ติดตามผ่านช่อง : Siammongkol Youtube Channel

ดาวินชี VS มิเคลันเจโล การปะทะฝีมือทางศิลปะที่ถูกลืม ค้นสัมพันธ์คู่อริศิลปินเอกของโลก

ดาวินชี VS มิเคลันเจโล การปะทะฝีมือทางศิลปะที่ถูกลืม ค้นสัมพันธ์คู่อริศิลปินเอกของโลก

ในบรรดาศิลปินเอกของโลก ชื่อของเลโอนาร์โด ดาวินชี (Leonardo Da Vinci) และมิเคลันเจโล (Michelangelo) ต้องติดไปอยู่ในอันดับต้นๆ ด้วย ผลงานของพวกเขาย่อมเป็นที่รู้จักกันเป็นอย่างดี ข้อมูลอีกส่วนหนึ่งที่น่าสนใจไม่แพ้ผลงานของพวกเขาก็คือ ความสัมพันธ์ของทั้งคู่ไปจนถึงการประชันทางศิลปะที่อาจใช้เป็นองค์ประกอบสำหรับตอบคำถามอมตะแห่งโลกศิลปะว่า ใครคือศิลปินที่เหนือกว่ากันแน่

ทุกๆ วันมีผู้แย่งชิงเข้าไปเก็บภาพของตัวเองกับภาพ “โมนาลิซา” ในพิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศสจำนวนมาก ภาพวาดโดยฝีมือของดาวินชีแทบไม่ต่างจากดารานักร้องคนดังแถวหน้าของโลกจากอดีตจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าภาพวาดของดาวินชีจะผ่านยุคสมัยมาถึง 5 ศตวรรษแล้วก็ตาม แต่ในอีกที่หนึ่ง ก็มีคนจำนวนมากที่ต่อคิวเข้าชมงานศิลปะชื่อดังในเมืองฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลี ถึงภายนอกจะมีงานกราฟฟิตี้ที่มีข้อความว่า “อย่ายุ่งยากไปเลย มันก็แค่รูปปั้น” หยอกผู้สนใจชมงานศิลปะ แต่ข้อความแซวนี้ย่อมไม่ทำให้ผู้คนย่อท้อต่อการอดทนรอคอยเพื่อได้ยลรูปปั้นเดวิด ฝีมือของมิเคลันเจโล

สองศิลปินแห่งยุค “ฟื้นฟูศิลปะวิทยาการ” (Renaissance) สร้างผลงานที่ถือเป็นชิ้นงานศิลปะที่โด่งดังที่สุดในโลก (น่าจะถึงระดับตลอดกาล) หลายร้อยปีหลังจากงานศิลป์ถูกสร้างโดยศิลปินในยุคเดียวกัน เรื่องราวบางช่วงอาจไม่ค่อยได้ถูกรำลึกถึงในแง่ความเกี่ยวเนื่องกัน แต่ในความเป็นจริงแล้ว ผลงานทั้งสองนี้เป็นสิ่งสะท้อนความสัมพันธ์ของยอดศิลปินของโลกได้ไม่มากก็น้อย เนื่องจากทั้งดาวินชี และมิเคลันเจโล สร้างสรรค์ผลงานในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน โดยฝีมือของศิลปินที่ถือว่าเป็นคู่แข่งกัน

ปี 1508 เชื่อกันว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่เลโอนาร์โด ดาวินชีสร้างผลงานภาพวาดเส้นที่เขาวาดจากการชำแหละศพซึ่งเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่เขาสนใจ สิ่งนั้นคือเรื่องกายวิภาค ผลงานภาพวาดเส้นที่เขาสร้างระหว่าง 1510-1511 ละเอียดทั้งในเชิงศิลปะและในเชิงวิทยาศาสตร์ ในช่วงเวลาเดียวกัน มิเคลันเจโล บูออนาร์รอติ ศิลปินผู้กำเนิดในเมืองฟลอเรนซ์ก็กำลังปีนบันไดไม้ไปนั่งบนแผ่นกระดานนั่งร้านในโบสถ์ซิสตีนของกรุงโรม กำลังเริ่มต้นงานเขียนภาพบนเพดานหอสวดมนต์ส่วนพระองค์ของพระสันตะปาปา ว่ากันว่า เขาลงมือทำงานนี้เพียงคนเดียวโดยไล่ลูกมือออกหมด

ดาวินชี

ปี 1508 ดาวินชี อายุ 56 ปี ขณะที่มิเคลันเจโล อายุ 33 ปี ช่วงเวลานั้นเป็นยุครุ่งเรืองแห่ง “เรอเนซองส์” โจนาธาน โจนส์ นักเขียนที่ศึกษาค้นคว้าข้อมูลเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของศิลปินเอกแห่งโลกผ่านหลักฐานที่ยังหลงเหลือมาถึงมือคนยุคศตวรรษที่ 20 แสดงความคิดเห็นว่า การประจันหน้าของศิลปินทั้งสองเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ศิลปะคลาสสิกแบบใหม่ก้าวเข้าสู่ความเกรียงไกรขั้นสูงสุด ช่วงรุ่งเรืองแห่งยุคเรอเนซองส์คือ 1504 ถึง 1520

ดาวินชี เกิดที่เมืองวินชี เมืองเล็กๆ ใกล้ฟลอเรนซ์ บิดาของเขาคือ แซร์ปิแอโร ดาวินชี เป็นเสมียนตราที่มีฐานะดี สกุลของเขาเป็นที่นับถือในท้องถิ่น ในสังคมแบบศักดินาในศตวรรษที่ 15 ตระกูลดาวินชี มีธุรกิจในเมืองและทำไร่ในชนบท สันนิษฐานกันว่าเขาเติบโตในบรรยากาศแบบการทำไร่ ไม่ว่าจะเติบโตในบ้านของพ่อเลี้ยง หรือที่บ้านของปู่ในวินชี ในบรรยากาศแบบการเกษตร เขาคลุกคลีอยู่กับสัตว์และพืช ผลงานยุคแรกของเขาอาจพอทำให้เห็นได้ว่า เขาน่าจะชอบม้าเป็นพิเศษ สมุดภาพของเขามีภาพสเกตช์เป็นภาพศึกษาม้าสวยๆ อยู่จำนวนมาก เลโอนาร์โด เดินทางสู่ฟลอเรนซ์ ประมาณกลางทศวรรษ 1460 มาฝึกงานกับประติมากรชื่ออันเดรอา แดล แวร์รอคคิโอ

วาซารี นักเขียนชีวประวัติยุคแรกๆ บรรยายในชีวประวัติของดาวินชีที่ตีพิมพ์เมื่อปี 1550 แหล่งข้อมูลนี้เป็นจุดเดียวที่บอกว่า พ่อของเลโอนาร์โด เป็นผู้ฝากเข้าฝึกงาน

เมื่อดาวินชี อายุ 20 ปีก็เริ่มสมัครเข้าสมาคมช่างเซนต์ลุค และกลายเป็นจิตรกรเต็มตัว ช่วงเวลานั้น เลโอนาร์โด ดาวินชี ทำให้คนเห็นแล้วว่าฝีมือเขาล้ำหน้าเกินครูไปแล้ว หากพิจารณาจากผลงาน “พระคริสต์ทรงศีลล้างบาป” (Baptism of Christ) ปี 1470-1475

เอกสารทางการเล่าว่า ตอนเขียนภาพนี้ เลโอนาร์โด อาศัยอยู่กับแวร์รอคคิโอ ระหว่างที่อาศัยก็ช่วยเขียนภาพนี้ ซึ่งคนที่เข้าชมภาพในหอศิลป์อุฟฟิซีในฟลอเรนซ์ จะเห็นลักษณะการแยกส่วนของภาพ สไตล์ของแวร์รอคคิโอ ออกมาแข็ง มองเห็นกล้ามเนื้อ แต่ขาดชีวิต ขาดความโลดแล่น เมื่อมาเทียบกับภาพทูตสวรรค์ด้านข้างตรงด้านซ้ายของภาพแล้ว ใบหน้าของทูตเปล่งปลั่ง เนื้อหนังมังสาอ่อนนุ่ม วาซารี นักเขียนชีวประวัติบรรยายว่า หลังงานนี้เสร็จ แวร์รอคคิโอ หันมาทำงานประติมากรรม และถึงกับเลิกเขียนรูปไปเลย

ภาพ Baptism of Christ โดยแวร์รอคคิโอ และดาวินชี

สกุลดาวินชี เป็นสกุลที่มีฐานะและเป็นที่นับหน้าถือตาทีเดียว แซร์ปิแอโร ดาวินชี พ่อของดาวินชีเลือกให้บริการงานเอกสารต่างๆ แก่กลุ่มศาสนาของเมือง ซึ่งแน่นอนว่ากลุ่มนี้ไม่ค่อยได้รับผลกระทบจากความผันผวนทางการเมือง ทำให้แซร์ปิแอโร มีสายสัมพันธ์ที่ดีในศาสนจักรหลายนิกาย ซึ่งหลายนิกายที่แซร์ปิแอโร ดาวินชี รู้จักก็เป็นผู้จ้างให้เลโอนาร์โด ดาวินชี สร้างงานศิลปะให้ในภายหลัง

การพบกับมิเคลันเจโล

ดาวินชี เดินทางออกจากฟลอเรนซ์ เมื่อ 1482 ช่วงนั้นมิเคเล อันยอลโล ดิ โลโดวิโค บูออนาร์รอตี ยังอายุ 7 ขวบอาศัยอยู่ในครอบครัวช่างก่อหินที่เหมืองหินอ่อนในเซตตินยาโน เมื่อเลโอนาร์โด ดาวินชี กลับมาที่ฟลอเรนซ์ อีก 8 ปีหลังจากนั้น มิเคลันเจโล ก็กลายเป็นศิลปินหนุ่มดาวรุ่งที่มีชื่อเสียงแล้ว โดยมิเคลัน เริ่มต้นจากเป็นลูกมือฝึกงานของโดเมนิโค กีร์ลันดาโย ระหว่าง 1488-1491 งานของเขาสร้างชื่อเสียงให้ตัวเองอย่างรวดเร็ว เช่น คิวปิด (Cupid) หินอ่อน

นักประวัติศาสตร์ตั้งข้อสังเกตว่า ทั้งคู่อาจพบกันครั้งแรกเมื่อ 1500 หรือ 1501 ส่วนรูปปั้นเดวิด อันลือชื่อของมิเคลันเจโล น่าจะเริ่มต้นสร้างในช่วงกลางปี 1501 โดยอ้างอิงจากสัญญาที่ได้ทำไว้และมีเงื่อนไขส่งมอบงานใน 2 ปี แต่ต้องถึงปี 1503 ประติมากรรมอันยิ่งใหญ่ถึงจะเป็นรูปร่างขึ้น หากยึดตามข้อมูลของวาซารี นักเขียนชีวประวัติ เขาบรรยายว่า ระหว่างนั้น เลโอนาร์โด ดาวินชี ก็เริ่มลงมือวาดภาพเหมือนของลิซา แดล โจคอนโด (ภายหลังรู้จักกันในชื่อภาพโมนาลิซา)

รูปปั้นเดวิด ของมิเคลันเจโล ไม่ใช่ประติมากรรมขนาดมหึมาชิ้นแรกในอิตาลียุคเรอเนซองส์ แต่เป็นประติมากรรมขนาดใหญ่ชิ้นแรกที่ทำเสร็จสมบูรณ์ และยังมีส่วนเกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ระหว่างเขากับเลโอนาร์โด แบบศิลปินที่ “ไม่ชอบหน้ากัน”

ม้าสัมฤทธิ์ในยุคเรอเนซองส์

ในอิตาลียุคเรอเนซองส์ เหล่าศิลปินฟื้นฟูประเพณีปั้นรูปคนขี่ม้าขึ้นมาใหม่ พวกเขาอยากเลียนแบบฝีมือของกรีกและโรมันโบราณ ว่ากันว่า การหล่อม้าขนาดเท่าจริงเป็นงานที่ท้าทาย โดยเฉพาะเรื่องปั้นให้สมจริงและงดงามยิ่งยากเย็นอีกขั้นหนึ่ง เกร็ดเล็กน้อยที่พอจะเสริมได้คือ แวร์รอคคิโอ ครูของเลโอนาร์โด หลังเลิกวาดรูปหันมาทำประติมากรรมหลังจบงาน “พระคริสต์ทรงศีลล้างบาป” ก็ยังรับทำงานหล่ออนุสาวรีย์คนขี่ม้าสัมฤทธิ์แข่งกับดอนาแตลโล ที่ทำผลงานในช่วงเวลาใกล้เคียงกันด้วย

ฝั่งเลโอนาร์โด ก็ยังเคยเขียนจดหมายไปของานทำจากประมุขของมิลานช่วงต้นทศวรรษ 1480 ในจดหมายนี้ถือกันว่าเป็นครั้งแรกที่ดาวินชี อวดอ้างสรรพคุณตัวเองหลากหลายฐานะ ทั้งนักวิทยาศาสตร์ วิศวกร โดยเฉพาะด้านวิทยาศาสตร์การทหาร เนื่องจาก ลูโดวิโค สฟอร์ซา ที่ครอบครองมิลานในเวลานั้นเป็นผู้โปรดปรานศิลปะ ลูโดวิค เป็นบุตรของฟรันเชสโก สฟอร์ซา หนึ่งในทหารที่เก่งกาจและว่ากันว่าน่าหวาดหวั่นที่สุดในอิตาลียุคต้นศตวรรษที่ 15 เรียกได้ว่า มิลานเป็นเมืองทหาร เลโอนาร์โด จึงเชื่อว่าลูโดวิโค น่าจะสนพระทัยเรื่องสงคราม

เลโอนาร์โด ได้ทำงานออกแบบม้าโลหะจริง เขามาอยู่ในมิลานนานกว่า 6 ปี แต่หลังจากรับงานมาแล้วหลายปี งานม้าสัมฤทธิ์ก็ยังไม่ก้าวหน้า ต้นแบบที่เลโอนาร์โด เขียนเป็นม้าผงาดพุ่งตัวไปข้างหน้า ยืนด้วยขาหลัง ถึงจะมีศิลปินเข้ามาสมทบช่วยงาน แต่งานปั้นม้ายืนขาหลังในขนาดมหึมาในยุโรปต้องรอให้ถึงศตวรรษที่ 16 และ 17 ก่อนจึงจะทำได้สำเร็จ แต่ขณะนั้นเลโอนาร์โด ทุ่มเททำงานสร้างม้าอย่างมาก สามารถสร้างหุ่นจำลองเป็นดินเหนียวขนาดยักษ์ (แต่ก็ยังเป็นหุ่นจำลองเท่านั้น)

นอกจากนี้ สัมฤทธิ์ที่จัดหาไว้สำหรับปั้น ก็ยังถูกส่งให้พระญาติของลูโดวิโค เพื่อหล่อชิ้นส่วนยุทโธปกรณ์เพื่อเตรียมป้องกันเมืองจากฝรั่งเศส แต่จนกระทั่งฝรั่งเศสเข้ามายึดมิลานในปี 1499 เลโอนาร์โด ต้องเดินทางออกมาจากเมือง การสร้างม้าก็ยังไม่สำเร็จ หุ่นจำลองดินเหนียวของเลโอนาร์โด กลายเป็นเป้าประลองธนูของชาวกัสกอง หลังจากที่ลูโดวิโค สฟอร์ซา ถูกโค่นล้มและต้องออกจากเมืองในปี 1500

แต่หลังจากนั้น ช่างทำเกราะชาวมิลานก็ยังจารึกภาพหุ่นม้าไว้บนแผงเกราะ เกราะที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ที่ฟลอเรนซ์ก็ยังเป็นตำนานเล่าขานถึงความมุ่งมั่นของเลโอนาร์โด แต่ในขณะเดียวกันก็ยังตอกย้ำคำถามเรื่องนิสัยแปลกๆ ที่ทิ้งงานค้างคาไว้ แม้แต่ซิกมันด์ ฟรอยด์ นักจิตวิทยาชื่อดังยังเขียนวิเคราะห์เกี่ยวกับเรื่องนี้ในหนังสือเมื่อปี 1910

“ความเป็นอริ” ระหว่างสองศิลปิน

แต่แล้วเรื่องราวการสร้างม้าสัมฤทธิ์นี้กลับถูกมองว่ากลายเป็นหนึ่งในชนวนสำคัญที่ทำให้เลโอนาร์โด และมิเคลันเจโล ไม่ถูกกันซึ่งจะกล่าวถึงต่อไป อีกหนึ่งชนวนที่ถูกวิเคราะห์กันนั้นมาจากช่วงการประชุมกรรมการสมัยวิสามัญที่ฟลอเรนซ์ เมื่อวันที่ 25 มกราคม 1504

การประชุมนี้มีคนใหญ่คนโตในช่วงเวลานั้นเข้าร่วมจำนวนมาก จัดขึ้นเพื่อหารือลงมติเรื่อง “ที่ที่เหมาะสมและยอมรับได้” ที่จะตั้งรูปปั้นเดวิด มนุษย์หินอ่อนขนาดใหญ่ (ในสมัยนั้น) ของมิเคลันเจโล

ในเอกสารรายงานการประชุมที่จดอย่างละเอียดมีบันทึกความเห็นของเลโอนาร์โด เรื่องสถานที่ตั้งเดวิดว่า “ข้าพเจ้าว่าควรจะตั้งไว้ในระเบียงหลังคา” ลอจเจีย เดอี ลันซี ตรงข้ามกับปาลัซโซ เวคคิโอ “ตามที่จูลิอาโน บอกไว้ หลังกำแพงเตี้ยๆ ที่ทหารเข้าแถว ควรตั้งไว้ตรงนั้น พร้อมด้วยการตกแต่งตามควร ในลักษณะที่จะไม่เข้ามายุ่งกับพิธีการต่าง”

แม้จะมีผู้เห็นด้วยคือจูลิอาโน ดา ซังกัลโล แต่ถ้ามองภาพรวมแล้วก็ขัดกับทรรศนะทั่วไป ชาร์ลส นิโคลล์ ผู้เขียนหนังสือประวัติดาวินชี วิเคราะห์ว่า มันเป็นการแสดงความไม่ชอบใจ ชาร์ลส ใช้คำว่า “เป็นการตั้งใจปฏิเสธว่าไม่เห็นน่าประทับใจอะไร ให้เอารูปปั้นขนาดมหึมานี้ไปตั้งหลบมุมที่จะไม่เข้ามาขวางทาง”

รูปปั้น เดวิด โดยมิเคลันเจโล

โจนาธาน โจนส์ ผู้สืบค้นเหตุการณ์ความขัดแย้งระหว่างศิลปินทั้งสองบรรยายเหตุการณ์ไว้ใกล้เคียงกันว่า ถ้อยคำของดาวินชี ไม่ได้แสดงความชื่นชมในตัวมิเคลันเจโล หรืองานของเขามากนัก และยังอธิบายว่า เลโอนาร์โด เสริมว่า รูปปั้นควรจะมี “เครื่องตกแต่งให้สุภาพ” (Ornament Decente)

การกล่าวของเลโอนาร์โด หมายถึงการเรียกร้องให้รูปปั้นเดวิดมีเครื่องตกแต่งให้สุภาพ อวัยวะเพศควรปกปิดไว้ไม่ให้อุจาดตา หากนึกถึงข้อเรียกร้องนี้แล้วอาจรู้สึกขัดกับงานที่ผ่านมาของเลโอนาร์โด ซึ่งเคยชำแหละร่างกายศพ วาดรูปการรบที่มีผู้ชายขี่ม้าและแสดงถึงลักษณะอวัยวะเพศแข็งตัว อย่างไรก็ตาม ไม่มีใครในที่ประชุมคล้อยตามความคิดของเลโอนาร์โด

อีกหนึ่งเหตุผลที่เชื่อว่าทำให้เลโอนาร์โด ไม่ประทับใจคือ รูปเดวิด ในฟลอเรนซ์ สมัยก่อนหน้าที่ปั้นโดยแวร์รอคคิโอ อาจารย์ของเขา ซึ่งว่ากันว่า เลโอนาร์โด เป็นแบบให้ในช่วงวัยรุ่นถูกเดวิด ชิ้นใหม่บดบังภาพความหนุ่มแน่นไป แต่นี่ย่อมเป็นข้อสังเกตเท่านั้น ขณะเดียวกันความคิดเห็นของเลโอนาร์โด เรื่องที่ตั้งของเดวิดก็ไม่ถูกดำเนินการด้วย

อนุทินของลูคา ลันดุชชี บันทึกเรื่องของการขนย้ายไว้ว่า รูปเดวิดถูกเคลื่อนย้ายจากแผนกก่อสร้างมาตั้งบนแท่นนอกประตูใหญ่ของปาลัซโซ เวคคิโอ ในวันที่ 14 พฤษภาคม 1504 และตั้งตรงนั้นอีกหลายศตวรรษ ปัจจุบันมีรูปจำลองในศตวรรษที่ 19 ตั้งอยู่ เดวิดถูกนำมาวางแทนที่รูป “จูดิธ” ฝีมือดอนาแตลโล ชาร์ลส มองว่า จุดนี้อาจเป็นช่วงที่ทำให้เกิดบรรยากาศความเป็นอริของศิลปินทั้งสองควบคู่ไปกับเหตุการณ์ที่ปะทุขึ้นในที่สาธารณะซึ่งเล่าลือกันมายาวนาน

ย้อนกลับไปเล็กน้อย ในวันที่ 4 พฤษภาคม 1504 ไม่กี่วันก่อนที่เดวิด ของมิเคลันเจโลจะถูกย้าย ดาวินชีไปพบนิคโคโล มาเคียเวลลี ผู้เขียนหนังสืออันลือลั่นอย่าง The Prince ดาวินชี ต้องไปชี้แจงเรื่องที่เขาได้รับว่าจ้างให้เขียนฉากการรบในอาคารมหาสมาคมเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา เวลาผ่านไป 6 เดือนแล้วแต่เขายังวาดภาพร่างขนาดเท่าจริงไม่เสร็จเลย มาเคียแวลลี เซ็นสัญญาใหม่ในนามสาธารณรัฐ พยายามบังคับใช้กำหนดเวลาในการทำงาน

การว่าจ้างครั้งนี้คือการประลองแข่งขันระหว่างศิลปินเอกของโลกนั่นเอง

ยุทธศิลป์ของศิลปินโลก

เมื่อ 1503 เลโอนาร์โด ดาวินชี ได้รับว่าจ้างให้เขียนภาพฝาผนังถ่ายทอดเรื่องราวศึกอังกิอารี (The Battle of Anghiari) ในโถงอาคารมหาสมาคมของปาลัซโซ เวคคิโอ ในฟลอเรนซ์ เอกสารหลักฐานสัญญาการว่าจ้างไม่หลงเหลืออีกแล้ว แต่เชื่อได้ว่า น่าจะว่าจ้างราวเดือนตุลาคม 1503 เนื่องจากมีหลักฐานว่าเลโอนาร์โด ได้รับกุญแจโรงทานที่ไม่ได้ใช้งานแล้ว ซึ่งคาดว่าเป็นการมอบพื้นที่ให้เขาสำหรับทำงานวาดภาพลายปรุขนาดมหึมาที่จะใช้เป็นแบบสำหรับเขียนผนัง

ดังที่เกริ่นไว้ข้างต้นแล้วว่า หลังจากได้รับว่าจ้างให้เขียนฉากการรบ ดาวินชี ทำงานล่าช้า

วิธีการเร่งรัด หรือการลงโทษแบบฉบับรัฐ (ตามแบบมาเคียเวลลี) อีกแบบหนึ่งคือ ขณะที่เลโอนาร์โด กำลังวาดภาพอยู่ ปี 1504 มิเคลันเจโล ก็ได้รับเชิญให้เขียนภาพศึกคัสซินา (The Battle of Cascina) ในห้องโถงแห่งเดียวกัน โดยต้องไปวาดภาพอีกด้านของผนังเดียวกับที่เลโอนาร์โดวาด ความต้องการในการวาดภาพแรกเริ่มนี้มาจากบัญชาของปิแอโร โซแดรินี ประมุขแห่งสาธารณรัฐ เรียกได้ว่าเขาเป็นผู้จุดชนวนการแข่งขันก็ว่าได้

แต่เรื่องที่สร้างสีสันให้กับชนวนความเป็นอรินี้มาจากเอกสารบันทึก “กัดดิอาโนนิรนาม” ที่เขียนไว้สั้นๆ เป็นส่วนหนึ่งของประวัติของเลโอนาร์โด บันทึกเล่าว่า

“เลโอนาร์โดกำลังเดินทางอยู่กับ พี. ดา กาวีเน (เพื่อนคนหนึ่ง) ผ่านไปทาง (ปิอัซซา) ซานตา ตรินิตา และพวกเขาผ่านปันคัชชา เดลยี สปินิ ซึ่งมีคนมาชุมนุมโต้เถียงเกี่ยวกับข้อความในดานเต พวกเขาร้องเรียกเลโอนาร์โดคนดังกล่าว ขอให้ช่วยอธิบายข้อความให้ฟัง ณ จุดนั้น มิเคเล อันยอโล บังเอิญผ่านมาพอดี

และเลโอนาร์โดสนองคำขอของพวกเขาโดยบอกว่า ‘นั่นไง มิเคเล อันเยโล เขาจะอธิบายให้ฟังเอง’ ได้ยินดังนั้น มิเคเล อันยอโล ก็นึกว่าเขาพูดเพื่อหยามน้ำหน้าเขา จึงตอบอย่างโกรธๆ ว่า ‘อธิบายไปเองสิ ท่านเป็นคนออกแบบม้าจะหล่อด้วยสัมฤทธิ์ แล้วหล่อไม่ได้ เลยอายจนต้องเลิกทำไป’ ว่าแล้วเขาก็หันหลังเดินจากไป ทิ้งเลโอนาร์โดอยู่ตรงนั้น หน้าแดงเพราะคำสบประมาทนี้”

หากพิจารณาตามเรื่องเล่านี้ เชื่อว่า เหตุการณ์ต่อปากต่อคำระหว่างทั้งสองเกิดหน้าร้านแฟชั่นหรูชื่อ “ซัลวาตอเร แฟร์รากาโม” (ในยุคปัจจุบัน) แต่เอกสารนี้ไม่ได้ระบุวันที่เกิดเหตุ ชาร์ลส นิโคลล์ สันนิษฐานว่าอาจเกิดระหว่างต้นปี 1501 (เมื่อมิเคลันเจโลกลับจากโรม) และฤดูร้อนปี 1502 (เมื่อเลโอนาร์โดออกจากฟลอเรนซ์ไปอยู่กับบอร์จา) หรือระหว่างเดิน 1503 ที่เลโอนาร์โดกลับมาฟลอเรนซ์ และต้นปี 1505 ที่มิเคลันเจโล ไปจากโรม แต่เชื่อว่า การทะเลาะครั้งนี้เกิดในต้นปี 1504 อันเป็นช่วงฤดูใบไม้ผลิที่เหมาะเจาะสำหรับบรรยากาศคนออกมาเดินเที่ยวเล่นมากกว่า

การประชันทางศิลปะครั้งนี้เป็นที่รับรู้กันในวงการศิลปะ และเคยปรากฏในสื่อบันเทิงสมัยใหม่บ้างแต่อาจไม่กระจายในวงกว้าง

การทำงานเขียนฉากรบ

ศึกอังกิอารี ที่เลโอนาร์โด จะวาด เป็นเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ที่น่าภูมิใจของฟลอเรนซ์ ในฐานะการรบที่ชาวฟลอเรนซ์ปกป้องอธิปไตยของบ้านเมืองจากมิลานโดยทั้งสองฝ่ายรบกันดุเดือด นายพลนิคโคไล ปิชชินิโน ซึ่งถือเป็นผู้บัญชาการที่เก่งกล้าบุกฟลอเรนซ์ แต่ขบวนทัพแตกพ่ายกลับไป ทิ้งเกราะ อาวุธ และธงเกลื่อนกลาด พ่ายแพ้อย่างหมดรูป

ดาวินชีเริ่มจากสเกตช์ภาพขนาดเล็กๆ ก่อน แล้วขยายวงเป็นการรบใหญ่

ภาพวาดเส้นขนาดใหญ่โดยปีเตอร์ พอล รูเบนส์ คัดลอกภาพวาดศึกอังกิอารี ฝีมือเลโอนาร์โด ดาวินชี คัดจากภาพเลียนแบบเก่าภาพหนึ่ง (ภาพจาก Wikimedia Commons)

ขณะที่มิเคลันเจโล รับทำอีกซีกหนึ่งของห้องมหาสมาคม มีเอกสารลงวันที่ 22 กันยายน 1504 ซึ่งเขาได้รับอนุญาตให้ใช้พื้นที่ขนาดใหญ่ในสตูดิโอ เช่นเดียวกับที่เลโอนาร์โด เคยได้รับอนุญาตในปีก่อนหน้า

เดือนกุมภาพันธ์ปีต่อมา มิเคลันเจโล ได้รับค่าจ้าง 280 ลีร์ เป็นค่าแรงในการวาดภาพลายปรุ ไม่มีข้อมูลแน่ชัดว่าเขาได้รับเงินนานเท่าใด แต่เมื่อเปรียบเทียบกับค่าจ้างของดาวินชีแล้วถือว่าดีกว่าทีเดียว โดย 280 ลีร์เทียบได้ประมาณ 40 ฟลอริน มากกว่าค่าจ้างที่เลโอนาร์โด ได้รับ โดยดาวินชี รับเงิน 15 ฟลอรินต่อเดือน

มิเคลันเจโล ศึกษาหาข้อมูลจาก “ประวัติศาสตร์ฟลอเรนซ์” (History of Florence) สงครามคัสซินา เป็นส่วนหนึ่งของการรบระหว่างสาธารณรัฐฟลอเรนซ์ กับปิซา ที่ดำเนินมายาวนาน เลโอนาร์โด บรูนี เล่าว่า กองทัพฟลอเรนซ์ ตั้งค่ายที่คัสซินา ช่วงปลายฤดูร้อนปี 1364

“อากาศร้อนจัด และทหารจำนวนมากไม่ได้ถืออาวุธ บ้างก็นอนอยู่ในเต็นท์ บ้างก็ลงอาบน้ำในแม่น้ำใกล้ๆ ขณะนั้นไม่มีใครนึกถึงหรือใส่ใจกับข้าศึกเลย อยู่ๆ ข้าศึกก็ฝ่าแนวป้องกันมาไม่ทันรู้ตัว หวังจะยึดค่ายให้ได้ และเอาชนะที่ไร้อาวุธที่กำลังพักผ่อนตามสบาย…ชาวฟลอเรนซ์ผนึกกำลังทุกแห่ง…และไม่พอใจเพียงแค่ป้องกันค่ายไว้ได้ แต่ยังถาโถมกำลังใส่ข้าศึกจนแตกร่นไป”

ภาพเขียนโดยบาติสตา ดา ซังกัลโล เป็นภาพคัดลอกที่สมบูรณ์ที่สุดของภาพศึกคัสซินา โดยมิเคลันเจโล แสดงให้เห็นทหารกำลังสวมเสื้อผ้าขณะเกิดเหตุแบบไม่ทันตั้งตัว

แต่พงศาวดารมีรายละเอียดต่างจากนี้ ฉบับที่วิลลานี เขียนบอกว่า กองทัพฟลอเรนซ์แค่ถูกนายทหารฝ่ายเดียวกันทดสอบโดยแกล้งเตือนภัยเพื่อให้ทหารหายเฉื่อยชา

แต่ไม่นานหลังจากนั้น มิเคลันเจโล ต้องเดินทางไปโรมเพื่อหารือเรื่องโครงการสร้างสุสานของจูเลียสที่ 2 และไม่มีหลักฐานว่าเขากลับมาทำอะไรที่มหาสมาคมอีก ภาพปรุก็หายไป ไม่มีหลักฐานที่บอกได้ว่าเขาวาดภาพจริงหรือไม่ อย่างไร สิ่งที่เหลือมีแค่ภาพฉบับคัดลอกอย่างดีที่ฮอลคุมฮอลล์ นอร์โฟล์ก ที่อยู่ของบรรดาเอิร์ลแห่งเลสเตอร์ และเป็นที่เก็บสมุดบันทึกของเลโอนาร์โด ดาวินชี

ส่วนทางเลโอนาร์โด ไม่มีบันทึกเกี่ยวกับปฏิกิริยาเกี่ยวกับคำท้าทาย สันนิษฐานว่า เขาเดินทางออกจากฟลอเรนซ์ในเดือนกันยายนหรือตุลาคม 1504 การเดินทางเกิดขึ้นในช่วงที่มีว่าจ้างมิเคลันเจโล ให้วาดภาพครึ่งหนึ่งในห้องมหาสมาคม การว่าจ้างนี้อาจมีส่วนทำให้เขาโกรธจนต้องเดินทางออกไปก็ได้
ช่วงเวลานี้เชื่อว่าเขาน่าจะเขียนภาพลายปรุเสร็จแล้ว โดยมีบันทึกว่าเขาได้รับค่าจ้างเมื่อเดือนกรกฎาคม แต่ยังไม่ได้ลงมือเขียนภาพในปาลัซโซ เวคคิโอ กระทั่งสัปดาห์แรกๆ ของปี 1505 แต่บางแห่งว่าไว้ว่า เดือนธันวาคมปี 1504 เลโอนาร์โด เริ่มงานในระยะสำคัญคือลงมือเขียนภาพจริงจากภาพลายปรุลงบนผนังห้องมหาสมาคม โดยพิจารณาจากหลักฐานการจ่ายเงินของแผนกก่อสร้างที่จ่ายค่าจ้างให้ผู้มาส่งของเป็นค่าตะปูและผ้าปิดหน้าต่างในช่วงที่เลโอนาร์โดทำงาน

ในช่วงระหว่างความเป็นอริกัน ศิลปินทั้งสองก็แข่งขันชิงดีชิงเด่นอย่างเป็นระบบ มีวิจารณ์กันผ่านข้อความสั้นๆ ตัวอย่างเช่นดาวินชี วิพากษ์ภาพที่แสดงรูปลำตัวคนที่มีกล้ามเป็นมัดเกินเหตุ และประฌามศิลปะที่เหมือนเดินในแนวทางตามลักษณะของมิเคลันเจโล ว่า “..จงระวังเรื่องกระดูก เส้นเอ็น และกล้ามเนื้ออย่างที่สุด ซึ่งทำให้เธอกลายเป็นจิตรกรที่เขียนภาพแข็งทื่อเหมือนท่อนไม้”

ข้อความสั้นๆ ที่เอ่ยถึงข้างต้นมีเนื้อหาว่า “เราไม่ควรทำให้กล้ามเนื้อของร่างกายเห็นชัดเจนเกินไป นอกจากว่าแขนขาที่มีกล้ามเนื้อนั้นๆ จะอยู่ในท่าที่ออกแรงหรือใช้พละกำลังอย่างใหญ่หลวง…” เชื่อว่า นี่อาจเป็นข้อความแขวะลักษณะคนที่เต็มไปด้วยกล้ามเนื้อในภาพลายปรุเรื่องศึกคัสซินา ของมิเคลันเจโล

ดาวินชี วิจารณ์ความพยายามในการแสดงอารมณ์ต่างๆ ที่ไม่ได้แสดงผ่านใบหน้าแต่เป็นร่างกาย เขาทำให้เห็นความปรารถนาผ่านเนื้อหนังมังสาในแผ่นหลังของผู้ชาย แต่การแสดงออกผ่านกล้ามเนื้อนี้ ดาวินชี ชี้ว่า “แข็งเหมือนท่อนไม้”

ภาพเหมือนรูปลิซา แดล โจคอนโด ผู้หญิงที่เหมือนมีรอยยิ้มในท่านั่งเอี้ยวตัวบนเก้าอี้ บิดตัวด้วยท่าสบายแต่ดูสง่าจนแทบไม่มีใครสังเกตว่าบิดตัว (แต่มิเคลันเจโลสังเกตได้) เป็นเสมือนคำตอบอีกแบบของดาวินชี

ภาพวาด “โมนาลิซา” โดยเลโอนาร์โด ดาวินชี

แต่เมื่อมาถึงภาพจริง นั่นคือสิ่งที่ไม่มีหลักฐานหลงเหลือมาเช่นกัน ไม่พบการเขียนจริงที่หลงเหลือมาในปัจจุบัน และภาพปูนเปียกก็ทำไม่แล้วเสร็จ ส่วนที่เชื่อว่าเป็นการวาดอยู่ตอนกลางขนาดใหญ่ก็เลือนหายไปนานไม่อาจพิสูจน์ได้ และหากมีจริง ภาพเหล่านี้ก็กลายเป็นสิ่งที่อยู่ใต้ภาพวาดปูนเปียกในต้นทศวรรษ 1560 โดยจอร์โจ วาซารี หากจินตนาการในความเป็นจริงแล้ว วาซารี คงไม่มีทางวาดภาพทับภาพฝีมือเลโอนาร์โดที่อยู่ในสภาพดี ผู้ศึกษาประวัติศาสตร์ศิลป์จึงพอจะอนุมานได้ 2 ทางว่า วาซารี เห็นว่าไม่มีอะไรเหลือให้ควรเก็บรักษาอีกแล้ว หรือเขาทำเพื่อปกป้องสิ่งที่เหลืออยู่ก่อนจะวาดภาพปิดทับไว้ (บางกลุ่มเชื่อว่าภาพปูนเปียกยังเห็นได้ในช่วง 1549)

ย้อนกลับไปในช่วงปี 1512 มีบันทึกว่า ตระกูลเมดิชีกลับเข้ามาสู่อำนาจในฟลอเรนซ์อีกครั้ง แต่สงครามในการชิงอำนาจกลับมานั้นมีการโจมตีทำให้อาคารเสียหาย หลังจากการโจมตีตัวอาคาร 5 เดือน จึงมีเอกสารบันทึกเรื่องการสร้างกรงไม้ล้อมภาพจิตรกรรมของเลโอนาร์โด(ที่ยังไม่เสร็จ) เพื่อป้องกันทหารที่ดื่มจนเมามาย เอกสารลงวันที่ 30 เมษายน 1513

อย่างไรก็ตาม หากต้องการเห็นว่าภาพวาดศึกอังกิอารี หรือบางส่วนของภาพหน้าตาเป็นอย่างไร สามารถดูได้จากภาพคัดลอกช่วงแรกๆ หลายภาพ ขณะเดียวกันก็พอมีหลักฐานให้เห็นว่า มีปัญหาเทคนิคในการวาดภาพปูนเปียกอังกิอารี อันโตนิโอ บิลลี เขียนเล่าไว้เมื่อ 1520 ว่า สีเขียนไม่ติด บันทึกระบุคำคาดการณ์สาเหตุว่า “…เขาถูกหลอกให้ใช้น้ำมันลินสีดซึ่งปลอมปน”

ช่วงปลายยุค 70s เคยมีนักวิทยาศาสตร์ชาวอเมริกันใช้เครื่องมือสร้าง “แผนที่ความร้อน” ของวัสดุที่อยู่ใต้ผิว ผลที่ได้ทำให้ตื่นเต้นได้บ้าง แต่ข้อมูลนี้ก็ไม่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางนัก เรื่องก็ชะงักไป

ถึงผลงานในการเขียนของทั้งคู่จะสูญสลายไปตลอดกาล แต่คนรุ่นหลังยังพอเห็นเค้าลางจากภาพคัดลอกจากต้นฉบับ ขณะเดียวกันการแข่งขันและความรู้สึก “ไม่ชอบหน้า” กันระหว่างศิลปินทั้งคู่ยังแสดงให้เห็นถึงการแข่งขันกันอย่างเป็นระบบ วิจารณ์กันและยังศึกษาเรียนรู้จากอีกฝ่าย ดังเช่นภาพสเกตช์ขนาดเล็กชิ้นหนึ่งที่วินด์เซอร์ ซึ่งมีลักษณะคล้ายภาพของเดวิด เป็นภาพโดยเลโอนาร์โด เชื่อกันว่าเป็นภาพวาดเส้นฝีมือของเขาภาพเดียวที่ยังหลงเหลือมาที่เห็นได้ชัดว่าวาดตามงานศิลปะร่วมสมัย ศัพท์ศิลปะเรียกกันว่า “เขียนแบบเดวิด”

เห็นได้ว่า อย่างน้อยยุทธศิลป์ของทั้งคู่ยังพอมีลักษณะ “การเรียนรู้จากศิลปะของผู้อื่น” อันเป็นหลักสำคัญเก่าแก่ในทางศิลปะ หลักนี้ไม่มีจำกัดว่าห้ามใช้กับเรื่องอื่น ถ้าลองประยุกต์ใช้กับเรื่องอื่นๆ ก็น่าจะเป็นผลดีอยู่บ้างไม่มากก็น้อย

อ้างอิง:

โจนส์, โจนาธาน. มหายุทธศิลป์ ศึกศิลปินโลก. นพมาส แววหงส์ แปล. กรุงเทพฯ : มติชน, 2555

นิโคลล์, ชาร์ลส. เลโอนาร์โด ดา วินชี วิถีอัจฉริยะ. นพมาส แววหงส์ แปล. กรุงเทพฯ : มติชน, 2551

Jones, Jonathan. “Leonardo or Michelangelo: who is the greatest?”. The Guardian. Published 30 MAR 2010. Access 30 JUL 2019.

เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 31 กรกฎาคม 2562

Source: https://www.silpa-mag.com/

The post ดาวินชี VS มิเคลันเจโล การปะทะฝีมือทางศิลปะที่ถูกลืม ค้นสัมพันธ์คู่อริศิลปินเอกของโลก appeared first on Thailand News.