ติดตามผ่านช่อง : Siammongkol Youtube Channel

มีเงินก็ซื้อได้: “ตราพระราชลัญจกร” สัญลักษณ์แห่งโอรสสวรรค์สู่มือนักประมูลสมบัติ

มีเงินก็ซื้อได้: “ตราพระราชลัญจกร” สัญลักษณ์แห่งโอรสสวรรค์สู่มือนักประมูลสมบัติ

ตราพระราชลัญจกรของจักรพรรดิคังซีในมือของนิโคลัส โจว ตัวแทนนายหน้าจัดการประมูล ภาพถ่ายเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2016 AFP PHOTO / PHILIPPE LOPEZ

เมื่อช่วงต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา ซอเธบีส์ (Sotheby’s) บริษัทนายหน้าประมูลของสะสมและงานศิลปะยักษ์ใหญ่ของโลกได้จัดงานประมูลตราพระราชลัญจกรในจักรพรรดิคังซี ฮ่องเต้ราชวงศ์ชิงซึ่งครองราชย์ยาวนานกว่า 61 ปี (ค.ศ.1661-1722) และมีผู้ประมูลไปได้ด้วยราคารวมค่าธรรมเนียมสำหรับผู้ชนะการประมูลที่ 92.6 ล้านดอลลาร์ฮ่องกง (ราว 416 ล้านบาท)

ตราประทับชิ้นนี้ทำจากไม้จันทน์สลักคำว่า “จิงเทียน ชิงหมิง” หรือ “เคารพฟ้า รับใช้ประชาชน” ถ้อยคำอันเป็นสัญลักษณ์แห่งอำนาจและเครื่องยืนยันสิทธิของฮ่องเต้ในฐานะผู้ได้รับอาณัติจากสวรรค์ให้ปกครองประชาชนตามปรัชญาจีนนับแต่โบราณ

“ความประสงค์ของสวรรค์คือเจตจำนงของประชาชน คุณต้องเคารพต่อผู้อยู่ใต้ปกครองเพื่อแสดงความเคารพต่อสวรรค์” นิโคลัส โจว (Nicolas Chow) รองประธานซอเธบีส์เอเชียกล่าวทั้งนี้จากรายงานของ South China Morning Post “มันเป็นหลักการที่ยังคงย้ำเตือนให้ทุกคนรู้ว่า ลัทธิขงจื๊อคือพื้นฐานอุดมการณ์แห่งรัฐเกือบตลอดระยะเวลาในประวัติศาสตร์จีนซึ่งมีหัวใจหลักที่ความเมตตาและคุณธรรม”

ซอเธบีส์บรรยายคุณสมบัติของสินค้าชิ้นนี้เพื่อจูงใจนักประมูลมหาเศรษฐีว่าเป็น “วัตถุที่มีความสำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์จีน” ที่เคยถูกนำออกประมูล “มันเป็นวัตถุที่คุณค่าไม่ได้อยู่ที่รูปลักษณ์ภายนอกเหมือนเครื่องถ้วยชามหรือภาพเขียน คุณค่าของมันคือประวัติศาสตร์ที่อยู่คู่กับมัน” โจวกล่าว

คำพูดของโจวแสดงให้เห็นว่า ตราพระราชลัญจกรชิ้นนี้เป็นวัตถุที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์เพียงใด และชัดเจนว่ามันเคยเป็นสมบัติของจักรพรรดิซึ่งก็น่าจะเป็นสมบัติของแผ่นดินเช่นกัน แต่เหตุใดมันจึงตกไปอยู่ในมือของนายหน้าจัดการประมูลได้?

ซอเธบีส์มิได้เปิดเผยตัวตนของผู้มอบสินค้าชิ้นนี้เข้าสู่การประมูล บอกแต่เพียงว่าเป็น “นักสะสมเอกชน” (People’s Daily) ขณะที่ผู้ชนะการประมูลก็มีการเปิดเผยเพียงว่าเป็น “นักสะสมชาวเอเชีย” เท่านั้น (International Business Times)

ด้วยข้อมูลเพียงเท่านี้คงตอบได้ยากว่า ตราประทับที่สำคัญชิ้นนี้หลุดไปอยู่ในมือเอกชนได้อย่างไร อาจเป็นไปได้ว่าบรรดาทายาทรุ่นหลังของฮ่องเต้คังซีแอบเอาตราประทับออกจำหน่ายเอง หรือสมบัติชิ้นนี้อาจถูกปล้นหรือลักขโมยไปจำหน่ายก็เป็นได้

เหตุการณ์หนึ่งที่ยังคงอยู่ในความทรงจำของชาวจีนหลายคนคือเหตุการณ์ในปี 1860 ปลายสงครามฝิ่นครั้งที่ 2 ที่จีนกำลังถูกชาติตะวันตกทั้งอังกฤษและฝรั่งเศสรุมโทรม “บีบบังคับ” ให้จีนเปิดการค้าเสรี กองทหารตะวันตกได้บุกปล้นทำลายพระราชวังฤดูร้อนของจีนจนย่อยยับ ผลของสงครามทำให้จีนต้องยอมรับข้อตกลงที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งเป็นรอยแผลแห่งความอัปยศครั้งสำคัญในสายตาชาวจีนยุคหลัง

“พวกทหารดูเหมือนจะถูกความบ้าคลั่งเข้าครอบงำไปชั่วขณะ” พยานในเหตุการณ์การปล้นพระราชวังฤดูร้อนกล่าว ทั้งนี้จากรายงานของบีบีซี “ทั้งร่างกายและจิตใจของพวกเขาถูกความปรารถนาหนึ่งเดียวดึงดูดเข้าไปนั่นคือการปล้นแล้วก็ปล้น” เจมส์ บรูซ เอิร์ลแห่งเอลจินที่ 8 (James Bruce, 8th Earl of Elgin) ข้าหลวงพิเศษของอังกฤษประจำประเทศจีนในช่วงสงครามฝิ่น ซึ่งเมื่อแรกเดินทางถึงประเทศจีนเขาบันทึกถึงความโหดร้ายในช่วงนั้นว่า “สงครามคือธุรกรรมแห่งความเกลียดชัง ยิ่งคุณได้เห็นมันมากเท่าไรคุณก็จะยิ่งเกลียดมันมากเท่านั้น”

ภาพถ่ายเมื่อปี 2005 ของซากพระราชวังฤดูร้อนในกรุงปักกิ่ง AFP PHOTO / STR

แต่เป็นลอร์ดเอลจินคนเดียวกันนี่เองที่เป็นคนสั่งให้ทำลายพระราชวังฤดูร้อน เพื่อแก้แค้นให้กับเชลยชาวอังกฤษและฝรั่งเศสรวมถึงนักข่าวของเดอะไทม์ที่ถูกฝ่ายจีนสังหาร และเขายังเป็นผู้อำนวยการจัดการประมูลทรัพย์สมบัตินับพันๆชิ้นที่ทหารอังกฤษ และฝรั่งเศสร่วมกันปล้นมาจากพระราชวังแห่งนี้ ซึ่งบีบีซีและเดอะไทม์ยืนยันตรงกันว่า พฤติกรรมดังกล่าวเป็นจารีตปกติของทหารที่สามารถใช้กำลังแย่งชิงทรัพย์สมบัติของผู้แพ้ในสงครามมาเป็นของตน “เพื่อเป็นค่าทดแทนให้กับครอบครัวและทหารผู้บาดเจ็บ” ดังนั้นในยุคสมัยดังกล่าวการแย่งชิงทรัพย์สมบัติของผู้แพ้จึงเป็นเหมือนทั้งสัญลักษณ์แห่งชัยชนะและค่าตอบแทนที่พึงได้โดยชอบ ไม่ใช่ “การปล้น”

พิพิธภัณฑ์วิศวกรรมในพระบรมราชูปถัมภ์ในจิลลิงแฮม (Gillingham) เป็นหนึ่งในสถานที่ที่เก็บรักษาทรัพย์สมบัติที่ถูกปล้นมาจากพระราชวังฤดูร้อนในปี 1860 ซึ่งเจมส์ สก็อตต์ (James Scott) ภัณฑารักษ์กล่าวกับเดอะไทม์ว่า “เราต้องระมัดระวังมาก…เราไม่สามารถพูดถึงคำว่าปล้นได้เลย เราพยายามสื่อความหมายออกไปอย่างเป็นกลางมากที่สุด”

ขณะเดียวกัน ทรัพย์สมบัติที่ถูกปล้นมาจากพระราชวังแห่งนี้ยังคงถูกนำออกประมูลเป็นระยะ บางชิ้นมีการระบุอย่างชัดเจนว่าถูกนำมาจากพระราชวังฤดูร้อนเพื่อเพิ่มมูลค่า ซึ่งยิ่งสร้างความโกรธแค้นให้กับฝ่ายจีนที่ยืนยันว่าจะไม่ยอมแพ้ในการติดตามเอาทรัพย์สินที่ถูกปล้นไปกลับคืนมาให้ได้ ทั้งนี้จากรายงานของเดอะไทม์โดย คริส บาวล์บี (Chis Bowlby) ทายาทของโธมัส วิลเลียม บาวล์บี (Thomas William Bowlby) นักข่าวอังกฤษที่ถูกสังหารโดยฝ่ายจีนในช่วงสงครามฝิ่น

ปัจจุบันผู้คนส่วนหนึ่งเริ่มสำนึกว่า การปล้นชิงทรัพย์ของผู้แพ้ในสงครามไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้อง รายงานของนิวยอร์กไทม์ระบุว่า ดไวท์ ไอเซนฮาวร์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้ออกกฎอย่างเข้มงวดห้ามทหารทำการปล้นทรัพย์ในยามสงคราม ถึงกระนั้นก็ห้ามทหารไม่ได้ทั้งหมด แต่อย่างน้อยก็เป็นสัญญาณของการเปลี่ยนแปลง และเมื่อปีที่ผ่านมา ทายาทของนายทหารอเมริกันสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่แอบส่งงานศิลปะล้ำค่าของเยอรมันกลับบ้าน ก็ได้ตัดสินใจมอบสมบัติชิ้นนี้คืนให้กับสถานทูตเยอรมนีหลังครอบครัวของเขาได้ครอบครองมันมานานหลายสิบปี

“ผมเก็บมันไว้ไม่ได้” เจมส์ เฮเธอริงตัน (James Hetherington) ลูกเลี้ยงของ พ.ต.วิลเลียม เอส. ออฟเตโบร (Maj. William S. Oftebro) กล่าวทั้งนี้จากรายงานของนิวยอร์กไทม์ “ไม่ว่าเขาจะได้มันมาจากการชนะไพ่โปกเกอร์หรือว่าอะไร ยังไงมันก็เป็นของที่ถูกขโมยมาอยู่ดี”

ที่กล่าวมาทั้งหมด ขอย้ำว่าผู้เขียนมิได้สรุปว่าตราพระราชลัญจกรชิ้นนี้ถูกขโมยหรือปล้นมา เพียงแต่ตั้งข้อสงสัยว่า ทรัพย์สินที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์เช่นนี้ (รวมไปถึงโบราณวัตถุชิ้นอื่นๆด้วย) เหตุใดจึงสามารถไปตกอยู่ในความครอบครองส่วนตัวของเอกชนและสามารถนำมาซื้อขายแลกเปลี่ยนได้ตามสะดวกโดยไม่ต้องเปิดเผยที่มาที่ไป ทำให้ชาวบ้านทั่วไปแทบไม่มีโอกาสที่จะได้ชื่นชมคุณค่าทางประวัติศาสตร์อันล้ำค่าของสมบัติชิ้นนี้ อย่างที่นายหน้านักประมูลอวดอ้าง

อ้างอิง:

1. Emperor Kangxi’s imperial seal to be auctioned at Sotheby’s Hong Kong: South China Morning Post

2. Qing emperor Kangxi’s seal fetches HK$81 million at Hong Kong auction: South China Morning Post

3. Sotheby’s sells ‘most important Chinese historical’ artifact for $11.8 in Hong Kong: International Business Times

4. Imperial seal of Emperor Kangxi to be sold at auction: People’s Daily

5. The palace of shame that makes China angry: BBC

6. Who’s to blame for palace of shame?: The Times

7. Returning the Spoils of World War II: Taken by Americans, The New York Times

Source: https://www.silpa-mag.com/

The post มีเงินก็ซื้อได้: “ตราพระราชลัญจกร” สัญลักษณ์แห่งโอรสสวรรค์สู่มือนักประมูลสมบัติ appeared first on Thailand News.