ติดตามผ่านช่อง : Siammongkol Youtube Channel

“อลงกรณ์” นำทีมชลประทานลอกคลองป้องกันน้ำท่วมเพชรบุรีล่วงหน้า

“อลงกรณ์” นำทีมชลประทานลอกคลองป้องกันน้ำท่วมเพชรบุรีล่วงหน้า

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  พร้อมด้วย นายพิเชษฐ์ จันทร์เต็มดวง อาสาสมัครชลประทาน (อสชป.) นายศราวุฒิ พุ่มจิตร และนายลือชัย พลายเผือก อดีตกำนันตำบลนาพันสาม  ทีมงานเพชรบุรีโมเดล ลงพื้นที่ตำบลนาพันสาม อำเภอเมืองเพชรบุรี ติดตามความคืบหน้าการลอกคลองกำจัดผักตบชวาและวัชพืชในคลอง D18 เพื่อช่วยเหลือจังหวัดเพชรบุรีในการป้องกันน้ำท่วมล่วงหน้า โดยมี นายปริญญา คัชมาตย์ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 14 นายบุญลือ คงชอบ รองผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 14 นายอำนาจ ถี่ถ้วน ผู้อำนวยการส่วนเครื่องจักกล สำนักงานชลประทานที่ 14 นายสันต์ จรเจริญ ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเพชรบุรี  ให้การต้อนรับ และรายงานผลการดำเนินการกำจัดสิ่งกีดขวางทางระบายน้ำในคลองสายหลักของชลประทานและท้องถิ่น ตามข้อเสนอของอดีต ส.ส.เพชรบุรี พรรคประชาธิปัตย์ ได้แก่ นายอภิชาติ สุภาแพ่ง ดร.กัมพล สุภาแพ่ง และนายอรรถพร พลบุตร
       จากนั้น เดินทางไปดูความคืบหน้าการพัฒนาคลอง ดี.18 ตามโครงการบรรเทาอุทกภัยลุ่มน้ำเพชรบุรีตอนล่าง และการขุดลอกคลองกำจัดผักตบชวาและวัชพืช ในพื้นที่ตำบลไร่มะขาม  อำเภอบ้านลาด โดยมีนายสุทธิพงษ์ พรหมมาตร์ นายกฯ และคณะผู้บริหารอบต.ไร่มะขามรวมทั้งผู้ใหญ่บ้านหมู่ 1 ให้การต้อนรับ
       ทั้งนี้ นายอลงกรณ์ได้แสดงความชื่นชมและขอบคุณแทนพี่น้องชาวเพชรบุรีที่หน่วยงานชลประทานทำงานได้อย่างคืบหน้ามีประสิทธิภาพในพื้นที่คลองดี.18 เช่นเดียวกับการดำเนินการที่คลองดี.25 ในพื้นที่ตำบลบางจาน อำเภอเมืองและตำบลบางแก้ว อำเภอบ้านแหลม ซึ่งตนลงไปตรวจราชการเมื่อสัปดาห์ที่แล้วก็สามารถดำเนินการแล้วเสร็จภายใน 3 วัน เหลือเพียงส่วนการกำจัดผักตบชวาบริเวณต้นคลองดี.25 ซึ่งมีขนาดเล็กและแคบในพื้นที่ตำบลช่องสะแกนั้นทางท้องถิ่นจะเป็นผู้ดำเนินการต่อไป
        นายอลงกรณ์ กล่าวว่า  ในส่วนโครงการบรรเทาอุทกภัยลุ่มน้ำเพชรบุรีตอนล่าง จังหวัดเพชรบุรีนั้น ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มอบหมายกรมชลประทานให้เร่งดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาและบรรเทาอุทกภัยพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซากพื้นที่ลุ่มน้ำเพชรบุรีตอนล่าง ในเขตพื้นที่ 6 อำเภอ ได้แก่ อำเภอท่ายาง อำเภอบ้านลาด อำเภอชะอำ อำเภอเมือง อำเภอเขาย้อย และอำเภอบ้านแหลม ซึ่งเมื่อปลายเดือนที่แล้ว รองอธิบดีกรมชลประทานก็ได้มาลงพื้นที่เพชรบุรีเพื่อเร่งรัดการขับเคลื่อนโครงการตามแผนการระบายน้ำออกสู่ทะเลเพื่อป้องกันแก้ไขปัญหาน้ำท่วม ดังนี้
        1.ระบายน้ำแม่น้ำเพชรบุรี ออกสู่ทะเลตามธรรมชาติ จำนวน 150 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที 2.การปรับปรุงคลองระบายน้ำ D1 ให้สามารถระบายน้ำได้ จำนวน 350 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที 3.ปรับปรุงคลองระบายน้ำ D9 ให้สามารถระบายน้ำได้ จำนวน 100 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที (มีการก่อสร้างและใช้งานแล้ว) 4.ปรับปรุงคลองระบายน้ำ D18 ให้สามารถระบายน้ำได้ จำนวน 100 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที
      นายอลงกรณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า เพื่อเพิ่มเส้นทางการสัญจรของประชาชนและการขนส่งรวมทั้งส่งเสริมการท่องเที่ยวจึงให้มีการสร้างถนนคันคลอง เลียบคลองระบายน้ำทั้ง 3 (D1 D9 D18) ความยาวประมาณ 20 – 30 กิโลเมตร
         “โครงการบรรเทาอุทกภัยลุ่มน้ำเพชรบุรีตอนล่าง จังหวัดเพชรบุรี เมื่อสร้างแล้วเสร็จ จะสามารถบรรเทาความเสียหายอันเกิดจากอุทกภัยของจังหวัดเพชรบุรี ได้กว่า 40,000 ครัวเรือน มีพื้นที่การเกษตรเพิ่มขึ้นและยังช่วยรักษาระบบนิเวศบริเวณชายฝั่งโดยผลักดันน้ำเค็มไม่ให้เข้ามาในพื้นที่ทำนาของเกษตรกรอีกด้วย” นายอลงกรณ์ กล่าว
          จากนั้นช่วงบ่าย ที่ปรึกษารัฐมนตรีเกษตรฯ และคณะ ได้ลงพื้นที่ติดตามการบริหารจัดการน้ำของ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเพชรบุรี สำนักงานชลประทานที่ 14 ในการขุดลอกผักตบชวาในคลองระบายน้ำ D25 พื้นที่ ต่อเนื่องตำบลช่องสะแก หมู่ที่ 6 ตำบลบางแก้ว อำเภอบ้านแหลม และพื้นที่ หมู่ที่ 2 ตำบลบางจาน อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี และตลองD.18เพื่อเตรียมความพร้อมในการรับมือกับปัญหาน้ำท่วม ต่อจากนั้นได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมความก้าวหน้าการดำเนินงานวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์วิถีพอเพียง ตำบลช่องสะแก อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี มีนายสุพจน์ กลิ่มพ่วง เป็นประธาน ดำเนินกิจกรรมปลูกผักเกษตรอินทรีย์ปลอดสารพิษแบบยกแคร่ (ผักสลัด) และแบบโรงเรือนอัจฉริยะ ซึ่งเป็นต้นแบบงานวิจัยในพื้นที่ ได้รับงบประมาณและการสนับสนุนจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช. ) มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัด มีกิจกรรมการแปรรูปอาหาร ข้าวเกรียบงาน้ำตาลโตนด กิมจิ (การแปรรูปกิมจิ ดำเนินการร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการขอ อย.) การทำผักเคลผง (สำหรับโรยข้าว) และผักเคลคีโต ร่วมกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และการทำปุ๋ยชีวภาพ (ปุ๋ยโบกาฉิ ดินปลูกต้นไม้) และการดำเนินงานของศูนย์บ่มเพาะเกษตรกรรุ่นใหม่จังหวัดเพชรบุรี ( young smart farmer ) ซึ่งมีการดำเนินกิจกรรม ไข่ไก่อารมณ์ดี ไข่ไก่ชน การขายทำตลาดออนไลน์ขายสินค้าผ่าน shopee Lazada เช่น ต้นตำแยแมวหรือกัญชาแมว ตู้ฟักไข่ไก่จากลังโฟม (ฟักไก่ชน) โคมไฟจากก้านตาลควบคุมการเปิดปิดด้วยสมาร์ทโฟน ฯลฯ เป็นการดำเนินกิจกรรมโดยใช้หลักตลาดนำการผลิต และมีการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและการมีพัฒนารถโมบายและร้านค้าชุมชน เพื่อจำหน่ายผลผลิตการเกษตร และสินค้าอุปโภคบริโภค
       จากนั้น ตรวจเยี่ยมแปลงใหญ่ข้าว หมู่ 2,8,10 ตำบลหนองขนาน หมู่ที่ 5 ตำบลหาดเจ้าสำราญ อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี เพื่อติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานโครงการยกระดับแปลงใหญ่ด้วยเกษตรสมัยใหม่โดยการใช้เครื่องจักรกลการเกษตรทุ่นแรง ซึ่งช่วยในการลดรายจ่าย และเพิ่มรายได้แก่เกษตรกร รวมถึงการแปรรูป และเชื่อมโยงด้านการตลาดอีกด้วย โดยนายอลงกรณ์ ได้กล่าวชื่นชมและให้กำลังใจในการดำเนินงานของวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์วิถีพอเพียงตำบลช่องสะแก กลุ่มเกษตรกรรุ่นใหม่ (young smart farmer) ศูนย์เครือข่ายศพก.และกลุ่มนาแปลงใหญ่เพชรบุรี.
ที่มา : https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/59160

Credit : ข่าวประชาสัมพันธ์กรมประชาสัมพันธ์กรุงเทพมหานคร : Read More