การเมืองในประวัติศาสตร์ “เครือญาติ” ไทย-กัมพูชา กรณีทับหลังที่ได้คืนจากสหรัฐอเมริกา
พระปรางค์วัดมหาธาตุ อยุธยา อายุเก่าแก่ก่อนสมัยอยุธยา (ภาพเก่าสมัย ร.5 ก่อนล้มทลายลง) ได้ต้นแบบจากปราสาทในวัฒนธรรมเขมร ได้แก่ ปราสาทพิมาย-พนมรุ้ง
การเมืองแบบเครือญาติในประวัติศาสตร์ชนชั้นนำไทย-กัมพูชา มีสืบเนื่องนับพันปีมาแล้ว เห็นได้จากทับหลังที่ไทยได้คืนจากสหรัฐ แต่ไม่พบในประวัติศาสตร์ฉบับทางการ
ประวัติศาสตร์สังคมและการเมืองระหว่างไทย-กัมพูชา มีความสัมพันธ์แบบเครือญาตินับพันๆ ปีมาแล้ว พบหลักฐานประวัติศาสตร์โบราณคดีมีทั่วไปทั้งในชีวิตประจำวัน และในราชสำนัก ได้แก่ เอกสารของราชสำนักพระนารายณ์บอกชัดเจนว่ากษัตริย์อยุธยาสืบวงศ์จากกษัตริย์กัมพูชา แม้กระทั่งปูชนียสถานหลัก เช่น พระปรางค์วัดมหาธาตุ อยุธยา (จากภาพถ่ายเก่า สมัย ร.5) มีต้นแบบจากปราสาทในวัฒนธรรมเขมร โดยเฉพาะจากปราสาท พิมาย (นครราชสีมา), ปราสาทพนมรุ้ง (บุรีรัมย์) จนถึงอักษรไทยก็มีวิวัฒนาการจากอักษรเขมร (บางทีนิยมเรียกอักษรขอม) ก่อนมีอักษรไทยจึงเขียนภาษาไทยด้วยอักษรเขมร เรียก “ขอมไทย”
แต่ไทย-กัมพูชา ให้ความสำคัญประวัติศาสตร์ฉบับทางการเป็น “ประวัติศาสตร์บาดหมาง” สร้างบาดแผลลึกและกว้างมาก ยังมีความทรงจำที่ถูกหล่อหลอมกล่อมเกลาแล้วยกใช้งานขยายความขัดแย้งในปัจจุบันซึ่งมีความเป็นมาโดยสรุปดังนี้
ถูกสร้างขึ้นราว 200 ปีมาแล้ว โดยนักค้นคว้าชาวยุโรป เพื่อการเมืองล่าเมืองขึ้นของประเทศในยุโรปสมัยล่าอาณานิคมเมื่อต้นกรุงรัตนโกสินทร์
ชนชั้นนำไทยสมัยก่อนน้อมรับประวัติศาสตร์ไทย-กัมพูชา “ฉบับบาดหมาง” มาใช้งานการเมือง ทั้งเพื่อสนองเจ้าอาณานิคม และเพื่อผดุงอำนาจของตนกับเครือข่าย
นักวิชาการและครูบาอาจารย์ส่วนมากในสถานการศึกษาและในมหาวิทยาลัยไทยทุกวันนี้ ใช้ประวัติศาสตร์ไทย-กัมพูชา “ฉบับบาดหมาง” ของทางการเพื่อการเรียนการสอนสนองชนชั้นนำปัจจุบัน และเพื่อผดุงความมั่นคงในฐานะทางสังคมของตน โดยเน้นเนื้อหาที่ไม่มีจริง ได้แก่ (1.) เชื้อชาติไทย, เชื้อชาติเขมร (2.) ไทยปลดแอกจากเขมร แล้วสร้างกรุงสุโขทัยราชธานีแห่งแรก (3.) “ขอมแปรพักตร์” สมัยอยุธยา “รามาธิบดี” (อู่ทอง) ให้ราเมศวรยกไปตีเขมร
1. ทับหลัง บนเส้นทาง “เครือญาติ” ที่ราบสูง-ที่ราบลุ่ม
ทับหลังเป็นโบราณวัตถุจากโบราณสถาน ซึ่งเป็นมรดกร่วมทางวัฒนธรรมของบรรพชนร่วมไทย-กัมพูชา และของอุษาคเนย์
สหรัฐอเมริกาส่งคืนทับหลัง 2 แผ่น ถึงไทยพฤษภาคม-มิถุนายน 2564 ซึ่งถูกขโมยนานมากแล้วจากปราสาทสองหลังที่ จ. บุรีรัมย์ กับ จ. สระแก้ว
ก่อนหน้านี้ 33 ปีมาแล้ว เมื่อ พ.ศ. 2531 สหรัฐอเมริกาเคยส่งคืนทับหลัง 1 แผ่นให้ไทยเป็นทับหลังสลักรูปนารายณ์บรรทมสินธุ์ ซึ่งถูกขโมยช่วงสงครามเวียดนามจากปราสาทพนมรุ้ง จ. บุรีรัมย์
ทับหลังเหล่านี้เป็นแผ่นหินสี่เหลี่ยมผืนผ้าวางทับบนส่วนหลังของกรอบประตูทางเข้าปราสาท เพื่อทำหน้าที่รับและถ่ายน้ำหนักโครงสร้างส่วนบนของอาคารปราสาท 2 หลังบริเวณอีสานใต้ กับอีก 1 หลังบริเวณที่ราบลุ่มภาคกลางที่มี่พื้นที่ต่อเนื่องลงจากอีสานใต้
อีสานใต้ หมายถึง ที่ราบสูงโคราช บริเวณทางใต้ของทิวเขาภูพาน (ส่วนทางเหนือของภูพานเรียกอีสานเหนือ) มีแม่น้ำสายหลัก 2 สาย ได้แก่ แม่น้ำชี, แม่น้ำมูล ไหลลงแม่น้ำโขง (ที่อุบลราชธานี)
ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์จากปราสาทพนมรุ้ง (บุรีรัมย์) ที่สหรัฐส่งคืน พ.ศ. 2531 กับทับหลังที่สหรัฐจะส่งคืนปีนี้ พ.ศ. 2564 ได้แก่ ทับหลังจากปราสาทหนองหงส์ (จ. บุรีรัมย์) กับทับหลังจากปราสาทเขาโล้น (จ. สระแก้ว) รวม 3 ชิ้นมีประวัติศาสตร์ร่วมกัน ดังนี้
หลักฐานของไทยใช้ยืนยันต่อสหรัฐ เป็นภาพถ่ายขาว-ดำ เมื่อ พ.ศ. 2503-2504 โดย นายมานิต วัลลิโภดม (ขณะนั้นเป็นข้าราชการภัณฑารักษ์เอก กองโบราณคดี กรมศิลปากร) ทับหลังสลักรูปนารายณ์บรรทมสินธุ์ (ชำรุด) หักพังถูกวางกองทับพื้นปราสาท จากเดิมเคยประดับทับเหนือกรอบประตูทางเข้ามุขตะวันออกของปรางค์ประธาน ปราสาทพนมรุ้ง (จากหนังสือ รายงานการสำรวจและขุดแต่งโบราณวัตถุสถานในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาค 2 พ.ศ. 2503-2504 กรมศิลปากร พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2510 หน้าแทรกกระดาษอาร์ต)
(1.) ถูกขโมยไปสหรัฐในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน ระหว่างสงครามเวียดนาม (สมัยสงครามเย็น) และ (2.) อยู่บนเส้นทางคมนาคมเดียวกันเกือบพันปีมาแล้ว ระหว่างที่ราบสูงอีสานในไทยกับที่ราบลุ่มโตนเลสาบในกัมพูชา
ปราสาทหนองหงส์กับปราสาทเขาโล้น เป็น “แลนด์มาร์ก” บริเวณที่เป็น “ช่องเขา” ของทิวเขาพนมดงรัก เส้นทางขึ้นลงไปมาระหว่างที่ราบสูงกับที่ราบลุ่ม ดังนี้ ปราสาทหนองหงส์ ตั้งอยู่ อ. โนนดินแดง จ. บุรีรัมย์ เป็นขอบที่ราบสูงต้นทางผ่านช่องเขาเรียก “ช่องตะโก” ลงสู่ที่ราบลุ่ม ปราสาทเขาโล้น ตั้งอยู่ อ. ตาพระยา จ. สระแก้ว เป็นต้นทางที่ราบลุ่มรับทางลงจากที่ราบสูงผ่าน “ช่องตะโก” เพื่อเดินทางต่อไปถึงปราสาทสด๊กก๊อกธม (อ. หนองสูง จ. สระแก้ว เป็น “ศูนย์กลางศักดิ์สิทธิ์” ของลัทธิเทวราช ที่กษัตริย์กัมพูชาให้ความสำคัญอย่างยิ่ง) แล้วเข้าไปเขตกัมพูชา
ปราสาทหนองหงส์ กับปราสาทเขาโล้น เป็นศูนย์กลางชุมชนบนเส้นทางคมนาคมระหว่างที่ราบสูงกับที่ราบลุ่ม หรือระหว่างลุ่มน้ำมูลกับโตนเลสาบในกัมพูชา
ลุ่มน้ำมูล อยู่ที่ราบสูงบริเวณอีสานใต้ เป็นดินแดนบรรพชน “ยายตาย่าปู่” ของกษัตริย์กัมพูชา (พบหลักฐานอยู่ในจารึกและอื่นๆ) ดังนั้นบรรดาเจ้านายของบ้านเมืองใหญ่น้อยทางลุ่มน้ำมูลล้วนเป็นเครือญาติและเครือข่ายทางสังคมและการเมืองของกษัตริย์กัมพูชาทั้งนั้น
เมืองพิมาย มีศูนย์กลางที่ปราสาทพิมาย (จ. นครราชสีมา) ต่อเนื่องถึงเมืองพนมรุ้ง มีศูนย์กลางที่ปราสาทพนมรุ้ง (จ. บุรีรัมย์) เป็นหลักแหล่งบรรพชนของกษัตริย์กัมพูชา “วงศ์มหิธร” อย่างน้อย 5 พระองค์ รวมทั้งพระเจ้าสุริยวรรมันที่ 2 (ผู้สร้างปราสาทนครวัด) และพระเจ้าชัยวรรมันที่ 7 (ผู้สร้างปราสาทบายน นครธม)
แผนที่แสดงหลักแหล่งดั้งเดิมของกษัตริย์กัมพูชาตระกูลเสนะกับตระกูลมหิธร บริเวณลุ่มน้ำมูล-ชี อีสานใต้ และตำแหน่งช่องเขาตามทิวเขาพนมดงรัก (ไทย-กัมพูชา) เส้นทางคมนาคมระหว่างที่ราบสูงกับที่ราบลุ่ม [โดย ทนงศักดิ์ หาญวงษ์ มกราคม 2562]
ดังนั้นกษัตริย์กัมพูชาบางพระองค์หรือหลายพระองค์ ตลอดจนวงศ์วานว่านเครือต่างเคยเดินทางจากโตนเลสาบไปลุ่มน้ำมูล โดยผ่านไปมา “ช่องตะโก” (สระแก้ว-บุรีรัมย์) ที่มีปราสาทเขาโล้นกับปราสาทหนองหงส์ เป็นศูนย์กลางชุมชนระหว่างที่ราบสูงกับที่ราบลุ่ม หรือเสมือนจุดพักระหว่างทาง
2. บรรพชนกษัตริย์กัมพูชา
อีสานใต้เป็นถิ่นเดิมของบรรพชนกษัตริย์กัมพูชาหลายพระองค์ใน 2 ตระกูลใหญ่ ได้แก่ ตระกูลเสนะ กับ ตระกูลมหิธร ดังนี้
[1.] ตระกูลเสนะ มีหลักแหล่งอยู่ปลายแม่น้ำชี-มูล และแม่น้ำโขง บริเวณยโส ธร, อำนาจเจริญ, อุบลราชธานี และพื้นที่ต่อเนื่องถึงจำปาสักในลาว
ผู้นำตระกูลเสนะสมัยแรก คือ “จิตรเสน” สถาปนารัฐเจนละ เรือน พ.ศ. 1000 โดยมีเครือข่ายเครือญาติกับกลุ่มจามปา (ในเวียดนาม) และเหวินตาน (เวียงจันท์) ต่อมามีกษัตริย์พระนามตามที่พบในจารึกว่า “มเหนทรวรรมัน” (ลงท้าย “วรรมัน” เป็นคำถูกต้องตามจารึกเขมร หมายถึง วรรณะกษัตริย์ แต่ผู้รู้ไทยสมัยแรกถ่ายทอดคลาดเคลื่อนเป็น “วรมัน” แล้วใช้จนเคยชินกลายเป็นถูกต้อง)
หลังจากนั้น อีศานวรรมัน (ทายาทของจิตรเสน มเหนทรวรรมัน) ขยายเครือข่ายรัฐกัมพูชาลงไปถึงจันทบุรี หลังจากนั้นสถาปนาศูนย์กลางใหม่ ชื่อ อีศานปุระ (มีในจดหมายเหตุจีน) บริเวณโตนเลสาบในกัมพูชา
[2.] ตระกูลมหิธร มีหลักแหล่งอยู่ต้นน้ำมูล บริเวณนครราชสีมา, บุรีรัมย์ ฯลฯ มีศูนย์กลางอยู่ปราสาทพิมาย, ปราสาทพนมรุ้ง
เชื้อสายตระกูลมหิธรจากต้นน้ำมูลแผ่อำนาจลงไปเป็นกษัตริย์กัมพูชา มีอย่างน้อย 5 พระองค์ แต่ที่รู้จักกว้างขวาง คือ สูรยวรรมัน 2 หรือ (“สุริยวรมันที่ 2”) ผู้สถาปนาปราสาทนครวัด (บรมวิษณุโลก) พ.ศ. 1650 ต่อมาเป็นผู้บูรณะปราสาทพระวิหารที่มีก่อนแล้วให้
ใหญ่โตขึ้น และ ชัยวรรมัน 7 หรือ (“ชัยวรมันที่ 7”) ผู้สถาปนาปราสาทบายน (นครธม) พ.ศ. 1750 นับถือศาสนาพุทธ ลัทธิมหายาน (เหมือนปราสาทพิมาย)
กษัตริย์กัมพูชาอย่างน้อย 2 องค์ มีบรรพชนอยู่ต้นแม่น้ำมูล ศูนย์กลางที่เมืองพิมาย (จ. นครราชสีมา) (ซ้าย) พระเจ้าสูรยวรรมัน (ที่ 2) ผู้สร้างปราสาทนครวัด ราว พ.ศ. 1650 ประทับนั่งกลางกระบวนแห่ สลักบนระเบียงประวัติศาสตร์ ปราสาทนครวัด (ขวา) พระเจ้าชัยวรรมันที่ 7 ผู้สร้างปราสาทบายน (ในนครธม) ราว พ.ศ. 1750 รูปสลักเต็มองค์พบที่ปรางค์พรหมทัต บริเวณปราสาทพิมาย จ. นครราชสีมา
ตระกูลมหิธรจากพิมาย-พนมรุ้ง เป็นเครือญาติกับกษัตริย์ละโว้-อโยธยา-อยุธยา โดยเส้นทางที่ราบสูง-ที่ราบลุ่ม ผ่านเมืองเสมา (อ. สูงเนิน จ. นครราชสีมา) และเมืองศรีเทพ (อ. ศรีเทพ จ. เพชรบูรณ์) ผ่านดงพญากลาง, เขาพังเหย, ลุ่มน้ำป่าสัก, ลำนารายณ์, ชัยบาดาล ฯลฯ
ปราสาทพิมาย-พนมรุ้ง เป็นต้นแบบปรางค์เมืองศรีเทพ, ปรางค์วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ เมืองละโว้, ปรางค์วัดมหาธาตุ อยุธยา
3. “ศิลปะลพบุรี” ด้วยลัทธิชาตินิยม
“ศิลปะลพบุรี” มีขึ้นครั้งแรก พ.ศ. 2469 ในหนังสือ “ตำนานพระพุทธเจดีย์” ของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ใช้เรียกงานช่างแบบเขมร (ขอม) ที่พบในประเทศไทย เช่น ทับหลังที่สหรัฐส่งคืนไทยเป็นงานช่างเขมร เป็นต้น เพื่อหลีกเลี่ยงเรียก “ศิลปะเขมร” ทั้งนี้ด้วยเหตุผลทางการเมืองสมัยล่าอาณานิคมและการเมืองแบบชาตินิยม
ชมเพิ่มเติมรายการ ขรรค์ชัย สุจิตต์ ทอดน่องท่องเที่ยว ตอน ไทย-กัมพูชา ประวัติศาสตร์ “เครือญาติ” “ทับหลัง” ประชาชนทวงคืนจากสหรัฐ เมื่อ วันพฤหัสบดีที่ 27 พฤษภาคม 2564
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 28 พฤษภาคม 2564
The post การเมืองในประวัติศาสตร์ “เครือญาติ” ไทย-กัมพูชา กรณีทับหลังที่ได้คืนจากสหรัฐอเมริกา appeared first on Thailand News.