เจ้านายสตรีไทยทำมาค้าขายอะไรหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475
สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ในรัชกาลที่ 7 (ทรงทอเสื่อ) ทรงเปิดกิจการ “สวนบ้านแก้ว” ที่จังหวัดจันทบุรี เพื่อเลี้ยงสัตว์ เพราะปลูก และท่อเสื่อชื่อดังเรียกว่า “ผลิตภัณฑ์เสื่อสมเด็จ” (ขอบคุณภาพจาก www.clipmass.com/story/98340)
เมื่อเจ้านายสตรีจำต้องใช้วิชาความรู้ที่ถูกบ่มเพาะตามแบบอย่างของสตรี “ชาววัง” นำมาเป็นเครื่องมือทำมาหาเลี้ยงชีพตนและครอบครัว หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475
อ. วีระยุทธ ปีสาลี ได้อธิบายถึงเจ้านายสตรีไทยในสมัยหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ว่าหลายพระองค์ต้องเผชิญกับความยากลำบากในชีวิต เจ้านายสตรีถูกตัดเงินปีลงไปมาก ต้องทรงช่วยทำมาหาเลี้ยงชีพพระองค์และครอบครัวในสภาพสังคมที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว
ภายหลังรัชกาลที่ 5 สวรรคต ทำให้ราชสำนักฝ่ายในในพระบรมมหาราชวังเสื่อมโทรม เจ้านายฝ่ายในหลายพระองค์ก็ออกมาประทับนอกวังที่วังของเจ้านายฝ่ายหน้าหรือพระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายชาย ครั้นเจ้านายเจ้าของวังต่าง ๆ สิ้นพระชนม์ก็ยิ่งทำให้เจ้านายฝ่ายในแตกกระสานซ่านเซ็นไปคนละทิศละทาง
เจ้านายสตรีไทยจึงจำเป็นต้องทำมาหาเลี้ยงชีพตนเอง โดยใช้ความรู้ที่ได้ร่ำเรียนมาจากราชสำนัก เช่น การทำอาหาร การทำขนม งานประดิษฐ์ และงานเย็บปักถักร้อย นำมาเป็นต้นทุนในการประกอบอาชีพ ซึ่งนอกจากจะหารายได้มาใช้จ่ายส่วนพระองค์แล้ว การประกอบอาชีพของเจ้านายสตรียังส่งผลให้ศาสตร์ของฝ่ายในแพร่จากชาววังสู่ชาวบ้านมากกว่าสมัยใด ๆ
พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุไรรัตนศิริมาน เปิดร้านอาหารไทยในกรุงลอนดอน ชื่อว่า “Siam Rice”
หม่อมเจ้าสุรางค์ศรี โศภางค์ ทรงใช้ความรู้ความสามารถด้านงานฝีมือที่ได้รับการถ่ายทอดมาจากราชสำนักในสมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ประดิษฐ์หมวกที่เรียกว่า “ตุ้มปี้” ออกจำหน่าย ตรงกับสมัยรัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่กำลังอยู่ในช่วงดำเนินนโยบายสร้างความเป็นไทย โดยให้คนไทยสวมหมวกในช่วงทศวรรษ 2480 การค้าขายหมวกของหม่อมเจ้าสุรางค์ศรี โศภางค์ ก็สร้างรายได้เป็นอย่างดี
หม่อมเจ้าวรรณีศรีสมร วรวรรณ ทรงทำธุรกิจจัด “กระเช้าลันชั่น” (Luncheon Basket) หรือกระเช้าอาหารกลางวัน ซึ่งเจาะกลุ่มข้าราชการส่งขายตามกระทรวงต่าง ๆ และได้รับความนิยมสูงและขายดีมาก ดังที่ หม่อมเจ้าบรรเจิดวรรณวรางค์ วรวรรณ ที่มาช่วยกิจการนี้ ทรงเล่าว่า “กิจการดีมาก เพราะอาหารอร่อย ทรงจัดอย่างพิถีพิถัน สวยงาม สะอาด ตั้งแต่รัฐมนตรีจนกระทั่งถึงเสมียนต่างก็รับ ‘กระเช้าลันชั่น’ กันทั้งนั้น”
หม่อมเจ้าพรพิมลพรรณ รัชนี พระชายาในพระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ (พระนามเดิม พระองค์เจ้ารัชนีแจ่มจรัส หรือนามปากกว่า น.ม.ส.) ทำสำนักพิมพ์ในช่วงเวลานั้น
หม่อมเจ้าเราหินาวดี ดิศกุล ทรงทำขนมขาย ทำกันเป็นแบบอุตสาหกรรมในครัวเรือนเล็ก ๆ ขนมที่เป็นที่นิยมคือ ขนมเค้กสำหรับงานวันเกิด และขนมงานเลี้ยงน้ำชา ในสมัยนั้นจะเรียกขนมเค้กของหม่อมเจ้าเราหินาวดี ดิศกุล ว่า “ขนมเค้กท่านหญิงเป้า” ซึ่งในยุคสมัยนั้นขึ้นชื่อมีชื่อเสียงมาก โดยมีหม่อมหลวงฉายชื่น กำภู ผู้เป็นสามีคอยช่วยเหลือติดต่อร้านขายเพื่อนำขนมไปขาย
อุตสาหกรรมภายในครัวเรือนการทำขนมของหม่อมเจ้าเราหินาวดี ดิศกุล
อ.วีระยุทธ อธิบายว่ามีคนอยากให้หม่อมเจ้าเราหินาวดี ดิศกุล หยุดทำงานหรือขายขนมเพราะเป็นงานที่เหนื่อยและหนัก แต่พระองค์ยังคงขายขนมต่อไป โดย อ.วีระยุทธ กล่าวว่า “พระองค์ก็บอกว่าพอเห็นลูกสองคนได้นอนหลับสบายแล้วก็รู้สึกว่ายังหยุดทำไม่ได้ ก็เลยต้องทำต่อไป”
หม่อมเจ้ากุมารีเฉลีมลักษณ์ จิตรพงศ์ พระขนิษฐาของหม่อมเจ้าเราหินาวดี ดิศกุล ภายหลังจากที่ทรงเสกสมรสกับ หม่อมเจ้าเพลารถ จิตรพงศ์ ก็ได้เริ่มกิจการเล็ก ๆ เช่น ขายเข็มขัด ต่อมาขายขนมเช่นเดียวกับหม่อมเจ้าเราหินาวดี ดิศกุล และรับขนมเค้กท่านหญิงเป้าไปขายด้วยเช่นกัน หม่อมราชวงศ์กัลยา ติงศภัทิย์ กล่าวถึงกิจการขายขนมของหม่อมเจ้ากุมารีเฉลีมลักษณ์ไว้ว่า
“ท่านสร้างโรงทำขนมขึ้นข้าง ๆ ศาลาน้ำ มีข้าหลวงมหาดเล็กที่จ้างมาเพื่อทำขนมหลายคน กลุ่มหนึ่งจะตื่นเช้าประมาณตี ๔ ทำกะหรี่ปั๊บ รังนก กรอบเค็ม ทอฟฟี่นม เป็นต้น บนตำหนักไทยก็จะมีส่วนที่ต่อออกไปเป็นห้องตั้งตู้เย็นหลายตู้ไว้ทำหวานเย็น ทำหวานเย็นรสต่าง ๆ และใส่กระติกไปขาย ท่านแม่ทำขนมปังไส้ไก่ขายด้วย ทำกันบนตำหนักไทย นอกจากขนมท่านแม่ยังขายก๋วยเตี๋ยว ขายทอฟฟี่ต่าง ๆ วางเรียงรายกันเต็มโต๊ะใหญ่ และยังรับขนมเค้กท่านป้าเป้าไปขายด้วย ท่านป้าเป้าทำขนมเค้กเก่งมาก”
พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุไรรัตนศิริมาน ทรงย้ายไปประทับที่ประเทศอังกฤษพร้อมด้วย หม่อมเจ้าฉัตรมงคล โสณกุล พระสวามี ในปี พ.ศ. 2497 ทรงเปิดร้านอาหารไทยขึ้นเป็นร้านแรกและร้านเดียวในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ และในทวีปยุโรป ใช้ชื่อร้านว่า “ร้านข้าวไทย” หรือ “Siam Rice” และร้านนี้ยังเป็นที่ชุมนุมพบปะของเจ้านายไทยที่เสด็จไปประเทศอังกฤษในช่วงเวลานั้น
เค้กท่านหญิงเป้า
ความแพร่หลายของการประกอบอาชีพขายอาหารของเจ้านายสตรีทำให้วัฒนธรรมอาหารของชนชั้นสูงแพร่ลงมาสู่ชาวบ้านสามัญชน อาหารชาววังจึงกลายเป็นสินค้าทางวัฒนธรรมที่เจ้านายสตรีใช้ในการเลี้ยงชีพ และนหลาย ๆ ราชสกุล ก็ส่งต่อวัฒนธรรมอาหารของแต่ละวังสู่ทายาทมาถึงปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม เจ้านายส่วนใหญ่มักผูกพันอยู่กับระบบราชการและขาดประสบการณ์ในการลงทุนค้าขาย ธุรกิจการค้าของเจ้านายบางพระองค์ก็ประสบความสำเร็จบ้างล้มเหลวบ้าง แต่นับว่าการออกมาประกอบอาชีพของเจ้านายสตรีนับเป็นความเปลี่ยนแปลงทางจารีตและประเพณีของสตรีฝ่ายใน ซึ่งแต่เดิมไม่มีบทบาทนี้แม้แต่น้อย
นอกจากนี้ยังสะท้อนให้เห็นว่ามีการเปิดกว้างทางสังคมมากขึ้น สตรีในสังคมก็มีบทบาทและหน้าที่สังคมมากกว่ายุคก่อน ๆ ม่านประเพณีจารีตในยุคโบราณได้ถูกปรับเปลี่ยนไปตามวิถีสังคมสมัยใหม่ และเจ้านายสตรีเหล่านี้ก็จำเป็นต้องปรับตัวไปตามยุคสมัยเช่นกัน
Source: https://www.silpa-mag.com/
The post เจ้านายสตรีไทยทำมาค้าขายอะไรหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 appeared first on Thailand News.