190 กว่าปีก่อน คนไทยเชื่อถือโชคลางของขลังอย่างไร?
สังฆราชปาเลอกัวซ์ (พ.ศ. 2348-2405) เป็นชาวฝรั่งเศสที่เข้ามาเมืองไทยเมื่อ พ.ศ. 2372 โดยที่ยังไม่รู้ภาษาไทย ในรัชสมัยรัชกาลที่ 4 โดยพำนักอยู่ในเมืองไทยเป็นเวลา 24 ปี (พ.ศ. 2372-2396)
หลังจากนั้นได้เดินทางกลับไปพักผ่อนที่ประเทศฝรั่งเศสเพื่อเยี่ยมญาติมิตร และได้เขียนหนังสือเกี่ยวกับเมืองไทยขึ้นใน พ.ศ. 2397 ต่อมาสันต์ ท. โกมลบุตร ได้แปลจากภาษาฝรั่งเศสเป็นภาษาไทย ให้ชื่อว่า “เล่าเรื่องเมืองไทย” (สนพ.ก้าวหน้า, พฤศจิกายน 2506)
บทความหนึ่งในหนังสือดังกล่าวชื่อ “การถือโชคลาง” ซึ่งกล่าวถึงพิธีกรรม, คติความเชื่อต่างๆ ที่อยู่ในวิถีชีวิตของคนไทย เมื่อ 190 กว่าปีที่แล้ว ไว้ดังนี้ [จัดย่อหน้าใหม่และสั่งเน้นคำโดยกองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม]
การถือโชคลางของขลังในประเทศสยามนั้นมิได้เนื่องมาจากพุทธศาสนา เหตุด้วยพระพุทธเจ้าได้ทรงห้ามพุทธบริษัท (sectateurs) มิให้ปรึกษาหมอทำนายโชคชะตาอนาคต (devins) เชื่อในลาง และโดยทั่วๆ ไปแล้วมิให้กระทำการอย่างใดๆ อันมีลักษณะเป็นหลงเชื่องมงาย
การรักษาความเชื่ออันไร้สาระนี้ไว้ในประเทศสยาม สืบเนื่องมาจากประเทศจีน และโดยเฉพาะอย่างยิ่งจากประเทศอินเดีย ซึ่งพวกพราหมณ์ปฏิบัติกันอยู่อย่างเชี่ยวชาญตามทำนองมายาการ การพยากรณ์โชคชะตาตามทำนองโหราศาสตร์ที่อาศัยดวงดาวในจักรราศี ข้าพเจ้าจะพรรณนาถึงความเชื่องมงายที่สำคัญๆ อันปฏิบัติในประเทศ
พระเจ้าแผ่นดิน ได้อุปการะชาวอินเดียนไว้จำพวกหนึ่งเรียกว่า โหร (hôn) ซึ่งพระองค์ได้ทรงสร้างโบสถ์พระราชทานให้เพื่อปฏิบัติศาสนกิจบูชาพระพรหม (Brama) พระวิษณุ (Vishnu) และพระศิวะ (Siva) ณ ที่นั้นเราจะได้เห็นเทวรูปอันน่ากลัวของอินเดีย มีเศียรเป็นช้างบ้าง มีสี่กรถือพระขรรค์บ้าง กับภาพอันแสดงถึงเทพนิยายของพราหมณ์เป็นอันมาก
หน้าที่ของโหร โดยมากเกี่ยวกับการทำนายฝนหรือแล้ง การสงครามและสันติภาพ พยากรณ์นิมิตลางโดยการคำนวณทางโหราศาสตร์ และโดยเฉพาะเป็นผู้กำหนดฤกษ์วันและเวลาอันเป็นมหามงคลแก่การประกอบกิจที่สำคัญๆ พระเจ้าแผ่นดินจะไม่ทรงปฏิบัติพระราชกิจอย่างไรลงไปเลยโดยที่มิได้ทรงปรึกษาโหรเสียก่อน ถ้าการพยากรณ์นั้นได้ผล ก็ได้รับพระราชทานรางวัลเป็นอันมาก ถ้าคราวไรทำนายพลาดไป ก็จะถูกปลดจากตำแหน่งและถูกโบยหลังไปเหมือนกัน
ทางฝ่ายประชาชนก็มีผู้ทำนายทายโชคชะตาของเขาอยู่เหมือนกัน เรียกว่าหมอดู (módu) ไว้ปรึกษาเมื่อเจ็บไข้ได้ป่วย เมื่อของหาย หรือเมื่อจะหาฤกษ์งานการวิวาห์ การโกนจุก การเดินทางไกล ฯลฯ ลางคนไปหาหมอดูเพื่อแสวงโชคทางการพนัน เพื่อให้ช่วยดูว่าของที่หายไปนั้นถูกซุกซ่อนอยู่ที่ไหน หรือไม่ก็ให้ทำนายโชคชะตาราศีให้
คนไทยเชื่อว่ามีวิธีทำให้อยู่ยงคงกระพันได้ และมีไม่น้อยที่อวดว่าตนอยู่คง เล่ากันว่า ลางคนสามารถทำให้ปรอทแข็งเป็นก้อนได้ แล้วหลอมทำเป็นเม็ดกลมๆ นำติดไปกับตัว ใครจะฟันหรือยิงเอาก็ไม่เข้าทั้งนั้น เพราะฉะนั้น พวกขุนนางผู้ใหญ่และเจ้านายจึงแสวงโลหะชนิดนี้กันนัก พยายามทุ่มเททุกวิถีทางเพื่อซัดปรอทให้แข็ง ทำเป็นลูกกลมๆ เหน็บไว้ในซองเข็มขัดเสมอ ลางคนก็ใช้ประคำเม็ดใหญ่ทำด้วยไม้ที่หายาก หรือโลหะอย่างอื่น ที่เชื่อกันว่ามีสรรพคุณในทางอยู่คงกระพัน
เรามีเครื่องราง (amulettes) อยู่หลายชนิดที่ใช้ประดับตน เพื่อป้องกันโรคภัยไข้เจ็บ เป็นลูกประคำทองคำหรือเงินร้อยไว้ในด้ายเสก หรือเป็นตะกรุดดอกเล็กๆ ทำด้วยแผ่นโลหะ ลงเลขยันต์และอักขระศักดิ์สิทธิ์ที่เชื่อกันว่าขลัง ผู้หญิงแทบทุกคนคล้องสร้อยสังวาลชุบน้ำมนต์ คนที่จนหน่อยก็ใช้สายด้ายเสก
ถ้าผู้ใดเจ็บไข้มีอาการหนัก พ่อมดหมอผีจะปั้นรูปตุ๊กตาด้วยดินเหนียว นำไปในที่เปลี่ยว แล้วพร่ำสาธยายมนตร์หรือสาปแช่งเพื่อให้อาการเจ็บไข้ได้ป่วยของคนไข้ถ่ายไปสู่รูปปั้นนั้นแล้วก็นำไปฝั่งดิน ต่อจากนั้น ก็ให้เป็นที่แนใจได้ว่า โรคภัยไข้เจ็บจะหายไปได้
เมื่อจะปลูกเรือน ก็ต้องปรึกษาหมอดูก่อนว่า จะหันหน้าเรือนไปทางทิศไหน ประการที่สองต้องเลือกสถานที่ที่ไม่มีหลักตอเสาเก่าๆ ตั้งอยู่ในดิน ด้วยเป็นนิมิตที่แสดงว่าจะไม่ได้รับความสุขถ้าปลูกคร่อมลงที่ตรงนั้น ประการที่สาม ทุกสิ่งจะต้องเป็นจำนวนคี่ โดยเฉพาะขั้นบันได จำนวนประตูหน้าต่าง และจำนวนห้องหับ เขาให้ข้อสังเกตไว้ด้วยว่ามิพึงใช้เสาไม้สัก (ด้วยจะนำโรคร้ายมาสู่) ในบรรดาไม้เสาตะเคียน ลางทีมีลางต้นตกน้ำมันสีดำๆ เจ้าของบ้านจะรีบรื้อเรือนลงเพื่อเปลี่ยนเสาเสนียดนั้นเสียทันที
ครอบครัวเป็นอันมากมีศาลพระภูมิ (génie tutélaire) ไว้ในเรือนหรือในสวนใกล้บ้าน ศาลนี้มีลักษณะเป็นโบสถ์เล็กๆ จุดเทียนจุดธูปหอมบูชา มักจะพะรุงพะรังไปด้วยสิ่งแก้บน (ex-voto) เพราะมีอยู่บ่อยๆ ที่ผู้เจ็บไข้ได้ป่วยมาบนบานศาลกล่าวกล่าวไว้ เช่นว่าจะถวายควายตัวหนึ่ง ช้างเชือกหนึ่งแก่พระภูมิเจ้าที่ หรือไม่ก็ลิเกสักโรงหนึ่ง เมื่อหายเจ็บไข้แล้วก็เอาเบี้ย (cauries) ไปหาซื้อรูปปั้นด้วยดินทาสี ตามสิ่งที่ตนได้บนบานศาลกล่าวไว้ไปถวาย จึงอาจแก้บนได้ด้วยราคาถูกด้วยประการฉะนี้
………….
ถ้าหญิงคนใดแท้งลูก เขาจะเรียกหมอผีมานำเด็กตายคลอดนั้นลงใส่หม้อดิน ถือไว้ในมือซ้าย ส่วนมือขวาถือดาบ ครั้นไปถึงชายน้ำ ก็พร่ำสาธยายมนตร์สาปลูกกรอก (avorton) นั้นแล้วก็ฟันหม้ออย่างแรง โยนทิ้งน้ำไป หมอผีลางคนก็เลี้ยงลูกกรอกนั้นไว้ เรียกกันว่าเลี้ยงผี
กล่าวกันว่าหมอผีเหล่านั้นใช้คาถาอาคมบันดาลสิ่งมหัศจรรย์ได้หลายประการ สามารถใช้ผีร้ายไปสิงในร่างกายของบุคคลที่ตนจะก่อรำคาญให้ได้ ผีร้ายที่ส่งไปนั้นรู้จักกันในชื่อว่า กระสือ (Kasù) กระหาง (Kaháng) และ จะกละ (Kakla) เมื่อมันเข้าสิงอยู่ในร่างกายของมนุษย์แล้ว มันก็จะกินตับปอดหัวใจแล้วก็ถึงลำไส้ บุคคลนั้นจะผ่ายผอมลงไปทันตาเห็นทีเดียว ผอมแห้งลงไปทุกทีในที่สุดก็จะตายในไม่ช้า
เมื่อก่อนนี้ หมอผีอาจเสกหนังควายทั้งผืนย่อลงมาเหลือเท่าเมล็ดถั่วได้ เมื่อใส่ลงไปในอาหารของบุคคลที่ตนปรารถนาจะทำร้ายแล้ว พอกลืนลงไปเท่านั้น หนังก็จะบานอย่างน่ากลัวจนพุงของบุคคลที่บริโภคเข้าไปโดยไม่รู้ตัวนั้นแตกตาย
ยังกล่าวกันอีกว่าหมอผีเหล่านี้ สมคบกับพวกหัวขโมยมีวิธีการกระทำให้จังงังกันไปทั้งบ้าน สามารถขึ้นเรือนและลักทรัพย์สินสิ่งมีค่าไปได้โดยสะดวก เจ้าเรือนก็ได้ยินและเห็นหมดทุกอย่าง แต่ต้องอำนาจอันลึกลับสะกดมิให้กระดิกกระเดี้ยร้องขึ้นหรือทำการขัดขวางคนร้ายได้ มนตร์สะกดนี้จะเสื่อมก็ต่อเมื่อพวกคนร้ายไปเสียลิบลับแล้ว
กล่าวกันว่า ยังมีหมอผีที่มีความเก่งกล้าสามารถประกอบยาเสน่ห์ (philtres amoureux) ได้อีกด้วย ถ้าจะทำให้ผู้หญิงคนหนึ่งรักผู้ชายคนหนึ่ง หรือให้ผู้ชายคนหนึ่งผูกสมัครรักใคร่ผู้หญิงคนหนึ่งแล้วไซร้ ก็ใช้ยาลางชนิดปนลงในอาหารเครื่องบริโภคของบุคคลผู้นั้น ครั้นแล้วบุคคลผู้นั้นก็จะมีกิริยาดังเป็นบ้าไปทันที ยิ่งมีใครขัดขวางก็ยิ่งมีมานะใหญ่ จนกระทั่งปรากฏอยู่เนืองๆ ว่า ไม่หวาดหวั่นต่อการเสื่อมเสียชื่อเสียงหรือโทษทัณฑ์ใดๆ ทั้งสิ้น ทั้งสองจะพากันหลบหนีไปเสพสุข โดยปลอดอุปสรรค
ในประเทศสยาม มีการคลั่งหาขุมทรัพย์กันอยู่อย่างหนึ่ง โดยเฉพาะในวัดเก่าๆ ท่ามกลางสิ่งปรักหักพังของอยุธยานครร้าง คนที่มักมากมักจะกระทำการเสาะแสวงประเภทนี้ โดยเข้าไปในสถานที่ที่ตนเข้าใจว่ามีขุมทรัพย์ยังซ่อนอยู่ในเวลากลางคืนเมื่อจะเข้านอนก็กระทำพิธีบูชาด้วยดอกไม้ เทียน รูปหอม ข้าวตอก (riz crevé) แก่เจ้าที่เจ้าทาง (génie du lieu) เสียก่อน ขณะที่หลับอยู่นั้น ปีศาจจะมาสำแดงตนให้เห็นในฝัน บอกว่า : เอาหัวหมูหัวหนึ่งกับเหล้าโรงสองขวดมาให้ดูข้าสิ แล้วข้าจะอนุญาตให้สูเจ้าขุดเอาทรัพย์ไปได้ ลางทีปีศาจจะสำแดงทีท่าน่ากลัว ยกตะบองขึ้นขู่จะเข่นฆ่า พลางว่า อ้ายคนอัปรีย์ (profane) มึงนึกว่ามึงมีสิทธิในทองคำและเงินที่ฝังอยู่ที่นี่เรอะ? เมื่อเจ้าคนนั้นตกใจ ตื่นขึ้นก็จะรีบหนีไปให้พ้นสถานที่นั้นเสียโดยด่วน
คนไทยมีงานประเพณีอยู่ประการหนึ่งเรียกว่า ทำขวัญ (thana-khuán) เป็นทำนองคล้ายการปลุกขวัญบุคคลในช่วงชีวิตระยะต่างๆ ที่ผ่านมา เช่นเมื่อจะโกนจุก เมื่อจะอุปสมบท เมื่อจะแต่งงาน หรือในพิธีราชาภิเษก เป็นต้น เป็นงานประเพณีที่เนื่องมาจากลัทธิของพราหมณ์ กระทำกันเอิกเกริกมากน้อยแล้วแต่กำลังทรัพย์และฐานะของบุคคล
ต่อไปนี้เป็น วิธีการที่กระทำกันในหมู่ชนชั้นสามัญ: เขาใช้กระดานหรือไม้ไผ่ก่อเป็นรูปแท่นซ้อนๆ กันขึ้นไปเจ็ดชั้น แล้วปูลาดทุกๆ ชั้นด้วยใบตองสด แต่ละชั้นวางรูปหน้าเทวดาและสัตว์ ปั้นด้วยดินหรือกระดาษแข็งก็แล้วแต่ลางทีก็เป็นตัวตุ๊กตาสลักด้วยฝีมือหยาบๆ จากชิ้นฟักทอง มีขนม ข้าว และถ้วยทองเหลืองหรือถ้วยกระเบื้องบรรจุอาหารคาว ไข่ และผลไม้ ที่ชั้นยอดประดับพวงมาลัย เลื่อม และกระดาษทองกระดาษเงิน วางถวยใบใหญ่กับมะพร้าวอ่อน บนฐานยกพื้นเเท่นนั้นวางเทียนเก้าเล่มปักอยู่ในเชิงเทียน
ครั้นได้ฤกษ์ดีศรีสวัสดิ์ ก็จะยิงปืนขึ้นเป็นอาณัติสามนัด แล้วจุดเทียนขึ้น บุคคลผู้ได้รับการทำขวัญถือเทียนเล่มหนึ่งเดินเวียนรอบแท่นสามรอบ ครั้นแล้วผู้ช่วยในพิธีก็ถือเทียนคนละเล่มมาดับและเป่าควันไปที่ศีรษะของผู้รับการทำขวัญ แล้วเอาไส้เทียนที่ยังกรุ่นอยู่นั้นคลึงที่หน้าผาก ครั้นแล้วจึงเอามะพร้าวอ่อนลงมาจากบายศรีชั้นยอด ให้ดื่มน้ำมะพร้าวทั้งหมดกับกินไข่ต้มแข็ง ในขณะที่ผู้ช่วยในพิธีคนหนึ่งยื่นถ้วยบรรจุเงินหกสลึงให้ ขณะนั้นเขาก็ลั่นฆ้องและเล่นมโหรี เป็นอันเสร็จพิธี
ในประเทศสยามยังมีงานประเพณีที่แปลกอยู่อย่างหนึ่ง คือเมื่อน้ำท่วมขึ้นสู่ระดับสูงสุดและเริ่มจะลดลงแล้ว พระเจ้าแผ่นดินทรงจัดส่งพระภิกษุหลายร้อยรูปเป็นผู้แทนพระองค์ไปประกอบพิธีน้ำลด พระเหล่านี้ลงเรือลำงาม เชิญพระบรมราชโองการไปแจ้งแก่แม่พระคงคา และเพื่อให้ได้ผลรวดเร็วยิ่งขึ้นก็จะเริ่มสวดขับ (exorcisme) ให้น้ำในแม่น้ำลดลง ซึ่งลางครั้งมันก็กลับท่วมสูงขึ้นอีก…
พิธีอย่างเดียวกันนี้ใช้ในการขับโรคห่าด้วย เมื่ออหิวาตกโรคระบาด พระก็จะทำพิธีสวดขับลงทะเลไป แต่มีผู้บอกให้ทราบว่า เพื่อลงโทษพระองค์ที่กระทำการอันบังอาจต่อมัน เจ้าโรคระบาดนี้เล่นงานพระสงฆ์เสียกว่าครึ่งจำนวน ในชั่วระยะทางแปดลี้จากพระนครไปถึงปากน้ำเท่านั้น
คนไทยยังมีความตั้งใจเชื่อในนิยายมหัศจรรย์ที่มีมาจากคัมภีร์ของพราหมณ์อยู่มาก เชื่อว่ามีเงือกยักษ์ นางไม้ ปีศาจและผี เชื่อว่ามีสัตว์ประหลาดน่ากลัวตัวโต เช่น นาคซึ่งพ่นพิษเป็นเปลวไฟ เหรา (hera) และมังกร (mangkon) ซึ่งมีรูปพรรณคล้ายจรเข้ ครุฑที่กินเนื้อมนุษย์และนกยักษชื่อหัศดีลึงค์ (hatsadilung) อันเล่ากันว่ามีจะงอยปากเหมือนงวงช้าง
ข้าพเจ้ายังมีเรื่องราวอีกมากมายที่จะพรรณนาไว้ได้ในตอนที่เกี่ยวกับการถือโชคถือลางนี้ แต่ก็คิดว่าเพียงเท่านี้คงพอแล้ว…
Source: https://www.silpa-mag.com/
The post 190 กว่าปีก่อน คนไทยเชื่อถือโชคลางของขลังอย่างไร? appeared first on Thailand News.