ติดตามผ่านช่อง : Siammongkol Youtube Channel

ไทย “สถาปนา” กษัตริย์เขมรองค์สุดท้าย แต่ไฉนผู้สวมมงกุฎให้ กลับไม่ใช่ชาวสยาม

ไทย “สถาปนา” กษัตริย์เขมรองค์สุดท้าย แต่ไฉนผู้สวมมงกุฎให้ กลับไม่ใช่ชาวสยาม

ภาพประกอบเนื้อหา – พิธีบรมราชาภิเษก พระนโรดม ณ เมืองอุดงมีชัย ขุนนางฝรั่งเศสในฐานะองค์ประธานในพิธีกำลังรดน้ำมนต์จากมหาสังข์ให้พระนโรดม-ภาพจาก L’ILLUSTRATION, 20 August 1864 (ภาพสะสมของคุณไกรฤกษ์ นานา)

ครั้นเมื่อความสัมพันธ์เมืองพี่เมืองน้องระหว่างไทย-เขมร ที่ดูเป็นเมืองประเทศราชซึ่งไทยปกป้องหวงแหนมากที่สุดนั้น เกิดมีมือที่สามและปัจจัยภายนอกเข้ามาเบียดบัง ทำให้กษัตริย์เขมรได้แปรพัตร์และปิดฉากสายสัมพันธ์ทั้งหมดที่เคยมีต่อกันมานับศตวรรษ

ตามข้อมูลที่ไกรฤกษ์ นานา ผู้เขียนบทความ “ไทยสถาปนากษัตริย์เขมรองค์สุดท้ายด้วยอาลัย แต่ผู้สวมมงกุฎกลับไม่ใช่ชาวสยาม” ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนมกราคม 2565 สืบค้นนั้น บรรยายไว้ว่า เมื่อ พ.ศ. 2504 ราชอาณาจักรไทยสูญเสียเขาพระวิหารและดินแดนชายขอบอดีตเมืองประเทศราชเก่าแก่แห่งสุดท้ายของไทยให้กัมพูชา

ความรู้สึกอันคับแค้นใจในประวัติศาสตร์ทำให้หน่วยงานภาครัฐตีพิมพ์หนังสือขึ้นมา 2 เล่ม คือ 1.ไทยสถาปนากษัตริย์เขมร และ เรื่องทรงตั้งเจ้าประเทศราชกรุงรัตนโกสินทร์รัชกาลที่ 1 ไว้เป็นหลักฐานให้คนรุ่นใหม่ได้ศึกษาเรียนรู้

เอกสารดังกล่าวของไทยกลายเป็นข้อมูลฉบับทางการที่หาอ่านยากสำหรับคนสมัยปัจจุบัน ที่สะท้อนถึงความหวังดีของบรรพบุรุษไทยในอดีกาลที่เคยปกป้องและรักษาน้ำใจเจ้าเมืองเขมรมานับร้อยปี แต่ในที่สุดก็ต้องตัดใจออกจากความเชื่อมโยงผูกพันกัน โดยไม่สามารถซื้อใจไว้ได้เนื่องจากมีเรื่องของผลประโยชน์และความเนื้อน้อยต่ำใจเข้ามาแทรก
การอ้างสิทธิ์ของไทยเหนือเขมร ความเชื่อมั่นของบรรพบุรุษไทย566
ความผูกพันธ์ระหว่างสยามและเขมร เริ่มขึ้นเมื่อก่อตั้งกรุงรัตนโกสินทร์ขึ้นในยุคแรก พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 ได้ทรงอุปถัมภ์เจ้านายน้อยองค์หนึ่งจากเขมร ผู้มีพระนามว่านักองค์เอง เมื่อทรงเจริญวัยขึ้นเจ้านายองค์นี้ก็ได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นปฐมกษัตริย์ของราชวงศ์ปัจจุบันในเขมรโดยสำนักไทย มีพระนามว่าสมเด็จพระนารายณ์รามาธิบดี เขมรจึงมีสภาพเป็นประเทศราชของสยามนับแต่นั้น

แม้ว่าเขมรจะตกเป็นเมืองขึ้นของสยาม แต่ฝ่ายไทยก็ปกครองเขมรแบบพ่อปกครองลูก ทั้งยังรับอุปการะเชื้อพระวงศ์เขมรทุกพระองค์ให้มีเกียรติและศักดิ์ศรีเทียมเท่าเชื้อพระวงศ์ไทย

ในอีกแง่มุมหนึ่งอาจมองได้ว่าเจ้านายเขมรมีลักษณะไม่ค่อยอยู่ในโอวาท คราวใดที่กรุงเทพฯ อ่อนแอลง เขมรก็จะแปรพักตร์ โดยมักจะแตกออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มหนึ่งยังถือหางข้างไทย อีกกลุ่มหนึ่งหันไปฝักใฝ่ฝ่ายญวน ก่อนการปรากฏตัวของฝรั่งเศส ดังที่จะกล่าวต่อไป

นักประวัติศาสตร์วิเคราะห์ว่า การที่พระเจ้าแผ่นดินไทยทรงรับอุปการะราชกุมารเขมรไว้ในกรุงเทพฯ ก็เพื่อเป็นหลักประกันว่าฝ่ายไทยจะเป็นผู้คัดเลือกกษัตริย์เขมรเมื่อถึงเวลาที่ควรนั่นเองว่าผู้องค์ใดจะเหมาะสมและเป็นที่ไว้ใจที่สุด

ครั้งหนึ่งเมื่อนายมงตีญี ราชทูตฝรั่งเศสคนแรกที่เข้ามาเมืองไทย แสดงท่าทีว่าจะติดต่อทำสัญญาโดยตรงกับสมเด็จพระหริรักษ์รามาธิบดี กษัตริย์แห่งเขมร พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ทรงรีบส่งพระราชสาส์นไป “สั่งห้าม” มิให้สมเด็จพระหริรักษ์รามาธิบดีทำสัญญาใดๆ กับฝรั่งเศสทันที ความพยายามครั้งนั้นจึงต้องยุติลงอย่างไร้เหตุผล

ต่อมาเมื่อพระนโรดมได้รับสถาปนาเป็นกษัตริย์เขมร พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ก็ยังทรงปกป้องทุกวิถีทางมิให้กษัตริย์เขมรองค์ใหม่หลวมตัวไปพึ่งพิงฝรั่งเศส อันเป็นการ “ดับไฟแต่ตั้นลม” ดังพระพจนารถในศุภอักษรฉบับหนึ่งว่าความว่า

“จงรักษาความซื่อสัตย์สุจริต ประพฤติอ่อนน้อมต่อกรุงเทพมหานครโดยเยี่ยงอย่างการที่ปฏิพัทธ์ติดพันธ์มาตั้งแต่องค์สมเด็จพระหริรักษ์รามมหาอิศราธิบดี ผู้พระบิดานั้นจงทุกประการ”

ฝรั่งเศสทุ่มหมดหน้าตัก เพื่อฮุบปากแม่น้ำโขง

จุดเด่นของเขมรคือทำเลที่ตั้ง โดยเฉพาะกรุงพนมเปญซึ่งเป็นจุดบรรจบของแม่น้ำโขง ที่ไหลลงสู่ฝั่งทะเลจีนใต้ทางปากแม่น้ำในเขตแดนญวน ฝรั่งเศสจึงหวังครอบครองเพื่อจะได้ควบคุมประเทศที่มีแม่น้ำโขงไหลผ่านทั้งหมด

ในขณะนั้นเอง จุดอ่อนของไทยอยู่ที่การไม่สามารถบังคับจิตใจเจ้านายเขมรทุกพระองค์ให้จงรักภักดีต่อกรุงเทพมหานครได้ตลอดไป กล่าวคือ หลังจากสมเด็จพระนารายณ์รามาธิบดีเสด็จสวรรคต ทางกรุงเทพฯ ก็ได้สถาปนาพระราชโอรสองค์โต ทรงมีพระนามว่า สมเด็จพระอุทัยราชาธิราช ซึ่งรัชกาลใหม่มิได้จงรักภักดีต่อกรุงเทพฯ พระองค์ทรงเอาพระราชหฤทัยออกห่างไปเข้าเป็นไมตรีกับญวนและเชื้อเชิญญวนเข้ามามีอิทธิพลเหนือเขมร

ในรัชกาลสมเด็จพระอุทัยราชาธิราช เขมรแตกแยกออกเป็น 2 ฝ่าย ฝ่ายเหนือมีนักองค์ด้วง พระอนุชาองค์รองของสมเด็จพระอุทัยราชาธิราช เป็นผู้ปกครองตั้งมั่นอยู่ที่เมืองอุดงมีชัยขึ้นกับฝ่ายไทย ส่วนฝ่ายใต้ตั้งมั่นอยู่ที่เมืองพนมเปญนั้น ปกครองโดยสมเด็จพระอุทัยราชาธิราช ขึ้นกับญวน

พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเห็นว่าจะต้องทำสงครามกับญวน เพื่อให้ได้เขมรฝ่ายใต้คืนมา สงครามระหว่างไทยกับญวนในเขมรดำเนินไปเป็นเวลาถึง 14 ปี สุดท้ายก็ไม่มีฝ่ายแพ้หรือชนะอย่างเด็ดขาด จนกระทั่ง พ.ศ. 2390 จึงได้สงบศึกต่อกัน

ในขณะนั้นเองครึ่งหนึ่งของดินแดนเขมรตกเป็นเมืองขึ้นของญวน และรัฐบาลไทยก็ยอมรับว่าครึ่งหนึ่งของเขมรเป็นเขตอิทธิพลญวน ญวนก็กลายเป็นหอกข้างแคร่และข้ออ้างชั้นดีของมือที่สามคือฝรั่งเศส

ใน พ.ศ. 2406-2407 รัฐบาลฝรั่งเศสได้ดำเนินนโยบายต่างประเทศเชิงรุก หลังจากที่ฝรั่งเศสยึดครองญวนได้ ในเวลาต่อมา รัฐบาลฝรั่งเศสสั่งการให้กงสุลของตนประจำกรุงเทพฯ คือ ท่านกงต์ เดอ กาสเตลโน(Comte de Castelnau) เรียกร้องสิทธิ์โดยอ้างว่า บัดนี้ฝรั่งเศสเข้ายึกญวนใต้ได้แล้วก็ควรจะมีอำนาจที่จะสืบสิทธิ์ของญวนเหนือดินแดนเขมรด้วย เพราะเขมรเป็นเมืองขึ้นของญวน

คำอ้างของฝรั่งเศสแท้จริงมิใช่แค่เหตุผลเพื่อผดุงความยุติธรรมเท่านั้น แต่ฝรั่งเศสยังมีผลประโยชน์ทับซ้อนเกี่ยวกับเมืองเขมรอย่างลับๆ อีกด้วย

ดังนั้น เพื่อให้ได้มาซึ่งจุดยุทธศาสตร์ปากแม่น้ำโขงตั้งอยู่ พวกฝรั่งเศสจึงต้องทุ่มหมดหน้าตักด้วยการซื้อใจสมเด็จพระนโรดมโดยไม่ต้องทำสงครามแย่งชิงเขมรไปจากสยามด้วยการเกลี้ยกล่อมแกมบังคับกษัตริย์เขมรให้เห็นโอกาสที่จะเป็นอิสระและการมีเอกราชของเขมรอยู่ในมือของพระองค์

เขมรคือกุญแจสู่โลกตะวันออก

ใน พ.ศ. 2406 เมื่อเขมรกำลังจะตกไปเป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเศสนั้น ชาวสยามแทบไม่รู้ข่าวเลย เพราะข้อมูลเช่นนี้เป็นข้อมูลภายในที่ทางการไม่ค่อยประชาสัมพันธ์ออกไป

แต่สำหรับ “หมอบรัดเลย์” ชาวอเมริกันจากประเทศที่ 3 ท่านมองนัยมากกว่าข้อพิพาทเรื่องดินแดน แต่เป็นการล้มเมืองขึ้นแบบตีท้ายครัวนอกภาวะสงคราม

ท่านได้เปิดโปงนโยบายลับๆ ของพวกอังกฤษ-ฝรั่งเศสในยุคนั้น ซึ่งเขียนอยู่ในหนังสือพิมพ์ ”บางกอกรีคอร์เดอร์” ไว้ว่า (จัดย่อหน้าใหม่ – กองบรรณาธิการ)

เมืองอังกฤษ “ไม่หยากได้เมืองขึ้นอีก เพราะมีเมืองขึ้นมากอยู่แล้ว, เหลือที่จะรักษาไว้ให้ดีได้,… เมืองอังกฤษมีกำลังเปนหลายปีมาแล้ว, ภอที่จะตีเอามืองพม่าให้อยู่ในอำนารดของตัวทั้งหมดก็จะได้, แต่มิได้ต้องประสงค์แผนดินเมืองพม่าอีกเลย แต่จ้าวเมืองพม่าขออาไศรยพึ่งบาระมีเมืองอังกฤษ, เมืองอังกฤษจึงได้รับเอาเปนธุระ, ช่วยป้องกันไว้เมืองพม่าจึงได้มีความศุกขจเริญขึ้น”

เมืองฝรั่งเศส “เมืองฝรั่งเศสอยู่เคียงกันกับเมืองอังกฤษ แลเป็นคู่แข่งกันกับเมืองอังกฤษ แต่ฝรั่งเศสมีเมืองขึ้นน้อยกว่าเมืองอังกฤษนัก เพราะเหตุนี้ฝรั่งเศศถึงจะสู้รบกับอังกฤษในมหาสมุททั่วไปในโลกย์ก็มิได้…เจ้าเมืองฝรั่งเศศหยากจะได้ที่สำคัญขึ้นเปนของตัวเอง เพื่อจะได้มีกำลังเข้มแข็งขึ้นทั่วโลกย์ อันเมืองที่สำคัญนั้นเปรียบเหมือนลูกกุนแจ ถ้าได้ลูกกุนแจแล้วเมื่อใด ก็ได้สมความปราถหนาเมื่อนั้น

…มิช้าก็ได้ช่องไปตีอีกเปนครั้งที่สองก็ได้ แล้วจึ่งตีต่อๆไปจนได้เม็กซิโกอยู่ในอำนารดของตัวหมด นี้และจึ่งว่าเมืองที่สำคัญนั้น เปรียบเหมือนลูกกุนแจ ที่จะไขโลกย์ฝ่ายทิษตวันตก ลูกกุนแจนั้นก็อยู่ในเงื้อมมือฝรั่งเศศแล้ว แต่จ้าวเมืองฝรั่งเศศหยากจะได้ลูกกุนแจที่จะไขทางฝ่ายทิศย์ตวันออกบ้าง จึ่งคิดเหนว่าประเทศกัมพูชาเปนที่สำคัญ

ถ้าเราได้ที่นั่นว่าอยู่ในอำนารดของเราแล้ว ก็จะเปนเหมือนลูกกุนแจไขโลกย์ฝ่ายทิศตะวันออกได้ เหนว่าเมืองกำภูชามีกำลังน้อย แลผู้ที่ครองเมืองมีปัญญาน้อยน้อย ถึงมาทว่ากำปรูชาขึ้นอยู่ในเมืองไทยๆ ก็มีกำลังน้อยด้วย แม้นเราทำอุบายให้กัมพูชามาอยู่ในอำนารดของเราได้แล้ว เมืองไทยจะต่อสู้กับเราออกไปจากเมืองกัมพูชา ก็มิได้…”

จะเห็นได้ว่าทำเลที่ตั้งของเขมรถูกต่างชาติหมายตาไว้ตั้งแต่ก่อนเสียดินแดนแล้วว่าเป็นตัวแปรสำคัญต่อการกำหนดยุทธศาสตร์ในทวีปเอเชีย โดยเชื่อว่าเขมรคือกุญแจที่จะไขไปสู่โลกตะวันออก ซึ่งชาติตะวันตกต้องการไว้ในครอบครองแบบใครดีใครได้

การรักษาฐานะเจ้าอธิราช คือการสถาปนากษัตริย์เขมร

ในวันที่ 11 สิงหาคม 2406 รัฐบาลฝรั่งเศสได้ส่งพลตรีเรือ เดอ ลา กรองดิแยร์ นำเรือรบไปจอดที่หน้าเมืองอุดงมีชัย และเกลี้ยกล่อมให้พระนโรดมลงพระรามในสนธิสัญญาฉบับหนึ่งกับฝรั่งเศส ซึ่งสำเร็จลงอย่างง่ายดาย แต่พระนโรดมก็ได้มีศุภอักษรเข้ามาถวายรายงานทันทีว่าจำใจต้องลงนาม เพราะว่าถูกฝรั่งเศสบังคับ

เพื่อเป็นการรักษาสิทธิ์ของไทยเหนือเขมร ฝ่ายไทยรีบทำสัญญาลับกับเขมรเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2406 เพื่อกดดันให้พระนโรดมยืนยันว่าเขมรยังเป็นประเทศราชของไทยและเพื่อผูกมัดเขมรไว้กับไทยต่อไป แต่สัญญาฉบับนี้ก็มิได้ช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้น ซ้ำร้ายยังก่อให้เกิดสงครามเย็นระหว่างไทยกับฝรั่งเศสอีกด้วย
รัฐบาลกรุงปารีสได้ประท้วงและประกาศว่าสัญญาลับฉบับดังกล่าวเป็นโมฆะ

ทางรัฐบาลไทยซึ่งต้องรักษามิตรภาพกับทางฝรั่งเศสจึงไม่มีทางโต้เถียง จึงจำยอมแต่โดยดี ทำให้อิทธิพลของไทยในเขมรตั้งแต่นั้นมาแทบไม่มีเหลืออีกเลยโดยรูปธรรม แต่โดยนามธรรมแล้ว จะมีก็แต่สิทธิ์ของไทยแต่โบราณกาลในการประกอบพิธีราชาภิเษกเท่านั้น

แต่โดยกฎมณเฑียรบาลและจารีตของราชสำนักแล้วถือว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งต่อจิตวิญญาณของกษัตริย์องค์ใหม่ โดยครรลองแล้วพระนโรดมจะต้องเดินทางมาประกอบพิธีนี้ในกรุงเทพฯ ตามโบราณราชพิธี อีกทั้งเครื่องราชกกุธภัณฑ์ทั้งหมดไทยก็เก็บรักษาอยู่ที่นี่ เหตุผลดังกล่าวแสดงว่าไทยมีอำนาจเหนือกว่าในเชิงทฤษฎี จะขาดราชสำนักไทยไม่เป็นอันขาด

ทว่าฝรั่งเศสยังคงสร้างสถานการณ์ให้พิธีนี้ต้องเกิดขึ้นในดินแดนเขมรเพียงเท่านั้น เพื่อกำจัดอิทธิพลของสยามที่เหลืออยู่ให้หมดไปโดยสิ้นเชิง ดังปรากฏว่าในวันที่ 3 มีนาคม 2407 เมื่อพระนโรดมออกเดินทางจากเมืองอุดงมีชัยเพื่อจะมากรุงเทพฯ นายทหารฝรั่งเศสก็หาทางขัดขวางโดยเข้ายึดเมืองอุดงชัยลัวชักธงฝรั่งเศสขึ้นเหนือพระราชวัง พระนโรดมจึงต้องตัดสินพระทัยเดินทางกลับทันที

ในช่วงเวลาต่อมา ทหารฝรั่งเศสได้กักบริเวณพระนโรดม และไม่อนุญาตให้เดินทางออกนอกประเทศ และเสนอเข้ามาทางกรุงเทพฯ ว่าจะกำหนดให้พิธีราชาภิเษกมีขึ้นในวันที่ 3 มิถุนายน 2407 แต่จะมีขึ้นในแผ่นดินแขมรเท่านั้น โดยขอให้ไทยนำเครื่องอิสริยยศและพระสุพรรณบัฏมาส่ง

ฝ่ายไทยเห็นว่าเพื่อเป็นการประนีประนอมและสมานสามัคคีกับฝ่ายฝรั่งเศสที่ไซง่อนจึงได้จัดขุนนางผู้ใหญ่คือ พระยามนตรีสุริยวงศ์ เป็นหัวหน้าคณะชาวสยามโดยสารเรือฝรั่งเศสไป ส่วนเครื่องราชกกุธภัณฑ์นั้น เจ้าพนักงานไทยนำลงเรือกลไฟสงครามครรชิตล่องไปขึ้นฝั่งเขมรที่เมืองกำปอต แล้วเดินเท้าต่อไปยังอุดงมีชัย

พิธีราชาภิเษกพระนโรดม ความกำมะลอในประวัติศาสตร์

พิธีราชาภิเษกกษัตริย์องค์ใหม่ของเขมร ซึ่งลงเอยแบบ “ไทยปนฝรั่ง” แต่ก็เป็นที่ “สมปรารถนา” ของพระนโรดมทุกประการ สำหรับคนยุคปัจจุบันแล้วสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อ 160 ปีมาแล้ว ไม่ใช่เรื่องง่ายที่ใครจะจดจำได้ ส่วนใหญ่จึงเป็นข้อสันนิษฐานหรือสรุปเพียงเลาๆ ไม่ต้องพูดถึงหลักฐานภาพ เพราะกล้องถ่ายรูปก็เพิ่งจะถูกคิดค้นขึ้นในยุโรป แม้จะตกเข้ามาถึงเมืองไทยแล้ว แต่ก็ยังไปไม่ถึงเขมร พิธีราชาภิเษกพระนโรดมจึงดูคลุมเครืออย่างมากในหน้าประวัติศาสตร์ไทย

สิ่งที่ขาดหายไปจากพงศาวดารไทยคือ “ภาพเหตุการณ์” วันบรมราชาภิเษกของพระนโรดม ซึ่งทุกวันนี้นักประวัติศาสตร์ก็ยังเชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่งว่าเป็นการ “สถาปนากษัตริย์เขมร” อย่างเป็นทางการครั้งสุดท้าย ความลังเลใจนี้ยังถูกซ้ำเติมด้วยคำให้การของผู้รู้เห็นเหตุการณ์ ค้นพบใหม่เมื่อไม่นานมานี้ตอกย้ำว่า พระนโรดมมีใจให้ฝรั่งเศสก่อนหน้านั้นมาแล้ว การแสดงออกด้วยการกระทำแปลกๆ ของพระองค์เตือนให้ทราบว่าฝ่ายไทยมองโลกในแง่ดีเกินไป

ภาพประกอบเนื้อหา – พิธีบรมราชาภิเษก พระนโรดม ณ เมืองอุดงมีชัย ขุนนางฝรั่งเศสในฐานะองค์ประธานในพิธีกำลังรดน้ำมนต์จากมหาสังข์ให้พระนโรดม-ภาพจาก L’ILLUSTRATION, 20 August 1864 (ภาพสะสมของคุณไกรฤกษ์ นานา)

ในทางกลับกัน ภาพส่วนหนึ่งเผยแพร่ในหน้าประวัติศาสตร์ฝรั่งพร้อมรายงานข่าวที่ทำให้เราต้องหันกลับมาพิจารณาด้วยความแปลกใจ เอกสาร 2 ชิ้นถูกค้นพบใหม่ที่กรุงปารีสเมื่อต้นปี 2552 โดยเปิดเผยข้อมูลต้องห้ามเบื้องหลังการยกพระนโรดมขึ้นเป็นกษัตริย์ และบุคคลผู้เป็นประธานในพิธีใหญ่นี้ อันเป็นมุมมองคนละด้านกับประวัติศาสตร์อย่างสิ้นเชิง ดังปรากฏในหลักฐานใหม่ว่า

“…วันที่ 3 มิถุนายน ค.ศ.1864 นับเป็นอีกหน้าหนึ่งของประวัติศาสตร์อินโดจีนที่ต้องบันทึกไว้ เมื่อข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ของเราคือ ท่านเดมูแลง(M. Desmoulins) เดินทางมาถึงจากไซง่อน ท่านเดมูแลงได้ทำหน้าที่อันน่ายกย่องในฐานะผู้แทนของพระองค์พระจักรพรรดิอย่างภาคภูมิเป็นประธานในพิธี

การมาร่วมพิธีของผู้แทนจากสยาม สร้างความอึดอัดให้เราชาวฝรั่งเศสไม่น้อย มันเหมือนเป็นการมาเพื่อชิงตัวประกันไม่มีผิด แต่ทุกอย่างก็ดำเนินไปด้วยดี ในขณะที่ชาวสยามรีๆ รอๆ อยู่นั้น ท่านเดมูแลงก็นำมงกุฎไปถวายให้พระนโรดมอย่างคล่องแคล่วเป็นการเสร็จสิ้นพิธีการ และขั้นตอนที่พระนโรดมกังวลใจนักหนา”

ผู้สวมมงกุฎมิใช่ชาวสยามแล้วเป็นใคร?

“ผู้แทนจากสยามคือ (พระยามนตรีสุริยวงศ์) เดินไปยกมงกุฎขึ้นจากพานทองคำ จากนั้นจึงนำไปมอบให้ท่านเดมูแลงด้วยตนเอง ท่านเดมูแลงยื่นมงกุฎไปข้างหน้าเพื่อถวายต่อองค์กษัตริย์ ถึงเวลานั้นอำนาจอันชอบธรรมก็เป็นของพระองค์แล้ว แต่มงกุฎก็หนักเกินไปสำหรับบ่าพระองค์ ท่านเดมูแลงต้องรีบเข้าไปช่วยสวมให้เข้าที่เข้าทางอีกครั้งหนึ่ง ทั้งยังต้องช่วยผูกเชือกใต้คางให้กระชับขึ้นและจัดมงกุฎให้ตั้งตรงอยู่บนพระเศียร…”

หากเรื่องทั้งหมดเป็นไปตามที่ผู้สื่อข่าวรายงานไว้ ท่านเดมูแลงในฐานะผู้แทนของรัฐบาลฝรั่งเศสก็เป็นประธานตัวจริงในพิธีสถาปนา (และสวมมงกุฎ) ให้พระนโรดม ในขณะที่ท่านพระยามนตรีสุริยวงศ์ผู้แทนรัฐบาลสยาม เป็นแต่เพียงขุนนางชั้นผู้ใหญ่ที่ได้รับมอบหมายให้นำเครื่องราชาภิเษกไปส่งให้เท่านั้นในทางปฏิบัติ

ถ้าเช่นนั้นแล้ว การที่ไทยสถาปนากษัตริย์เขมรอย่างเต็มรูปแบบครั้งสุดท้ายก็คือ การสถาปนานักองค์ด้วงเป็นสมเด็จพระหริรักษ์รามาธิบดี ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 3 ของไทย มิใช่สถาปนาสมเด็จพระนโรดมเป็นองค์สุดท้ายเลย ตามความเข้าใจของคนไทยสมัยหลัง

เท่ากับว่าการมีส่วนร่วมในพระราชพิธีราชาภิเษกกษัตริย์เขมรใน พ.ศ. 2407 กลายเป็นการส่งผู้แทนเพื่ออัญเชิญมงกุฎอันศักดิ์สิทธิ์ไปถวายสมเด็จพระนโรดมตามธรรมเนียมปฏิบัติเท่านั้น

เอกสารประกอบการค้นคว้าที่อ้างอิงถึงในบทความต้นฉบับ :

(1) ไกรฤกษ์ นานา. “รัชกาลที่ 4 ทรงคิดอย่างไรกับการเสียดินแดน ‘ครั้งแรก’?, ” ใน ค้นหารัตนโกสินทร์ สิ่งที่เรารู้ อาจไม่ใช่ทั้งหมด. สํานักพิมพ์มติชน, 2552,

(2) ______. “สืบจากภาพ หลักฐานใหม่ พลิกประวัติศาสตร์ ใคร ‘สวมมงกุฎ’ กษัตริย์เขมร?,” ใน ค้นหารัตนโกสินทร์ 2. สํานักพิมพ์มติชน, 2553.

(3) ไทยสถาปนากษัตริย์เขมร, สํานักทําเนียบนายกรัฐมนตรี, 2505.

(4) พระราชหัตถเลขา พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รวมครั้งที่ 1, เจ้าภาพพิมพ์ในงานฌาปนกิจศพ หม่อมวาศน์ กมลาสน์ ณ เมรุวัดมกุฏกษัตริยารามวันที่ 30 พฤษภาคม 2496.

(5) เพ็ญศรี ตุ๊ก. การต่างประเทศกับเอกราชและอธิปไตยของไทย (ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ถึงสิ้นสมัย จอมพล ป. พิบูลสงคราม). ราชบัณฑิตยสถาน, 2542.

(6) ______.ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทย (สยาม) กับ ประเทศฝรั่งเศส ในคริสต์ศตวรรษที่ 19 ตามเอกสาร ของกระทรวงการต่างประเทศ. ราชบัณฑิตยสถาน, 2539.

(7) LE JOURNAL ILLUSTRE, Paris, 6 JUILLET 1884.

(8) LE MONDE ILLUSTRÉ , Paris, 17 December 1864.

(9) L’ILLUSTRATION, Paris, 20 Août 1864.

(10) THE BANGKOK RECORDER, 15 April 1865.

หมายเหตุ : คัดเนื้อหาและเรียบเรียงจากบทความ “ไทยสถาปนากษัตริย์เขมรองค์สุดท้ายด้วยอาลัย แต่ผู้สวมมงกุฎกลับไม่ใช่ชาวสยาม” เขียนโดย ไกรฤกษ์ นานา ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับมกราคม 2565

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 23 กุมภาพันธ์ 2565

Source: https://www.silpa-mag.com

The post ไทย “สถาปนา” กษัตริย์เขมรองค์สุดท้าย แต่ไฉนผู้สวมมงกุฎให้ กลับไม่ใช่ชาวสยาม appeared first on Thailand News.