กำเนิด “กรมทนายเลือก” คัดนักมวยเป็นราชองครักษ์ กับรากฐานมวยไทยสากลในยุคแรก
ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ให้ความหมายของคำว่า “ทนายเลือก” ไว้ว่า นักมวยสำหรับป้องกันพระเจ้าแผ่นดิน, ชื่อกรมกรมหนึ่งมีหน้าที่กำกับนักมวย [1]
กรมทนายเลือก เป็นกรมที่เลือกคัดเอาแต่คนที่ล่ำสันมั่นคง มีฝีมือชกมวยดี ให้เดินแห่ตามเสด็จไปในที่ใกล้ ๆ ได้ป้องกันอันตรายอันไม่พอที่จะต้องถึงใช้อาวุธ เช่น จับคนบ้า เป็นต้น การที่เกิดกรมทนายเลือกขึ้นนั้น เหตุด้วยพระเจ้าแผ่นดินโปรดทรงมวย เลือกหาคนที่มีฝีมือดีไว้เป็นเพื่อนพระองค์ สำหรับจะเสด็จปลอมแปลงไปในที่แห่งใด ที่ไม่ควรจะใช้ป้องกันด้วยอาวุธ แต่เมื่อแห่เสด็จโดยปกติก็ให้ถือหอก เหมือนกรมพระตำรวจ มีเวรประจำการเหมือนกรมพลพัน (กรมพลพัน เป็นตำรวจภายใน คล้ายรักษาพระองค์ แต่ต้องประจำเวรอยู่ชั้นนอกออกไปเสมอกับตำรวจหน้า)
ทนายเลือก หรือพวกนักมวยที่จัดขึ้นรักษาพระองค์นั้น เห็นจะมีแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาแล้ว พระเจ้าแผ่นดินที่ขึ้นชื่อลือชาว่าโปรดมวยไทย ก็คือ พระเจ้าเสือ ปรากฏตามพระราชพงศาวดารว่า ชอบปลอมแปลงพระองค์เป็นราษฎรสามัญไปชกมวยตามที่ต่าง ๆ อยู่เสมอ
ในกฎหมายโบราณกำหนดยศทนายเลือกไว้ดังนี้ ขุนทนายเลือกปืน 2 คน นาคนละ 400 หมื่นทนายเลือกปืน 16 คน นา คนละ 200 พันทนายเลือกปืน 18 คน นา คนละ 100
นอกจากนี้ยังมีกรมทนายเลือกหอกขวา กรมทนายเลือกหอกซ้ายอีกด้วย เจ้ากรมทนายเลือกหอกขวา มีชื่อว่า ขุนภักดีอาษา เจ้ากรมทนายเลือกหอกซ้าย มีชื่อว่า ขุนโยธาภักดี [2]
จากพระราชพงศาวดารข้างต้น เห็นได้ชัดเจนว่า พระมหากษัตริย์ไทยในอดีตตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ทรงให้ความสำคัญกับผู้ที่มีความสามารถทางด้านมวยไทย โดยโปรดเกล้าฯ ให้รับใช้ใกล้ชิด กรมทนายเลือกนั้นมีปรากฏเป็นหลักฐานสืบต่อมาจนถึงในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยโปรดเกล้าฯ ให้มีการคัดเลือกคนที่มีร่างกายล่ำสัน แข็งแรง สง่างาม มีฝีมือมวยไทยอย่างดีเข้ามาเป็นทหารรักษาพระองค์ สังกัดกรมนักมวยหรือกรมทนายเลือก ทำหน้าที่รักษาความปลอดภัยให้พระมหากษัตริย์อยู่เวรยามในพระราชวัง
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีพระราชดำรัสอธิบายถึงหน้าที่กรมทนายเลือกไว้เป็นใจความว่า เป็นทหารรักษาพระองค์ ต้องนอนประจำเวรในพระบรมมหาราชวัง เมื่อมีที่เสด็จพระราชดำเนินทางบกทางเรือ ในการสงครามหรือในการประพาสก็เป็นพนักงานที่จะแห่ห้อมประจำการในที่ใกล้เคียงพระองค์ จนที่สุดเวลาเสด็จออกท้องพระโรงก็ต้องเข้าเฝ้าก่อนขุนนางกรมอื่น ๆ (เว้นแต่กรมพระตํารวจหน้าแปดกรม กรมพลพัน กรมคู่ชัก กรมทหารใน กรมรักษาพระองค์ ซึ่งเป็นทหารรักษาพระองค์ด้วยกัน) เป็นผู้ที่จะมีอาวุธเข้ามาในท้องพระโรงได้พวกเดียว
ทราบกันดีว่า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดมวยไทยเป็นอย่างมาก ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มี “มวยหลวง” ขึ้นตามหัวเมืองต่าง ๆ เพื่อฝึกสอนกีฬามวยไทย คําว่ามวยหลวงนี้ รวมถึงกีฬาไทยต่าง ๆ โดยทั่วไป เช่น มวยไทย และกระบี่กระบอง เป็นต้น และทรงให้ผู้ที่มีฝีมือด้านนี้เป็นหัวหน้า ผู้ที่ได้เป็นมวยหลวงได้รับพระราชทานเบี้ยหวัดเงินปี และไม่ต้องเสียส่วยอากรใด ๆ ทั้งสิ้น
เมื่อมีงานฉลอง งานพระราชพิธีต่า งๆ เช่น งานโสกันต์ งานผนวช นาคหลวง งานเมรุ หรืองานต้อนรับแขกเมืองก็ออกหมายเรียกให้นำคณะนักมวย คณะกระบี่กระบองมาร่วมแสดงในงาน [3] ดังเช่น ในงานพระเมรุของกรมขุนมรุพงศ์ศิริพัฒน์ที่ท้องสนามหลวง ได้มีการจัดชกมวยขึ้นโดยคัดเลือกเอานักมวยเอกจากต่างจังหวัดเข้ามาชกจนได้นักมวยที่มีฝีมือดีสามารถชกชนะคู่ต่อสู้หลายคน เช่น หมื่นมวยมีชื่อ หมื่นมือแม่นหมัด และหมื่นชงัดเชิงชก เป็นต้น [4]
การที่โปรดให้มีการจัดแข่งขันกีฬานั้น เข้าใจว่าเพื่อเป็นการเผยแพร่กีฬาไทยไม่ให้สูญหายไป ทั้งยังเป็นการขยายความนิยมให้กว้างขวางประการหนึ่ง อีกประการหนึ่งการแข่งขันกีฬาก็เพื่อคัดเลือกผู้มีความสามารถในด้านนั้น ให้เป็นผู้สอนมวยหลวง และยังเป็นการเพิ่มพูนให้ได้มีการฝึกปรือฝีมือ โดยเฉพาะเมื่อมีการจัดแข่งขันกีฬาเพื่อชิงถ้วยพระราชทาน
การแข่งขันมวยไทยชิงถ้วยพระราชทานในครั้งแรกนั้นไม่ปรากฏหลักฐานว่าได้มีการนำกติกาอย่างโบราณ หรืออย่างสมัยใหม่ที่เป็นระเบียบแบบแผนแบบสากลเข้ามาใช้หรือยัง แต่จะเห็นว่าจะทรงส่งเสริมให้มีการร่างระเบียบสำหรับกีฬาไทยขึ้น ที่เห็นชัดได้แก่ การเล่นว่าว
พบว่า โปรดเกล้าฯ ให้ได้มีการร่างวิธีการแข่งขันให้เป็นระเบียบแบบแผนเพื่อใช้ในการแข่งขัน และเพื่อให้ดูเป็นสากล โดยใน พ.ศ. 2449 โปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพร่างระเบียบการแข่งขันว่าวขึ้น และตราออกเป็นข้อบังคับเรียกว่า “กติกาเล่นว่าว” สนามหลวงสวนดุสิต รัตนโกสินทรศก 125 [5] (กติกาเหล่านี้คงใช้เป็นหลักในการแข่งขันกีฬาว่าวตราบจนทุกวันนี้) [6]
การจัดให้มีการแข่งขันกีฬาตามแบบอย่างสากลนั้น น่าจะเกิดด้วยมูลเหตุสำคัญ 2 ประการ กล่าวคือ จากการที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินเยือนยุโรปทั้ง 2 ครั้ง (ร.ศ. 116 และ ร.ศ. 126) จึงได้ทรงนำกีฬาสากลเข้ามาสาธิตให้คนไทยรู้จัก ทั้งยังได้เอารูปแบบการจัดการด้านกีฬาบางส่วนมาปรับใช้ให้สอดคล้องกับกีฬาไทย และการที่ได้ทรงส่งพระราชโอรสและพระบรมวงศานุวงศ์บางพระองค์ไปศึกษายังต่างประเทศ จึงทรงนำเอากีฬาสากลบางชนิดเข้ามาเล่นกันในหมู่พระบรมวงศานุวงศ์จนเผยแพร่มายังข้าราชบริพารจนเป็นที่นิยมในที่สุด
แต่การนำเอากีฬาสากลเข้ามาสู่ประเทศไทยในระยะแรกนั้น เนื่องจากยังไม่เป็นที่คุ้นเคยของคนทั่วไป จึงโปรดเกล้าฯ ให้ชาวต่างชาติที่เข้ามารับราชการในสยามได้เป็นผู้สาธิตและดำเนินการ
เมื่อคนไทยเริ่มเรียนรู้กฎกติกาที่เป็นสากลมากขึ้น จึงค่อยนำมาประยุกต์กับกีฬาไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเล่นว่าวและมวยไทย ที่ปรับเปลี่ยนจากการต่อสู้แบบมวยวัดคือไม่มีกฎกติกาไปสู่รูปแบบที่มีกติกาที่เป็นสากล ประกอบกับพระบรมวงศานุวงศ์บางองค์สำเร็จการศึกษาและเคยเล่นมวยฝรั่งในต่างประเทศ จึงนำกีฬานี้มาเผยแพร่ จนทำให้เกิดการผสมกฎกติกาเข้ามาใช้ในกีฬาไทย
ครั้งแรกที่ได้บันทึกว่ามีการจัดการสาธิตและแข่งขันกีฬาตามแบบอย่างสากล ก็เมื่อคราวงานรับเสด็จพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จนิวัตพระนครจากการเสด็จประพาสยุโรปครั้งที่ 1 ร.ศ. 116 (พ.ศ. 2440) ในครั้งนั้นได้จัดให้มีการแข่งขันกรีฑา ฟุตบอล และจักรยาน เป็นต้น ภายใต้ความรับผิดชอบของกระทรวงธรรมการ ในช่วงนั้นปรากฏว่า นายดับเบิลยู.ซี.จอห์นสัน (Mr. W.C. Johnson) ได้เป็นที่ปรึกษากระทรวงธรรมการ และเป็นผู้มีบทบาทในการวางรากฐานกีฬาไทยและกีฬาสากลในโรงเรียน จนทำให้เกิดมีการจัดการแข่งขันกรีฑานักเรียน และครูที่ท้องสนามหลวง ใน ร.ศ. 116
ในงานรับเสด็จนิวัตพระนครครั้งนั้น เนื่องจากมีคนไทยเข้าใจในเรื่องกีฬาสมัยใหม่น้อยมาก กระทรวงธรรมการจึงมอบหมายให้ชาวต่างชาติที่เข้ามารับราชการในสยามได้เป็นผู้รับผิดชอบและจัดการแข่งขันกรีฑานักเรียนขึ้น อันมีรายชื่อชาวต่างชาติที่เป็นกรรมการจัดการแข่งขันและตัดสินกีฬาในครั้งนั้น ประกอบด้วย อาจารย์คาร์เตอร์ อาจารย์สแพน อาจารย์สมิช และอาจารย์เทรย์ส [7]
มวยหลวง หน้าพระที่นั่งสรรเพชญ์ปราสาท ในวโรกาสที่รัชกาลที่ 5 ทรงประกอบพระราชพิธีรัชมงคล ณ พระราชวังกรุงเก่า พ.ศ. 2450 (ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม ฉบับพฤษภาคม 2552)
สำหรับในวัง ก็ได้มีกรมนักมวยเพื่อดำเนินการฝึกสอนมวยไทยให้กับพระราชโอรส ทหาร และข้าราชการในพระบรมมหาราชวัง ส่วนมวยหลวง มีไว้ทำหน้าที่ฝึกสอนกีฬาไทยต่าง ๆ ให้แก่ ประชาชนทั่วประเทศ และเพื่อให้การส่งเสริมกีฬาในประเทศไทยเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ก็ได้มีการจัดตั้งสามัคยาจารยสมาคม [8] ขึ้น เมื่อวันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2445 และประกาศตั้งเป็นสมาคมอย่างถูกต้อง เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2447 มีการตั้งคณะกรรมการอำนวยการสามัคยาจารยสมาคม สามัคยาจารยสมาคมได้มีส่วนช่วยการกีฬาเป็นอย่างมาก เพราะมีแผนกสโมสรกายบริหาร ส่วนใหญ่มีครูเป็นสมาชิก ได้จัดให้มีการเรียนการสอนนอกเวลาราชการ ได้แก่ วิชาญญิตสู [9] ยิมนาสติก และมวยฝรั่ง [10]
ต่อมาในปี พ.ศ. 2456 ได้มีการจัดให้มีการสอนพลศึกษาแก่ครูผู้สนใจในเวลาเย็น เรียกว่า “ห้องพลศึกษากลาง” เพื่อนำไปสอนนักเรียนอีกทอดหนึ่ง ซึ่งได้รับความร่วมมือจากโรงเรียนนายร้อยทหารบก ส่งร้อยเอก ขุนเจนกระบวนหัด และ ร้อยโท ขุนรณอุทรภักดี สับเปลี่ยนกันไปสอน ซึ่งสอนหนักไปทางวิชายิมนาสติกและมวยไทยเท่านั้น [11]
เมื่อสิ้นรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวแล้ว ในรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงสนพระทัยมวยไทยอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ในรัชสมัยของพระองค์ประเทศไทยได้ส่งทหารเข้าร่วมรบในสงคราม ในปี พ.ศ. 2457-61 พวกทหารไทยได้ชกมวยไทยให้ทหาร และประชาชนยุโรปชม สร้างความชื่นชอบและประทับใจให้กับผู้ชมเป็นอย่างยิ่ง ผู้ควบคุมทหารไทยไปรบและแสดงการชกมวยไทยครั้งนั้น คือ พลโท พระยาเทพหัสดิน ซึ่งท่านเป็นผู้สนใจกีฬามวยไทยมาก และต่อมาได้สร้างสนามมวย [12] ขึ้นที่บริเวณศาลเจ้าหลักเมือง [13]
จึงอาจกล่าวได้ว่า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระมหากรุณาธิคุณอย่างใหญ่ยิ่งต่อวงการมวยไทย โดยเฉพาะการส่งเสริมให้มีการแข่งขันมวยไทย ทรงวางรากฐานให้มีการนำกฎกติกาที่เป็นสากลมาใช้ และพระราชทานถ้วยรางวัลอันเป็นการสร้างแรงจูงใจให้มีการฝึกปรือฝีมือเพื่อเข้าแข่งขัน
ทำให้กีฬามวยไทยไม่สูญหายไปจากเมืองไทย และสามารถเผยแพร่สู่สากล จนเป็นกีฬาที่ได้รับความนิยมต่อมาจนถึงปัจจุบัน
เชิงอรรถ :
หมายเหตุ : คัดเนื้อหาจากบทความ “กรมทหายเลือก” เขียนโดย รศ. ยุวดี ศิริ ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับพฤษภาคม 2552
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 1 พฤศจิกายน 2564
Source: https://www.silpa-mag.com/
The post กำเนิด “กรมทนายเลือก” คัดนักมวยเป็นราชองครักษ์ กับรากฐานมวยไทยสากลในยุคแรก appeared first on Thailand News.