กรณีพิพาท “มัสยิดบาบรี” สร้างทับสถานที่ประสูติของพระราม?
มัสยิดบาบรี เมืองอโยธยา รัฐอุตรประเทศ
เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2542 ประเทศอินเดียมีข่าวใหญ่ข่าวหนึ่ง ในวันนั้นมีการอ่านคำพิพากษาศาลสูงสุดอินเดียต่อกรณีพิพาททางศาสนาที่สำคัญในประวัติศาสตร์ร่วมสมัยอินเดีย คือกรณีมัสยิดบาบรี (Babri Masjid) เมืองอโยธยา รัฐอุตรประเทศ มัสยิดบาบรีสร้างในคริสต์ศตวรรษที่ 16 โดยจักรพรรดิบาบูร์แห่งราชวงศ์โมกุล นามของมัสยิดก็มาจากพระนามจักรพรรดิองค์นี้เอง
แต่ชาวฮินดูจำนวนมากเชื่อว่ามัสยิดนี้สร้างทับอยู่บน “รามชนมาภูมิสถาน” หรือสถานที่ประสูติของพระราม เทพเจ้าสำคัญในวรรณกรรมรามายณะ ที่ชาวฮินดูส่วนใหญ่เชื่อกันว่าเป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริง โดยสามารถเชื่อมโยงเรื่องราวในวรรณกรรมเข้ากับสถานที่ที่มีอยู่จริง เช่น เมืองนาสิก เขาจิตรกูฏ สะพานพระราม (รามเสตุ) ลังกา และในบรรดาสถานที่เหล่านั้น เมืองอโยธยาเป็นสถานที่ที่สำคัญที่สุด เพราะเป็นที่ประสูติและเสด็จกลับมาปกครองไพร่ฟ้าของพระราม
มัสยิดบาบรีก็ทำลายเทวสถานเก่าหรือไม่ ยังคงเป็นข้อถกเถียงกันทางวิชาการ
นักวิชาการส่วนหนึ่งเชื่อว่ามีการกล่าวถึงสถานที่เกิดของพระรามมาตั้งแต่ต้นคริสต์ศตวรรษที่ 17 โดยมีหลักฐานจากบันทึกของต่างชาติที่มาถึงอโยธยา หรืออ้างหลักฐานว่า มัสยิดบาบรีสร้างบนสถานที่ที่เรียกว่า รามโกฏ (ป้อมพระราม) และบ้างก็ว่า มัสยิดบาบรีที่อ้างว่าสร้างมาตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 16 นั้นล้วนเป็นเรื่องที่สร้างขึ้นในภายหลัง
ขณะที่บางส่วนแย้งว่าเรื่องชนมาภูมิเป็นเรื่องที่แต่งขึ้นในต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 เพราะทั้งงานประพันธ์ของตุลสีทาส ผู้ประพันธ์ รามจริตมานัสหรือคัมภีร์วิษณุสมฤติก็ไม่เคยกล่าวถึงอโยธยา ในฐานะเมืองที่ควรไปแสวงบุญ อีกทั้งบันทึกของหลวงจีนเสวียนจ้าง ก็กล่าวถึงอโยธาหรือสาเกตในฐานะเมืองทางพุทธศาสนา
ความขัดแย้งระหว่างฮินดูและมุสลิมในกรณีมัสยิดบาบรี ได้รับการบันทึกไว้ครั้งแรกใน พ.ศ. 2396 ขณะนั้นอินเดียยังอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษ อังกฤษให้มีการแบ่งสรรพื้นที่ในบริเวณมัสยิดสำหรับ 2 ศาสนา ทั้งนี้ที่จริงในระดับชาวบ้านฮินดูและมุสลิมสามารถใช้สถานที่เดียวกันมาอย่างสงบเป็นเวลายาวนานแล้ว
พ.ศ. 2492 หลังอินเดียได้รับเอกราช มีการเล่าลือว่า กลางดึกคืนหนึ่งมีสมาชิกกลุ่มฮินดูมหาสภา แอบนำเทวรูปพระรามในวัยเด็กที่เรียกว่า “รามลัลลา” ไปใส่ไว้ในมัสยิดบาบรี เช้าวันต่อมา การปรากฏเทวรูปพระรามขึ้นในมัสยิดบาบรีอย่างอัศจรรย์ กลายเป็นข่าวที่เชิญชวนให้ผู้คนเดินทางไปยังมัสยิดอย่างล้นหลาม ทำให้บรรยากาศการทวงคืนสถานที่เกิดของพระรามค่อยๆ ก่อตัวขึ้น รัฐบาลท้องถิ่นจึงต้องสั่งปิดมัสยิดโดยไม่ยอมให้ทั้งฮินดูและมุสลิมเข้าใช้แต่ก็ไม่ได้นำเทวรูปออกไป
พ.ศ. 2527 มีการรณรงค์เพื่อรวบรวมเงินสร้างเทวสถานของพระรามขึ้นมาใหม่บนมัสยิดบาบรี การรณรงค์นี้ดำเนินการโดยพรรคภารตียชนตา (BJP) ซึ่งก็คือพรรครัฐบาลของนายนเรนทรา โมดี (ต่อมาได้เป็นนายกรัฐมนตรีของอินเดีย) ภายหลังก็จับมือกับพันธมิตรองค์กรฮินดูอื่นๆ เช่น วิศวฮินดูปริษัท (VHP) นอกจากรณรงค์ในสื่อต่างๆ แล้ว ยังมีขบวนยาตราไปยังอโยธยาด้วย เรียกว่า “รามรถยาตรา”
6 ธันวาคม พ.ศ. 2535 กรเสวก (มือผู้รับใช้) องค์กรซึ่งมีสมาชิกราว 150,000 คนทั่วอินเดีย จัดตั้งโดยวิศวฮินดูปริษัทและพรรคภารตียชนตา บุกเข้าทำลายมัสยิดบาบรี จนเกิดการจลาจลทั่วทั้งอินเดีย เกิดการปะทะกันระหว่างชุมชนมุสลิมและชุมชนฮินดู มีผู้เสียชีวิตราว 2,000 คน
พ.ศ. 2553 ศาลสูงของไฮเดอราบัดตัดสินให้แบ่งพื้นที่มัสยิดบาบรีออกเป็น 3 ส่วน แบ่งให้กับองค์กรมุสลิม 1 ส่วน สำหรับฮินดูมหาสภา 1 ส่วน และองค์กรนักบวชฮินดูชื่อ นิรโมริ อขาระ ซึ่งอ้างความเป็นเจ้าของสถานที่มาตั้งแต่ต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 ได้ 1 ส่วน
เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2562 ศาลสูงสุดของอินเดียพิพากษาให้พื้นที่ขัดแย้งเป็นของฮินดู โดยสรุปว่า ให้รัฐบาลอินเดียจัดตั้งคณะกรรมการดำเนินการสร้างเทวสถานพระรามบนพื้นที่ขัดแย้งมัสยิดบาบรี โดยครอบครอง 2.77 เอเคอร์ และให้จัดสรรพื้นที่อื่นในเมืองอโยธยาสำหรับการสร้างมัสยิดของมุสลิมจำนวน 5 เอเคอร์
ทั้งนี้ให้การทำลายมัสยิดบาบรี และเหตุการณ์ใน พ.ศ. 2492 เป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย
ศาลตัดสินจากหลักฐานที่อ้างโดยกรมศิลปากรอินเดียว่า ภายใต้มัสยิดบาบรีมี “โครงสร้าง” ทางสถาปัตยกรรมที่ไม่ใช่ “อิสลาม” อยู่ รวมทั้งบันทึกประวัติของคุรุนานัก ศาสดาของชาวสิกข์ ซึ่งบันทึกว่าได้เคยมาเยือนสถานที่แห่งนี้ด้วย
แม้ทุกฝ่ายจะยอมรับคำตัดสินในครั้งนี้ และไม่เกิดการจลาจล แต่ก็มีหลายส่วนที่เห็นว่า คำตัดสินมีข้อขัดแย้งและน่ากังขาหลายอย่าง เป็นต้นว่าหลักฐานที่ศาลใช้จากกรมศิลปากรนั้น มีนักวิชาการได้โต้แย้งไว้อยู่ด้วย รวมทั้งความสงสัยในแง่การแทรกแซงทางการเมืองของรัฐบาลโมดีต่อแนวทางการพิพากษาของศาล
อีกแง่มุมหนึ่งที่น่าสนใจในเหตุการณ์ครั้งนี้ คือการอ้างสิทธิเหนือพื้นที่ขัดแย้งในเมืองอโยธยา ว่าใครคือเจ้าของพื้นที่กันแน่ เพราะรัฐบาลทำหน้าที่แค่ดูแลจัดการ ตามกฎหมายจารีตอินเดีย เทพเจ้ามีสถานภาพเป็น “บุคคล” ตามกฎหมาย จึงสามารถฟ้องร้องหรือถูกฟ้องร้องก็ได้
ในกรณีนี้ พระรามจึงฟ้องขอรับสิทธิในพื้นที่นั้น โดยมีองค์กรทำหน้าที่ขึ้นศาลแทน และศาลสูงสุดตัดสินให้พระราม “รามลัลลา” มีสิทธิในพื้นที่นั้นเสียด้วย
หมายเหตุ : คัดเนื้อหาจากหนังสือ “ภาระตะ-สยาม ศาสนาต้อง [ไม่] ห้ามเรื่องการเมือง?” เขียนโดย คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง จากสำนักพิมพ์มติชน ฉบับพิมพ์ครั้งแรก กันยายน 2564
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 19 มกราคม 2565
The post กรณีพิพาท “มัสยิดบาบรี” สร้างทับสถานที่ประสูติของพระราม? appeared first on Thailand News.