กรมควบคุมโรค แนะวิธีปฏิบัติป้องกันโรคมือ เท้า ปาก ย้ำผู้ปกครองและสถานศึกษาตรวจคัดกรองและสังเกตอาการของเด็กอย่างใกล้ชิด
กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข แนะวิธีปฏิบัติป้องกันโรคมือ เท้า ปาก โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กเล็ก จากข้อมูลเฝ้าระวังปีนี้พบเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ป่วยด้วยโรคมือ เท้า ปาก มากกว่าร้อยละ 80 ของผู้ป่วยทั้งหมด พร้อมเน้นย้ำผู้ปกครองและสถานศึกษาตรวจคัดกรองและสังเกตอาการของเด็กอย่างใกล้ชิดก่อนเข้าเรียน เมื่อพบเด็กป่วยให้แยกออกจากเด็กปกติและแจ้งให้ผู้ปกครองรับกลับบ้าน หากอาการไม่ดีขึ้นให้พาไปพบแพทย์โดยเร็ว
นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ขณะนี้เป็นช่วงฤดูฝน ในหลายพื้นที่มีฝนตกหนัก ส่งผลให้อากาศเย็นลง ประกอบกับสถานศึกษาและศูนย์เด็กเล็กมีการเปิดภาคเรียนมาในระยะหนึ่งแล้ว ซึ่งเด็กมีการทำกิจกรรมที่รวมกลุ่มใกล้ชิดกัน ทำให้เสี่ยงต่อการแพร่กระจายเชื้อโรคมือ เท้า ปากได้ง่าย เพื่อเป็นการป้องกันและควบคุมโรคดังกล่าว กรมควบคุมโรค จึงขอความร่วมมือผู้ปกครองหมั่นสังเกตอาการผิดปกติของเด็กและเฝ้าระวังการป่วยอย่างต่อเนื่อง ส่วนสถานศึกษาให้คัดกรองและสังเกตอาการของเด็กก่อนเข้าเรียน
สถานการณ์โรคมือ เท้า ปาก ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 20 สิงหาคม 2565 พบผู้ป่วย 35,074 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต พบมากที่สุดในกลุ่มเด็กอายุแรกเกิด – 4 ปี (ร้อยละ 81.85) รองลงมาคืออายุ 5 ปี (ร้อยละ 9.38) และอายุ 6 ปี (ร้อยละ 3.75) ตามลำดับ ซึ่งโรคมือ เท้า ปาก สามารถติดต่อโดยตรงจากการได้รับเชื้อไวรัสเข้าทางปาก โดยเชื้อไวรัสจะติดมากับมือหรือของเล่นที่เปื้อนน้ำมูก น้ำลาย น้ำจากแผลตุ่มพองหรืออุจจาระของผู้ป่วย หรือติดต่อจากการไอ จาม รดกัน ซึ่งจะพบผู้ป่วยมากในกลุ่มเด็กเล็กที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ หากได้รับเชื้อระยะเริ่มต้นจะมีอาการไข้ต่ำๆ อ่อนเพลีย และต่อมา 1-2 วัน จะมีอาการเจ็บปาก ร่วมกับมีตุ่มพองเล็กๆ บริเวณฝ่ามือ ฝ่าเท้า ตุ่มแผลในปาก ที่เพดานอ่อน กระพุ้งแก้ม ลิ้น ต่อมาจะแตกออกเป็นแผลหลุมตื้นๆ หากอาการไม่ดีขึ้นหรือมีไข้ขึ้นสูง ซึมลง เดินเซ ชักเกร็ง หายใจหอบเหนื่อย อาเจียนมาก ต้องรีบไปพบแพทย์โดยเร็ว เพราะอาจเป็นเชื้อชนิดรุนแรง และอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้
“ขอเน้นย้ำผู้ปกครองและครูช่วยกันดูแลสังเกตอาการของเด็กอย่างใกล้ชิดและสม่ำเสมอ หากพบว่ามีอาการข้างต้น ให้พิจารณาหยุดเรียนและรักษาจนหาย ควรแจ้งให้ทางโรงเรียนและศูนย์เด็กเล็กทราบ เพื่อทำการค้นหาเด็กที่อาจป่วยเพิ่มเติม” นายแพทย์โอภาส กล่าว
นายแพทย์โอภาส กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการป้องกันโรคมือ เท้า ปาก มีดังนี้ 1) ผู้ปกครองควรคัดกรองอาการของเด็กก่อนไปเรียน หากเด็กไม่สบายหรือมีไข้ ควรพาไปพบแพทย์และให้พักอยู่ที่บ้าน 2) ให้เด็กสวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัย ซึ่งเชื้อโรคมือ เท้า ปาก จะอยู่ในน้ำมูก น้ำลาย น้ำจากแผลตุ่มพองหรืออุจจาระของผู้ป่วย หรือเมื่อผู้ป่วยไปจับของเล่นของใช้ จะทำให้เชื้อกระจายสู่ผู้อื่นได้ หากลดการสัมผัสจะสามารถป้องกันการรับเชื้อได้ 3) ให้เด็กล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำสบู่ทั้งก่อนและหลังรับประทานอาหาร หลังเข้าห้องน้ำ และหลังเล่นของเล่น เพื่อลดการสะสมของเชื้อบนฝ่ามือ 4) หมั่นทำความสะอาดของใช้ ของเล่นและพื้นที่ที่เด็กใช้ร่วมกันเป็นประจำ เพื่อลดเชื้อโรคที่อยู่ในสิ่งแวดล้อม 5) สำหรับสถานศึกษาควรจัดให้มีพื้นที่ในการเข้าแถวทำกิจกรรม หรือเล่นเป็นกลุ่มย่อย จำนวน 5-6 คน มีการเว้นระยะห่างอย่างน้อย 1-2 เมตร และหากพบเด็กป่วยขอให้แยกออกจากเด็กปกติและแจ้งให้ผู้ปกครองรับกลับบ้าน หากอาการไม่ดีขึ้นให้พาไปพบแพทย์โดยเร็ว แยกของใช้ส่วนตัวเด็กป่วยออกจากเด็กปกติ และไม่ควรคลุกคลีกับคนอื่นๆ ในครอบครัว
ทั้งนี้ ในปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันโรคมือ เท้า ปาก ที่ชื่อว่า “วัคซีนป้องกันไวรัสเอนเทอโร ชนิด 71” สามารถป้องกันได้เฉพาะไวรัสสายพันธุ์เอนเทอโร 71 เท่านั้น ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่มักพบได้บ่อยและก่อให้เกิดอาการรุนแรง แต่ไม่สามารถป้องกันเชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคมือ เท้า ปาก ชนิดอื่น เช่น ไวรัสคอกแซคกี่ ไวรัสเอคโค เป็นต้น สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422
ข้อมูล
https://pr.moph.go.th/?url=pr/detail/2/02/178066/
Credit : ข่าวประชาสัมพันธ์กรมประชาสัมพันธ์กรุงเทพมหานคร : Read More