ติดตามผ่านช่อง : Siammongkol Youtube Channel

เทศบาลนครยะลา จัดโครงการธรรมสัญจร สานสัมพันธ์ครอบครัว สร้างความสมานฉันท์บนความหลากหลายทางศาสนาและวัฒนธรรม

เทศบาลนครยะลา จัดโครงการธรรมสัญจร สานสัมพันธ์ครอบครัว สร้างความสมานฉันท์บนความหลากหลายทางศาสนาและวัฒนธรรม

นายพงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ นายกเทศมนตรีนครยะลา เป็นประธานเปิดโครงการธรรมสัญจร ประจำปี 2565 เพื่อสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างครอบครัว สร้างความสมานฉันท์เป็นน้ำหนึ่งในเดียวกันบนความหลากหลายทางศาสนาและวัฒนธรรม ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 1 – 4 กันยายน 2565 โดยมีครอบครัวที่เข้าร่วมโครงการทั้งสิ้น 27 ครอบครัว รวม 108 คน เข้าร่วม ณ ห้องประชุมเทศบาลนครยะลา

นายกเทศมนตรีนครยะลา กล่าวว่า กิจกรรมธรรมสัญจรเริ่มจัดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 2546 หลังจากนั้น ได้จัดมาอย่างต่อเนื่อง แต่หยุดไปในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโรค covid-19 และในปีนี้ก็ถือว่ากลับมาจัดกิจกรรมกันใหม่อีกครั้ง ตั้งแต่เทศกาลปีใหม่ นกเขาชวาเสียง จนกระทั่งงานปิงปอง งานวิ่งยะลามาราธอน ปากายันมลายู การประชุมวิชาการเกษตร และวันนี้ก็โครงการธรรมสัญจร

ซึ่งจุดประสงค์ของเทศบาล คือ ต้องการที่จะทำให้คนในสังคมอยู่ร่วมกันได้ หลายสิ่งหลายอย่างที่เกิดขึ้นในความไม่เข้าใจ ปัญหาที่เป็นความขัดแย้งในหลายพื้นที่ มักเกิดขึ้นจากความไม่เข้าใจกัน ซึ่งเหตุผลของความไม่เข้าใจกัน ก็คือ เราไม่ได้เปิดพื้นที่กลางในการให้การเรียนรู้ซึ่งกันและกัน เพราะฉะนั้นแต่ละฝ่ายก็จะตั้งอยู่บนอคติซึ่งกันและกัน บางครั้งก็อาจจะไม่มีอคติแต่ก็ไม่รู้ว่าจะต้องทำอย่างไร แต่สำหรับสังคมที่เป็นพหุวัฒนธรรมนั้นปัญหาเหล่านี้มันมีความสำคัญอย่างมาก เทศบาลนครยะลา จึงจัดโครงการนี้ขึ้น ซึ่งเป็นโครงการที่แตกต่างจากโครงการอื่นของเทศบาลก็คือ จัดเป็นรูปแบบของครอบครัว โดยในวันนี้มีครอบครัวที่เข้าร่วมกิจกรรมทั้งหมด 27 ครอบครัว ทั้งเป็นครอบครัวของชาวไทย-พุทธ และครอบครัวของชาวไทย-มุสลิม

นายกเทศมนตรีนครยะลา ยังได้กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า โดยส่วนตัวตนเองไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านศาสนา แต่มีความเชื่อว่าในทุกหลักศาสนามีการสอนอย่างเดียวกันก็คือ สอนให้เคารพในความแตกต่าง ซึ่งครั้งหนึ่งในงานมลายูเดย์ @yala จำได้ว่าอาจารย์วันนอร์ เคยบอกว่า “พระเจ้าสร้างคนให้ไม่เหมือนกัน เฉกเช่นเดียวกับนิ้วทั้ง 5 นิ้วที่ยังมีความแตกต่างกัน ไม่เท่าเทียมกัน ก็ต้องสอนให้ทำงานด้วยกัน สอนให้อยู่ด้วยกัน มันหมายถึง การเรียนรู้ซึ่งกันและกัน

สำหรับกิจกรรมธรรมสัญจรก็เช่นเดียวกัน ที่พยายามในการนำครอบครัวนั้นออกไปเรียนรู้ซึ่งกันและกัน เพราะมักมีคนพูดว่า บางครั้งคนพุทธไม่เข้าใจคนที่นับถือศาสนาอิสลาม คนอิสลามก็ไม่เข้าใจในวิถีของคนพุทธ และสิ่งที่สำคัญที่สุดคนเราชอบเอาคำว่า “วัฒนธรรม” กับ “ศาสนา” ไปปนกัน หลายคนพอพูดเรื่องศาสนาก็เอาเรื่องวัฒนธรรมไปปนกัน จริง ๆ แล้ว คำว่า “วัฒนธรรม” คือ การเป็น การอยู่ ในรายการของ PBS พูดเรื่องนี้และได้สรุปง่าย ๆ ว่า วัฒนธรรม หมายถึง เป็น อยู่ คือ การเป็น เป็นแบบนี้เพราะอะไร แต่หลายครั้งที่คนชอบเอาสองคำนี้มาผสมกัน ให้กลายมาเป็นเรื่องเดียวกัน ยกตัวอย่าง คนไทย-พุทธ พอจัดงานมลายูเดย์ ก็มองว่ามันเป็นเรื่องของมุสลิมอย่างเดียว ส่วนคนมุสลิมก็มองว่าเป็นงานของมุสลิมล้วน

ซึ่งจริง ๆ แล้วไม่ใช่ แม้กระทั่ง งานปากายัน มลายู เสื้อผ้ามลายู มันก็เป็นเรื่องของวัฒนธรรม เพราะการแต่งกายมันคือ วัฒนธรรม เช่น คนมลายูนิยมใส่โสร่งนั่นถือว่าเป็นวัฒนธรรมการแต่งกายของคนมลายู แต่มันไม่ได้บอกว่าศาสนาอิสลามบอกให้ใส่โสร่ง หลายครั้งที่เอาสองเรื่องไปผสมกัน แล้วก่อให้เกิดความสับสนเข้าใจ ในตอนที่จัดงานปากายัน มลายู ก็ได้ถามว่า คนไทย-พุทธ ขายเสื้อผ้ามลายู มันบาปไหม มันไม่มีข้อห้ามอะไรเลย เพียงแต่สิ่งที่สำคัญก็คือ การที่จะขายเสื้อผ้าให้ได้ดีต้องเข้าใจอัตลักษณ์ก่อน และต้องมีความคิดสร้างสรรค์ต่าง ๆ จึงสามารถทำได้ ถ้าเรามีความคิดสร้างสรรค์ที่ดี เราก็สามารถที่จะออกแบบเสื้อผ้าที่ดี ทำให้ขายในโลกมลายูทั้งหมดได้ แต่บางคนที่เป็นชาวไทย-พุทธ ก็ยังเข้าใจผิด และมองว่าเสื้อผ้ามลายูต้องเป็นคนมุสลิมเท่านั้น นี่คือสิ่งที่หลายครั้งคนในสังคมก็เอาทุกเรื่องมาผสม

สิ่งที่เทศบาลฯ พยายามทำ คือ เราต้องการให้แต่ละวัฒนธรรมได้เรียนรู้ซึ่งกันและกัน ก็เลยพยายามเอาพ่อ แม่ และลูก ไปด้วยกัน เหตุผลที่ต้องการให้พ่อแม่ไป เพราะพ่อแม่ คือเป้าหลอมของลูก ยกตัวอย่าง พ่อแม่ที่รักษาความสะอาดบ้าน สามารถสอนลูกได้ว่าเวลาจะทิ้งขยะอย่าไปเที่ยวทิ้งขยะบนที่สาธารณะ ให้เก็บกลับบ้าน มันก็จะกลายเป็นนิสัย เพราะพ่อแม่คือเป้าหลอมของครอบครัวในการที่จะปลูกฝังให้ลูกโตขึ้นมามีลักษณะอย่างไร

วันนี้เทศบาลฯ เลยพยายามพาไปเป็นครอบครัวแล้วก็หวังว่าสิ่งที่เกิดการเรียนรู้นั้นจะเป็นเป้าหลอมให้กับลูกต่อไป ให้มีความเข้าใจในโลกที่แตกต่าง เทศบาลพยายามสร้างภูมิคุ้มกันของคนในสังคม พยายามทำยังไงให้สังคมอยู่ได้ด้วยความสุข แล้วเมื่อไหร่ก็ตามสังคมสงบสุข เราก็สามารถเดินไปข้างหน้าได้ และถ้าเรายังมานั่งทะเลาะกันแย่งกันเล็ก ๆ น้อย ๆ เราก็ไม่สามารถที่จะเดินทะลุฝ่าสิ่งเหล่านี้ได้ เทศบาลจึงได้สร้างรากฐานขึ้นมาผ่านกิจกรรมต่าง ๆ อาทิ ค่ายเยาวชนสำนึกรักบ้านเกิด การแข่งขันกีฬาฟุตบอล เพื่อให้ทุกคนมาอยู่ด้วยกัน เรียนรู้เข้าใจกัน และโครงการธรรมสัญจรก็เช่นเดียวกัน แม้กระทั่งวงออร์เคสตรา ถึงแม้จะเป็นโน๊ตคนละโน๊ตแต่พอเล่นด้วยกันก็สามารถสอดประสานกันได้ กลายมาเป็นบทเพลงที่มีการประสานเสียงกันอย่างราบรื่นไพเราะ

นอกจากนี้ ทาง นายกเทศมนตรีนครยะลา ยังได้กล่าวในตอนท้ายว่า ในช่วงเวลา 2-3 วันของการเข้าร่วมกิจกรรมธรรมสัญจร ที่แต่ละครอบครัวจะได้ไปใช้ชีวิตด้วยกัน ได้เรียนรู้ โดยสิ่งที่สำคัญของการเรียนรู้ ต้องเปิดใจรับฟัง ต้องยอมรับความแตกต่าง ต้องเรียนรู้ในการปรับตัว แล้วก็เรียนรู้ที่จะอยู่กับมันให้ได้ เข้าใจมัน เพราะการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา

ข้อมูล 

https://thainews.prd.go.th/th/news/detail/TCATG220902115506500

 

Credit : ข่าวประชาสัมพันธ์กรมประชาสัมพันธ์กรุงเทพมหานคร : Read More