ต้นคลองปลายคลองของ มหานาค-บางกะปิ-แสนแสบ อยู่ที่ไหน
คลองมหานาค อยุธยา
คลองมหานาคในเมืองไทยมี 2 แห่งคือที่อยุธยา กับที่กรุงเทพฯ ที่กรุงเทพฯ นั้นขุดสมัย ร.1 พ.ศ. 2326 ขุดแล้วตั้งชื่อเลียนแบบทางอยุธยา
คลองมหานาค อยุธยา ขุดคราวพระสุริโยทัยขาดคอช้าง เมื่อ พ.ศ. 2091 หรือเมื่อ 448 ปีมาแล้วนับจาก พ.ศ. 2539 นี้
ประวัติมีกล่าวสั้นๆ อยู่ในหนังสือ พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพระจักรพรรดิพงศ์ (จาด) (ดูฉบับองค์การค้าของคุรุสภา จัดพิมพ์ พ.ศ. 2504 หน้า 48) กับฉบับสมเด็จกรมพระปรมานุชิตชิโนรส (ดูฉบับองค์การค้าของคุรุสภา จัดพิมพ์ พ.ศ. 2504 หน้า 71)
ทั้งสองฉบับนี้มีข้อความเหมือนๆ กัน แต่ทราบจากเชิงอรรถในฉบับพระจักรพรรดิพงศ์ว่า ศักราชคลาดเคลื่อนกับฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ (แพ) เล็กน้อย การเทียบปีช่วงนี้จึงน่าปวดหัวมาก แม้ช่วงครองราชย์พระเจ้าแผ่นดินก็จะแตกต่างกันไม่เป็นที่ยุติ
พงศาวดารสองเล่มดังอ้าง กล่าวว่าในแผ่นดินสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ศักราช 905 ปีเถาะ (ฉบับหลวงประเสริฐฯ ว่า ศักราช 910 เท่ากับ พ.ศ. 2091) สมเด็จพระเจ้าหงสาวดี ยกทัพมาตีไทย
สมเด็จพระมหาจักรพรรดิให้พระยาจักรีออกไปตั้งค่ายที่ตําบลลุมพลี (ทุ่งที่อยุธยา) จํานวนพล 15,000 คน ล้วนใส่เสื้อแดงหมวกแดง
ต่อจากนั้นก็กล่าวว่า
“ฝ่ายพระมหานาคบวชอยู่ ณ วัดภูเขาทอง สึกออกรับตั้งค่ายกันทัพเรือ ตั้งค่ายแต่วัดภูเขาทองลงมาจนวัดป่าพลู พวกสมกำลัง ญาติโยมทาสชายหญิงของมหานาคช่วยกันขุดคูนอกค่ายกันทัพเรือ จึงเรียกว่าคลองมหานาค เจ้าพระยามหาเสนาถือพลหมื่นหนึ่งออกตั้งค่ายบ้านดอกไม้ ป้อมท้องนาหันตรา พลใส่เสื้อเขียว หมวกเขียว…”
ฝ่ายพระเจ้ากรุงหงสาวดียกทัพจากกาญจนบุรีมาถึงอยุธยา วันเสาร์ ขึ้น 5 ค่ำ พอวันอาทิตย์สมเด็จพระมหาจักรพรรดิเสด็จพร้อมพระสุริโยทัยไปดูกำลังข้าศึก (พรรณนายืดยาว) ที่สุดก็ได้รบกับพระเจ้าหงสาวดี พระสุริโยทัยก็ถูกพระเจ้าแปรจ้วงฟันด้วยพระแสงของ้าวจนสิ้นพระชนม์ในการรบคราวนี้
โดยสรุป คลองมหานาค อยุธยา คำนวณตามพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐฯ ขุดเมื่อ จ.ศ. 910 พ.ศ. 2091
แนวของคลอง ทราบจากหนังสือ “ประวัติเมืองสำคัญ” ของตรี อมาตยกุล (สำนักพิมพ์แพร่พิทยา 2513 หน้า 144) ว่าขุดแยกจากคลองวัดภูเขาทองลงมาข้างใต้ถึงวัดศาลาปูน แล้วขุดเลี้ยวมาทางตะวันตก ผ่านหลังวัดขุนญวน ผ่านหน้าวัดป่าพลู และไปออกแม่น้ำใหญ่ที่เหนือหัวแหลม ยังมีแนวคลองปรากฏอยู่จนทุกวันนี้ เรียกกันว่าคลองมหานาค
คลองมหานาค กรุงเทพฯ
คลองมหานาค กรุงเทพฯ เป็นคลองขุดเมื่อสมัย ร.1 พ.ศ. 2326 พร้อมคลองรอบกรุง หรือคลองบางลำภู หรือคลองโอ่งอ่าง
ขุดแยกจากคลองรอบกรุงที่หน้าวัดสระเกศ ตรงไปทางทิศตะวันออก สิ้นสุดที่ข้างวัดพระยายัง และวัดบรมนิวาส ต่อจากนั้นเป็นคลองอีกคลองหนึ่งเรียกว่าคลองบางกะปิ ต่อคลองบางกะปิออกไปอีก เรียกว่าคลองแสนแสบ คลองบางขนาก
ประวัติการขุดคลองมหานาคมีอยู่ในหนังสือ พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1 ซึ่งแต่งเมื่อต้นสมัย ร.5 โดยเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค) หนังสือเล่มนี้ตีพิมพ์หลายครั้ง หาอ่านได้ไม่ยาก
เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ) กล่าวว่า ในปีเถาะ จ.ศ. 1145 หรือ พ.ศ. 2326 โปรดให้ก่อสร้างพระนครทั้งพระบรมมหาราชวัง และคูคลอง
ทรงเกณฑ์เขมรหนึ่งหมื่นคนมาขุดคลองด้านตะวันออก พระราชทานนามว่า “คลองรอบกรุง” ขุดคลองหลอด 2 คลอง (ที่ผ่านวัดราชบพิธสายหนึ่ง กับผ่านวัดเทพธิดาอีกสายหนึ่ง ควรดูแผนที่)
พร้อมกันนั้นก็ “ขุดคลองใหญ่เหนือวัดสะแกอีกคลองหนึ่ง พระราชทานนาม ว่า คลองมหานาค เป็นที่สำหรับประชาชนชาวพระนครจะได้ลงเรือไปประชุมเล่น เพลงและสักระวาในเทศกาลฤดูน้ำเหมือนอย่างครั้งกรุงศรีอยุธยาเก่า และวัดสะแก นั้น เมื่อขุดคลองมหานาคแล้ว พระราชทานนามเปลี่ยนใหม่ว่าวัดสระเกศ และขอแรงเขมรที่เข้ามาขุดคลองให้ช่วยขุดรากทำพระอุโบสถใหม่ด้วย”
สรุปว่า ร.1 ทรงขุดคลองมหานาคขึ้นทางด้านทิศเหนือของวัดสระเกศ เพื่อให้ชาวพระนครมีที่สโมสรในยามหน้าน้ำเช่นครั้งกรุงเก่า ชื่อคลองที่พระราชทานไม่ระบุว่ายืมจากชื่อคลองมหานาค อยุธยา แต่อย่างใด แต่จะเดาว่าตั้งเลียนแบบคลองมหานาค อยุธยาก็คงไม่ผิด
เมื่อขุดคลองเสร็จแล้ว ทรงเกณฑ์ลาวมาก่อกำแพงและป้อมรอบพระนคร
ป้อมตรงข้ามต้นคลองมหานาคนั้นคือ ป้อมมหากาฬ (อยู่เชิงสะพานผ่านฟ้าลีลาศ)
ปัจจุบันคลองมหานาค-แสนแสบ เป็นเส้นทางเรือด่วนขนส่งคนกรุงเทพฯ ระหว่างสามแยกคลองรอบกรุงคลองมหานาค (เรียกว่าท่าผ่านฟ้า) กับหัวหมาก มหาวิทยาลัยรามคำแหง สามารถขนคนได้วันละนับหมื่นคน นับเป็นคลองที่มีความสำคัญมาก
ปลายคลองมหานาคอยู่ที่ไหน
เราได้ทราบกันอยู่แล้วว่าคลองมหานาคขุดต่อจากคลองรอบกรุงหรือคลองบางลำภูหรือคลองโอ่งอ่างเมื่อสมัย ร.1 พ.ศ. 2326 ต้นคลองอยู่ตรงข้ามป้อมมหากาฬ เชิงสะพานผ่านฟ้าลีลาศ แต่ปลายคลองอยู่ตรงไหน หนังสือทั้งเก่าทั้งใหม่มักไม่ค่อยระบุกัน นับเป็นเรื่องน่าประหลาดใจอยู่
ผู้เขียน (เอนก) ข้องใจเรื่องปลายคลองมหานาคมานานพอสมควร ลองเปิดคำว่าคลองมหานาคในหนังสืออักขรานุกรมภูมิศาสตร์ไทย ของราชบัณฑิตยสถานดูได้คำอธิบายสั้นมากว่า เป็นชื่อแขวง ขึ้นกับเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร มีตลาดสดใหญ่เรียกว่าตลาดมหานาค
เปิดหนังสือ “จดหมายเหตุการอนุรักษ์กรุงรัตนโกสินทร์” ของกรมศิลปากร พ.ศ. 2525 ดูทราบจากหน้า 611 ว่าสุดเขตที่วัดบรมนิวาส ไม่แสดงหลักฐานและที่มา
เปิดหนังสือ “คลองในกรุงเทพฯ” ของอาจารย์ปิยนาถ บุนนาค ดวงพร นพคุณ และ สุวัฒนา ธาดานิติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดพิมพ์ พ.ศ. 2525 พิมพ์ปีขุดผิดเป็น 2430 และไม่ระบุปลายคลอง
เมื่อวันเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพมหานคร อาทิตย์ที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2539 ผู้เขียนเขียนต้นฉบับ หนังสือกุญแจเรื่องเก่า เรื่องคลองมหานาค อยุธยา แล้ว ต้องเขียนเรื่องคลองมหานาค กรุงเทพฯ ต่อไปให้เข้าหมู่ พอลงมือเขียนก็ประสบปัญหาเก่า และยิ่งค้นไปก็ยิ่งยุ่งเพราะลามไปถึงต้น-ปลายของคลองบางกะปิ แสนแสบ บางขนาก ที่ต่อกับคลองมหานาคด้วย
ผู้เขียนต้องเสียเวลาดูแผนที่ และหาเอกสารต่าง ๆ มาสอบซ้ำแล้วซ้ำเล่า ไม่เป็นอันคิดถึงเรื่องอื่นเลย จนเวลาล่วงไป 4 วัน จึงเห็นว่าปลายคลองควรอยู่ตรงสามแยกบางส้มป่อย-บางกะปิ หรือ ตรงข้างวัดพระยายัง วัดบรมนิวาสเดี๋ยวนี้
เหตุผล อธิบายได้ดังนี้
ในสมัยรัชกาลที่ 1 คลองผดุงกรุงเกษมยังไม่มี คลองผดุงฯ เป็นคลองขุดที่หลัง คือขุดในสมัย ร.4 ฉะนั้นจึงพูดว่าขุดคลองมหานาคไปบรรจบกับคลองผดุงฯ ไม่ได้
แรกสุดผู้เขียนตั้งข้อสันนิษฐานว่าคลองมหานาคไม่ใช่คลองตัน เมื่อขุดแล้วต้องไปบรรจบกับคลองใดคลองหนึ่งที่มีอยู่ก่อนจึงจะเป็นประโยชน์ทางการคมนาคม
ลองตรวจดูแผนที่ในอดีต ผู้เขียนเห็นว่า ปลายคลองมหานาคน่าจะไปบรรจบกับคลองเก่า 2 สายคือ คลองบางส้มป่อย กับคลองบางกะปิ
คลองบางส้มป่อย ไม่ค่อยมีใครระบุชื่อในแผนที่ใดๆ คงพบบ้างในบางแห่ง เช่น แผนที่ พ.ศ. 2553 (ดูหนังสือ “แผนที่กรุงเทพฯ พ.ศ. 2431-2434 ของกรมแผนที่ทหาร พ.ศ. 2527 เล่มใหญ่ ปกสีน้ำตาล แผ่นที่ 5) ท่านลองพิจารณาดูโดยเอาแผนที่ ร.ศ. 120 พ.ศ. 2444 มาประกอบด้วย
จะเห็นว่าเป็นคลองที่ไหลในแนวตั้ง หรือแนวเหนือใต้ตรงวัดพระยายัง วัดบรมนิวาส (ทั้งสองวัดนี้สร้างหลังขุดคลองมหานาคแล้วทั้งสิ้น สมัยขุดคลองมหานาคแถวนั้นยังเป็นทุ่งโล่ง) ภายหลังถูกถนนและทางรถไฟตัดผ่านจนตื้นเขิน ตอนที่สร้างสนามม้าและสวนจิตรลดาก็ขาดหายไป
พิจารณาต่อไป ช่วงกลางด้านขวาของคลองบางส้มป่อยเป็นสามแยกต่อกับ คลองเก่าอีกสายหนึ่งคือคลองบางกะปิซึ่งไหลเป็นแนวนอน ส่วนปลายคลองบางส้มป่อยด้านล่าง ไปพบคลองบางนางหงส์ หลังวัดสามง่าม (ชํานิหัตถการ)
ผู้เขียนเชื่อว่าเมื่อจะขุดคลองมหานาคนั้น บรรพบุรุษของเราคงกะให้ปลายคลองมหานาคไปเชื่อมกับสามแยกบางส้มป่อย-บางกะปิ เกิดเป็นสี่แยกไปมาได้มากขึ้น
เพราะเมื่อเอาเรือขึ้นไปตามคลองบางส้มป่อยด้านเหนือ ไม่ช้าก็จะพบกับคลองใหญ่ที่ชื่อคลองสามเสน
พอถึงคลองสามเสน เลี้ยวไปทางซ้าย ก็จะออกแม่น้ำเจ้าพระยาได้ (ตรงวังสุโขทัย)
เอาเรือไปตามคลองบางกะปิ ซึ่งไหลขนานกับคลองสามเสน เข้าทุ่งเข้านาไปเรื่อยๆ ก็มีคลองเชื่อมกับคลองสามเสนข้างบนอยู่เป็นระยะๆ เช่นระยะวัดบางกระสัน (ดิสหงษาราม) วัดบางกะปิ (อุทัยธาราม) และคลองตัน เป็นต้น
เอาเรือไปทางใต้ ไปพบกับคลองเล็กๆ ชื่อบางนางหงส์ คลองนี้อาจเป็นสาขาของคลองบางกะปิที่อยู่ตอนบน และไหลลงมาบรรจบกับคลองบางส้มป่อยอีก
โดยเหตุนี้ ผู้เขียนจึงเห็นว่าการขุดคลองมหานาค ปลายคลองมีเป้าหมายให้เชื่อมกับคลองบางส้มป่อย และคลองบางกะปิมาแต่เดิม มิใช่ขุดสนุกๆ ไม่มีจุดหมายปลายทาง
คลองบางกะปิมีมาก่อนจริงหรือ? มิใช่ขุดคลองมหานาคยาวออกไปถึงบางกะปิ แล้วแบ่งเรียกข้างปลายว่าคลองบางกะปิหรือ? บางท่านอาจจะนึกสงสัย
แม้ไม่มีแผนที่สมัยรัชกาลที่ 1 มาเปรียบเทียบ แต่ผู้เขียนก็เชื่อว่า ไม่ควรเป็นเช่นนั้น เหตุผลคือ
1. เมื่อสมัย ร.1 เรายังไม่จําเป็นต้องขยายเมืองออกไปไกลถึงขนาดนั้น
2. คลองบางกะปิเองไม่มีลักษณะเป็นคลองขุด เพราะแนวคลองโค้งไปโค้งมา หาได้ตรงดิ่งอย่างคลองมหานาคไม่
3. ว่าถึงการเรียกชื่อคลองบ้าง ไม่เคยเห็นใครเผลอเรียกคลองซีกนั้นว่าคลองมหานาคเลย
จึงเชื่อว่าบางกะปิต้องเป็นคลองธรรมชาติที่มีมาก่อนแต่โบราณ แต่คลองบางกะปินี้ ภายหลังคนเรียกสับสนเป็นคลองแสนแสบบ้าง บางกะปิบ้าง จนวุ่นวายไปหมด แม้ในแผนที่สมัย ร.5 ก็เรียกไม่ค่อยตรงกัน
จริงๆ แล้วคลองแสนแสบเริ่มแถวหัวหมาก สิ้นสุดที่ ต.บางขนาก อ.บางน้ำเปรี้ยว จ.ฉะเชิงเทรา ร.3 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ขุดไปทะลุแม่น้ำบางปะกง จะได้ขนเสบียงออกจากกรุงเทพฯ ทางคลองมหานาค บางกะปิ ทะลุถึงฉะเชิงเทราได้ เราเริ่มมาเรียกหลงๆ กันตั้งแต่สมัย ร.5 ตัวอย่างเช่นแผนที่ ร.ศ. 120 พ.ศ. 2444 เป็นต้น
รายละเอียดเรื่องคลองบางกะปิ คลองแสนแสบ จะเขียนแยกออกไปอีก ไม่เช่นนั้นจะทำให้ท่านสับสนเกินไป
คลองบางกะปิ
คลองบางกะปิเป็นคลองธรรมชาติ ไหลตามแนวนอน ขนานกับคลองสามเสน (คลองสามเสนอยู่ด้านบน คลองบางกะปิอยู่ด้านล่าง)
ก่อน พ.ศ. 2326 ปลายคลองด้านกรุงเทพฯ ต่อกับคลองบางส้มป่อย
หลัง พ.ศ. 2326 มีการขุดคลองมหานาคออกจากพระนคร มาต่อกับคลองบางส้มป่อย และคลองบางกะปิ ทำให้เกิดสี่แยก และเกิดวัดบริเวณนั้นขึ้น คือวัดพระยายัง กับวัดบรมนิวาส
ปลายอีกด้าน ถ้ากล่าวตามหนังสือเก่า บอกได้กว้างๆ เพียงว่าอยู่แถวหัวหมากต่อกับคลองแสนแสบที่ขุดเมื่อสมัย ร.3 ระหว่าง พ.ศ. 2380-2383
หลักฐานคือข้อความบางตอนในหนังสืออานามสยามยุทธ ที่ ก.ศ.ร.กุหลาบ เป็นผู้รวบรวมและตีพิมพ์เมื่อปลายสมัย ร.5 พ.ศ. 2446 ว่า
“มีพระบรมราชโองการดํารัสสั่งให้พระยาศรีพิพัฒน์รัตนราชโกษา (ชื่อทัด) เป็นแม่กองจ้างจีน ขุดคลอง ตั้งแต่ตําบลหัวหมากต่อคลองบางกะปิ ไปทางตะวันออกทะลุที่บางกะหนาก ฝั่งแม่น้ำเมือง ฉะเชิงเทรา” (ดูฉบับสำนักพิมพ์แพร่พิทยา พ.ศ. 2515 เล่ม 2 หน้า 824)
คลองบางกะปิและทุ่งบางกะปิด้านหัวหมาก เป็นฉากของนิยายรักอมตะเรื่อง แผลเก่า ซึ่งแต่งโดย ไม้ เมืองเดิม (ก้าน พึ่งบุญ ณ อยุธยา) หลักฐาน ให้ดูเรื่องแสนแสบ ที่กล่าวถึงศาลจ้าวขวัญ ตั้งแต่ตอนต้นเรื่อง
หนังสืออักขรานุกรมภูมิศาสตร์ไทย ของราชบัณฑิตยสถาน เล่ม 3 หน้า 720 บอกว่า คลองบางกะปิต่อจากคลองมหานาคที่วัดบรมนิวาส ผ่านประตูน้ำ ปทุมวันไปจนถึงเขตเทศบาล ตรงหลักเขตที่ 9 (ไม่แน่ใจว่าอยู่ตรงหัวหมากหรือ ตําบลใด ยังไม่มีเวลาไปดู) แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าทุ่งนา ไปร่วมกับคลองสามเสนในเขตบางกะปิ รวมความยาวของคลองนี้ 7 กิโลเมตร คลองที่ต่อไปจาก คลองบางกะปิตรงหลัก 9 เรียกว่าคลองแสนแสบ
หนังสือพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 4 ของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขํา) กล่าว ถึงคลองบางกะปิว่าเมื่อ ร.4 จะทรงสร้างสระปทุมวันและวัดปทุมวนาราม ใน พ.ศ. 2396
“ทรงพระราชดําริว่าท้องนาหลวงอยู่ในคลองบางกะปิราย 1 จะทำสระบัวปลูกบัวต่างๆ ไว้ชมเล่น จึงโปรดให้สมเด็จเจ้าพระยาองค์น้อยเป็นแม่ กอง…”
หนังสืออักขราภิธานศรับท์ ของหมอบรัดเลย์ พิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2416 (องค์การค้าของคุรุสภาเคยนํามาพิมพ์ซ้ำเมื่อ พ.ศ. 2514 ราคาเล่มละ 120 บาท เคยมีจําหน่ายที่ร้านศึกษาภัณฑ์พาณิชย์ ราชดําเนิน) แสดงลักษณะของคลองเมื่อร้อยกว่าปีก่อนว่า
“บางกะปิ, เปนชื่อคลองย่อมๆ มีอยู่ปลายคลองสามเสนชื่อบางกะปิ, ตลอดออกไปนานั้น.”
ราวสมัย ร.5 การเรียกชื่อคลองบางกะปิ เริ่มลักลั่น เช่น แผนที่บางฉบับเรียกคลองบางกะปิเป็นคลองแสนแสบ ทำให้เกิดความสับสนแก่คนทั่วไปมาจนถึงปัจจุบัน
ทุกวันนี้มีเรือด่วนขนคนระหว่างกรุงเทพฯ กับหัวหมาก ผ่านคลองมหานาค-บางกะปิ วันละเป็นหมื่นๆ คน หลายคนพากันเรียกคลองที่นั่งเรือผ่านว่าคลองแสนแสบ จึงน่าจะมีการประชาสัมพันธ์ให้เรียกกันให้ถูกต้อง
จุดสำคัญริมคลองบางกะปิ ได้แก่ วัดพระยายัง วัดบรมนิวาส บ้านครัว บ้านจิม ทอมสัน สะพานหัวช้าง วังสระปทุม วัดปทุมวนาราม เวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ ประตูน้ำ ปทุมวัน วัฒนาวิทยาลัย ถนนอโศก-ดินแดง มศว.ประสานมิตร วัดใหม่ช่องลม วัดภาษี ร.พ.คลองตัน (สี่แยกถนนเพชรบุรีตัดใหม่ ถนนสุขุมวิท ถนนรามคำแหง ถนนพัฒนาการ)
วันอังคารที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2537 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดําเนินทอดพระเนตรคลองมหานาค-บางกะปิ-แสนแสบ ทางเรือ เป็นข่าวใหญ่ในหน้าหนังสือพิมพ์ทุกฉบับ
คลองแสนแสบ-คลองบางขนาก
คลองแสนแสบเป็นคลองขุดเพื่อการสงคราม ในสมัย ร.3 ขุดต่อจากคลองบางกะปิ ตรง ต.หัวหมาก ไปสิ้นสุดหรือออกแม่น้ำบางปะกงที่ ต.บางขนาก อ.บางน้ำเปรี้ยว จ.ฉะเชิงเทรา ด้านปลายคลองเรียกอีกชื่อหนึ่งว่าคลองบางขนาก
คลองแสนแสบเป็นฉากนิยายรักอีกเรื่อง หนึ่งของไม้ เมืองเดิม (ก้าน พึ่งบุญ ณ อยุธยา) คือเรื่อง แสนแสบ เรื่องนี้เปิดฉากทางต้นคลอง ด้านต่อกับคลองบางกะปิ
คนจํานวนมากเข้าใจกันผิดๆ ตลอดมาว่า คลองแสนแสบกินรวมมาถึงสี่แยกมหานาคด้วยทำให้การเขียนและการเรียกสับสนไปหมด
หลักฐานเรื่องขุดคลองแสนแสบตั้งแต่หัวหมาก มีกล่าวอยู่ในหนังสือต่างๆ ได้แก่
1. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 3 ของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขํา บุนนาค) ๆ กล่าวว่า พ.ศ. 2380 เดือน 2 ขึ้น 4 ค่ำ โปรดเกล้าฯ ให้พระยาศรีพิพัฒน์รัตนราชโกษา (ทัด บุนนาค ที่สร้างวัดพิชัยญาติ) เป็นแม่กอง…
จ้างจีน “ขุดคลองตั้งแต่หัวหมากไปจนถึงบางขนาก เป็นทาง 1,337 เส้น 19 วา 2 ศอก ลึก 4 ศอก กว้าง 6 วา ราคาเส้นละ 70 บาท… ” พร้อมกันนั้นก็ให้แก้ทิศทางคลองพระโขนงอีกสายหนึ่งด้วย ขุดคลองถึงปีชวด พ.ศ. 2383 จึงสำเร็จ
(1 ศอกเท่ากับ 50 ซ.ม. 4 ศอกเท่ากับ 1 วา 1 วาเท่ากับ 2 เมตร 20 วา เท่ากับ 1 เส้น 1 เส้นเท่ากับ 40 เมตร สรุปว่าคลองแสนแสบที่ขุดครั้งนั้นยาวประมาณ 57 กิโลเมตร)
2.หนังสือ “ประวัติกระทรวงเกษตราธิการ” พิมพ์เป็นที่ระลึกในการแสดงกสิกรรมแลพานิชการ ร.ศ. 129 เท่ากับ พ.ศ. 2453 (ห้องสมุดเอนก นาวิกมล ปกแข็งสีชมพู) หน้า 98-99 กล่าวว่า
“คลองแสนแสบ, บางขนาก
ลุศักราช 1199 เดือนยี่ ขึ้น 4 ค่ำ ปีระกา นพศก ในระหว่างที่ประเทศสยามทำการสงครามกับเขมรกับญวน การส่งเสบียงอาหารแลการไปมาเนินช้าขัดขวางไม่ทันพระราชประสงค์ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยาพิพัฒรัตนราโกษาธิบดี เป็นแม่กองจ้างจีนขุดคลองตั้งแต่หัวหมากไปถึงบางขนาก เป็นทางยาว 1337 เส้น 19 วา 2 ศอก กว้าง 6 ศอก ลึก 4 ศอก ขุดอยู่จนลุศักราช 1202 ปีชวดโทศกจึงสำเร็จ สิ้นพระราชทรัพย์ 5040 บาท ตอนต้นเรียกว่าคลองแสนแสบ ตอนปลายเรียกคลองบางขนาก ให้เป็นทางไปมาถึงกันในระหว่างกรุงเทพฯ กับแม่น้ำเมืองปาจิณบุรี”
3. หนังสืออานามสยามยุทธ โดยเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) จัดพิมพ์โดย ก.ศ.ร.กุหลาบ อายุ 70 ปี พ.ศ. 2446 (สำนักพิมพ์แพร่พิทยาพิมพ์ซ้ำ 2 เล่มจบ เมื่อ พ.ศ. 2514 ขอให้ดูเล่ม 2 หน้า 824)
นายกุหลาบบอกว่า เดือนยี่ ขึ้น 4 ค่ำ ปีระกา จ.ศ. 1199 พ.ศ. 2380 ปีที่ 14 ในรัชกาลที่ 3
“พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชโองการดํารัสสั่งให้พระยาศรีพิพัฒน์รัตนราชโกษา (ชื่อทัด) เป็นแม่กองจ้างจีนขดคลองตั้งแต่ตําบลหมากต่อคลองบางกะปิไปางตะวันออก ทะลุที่บางกะหนาก ฝั่งแม่น้ำเมืองฉะเชิงเทรา รางวัดทางยาว 1337 เส้น 19 วา 2 ศอก กว้าง 6 วา ราคาค่าจ้างขุดเส้นละเจ็ดสิบบาท รวมเงินทั้งค่าฟันตอไม้ ค่าแก้คลองพระโขนงข้างปลาย รวมเป็นเงินพันสองร้อยหกชั่งสิบสามตำลึง สองบาท สลึงเฟื้อง ขุดอยู่ถึงสี่ปีเศษจึงสำเร็จแล้วตลอดเป็นลำคลอง เรือเดินได้เมื่อปลายปีชวด โทศก จุลศักราช 1202 ปี เป็นปีที่ 17ในรัชกาลที่ 3 กรุงเทพฯ ชนสามัญเรียกว่าคลองแสนแสบ
ครั้น ณ เดือนสี่ปลายปีระกา นพศก ศักราช 1199 ปีนั้น เจ้าพระยาบดินทรเดชาตั้งทำการเมืองพระตะบองอยู่”
คำว่าหัวหมาก ยังสืบไม่ได้ว่าหมายถึงจุดไหนของหัวหมากปัจจุบัน เพราะหัวหมากปัจจุบันกินบริเวณกว้างขวางมาก
คำว่าแสนแสบ หนังสือชื่อบ้านนามเมือง ของศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย สำนักพิมพ์มติชน หน้า 36-37 อ้างรายงานการเดินทางของนาย ดี.โอ.คิง นักสำรวจชาวอังกฤษว่า คลองแสนแสบยาว 55 ไมล์ คนที่อยู่ริมคลองเชื้อสายมาเลย์นั้น “ไม่ว่าพวกเขาจะทำอะไรอยู่ก็ตาม มือข้างหนึ่งจะต้องใช้ปัดยุงเสมอ” นี่อาจเป็นที่มาของชื่อที่น่าสนใจ และดูจะมีทางเป็นไปได้
4. หนังสืออักขรานุกรมภูมิศาสตร์ไทย เล่ม 5 หน้า 1672 บอกว่า แสนแสบเป็นชื่อแขวง ขึ้นกับเขตมีนบุรี กรุงเทพมหานคร และเป็นชื่อคลอง
ต้นคลองต่อจากคลองบางกะปิตรงแนวเขตเทศบาล หลักเขตที่ 9 เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร
ผ่านเขตบางกะปิ เขตมีนบุรี และเขตหนองจอก ไปต่อกับคลองบางขนากที่คลองนครเนื่องเขต อ.เมือง จ.ฉะเชิงเทรา ยาว 30 ก.ม. มีน้ำตลอดปี
ที่ว่าต่อกับคลองบางขนาก อ่านแล้วอาจงง ต้องดูในคำว่าบางขนากอีกคำจะพบว่านับคลองบางขนากเป็นอีกคลอง เอาปลายข้างซ้ายของคลองบางขนาก ต่อกับคลองแสนแสบตรงแยกนครเนื่องเขต ปลายข้างขวาตกแม่น้ำบางปะกง
คำว่าหลักเขตที่ 9 ผู้เขียนไม่ทราบว่าอยู่ตรงไหนแน่ ความยาว 30 ก.ม. ผิดไปจากในพงศาวดาร ทำให้ไม่แน่ใจว่าทางการปัก เขตคลองอย่างไร
วันที่ 30 มกราคม – 1 กุมภาพันธ์ ร.ศ. 126 (หากนับอย่างสากลจะเป็น ค.ศ. 1905) ร.5 เสด็จประพาสคลองแสนแสบ โดยลงเรือพระที่นั่งจากใกล้สี่แยกท่าไข่ ฉะเชิงเทรา มาทางคลองนครเนื่องเขต แล้วเข้าคลองแสนแสบ (ไม่ได้มาจากทางบางขนาก) ประทับแรมระหว่างทาง 2 คืน ทรงพระราชนิพนธ์จดหมายเหตุรายทางสั้นๆ ไว้ 10 กว่าหน้า ภายหลังมีการนํามาตีพิมพ์ในชื่อ “เสด็จประพาสคลองแสนแสบ” (เจ้าจอมมารดาอ่อน พิมพ์ในงานทำบุญหน้าพระศพพระเจ้าพี่นางเธอ พระองค์เจ้าอรประพันธ์รําไพ ครบ 50 วัน วันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2476 ห้องสมุดเอนก นาวิกมูล)
ส่วนบันทึกที่ตีพิมพ์ในรูป จดหมายเหตุพระราชกิจรายวันนั้น นํามาพิมพ์เผยแพร่ในหนังสือจดหมายเหตุพระราชกิจรายวัน จ.ศ. 1269 (พ.ศ. 2450) แจกในงานพระราชทานเพลิงศพหม่อมเจ้ากมลปราโมทย์ เทวกุล วัดเทพศิรินทราวาส วันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2519 ดูหน้า 11-18 (ห้องสมุดเอนก นาวิกมูล ปกขาว พิมพ์เฉพาะพระนามหม่อมเจ้ากมลปราโมทย์ มีรายละเอียด เพิ่มเติมออกไปอีกเล็กน้อย)
วันอังคารที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2537 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เสด็จประพาสคลองแสนแสบโดยลงเรือพระที่นั่งหางยาวที่ท่าสะพานผ่านฟ้า ผ่านคลองมหานาค คลองบางกะปิ คลองแสนแสบ แต่ช่วงปลายไปออกแม่น้ำบางปะกงโดยใช้เส้นทางคลองท่าไข่ หนังสือพิมพ์ช่วงนั้นลงข่าวกันอย่างละเอียดยิบ ถือเป็นข่าวใหญ่
คำว่า ทุ่งแสนแสบ ในพงศาวดาร
ในพระราชพงศาวดาร ร.4 ของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขํา บุนนาค) กล่าวตอนจะขุดคลองผดุงกรุงเกษม (ขุดเมื่อ พ.ศ. 2394-2397) ว่า ร.4 ทรงมีพระราชดําริว่า สมัย ร.1 มีการขุดคลอง ทั้งในและนอกกำแพงเมือง สมัย ร.2 ก็มีการขุดคลองลัดหลังเมืองนครเขื่อนขันธ์ ครั้นถึงสมัย ร.3 โปรดเกล้าฯ ให้ “จ้างจีนขุดคลองทุ่งแสนแสบ ตลอดถึงบางขนาก” จึงทรงคิดขุดคลองใหม่บ้าง เมื่อขุดแล้วก็พระราชทานชื่อว่าคลองผดุงกรุงเกษม
ทุ่งแสนแสบในเรื่อง แสนแสบ
ไม้ เมืองเดิม หรือก้าน พึ่งบุญ ณ อยุธยา ขึ้นต้นเรื่อง แสนแสบ ไว้ดังนี้
“เมื่อตะวันบ่ายข้ามทุ่งแลท้องน้ำแสนแสบ ผ่านยอดเจดีย์หักวัดบางกะปิตกท้ายบางกอกโน้นแล้ว เพลาคาบบ่ายคาบเย็นก็มาถึง แม้เนื้อนาและกล้าเขียวของบางกะปิต้นน้ำยังอบอุ่นได้แสงตะวันอยู่ แต่นาลุ่มนาเขินแลท้ายน้ำของตําบลแสนแสบ กำลังจะเย็นเงียบเชียบ ด้วยตวันทิ้งดวงไปแล้วไกล
หัวน้ำขึ้นของเดือน 11 กุ้งปลากำลังหลากมากกับน้ำใหม่ ข้าวก็ตั้งท้องบางแห่งแก่ใกล้เกี่ยว พวกบ้านนาที่ว่างงานก็หาลำไพ่อื่นแต่ผู้ที่ขยันเป็นอย่างยอดคือเจ้าแผลง ลูกเจ้าท้ายน้ำแสนแสบ เจ้าหนุ่มคิดที่จะรวา ทรัพย์ในดินสินในน้ำด้วยบากบันมานะ เพราะมันถือว่าจน ไม่เหมือนยังเพื่อนหนุ่มอื่น
เมื่อตะเพิดควายขึ้นจากปลักต้อนเข้าคอกแล้ว ก็คว้าข้องและสวิงตรงมายัง ศาลจ้าวขวัญซึ่งปลูกอยู่ชายน้ำหว่างแสนแสบต่อบางกะปิ ด้วยกุ้งปลาชมกว่าแรงอื่น…” (จากฉบับเพลินจิตต์ฉบับกระเป๋า อันดับที่ 89 ออกเมื่อวันอังคารที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2498 หน้าปกวาดโดย เหม เวชกร ห้องสมุดเอนก นาวิกมล)
เรื่องแสนแสบใช้ฉากท้องทุ่งแสนแสบ ช่วงต่อกับทุ่งบางกะปิ
ส่วนเรื่อง “แผลเก่า” ที่แต่งก่อน ใช้ฉากทุ่งบางกะปิตอนปลายที่มาต่อกับทุ่งแสนแสบ ดังไม้ เมืองเดิมขึ้นต้นว่า
“คลองปลายน้ำ สุดฟากข้างทางซ้ายของทุ่งบางกะปิเป็นคลองเล็กแคบ แต่น้ำไหลลึก มีน้ำเดินตลอดปี…” หมายความว่าเป็นคลองตอนปลายของคลองบางกะปิ
คลิกอ่านเพิ่ม :
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 14 กันยายน 2565
The post ต้นคลองปลายคลองของ มหานาค-บางกะปิ-แสนแสบ อยู่ที่ไหน appeared first on Thailand News.