแย้งและโต้เถียงกัน

มีการนำเสนอศูนย์กลางของศรีวิชัยเสียใหม่ว่าอยู่ที่อำเภอไชยา กลุ่มนี้มีนักประวัติศาสตร์ของไทย อาทิ ม.จ.จันทร์จิรายุ รัชนี และท่านอื่น ๆ นับว่าเป็นการปฏิเสธสมมุติฐาน (Hypothesis) ของเซเดส์ เนื่องจากที่สุมาตราขาดแคลนหลักฐานทางโบราณคดีต่างจากที่ไชยา ซึ่งเคยเป็นที่ตั้งของนครชั้นราชธานีอันกว้างใหญ่ จึงไม่สมควรจะจัดให้เป็นเมืองขึ้นของปาเล็มบังที่สุมาตรา

และนอกจากนั้นผลเสียอีกประการหนึ่งที่เกิดขึ้นก็คือ มีการนำเอาเมืองต่าง ๆ บนคาบสมุทรมลายูไปวางไว้ที่เกาะสุมาตราและเกาะชวา (เช่น เอาเมืองโฮลิงไปไว้ในชวาตะวันออก) จนทำให้ตำแหน่งของสถานที่ การเดินทาง และการสงครามระหว่างเมืองของบรรดาผู้คนในประวัติศาสตร์เกิดผิดทิศทางไปเสียหมด จนกระทั่งปัจจุบัน ผลการถกเถียงกันนั้นยังหาข้อสรุปยุติกันไม่ได้

และเนื่องจากปัญหาเรื่องของศรีวิชัยไม่อาจอธิบายในกรอบของประวัติศาสตร์และโบราณคดีเพียงอย่างเดียวได้ การคำนวณที่แสดงให้เห็นถึงตำแหน่งที่ตั้งอันแท้จริงของนครหลวงของอาณาจักรศรีวิชัย บริเวณ เส้นรุ้ง 7 องศา 17 ลิปดา เหนือ ที่อยู่ในเขตอำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา จึงควรเป็นคำตอบของบรรดาคำถามหรือข้อถกเถียงทั้งหลายที่เคยมีการวางตำแหน่งของศรีวิชัยไว้อย่างผิดที่ผิดทาง จนเป็นเรื่องที่น่าเสียดาย

เพราะในปัจจุบันประเทศไทยยังขาดการสำรวจขุดค้นทางโบราณคดีอย่างจริงจังในลักษณะที่มีการดำเนินการอยู่ในประเทศอินโดนีเซีย โดยเฉพาะในเขตอำเภอสิงหนคร บริเวณแผ่นดินบกที่ติดกับร่องน้ำของทะเลสาบสงขลา ทั้ง ๆ ที่บนคาบสมุทรสทิงพระแห่งนี้มีการค้นพบโบราณวัตถุต่าง ๆ มากมาย โดยชาวบ้านในท้องถิ่นที่ทำการเกษตรกรรมและขุดพบขึ้นมาตั้งแต่ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 วัตถุโบราณเหล่านี้ถูกรวบรวมโดยพระภิกษุรูปหนึ่ง (คือพระศีลสังวร) ซึ่งภายหลังในปี พ.ศ. 2483 ได้มีการจัดเก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์ภัทรศีล ณ วัดมัชฌิมาวาส จังหวัดสงขลา เพื่อให้อนุชนรุ่นหลังได้ศึกษา

พื้นที่บริเวณแผ่นดินบกในเขตอำเภอสิงหนครนี้ยังต้องการโครงการขุดสำรวจทางโบราณคดีอย่างเป็นระบบจากนักวิชาการ เพื่อให้เข้าใจถึงประวัติความเป็นมาของภาพในอดีต ที่แสดงถึงความรุ่งเรืองของดินแดนที่เคยเป็นแหล่งชุมชนบนเส้นทางเดินเรือของโลกอารยธรรม 2 ฟากระหว่างตะวันตกอาหรับเปอร์เชีย กับฝ่ายตะวันออกคือจีนในอดีต ราวพุทธศตวรรษที่ 12 เป็นต้นมา และจะได้เป็นการพิสูจน์ให้เห็นกันเสียทีว่าประวัติศาสตร์และอารยธรรมของอาณาจักรศรีวิชัยนั้นมีต้นกำเนิดอยู่ในดินแดนทางภาคใต้ของประเทศไทยของเรานี่เอง

หนังสืออ้างอิง :

กรมศิลปากร. รายงานการสัมมนาเรื่องประวัติศาสตร์และโบราณคดีศรีวิชัย. ณ โรงแรมวังใต้ จังหวัดสุราษฎร์ธานี. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2525.

ครองชัย หัตถา. ปัตตานี การค้า การเมืองและการปกครองในอดีต. โครงการปัตตานีศึกษา

คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ปัตตานี, 2541.

จันทร์จิรายุ รัชนี, หม่อมเจ้า. “เรื่องของอาณาจักรศรีวิชัย,” ใน รายงานการสัมมนาประวัติศาสตร์นครศรีธรรมราช ครั้งที่ 3 ประวัติศาสตร์นครศรีธรรมราชจากภาษาและวรรณกรรม. สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงศึกษาธิการ, 14-18 สิงหาคม 2526.

______. “หลักฐานที่ตรวจสอบได้เกี่ยวกับอาณาจักรศรีวิชัย,” ใน รายงานการสัมมนา

ประวัติศาสตร์นครศรีธรรมราชครั้งที่ 2 : ประวัติศาสตร์และสังคมของนครศรีธรรมราช. กรุงเทพฯ :  กรุงสยามการพิมพ์, 2526.

______. “Sri Vijaya in the 7th Century A.D.,” ใน รายงานการสัมมนาประวัติศาสตร์-โบราณคดีศรีวิชัย. กรุงเทพฯ : พิฆเณศ, 2525.

ชาญวิทย์ เกษตรศิริ. บรรณาธิการ. ประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ : สุวรรณภูมิ-อุษาคเนย์ภาคพิศดาร. เล่ม 1. ดี.จี.อี. ฮอลล์. เขียน. กรุงเทพฯ : มูลนิธิโตโยต้าประเทศไทยและมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2549.

เซเดส์, ยอร์ช. ประชุมศิลาจารึกภาค 2 : จารึกทวารวดี ศรีวิชัย ละโว้. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2504. 

ธรรมทาส พานิช. ประวัติศาสตร์ไชยา นครศรีธรรมราช. กรุงเทพฯ : เอ.พี. กราฟิกดีไซน์, 2541.

______. พนม ทวาราวดี ศรีวิชัย. นครหลวงกรุงเทพธนบุรี : สื่อการค้า, 2514.

ธิดา สาระยา. “พัฒนาการของรัฐบนคาบสมุทรไทย เน้นตามพรลิงค์ (คริสต์ศตวรรษที่ 6-13),” ใน รายงาน

การสัมมนาประวัติศาสตร์นครศรีธรรมราชครั้งที่ 3 : ประวัติศาสตร์นครศรีธรรมราชจากภาษาและวรรณกรรม. สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงศึกษาธิการ, 14-18 สิงหาคม 2526.

นงคราญ ศรีชาย. ตามรอยศรีวิชัย. กรุงเทพฯ : มติชน, 2544.

______. “นครศรีธรรมราชก่อนพุทธศตวรรษที่ 19,” ใน ประวัติศาสตร์โบราณคดีนครศรีธรรมราช. สำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 11 (นครศรีธรรมราช) สำนักโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร, 2543.

บังอร ปิยะพันธุ์. ประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้. กรุงเทพฯ : โอเดียนสโตร์, 2537.

ปรีชา  นุ่นสุข. หลักฐานทางโบราณคดีของประเทศไทยที่เกี่ยวกับอาณาจักรศรีวิชัย. ชุดนครศรีธรรมราชคดีศึกษา อันดับ 2 ศูนย์วัฒนธรรมภาคใต้ วิทยาลัยครูนครศรีธรรมราช จัดพิมพ์เนื่องในการสัมมนาประวัติศาสตร์นครศรีธรรมราช ครั้งที่ 2. วันที่ 25-27 มกราคม 2525. 

เพ็ญศรี กาญจโนมัย. ประวัติศาสตร์ทั่วไปของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้. กรุงเทพฯ : เค.ยู. บุ๊คเซ็นเตอร์, 2543.

ไพโรจน์ โพธิไทร. ภูมิหลังของเอเชียอาคเนย์. นครหลวงกรุงเทพธนบุรี : บรรณกิจเทรดดิ้ง, 2515.

ยุวัฒน์ วุฒิเมธี. สงขลา. สงขลา : สยามศิลปะการพิมพ์, 2548.

วิสันธนี โพธิสุนทร. “ศรีวิชัย” พัฒนาการอารยธรรมไทย. กรมศิลปากรจัดพิมพ์เนื่องในมหามงคลเฉลิมพระเกียรติ100ปี วันพระราชสมภพพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว 8 พฤศจิกายน 2536.

ศรีศักร วัลลิโภดม. พัฒนาการของบ้านเมืองในภาคใต้ของประเทศไทยในสมัยศรีวิชัย. สีหวัฒน์ แน่นหนาบรรณาธิการ. กรุงเทพฯ : พิฆเณศ, 2525.

สุจิตต์ วงศ์เทศ. ศรีวิชัย. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์การศาสนา, 2531.

สุเนตร ชุตินทรานนท์. “การควบคุมทางการเมืองของผู้นำศรีวิชัย,” ใน รายงานการสัมมนาประวัติศาสตร์นครศรีธรรมราช ครั้งที่ 2 ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจและสังคมของนครศรีธรรมราช. กรุงเทพฯ : กรุงสยามการพิมพ์, 2526.

สุภัทรดิศ ดิศกุล, หม่อมเจ้า. “อาณาจักรศรีวิชัย,” ใน รายงานการสัมมนาประวัติศาสตร์นครศรีธรรมราช ครั้งที่ 2 ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจและสังคมของนครศรีธรรมราช. กรุงเทพฯ : กรุงสยามการพิมพ์, 2526.

อนุมานราชธน, พระยา. แหลมอินโดจีนสมัยโบราณ. เสฐียรโกเศศ (นามแฝง) กรุงเทพฯ : เจริญรัตน์การพิมพ์, 2515.

Hall, D.G.E. A History of South-East Asia. Fourth Edition.  New  York : St. Martin’s press, 1981. 

Osborne, Milton. Southeast  Asia : An Introductory History. Ninth  Edition  Allen & Urwin, 

Australia, 2004.

Wheatley, Paul . The Golden Khersonese. Kuala  Lumper : University of Malaya Press, 1961.

Tarling, Nicholas . Editor. The Cambridge  History of Southeast Asia : Volume One, Part One From early time to c. 1500. UK. : Cambridge University Press, 1999.

หมายเหตุ : คัดเนื้อหาบางส่วนจากบทความ “เมื่อ “เช-ลิ-โฟ-ชิ” ไม่ใช่ “ไชยา” เมืองหลวงของ “อาณาจักรศรีวิชัย” จะอยู่ที่ไหน?”เขียนโดย ประจิต ประเสริฐประศาสน์ (ผู้ค้นคว้า) และประสิทธิ์ เอื้อตระกูลวิทย์ (เรียบเรียง) ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับกรกฎาคม 2558

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 21 ธันวาคม 2558

Source: https://www.silpa-mag.com/

The post เมื่อ “เช-ลิ-โฟ-ชิ” ไม่ใช่ “ไชยา” เมืองหลวงของ “อาณาจักรศรีวิชัย” จะอยู่ที่ไหน? appeared first on Thailand News.