ติดตามผ่านช่อง : Siammongkol Youtube Channel

ตำนานใน “กรมหลวงศรีรัตนโกสินทร” พระราชธิดาที่ร.5 ออกพระโอษฐ์ “งามเหมือนเทวดา”

ตำนานใน “กรมหลวงศรีรัตนโกสินทร” พระราชธิดาที่ร.5 ออกพระโอษฐ์ “งามเหมือนเทวดา”

พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ซึ่งทำให้พระองค์ทรงภาคภูมิพระราชหฤทัยในแง่มุมเกี่ยวกับพระสิริโฉมนั้น เรื่องนี้ย่อมต้องเอ่ยถึงสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าสุทธาทิพยรัตน์ กรมหลวงศรีรัตนโกสินทร ที่ชาววังเรียกกันว่า “ทูลกระหม่อมหญิง”

จากซ้าย: สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงศรีรัตนโกสินทร (ขานพระนามว่า ทูลกระหม่อมหญิง), พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงทิพยรัตนกิริฏกุลินี, เจ้าคุณจอมมารดาสำลี และสมเด็จพระปิตุจฉาเจ้า สุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี

“ทูลกระหม่อมหญิง” ประสูติแต่พระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระราชเทวี (สมเด็จพระปิตุจฉาเจ้า สุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี) เมื่อวันศุกร์ เดือน 10 ขึ้น 7 ค่ำ ปีฉลู นพศก จ.ศ. 1239 วันที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2420 สิทธิพร ณ นครพนม บรรยายไว้ว่า ถือเป็นทูลกระหม่อมหญิงพระองค์แรกในเศวตฉัตร (เมื่อทรงครองราชย์แล้ว) ชาววังจึงเรียกว่า “ทูลกระหม่อมหญิง” โดยไม่ต้องเอ่ยพระนามเนื่องจากทรงอาวุโสสูงสุดพระองค์แรก

พระนางเจ้าสุขุมาลมารศรีพระราชเทวี (ซ้าย) และพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงทิพยรัตนกิริฏกุลินีสำหรับพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระราชเทวี เป็นพระราชธิดาของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 กับเจ้าคุณจอมมารดาสำลี (บุนนาค) ธิดาของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ (สมเด็จองค์น้อย ทัด บุนนาค) ซึ่งเกี่ยวดองกับราชินิกุล ณ บางช้าง และเป็นสมเด็จเจ้าพระยาถึง 3 คน รับผิดชอบราชการสำคัญในแผ่นดินยุคนั้น รัชกาลที่ 5 พระราชทานเครื่องยศพระราชเทวีให้เป็นสิทธิ์ขาด และเพิ่มเงินเดือนจากเดือนละ 2 ตำลึงเป็น 5 ตำลึงพระองค์แรก ส่วนเบี้ยหวัดเท่าเดิมทุกพระองค์ 20 ชั่งต่อปี ครั้นประสูติทูลกระหม่อมทุกพระองค์แล้วเงินเดือนจึงเท่ากัน ตามพระราชหัตถเลขา ลงวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2421 และทูลกระหม่อมหญิงได้รับพระราชทานเดือนละ 3 ตำลึงเป็นพระองค์แรกเช่นกัน

สิทธิพร ณ นครพนม ผู้เขียนบทความ “สมเด็จเจ้าฟ้า กรมหลวงศรีรัตนโกสินทร ‘งามเหมือนเทวดา’” เล่าไว้ว่า ความงดงามบริสุทธิ์ผุดผ่องและโสภาคย์ของทูลกระหม่อมหญิงยังความปีติโสมนัสให้สมเด็จพระบรมชนกนาถและพระชนนีเป็นอย่างยิ่ง แต่ในอีกด้านหนึ่ง ก็ทำให้ทรงวิตกกังวลอย่างยิ่ง เพราะความงามบริสุทธิ์ พระฉวีผุดผ่องไม่มีไฝฝ้าราคี ในสมัยโบราณถือความเชื่อกันว่า ผู้ที่เกิดมางดงามมากยากจะเลี้ยงให้รอดชีวิตต่อมา ดังนั้น จึงมีพระกระแสรับสั่งพระชนนี พระพี่เลี้ยง พระนม และแพทย์หลวงให้ระวังใกล้ชิด หากทรงพระประชวรแม้เพียงนิดจะต้องรีบกราบบังคมทูลในทันที

กรมหลวงศรีรัตนโกสินทรเวลาผ่านมาจนพระชนมายุขวบเศษ สิทธิพร บรรยายเหตุการณ์ที่เล่ากันว่า ขณะสมเด็จพระบรมชนกนาถกำลังอุ้มส่งให้พระชนนีนั้น ได้ทรงดิ้นไปมาจนพระขนง (คิ้ว) ถูกชามแก้วบนโต๊ะเสวยถึงกับเป็นแผลพระโลหิตตกกันแสงลั่นพระตำหนัก พระบรมวงศ์ฝ่ายในจึงปลอบว่า “ความวิตกกังวลว่าจะมีพระชนมายุสั้นนั้น เป็นอันผ่านไปแล้วเพราะทรงมีบาดแผลแล้ว” เมื่อเป็นดังนั้น ทั้ง 2 พระองค์จึงคลายพระปริวิตก

เมื่อพระชนม์ได้ 11 พรรษา ได้รับพระราชพิธีโสกันต์เต็มยศ ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท มีสวด 3 วัน สมโภช 3 วัน เสร็จพระราชพิธีแล้วตอนฟังสวดทรงเครื่องขาวพระเกี้ยวยอด เสด็จขึ้นพระยานมาศจากเกยหน้าสวนศิวาลัย ผ่านพระที่นั่งสุทไธสวรรย์ เข้าประตูพิมานไชยศรี เทียบเกยพระที่นั่งอาภรณ์ภิโมกข์ (แห่รอบนอก) สมเด็จพระบรมชนกนาถทรงรับและส่งพระกรทุกคราว ระหว่างสมโภชทรงแต่งพระองค์สีต่างกันทั้ง 3 วัน

ชาววังลือกันว่างามหนักหนา รัชกาลที่ 5 ถึงกับออกพระโอษฐ์ว่า “ลูกพ่องามเหมือนเทวดา” ปกติแห่โสกันต์เวลาเย็น แต่คราวนี้บังเอิญพระชนนีป่วย จึงเลื่อนไปแห่เกือบค่ำ ราษฎรที่มาชื่นชมพระบารมีขบวนแห่เมื่อเห็นพระพักตร์ทูลกระหม่อมหญิง ถึงกับว่า “ลูกท่านงามอย่างนี้ มิน่าท่านจึงแห่จนค่ำ”

สิทธิพร เล่าต่อมาว่า ตามโบราณราชประเพณี พระขัตติยราชนารีต้องงดเสด็จออกข้างนอกเมื่อทรงโสกันต์แล้ว ต้องเก็บตัวอยู่ฝ่ายในและต้องทรงสะพัก (ห่มผ้า) แต่ทูลกระหม่อมหญิงทรงกันแสง เพราะปรารถนาจะรับใช้สมเด็จพระบรมชนกนาถทางฝ่ายหน้าอีก ถึงกับไปกราบบังคมทูลพระกรุณา “ให้รับสั่งเป็นเด็กอีกต่อไป” พระองค์โปรดไปตามนั้น แต่ยอมเพียง “เมื่ออายุครบ 18 เมื่อใดพ่อจะไม่ยอมลูกหญิงอีก” ทูลกระหม่อมหญิงจึงได้รับใช้เบื้องพระยุลบาทอย่างใกล้ชิด

เมื่อครั้งเกิดวิกฤตการณ์ ร.ศ. 112 (พ.ศ. 2436) กับฝรั่งเศส สิทธิพร ณ นครพนม ยังเล่าว่า สมเด็จพระบรมโอรสธิราชเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร หรือทูลกระหม่อมใหญ่ กับทูลกระหม่อมหญิง โปรดทรงงานแก้ไขวิกฤตการณ์ร่วมกัน ครั้งนั้นสมเด็จพระบรมชนกนาถทรงพระประชวรหนักถึงกับไม่ยอมเสวยพระกระยาหาร พระโอสถใดๆ

ชาววังเล่ากันว่า โปรดให้ทูลกระหม่อมหญิงประทับนั่งบนที่สูงแล้วรำพันว่า “หน้าลูกหญิงเหมือนย่า (สมเด็จพระเทพศิรินทราฯ) พ่ออยากจุดธูปเทียนบูชาเหลือเกิน” และพระราชทานพระธำมรงค์เพชรให้

ทูลกระหม่อมหญิงได้ศึกษาตามโบราณราชประเพณีกุลสตรีชาววังโดยสมบูรณ์ ทั้งภาษาอังกฤษจาก “ครูมีทินและครูทิม” จนแตกฉาน โปรดของสวยงามและประดิษฐ์ของหลายอย่าง สิทธิพร ถึงกับเล่าว่า ทรงถักโครเชต์และแทตติ้งยอดเยี่ยมที่สุดในยุคนั้น จนได้รับรางวัลงานประจำปีวัดเบญจมบพิตร โดยทรงแปลงวิธีปักดอกไม้ขวดซึ่งแต่ก่อนปักเสมอกันเป็นพุ่มมาแบบสูงข้างต่ำข้าง และปักใบไม้แซมหรือปล่อยให้ดอกห้อยลงมาบ้างกระจายกันไป มีบันทึกว่า “พวงมาลัยที่ผูกห้อยจากริบบิ้น” ที่นิยมกันในเวลาต่อมานั้นก็ทรงประดิษฐ์ขึ้นเอง

ทูลกระหม่อมหญิงยังโปรดการฉายภาพ และทรงเข้าห้องล้างอัดเอง อีกทั้งยังชนะรางวัลในการประกวดภาพประจำปีด้วย วิชาการเรือนเหล่านี้ทรงถ่ายทอดให้พระภาติยะ (ลูกของพี่ชายหรือน้องชาย) ราชสกุลบริพัตรและกุลสตรีแห่งวังของสมเด็จพระอนุชาจนเป็นที่เลื่องลือ

ในเวลานั้น ราชสำนักสยามกำลังปรับปรุงธรรมเนียมหลายประการ ราชสำนักยุโรปมักเรียกขานสมเด็จพระราชธิดาพระองค์แรกว่า “ปรินเซสรอยัล” (คาดว่าใกล้เคียงกับสมเด็จพระบรมราชกุมารี) อย่างไรก็ตาม ช่วงนั้น สมเด็จพระราชธิดาชั้นทูลกระหม่อมซึ่งประสูติแต่พระมเหสีชั้นลูกหลวงต่างสิ้นพระชนม์เมื่อทรงพระเยาว์ มีทูลกระหม่อมหญิงพระองค์เดียวเมืองที่ทรงจึง “เอกอุ” จารึกในพระสุพรรณบัฏว่า “สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าสุทธาทิพยรัตน สุขุมขัตติยกัลยาวดี กรมหลวงศรีรัตนโกสินทร” (กรุงเทพมหานคร)

ทรงศักดินา 40,000 ไร่ เป็นปรินเซสรอยัลโดยสมบูรณ์ หลายปีต่อมาทูลกระหม่อม (หญิง) รับกรมอีกพระองค์คือ สมเด็จเจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิริธร ในสมเด็จพระอัครมเหสี

หม่อมเจ้าจงจิตรถนอม ดิศกุล บันทึกไว้เมื่อครั้งเกษากันต์ว่า “ข้าพเจ้าพอใจจะอยู่กับสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงศรีรัตนโกสินทร เมื่ออยู่ในวังเคยทรงเล่าประทานว่า ข้าพเจ้าไปเดินตามทูลกระหม่อมหญิงติดอกต้องใจที่จะอยู่กับท่าน ไปงานในวังครั้งใดก็มุ่งที่จะไปเฝ้าทูลกระหม่อมนี้อยู่เสมอ”

หม่อมเจ้ามารยาตรกัญญา ดิศกุล บันทึกไว้ว่า “ในชั่วชีวิต 5 ขวบของข้าพเจ้า ยังไม่เคยเห็นใครที่งามและน่ารักเหมือนพระองค์ท่านเลย”

พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ บันทึกไว้ใน “เกิดวังปารุสก์” ว่า “ข้าพเจ้าจำได้ว่าท่านงามมาก แต่ค่อนข้างจะน่ากลัว ครั้งหนึ่งข้าพเจ้าไปเรียกท่านผิดว่าทูลหม่อมป้าหญิง เลยถูกท่านเอ็ดเอาว่า อะไรทูลหม่อมป้าชายมีที่ไหน”

สิทธิพร บรรยายเพิ่มเติมว่า สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร ซึ่งพระชันษาเยาว์กว่าเพียงไม่กี่เดือน ออกบทสักวาหน้าพระที่นั่งคราวหนึ่ง เชื่อว่าเป็น พ.ศ. 2437 สมเด็จพระบรมชนกนาถฟังแล้วปรมพระหัตถ์ชมเชยแล้วก็เสด็จขึ้น งานชุมนุมสักวาจึงเลิกโดยปริยาย ถือเป็นครั้งแรกและครั้งเดียวที่ดอกฟ้าศรีแห่งรัตนโกสินทร์ต้องเสาวรจนีชมโฉม โดยพระขัตติยบุรุษผู้ทรงศักดิ์

หลังจากนั้นก็ทรงปฏิบัติตามโบราณราชประเพณีของเจ้านายฝ่ายในอย่างเคร่งครัด จนเป็นที่เกรงพระทัยทุกฝ่าย

สิทธิพร เล่าถึงเหตุการณ์เมื่อครั้งเจ้าคุณจอมมารดาสำลีเจ้าขรัวยายถึงแก่พิราลัย เมื่อ พ.ศ. 2443 ว่า
“ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 5 โปรดพระราชทานโกศทองบำเพ็ญกุศล ณ พระบรมมหาราชวังเป็นพิเศษ (เป็นสามัญชนคนเดียว) เพราะ ‘เพื่อความสะดวกแก่ลูกหญิงไม่ต้องข้ามฟาก’ ทั้งยังโปรดพระราชทานเพลิงศพ ณ ทุ่งพระสุเมรุ (สนามหลวง) โดยทรงพระภูษาขาว (ทรงนับเป็นญาติผู้ใหญ่) อีก ซึ่งสมเด็จเจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต (ทูลกระหม่อมชาย) ซึ่งเป็นพระอนุชาทูลกระหม่อมหญิงเสด็จกลับจากเยอรมนีมาพอดี ชาววังจึงลือเลื่องเรียกเกร็ดประวัติศาสตร์ตอนนี้ว่า ‘อิเหนามาเผายาย’ (พิราลัยเสมอกับสมเด็จเจ้าพระยาและเจ้าประเทศราช)
ด้วยเหตุนี้ทูลกระหม่อมทั้งสองจึงต้องระมัดระวังพระองค์ยิ่ง เพราะทรงเป็นญาติกับ ‘ตระกูลบุนนาค’ ผู้เกรียงไกรยุคนั้น ถึงแม้ว่าเจ้าขรัวยายเจ้าคุณจอมมารดาสำลี (บุนนาค) จะไม่ค่อยพอใจญาติวงศ์ของท่านก็ตาม โชคดีที่ทรงมีพระชนนีผู้สุขุมคัมภีรภาพสมพระนาม ซึ่งทรงตระหนักถึงความเกรงกลัวของคนทั้งหลายในฐานะที่ทูลกระหม่อมหญิงเป็นสมเด็จพระราชธิดาเอกอุ ทูลกระหม่อมชายก็ทรงเป็นสมเด็จพระราชโอรสอันดับ 3 รองจากสมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศและสมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ จึงทรงสั่งสอนอบรมทูลกระหม่อมทั้ง 2 พระองค์ (สุทธาทิพยรัตน-บริพัตรสุขุมพันธ์) อย่างดียิ่ง ดังจดหมายส่วนพระองค์ที่เผยแพร่แล้ว ถึงกระนั้นยังไม่วายถูกสงสัยร่ำไป ถึงล้นเกล้ารัชกาลที่ 7 โปรดสถาปนาเป็น ‘สมเด็จพระปิตุจฉาเจ้า (ป้า) สุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี’ โดยทรงรับเป็นพระญาติวงศ์ก็ยังไม่คลาย จนถึงคณะราษฎรยึดวังบางขุนพรหมและเชิญเสด็จทูลกระหม่อมชายไปประทับต่างประเทศเพราะเกรงบารมีจนสิ้นพระชนม์”

ภายหลังสมเด็จพระบรมชนกนาถสวรรคตแล้ว ทูลกระหม่อมหญิงทรงประทับอยู่พระบรมมหาราชวังเป็นศรีแห่งรัตนโกสินทร์ (รัชกาลที่ 6 ทรงประทับอยู่พระราชวังพญาไท) จน พ.ศ. 2458 จึงกราบบังคมทูลพระกรุณาไปประทับอยู่วังบางขุนพรหมกับทูลกระหม่อมชายพระอนุชา ตราบจนสิ้นพระชนม์เมื่อวันอังคาร เดือนยี่ แรม 1 ค่ำ ปีจอ จัตวาศก จ.ศ. 1246 วันที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2468 พระชันษา 46 อย่างสงบ

สมเด็จพระปิตุจฉาเจ้า สุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี (ประทับพระเก้าอี้อุ้มเด็ก) ซ้ายสุดคือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ถัดมาคือสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าสุทธาทิพยรัตน์ สุขุมขัตติยกัลยาวดี กรมหลวงศรีรัตนโกสินทร ซึ่งเป็นพระราชโอรสและพระราชธิดาสองพระองค์ในสยามเป็นดินแดนแห่งกวีก็ว่าได้ แต่ในรัชสมัยนั้น มีเพียงสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร พระองค์แรกผู้ทรงศักดิ์คู่กันทรงพระราชนิพนธ์ชมโฉมปรินเซสรอยัล บทสักวาเสาวรจนีนี้มีว่า

ได้ยลพักตร์ลักขณาสุดาพี่  จะหาไหนไม่มีเสมอสอง
เสงี่ยมงามทรามสงวนนวลละออง  ไฉนน้องไร้คู่อยู่เอกา
ถ้าอยู่ได้ก็จะอยู่เป็นคู่ชื่น  สำราญรื่นร่วมจิตขนิษฐา
จะบนบวงสรวงเหล่าเทวา  ขอให้สมปรารถนาคราวนี้เอยฯ

 

หมายเหตุ : เนื้อหานี้คัดย่อและเรียบเรียงจากบทความ “สมเด็จเจ้าฟ้า กรมหลวงศรีรัตนโกสินทร ‘งามเหมือนเทวดา’” เขียนโดย สิทธิพร ณ นครพนม ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับมิถุนายน 2538

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 13 เมษายน 2563

The post ตำนานใน “กรมหลวงศรีรัตนโกสินทร” พระราชธิดาที่ร.5 ออกพระโอษฐ์ “งามเหมือนเทวดา” appeared first on Thailand News.