รวม 7 สุดยอด “นวัตกรรมทางการแพทย์” ในงาน Healthy Living & Innovation Expo 2022
“นวัตกรรม” นับเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญของการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ โดยหนึ่งในนวัตกรรมที่น่าสนใจและกำลังเข้ามามีบทบาทต่อชีวิตประจำวันของเราทุกคน นั่นก็คือ “นวัตกรรมทางการแพทย์” เพราะในโลกยุคปัจจุบัน หลายคนหันมาให้ความสนใจกับการดูแลสุขภาพจนกลายเป็นเทรนด์ใหม่ของโลก เช่นเดียวกับการเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยอย่างเต็มรูปแบบ และการเกิดการระบาดของโควิด-19 ทั้งหมดล้วนเป็นตัวเร่งให้เกิดการคิดค้นนวัตกรรมขึ้นอย่างหลากหลาย เพื่อมาตอบโจทย์ความต้องการใช้ชีวิตของทุก ๆ คน ให้ยืนยาวขึ้นทุก ๆ วัน
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นิวัติ แก้วประดับ อธิการบดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ในฐานะผู้จัดงาน Healthy Living & Innovation Expo 2022 งานแสดงสินค้า กล่าวว่า ตลอดระยะเวลาหลายปีมานี้ ประเทศไทยเองได้มีการคิดค้นนวัตกรรมทางการแพทย์ขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับการให้บริการทางด้านสุขภาพของคนทุกช่วงวัย และเป็นที่น่ายินดีว่า นวัตกรรมหลายอย่างที่ผ่านการพิสูจน์แล้วว่า ยอดเยี่ยมมีคุณภาพ กำลังจะนำมาโชว์ให้ทุกคนได้เห็นกันในงาน Healthy Living & Innovation Expo 2022 ซึ่งจะจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 8 – 11 กันยายน 2565 ณ ศูนย์ประชุมนานาชาติฉลองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ดังนั้นเพื่อเป็นการเรียกน้ำย่อย เราจึงขอคัดผลงานนวัตกรรมที่น่าสนใจในงานมาฝาก ดังนี้
1. ชุดตรวจดีเอ็นเอแบบแถบสำหรับไวรัสเด็งกี
ชุดทดสอบไวรัสเด็งกีด้วยวิธีดีเอ็นเอแบบแถบ เป็นอุปกรณ์ในการทดสอบไวรัสเด็งกี ซึ่งเป็นต้นเหตุของโรคไข้เลือดออก ให้สามารถรู้ผลได้อย่างรวดเร็วและรักษาได้อย่างทันท่วงที เพื่อช่วยลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคไข้เลือดออกในประเทศไทยได้มากยิ่งขึ้น ผลงานชิ้นนี้ ศ.ดร.โกสุม จันทร์ศิริ อาจารย์ประจำ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และทีมงาน ได้ทำการวิจัยและประดิษฐ์ขึ้น มีลักษณะคล้ายกับอุปกรณ์ตรวจการตั้งครรภ์
สำหรับตัวแถบตรวจจับมีการใช้ DNA เป็นตัวตรวจจับหาเชื้อ โดยนำตัวอย่างที่สกัดมากจากผู้ป่วย ผสมสารละลายเพิ่มปริมาณพันธุกรรมของไวรัส ทิ้งไว้ 30-45 นาที จากนั้นหยดลงแถบตรวจจับ และรอผล หากขึ้นสองขีดก็แสดงว่าเป็นโรคไข้เลือดออก และอุปกรณ์ยังสามารถระบุชนิดของเชื้อไวรัสเด็งกี อีกทั้งยังมีอุปกรณ์ที่เชื่อมต่อกับแอปพลิเคชันบนโทรศัพท์มือถือ โดยจะสแกนจากภาพที่ได้จากแถบที่แสดงผล พร้อมบอกความเข้มข้นของปริมาณเชื้อไวรัสได้ด้วย
2. อุปกรณ์ถ่างขยายผนังหัวใจห้องบนจากวัสดุฉลาดสำหรับผู้ป่วยภาวะหัวใจล้มเหลว
นับเป็นผลงานชิ้นโบแดง ของ รศ. ดร.อนรรฆ ขันธะชวนะ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล และหลักสูตรวิศวกรรมชีวภาพ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และทีมนักวิจัย การันตีด้วยเหรียญทองบนเวทีการแข่งขันระดับนานาชาติ จากงาน iENA 2019 ประเทศเยอรมนี โดยออกแบบพัฒนาอุปกรณ์ถ่างขยายผนังหัวใจ ที่จะช่วยแก้ปัญหาผู้ป่วยที่เป็นโรคหัวใจล้มเหลว โดยใช้อุปกรณ์ที่ช่วยในการเจาะผนังกั้นหัวใจห้องบน เพื่อลดความดันภายในหัวใจห้องบนซ้าย ช่วยลดภาระการทำงานของหัวใจ ทำให้หัวใจของผู้ป่วยสูบฉีดเลือดได้สะดวกและมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีมากยิ่งขึ้น
3. ชุดโคมแสงที่ส่งเสริมการมองเห็นของผู้มีสายตาเลือนราง
รศ. ดร.พิชญดา เกตุเมฆ ตัวแทนคณะนักวิจัยจากภาควิชาเทคโนโลยีทางภาพและการพิมพ์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้ระบุรายละเอียดนวัตกรรมว่า ได้มีการพัฒนาหลอดไฟ LED แห่งอนาคต ซึ่งมีที่มาจาก คลื่นแสงสีขาว โดยหลอดไฟ LED แห่งอนาคต สามารถช่วยลดข้อจำกัดการมองเห็นของผู้สูงอายุ และผู้มีสายตาเลือนราง เพราะคลื่นแสงสีขาว จากการผสมความยาวคลื่นแสงของสีทั้งสามได้แก่ สีแดง สีเขียว และสีน้ำเงิน ช่วยเพิ่มขยายความต่างระดับสีของพื้นผิวต่าง ๆ ทำให้ผู้สูงอายุและผู้มีสายตาเลือนรางมองเห็นได้อย่างชัดและเคลื่อนไหวได้รวดเร็วขึ้น
4. นวัตกรรมรองเท้าอิเล็กทรอนิกส์และระบบต้นแบบ
ผลงานจาก มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี โดย รศ. ดร.สุดเขตต์ พจน์ประไพ คณะวิศวกรรมศาสตร์ และทีมวิจัย พัฒนาต้นแบบสำหรับระบบแพทย์ระยะไกลในผู้ป่วยที่มีปัญหาด้านการเคลื่อนไหวและผู้สูงอายุ โดยอาศัยเทคโนโลยีพื้นรองเท้าอัจฉริยะ Surasole ร่วมกับแอปพลิเคชันบนโทรศัพท์มือถือและการจัดเก็บข้อมูลคลาวด์ กลายเป็นนวัตกรรมแผ่นพื้นรองเท้าอัจฉริยะ มีฟังก์ชัน ที่น่าสนใจ ได้แก่ ใช้ออกกำลังกาย เนื่องจากพื้นรองเท้าอัจฉริยะนี้จะเชื่อมต่อข้อมูลเข้ากับโทรศัพท์มือถือแล้วจะรายงานผลลัพธ์การออกกำลังกาย และใช้ฝึกการทรงตัว ฟังก์ชันนี้ยังช่วยลูกหลานเมื่อผู้สูงวัยออกไปข้างนอกบ้าน แล้วล้มที่ไหนเซ็นเซอร์ที่พื้นรองเท้าจะตรวจจับ และส่งข้อความไปแจ้งเตือน ให้ลูกหลานรับรู้ทันที
5. พีท (PETE) เปลปกป้อง เปลเคลื่อนย้ายผู้ป่วยความดันลบ
ดร.ศราวุธ เลิศพลังสันติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และคณะวิจัย ได้พัฒนา “PETE เปลปกป้อง” (Patient Isolation and Transportation Chamber) อุปกรณ์สำหรับเคลื่อนย้ายผู้ป่วยติดเชื้อทางเดินหายใจ เพื่อสนับสนุนการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ในการรับมือกับวิกฤติโควิด-19 ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน และรองรับการใช้งานกับโรคติดเชื้อทางเดินหายใจอื่น ๆ ทั้งโรควัณโรค รวมถึงโรคอุบัติใหม่ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต
จุดเด่นของ “PETE เปลปกป้อง” มีระบบ “Smart Controller” ทำหน้าที่ควบคุมความดันภายในเปล ใช้งานได้ทั้งบนภาคพื้นและบนอากาศ สามารถตรวจสอบการรั่วไหลของอากาศสู่ภายนอก (Pressure Alarm)และแจ้งเตือนการเปลี่ยนแผ่นกรองอากาศ (Fitter Reminder) เมื่อถึงกำหนด และยังสามารถนำเปลเข้าเครื่อง CT scan ได้ ที่สำคัญคือตัวเปลมีน้ำหนักเบา สามารถพับเก็บลงกระเป๋า พกพาได้สะดวก และติดตั้งง่าย เหมาะสำหรับกับการใช้งานในรถพยาบาล
6. นวัตกรรม ‘MagikTuch’ สำหรับแปลงระบบลิฟต์ทั่วไปให้เป็นระบบลิฟต์แบบไร้สัมผัส
อีกหนึ่งผลงานของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดย ดร.ศิวรักษ์ ศิวโมกษธรรม และทีมวิจัย พัฒนานวัตกรรม ‘Magiktuch’ ลิฟต์ไร้สัมผัสเพื่อช่วยลดการเป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรค โดยไม่มีผลกระทบใด ๆ ต่อระบบประกันของบริษัทลิฟต์ ซึ่งนอกจากจะเป็นการช่วยลดความเสี่ยงการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 แล้ว ยังจะช่วยลดการนำเข้าและพึ่งพาผลิตภัณฑ์/เทคโนโลยีจากต่างประเทศ สร้างความเข้มแข็งและความก้าวหน้าด้านนวัตกรรมของไทยอย่างต่อเนื่อง
ปัจจุบันได้นำไปติดตั้งทดสอบการใช้งานจริง ได้แก่ ที่ตึกผู้ป่วยนอกอาคารเดิม โรงพยาบาลศิริราช ( 1 ชุด) โรงพยาบาลสนามบ้านวิทยาศาสตร์สิรินธรเพื่อคนพิการ (1 ชุด) และอาคารสำนักงานกลางของ สวทช. (1 ชุด) ผลทดสอบการใช้งานเป็นที่น่าพอใจ และขยายผลไปในอีกหลายพื้นที่
7. นวัตกรรมการผลิตชุดอุปกรณ์รองรับสิ่งขับถ่ายจากทวารเทียมด้วยยางพาราสกัดโปรตีน
คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ของ นพ.วรวิทย์ วาณิชย์สุวรรณ และคณะ มีผลงานนวัตกรรมชุดถุงทวารเทียมจากยางพาราสกัดโปรตีน ประกอบไปด้วย 1. แผ่นติดผิวหนังรอบทวารเทียม 2. ถุงรองรับสิ่งขับถ่ายจากทวารเทียม 3. ครีมปกป้องผิวหนังรอบทวารเทียม 4. แป้งรักษาแผลที่ผิวหนังรอบทวารเทียม และ 5. สายรัดหน้าท้องเพื่อพยุงถุงรองรับสิ่งขับถ่ายจากทวารเทียม ซึ่งชุดอุปกรณ์ดังกล่าวนำยางพาราในประเทศมาผลิตแทนวัสดุพอลิเมอร์ โดยยางพาราที่นำมานั้น ได้ผ่านกรรมวิธีในการสกัดโปรตีนทำให้ลดอาการแพ้ที่จะเกิดขึ้นบริเวณรอบ ๆ ทวารเทียม
ส่วนข้อดีในเชิงคุณลักษณะของชุดอุปกรณ์นี้ เนื่องจากยางมีความยืดหยุ่นและมีความเหนียวและคงทน โดยชุดถุงทวารเทียมนี้เพื่อ ใช้ในผู้ป่วยที่ไม่สามารถขับถ่ายทางท่ออุจจาระได้ตามปกติ จำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดทวารเทียมที่หน้าท้อง ซึ่งผู้ป่วยกลุ่มนี้ได้แก่ ผู้ป่วยมะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งลำไส้ มะเร็งมดลูกระยะสุดท้าย โรคระบบทางเดินปัสสาวะ หรืออุบัติเหตุ
สำหรับผู้ที่สนใจนวัตกรรมทางการแพทย์ที่ได้กล่าวยกขึ้นมา ยังมีนวัตกรรมอีกมากมายภายในงาน หากสนใจเข้าร่วมเจรจาธุรกิจเพื่อต่อยอดงานวิจัยพร้อมได้ผลิตภัณฑ์และบริการด้านสุขภาพที่เหมาะสมกับธุรกิจของท่าน สามารถลงทะเบียน Business Matching ได้ตาม QR Code ที่แนบมานี้ หรือเข้าชมนวัตกรรมต่างๆ ได้ในงาน Healthy Living & Innovation Expo 2022 ตลอด 4 วันเต็ม ตั้งแต่วันที่ 8 – 11 กันยายน 2565 นี้ ณ ศูนย์ประชุมนานาชาติฉลองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี (ICC HAT YAI) สามารถติดตามรายละเอียดได้ที่ เว็บไซต์ healthyliving-expo.com หรือ Facebook : Healthy Living & Innovation Expo หรือติดต่อสอบถามได้ที่ โทรศัพท์ 097 347 3050
Credit : ข่าวประชาสัมพันธ์กรมประชาสัมพันธ์กรุงเทพมหานคร : Read More