จิตรกรรมฝาผนังพระพุทธรัตนสถาน เล่าประวัติศาสตร์ของพระมหากษัตริย์แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ ตามแนวพระราชดำริ ในรัชกาลที่ 9
พระพุทธรัตนสถาน สร้างขึ้นในรัชกาลที่ 4 อยู่ในเขตพระราชฐานชั้นกลางของพระบรมมหาราชวัง คือบริเวณสวนศิวาลัยในปัจจุบัน ทรงสร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นสถานที่ประดิษฐานพระพุทธบุษยรัตนจักรพรรดิพิมลมณีมัย พระพุทธรูปที่ทำด้วยแก้วผลึกสีขาว ซึ่งอัญเชิญมาจากนครจำปาศักดิ์เมื่อครั้งรัชกาลที่ 2 เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จ รัชกาลที่ 4 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ใช้เขียนจิตรกรรมฝาผนังทั้ง 4 ด้าน เป็นเรื่องพระประวัติพระพุทธบุษยรัตนจักรพรรดิพิมลมณีมัยและการอัญเชิญมายังกรุงเทพฯ
พระพุทธรัตนสถาน
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระราชทานแนวพระราชดำริในการวาดภาพ
จนเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 พระพุทธรัตนสถานถูกแรงระเบิดจากการโจมตีทางอากาศ ทำให้ชายคาและผนังพุทธรัตนสถานด้านเหนือพังลง จนบูรณะเสร็จเมื่อพ.ศ 2496 จากนั้นพระพุทธรัตนสถานก็ได้รับการดูแลให้คงสภาพอันสมควรแห่งพระราชฐานสืบมา
แต่ก็เกิดความเสียหายแก่จิตรกรรมฝาผนังระหว่างช่องพระบัญชรด้านทิศเหนือ
เมื่อ พ.ศ. 2504 ทางสำนักพระราชวังให้กรมศิลปากรเขียนภาพขึ้นมาใหม่ รวมไปถึงผนังระหว่างช่องพระบัญชรทางด้านทิศใต้ด้วย ซึ่งจิตรกรรมที่เขียนขึ้นในครั้งนี้ ว่าด้วยพระราชประวัติและพระราชกรณียกิจในรัชกาลที่ 8 และ รัชกาลที่ 9 ในช่วงพ.ศ.2488-2489 ลักษณะของภาพนั้นจะเป็นศิลปกรรมแบบร่วมสมัย ซึ่งภาพที่เขียนขึ้นใหม่นั้นจะไม่สอดคล้องสัมพันธ์กับจิตรกรรมตอนบนที่เขียนในสมัยรัชกาลที่ 4
ต่อมาพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช จึงมีพระราชประสงค์ให้เปลี่ยนภาพจิตรกรรมใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับภาพจิตรกรรมตอนบนทั้งกรรมวิธีการสร้าง การใช้สี และรูปแบบศิลปะ เมื่อ พ.ศ. 2536 ซึ่งกรมศิลปากรสนองพระราชประสงค์ตามแนวพระราชดำริ
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กรมศิลปากรเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทรับพระราชกระแสเพื่อเลือกสาระของภาพจิตรกรรมทั้ง 8 ช่อง เมื่อพ.ศ.2542 โดยให้คำนึงว่าพระพุทธรัตนสถานคือ ประวัติศาสตร์ของพระมหากษัตริย์แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ ส่วนวิธีการเขียนนั้นให้ใช้สีฝุ่น
กรมศิลปากรรับพระราชกระแสมาร่างภาพทั้งภาพลายเส้น ภาพระบายสีและนำกราบถวายบังคมทูลอีก 3 ครั้ง เมื่อพ.ศ.2543, พ.ศ.2544 และ พ.ศ.2545 ซึ่งในแต่ละครั้งพระราชทานแนวพระราชดำรินานับปการ จนกรมศิลปากรจึงลงมือเขียนภาพจริงเมื่อ พ.ศ.2546 จนแล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ.2547
ส่วนเนื้อหาของภาพนั้นจะเริ่มตั้งแต่รัชกาลที่ 4 ทรงสร้างพระวิหารพุทธรัตนสถาน และเหตุการณ์สำคัญในรัชกาลต่อมาจนถึงรัชกาลที่ 9 โดยมีตัวอย่างดังนี้
เหตุการณ์ในรัชกาลที่ 5 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้แปลงพระวิหารพระพุทธรัตนสถานเป็นพระอุโบสถ เพื่อทรงพระผนวช
เหตุการณ์ในรัชกาลที่ 6 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงอภิเษกสมรสกับพระนางเจ้าสุวันทนา พระวรราชเทวี แล้วเสด็จฯ มานมัสการพระพุทธบุษยรัตนจักรพรรดิพิมลมณีมัย
เหตุการณ์ในรัชกาลที่ 7 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพ พรรณี เวียนเทียบรอบพระอุโบสถพุทธรัตนสถาน และบันทึกเหตุการณ์สมโภชกรุงรัตนโกสินทร์อายุครบ 150 ปี
เหตุการณ์ในรัชกาลที่ 8 พ.ศ.2488 พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ขณะดำรงพระอิสริยยศสมเด็จพระอนุชาธิราชและสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชชนี ขณะดำรงพระอิสริยยศ สมเด็จพระราชชนนีศรีสังวาลย์ เสด็จนิวัติพระนคร
เหตุการณ์ในสมัยรัชกาลที่ 9 พ.ศ.2506 เมื่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงเจริญพระชนมพรรษา 3 รอบ ได้ประกอบพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา รัฐบาลได้กราบบังคมทูลของพระราชทานพระบรมราชานุญาตจัดการพระราชพิธี โดยจัดพระราชพิธีเสด็จเลียบพระนครด้วยกระบวนพยุหยาตราทางสถลมารค
จิตรกรรมฝาผนังชุดนี้แสดงถึงพระมหากรุณาธิคุณต่องานศิลปะไทยเป็นอย่างยิ่งและถือเป็นหลักฐานของรูปแบบภาพเขียนที่มีลักษณะพิเศษเฉพาะในแผ่นดินรัชกาลที่ 9
(ข้อมูลจาก สมุดบันทึกประจำปีพุทธศักราช 2550 “จิตรกรรมฝาผนังพระพุทธรัตนสถาน ตามแนวพระราชดำริ ในรัชกาลที่ 9” จัดพิมพ์โดยกรมศิลปากร)
Source: https://www.silpa-mag.com/
The post จิตรกรรมฝาผนังพระพุทธรัตนสถาน เล่าประวัติศาสตร์ของพระมหากษัตริย์แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ ตามแนวพระราชดำริ ในรัชกาลที่ 9 appeared first on Thailand News.