ท่อง “พระนครคีรี” วิมานบนเขา ถิ่นเก่ากษัตริย์ เศวตฉัตรมิ่งขวัญเมือง
จากเนื้อความท่อนหนึ่งของเพลงสาวเพชรบุรี ว่า “มองยอดเขาวัง ยอดเขาสูงคอตั้ง จนเสียดฟ้า…” (เพลงสาวเพชรบุรี-พุ่มพวง ดวงจันทร์) ได้กล่าวถึงสถานที่สำคัญแห่งหนึ่งของเมืองเพชรบุรี บ่งบอกว่าพระนครคีรี หรือที่นิยมเรียกกันติดปากว่า เขาวัง นั้นเป็นสถานที่สำคัญ
สำหรับคนเมืองเพชรแล้วเสมือนเป็นมิ่งขวัญเมือง ก็เนื่องด้วยเป็นสถานที่ซึ่งพระเจ้าแผ่นดินทรงสร้างไว้และได้เคยเสด็จแปรพระราชฐานมาประทับ ไม่ว่าพระมหากษัตริย์จะเสด็จไปแห่งหนตำบลใดถือเป็นความปิติยินดีของราษฎรในถิ่นนั้นๆ พระนครคีรีจึงเป็นความภาคภูมิใจของชาวเพชรบุรี
พระนครคีรี ภาพถ่ายทางอากาศ เมื่อ พ.ศ. 2489 (ภาพจาก หอจดหมายเหตุแห่งชาติ)
“พระนครคีรี” หรือ “เขาวัง” นี้ ตั้งอยู่ที่ ตำบลคลองกระแชง อำเภอเมืองเพชรบุรี จังหวัดเพชรบุรี ตั้งอยู่บนยอดเขาที่มีชื่อว่า “เขาสมณะ” ประกอบด้วยยอดเขาใหญ่ 3 ยอด ไหล่เขาด้านตะวันออกมีวัดเก่าแก่อยู่วัดหนึ่ง คือ วัดสมณ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เคยเสด็จจาริกมาประทับอยู่ที่วัดนี้เมื่อครั้งถือครองเพศบรรพชิต (ขณะนั้นยังไม่เสด็จขึ้นเสวยราชสมบัติ)
เมื่อทรงเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติแล้ว พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระราชวังพระนครคีรีขึ้นในปีพุทธศักราช 2402 ทรงพระราชทานนามใหม่แก่เขาลูกนี้เป็น “เขามหาสวรรค์” โดยมีพระราชโองการโปรดเกล้าฯให้เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) เป็นแม่กองก่อสร้าง พระเพชรพิไสยศรีสวัสดิ์ (ท้วม บุนนาค) ปลัดเมืองเพชรบุรี เป็นนายงานก่อสร้าง พระเพชรพิไสยศรีสวัสดิ์ผู้นี้เคยได้ร่วมเดินทางไปกับคณะทูตในการเจริญสัมพันธไมตรีกับอังกฤษเมื่อ พ.ศ. 2400
เขามหาสวรรค์ ปัจจุบันเรียก “เขามไหศวรรย์” สิ่งก่อสร้างบนยอดเขาทั้ง 3 รวมเรียกว่า “พระนครคีรี”
สิ่งก่อสร้างสำคัญของพระนครคีรี ดังนี้
พระธาตุจอมเพชร พระเจดีย์ที่ทรงโปรดให้สร้างขึ้นใหม่ทับพระเจดีย์องค์เดิมที่มีอยู่แล้ว ซึ่งอยู่ในสภาพชำรุด (บริเวณนี้เคยเป็นที่ตั้งของวัดอินทคีรีซึ่งเป็นวัดร้าง) และได้นำพระบรมสารีริกธาตุมาบรรจุไว้
วัดพระแก้ว ภายในวัดพระแก้วนี้ประกอบด้วย พระอุโบสถ หอระฆัง พระพุทธเสลเจดีย์ ศาลาและพระปรางค์แดง
วัดพระแก้ว (ภาพจากเพจ พระนครคีรี กรมศิลปากร)
พระอุโบสถ สร้างเป็นขนาดเล็กย่อส่วนทำด้วยหินอ่อน หน้าบันปูนปั้นเป็นตราพระมหาพิชัยมงกุฏ ตราประจำรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ถือเป็นงานปูนปั้นชิ้นหนึ่งที่มีชื่อเสียงของจังหวัดเพชรบุรี ภายในประดิษฐานพระแก้วผลึก (เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคต ทางการได้นำไปยังกรุงเทพมหานคร แล้วนำพระพุทธรูปหินอ่อนมาประดิษฐานแทน)
พระสุทธเสลเจดีย์ อยู่ด้านหลังพระอุโบสถ เป็นเจดีย์ทรงกลมทำจากหินอ่อนสีเทาอมเขียว โดยสลักหินอ่อนประกอบเป็นองค์เจดีย์เสร็จสรรพที่เกาะสีชัง แล้วถอดเป็นชิ้นขนขึ้นเรือมายังเพชรบุรี นำมาประกอบใหม่ที่วัดพระแก้วแห่งนี้
พระที่นั่งเพชรภูมิไพโรจน์ เป็นพระที่นั่งที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในพระราชวังพระนครคีรี ก่อฤกษ์เมื่อวันขึ้น 3 ค่ำเดือน 8 ปีพุทธศักราช 2402 ภายในพระที่นั่งประกอบด้วย ห้องบรรทม ห้องเสวย ห้องโถงออกขุนนาง ห้องแต่งพระองค์ ห้องสรงและห้องลงพระบังคน(ห้องสุขา) สมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระที่นั่งนี้ใช้เป็นท้องพระโรงออกขุนนาง ภายหลังในสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้มีการดัดแปลงเป็นที่ประทับของพระราชอาคันตุกะต่างเมือง
พระที่นั่งเพชรภูมิไพโรจน์ (ภาพจากเพจ พระนครคีรี กรมศิลปากร)
พระที่นั่งปราโมทย์มไหสวรรย์ มีสองชั้น ทรงคล้ายเก๋งจีน ชั้นบนมีห้องโถงและห้องบรรทม 2 ห้อง ชั้นล่างเป็นห้องโถง 2 ห้อง
พระที่นั่งเวชยันต์วิเชียรปราสาท เป็นปราสาททรงจตุรมุข มียอดปรางค์ 5 ยอด โดยยอดปรางค์ใหญ่อยู่ตรงกลาง สูง 14 เมตร และยอดปรางค์เล็กอยู่ที่มุขทั้ง 4 บนฐานสูงซ้อนกัน 3 ชั้น แต่ละชั้นมีระเบียงกรงลูกแก้ว ที่ชั้นบนสุดฐานเดียวกับตัวปราสาทเป็นโดมโปร่งตกแต่งด้วยลายปูนปั้น ภายในองค์ปราสาทประดิษฐานพระบรมรูปหล่อสำริดพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว(พระบรมรูปองค์นี้โปรดให้สร้างขึ้นเพื่อจะนำไปถวายพระเจ้านโปเลียนที่ 3 แห่งฝรั่งเศส แต่พระองค์เสด็จสวรรคตเสียก่อน ที่จะนำไปถวาย)
พระที่นั่งเวชยันต์วิเชียรปราสาท (ภาพจากเพจ พระนครคีรี กรมศิลปากร)
พระที่นั่งราชธรรมสภา มีชั้นเดียวทรงคล้ายเก๋งจีน ตกแต่งด้วยเสาปลอมติดผนัง เป็นศิลปโรมันแบบไอโอนิค (เป็นลักษณะหนึ่งใน 3 แบบของสถาปัตยกรรมเสาคลาสสิค) พระที่นั่งองค์นี้ใช้เป็นที่ประชุมสาธยายธรรม ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสนพระราชหฤทัยในการปฏิบัติธรรมอยู่แล้วตั้งแต่เมื่อครั้งถือเพศบรรพชิต ภายในมีโต๊ะบูชาพระพุทธอยู่ด้วย
หอชัชวาลเวียงชัย หรือที่เรียกกันว่า “กระโจมแก้ว” เป็นหอสำหรับใช้ส่องกล้องดูดาว มีลักษณะเป็นทรงกลมคล้ายกระโจมภายในมีบันไดเวียน หลังคาเป็นทรงโดมมุงด้วยกระจกโค้ง ภายในมีโคมไฟ กลางคืนเวลาจุดแสงจะส่องไปไกลถึงชายทะล แต่ก่อนคนเรือหาปลาได้อาศัยแสงไฟนี้เป็นประภาคารนำทางเอาเรือเข้าอ่าวบ้านแหลม ชั้นบนสามารถมองเห็นวิวทิวทัศน์ของเมืองเพชรบุรีได้โดยรอบตลอดจนชายทะเล ที่หน้าหอชัชวาลเวียงชัยมีธงมหาราช เสาธงสูง 20 เมตร เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประทับที่พระนครคีรีจึงจะชักธงนี้ขึ้น
หอพิมานเพชรมเหศวร เป็นหอเล็กๆ 3 หอ หอกลางมีขนาดใหญ่กว่าหอข้าง ภายในประดิษฐานพระพุทธรูป ในส่วนของหอข้างนั้น ข้างหนึ่งเป็นศาลเทพารักษ์หรือศาลพระภูมิ ข้างหนึ่งเป็นที่ประโคมสังคีต มีเสาไม้เป็นสะดึงสำหรับแขวนฆ้องชัยหน้าหอทั้ง 2 ภายในหอกลางใหญ่ได้ก่อผนังไว้เป็นห้องบรรทมของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งจะทรงประทับที่ห้องบรรทมนี้ในวันที่ถือศีลอุโบสถ จากห้องบรรทมนี้มองออกไปจะเห็นทิวทัศน์ที่สงบคือพระธาตุจอมเพชรและวัดพระแก้ว ในวันขึ้น 15 ค่ำจะเห็นพระจันทร์เต็มดวงได้ถนัดตา
หอพิมานเพชรมเหศวรนี้เคยเป็นที่ประกอบพระราชพิธีโสกันต์ของสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยาภานุพันธุ์วงศ์วรเดช เมื่อครั้งยังเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ พระองค์ทรงเป็นพระอนุชาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
นอกจากนี้ยังมีสิ่งก่อสร้างอื่นๆ อีกเพื่อประโยชน์ใช้สอยในด้านที่แยกย่อยออกไป
(ภาพจากเพจ พระนครคีรี กรมศิลปากร)
พระราชวังพระนครคีรีนี้เป็นที่เชิดหน้าชูตามาตั้งแต่ครั้งอดตี ในปีพุทธศักราช 2404 ได้รองรับราชทูตจากรัสเซีย นำโดยคอลออยเลนเบิร์ตซึ่งเข้ามาเจริญสัมพันธไมตรี พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้กรมหลวงวงศาธิราชสนิท จัดเรือให้คณะทูต ทรงมีพระราชหัตถเลขาถึงสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์เจ้าคัคณางยุคลซึ่งประทับอยู่ที่พระนครคีรีขณะนั้นเพื่อให้เตรียมจัดรถไว้ให้คณะทูตจากรัสเซีย
ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ปีพุทธศักราช 2453 ดุ๊กโยฮัน อัลเบรกต์ผู้สำเร็จราชการจากเยอรมณีพร้อมด้วยพระชายาได้เสร็จประพาสเมืองเพชรบุรี รัชกาลที่ 5 ทรงโปรดฯ ให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงดำรงราชานุภาพ (พระอิสริยยศในตอนนั้น) คอยรับเสด็จที่พระนครคีรี ได้มีการจุดดอกไม้เพลิงถวายแก่ท่านดุ๊กด้วย
เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้างพระราชวังพระนครคีรีแล้ว โปรดให้บูรณะวัดสมณด้วย ได้ทรงพระราชทานนามใหม่เป็น “วัดมหาสมณาราม” และให้เป็นพระอารามหลวงวรวิหารชั้นโท
พระนครคีรีนี้ได้รับการบูรณะถึงสองครั้งด้วยกัน ครั้งแรกในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พ.ศ. 2426 และครั้งที่ 2 ใน พ.ศ. 2496 โดย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จมาทรงทอดพระเนตรเห็นถึงความชำรุดทรุดโทรมของอาคารสถานต่างๆ จึงมีพระราชปรารภโปรดเกล้าฯ ให้ซ่อมแซม
(ภาพจากเพจ พระนครคีรี กรมศิลปากร)
กรมศิลปากรจึงได้ทำการสำรวจและประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแห่งชาติเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2496 จัดทำโครงการบูรณะเข้าแผนทำนุบำรุงส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 5 ( พ.ศ. 2525-2529) ใน พ.ศ. 2524 ภายใต้ชื่อ “โครงการอุทยานประวัติศาสตร์พระนครคีรี” ตามวัตถุประสงค์ของโครงการได้จัดให้มีการก่อสร้าง หอสมุดแห่งชาติขึ้นด้วยโดยใช้พระตำหนักสันถาคารสถาน
เปิดให้ประชาชนเข้าชมครั้งแรกในวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2528 และเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อปีพุทธศักราช 2532 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชเสด็จพระราชดำเนินมาทรงพิธีเปิดอุทยานประวัติศาสตร์ โดยได้ทรงเปิดพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนครคีรี พระราชทานพระบรมสารีริกธาตุบรรจุ ณ พระธาตุจอมเพชร จุดประทีปโคมไฟ ณ ชัชวาลเวียงชัย และทรงพิธีเปิดหอสมุดแห่งชาติ สาขาพระนครคีรี
ปัจจุบันอุทยานประวัติศาสตร์ พระนครคีรี ได้มีการจัดงานประจำปีขึ้นทุกปี เป็นระยะเวลา 10 วัน 10 คืน โดยงาน “พระนครคีรี-เมืองเพชร” ครั้งที่ 35 ประจำปี 2565 จัดขึ้นในระหว่างวันที่ 18-27 กุมภาพันธ์ 2565 ที่ผ่านมา
เอกสารอ้างอิง :
กรมศิลปากร. พระนครคีรี. กรุงเทพฯ : ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล สหประชาพาณิชย์, 2527.
กรมศิลปากร. อุทยานประวัติศาสตร์พระนครคีรี. กรุงเทพฯ : หจก.โรงพิมพ์ชวนพิมพ์, 2537.
ผศ.ดร.พัสวีสิริ เปรมกุลนันท์. วัด-วังในพระราชประสงค์พระจอมเกล้าฯ. นนทบุรี: สำนักพิมพ์มติชน, 2560.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2562
The post ท่อง “พระนครคีรี” วิมานบนเขา ถิ่นเก่ากษัตริย์ เศวตฉัตรมิ่งขวัญเมือง appeared first on Thailand News.