ติดตามผ่านช่อง : Siammongkol Youtube Channel

ไป่เยว่ : บรรพบุรุษของชนชาติไทเท่านั้นหรือ?

ไป่เยว่ : บรรพบุรุษของชนชาติไทเท่านั้นหรือ?

เรื่องราวของคนไท-คนไทย ยังคงได้รับความสนใจอยู่ตลอด จากนักวิชาการหลายฝ่ายที่พยายามสืบค้นเบาะแสหลักฐานทั้งทางวัตถุ ภาษา วัฒนธรรม ความเชื่อ ที่แม้จะเป็นช่วงเวลาที่ล่วง เลยมานานเป็นพันๆ ปี ถูกครอบงำโดยวัฒนธรรม ที่แข็งแกร่งกว่า แต่อย่างน้อยก็น่าจะหลงเหลือบาง สิ่งที่บ่งบอกถึงถิ่นที่มานั้นๆ

แล้วคนไทยมาจากไหน มีบรรพบุรุษเป็นใครกันแน่? เพื่อไขข้อข้องใจเรื่องราวเกี่ยวกับไท-ไทยทั้งหลาย วิทยสถานแห่งวัฒนธรรมตะวันออก หรือ O.C.A. จึง จัดงานประชุมขึ้นภายใต้หัวข้อ “ไป่เยว่ : บรรพบุรุษ ของชนชาติไทเท่านั้นหรือ?”

ทฤษฎีเก่า ทฤษฎีใหม่ ยังต้องถกกัน

ยรรยง จิระนคร หรือ “อาจารย์เจีย แยนจอง” นักวิจัยรับเชิญศูนย์จีนศึกษา กล่าวถึงการโต้เถียงเรื่อง ไท-ไทย ที่เชื่อมโยงไปถึงไป่เยว่ว่า แม้นักประวัติศาสตร์ และนักมานุษยวิทยาจีนส่วนใหญ่จะยังเชื่อกันว่า ไป่เยว่ เป็นบรรพบุรุษชนชาติไทเพียงชนชาติเดียวเท่านั้น แต่ปัจจุบันเริ่มมีคำถามว่า พวกไป่เยว่อาจจะใช้ภาษาเดียวกับออสโตรเนเชี่ยน (ออสโตรเอเชียติก หมายถึง มอญ เขมร พม่า จาม) เป็นพวกมลายูกับอินโดนีเซีย

แต่เดิมนั้น ในประเทศจีนยกย่องบุคคลที่วางรากฐานการศึกษาจนเดี๋ยวนี้ก็ยังยกย่องคือ ฟางกุยลี (หลี่ ฟางกุ้ย) ซึ่งเติบโตในจีนแต่ไปเรียนในอเมริกา เป็นคนวางรากฐานการศึกษาเกี่ยวกับภาษาต่างๆ ของคนไท

แต่ภายหลังทฤษฎีของฟางกุยลีถูกนักภาษาศาสตร์ของอเมริกาท้าทายว่า ภาษาไทยคงจะมีความสําคัญ ใกล้ชิดกับภาษาออสโตรเนเชี่ยน คือใกล้ชิดกับภาษาทางมลายู ภาษาอินโดนีเซีย

ทั้งนี้ วิวัฒนาการของภาษาเป็นเรื่องที่ซับซ้อนมาก เช่น ภาษาอินโดนีเซีย ภาษามลายู เมื่อวิเคราะห์รากศัพท์ด้านภาษาศาสตร์แล้วพบว่า มีความใกล้ชิดกับภาษาไทยมากกว่าภาษาไทยใกล้ชิดกับภาษาจีน โดยเฉพาะศัพท์ในด้านที่เกี่ยวกับอวัยวะและด้านการลําดับเครือญาติ ใกล้เคียงจนน่าจะมาจากที่เดียวกัน

ภาษาจามก็เป็นออสโตรเนเชี่ยน ยกตัวอย่างเมื่อ 1,000 ปีก่อน เมืองจามอยู่ตอนกลางของเวียดนาม ต่อมาถูกเวียดนามรุกไล่จนต้องมาอยู่ที่เกาะไหหลํา พวกนี้จึงพูด 2 ภาษา คือ จามกับจีน

การสืบค้นคำทางภาษาศาสตร์เชื่อว่า ภาษาจาม เป็นคำหลายพยางค์ มิใช่คำโดด และไม่มีวรรณยุกต์ แต่ภาษาจามปัจจุบันเป็นภาษามุสลิม ได้กลายเป็นคำโดดและคำพยางค์เดียว และมีวรรณยุกต์สูงต่ำเหมือน ภาษาจีน แสดงให้เห็นว่าได้รับอิทธิพลมาจากภาษาจีน จาม 4,000 คนนี้ยังนับถืออิสลาม มีขนบธรรมเนียม แบบจามอยู่ ภาษาพูดมีภาษาจีนปนบ้าง แต่เป็นจีนแบบจามๆ

แล้วภาษาไทยเกิดจากอะไร?

เช่นเดียวกับทฤษฎีของเบเนดิกท์และทฤษฎีของหนีต้าไป่ที่ว่า เมื่อราว 3,000 ปีก่อน ภาษาไป่เยว่อาจจะเป็นภาษาหลายพยางค์ แต่หลังจากจิ๋นซีฮ่องเต้ยกกองทัพมาตีกวางตุ้ง กวางสี จนรวบรวมจีนเป็นอันหนึ่ง อันเดียวกัน อิทธิพลของราชสํานักจีนจึงทําให้ภาษาไป่เยว่ซึ่งเดิมอาจจะเป็นภาษาหลายพยางค์กลายเป็น ภาษาคำโดด

ทว่า ก็ยังเป็นแค่ทฤษฎี ยังต้องผ่านการตรวจสอบ

ภาพจิตรกรรมสะท้อนวิถีชีวิค การแต่งกานของชาวต้ง เมื่อเทียบกับหลักฐานจากหลุมศพนางพระยาไท่ เชื่อว่าชาวต้งน่าจะสืบทอดวัฒนธรรมมาจากชาวเยว่ เช่นเดียวกับชาวเขาทุกกลุ่มในไทยและยูนนาน

ผู้แข็งแรงคือผู้อยู่รอด วัฒนธรรมเยว่ล่มสลาย

ขณะที่อาจารย์เจียเสนอทฤษฎี คนไทยอยู่ในตระกูลภาษาออสโตรเนเชี่ยน อาจารย์ชลธิรา สัตยาวัฒนา กลับมีความเห็นในทางตรงกันข้าม กล่าวคือ เชื่อว่าไป่เยว่มีความสัมพันธ์อย่างแนบแน่นกับกลุ่มชนที่พูดออสโตรเอเชียติก ซึ่งมีการผสมผสานทางชาติพันธุ์และวัฒนธรรม ภาษาจึงค่อนข้างขยายตัว และอาจกล่าวได้ว่ามีทั้งมาลาโยโพลีนีเชี่ยน

…กลุ่มจามบางกลุ่มที่ตกค้างอยู่ในเขมร จามที่อยู่ในเวียดนาม จามบ้านครัวที่อพยพมาจากกำปงจาม กำปงโสม ในเขมรตั้งแต่สมัยต้นรัตนโกสินทร์ ก็เป็นมาลาโยโพลีนีเชี่ยนกับออสโตรเอเชียติก ซึ่งมาลาโยโพลี นีเชี่ยนนี้ก็มีความสัมพันธ์ร่วมเชื้อสายระหว่างพวกที่เคลื่อนย้ายจากเหนือลงใต้ บางส่วนอาจจะใต้ขึ้น เหนือ ไปจนถึงหมู่เกาะแปซิฟิก ก็คือมีทั้งปาปัวนิวกินีบางส่วนในออสเตรเลียด้วยซ้ำ ที่ชัดเจนก็คือ ชวา บอร์เนียว

ไม่ว่าจะเป็นการกระจายตัวของกลองมโหระทึก หรือวัฒนธรรมสําริด ผ่านเส้นทางการเดินเรือจาก แผ่นดินใหญ่ หรือปรากฏเป็นภาพเขียนสีอายุเก่าแก่กว่า 30,000 ปี ในถ้ำแห่งหนึ่งที่กระบี่ ล้วนสะท้อนถึง ความหลากหลายทางวัฒนธรรมและกลุ่มชาติพันธุ์

ภาพรวมอันนี้ทำให้เชื่อว่า พื้นที่อันเป็นที่ตั้งของประเทศไทยเป็นที่อยู่ของชนพื้นเมือง ซึ่งคงเป็นชนพื้นเมืองที่พูดภาษาตระกูลมอญ-เขมร หรือออสโตรเอเชียติก อาจจะมีออสโตรเนเชี่ยนทางใต้ๆ ทางชวา สุมาตรา

บริเวณนี้รวมทั้งลาวด้วย ซึ่งจะมีทั้งลาวสูง (ม้ง เย้า) ลาวเทิง (พูดภาษาตระกูลออสโตรเอเชียติก หรือ มอญ เขมร) และลาวลุ่ม (พูดภาษาตระกูลไทย)

ฉะนั้นถ้าพื้นที่ประเทศไทยมีชนพื้นเมืองอยู่ ถัดเหนือขึ้นไปก็ต้องมีชนพื้นเมืองแน่นอน แต่การบดขยี้ชนพื้นเมืองไป่เยว่ของจีนฮั่น ทําให้เกิดการกระจายตัวของวัฒนธรรมเยว่และรัฐเยว่ จากหลักฐานวัฒนธรรม เยว่ บางส่วนที่เกาหลี ญี่ปุ่น ลงไปทางใต้คือพวกเมาลี ที่นิวซีแลนด์ ชวา สุมาตรา ปาปัวนิวกินี ล้วนมีสิ่งที่ เหมือนเยว่

ส่วนอีกสายจากฉู่ก็มีที่เวียดนาม ลาว กัมพูชา และไทย อัสสัม-อินเดีย ทิเบต รวมทั้งชาวพม่าทั้งรัฐฉาน ว้า คะยา คะฉินของกะเหรี่ยง จนอยากจะคิดว่าเป็นเสี้ยวเยว่ ที่อยู่ทางทิศตะวันตก หรือลั่วเยว่อยู่ที่ กว่างซี

“ดิฉันไม่เชื่อว่ามีกลุ่มชาติพันธุ์ไทย ไม่ว่าไท หรือ ไทย เพราะไท ไม่ใช่ชื่อชาติพันธุ์ไท เป็นคำหนึ่ง คำใน ภาษาตระกูลไท แปลว่า ‘เสรีชน’ ฉะนั้นกลุ่มชนที่อยาก ประกาศตัวว่าเป็นเสรีชน ไม่ได้เป็นข้าใคร คือผู้ที่เรียก ตนเองว่า ไท

ฉะนั้น ไท อาจจะเป็นเยว่ก็ได้ในความหมายนี้ เพราะว่าเยว่บางกลุ่มตกเป็นทาสแล้วก็พยายามสลัด ตนให้เป็นไท กลุ่มนี้ก็จะเรียกตนเองว่า ไท”

แต่เยว่อาจจะไม่ได้เป็นไท หมายความว่าบรรพบุรุษของเยว่อาจจะเป็นคนละสายกับบรรพบุรุษของกลุ่ม

ชนที่พูดภาษาตระกูลไท ซึ่งเมื่อ 2,000-3,000 ปีมานี้ เยว่และไทเกิดการผสมผสานกลายเป็นภาษาตระกูล หนึ่งที่ทรงอิทธิพลอย่างยิ่ง ที่นักภาษาศาสตร์เรียกว่า ภาษาไท-กะได หรือออสโตรไท และปรากฏการณ์นี้ก็เกิดขึ้นในประเทศไทยด้วย

นางพระยาไท่ ความยิ่งใหญ่ของไป่เยว่

นักประวัติศาสตร์จีนจํานวนมากพยายามเสนอ ว่ามีแต่น่านเจ้าที่อยู่ตรงนี้เป็นพวกที่พูดภาษาตระกูล โล-โลของทิเบต ไม่ได้เป็นพวกไท แล้วก็มีแต่หลักฐานว่าขึ้นเหนือ ไม่ได้ลงใต้

ทว่า ก็มีข้อที่น่าสังเกตหลายประการเกี่ยวกับ เยว่และชนเผ่าไท กล่าวคือที่อาณาจักรฉู่ หรือหูหนาน ทางการจีนได้ประกาศสิ่งที่น่าสนใจ ซึ่งเป็นสิ่งมหัศจรรย์ของโลกอยู่สิ่งหนึ่งคือ ซากศพของผู้หญิงคนหนึ่งเป็น มัมมี่ ประเมินอายุแล้วเป็นสมัยของฮั่นตะวันตก ทางจีนเรียกว่า “นางพระยาไท่”

นางพระยาไท่เป็นภรรยาของอัครเสนาบดีของนครฉางซา คือ พระยาไท่ กิน 2 ตําแหน่ง คือเมืองไท่ (แถวทะเลสาบต้งผิง) และที่หูหนาน หลุมฝังศพนี้ทางการจีนพบตั้งแต่สมัยเหมาเจ๋อตุง แม้ว่าจะฝังอยู่ลึก หลายชั้น แต่สามารถอนุรักษ์ไว้ แม้แต่ซากศพที่ผิวหนังยังยืดหยุ่นได้

ศพอยู่ตรงกลาง มีโลงศพทําด้วยไม้ซ้อนกัน 3 ชั้น มีเครื่องเซ่นศพนานัปการ เช่น ตุ๊กตาเสียกบาล เครื่องรัก เครื่องเขิน เครื่องปั้นดินเผา มีผ้าเป็นพับๆ ถึง 50 กว่าชิ้น ส่วนใหญ่เป็นผ้าไหม ทั้งหมดนี้ยังอยู่ในสภาพดี

สภาพศพมีการตราสัง มีการมัดศพด้วยผ้าขาว นักวิชาการจีนบางกลุ่มเข้าใจว่าตัวนางพระยาไท่เป็นเชื้อสายเยว่ที่หูหนาน แม้ว่าศพนี้จะถูกเรียกเป็นทางการโดยนักวิชาการทางตะวันตกว่า Han Tomb No.1 คือหลุมฝังศพฮั่นหมายเลข 1 ก็ตาม

หีบศพไม่ใช้ตะปู ทําด้วยไม้มีลายแกะสลัก บนหีบศพมีผ้าคลุมศพเหมือนที่เรียกว่า ตุง มีภาพวาดเป็นผ้าไหม ตัวนางพระยาไท่อยู่ตรงกลางกําลังเดินข้ามสะพานไปหาอะไรบางอย่าง ดูจากโครงสร้างของตุงจะ เห็นว่ามีโลกปัจจุบันคือ โลกมนุษย์ โลกสวรรค์ และโลกบาดาล นี่คือระบบความเชื่อ เป็นจักรวาลทาง ความเชื่อ ฉะนั้นเยว่กลุ่มนี้มีวัฒนธรรมผ้าอย่างแน่นอน

ที่สําคัญคือ วัฒนธรรมของเยว่สายนี้มีนวัตกรรม ถึงการทอผ้ายกดอกลายซับซ้อน แล้วลายผ้านี้ก็ตรง กับลายผ้าของกลุ่มไท-ลาวทุกกลุ่มที่เรียกว่า “ลายหมากจับ” (Diamond shape) คือลายสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัด ยกดอกซ้อนกันเป็นชั้นๆ

มีลายพิเศษอยู่ลายหนึ่งคือ ลายนก 2 ตัว สลับด้วยลายดอกไม้ ซึ่งน่าจะเชื่อว่าเป็นต้นสายของลายผ้า ที่มาปรากฏในกลุ่มไทยวน พวน ที่ราชบุรี ที่ศรีสัชนาลัย ที่เรียกว่า “ลายนกคู่กินน้ำร่วมต้น (เต้า)”

ลายสะพานที่นางพระยาไท่ข้าม คือ “ลายขอ” เป็นลายที่ปรากฏในผ้าสายตระกูลไท-ลาวทุกตระกูล แล้วก็ ไปปรากฏบนหีบศพบรอนซ์ของเตียนเยว่ในช่วงเวลาใกล้เคียงกันคือ สมัยฮั่นตะวันตก

วิเคราะห์จากลายผ้า พบว่าเยว่กลุ่มนี้นับถือนก หรืออีกา ส่วนอีกมุมผ้าเป็นลายคางคก สะท้อนให้เห็น วัฒนธรรมผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมที่เป็นศูนย์กลาง ที่เชื่อเรื่องนาคเรื่องงู มีทั้งนกและกบหรือคางคก

ในหลุมฝังศพยังพบว่ามีตะกร้าสานใส่เสื้อผ้าไหม ใส่เครื่องเซ่นศพ รวมทั้งใส่สิ่งที่ทางจีนวิเคราะห์ว่า คือสัญลักษณ์อวัยวะเพศชาย ที่เอาไว้เซ่นศพนางพระยาไท่

ที่น่าสังเกตคือ อาหารเซ่นศพ นอกจากไก่ เนื้อ สัตว์ ยังมีอาหารอีกชนิดหนึ่งที่ใช้วิธีหมักดอง อาจจะตรงกับอะไรบางอย่างที่เป็นปลาร้าปลาเจ่า ที่เรารู้จักกันดีของกลุ่มชาวอีสานทางเหนือ

ขณะที่ระยะเวลาใกล้เคียงกันคือ ฮั่นตะวันตก ที่ใกล้ๆ ปักกิ่งก็พบหลุมฝังศพที่สําคัญมากคือที่ “หมั่นเชิง” พบซากศพที่หุ้มด้วยเสื้อหยกของเจ้าชายเจ้าหญิงคู่หนึ่ง ซึ่งเชื่อว่าเป็นเจ้าชายเจ้าหญิงในสายตระกูลฮั่น

ตุงคลุมโลวงศพพระยางพระยาไท่ สุสานหม่าหวังตุย ยูนนานนั่นคือ ถ้าหากเป็นวัฒนธรรมฝังศพของฮั่นจะเป็นวัฒนธรรมหินกับหยก ถ้าเป็นวัฒนธรรมฝังศพของสายเยว่จะเป็นวัฒนธรรมดิน วัฒนธรรมไม้ และวัฒนธรรมผ้า

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 14 กันยายน 2565

Source: https://www.silpa-mag.com/

The post ไป่เยว่ : บรรพบุรุษของชนชาติไทเท่านั้นหรือ? appeared first on Thailand News.