ติดตามผ่านช่อง : Siammongkol Youtube Channel

เหตุใดคนไทยเรียกชาวตะวันตกผิวขาวว่า “ฝรั่ง” คำนี้มีพัฒนาการมาอย่างไร

เหตุใดคนไทยเรียกชาวตะวันตกผิวขาวว่า “ฝรั่ง” คำนี้มีพัฒนาการมาอย่างไร

ภาพ หมอบรัดเลย์ ฝรั่งในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ จิตรกรรมในพระวิหารน้อย วัดกัลยาณมิตร

ที่มาของคำว่า “ฝรั่ง” ในสังคมไทย ต้องสืบย้อนกลับไปถึงยุโรปในยุคกลางช่วงปลายศตวรรษที่ 5 คำนี้เกี่ยวพันโดยตรงกับบรรพชนของชาวยุโรปกลุ่มหนึ่งที่เรียกว่า “ชาวแฟรงก์” (Franks) กลุ่มชาติพันธุ์เยอรมัน (Germanic peoples) ผู้พูดภาษาตระกูลเยอรมันโบราณ สำหรับชาวแฟรงก์ใช้สำเนียงแบบตะวันตก (Western Germanic Languages) ซึ่งจะกลายเป็นรากฐานของภาษาอังกฤษ เยอรมัน และดัตช์ ในเวลาต่อมา

ตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 6-8 อาณาจักรของชาวแฟรงก์แผ่ขยายจนครอบคลุมไปทั่วพื้นที่ต่าง ๆ ในทวีปยุโรป โดยเฉพาะในสมัยของชาเลอมาญ (Charlemagne) มีพื้นที่ตั้งแต่ประเทศฝรั่งเศส อิตาลีทางตอนเหนือ เยอรมนี และยุโรปตอนกลางในปัจจุบัน ชนชาติอื่นทั้งในยุโรปส่วนที่เหลือและดินแดนใกล้เคียงจึงเรียกผู้คนในดินแดนแถบนี้ว่า ชาวแฟรงก์ นั่นเอง

ถึงศตวรรษที่ 11-13 เกิดสงครามศาสนาหรือสงครามครูเสด (Crusade War) ระหว่างชาวคริสต์หลากหลายเชื้อชาติจากยุโรปและชาวมุสลิมในตะวันออกกลาง มีจุดประสงค์เพื่อแย่งชิงนครศักดิ์สิทธิ์เยรูซาเลม (Jerusalem) ในสงครามที่กินเวลากว่า 200 ปีนี้ ชาวมุสลิมเรียกขานชาวยุโรปผิวขาวที่ทำสงครามกับพวกเขาว่า “ฟรานจ์” หรือ “ฟรันจิ” (Franj) ในภาษาอาหรับ ซึ่งมาจากคำว่า แฟรงก์ แม้ว่าชนชาติที่รบกับพวกเขาในเวลานั้นจะประกอบด้วยหลายชาติพันธุ์ทั้ง ฝรั่งเศส นอร์มัน เยอรมัน อังกฤษ หรืออิตาเลียน ก็ตาม

ความเข้าใจเกี่ยวกับชาวแฟรงก์ของชาวมุสลิมนั้นเกิดจากชาวอาหรับเคยติดต่อกับดินแดนยุโรปฝั่งตะวันตกในช่วงที่ชาวแฟรงก์เรืองอำนาจ ทำให้พวกเขาจดจำชาวยุโรปที่อยู่ไปไกลจากฝั่งตะวันออกว่า ชาวแฟรงก์ หรือ ฟรานจ์ ซึ่งเป็นคนละกลุ่มชาวยุโรปฝั่งตะวันออกอันเป็นที่ตั้งของจักรวรรดิไบเซนไทน์ (Byzantine Empire) หรือโรมันตะวันออก ซึ่งชาวอาหรับถือว่าเป็นชาวโรมันหรือชาวกรีก

ฟรานจ์ หรือ ฟรันจิ จึงกลายเป็นคำเรียกหลักที่ชาวมุสลิมอาหรับเรียกชาวยุโรปตะวันตกและเหล่านักรบครูเสด คำนี้แพร่หลายไปยังชนชาติอื่น ๆ ทางตะวันออกที่มีการติดต่อกับชาวอาหรับ ก่อนเกิดการพัฒนาการทางภาษาและการออกเสียงที่เปลี่ยนแปลงไปในแต่ละท้องถิ่น เช่น ฟารัง (Farang) หรือฟรังในภาษาเปอร์เซีย, ฟิรานจี (Firangji) ในภาษาฮินดู, บาลัง (Barang) ในภาษาเขมร และ “ฝรั่ง” ในภาษาไทยนั่นเอง

สำหรับ ฝรั่ง ในภาษาไทย สันนิษฐานว่าเพี้ยนมาจาก ฟารัง หรือ ฟรัง ในภาษาเปอร์เซีย จากการติดต่อของพ่อค้า-นักเดินทางในสมัยโบราณ ซึ่งทั้งชาวมุสลิมอาหรับและเปอร์เซียล้วนมีบทบาททางการค้ากับดินแดนและรัฐโบราณต่าง ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตั้งแต่สมัยอยุธยาและอาณาจักรโบราณยุคก่อนหน้านั้น เนื่องจากการค้าทางทะเลแถบนี้เฟื่องฟูก่อนการมาถึงของชาวยุโรปหลายศตวรรษ

พจนานุกรมราชบัณฑิตยสถาน ฉบับ พ.ศ. 2554 ให้คำจำกัดความของ “ฝรั่ง” ว่าหมายถึง “ชนชาติผิวขาว” อย่างไรก็ตาม มีการใช้คำว่า “ฝรั่งดำ” เพื่อเรียกชาวยุโรปหรืออเมริกันเชื้อสายแอฟริกันด้วย โดยเกิดขึ้นช่วงสงครามเวียดนาม เมื่อกองทัพสหรัฐอเมริกาที่ประจำการอยู่ในประเทศไทยมีคนอเมริกันผิวดำรวมอยู่ด้วย

คนไทยยังนำ ฝรั่ง ไปประกอบคำเรียกสิ่งต่าง ๆ ที่มีที่มาจากคนผิวขาวด้วย เช่น มันฝรั่ง (Potato) ผักชีฝรั่ง (Stink Weed) หมากฝรั่ง (Chewing gum) หรือแม้แต่ ฝรั่ง (Guava) ที่เป็นผลไม้ ก็ถูกเรียกตามผู้นำเข้าที่เป็นพ่อค้าชาวโปรตุเกสเมื่อประมาณ 400 ปีที่แล้วในสมัยอยุธยา ส่วน ฝรั่งขี้นก เป็นคำแสลงจากภาษาลาวสำหรับใช้ในเชิงดูหมิ่นคนผิวขาว โดยเชื่อมโยงกับ ขี้นก ที่เป็นมูลสีขาวของนก

อ้างอิง :

Into Asia: THAI LANGUAGE ‘What exactly does ‘farang’ mean in Thai?’

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 15 กันยายน 2565

Source: https://www.silpa-mag.com

The post เหตุใดคนไทยเรียกชาวตะวันตกผิวขาวว่า “ฝรั่ง” คำนี้มีพัฒนาการมาอย่างไร appeared first on Thailand News.