ภาษาไทยเสื่อมทราม ร.5 มีพระราชดำริตั้ง “สมาคม” กวดขันดูแล
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5ในช่วงสมัยรัชกาลที่ 5 ประเทศไทยซึ่งในขณะนั้นยังใช้ชื่อว่าสยามมีความเจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว อย่างที่กล่าวกันว่าเป็นช่วงเวลา “ทำให้ทันสมัย” (modernization) สยามรับอิทธิพลจากประเทศทางตะวันตกทั้งรูปธรรม เช่น เทคโนโลยี ภาษา วรรณกรรม และนามธรรม เช่น ทัศนคติเรื่องสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคประชาชนเร่งปรับตัวเข้ากับความเปลี่ยนแปลงอย่างใหม่นี้ บางอย่างนำมาแทนที่ของเก่า บางอย่างปรับของใหม่ให้ผสมผสานไปกับของเก่า วัฒนธรรมอย่างใหม่จึงมีผลกระทบต่อวัฒนธรรมเดิมมากบ้างน้อยบ้าง ดีบ้างเลวบ้างการพิมพ์และหนังสือพิมพ์นำวัฒนธรรมลายลักษณ์เข้ามาแทนที่วัฒนธรรมมุขปาฐะ มีการแปลวรรณกรรมจากภาษาต่างประเทศ และมีการแต่งวรรณกรรมรูปแบบต่างๆ เผยแพร่ทางนิตยสารและหนังสือพิมพ์ที่ก่อกำเนิดและพัฒนาอย่างมากมายในยุคนั้นภาษาไทยเป็นวัฒนธรรมอย่างหนึ่งได้รับผลกระทบจากความเปลี่ยนแปลงไปสู่ความทันสมัยในยุคนี้ มีการนำภาษาอังกฤษเข้ามาใช้ในลักษณะคำทับศัพท์มากขึ้น เพราะยังไม่มีการบัญญัติคำไทยขึ้นใช้แทน แต่นอกจากเราจะมีคำใช้ในภาษาไทยมากขึ้นแล้ว ภาษาไทยที่ใช้กันมาแต่เดิมก็มีความเปลี่ยนแปลงตามยุคสมัย แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงในด้านเลวลงอย่างน่าเป็นห่วงพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงวิตกกังวลต่อความเสื่อมทรามของภาษาไทยในการพูดและการเขียนในขณะนั้นเป็นอย่างยิ่ง แต่ทรงจัดการแก้ไขไปได้ไม่มากนัก จนกระทั่งเสด็จประพาสยุโรปครั้งที่ 2 ใน พ.ศ. 2450ขณะที่พระองค์ประทับอยู่ที่เมืองฮอมเบิค ประเทศเยอรมนี พระองค์มีพระราชหัตถเลขา ลงวันที่ 26 สิงหาคม ร.ศ. 126 ถึงสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมารว่า ภาษาไทยเสื่อมเสียด้วยความมักง่ายของผู้ใช้ จึงมีพระราชดำริเห็นควรจัดตั้งสมาคมขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหา ทั้งทรงตั้งสมเด็จฯ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร เป็นอุปนายก ข้อความในพระราชหัตถเลขา มีดังนี้“ฮอมเบิค
วันที่ 26 สิงหาคม ร.ศก 126
ถึงมกุฎราชกุมาร ด้วยฉันมีความหวาดหวั่นเกิดขึ้นด้วยเหตุฟังภาษาใหม่ กล่าวคือกินเฃ้าว่ารับ นี้แพร่หลายรวดเรวนัก ถ้าทิ้งไว้ช้าอีกน่าจะแก้ไม่ไหว คำใหม่ๆ ก็จะเกิดขึ้นร่ำไป ภาษาไทยจะกลายเปนภาษาบัดซบเหลือสติกำลัง คำที่ไม่พอใช้นับว่าเปนภาษาที่ไม่บริบูรณอยู่แล้ว จะยิ่งย่อสั้น ลดคำน้อยลงจนกลายเป็นภาษามลายูไปได้
พระราชหัตถเลขารัชกาลที่ 5 ถึง สมเด็จฯ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร(สำเนาจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ)
ด้วยไม่มีใครป้องกันความเสียของภาษา ปล่อยให้ผู้ไม่มีความรู้เปนหัวหน้า ร่นภาษาลงให้น้อยตามสันดานที่มักง่าย ฉันจึ่งได้คิดปราถนาจะตั้งสมาคมอันหนึ่ง ซึ่งได้เขียนความคิดส่งมาด้วยกับหนังสือนี้ หวังใจว่าเธอคงจะเปนตัวสำคัญผู้หนึ่งซึ่งจะเอาเปนน่าที่อย่างแขงแรง จึ่งได้สามารถที่จะลงชื่อไว้ว่าเปนอุปนายก
ฉันเชื่อใจว่ายังจะมีเจ้านายแลฃ้าราชการ ที่มีความสามารถอีกเปนอันมาก อันควรจะรับตำแหน่งเปนกรรมการได้ คือกรมหลวงวชิรญาณวโรรส กรมหลวงเทวะวงษ์วโรประการ กรมหลวงดำรงราชานุภาพ กรมขุนสมมต เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัติวงษ์ เปนต้น กรรมการนี้สำหรับเปนผู้วินิจฉัยศัพท์ที่ควรใช้อย่างไรแลไม่ควรใช้ เลขานุการเหนว่า พระยาศรีสุนทรโวหารใช้ได้
นอกนั้นต้องการเมมเบอ แต่เมมเบอนั้นจะต้องเปนผู้ที่ได้ศึกษาความประสงค์ของสมาคมให้เฃ้าใจเสียก่อนจึ่งลงชื่อ ถ้าหาไม่เปนสมาชิกแล้วไปบัญชาผิดจะร้ายมาก แต่ไม่ควรตั้งข้อกวดขัน ให้ผู้ซึ่งจะมาเปนสมาชิกตกใจเสียว่าความรู้ตัวไม่พอ ท้อถอยไม่อาจเฃ้าเป็นสมาชิก ฤๅทำให้เกิดความแค้นเสียว่าถูกผู้รู้หมิ่นประมาท กรรมการจะต้องช่วยกันพยายามเผยแผ่ความรู้ที่ถูกต้องอย่างไร ให้เพื่อนกันรู้ ช่วยกันหาเมมเบอให้ได้ให้มาก
ถ้าเมมเบอกว้างขวางออกไปเพียงใด กำลังเราที่จะต่อสู้ภาษาเลวทรามก็ยิ่งมีมากขึ้น ฃอให้พิจารณาคำที่ฉันว่านี้ ให้เฃ้าใจเหนผล คงจะเปนการที่มีประโยชน์ได้จริงบ้าง ในรหว่างที่ฉันยังไม่กลับไปถึง ฃอให้อุปนายกจัดการแทนตัว จะสำเรจความมุ่งหมายได้ด้วยสถานใด ก็ให้ทำไป
จุฬาลงกรณ์ ปร.”
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงใส่พระทัยในเรื่องปัญหาภาษาไทยที่เกิดขึ้นในรัชสมัยของพระองค์อย่างจริงจัง หากทรงวางแผนการดำเนินงานอย่างรอบคอบ และอย่างละมุนละม่อม ดังจะเห็นได้ทรงใช้ชื่อเอกสาร “คำชักชวน” เพื่อโน้มน้าวใจให้สมาชิกซึ่งในชั้นต้นล้วนแต่เป็นเจ้านายระดับสูงและขุนนางคล้อยตาม แต่ในขณะเดียวกันพระองค์ทรงตั้งกฎเกณฑ์เข้มงวดสำหรับสมาชิกของสมาคมนี้ เพราะทรงหวังให้หมู่สมาชิกเป็นแบบอย่างของผู้ใช้ภาษาไทยที่ดีต่อไป
จากเอกสาร “คำชักชวน” ฉบับนี้ ทำให้ทราบว่าพระองค์ทรงพยายามแก้ไขการใช้ภาษาไทยที่ไม่ถูกต้องด้วยวิธีการอื่นๆ มาก่อนแล้ว คือ ประกาศในหนังสือราชกิจจานุเษกษา และประกาศของกรมศึกษาธิการ แต่ไม่เกิดผล ดังปรากฏเนื้อความใน “คำชักชวน” ที่ทรงส่งมาพร้อมกับพระราชหัตถเลขาถึงสมเด็จฯ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร
คำชักชวน
“ฃ้าพเจ้าเปนผู้ที่ได้เกิดแล้วในประเทศสยาม เปนชาติไทย ได้พูดภาษาซึ่งชาวสยามพูดมากว่า 50 ปีแล้ว จึงเปนผู้รักแลหวังจะให้ภาษานั้นยั่งยืนมั่นคงอยู่ ไม่ให้กลับกลายเปนภาษาเลวยิ่งไปกว่าที่เคยพูด
ภาษาไทยย่อมแพร่หลายไปในฝูงคนที่พูดเปนหลายล้าน ไม่ใช่แต่ในประเทศสยาม ซึ่งฃ้าพเจ้าไม่ได้ประสงค์จะกล่าวถึงภาษาไทยเดิมนั้น แลไม่ได้ตั้งใจฉเพาะจะกล่าวถึงภาษาที่พูดอยู่ในแว่นแคว้นแดนสยาม ที่ควรเรียกว่าภาษาสยาม แต่หากต่างโวหารถ้อยคำยักเยื้องกันไปบ้างนั้น ประสงค์จะกล่าวถึงภาษาสยามที่พูดกันอยู่ในพระมหานครราชธานี ในราชสำนักแลในราชการตลอดทั่วพระราชอาณาเขตรเปนที่ตั้ง ฃอให้เฃ้าใจความประสงค์ไว้ชั้นหนึ่งดังนี้
ในประจุบันนี้ มีคำพูดแปลกๆ หูมาใหม่ เช่นกับกินเฃ้าเรียกว่า รับ เปนต้นอย่างหนึ่ง
คำลัดตัดสั้น ซึ่งมิใช่ทำนองพูดของชาวสยามฝ่ายตวันตก เช่นเรียกตพานว่า พาน เรียกตลาดว่า หลาด แต่ได้เกิดขึ้นใหม่ เช่นกับขีดไฟ เรียกว่า ไม้ขีด ฤๅ ขีด เปล่า เข็มกลัด เรียกว่า กลัด เปล่า เสื้อครุย เรียกว่า ครุย เปล่า นี้อย่างหนึ่ง
คำที่ขอยืมมาจากภาษาฝรั่ง เช่น ยูนิฟอม มาเรียกว่า อยู่ในฟอม นอกฟอม แต่งตัวนอกฟอม นัมเบอ เรียกว่า เบอ เปนต้น นี้อย่างหนึ่ง
ยังคำที่พูดไม่มีภาษา เช่น 6 โมง 3 ทุ่ม จะเปนภาษาฝรั่งก็ไม่ใช่ ภาษาไทยก็ไม่ใช่ นี้เปนต้นอีกอย่างหนึ่ง
คำพูดทั้งหลายตามที่ได้ยกตัวอย่างมาโดยสังเขป 4 จำพวกนี้ เปนเหตุให้ภาษาสยามในพระราชธานีเสื่อมเสียไปเปนอันมาก แลแพร่หลายออกไปยังหัวเมืองโดยรอบคอบแล้ว ภาษาเช่นนี้ย่อมเกิดขึ้นเนืองๆ ด้วยความเฃ้าใจผิด ในคำพูดเล่นของเจ้าแผ่นดินแลเจ้านายชั้นสูง ฤๅพระบรมราชาธิบายบ้าง โดยความมักง่ายบ้าง โดยทำเปนทีว่ารู้ภาษาฝรั่ง แต่ความจริงไม่รู้บ้าง พูดเลยไปตามเลย เฃาพูดกันมากก็พูดตามเฃาไปบ้าง จึ่งทำให้เสียภาษาลงไปโดยลำดับ สาเหตุเปนเช่นนี้ ฃ้าพเจ้าอาจจะจับมูลเหตุของศัพท์ที่พูดภาษาต่ำเช่นนี้ได้ ว่าเกิดจากเหตุอันใดแทบทุกอย่าง แต่หาควรที่จะกล่าวในหนังสือฉบับนี้ให้ฟั่นเฝือไปไม่
ความปราถนาที่จะเชื้อเชิญท่านทั้งหลายให้พิจารณาข้อความที่ได้กล่าวมาฃ้างต้น ให้เหนความเสื่อมเสียของภาษาแล้ว จะคิดอ่านแก้ไขต่อไปอย่างใดนั้น มีความคิดดังนี้
การที่จะแก้ภาษาผิดเช่นนี้ จะแก้โดยหมายประกาศฤๅแต่งตำราเรียนอย่างหนึ่งอย่างใด ได้เคยทดลองแล้ว ไม่ใคร่มีผลเร็วทันใจ ฤๅไม่มีผลเสียเลย เช่นกับเรื่องทุ่มโมงได้ประกาศแล้วทั้งในราชกิจจานุเบกษาแลกระทรวง ก็หาสำเรจไม่ ถ้าจะรอแต่งตำราเรียน จะไปแก้ภาษาได้ต่อเด็กๆ ชั้นหลัง ในเวลานี้ภาษาจะยิ่งเสียหนักลงไป แก้ไขไม่ทันท่วงทีได้
ฃ้าพเจ้าจึงเหนว่าควรจะตั้งเปนสมาคมอันหนึ่งขึ้นไว้ในหมู่ท่านผู้มีบรรดาศักดิ์ทั้งหลาย ฃ้าพเจ้าจะรับเปนหัวหน้าเปนประธาน ให้มกุฎราชกุมารเปนอุปนายก ฃอเชิญท่านทั้งหลายเฃ้าเปนสมาชิก ให้มีเลขานุการสำหรับจดชื่อสมาชิกไว้เปนสำคัญ
สมาคมนี้ สมาชิกไม่จำเปนจะต้องออกเงินเฃ้าเรี่ยรายอย่างหนึ่งอย่างใดในชั้นต้น แต่จะต้องกระทำความสันนิฐานให้มั่นคงในใจตัวก่อนเวลาที่จะรับเฃ้าเปนสมาชิก ดังที่จะกล่าวต่อไปนี้
1.ต้องตั้งใจว่าจะไม่ใช้ภาษาอย่างเลวทรามที่เกิดขึ้นนี้ด้วยตนเองเปนอันฃาด
2.จะไม่ยอมรับเฃ้าใจภาษาเลวทรามชนิดนี้ ซึ่งผู้ใดจะมาพูดด้วยเปนอันฃาด
3.จะตั้งใจ แนะนำบอกเล่าสั่งสอนแก่บริษัทบริวารของตัว ฤๅเพื่อนฃ้าราชการ แลผู้หนึ่งผู้ใดที่ได้มาพูดแก่ ตัว ด้วยภาษาเลวทรามเช่นนี้ ให้รู้ว่าคำที่พูดนั้นผิด ไม่เกรงใจแลไม่เพิกเฉย ตามแต่จะเปนไป ด้วยถือว่าไม่ใช่ธุระ
4. จะลงโทษแก่ผู้ที่อยู่ในอำนาจ เช่นเสมียนทนายเขียนหนังสือมีคำผิดมา ต้องให้ไปเขียนเสียใหม่ อย่าให้ยอมรับคำที่ผิดนั้นว่าเปนที่เฃ้าใจ
ถ้าหากว่าสมาชิกผู้ใดได้กระทำในใจมั่นคงว่าจะประพฤติดังนี้แล้ว จึ่งให้จดชื่อลงในสมุดที่เลขานุการ ว่าตนเปนสมาชิกของสมาคมอันนี้
ในคำพูดเช่นนี้ บางทีมีคำที่ต้องการวินิจฉัยว่าจะใช้อย่างไรจึ่งจะควร ถ้ามีข้อปัญหาดังนี้ขึ้น ให้สมาชิกทั้งปวงที่มีความรู้แลสติปัญญาปฤกษาหาฤๅกัน นำเสนอในที่ประชุมให้วินิจฉัย ถ้าวินิจฉัยฉันใดได้พระบรมราชานุมัติแล้ว จึ่งจดคำนั้นลงไว้ในบาญชีที่เลขานุการ ถ้าสมาชิกผู้ใดอยากจะทราบคำที่ควรใช้อย่างไร ให้มาถามที่เลขานุการ ฤๅเมื่อมีมากอาจจะพิมพ์เปนตำราซื้อฃายได้ จึ่งค่อยคิดอ่านต่อไป ในเวลานี้ ขอเริ่มต้นไว้เพียงเท่านี้ หวังว่าท่านผู้ที่มีความรู้แลมีสติปัญญา ทั้งคฤหัสถบรรพชิต คงจะมีน้ำใจช่วยรักษาภาษาสยาม สำหรับราชสำนักแลพระมหานครราชธานี ให้มั่นคงถาวรเปนภาษาอันดีสืบไปในภายน่า
(พระบรมนามาภิธัย) จุฬาลงกรณ์ ปร.
ฮอมเบิค วันที่ 26 สิงหาคม
รัตนโกสินทร์ศก 126″
ในวันที่ 28 กันยายน ร.ศ. 126 สมเด็จฯ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร มีลายพระหัตถ์ตอบสมเด็จพระบรมชนกนาถ และกราบบังคมทูลว่าจะทรงรับสนองกระแสพระราชดำริในเรื่องการตั้งสมาคมนี้อย่างเต็มพระกำลัง ในลายพระหัตถ์ฉบับนี้ ทรงเรียกสมาคมนี้ว่า “สมาคมแก้ภาษา”
หลังจากนั้น สมเด็จฯ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร มีพระราชดำรัสสั่งให้พระยาศรีสุนทรโวหารซึ่งเป็นเลขานุการตามที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานชื่อไว้ ทำหนังสือกราบทูลเชิญกรรมการมาร่วมประชุมในวันที่ 19 ตุลาคม ร.ศ. 126 เวลา “บ่าย 4 โมง” ที่พระตำหนักจันทน์ วัดบวรนิเวศวิหาร
กรรมการที่เข้าประชุมซึ่งลำดับตามพระอิสริยยศในขณะนั้น คือ พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงวชิรญาณวโรรส พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงเทวะวงษ์วโรประการ พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงดำรงราชานุภาพ และสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัติวงษ์ ขาดแต่ พระเจ้าน้องยาเธอ กรมพระสมมตอมรพันธุ์ ซึ่งตามเสด็จประพาสยุโรปในคราวนั้นด้วย
ใบสมัครสมาชิกสมาคมแก้ภาษาของกรมขุนพิทยลาภพฤฒิธาดา (สำนาเจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ)
ที่ประชุมได้ตกลงให้ออกประกาศตั้งสมาคม ลงวันที่ 19 ตุลาคม ร.ศ. 126 หรือพุทธศักราช 2450 โดยสมาคมและสมาชิกจะช่วยกันดูแลสอดส่องเฝ้าระวังการใช้ภาษาไทย เปรียบได้กับ “ยามภาษา” นั่นเอง สำหรับการสมัครเป็นสมาชิกนั้นจะต้องลงชื่อท้าย “ใบปฏิญาณ” ว่าผู้สมัครยินดีให้คำปฏิญาณและจะรักษาคำปฏิญาณทั้ง 4 ข้อไว้อย่างมั่นคง ดังนี้
1. ฃ้าพเจ้าจะตั้งใจว่าจะไม่ใช้ภาษาอย่างเลวทรามที่เกิดขึ้นนี้ด้วยตนเองเปนอันฃาด
2. ฃ้าพเจ้าจะไม่ยอมรับเฃ้าใจภาษาเลวทรามชนิดนี้ ซึ่งผู้ใดจะมาพูดด้วยเปนอันฃาด
3. ฃ้าพเจ้าจะตั้งใจ แนะนำบอกเล่าสั่งสอนบริษัทบริวารของข้าพเจ้า ฤๅเพื่อนฃ้าราชการ แลผู้หนึ่งผู้ใดที่ได้มาพูดกับข้าพเจ้า ด้วยภาษาเลวทรามเช่นนี้ ให้รู้ว่าคำที่พูดนั้นผิด ไม่เกรงใจแลไม่เพิกเฉย ตามแต่จะเปนไป ด้วยถือว่าไม่ใช่ธุระ
4. จะลงโทษผู้ที่อยู่ในอำนาจ เช่นเสมียนทนายเขียนหนังสือมีคำผิดมา ต้องให้ไปเขียนเสียใหม่เปนอย่างเบา แลจะไม่ยอมรับคำที่ผิดนั้นว่าเปนที่เฃ้าใจเปนอันฃาด
ถึงแม้จะมีการตั้งสมาคมแก้ภาษาอย่างเป็นทางการแล้ว พร้อมทั้งมีสมาชิกจำนวนหนึ่ง แต่ก็ไม่มีหลักฐานว่าสมาคมแก้ภาษาได้ดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หลังจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวขึ้นครองราชสมบัติแล้วเป็นเวลา 5 ปี สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในพิธีเข้าพรรษา 2485 ปรารภถึงพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เรื่องการตั้งสมาคมรักษาภาษาไทย ว่าทรงปรารถนาจะให้มีผลตามพระราชดำริ
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งสมาคมโดยทรงรับเป็นสภานายกของสมาคม สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงรับเป็นอุปนายก และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งกรรมการ ประกอบด้วยกรรมการเดิมของสมาคมแก้ภาษา โดยพระราชทานนามว่า “นิรุกติสมาคม”
พระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในระหว่างเสด็จประพาสยุโรป พ.ศ. 2450 เรื่องการตั้งสมาคมแห่งหนึ่งเพื่อทำหน้าที่ดูแลรักษาภาษาไทยให้ถูกต้อง ไม่เปลี่ยนแปลงไปในทางที่เลวลงและก่อนกาลอันควร นำมาสู่การประกาศตั้งสมาคมโดยสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร พร้อมทั้งทรงแต่งตั้งกรรมการและทูลเชิญสมาชิก สมาคมนี้ยังไม่มีชื่อที่ชัดเจนเพราะในพระราชหัตถเลขาพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ก็ดี ในพระราชกระแส “คำชักชวน” ก็ดี และในประกาศตั้งสมาคมก็ดี ยังไม่มีชื่อสมาคม ผู้เขียนพบว่าในลายพระราชหัตถ์ของสมเด็จพระบรมโอรสธิราชกราบบังคมทูลพระบรมชนกนาถเท่านั้นที่ทรงระบุชื่อเรียกว่า “สมาคมแก้ภาษา” เป็นครั้งแรก
หลังจากนั้นในเอกสารต่างๆ ได้ใช้ชื่อสมาคมนี้เรื่อยมา ต่อมาในบันทึกพระกระแสของพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส กราบทูลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเรียกว่า “สมาคมรักษาภาษาไทย” แต่สมาคมที่ประกาศตั้งขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเพื่อดำเนินการให้สำเร็จตามพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกนาถใช้ชื่อพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า “นิรุกติสมาคม”
ดังนั้นสมาคมนี้จึงมีถึง 3 ชื่อ แต่น่าจะนับเนื่องเป็นสมาคมเดียวกัน และมีอายุครบ 100 ปีพอดีในปีนี้
ไม่ทราบว่าเป็นเพราะเหตุใดที่ทำให้สมาคมแก้ภาษาหรือนิรุกติสมาคมไม่อาจดำเนินการให้ลุล่วงไปได้ ทั้งๆ ที่มีการตั้งคณะกรรมการและมีสมาชิกรับเชิญแล้ว ผู้เขียนลองสันนิษฐาน โดยได้พิจารณาจากเรื่องราวต่างๆ ที่ลงในราชกิจจานุเบกษาระหว่าง พ.ศ. 2458-68 คาดว่าอาจจะมีหลายสาเหตุ เช่น
1.ภาษาไทยเปลี่ยนแปลงไปจนเกินเวลาจะยับยั้ง จึงต้องปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติของภาษา คนไทยจึงใช้คำว่า “รับข้าว” “ไม้ขีด” “ฟอม” “เบอร์” มาจนถึงสมัยปัจจุบัน และยังตัดคำอื่นๆ ในสมัยของตนให้ย่นย่ออย่างไม่ถูกต้องอีกมาก เช่น มหา’ลัย (มหาวิทยาลัย) โรง’บาล (โรงพยาบาล) ป.ตรี (ปริญญาตรี) พจนา’ (พจนานุกรม)
2.เดือนพฤศจิกายน ปี พ.ศ. ๒๔๕๙ เกิดอุทกภัย น้ำท่วมใหญ่ทำความเสียหายมาก ทำให้มีพระราชกรณียกิจในการทำนุบำรุงประชาชนและบ้านเรือนไร่นาที่เสียหาย
3.พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสนพระราชหฤทัยในเหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่ 1 ที่เกิดขึ้นในยุโรปอย่างมาก และในที่สุดทรงตัดสินพระทัยให้สยามประกาศสงครามกับเยอรมนี และออสเตรีย-ฮังการี ในวันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2460 และส่งทหารไปยุโรปเพื่อช่วยรบในสงครามโลกครั้งที่ 1 ในประเทศไทยมีการกวดขันชนต่างชาติที่ถือเป็นศัตรูสงคราม เช่น มีประกาศไม่ชักธงชาติของประเทศที่เป็นคู่สงคราม
4.พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตั้งกองเสือป่า (พ.ศ. 2454) เพื่อฝึกพลเรือนให้ทำหน้าที่อย่างทหาร คือป้องกันประเทศในยามสงครามและเป็นหน่วยบรรเทาสาธารณภัยในยามสงบ กองเสือป่ามีกิจกรรมมาก ทั้งการฝึกรบ การสโมสร และอื่นๆ
ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงของภาษาไทยที่รวดเร็วเกินแก้ไข ประกอบกับเหตุการณ์สำคัญๆ ที่เกิดในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว อาจทำให้พระองค์ทรงไม่มีเวลาดำเนินการอย่างจริงจังเรื่องการตั้งสมาคมเพื่อดูแลภาษาไทยสนองพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ข้อมูลจาก :
รศ.ดร. รื่นฤทัย สัจจพันธุ์. “100 ปี สมาคมแก้ภาษา สมาคมรักษาภาษาไทย หรือนิรุกติสมาคม” ใน, ศิลปวัฒนธรรม กรกฎาคม 2550.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์เมื่อ 11 มกราคม 2562
Source: https://www.silpa-mag.com/
The post ภาษาไทยเสื่อมทราม ร.5 มีพระราชดำริตั้ง “สมาคม” กวดขันดูแล appeared first on Thailand News.