พระพุทธสิหิงค์จากเชียงใหม่เคยประดิษฐานในกรุงศรีอยุธยา ตอนที่ 2 พระพุทธสิหิงค์จากเชียงใหม่มายังกรุงศรีอยุธยาในรัชกาลใด ?”
พระพุทธสิหิงค์จากเชียงใหม่มายังกรุงศรีอยุธยาในรัชกาลใด ?
สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงพระอธิบายไว้ใน เชิงอรรถอธิบายเรื่องศุภอักษรของอัครมหาเสนาบดีไทยเรื่องการเชิญพระพุทธสิหิงค์จากเชียงใหม่ลงมาประดิษฐานไว้ในกรุงศรีอยุธยาตามที่คุณสุจิตต์ยกมาแล้วนั้น ก็ทรงยืนยันเช่นกันว่าพระพุทธสิหิงค์ก็เคยประดิษฐาน ที่กรุงศรีอยุธยาอย่างช้าที่สุดก็ในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าบรมโกศแล้ว พร้อมกันนี้ได้ทรงอ้างอิงคำให้การชาวกรุงเก่าว่าได้เชิญพระพุทธสิหิงค์ลงมาจากเชียงใหม่ในรัชกาลสมเด็จพระนเรศวร (ดำรงราชานุภาพ 2546, 344 – 345: เชิงอรรถที่ 15) ซึ่งอันที่จริงแล้วคำให้การชาวกรุงเก่าระบุชัดเจนว่าเป็นรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ (ดูรายละเอียดใน คำให้การชาวกรุงเก่า 2546, 99 – 100, 108 – 109)
มีหลักฐานมากมายที่แสดงว่าได้เชิญพระพุทธสิหิงค์จากเชียงใหม่ลงมาประดิษฐาน ณ กรุงศรีอยุธยาในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ คำให้การชาวกรุงเก่าอธิบายถึงมูลเหตุดังกล่าวว่าเกิดจากการที่สมเด็จพระนารายณ์ต้องพระราชประสงค์ในพระพุทธรูปสำคัญของเชียงใหม่ คือ พระพุทธสรหิง (สิหิงค์) และพระเจ้าแก่นจันทน์แดง จึงทรงยกทัพไปตีเชียงใหม่จนได้รับชัยชนะ เมื่อทอดพระเนตรพระพุทธสรหิงแล้วก็ตรัสถามพระยาแสนหลวงอำมาตย์ของเชียงใหม่ว่า “เราได้ทราบข่าวว่าพระพุทธสรหิงนี้มีอานุภาพ เหาะเหีรเดีรอากาศได้จริงหรือ พระยาแสนหลวงกราบทูลว่าแต่เดิมเมื่อพระพุทธสรหิงยังประดิษฐานอยู่ที่เมืองปาตลีบุตรนั้นเหาะเหีรเดินอากาศได้จริง แต่มีคนทุจริตมาควักเอาแก้วมณีที่ฝังเปนพระเนตรไปเสีย แต่นั้นมาพระพุทธสรหิงก็เหาะเหีรเดีรอากาศไม่ได้” (คำให้การชาวกรุงเก่า 2546, 108 – 109)
สมเด็จพระนารายณ์โปรดเกล้าฯ ให้เชิญพระพุทธสิหิงค์ลงมาประดิษฐานไว้ยังหอพระในพระราชวัง ขณะที่หลักฐานประเภทคำให้การเหมือนกัน อย่างคำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรมระบุว่าประดิษฐานใน “พระมหาวิหารยอดปรางค์ปราสาทในวัดพระศรีสรรเพชร” ดังได้กล่าวมาแล้ว ส่วนหลักฐานประเภทพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาที่ชำระในสมัยรัตนโกสินทร์ เช่น ฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพน ที่ศานติ ภักดีคำ ปริวรรตจากฉบับตัวเขียน กล่าวถึงสงครามอันยืดเยื้อระหว่างกรุงศรีอยุธยากับเชียงใหม่ในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ โดยไม่กล่าวถึงการเชิญพระพุทธสิหิงค์ลงมาประดิษฐาน ณ กรุงศรีอยุธยาแต่อย่างใด นอกจากข้อความที่กล่าวถึงแสนสุรินไมตรีถือหนังสือลวงมาถึงกรุงศรีอยุธยาให้ยกพลไปช่วยชาวจีนฮ่อที่มาล้อมเชียงใหม่ ดังนี้
“พญาแสนหลวงแลชาวเมืองเชียงใหม่ทังปวงหาที่พึ่งพิงพำนักนิ์มิได้ จึ่งเสี่ยงทายในอารามพระพุทธสหิง ซึ่งอยู่ ณะ เมืองเชียงใหม่นั้นว่า ถ้าประเทศใดจะเปนที่พึ่งที่พำนักนิ์ได้ไช้ ขอพระพุทธเจ้าสำแดงให้เห็นประจัก แลว่าพระพุทธสหิงนั้นบ่ายพระภักตรมายังกรุงเทพมหานคร บวรทวาราวะดีศรีอยุทธยา” (พนรัตน์ 2558, 210)
ในขณะที่ พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1 ของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (2539, 155) ระบุว่าสมเด็จพระนารายณ์เชิญจากเชียงใหม่มาประดิษฐานที่กรุงศรีอยุธยา ดังข้อความว่า“พระพุทธสิหิงค์องค์นี้ เมื่อแผ่นดินพระนารายณ์มหาราชเจ้าเสดจขึ้นไปตีเมืองเชียงใหม่ ก็ได้เชิญเสดจลงมาไว้ที่กรุงเก่าครั้งหนึ่ง”
หลักฐานที่น่าเชื่อถือที่สุด ที่แสดงถึงการเชิญพระพุทธสิหิงค์จากเชียงใหม่ลงไประดิษฐานยังกรุงศรีอยุธยา ในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ เป็นสำเนาจารึกของวิหารร่มพระแท่นศิลาอาสน์ จ.อุตรดิตถ์ จารึกเป็นแผ่นไม้ถูกไฟไหม้ไปในรัชกาลที่ 5 พร้อมกับวิหาร ที่เหลืออยู่เป็นสำเนาที่ข้าราชการในสมัยรัชกาลที่ 3 คัดลอกไว้ผู้จารจารึกคือออกญาสวรรคโลก เจ้าเมืองสวรรคโลก เมื่อ พ.ศ. 2301 ในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ ได้มาตรวจราชการยังเมืองอุตรดิตถ์และนมัสการพระแท่นศิลาอาสน์ เห็นความชำรุดทรุดโทรมของวิหาร จึงได้ช่วยบูรณปฏิสังขรณ์ ออกญาท่านนี้เป็นหลานปู่ของพระเจ้าเชียงตุง และมีย่าผู้เป็นธิดาของเจ้าฝาไล้ค่า เจ้าเมืองลำปาง ส่วนตาของท่านก็สืบเชื้อสายจากพญาแมนเจ้าเมืองเชียงใหม่ ดังนี้
“ด้วยออกพระศรีราชไชยมหัยสุรินบุรินทพิริยะภาหะ พระท้ายน้ำ ยกเชื้อฝ่ายปู่พระเจ้าเชียงตุง ฝ่ายย่าเป็นบุตรเจ้าฝ่าไล้ค่าได้กินเมืองละคร ฝ่ายตาเป็นบุตรพญาแมนได้กินเมืองเชียงใหม่ แลครั้งสมเด็จพระนารายณ์เป็นเจ้ามารับเชียงใหม่ ได้พระพุทธสิหิงค์ แล้วกวาดต้อนเอาแมนลาวทั้งนี้ ลงมาเป็นข้าพระเจ้ากรุงศรีอยุธยา แลทรงพระกรุณาเป็นที่สุดที่ยิ่ง ปลูกเรืยงแต่ปู่แล้วมาบิดาแล้วมาน้อง ให้เป็นพญายมราชต่อๆ กันมา ได้เป็นน้ำเป็นที่พึ่งแก่แมนลาวทั้งปวงแล้ว” (ห้องเอกสารตัวเขียน หอสมุดแห่งชาติ จ.ศ. 1205, ไม่มีเลขหน้า)
สำเนาจารึกนี้เคยตีพิมพ์ในหนังสือประชุมจดหมายเหตุสมัยอยุธยา ภาค 1 (2510, 75) แต่อ่านคลาดเคลื่อนจากต้นฉบับสำเนาว่า “มารํบเมียงเชยีงไมใดพรพุธ่ส่หิ่ง” เป็น “มารบเมืองเชียงใหม่ไม่ได้พระพุทธสิหิงค์” ที่จริงแล้วควรอ่านว่า “มารบเมืองเชียงใหม่ได้พระพุทธสิหิงค์” ทำให้เกิดความเข้าใจผิดกันมาตลอดว่าการศึกครั้งนั้นสมเด็จพระนารายณ์เพียงแต่ทรงได้รับชัยชนะ แต่ไม่ได้พระพุทธสิหิงค์มาไว้ที่กรุงศรีอยุธยา
การตีเชียงใหม่ของสมเด็จพระนารายณ์ได้รับการยืนยันจากหลักฐานร่วมสมัย อย่างบันทึกของซิโมน เดอ ลาลูแบร์ ผู้ได้รับคำบอกเล่าจากชาวอยุธยาที่เคยติดตามไปในสงครามระหว่างอยุธยากับเชียงใหม่ ว่าเกิดขึ้นเมื่อราว 30 ปี ก่อนที่ท่านจะเขียนบันทึกเรื่องราวของราชอาณาจักรอยุธยาใน พ.ศ. 2231 ในช่วงปลายรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์(เดอะ ลาลูแบร์ 2548, 26) แสดงให้เห็นว่าสงครามครั้งนั้นต้องเกิดขึ้นหลังจากสมเด็จพระนารายณ์ขึ้นครองราชสมบัติ ในพุทธศักราช 2299 แล้วเพียงไม่กี่ปี ข้อมูลของลา ลู แบร์ ได้รับการยืนยันจากความสังเขปของตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ และตำนานสิบห้าราชวงศ์ ระบุศักราชแคบลงไปอีกว่าตรงกับ พ.ศ. 2203 หรือ 2204 ดังข้อความว่า
“ปีกัดใจ้ (พ.ศ. 2203/2204) ชาวใต้ยอพลขึ้นมารบเชียงใหม่ บ่ได้ เชียงแสนพ่าย ชาวใต้ปีนั้น” (ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ 2543, 128)
และ“ศักราช 1022 ตัว ปีกดไจ้ ชาวใต้ยอพลเสิกก็ ขึ้นมารบเมืองเชียงใหม่บ่ได้ เชียงแสนพ่ายชาวใต้ปีนั้น”(ตำนานสิบห้าราชวงศ์ ฉบับสอบชำระ 2540, 111)
ช่วงระยะเวลาดังกล่าวตรงกับต้นรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ตามที่ลาลูแบร์ได้บันทึกไว้
สมเด็จพระนารายณ์ทรงทิ้งเมืองเชียงใหม่ให้ร้างลง (เดอะ ลา ลูแบร์ 2548, 26) แล้วกวาดต้อน“แมนลาวทั้งปวง” เทครัวลงมายังกรุงศรีอยุธยาจนหมดสิ้น สงครามครั้งนั้นบรรดาเจ้านายฝ่ายเหนือรวมไปถึงพระเจ้าเชียงตุงคงถูกกวาดต้อนมาเกือบทั้งหมด พร้อมกับชาวล้านนาที่คงมีจำนวนไม่น้อยเลย อย่างไรก็ตาม ออกญาสวรรคโลกจารึกว่า สมเด็จพระนารายณ์ทรงพระกรุณาชุบเลี้ยงเชื้อพระวงศ์เหล่านั้นเป็นอย่างดี โปรดให้ปู่ของท่านดำรงตำแหน่งเป็นถึงออกญายมราช รวมไปถึงบิดาและน้องชายก็ดำรงตำแหน่งเดียวกัน ส่วนตัวท่านเองได้รับการแต่งตั้งจากสมเด็จพระเจ้าบรมโกศให้เป็นออกญาสวรรคโลกจากความดีความชอบในการปราบกบฏ
ชาวล้านนากลุ่มนี้คงได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งบ้านเรือนอยู่ในกรุงศรีอยุธยา อย่างน้อย 2 แห่งด้วยกัน โดยอนุมานจากเจดีย์ทรงพระธาตุหริภุญชัยที่ปรากฏขึ้นตามวัดนอกเกาะเมืองกรุงศรีอยุธยา ที่น่าจะเป็นศูนย์กลางสำคัญของชุมชนแห่งหนึ่งได้แก่ บริเวณวัดแคร้างใกล้กับคลองสระบัว และอีกแห่งคือบริเวณวัดใหม่บางกระจะ และวัดนางกุย ตั้งอยู่คุ้งน้ำด้านทิศใต้นอกเกาะเมืองฝั่งตรงข้ามป้อมเพ็ชรและวัดพนัญเชิงไม่ไกลจากหมู่บ้านโปรตุเกส
หลักฐานที่ประมวลมาทั้งหมดนี้จึงพอทำให้เห็นภาพว่าการเชิญพระพุทธสิหิงค์ พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของเชียงใหม่และอาณาจักรล้านนา ลงมาประดิษฐาน ณ กรุงศรีอยุธยาว่าเกิดขึ้นในช่วงต้นรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ หลังจากทรงทำสงครามกับเชียงใหม่และเมืองต่างๆ ในล้านนาจนได้รับชัยชนะ
บรรณานุกรม
คำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม เอกสารจากหอหลวง. 2555. พิมพ์ครังที่ 2. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.
คำให้การชาวกรุงเก่า. 2546. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.
ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จฯ กรมพระยา. 2546. เรื่องประดิษฐานพระสงฆ์สยามวงศ์ในลังกาทวีป. กรุงเทพฯ: มติชนและมูลนิธิสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพและหม่อมเจ้าจงจิตรถนอม ดิศกุล พระธิดา.
เดอะ ลาลูแบร์. 2548. จดหมายเหตุลา ลู แบร์ ราชอาณาจักรสยาม. แปลโดย สันต์ ท.โกมลบุตร. กรุงเทพมหานคร: ศรีปัญญา.
ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่. 2547. ปริวรรตโดยอรุณรัตน์ วิเชียรเขียว. เชียงใหม่: ซิลค์เวอร์มบุคส์.
ตำนานสิบห้าราชวงศ์ ฉบับสอบชำระ. 2540. ปริวรรตโดย สมหมาย เปรมจิตต์. เชียงใหม่: สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.
ทิพากรวงศ์ฯ, เจ้าพระยา. 2539. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1 ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ ฉบับตัวเขียน.
ประชุมพงศาวดารฉบับราษฎร์ ภาคที่ 1. นฤมล ธีรวัฒน์ ผู้ชำระต้นฉบับ. นิธิ เอียวศรีวงศ์ บรรณาธิการ. กรุงเทพฯ: อมรินทร์วิชาการ.
ประชุมจดหมายเหตุสมัยอยุธยา ภาค 1. 2510. พระนคร: คณะกรรมการจัดพิมพ์เอกสารทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และโบราณคดี สำนักนายกรัฐมนตรี.
พนรัตน์, สมเด็จพระ. 2558. พระราชพงศาวดารฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพน. ศานติ ภักดีคำ ผู้ชำระต้นฉบับ. กรุงเทพฯ: มูลนิธิ
“ทุนพระพุทธยอดฟ้า” ในพระบรมราชูปถัมภ์. (มูลนิธิ “ทุนพระพุทธยอดฟ้า” ในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดพิมพ์โดยเสด็จพระราชกุศลในการพระราชทานเพลิงศพ พระธรรมปัญญาบดี (ถาวร ติสฺสานุกโร ป.ธ. 9 อดีตเจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนวิมมังคลาราม ณ เมรุหลวงหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส วันอาทิตย์ที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2558).
ห้องเอกสารตัวเขียน หอสมุดแห่งชาติ. 2386. จดหมายเหตุเรื่องจารึกยกพระวิหารแท่นศิลาอาสน์ จ.ศ. 1205. จดหมายเหตุรัชกาลที่ 3.
เลขที่ 17. สมุดไทยดำ.
(ขอบพระคุณเพจห้องเรียนประวัติศาสตร์ศิลป์ https://www.facebook.com/ArtHistoryClassroom/?fref=ts)
The post พระพุทธสิหิงค์จากเชียงใหม่เคยประดิษฐานในกรุงศรีอยุธยา ตอนที่ 2 พระพุทธสิหิงค์จากเชียงใหม่มายังกรุงศรีอยุธยาในรัชกาลใด ?” appeared first on Thailand News.