ติดตามผ่านช่อง : Siammongkol Youtube Channel

สภาพหลังพม่ายึดล้านนา ปกครองเมืองเชียงใหม่ 200 ปี สู่ยุคเชียงใหม่เป็นเมืองร้าง

สภาพหลังพม่ายึดล้านนา ปกครองเมืองเชียงใหม่ 200 ปี สู่ยุคเชียงใหม่เป็นเมืองร้าง

ป้อมเมืองเชียงใหม่

หนังสือ “ชื่อบ้านนามเมือง จังหวัดเชียงใหม่มาจากไหน” ของกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ที่ สุจิตต์ วงษ์เทศ ผู้เขียนได้พาย้อนกลับไปดูรากเหง้าของเมืองเชียงใหม่ คนเชียงใหม่ ตั้งแต่เริ่มต้นบรรพชนล้านนาเมื่อห้าแสนปีที่แล้วที่พบกะโหลกมนุษย์ลำปาง ที่ปากถ้ำเกาะคา จังหวัดลำปาง ซึ่งร่วมสมัยกับมนุษย์ปักกิ่ง ไล่เรียงมาจนถึง พ.ศ. 2482

ในที่นี้ขอนำเนื้อหาบางส่วนที่กล่าวถึงช่วงเวลา 200 ปี ที่พม่าเข้ามาปกครองเชียงใหม่ ซึ่งสุจิตต์ วงษ์เทศ อธิบายไว้ดังนี้ (จัดย่อหน้าใหม่และสั่งเน้นคำโดยกองบรรณาธิการ)

นับตั้งแต่ราว พ.ศ. 2000 เป็นต้นมา ลักษณะการค้าโลกขยายตัวมากขึ้นกว่าแต่ก่อน เมื่อพ่อค้าชาวยุโรปพากันเดินทางเข้ามาติดต่อกับบ้านเมืองแถบสุวรรณภูมินี้โดยตรง ทั้งบริเวณหมู่เกาะและผืนแผ่นดินใหญ่ ทำให้ปริมาณการค้ามีมากขึ้นทั้งการค้าภายในกันเองและการค้าภายนอกกับยุโรป

เมื่อการค้าทางทะเลสร้างความมั่งคั่งมหาศาลให้กับบ้านเมืองและรัฐที่มีอำนาจเหนือเมืองท่าชายทะเล ย่อมกระตุ้นให้เกิดความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างบ้านเมืองและรัฐ เพื่อควบคุมเส้นทางการค้าและรวบรวมทรัพยากรเพื่อการค้านั้น ด้วยเหตุและปัจจัยดังนี้เองทำให้พม่ายกกำลังเข้ายึดครองล้านนาประเทศ เมื่อราว พ.ศ. 2101 สืบหลังต่อมาอีกนาน

ระหว่างที่ล้านนาอยู่ในอำนาจปกครองของพม่านานมากกว่า 200 ปี มีบางช่วงตกอยู่ในอำนาจอยุธยาในระยะสั้นๆ ตรงนี้ อาจารย์สรัสวดี อ๋องสกุล อธิบายว่ามีบางครั้งที่อยุธยายกทัพขึ้นมาที่เชียงใหม่ได้ เช่น สมัยสมเด็จพระนเรศวร และสมัยพระนารายณ์ และเชียงใหม่เป็นอิสระอยู่เป็นระยะๆ เช่น พ.ศ. 2270-2306 เนื่องจากเป็นเวลาที่พม่าประสบปัญหาการเมืองภายใน เมื่อพม่าสามารถขจัดความยุ่งยากภายในได้เรียบร้อยก็จะกลับมาปราบล้านนา

ล้านนาเป็นเมืองขึ้นพม่าตั้งแต่สมัยพระเจ้าบุเรงนอง พ.ศ. 2101 จนถึง พ.ศ. 2317 ในสมัยพระเจ้าตากสิน ล้านนาจึงเข้ามาสวามิภักดิ์ต่อไทย และร่วมกันขับไล่พม่าออกไปสำเร็จ

นโยบายการปกครองของพม่าต่อล้านนา อาจารย์สรัสวดี อ๋องสกุล แบ่งตามพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ได้ 2 สมัย

สมัยแรก ระหว่าง พ.ศ. 2101-2207 ประมาณร้อยปีแรก

อำนาจรัฐพม่าในล้านนาไม่มีความสม่ำเสมอ เพราะพม่าไม่สามารถยึดครองล้านนาอย่างเข้มแข็งตลอดเวลา ดังพบว่าผู้นำท้องถิ่นได้ต่อต้านพม่าและแยกเป็นนครรัฐอิสระอยู่หลายแห่ง และในช่วงเวลานี้อยุธยาก็เข้ามามีบทบาทในเชียงใหม่ด้วย พม่าเองก็ยกทัพเข้ามาปราบปราม พร้อมกับปรับวิธีการปกครอง

อย่างไรก็ตาม ช่วงประมาณร้อยปีแรกนี้ ล้านนามีฐานะเป็นมณฑลหนึ่งของราชอาณาจักรพม่า จากสภาพที่ล้านนาเป็น “คนต่างชาติต่างภาษา” พม่าจึงกำหนดให้เป็นเขตที่มีการปกครองตนเองได้ในระดับหนึ่ง คือคงให้เจ้านายและขุนนางในล้านนามีส่วนร่วมในการปกครอง โดยอยู่ภายใต้การกำกับของกษัตริย์พม่า ลักษณะการปกครองคนต่างชาติพันธุ์ของพม่าใช้วิธีแบ่งเป็นเขตหรือมณฑล และเรียกชื่อตามชาติพันธุ์ พม่าจึงเรียกล้านนาว่า “ยวน” ไทยใหญ่เรียก “ชาน” ส่วนมอญเรียก “ตะเลง”

สมัยที่สอง ระหว่าง พ.ศ. 2207-2317 ประมาณร้อยสิบปีหลัง

ฐานะของล้านนาเปลี่ยนไป โดยเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของพม่าอย่างแท้จริง พม่าได้ส่งขุนนางจากราชสำนักมาปกครองโดยตรง ขุนนางท้องถิ่นมีบทบาทน้อย และพม่าจัดเก็บผลประโยชน์จากล้านนาเพิ่มขึ้นจากเดิม นอกจากนั้น ในช่วงนี้พม่าใช้วิธีแยกการปกครองเชียงแสนออกเป็นเขตสำคัญและใช้เป็นฐานที่มั่นจนกระทั่งพม่าหมดอำนาจในล้านนา อย่างไรก็ตาม การต่อต้านพม่าและจัดตั้งนครรัฐอิสระดำเนินการตลอดมา

ปัญหาการเมืองภายในพม่าทำให้พม่าต้องผ่อนปรนล้านนาเป็นระยะ ครั้นพม่าจัดการปัญหาเรียบร้อยแล้วก็เข้าปราบปรามล้านนา โดยเชียงใหม่ถูกพม่าตีแตกครั้งใหญ่ในต้นพุทธศตวรรษที่ 24 (พ.ศ. 2306) ซึ่งชาวเชียงใหม่ถูกกวาดต้อนไปจนหมดเมือง สะท้อนนโยบายของพม่าในช่วงหลังที่ต้องการทำลายเชียงใหม่อย่างแท้จริง

ใน พ.ศ. 2317 ถือเป็นปีสำคัญยิ่ง เพราะเป็นจุดเปลี่ยนโฉมหน้าประวัติศาสตร์ล้านนา ด้วยการตัดสินใจของพระยาจ่าบ้านและพระเจ้ากาวิละที่หันไปสวามิภักดิ์ต่อพระเจ้าตากสิน กองทัพไทยและล้านนาร่วมกันทำสงครามกวาดล้างพม่าออกจากเชียงใหม่สำเร็จ แต่กว่าอำนาจพม่าจะหมดสิ้นในล้านนาอย่างแท้จริงต้องใช้เวลาอีก 30 ปี

…….

พม่ายกกลับมายึดคืนเมืองเชียงใหม่ เมื่อ พ.ศ. 2319 พระเจ้าตากให้ยกไปตีพม่าที่เมืองเชียงใหม่อีก แต่คราวนี้เมื่อไล่พม่าและให้ทิ้งเมืองเชียงใหม่จะได้ไม่มีศึกพม่าอีก มีพระนิพนธ์สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ อธิบายไว้ในหนังสือ ไทยรบพม่า ดังนี้

“ขณะนั้นพระยาจ่าบ้าน ซึ่งพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงตั้งให้เป็นพระยาวิเชียรปราการ ได้ครองเมืองเชียงใหม่มาตั้งแต่ไทยที่เมืองได้จากพม่า เห็นกองทัพพม่ายกมาเหลือกำลังที่จะต่อสู้ได้ พอมีใบบอกลงมายังกรุงธนฯ แล้ว พระยาวิเชียรปราการก็อพยพครอบครัวทิ้งเมืองเชียงใหม่หนีลงมาเมืองสวรรคโลก

พระเจ้ากรุงธนบุรีได้ทรงทราบว่าพม่ายกกองทัพมาตีเมืองเชียงใหม่ และพระยาวิเชียรปราการทิ้งเมืองหนีลงมาดังนั้น จึงโปรดให้รับพระยาวิเชียรปราการลงมายังกรุงธนบุรี แล้วให้มีตราสั่งเจ้าพระยาสุรสีห์ให้คุมกองทัพหัวเมืองเหนือขึ้นไปสมทบกับพระยากาวิละเจ้าเมืองนครลำปาง ยกไปตีเอาเมืองเชียงใหม่คืน กองทัพไทยยกขึ้นไปพม่าสู้ไม่ได้ก็ทิ้งเมืองเชียงใหม่เลิกทัพกลับไป

เมื่อพม่าถอยไปจากเมืองเชียงใหม่แล้ว พระเจ้ากรุงธนบุรีทรงพระราชดำริว่าเมืองเชียงใหม่ไพร่บ้านพลเมืองระส่ำระสายเสียมากแล้ว จะรวบรวมกลับตั้งเป็นบ้านเมืองอย่างเดิมผู้คนก็ไม่พอจะเป็นกำลังรักษาเมืองได้ เมื่อกองทัพไทยกลับลงมาแล้วพม่ายกทัพกลับมาก็จะเสียเมืองเชียงใหม่อีก จึงมีรับสั่งให้ทิ้งเมืองเชียงใหม่เสีย

เมืองเชียงใหม่จึงเป็นเมืองร้างแต่นั้นมากว่า 15 ปี จนในรัชกาลที่ 1 กรุงรัตนโกสินทร์จึงได้กลับตั้งขึ้นอีก”

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 10 มิถุนายน 2564

The post สภาพหลังพม่ายึดล้านนา ปกครองเมืองเชียงใหม่ 200 ปี สู่ยุคเชียงใหม่เป็นเมืองร้าง appeared first on Thailand News.