ติดตามผ่านช่อง : Siammongkol Youtube Channel

จาก “สุราษฎร์” ถึง “นครฯ” รอยประวัติศาสตร์ที่ไม่ธรรมดา

จาก “สุราษฎร์” ถึง “นครฯ” รอยประวัติศาสตร์ที่ไม่ธรรมดา

เมืองทางภาคใต้ของด้ามขวานทอง หากเดินทางด้วยรถยนต์ เมื่อพ้นจากจังหวัดประจวบคีรีขันธ์แล้วจะเข้าสู่ชุมพร แล้วเป็นจังหวัดสุราษฎร์ธานีตามลำดับ สองข้างทางยังเป็นสวน แต่เปลี่ยนจากสวนผลไม้เป็นสวนยางบ้าง สวนปาล์มบ้าง ผันแปรไปตามโลกที่เปลี่ยนแปลง พื้นที่ตั้งแต่สุราษฎร์ธานีลงไปนั้น ร่องรอยของเมืองโบราณถูกบดบังด้วยบ้านเรือน ที่อยู่อาศัย ร้านค้า ย่านธุรกิจ หากมองอย่างผิวเผินแล้วเป็นการยากที่เห็นว่าพื้นที่บริเวณนี้เคยเจริญรุ่งเรืองถึงขีดสุดในอดีตเป็นพันๆ ปีมาแล้ว

จากบันทึกประวัติศาสตร์ อาณาจักรทางภาคใต้ คือพื้นที่ จังหวัดสุราษฎร์ธานีและนครศรีธรรมราช เชื่อว่าเป็นเส้นทางสายไหมในอดีตเส้นทางหนึ่ง สุราษฎร์ธานีเคยเป็นที่ตั้งของเมืองเก่าและเป็นศูนย์กลางของเมืองศรีวิชัย โดยมีหลักฐานว่าพื้นที่อำเภอไชยา ซึ่งเป็นอำเภอหนึ่งในจังหวัดสุราษฎร์ธานี อยู่ทางภาคใต้ตอนบนฝั่งทะเลอ่าวไทย เป็นที่ตั้งของ “ชุมชนโบราณไชยา” เมืองสำคัญในสมัยศรีวิชัยช่วงพุทธศตวรรษที่ 13-18

จากหลักฐานในจารึกต่างๆ ยังระบุอีก ว่าช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 18 หรือราวปี พ.ศ. 1726 ชุมชนโบราณไชยามีชื่อว่าเมือง “ครหิ” มีมหาเสนาบดีตลาไนเป็นผู้รักษา โดยอยู่ภายใต้อำนาจของกษัตริย์ชื่อ “ศรีมัตไตรโลกยราชภูษนวรรมเทวะ” สันนิษฐานว่าอาจมีความเกี่ยวข้องกับบ้านเมืองทางภาคกลางของไทยที่รับอิทธิพลอาณาจักรขอม

จากนั้นในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 18 ราว พ.ศ. 1774 พบจารึกกล่าวสรรเสริญพระเจ้าจันทรภาณุแห่งอาณาจักรตามพรลิงค์ จึงสันนิษฐานว่าในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 18 เมืองโบราณไชยาตกอยู่ใต้อำนาจของอาณาจักรตามพรลิงค์ หรือนครศรีธรรมราช ภายหลังอาณาจักรตามพรลิงค์รุ่งเรืองมากขึ้น เมืองไชยาก็เป็นหนึ่งในเมืองสิบสองนักษัตรของเมืองนครศรีธรรมราชด้วย ดังนั้น สุราษฎร์ธานีและนครศรีธรรมราช จึงเกี่ยวพันกันจนยากจะเอ่ยถึงเพียงเมืองใดเมืองหนึ่งแต่ลำพัง

ช่วงพุทธศตวรรษที่ 20 ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ 24 เมืองโบราณไชยากลายเป็นหัวเมืองชั้นตรีของอยุธยา และมีฐานะเป็นเมืองท่าแห่งหนึ่งในภาคใต้ตอนบน มีรูปแบบศิลปกรรม “สกุลช่างไชยา” เป็นของตนเอง ซึ่งต่อมาได้รับอิทธิพลจากศิลปะอยุธยาเข้ามาผสม นอกจากนี้ยังมีความสัมพันธ์ทางด้านการค้ากับจีนและอังกฤษ พบเจดีย์และพระพุทธรูปศิลปะสกุลช่างไชยาในชุมชนภาคใต้บริเวณใกล้เคียง สะท้อนให้เห็นถึงการติดต่อสัมพันธ์กับชุมชนอื่นๆ ในภาคใต้ด้วย

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวงในหัวเมืองภาคใต้ รัชกาลที่ 5 ได้โปรดเกล้าฯ ให้เมืองกาญจนดิษฐ์ เมืองคีรีรัฐนิคม และเมืองไชยารวมตัวเป็นจังหวัดไชยา ขึ้นตรงต่อมณฑลชุมพร เมื่อเมืองขยายใหญ่ขึ้น จึงมีการปรับเปลี่ยนการปกครองและขยายเมืองออกไป ต่อมามีการแยกเมืองกาญจนดิษฐ์เป็นอำเภอกาญจนดิษฐ์และอำเภอบ้านดอน กระทั่งมาในรัชกาลที่ 6 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มีการย้ายอำเภอเมืองมาที่อำเภอบ้านดอน และโอนชื่อมาเป็นอำเภอไชยา และให้ชื่อเมืองเก่าว่า “อำเภอพุมเรียง” แต่ชาวบ้านยังชินกับการเรียกชื่อเมืองเก่าว่า “อำเภอไชยา” ทั้งรัชกาลที่ 6 เอง ก็ไม่โปรดชื่อบ้านดอน จึงพระราชทานนามอำเภอบ้านดอนว่า “สุราษฎร์ธานี” รวมถึงเปลี่ยนชื่อเป็นจังหวัดสุราษฎร์ธานี

ใครไปสุราษฎร์ฯ ต้องไปกราบ พระบรมธาตุไชยา ปูชนียสถานสำคัญของภาคใต้ ที่เป็นหลักฐานแสดงถึงการรับพระพุทธศาสนาในคาบสมุทรแดนใต้ ตั้งแต่ยุคที่เมืองไชยายังเป็นเมืองสำคัญบนแหลมมลายู องค์พระบรมธาตุไชยาแสดงศิลปะศรีวิชัยไว้อย่างสมบูรณ์ที่สุด ขณะที่ด้านในประดิษฐานองค์พระเจดีย์หลวง ผนังก่ออิฐไม่สอปูน ที่มุมฐานด้านทิศใต้มีเจดีย์บริวารสร้างซ้อนอีกชั้น หลังคาเป็น 3 ชั้นลดหลั่นกันไป แต่ละชั้นประดับรูปวงโค้งและสถูปจำลอง 24 องค์

ไม่ไกลจากพระบรมธาตุไชยายังมีวัดร้างซึ่งเป็นโบราณสถานร่วมสมัยเดียวกัน คือ วัดหลงและวัดแก้ว แนวฐานเจดีย์เป็นศิลปะศรีวิชัยที่หลงเหลืออยู่ รอบด้านขุดค้นพบพระพุทธรูปดินดิบ สถูปดินดิบ พระพิมพ์ดินดิบ กระปุกและแจกันสมัยราชวงศ์ซ้องและเซ็ง เป็นหลักฐานทางโบราณคดีที่ทำให้เห็นความเป็นเมืองโบราณของไชยา

ประภัสสร์ ชูวิเชียร อาจารย์คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร มองว่าศูนย์กลางพุทธศาสนาที่เก่าแก่ เก่ากว่านครศรีธรรมราชอยู่ที่ไชยา และเป็นพุทธแบบมหายาน พุทธที่เราพบแบบทุกวันนี้คือพุทธแบบเถรวาท มาจากศรีลังกาซึ่งปรากฏอยู่ที่นครศรีธรรมราช ช่วงพุทธศตวรรษที่ 18-19 ลงมา หลักฐานคือพระธาตุเมืองนครฯ ที่สร้างเป็นเจดีย์ทรงระฆังคว่ำ ที่ฐานมีช้างล้อม ส่วนพระบรมธาตุไชยานั้นเป็นอิทธิพลจากชวา สร้างเป็นแบบปราสาทที่เราเรียกว่า “จันทิ” ชวาเป็นสายพุทธแบบมหายาน

“ดังนั้น งานศิลปกรรมมันบอกที่มาของความเชื่อหรือกลุ่มคนได้ พระธาตุไชยากับพระธาตุเมืองนครฯ ต่างกัน ที่มาก็ต่างกัน ศาสนาก็ต่างกันด้วย” อาจารย์ประภัสสร์สรุป

ขณะที่ ศรีศักร วัลลิโภดม นักวิชาการด้านโบราณคดีและมานุษยวิทยา เจ้าของรางวัลเอเชียฟูกูโอกะ ปี 2550 กล่าวว่าตั้งแต่ช่วงพุทธศตวรรษที่ 16 ลงมา ขณะที่เมืองละโว้หรือลพบุรี เป็นเมืองใหญ่ที่มีความรุ่งเรืองอย่างมากในลุ่มน้ำเจ้าพระยาซีกตะวันตก อย่างไม่มีเมืองไหนเทียบคียงได้ แต่ทว่า ระยะเดียวกันนี้ มีเมืองสำคัญทางชายทะเลเกิดขึ้นในภาคใต้ฝั่งทะเลตะวันออก คือ เมืองตามพรลิงค์ หรือต่อมาคือเมืองนครศรีธรรมราช เมืองนี้พัฒนาขึ้นจากกลุ่มเมืองและชุมชนโบราณที่เคยรุ่งเรืองมาแต่ราวพุทธศตวรรษที่ 12-13 ในบริเวณชายฝั่งทะเล ตั้งแต่อำเภอสิชล ท่าศาลา มาจนถึงอำเภอเมืองนครศรีธรรมราช บริเวณนี้เคยเป็นแหล่งที่มีการขนถ่ายสินค้าข้ามสมุทร จากเมืองท่าในฝั่งทะเลด้านตะวันตก มายังเมืองท่าที่ส่งต่อไปยังบ้านเมืองในเขตทะเลจีน ครั้นประมาณปลายศตวรรษที่ 16 เมืองตามพรลิงค์กลายเป็นเมืองใหญ่ขึ้น เพราะเป็นศูนย์อำนาจทางทะเล ชาวจีนเรียกว่า “สัน-โฟ-สี”

อย่างไรก็ดี เมื่อเจริญถึงขีดสุดก็มีเสื่อมลง เนื่องจากถูกชาวโจฬะจากอินเดียและชาวชวารุกราน และแข่งขันในเรื่องการค้า ที่สำคัญคือทางจีนได้เปลี่ยนนโยบายไม่ค้าขายแต่เฉพาะกับรัฐที่ทำหน้าที่เป็นคนกลางผูกขาดการค้าเท่านั้น กลับหันไปทำการค้าโดยตรงกับบรรดาบ้านเล็กเมืองน้อยที่ตนสามารถติดต่อได้แทน ผลที่ตามมาจึงทำให้เกิดเมืองใหญ่ๆ ชายทะเล ที่เป็นเมืองท่าอีกหลายแห่ง

ฉะนั้น เมืองตามพรลิงค์จึงเป็นเมืองสำคัญในระยะแรกๆ ที่เกิดขึ้นและเห็นตำแหน่งเมืองเด่นชัด บริเวณที่เป็นเมืองตามพรลิงค์นั้น ปัจจุบันชาวบ้านเรียกว่า “เมืองพระเวียง” หรือ “กระหม่อมโคก” แต่ก่อนมีร่องรอยของสระน้ำโบราณ ซากศาสนสถาน เช่น พระสถูปเจดีย์ กระจายอยู่ทั่วไป ขนาดใหญ่และเล็กตามผิวดินและลึกลงไปในดิน มีเศษภาชนะที่เป็นของทำขึ้นภายในท้องถิ่น และมาจากภายนอกกระจายอยู่ทั่วไป

น่าเสียดายว่าบริเวณที่เคยเป็นเมืองตามพรลิงค์นั้นถูกทำลายไปหมด เนื่องจากการสร้างสถานที่ทำการรัฐบาล ย่านการค้าธุรกิจ และย่านที่อยู่อาศัย สิ่งที่เหลือไว้ให้เห็นว่าเคยเป็นเมืองมาก่อน คือ ร่องรอยของคูเมืองและแนวกำแพงดินบางตอน รวมทั้งศาสนสถานสำคัญที่อยู่นอกเขตเมืองขึ้นไปทางตอนเหนือ คือ ฐานพระสถูปที่วัดท้าวโคตร และบรรดาซากโบราณสถานในศาสนาฮินดู

รศ.ดร. ประภัสสร์ ชูวิเชียร
ชวนดู-ฟัง เรื่องพรามหณ์ พุทธ ฮินดู

ถามว่า “ทำไมต้องไปนครศรีธรรมราชและสุราษฎร์ธานี” ความสำคัญของนครศรีธรรมราชแบ่งเป็น 2 ประเด็น คือ หนึ่ง-ในฐานะเป็นพื้นที่ที่เกี่ยวเนื่องกับการรับอิทธิพลวัฒนธรรมอินเดียเข้ามาไทยในยุคแรกๆ โดยมีหลักฐานเป็นสิ่งก่อสร้าง เช่น โบราณสถานแถบเขาคา อ.สิชล หรือแม้แต่ในตัวเมืองนครศรีธรรมราชเอง เช่น หอพระอิศวร หอพระนารายณ์ เป็นต้น แล้วยังที่ อ.ท่าศาลา พบจารึกที่เชื่อว่ามีอายุเก่าแก่ที่สุดในไทย เช่น จารึกหุบเขาช่องคอย ซึ่งน่าไปดูมาก อยู่ที่ อ.จุฬาภรณ์

นครศรีธรรมราชตั้งอยู่บริเวณที่เป็นปากทางช่องเขา เป็นเส้นทางติดต่อจากทะเลอันดามัน มหาสมุทรอินเดีย จากฝั่งตะวันตกมายังฝั่งตะวันออก คือ อ่าวไทย ขณะเดียวกันพ่อค้าที่มาจากทางฝั่งจีน ทะเลจีน จะไปโลกตะวันตก อินเดีย อาหรับ ก็ต้องข้ามช่องเขานี้ ไปลงที่ตรังเพื่อไปทะเลอันดามัน จุดนี้จึงเป็นจุดสำคัญมาก และเป็นพื้นที่ที่รับเอาอิทธิพลจากภายนอกเข้ามาครั้งแรกๆ เลย

เนื่องจากนครศรีธรรมาชเป็นเมืองหลักในคาบสมุทรภาคใต้ ซึ่งขึ้นอยู่กับลุ่มน้ำเจ้าพระยา จึงเป็นศูนย์กลางทางวัฒนธรรมในคาบสมุทรภาคใต้ ไม่ว่าเรื่องสำเนียงภาษา ศิลปกรรม วัฒนธรรม หรือศาสนา และยังมีส่วนสำคัญในการส่งต่อสิ่งเหล่านี้ให้กับพื้นที่อื่นในคาบสมุทรภาคใต้ด้วย สมัยโบราณเมืองหรือชุมชนในแถบนครศรีธรรมราชจะโตขึ้นมาก่อนเป็นอันดับแรก ส่วนพื้นที่ใกล้เคียงอย่างสุราษฎร์ธานี และพื้นที่ห่างไกลขึ้นไปทางเหนือ จะเป็นอีกจุดหนึ่งที่โตขึ้นมาเหมือนกัน เป็นกลุ่มของรัฐหรือผู้คนอีกกลุ่มที่เราเรียก “ศรีวิชัย” แต่จริงๆ แล้ว ศรีวิชัยอาจไม่ใช่ชื่อาณาจักร แต่เป็นชื่อของกลุ่มการค้า ส่วนทางใต้ลงมา มีชุมชนเก่าแถบปัตตานี เช่น เมืองยะรัง ก็เป็นอีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งเกือบจะเข้าสู่โลกมลายูแล้ว แต่นครศรีธรรมราชอยู่จุดกึ่งกลางพอดี จึงน่าจะมีบทบาทสำคัญในการเป็นศูนย์กลางของศิลปวัฒนธรรมในคาบสมุทรภาคใต้

ส่วนอิทธิพลของอยุธยาหรือลุ่มน้ำเจ้าพระยาสัมพันธ์กันอย่างไรนั้น จริงๆ แล้วนครศรีธรรมราชถือว่าเป็นรัฐที่เกิดขึ้นพร้อมกับอยุธยาและสุโขทัย อาจจะเกิดขึ้นก่อนเล็กน้อย คือรัฐที่เราเรียกว่าตามพรลิงค์ รัฐโบราณค่อยๆ สลายตัวไป สุดท้ายมันมาเกาะตัวกันตรงนครฯ

มีหลักฐานคือพระธาตุเมืองนครฯ ที่ผมเคยวิเคราะห์ว่ามีอายุตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 18 ได้รับอิทธิพลจากลังกา และจากตำนานของเมืองนครฯ ระบุไว้ชัดว่าในอดีตนครศรีธรรมราชมีกษัตริย์เป็นของตัวเอง แต่สุดท้ายกษัตริย์ของนครฯ องค์หนึ่งชื่อพระยาศรีธรรมโศกราชองค์สุดท้าย เป็นกษัตริย์ที่ยอมรับอำนาจของลุ่มน้ำเจ้าพระยา ในตำนานบอกว่าไปทำสนธิสัญญากับพระเจ้าอู่ทอง ที่บางสะพาน (ปัจจุบันคือ อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์) แล้วปักปันเขตแดน ขอขึ้นข้าขอบขัณฑสีมากับลุ่มน้ำเจ้าพระยา เลยกลายเป็นว่าตั้งแต่นั้นมาเมืองนครฯ เลยไม่มีบทบาทกษัตริย์ของตนเอง แต่ขึ้นอยู่กับลุ่มน้ำเจ้าพระยา

แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเมื่อไหร่ที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาอ่อนแอ คนที่เป็นเจ้าเมืองนครฯ ก็ขึ้นมามีอำนาจเสมอ จะเห็นได้ว่าในประวัติศาสตร์กษัตริย์ทางลุ่มน้ำเจ้าพระยาต้องปราบกบฏทางเมืองนครฯ ไม่ว่าในสมัยพระราเมศวร พระเจ้าปราสาททอง หรือแม้แต่หลังกรุงแตก พระเจ้าตากยังต้องเสด็จลงไปปราบก๊กเจ้าพระยานครน้อย เหล่านี้ ทำให้เห็นว่านครฯ มีกษัตริย์ปกครองตนเอง และมีเมืองบริวาร คือหัวเมืองปักษ์ใต้ต่างๆ ที่เราเรียกกันว่าเมือง 12 นักษัตริย์

แต่ช่วงเวลาที่มีกษัตริย์เป็นของตัวเองน่าจะอยู่แค่ 100-200 ปี และเมืองก็ประสบภาวะการทิ้งร้างหลายครั้ง ในตำนานบอกว่าโดนโรคห่าลงจนกระทั่งทิ้งร้างไป แม้แต่พระบรมธาตุยังหักพังลงมา ต่อมาค่อยมีคนกลับเข้ามาอยู่ มีกษัตริย์เข้ามาบูรณะ เป็นแบบที่เรียกว่ามีอยู่ เกิดขึ้น แล้วซบเซา

ดังนั้น เรื่องราวของนครศรีธรรมราช-สุราษฎร์ธานี บนหน้าประวัติศาสตร์ จึงไม่ธรรมดา

 

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 16 ตุลาคม 2561

Source: https://www.silpa-mag.com

The post จาก “สุราษฎร์” ถึง “นครฯ” รอยประวัติศาสตร์ที่ไม่ธรรมดา appeared first on Thailand News.