ติดตามผ่านช่อง : Siammongkol Youtube Channel

เกิดอะไรขึ้น เมื่อหม่อมราโชทัยตื่น “พระราชวังแก้ว” ของประหลาดใน “นิราศลอนดอน”

เกิดอะไรขึ้น เมื่อหม่อมราโชทัยตื่น “พระราชวังแก้ว” ของประหลาดใน “นิราศลอนดอน”

“พระราชวังแก้ว” หรือ CRYSTAL PALACE ณ ตำบลซิดนัม ลอนดอน เป็นสิ่งก่อสร้างแปลกประหลาดที่รัฐบาลอังกฤษเชิญหม่อมราโชทัย และคณะไปชมใน พ.ศ. 2400 (คุณไกรฤกษ์ ประมูลภาพเก่าหาดูยากรูปนี้มาจากลอนดอน) และหม่อมราโชทัย (ในวงกลม) ผู้แต่งนิราศลอนดอนพบเห็นของแปลกมากมายในอังกฤษ เขียนนิราศกลับมาเล่าให้ทางบ้านฟังแต่คนโดยมากก็ยังจินตนาการไม่ออกว่าท่านหมายถึงอะไรโดยเฉพาะ “วังแก้ว”

ทูตไทยตื่นของแปลกในลอนดอน

สังคมไทยในสมัยรัชกาลที่ 4 นั้น ความเจริญทางวัตถุมีอยู่เฉพาะในเมืองบางกอก (กรุงเทพฯ) เท่านั้น แม้จะเป็นศูนย์รวมของคนมั่งมีและผู้มีการศึกษา แต่คนส่วนใหญ่ก็ยังพูดภาษาอังกฤษไม่เป็น และน้อยคนนักที่จะเคยเดินทางออกนอกประเทศ

คนที่อยู่ข้างหลังการไปอังกฤษของคณะทูตใน พ.ศ. 2400 จึงโหยหาและคอยฟังข่าวกันทุกทิวาราตรี แม้แต่ชาวคณะทูตเองก็เต็มไปด้วยความอยากรู้อยากเห็นและนับวันนับคืนที่จะได้ไปถึงอังกฤษตามข่าวลือว่าที่นั่นเป็นเมืองสวรรค์ของผู้ดีมีสกุล เป็นที่อยู่ของนางอัปสรและเทพบุตรผู้งดงาม และของแปลกประหลาดที่มีให้เห็นเฉพาะในยุโรป [1]

นักประวัติศาสตร์ไทยบอกเล่าความตื่นเต้นของคณะทูตที่ไปในคราวนั้นโดยเฉพาะข้อมูลที่เกิดจากการบันทึกของหม่อมราโชทัยใน “นิราศลอนดอน” สะท้อนภาพของเมืองแก้ว (ชื่อใหม่ที่ชาวสยามเรียกอังกฤษในยุคนั้น – ผู้เขียน) และความเหลือเชื่อของสิ่งที่ได้พบเห็นดังโวหารประกอบบทนำของนิราศลอนดอนต่อไปนี้

“ท่านทั้งหลายผู้อ่านเรื่องราชทูตไทยไปเมืองลอนดอนที่หม่อมราโชไทยแต่ง โดยเฉพาะผู้เป็นนักเรียนภาษาต่างประเทศในชั้นหลัง ถ้าไม่รู้ฐานะของหม่อมราโชไทย น่าจะไม่เห็นราคาตามสมควรของหนังสือเรื่องนี้ บางที่อาจจะมีผู้ที่ยิ้มเยาะว่า หม่อมราโชไทยช่างไปตื่นเอาของจืดๆ เช่น ละครม้า และทางรถไฟ สายโทรเลข มาแต่งพรรณนาดูเป็นวิจิตรพิสดารไปด้วยความพิศวง ราวกับท้าวเสนากุฎเข้าเมือง ผู้ที่จะคิดเห็นเช่นกล่าวมานี้ ต้องนึกถึงฐานะของหม่อมราโชไทยว่าเมื่อแต่งหนังสือเรื่องนี้เป็นเวลาแรกที่ไทยจะได้พบเห็นของเหล่านั้น จึงแต่งพรรณนาโดยตั้งใจจะเล่าให้ไทยซึ่งยังไม่มีใครเคยเห็นให้เข้าใจ ว่าของเหล่านั้นเป็นอย่างไร ถ้าอ่านด้วยรู้ฐานะว่านี้ ข้าพเจ้าเชื่อว่าคงจะยอมเป็นอย่างเดียวกันทุกคน ว่าหม่อมราโชไทยแต่งพรรณนาดีมิใช่น้อย ยกตัวอย่างแม้แต่ตรงว่าด้วยละครม้า ชาวเราที่ได้ดูละครมาในชั้นหลัง อ่านหนังสือเรื่องนี้คงจะรับเป็นพยาน ที่หม่อมราโชไทยพรรณนาเข้าใจได้ซึมซาบเหมือนกับจะหลับตาเห็น ละครม้าที่หม่อมราโชไทยได้ดูทุกอาการที่เล่น ถึงพวกที่เคยได้ไปถึงอังกฤษ คือแม้ที่เคยอ่านเรื่องราวแบบธรรมเนียมอังกฤษ

ถ้าอ่านตรงหม่อมราโชไทยพรรณนาถึงสถานที่หรือการพิธี เช่น ลักษณะที่อยู่โฮเต็ลก็ดี หรือพิธีเปิดปาร์เลียเมนต์ก็ดี เมื่อคิดเทียบดูที่ตนรู้ ก็จะใช้ถ้อยคำอย่างเก่าๆ เพราะคำใหม่ที่เราใช้กันยังไม่เกิดในเวลานั้น” [2]

อนึ่งเมื่อหม่อมราโชทัยและคณะเดินทางถึงกรุงลอนดอนใน พ.ศ. 2400 (ค.ศ. 1857) นั้น งานมหกรรมโลก หรือ เดอะ เกรต เอ็กซิบิชั่น ณ กรุงลอนดอน พ.ศ. 2394 (ค.ศ. 1851) ได้สิ้นสุดไปแล้วถึง 6 ปี

“พระราชวังแก้ว” หรือ “คริสตัลพาเลซ” ได้ถูกรื้อถอนไปในฤดูร้อนของ ค.ศ. 1852 แต่เนื่องจากเคยเป็นอาคารแห่งชาติที่เล่าสู่กันฟังแทบไม่มีที่สิ้นสุด จึงกลายเป็น “ปูชนียสถาน” และ “สัญลักษณ์” แห่งความภาคภูมิใจของชาวอังกฤษ รัฐบาลจึงได้นำชิ้นส่วนโครงสร้างไปก่อขึ้นใหม่ ณ ตำบลซิดนัม (Sydenham) ทางตอนใต้ของกรุงลอนดอน ท่ามกลางสวนอันงดงาม และทางการยังใช้อาคารเรือนกระจกหลังเดิมจัดงานแสดงนิทรรศการในโอกาสต่างๆ เรื่อยมาจนถึง ค.ศ. 1936 (วังแก้วก็ถูกไฟไหม้จึงจำเป็นต้องรื้อทิ้งในที่สุด – ผู้เขียน) [3]

ตำนาน “วังแก้ว” ยังคงอยู่ให้เห็นเมื่อหม่อมราโชทัยและคณะถูกนำไปเยือนครั้งปลูกสร้างไว้ใหม่ที่ตำบลซิดนัม ใน พ.ศ. 2400 และเป็นของประหลาดที่คณะทูตตื่นเต้นกันมากที่ได้เข้าไปชม แต่ก็มิได้ติดภาพถ่ายมาให้คนไทยได้ชื่นชมนอกจากคำกลอนเสนาะโสตในบทหนึ่งของนิราศลอนดอนเท่านั้น(2)

ภาพภายใน “วังแก้ว” จัดแสดงสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมแปลกใหม่สร้างสรรค์โดยคนอังกฤษในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม (ภาพจาก นสพ. ILLUSTRATION ค.ศ. 1854 ของสะสมคุณไกรฤกษ์)

หม่อมราโชทัยตื่น “วังแก้ว”

วรรณคดีเรื่องเยี่ยมที่สุดเรื่องหนึ่งของกรุงรัตนโกสินทร์ คือ จดหมายเหตุเรื่องราชทูตไทยไปอังกฤษ พ.ศ. 2400 ของหม่อมราโชทัย แต่งโดยใช้กลอนนิราศแบบกลอนแปดสุภาพในรูปแบบจดหมายเหตุการเดินทาง ตามด้วยบทร้อยแก้ว ซ้ำกำหนดการเดินทางเดิมอีกครั้งหนึ่ง โดยตั้งชื่อไว้อย่างไพเราะเพราะพริ้งว่า “นิราศลอนดอน” พิมพ์ไว้ตั้งแต่ในรัชกาลที่ 4 บอกเล่าเรื่องที่หม่อมท่านพบเห็นและที่คณะผู้ประสบมาขณะเดินทางอยู่ในประเทศอังกฤษ

เมื่อเสร็จสิ้นภารกิจของทางราชการแล้ว หม่อมราโชทัยและคณะทูตถูกนำไปดูงาน ณ สถานที่ต่างๆ โดยมีมิสเตอร์เฟาล์ (เจ้าพนักงานของทางรัฐบาลอังกฤษ) ดูแลอำนวยความสะดวกให้ชาวคณะ

หม่อมราโชทัยบันทึกเรื่อง “วังแก้ว” ไว้ 2 ครั้งในบทร้อยกรองและร้อยแก้ว บ่งบอกความตื่นเต้นที่ได้ไปชมพระราชวังแก้ว ณ ตำบลซิดนัม เมื่อถูกย้ายออกไปภายหลังงานมหกรรมโลกสิ้นสุดลงแล้ว

(ร้อยกรอง)

จนดาวดับลับหล้าล่าเวหาหน                      

สุริยนเยี่ยมยอดไศลหลวง

ยังนิ่งนอนร้อนรุ่มถึงพุ่มพวง                                

ให้เหงาง่วงหงิมเงียบยะเยียบเย็น

เขามาชวนไปยังที่วังแก้ว                         

ก็ผ่องแผ้วดีใจจะใคร่เห็น

ถึงแสนเศร้าคราวระกำต้องจำเป็น             

ไปเที่ยวเล่นพอให้หายวายอาวรณ์

มาขึ้นรถหมดทุกนายแล้วคลายคลาศ                      

อาชาชาติเร็วรีบเร่งถีบถอน

ครั้นถึงวังรัตนาพากันจร                          

เดิรยอกย้อนลดเลี้ยวเที่ยวครรไล

ดูวิจิตรพิสดารตระการแก้ว                                   

วับวามแววแสงสว่างกระจ่างใส

ทั้งหลังคาฝาผนังช่างกะไร                                   

ตลอดไปหมดสิ้นด้วยจินดา

สูงตระหง่านยาวกว่าสิบห้าเส้น                 

เขาทำเป็นสี่ชั้นขันหนักหนา

ข้างในนั้นน่าเพลินเจริญตา                                  

ปลูกพฤกษาต่างต่างสล้างราย

มีดอกผลหล่นกลาดลงดาดดื่น                               

ไว้ชมชื่นชอบจิตต์ไม่คิดขาย

แล้วทำรูปสัตว์สิงห์คนหญิงชาย                

ประหลาดหลายหลากหลากมากประมวล

แต่ละรูปราวกับเป็นเห็นประจักษ์              

ช่างน่ารักวางไว้ที่ในสวน

รูปคนป่าราศีไม่มีนวล                                         

ทำกระบวนรู้อายใบไม้บัง

แล้วมีเครื่องกลไฟทั้งใหญ่น้อย                 

ทำเรียบร้อยไว้เป็นอย่างเอาวางตั้ง

แต่พวกทูตเที่ยวดูอยู่ในวัง                        

จนย่ำค่ำแล้วยังไม่หมดเลย(2)

(ร้อยแก้ว)

ครั้นรุ่ง (วันเสาร์ เดือน ๑๒ ค่ำแรม ๑๓ ค่ำ) เช้าสามโมงมิสเตอร์เฟาล์พาพวกราชทูตไปดูวังแก้ว ชื่อกฤศเตลแปเลศ ไปจากโฮเต็ลด้วยรถเทียมม้า ทางสองชั่วโมงเศษ ที่นั้นทำเป็นเรือนแก้วสี่ชั้น ฝาและหลังคาล้วนแล้วไปด้วยแก้ว แต่เสากับเครื่องบนทำด้วยเหล็กสูงหกสิบหกฟิต คือสิบวากับสิบสามนิ้วกึ่ง กว้างสี่ร้อยสี่สิบแปดฟิต คือสามเส้นสิบสี่วาศอกกับแปดนิ้วกึ่ง ข้างในทำเป็นสวนปลูกต้นไม้ต่างๆ แล้วทำเป็นรูปคนรูปสัตว์ไว้เป็นอันมาก และมีเครื่องกลไฟต่างๆ ไว้ดูเป็นตัวอย่าง ราชทูตเที่ยวดูอยู่จนเวลาเย็น มิสเตอร์เฟาล์จึงให้จัดแจงอาหารเลี้ยงดู สำเร็จแล้วก็กลับมา [2]

เมื่อ 160 ปีผันผ่าน ตำนานวังแก้วก็อันตรธานหายไปจากความทรงจำของผู้คน แม้ในอังกฤษเองถ้าไม่เปิดพงศาวดารออกอ่านก็คงไม่มีใครจำได้ว่า “พระราชวังแก้ว” หลังจากนั้นมีที่มาที่ไปอย่างไร

จะมีก็แต่ชื่อตำบลคริสตัล พาเลซ หลงเหลืออยู่สำหรับบุรุษไปรษณีย์ และสถานีรถไฟใต้ดินชื่อ Crystal Palace เป็นสิ่งเตือนใจให้คิดถึงเท่านั้น

ภาพจำลองสถานีรถไฟใต้ดินแห่งใหม่ (UNDERGROUND) สร้างอยู่ใต้บริเวณที่จัดงานมหกรรมโลก ค.ศ. 1851 จึงได้รับการขนานนามว่า สถานี CRYSTAL PALACE ตราบถึงทุกวันนี้ (ภาพจากหนังสือ PANORAMA 1842-1865)

เอกสารประกอบการค้นคว้า :

[1] พระราชหัตถเลขา พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พิมพ์ในงานฉลองครบ 84 ปี มหามกุฏราชวิทยาลัย, 2521.

[2] ราโชทัย (ม.ร.ว. กระต่าย อิศรางกูร ณ อยุธยา), หม่อม. นิราศลอนดอนและจดหมายเหตุของหม่อมราโชทัย. สำนักพิมพ์คลังวิทยา, 2508.

[3] สารานุกรมประวัติศาสตร์สากลสมัยใหม่ : ยุโรป เล่ม 3 อักษร E-G, ราชบัณฑิตยสถาน, 2543.

หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความ “หม่อมราโชทัยตื่นของประหลาด” เขียนโดย ไกรฤกษ์ นานา ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับมีนาคม 2561

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 6 มีนาคม 2563

Source: https://www.silpa-mag.com/

The post เกิดอะไรขึ้น เมื่อหม่อมราโชทัยตื่น “พระราชวังแก้ว” ของประหลาดใน “นิราศลอนดอน” appeared first on Thailand News.