แรกมี “ไฟฟ้า” ในสยาม สิ่งฟุ่มเฟือยของชนชั้นนำ สู่กิจการโรงไฟฟ้า ไทยทำเจ๊ง ฝรั่งทำรุ่ง
‘ไฟฟ้า’ หนึ่งในวิทยาการตะวันตกที่สำคัญไม่แพ้ โทรเลข รถไฟ รถราง ถนนแบบตะวันตก ฯลฯ เข้าสู่สยามอย่างเป็นทางการในสมัยรัชกาลที่ 5 อันเป็นช่วงเวลาที่สยามกำลังพัฒนาประเทศสู่ความทันสมัย ‘ไฟฟ้า’ จึงเป็นปัจจัยพื้นฐานสำคัญในการวางรากฐานการพัฒนาบ้านเมือง ชนชั้นนำสยามคิดเห็นอย่างไรกับ ‘ไฟฟ้า’ และใช้ประโยชน์มากน้อยเพียงใดในยุคแรก ๆ ?
วิทยาการสู่สยาม
แน่นอนว่าไฟฟ้าเผยแพร่เข้ามาสู่สยามโดยชาวตะวันตก โดยเฉพาะพวกมิชชันนารี ทว่า ไฟฟ้าในทัศนะของชนชั้นนำสยามก็เป็นที่รับรู้กันมาเนิ่นนานแล้ว เป็นต้นว่า ใน ‘บางกอกรีคอร์เดอร์’ สื่อสิ่งพิมพ์โดยหมอบรัดเลย์ มิชชันนารีชาวอเมริกัน ก็เคยเผยแพร่บทความเกี่ยวกับไฟฟ้า, เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ เคยวิเคราะห์วิจารณ์ไฟฟ้าในทางวิทยาศาสตร์ ในกรณีของเมขลากับรามสูร นอกจากนี้ ผลจากการที่สยามดำเนินความสัมพันธ์กับนานาชาติ ส่งขุนนางไปเจริญสัมพันธไมตรี หรือว่าราชการยังทวีปยุโรป ก็เป็นเหตุสำคัญที่ทำให้ชนชั้นนำสยามนำวิทยาการนี้เข้ามาเช่นกัน
กรณีที่เด่นชัดที่สุดคือ เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี (เจิม แสงชูโต) ครั้งบรรดาศักดิ์เป็นจมื่นไวยวรนารถ ได้มีโอกาสเดินทางไปราชการที่ทวีปยุโรป ได้พบเห็นการใช้ไฟฟ้าในประเทศต่าง ๆ จึงมีความคิดนำแสงสว่างมายังท้องพระโรงภายในพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง
แต่เดิมการให้แสงสว่างได้มาจากเทียนไขหลายร้อยเล่มที่วางอยู่บนแก้วระย้าขนาดใหญ่ที่ห้อยอยู่กลางท้องพระโรง แต่เป็นการลำบากมากเพราะเมื่อมีพระราชพิธีต่าง ๆ ต้องจุดเทียนไขและต่อเทียนไขไม่ต่ำกว่า 200-300 เล่ม แม้ต่อมาจะใช้น้ำมันก๊าดแทน แต่ก็มีปัญหาต้องคอยระวังไม่ให้ไฟแรงเกินไป จนต้องเตรียมปูนขาวไว้คอยดับป้องกันไฟไหม้ ดังนั้น เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรีจึงนําความขึ้นกราบบังคมทูลรัชกาลที่ 5 ว่า ที่ปารีส เมืองหลวงของประเทศฝรั่งเศส มีการใช้ไฟฟ้ากันทั้งเมืองและเป็นที่นิยมของประชาชน จึงอยากจะทำไฟฟ้าใช้ในเมืองไทยบ้าง แต่รัชกาลที่ 5 รับสั่งว่า “ไฟฟ้าหลังคาตัด ข้าไม่เชื่อ” ซึ่งพระองค์ยังไม่เชื่อถือในประโยชน์ของไฟฟ้าในช่วงเวลานั้น
อย่างไรก็ตาม เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรีมุ่งมั่นจะทำไฟฟ้าใช้ให้สำเร็จ จึงนําความขึ้นกราบบังคมทูลพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นเทววงศ์วโรปการ ขอให้ช่วยกราบทูลสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชเทวี ให้ทรงรับซื้อที่ดินซึ่งได้รับมรดกจากบิดา (พระยาสุรศักดิ์มนตรี แสง แสงชูโต) ณ ตําบลวัดละมุด บางอ้อ ได้เป็นเงิน 180 ชั่ง หรือ 14,000 บาท
หลังจากนั้นเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรีจึงได้ให้นายมาโยลา ชาวอิตาลี ซึ่งเข้ามารับราชการเป็นครูฝึกทหารในไทยเดินทางไปซื้อเครื่องกำเนิดไฟฟ้าที่ประเทศอังกฤษ จนกระทั่ง พ.ศ. 2427 จึงได้มีการนําเครื่องกําเนิดไฟฟ้าเข้ามายังในไทย 2 เครื่อง ซื้อสายเคเบิลสำหรับฝังสายใต้ดินจากโรงทหารหน้า (กระทรวงกลาโหมในปัจจุบัน) ถึงพระบรมมหาราชวัง และซื้อโคมไฟฟ้าต่าง ๆ สำหรับใช้ภายในพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท
ต่อมาแปลนและตําราจัดทําไฟฟ้าที่ทางห้างในกรุงลอนดอนออกแบบให้เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรีนั้น ถูกแนะนําไปยังเชื้อพระวงศ์และขุนนางกลุ่มหนึ่ง ซึ่งคาดว่าน่าจะชนชั้นนำกลุ่มที่ได้ริเริ่มจัดทํากิจการไฟฟ้าขึ้นครั้งแรกในไทย ซึ่งได้จัดตั้งกิจการไฟฟ้าขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ. 2432 นั่นก็คือ ‘บริษัทไฟฟ้าสยาม’
เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี (เจิม แสง-ชูโต) เมื่อครั้งเป็นจมื่นสราภัยสฤษดิ์การ อุปทูต ณ เมืองปัตตาเวีย
บริษัทไฟฟ้าของไทย
เมื่อ พ.ศ. 2431 พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นสรรพสาตรศุภกิจได้ทรงกราบบังคมทูลรัชกาลที่ 5 ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตจัดทํากิจการไฟฟ้า ความว่า
“…ด้วยข้าพระพุทธเจ้าเห็นด้วยเกล้าว่าในกรุงเทพฯ ทุกวันนี้ ข้าราชการแลราษฎรในกรุงเทพฯ ได้อาไศรยแสงสว่างด้วยน้ำมันบิดโตร์เรียมกันทั้งสิ้น การที่ใช้น้ำมันปิดโตร์เรียมนี้มักจะเกิดอันตรายได้หลายอย่าง… เพราะฉะนั้นข้าพระพุทธเจ้าเห็นด้วยเกล้าฯ ว่า ควรจะใช้ไฟฟ้าเสียจึงจะเป็นคุณแลประโยชน์เป็นอันมาก…
ข้าพระพุทธเจ้าได้พร้อมใจกันยอมที่จะเข้าเรี่ยไรลงทุนที่จะสร้างเครื่องจักรขึ้น คิดดูประมาณเงิน 2,000 ชั่ง ไฟที่จะจุดได้ถึง 10,000 ดวงเป็นอย่างมาก แต่จะใช้ประมาณ 5,000 ดวง… การที่ลงทุนนี้เป็นการมากมายหนักหนาอยู่ เพราะฉะนั้นจึงต้องขอพระบารมีปกเกล้าฯ ขอรับพระราชทาน พระบรมราชวโรกาศรับพระราชทานพระบรมราชานุญาตที่จะทำการไฟฟ้านี้ เพื่อที่จะไม่ให้มีผู้หนึ่งผู้ใดแย่งชิงทำการไฟฟ้าต่อไปจนถึง 30 ปี…”
บริษัทไฟฟ้าสยามเปิดดําเนินการครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2432 ตั้งอยู่ที่บริเวณวัดราชบูรณะ (วัดเลียบ) ตรงข้ามกับโรงเรียนสวนกุหลาบ เชิงสะพานพุทธ นับเป็นการลงทุนทำกิจการไฟฟ้าครั้งแรกในไทย โดยใช้เครื่องจักรไอน้ำเป็นเครื่องผลิตกระแสไฟฟ้าและใช้แกลบเป็นเชื้อเพลิงหลัก เพราะเป็นวัสดุที่มีเหลือเฟือจากโรงสีที่ตั้งอยู่ตามริมแม่น้ำเจ้าพระยา
การคิดค่าไฟฟ้าสมัยนั้น จะคิดจากจำนวนโคมไฟฟ้าที่ใช้เป็นหลัก รวมกับค่าติดตั้งอุปกรณ์ไฟฟ้าต่าง ๆ เช่น โคมไฟ สายไฟ สวิตช์ ฯลฯ โดยคิดอัตราค่าไฟฟ้าต่อจำนวนโคมไฟฟ้าคือดวงละ 2 บาทต่อเดือน ครอบคลุมตั้งแต่วัง บ้านเรือน สถานที่ราชการ บริษัท ห้างร้าน และถนน โดยโคมไฟฟ้าที่ให้แสงสว่างบนท้องถนนนี้รัฐมีหน้าที่จ่ายทั้งหมด ซึ่งราคาดวงละ 2 บาทต่อเดือน ถือว่ามีราคาแพงสำหรับคนทั่วไป (เสมียนสมัยนั้นเงินเดือน 6-10 บาท)
บริษัทไฟฟ้าสยามเป็นบริษัทเอกชน แม้ผู้ถือหุ้นส่วนใหญ่มากกว่าร้อยละ 50 จะเป็นของหลวง ซึ่งเป็นเงินจากพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์หรือพระคลังข้างที่ รวมกับหุ้นของกลุ่มพระบรมวงศานุวงศ์ ขุนนาง ข้าราชการ พ่อค้าคหบดี ชาวต่างชาติ ฯลฯ แต่การดำเนินธุรกิจไม่เกี่ยวข้องกับรัฐโดยสิ้นเชิง ดังพระดำรัสพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นเทววงศ์วโรปการ ความว่า “…การของกำปนีไฟฟ้าสยามต้องถือว่าเปนแต่กำปนีไปรเวศ ไม่ได้เกี่ยวข้องเลยกับคอเวอนเมนต์สยาม…”
บริเวณที่จ่ายไฟฟ้าจะอยู่ใกล้เคียงกับโรงไฟฟ้า โดยเอาพื้นที่วัดราชบูรณะ (วัดเลียบ) เป็นศูนย์กลาง แล้วขยายไปทางด้านเหนือจ่ายไฟฟ้าไปตามถนนตรีเพชร ถนนบ้านหม้อ ถนนสนามไชย ถนนบำรุงเมือง ด้านตะวันออกเฉียงใต้จ่ายไฟฟ้าไปตามถนนเจริญกรุง ถนนเยาวราช ถนนสำเพ็ง
ปรากฏว่าการดำเนินการของบริษัทกับประสบปัญหารอบด้าน เช่น ปัญหาเครื่องจักรและอุปกรณ์ต่าง ๆ ทำงานไม่เต็มประสิทธิภาพ ทำให้ไฟฟ้าเดินไม่สม่ำเสมอ โคมไฟฟ้าติด ๆ ดับ ๆ ดังมีบันทึกว่า “ด้วยการเรื่องไฟฟ้าทุกวันนี้ได้ทดลองจุดไฟก็เปนการสำเรจรอดไปได้ แต่ในเวลานี้ยังมีกึกกักอยู่บ้าง ด้วยเปนเวลาลองครั้งแรก เครื่องแลสายยังไม่สู้จะเรียบร้อย”,
ปัญหาลักขโมยสายไฟฟ้า เมื่อ พ.ศ. 2433 ดังมีบันทึกว่า “นายเทด นายยาม เดินตรวจยามลงไปที่… ข้างคลองตลาด… เหนสายไฟฟ้าที่เจ้าพนักงานขึงไว้ที่เสาบนกำแพงพระนครหายไป 5 เส้น ๆ ยาวประมาณ 7 วาเสศ… มีรอยอ้ายคนร้ายแหกหลังคาโรงปาง ซึ่งตั้งอยู่นอกกำแพง…ขึ้นมาลักตัดเอาสาไฟไป…”, ปัญหาค่าซ่อมแซมและค่าอะไหล่มีราคาสูง, ปัญหาบุคลากรขาดความรู้, ปัญหาการเงินและภาวะขาดทุน แม้เพิ่มหุ้นและกู้เงินลงทุนเพิ่มแต่ไม่เป็นผล และยังมีปัญหาอีกนานัปการที่ไม่ได้รับการแก้ไข
พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นนราธิปประพันธ์พงศ์ (พระอิสริยยศในขณะนั้น) ทรงวิจารณ์บริษัทไฟฟ้าสยามว่า “เปนการสุรุ่ยสุร่ายมีมาก คือมีพนักงานมาก จ้างฝรั่งก่อนต้องการใช้เปนต้นและการไฟฟ้าซึ่งคิดเดิมว่าจะมีผลมากก็น่ากลัวจะผิด เพราะมีคนรับใช้น้อยอย่างหนึ่ง โสหุ้ยแพงขึ้นมา คือจะต้องใช้ฟืนแทนแกลบอีกอย่างหนึ่ง อาไศรยเหตุเหล่านี้ หม่อมฉันกลัวว่าคอมปนีไฟฟ้าจะไม่สำเรจด้วยดีต่อไป… ในพวกผู้จัดการสำรับนี้เพราะดูการที่จัดอ่อนช้า เหมือนไม่ทำการเต็มมือ… หม่อมฉันเชื่อว่าการไฟฟ้านี้แทบจะสำเรจไม่ได้เลยทีเดียว”
จนในที่สุดบริษัทต้องล้มละลายใน พ.ศ. 2435 เปิดดำเนินกิจการไฟฟ้าในสยามเพียง 3 ปีเท่านั้น แล้วรัฐจึงต้องเข้าควบคุมดูแลกิจการแทนโดยไม่เต็มใจนัก ซึ่งก็เป็นการสิ้นเปลืองพระราชทรัพย์มาก จึงพยายามให้สัมปทานกิจการไฟฟ้านี้แก่บุคคลอื่นมารับไปทำต่อ มีชาวไทย 2-3 รายเสนอมา แต่เรื่องก็เงียบ
สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมกรุนนริศานุวัดติวงศ์ (พระอิสริยยศในขณะนั้น) เสนาบดีกระทรวงโยธาธิการในขณะนั้น ทรงออกความคิดเห็นเกี่ยวกับบริษัทไฟฟ้าสยามว่าควรรับซื้อกิจการมาเป็นของรัฐหรือไม่ ความว่า
“…เพราะฉนี้จึงควรพิจารณาอีกชั้นหนึ่ง ว่าถ้ารับซื้อมาแล้วจะได้ประโยชน์ฤาไม่… อาการที่เปนอยู่ของเครื่องคือได้เห็นเมื่อจุดก็มีติดบ้างดับบ้างผลุกบ้าง แลแก้กันไปจนถึงเครื่องไหม้… จำต้องตัดสินลงว่าเครื่องไฟฟ้าอันนี้ไม่ดี ก็ถ้าไม่ดีเช่นนี้แล้ว จะเอาประโยชน์มาแต่ไหน มีแต่จะต้องฉิบหายเปล่า… บาญชีจ่ายในการซ่อมทำเครื่องไฟฟ้าเช่นนี้ แพงมิใช่เล่น… ครั้นลงมือจุดก็คงติดบ้างดับบ้าง แล้วก็แก้กันไปจนถึงเครื่องไหม้ ต้องเสียเงินส่งไปแก้ที่ยุโรป…”
บริษัทไฟฟ้าของต่างชาติ
มิสเตอร์เอล อี เบเน็ต ชาวอเมริกันได้ติดต่อขอสัมปทานกิจการไฟฟ้าไปดำเนินการต่อเป็นระยะเวลา 10 ปี ค่าเช่า 10 ปีแรกจ่ายให้รัฐเดือนละ 1,000 บาท หากดำเนินกิจการเรียบร้อยดี จะขอเช่าต่อไปอีก 10 ปี และจะจ่ายให้รัฐเพิ่มเป็นเดือนละ 1,200 บาท รัฐบาลพิจารณาเห็นสมควร จึงตกลงทำสัญญาเมื่อ พ.ศ. 2440 โดยมิสเตอร์เอล อี เบเน็ต ได้จ่ายเงิน 100,000 บาท สำหรับการรับสัมปทานกิจการไฟฟ้าไปดำเนินการ (คนละส่วนกับค่าเช่า)
ต่อมา พ.ศ. 2441 มิสเตอร์เอล อี เบเน็ต ขายสัมปทานกิจการไฟฟ้าให้แก่บริษัทของชาวเดนมาร์ก เพราะสามารถขายได้ในราคา 209,000 บาท ซึ่งได้กำไรเท่าตัวจากที่จ่ายให้รัฐบาลไทย บริษัทดังกล่าวชื่อว่า บริษัทอิเล็กตริซิตี้คอมปานีลิมิเต็ด ถูกเรียกเป็นภาษาไทยอยู่อีกชื่อหนึ่งว่า บริษัทไฟฟ้าสยามจำกัด รัฐบาลก็ไม่ได้ปฏิเสธเจ้าของสัมปทานรายใหม่ ซึ่งแสดงถึงความเชื่อถือในฝีมือของชาวตะวันตกมากกว่าการดำเนินกิจการไฟฟ้าของชาวไทยเอง ต่อมาก็ได้ตกลงเปลี่ยนแปลงสัญญากันเสียใหม่ โดยบริษัทดำเนินกิจการไฟฟ้าอย่างยาวนานจนหมดสัมปทานใน พ.ศ. 2493
บริษัทอิเล็กตริซิตี้คอมปานีลิมิเต็ด ขยายพื้นที่จำหน่ายไฟฟ้าออกไปไกลกว่าเดิมมาก คือขยายไปครอบคลุมตั้งแต่พระราชวังดุสิต ถึงย่านธุรกิจการค้าของชาวจีนและชาวตะวันตกทางตอนใต้ของกรุงเทพฯ การดำเนินกิจการของบริษัทประสบผลสำเร็จและสร้างผลกำไรมหาศาล กล่าวคือ หุ้นเดิมของบริษัทที่แต่เดิมต้นลงทุนจดทะเบียนมีมูลค่าประมาณ 600,000 บาท แต่ใน พ.ศ. 2452 บริษัทมีเงินทุนประมาณ 4,500,000 บาท เพิ่มขึ้นกว่า 7 เท่า ภายในระยะเวลาประมาณ 10 ปีนับแต่ได้เช่าสัมปทาน และยังเห็นความสำเร็จได้จากมูลค่าหุ้น จากหุ้นละ 10 ปอนด์ หรือประมาณ 180 บาท เป็นหุ้นละ 380 บาท ในปี พ.ศ. 2452 บริษัทยังดำเนินกิจการจนมีกำไรมาก และปันผลแก่ผู้ถือหุ้นถึงกว่าร้อยละ 6
ความสำเร็จของบริษัทอิเล็กตริซิตี้คอมปานีลิมิเต็ด ทำให้รัฐกลับมาให้ความสนใจกิจการไฟฟ้าอีกครั้งหนึ่ง จึงเริ่มนโยบายจะจัดกิจการไฟฟ้าของตนเองขึ้นในปลาย พ.ศ. 2453 สามารถจัดตั้งโรงไฟฟ้าสำเร็จเมื่อ พ.ศ. 2457 นั่นคือ ‘โรงไฟฟ้านครหลวงสามเสน’
บริษัทอิเล็กตริซิตี้คอมปานีลิมิเต็ด หรือโรงไฟฟ้าวัดเลียบ
อิทธิพลของไฟฟ้า
ไฟฟ้าเป็นวิทยาการที่เกิดขึ้นก่อนโทรเลขและรถไฟเสียอีก แต่รัฐสมัยรัชกาลที่ 5 เลือกนำโทรเลขและรถไฟเข้ามาใช้ในสยาม โดยเห็นถึงความจำเป็นมากกว่าไฟฟ้า เพราะการติดต่อสื่อสารระหว่างกรุงเพทฯ กับหัวเมืองถือเป็นสิ่งสำคัญต่อการปกครองและการทหาร
ไฟฟ้าในสมัยรัชกาลที่ 5 จึงมีใช้เพื่อจุดประสงค์ให้แสงสว่างเป็นหลัก อุปกรณ์หรือเครื่องใช้ไฟฟ้ายังมีไม่มาก จะมีเพียงพัดลมแต่ก็มีไม่มาก โดยมีใช้ตามตำหนักพระภรรยาเจ้าและพระภรรยาในพระบรมมหาราชวัง แต่ส่วนใหญ่แล้วจะใช้ไฟฟ้าเพื่อการทำแสงสว่าง ไฟฟ้าในยุคนั้นจึงเป็นของฟุ่มเฟือยสำหรับชนชั้นนำมากกว่าเรื่องจำเป็นสำหรับคนทั่วไป เพราะอุปกรณ์ให้แสงสว่างแบบอื่นยังนิยมใช้กันอยู่ และมีค่าใช้จ่ายถูกกว่าไฟฟ้ามาก ไฟฟ้าในยุคแรกจึงจำกัดอยู่แค่การให้แสงสว่าง และไม่แพร่หลายสู่ราษฎรทั่วไป
ไฟฟ้ามีใช้ในพระบรมมหาราชวัง สถานที่ราชการ และถนนหนทางเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งรัฐเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย ส่วนไฟฟ้าตามบ้านขุนนาง ชาวต่างชาติ ที่มีกำลังซื้อมากนั้นก็มีเพียงไม่กี่คน หากเทียบกับการใช้ไฟฟ้าของรัฐแล้ว ก็ถือเป็นแต่เพียงส่วนน้อย
ในพระบรมมหาราชวังจะติดตั้งโคมไฟฟ้าตามแต่ละสถานที่ เน้นสถานที่ส่วนรวมหรือเป็นสถานที่ที่คนหมู่มากใช้ร่วมกัน เช่น ตามตำหนักต่าง ๆ พระที่นั่งองค์สำคัญ ๆ อย่างพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ติดตั้งโคมไฟฟ้าบริเวณ เฉลียง อ่างแก้ว ห้องเสวย ท้องพระโรง สนามหญ้าพระที่นั่ง โดยพระที่นั่งจักรีมหาปราสาทมีการติดโคมไฟถึง 729 ดวง โดยติดตั้งโคมไฟฟ้าเพื่อความสวยงาม ประดับตกแต่ง ความโอ่อ่า ส่วนสถานที่ราชการต่าง ๆ ก็ติดตั้งโคมไฟฟ้าเพื่อให้แสงสว่างและอำนวยความสะดวกในการทำงาน แต่จะมีปริมาณน้อยกว่าในพระบรมมหาราชวัง
การให้แสงสว่าง โดยเฉพาะในหมู่ชนชั้นนำสมัยรัชกาลที่ 5 แทนอุปกรณ์ให้แสงสว่างแบบเดิม อาทิ โคม เทียนไข ตะเกียง ฯลฯ ทำให้กลุ่มชนชั้นนำที่รู้จักใช้ไฟฟ้ากลายเป็นผู้ทันสมัย มั่งคั่ง ร่ำรวย เพราะสามารถซื้อโคมไฟฟ้าซึ่งมีราคาสูงมาใช้ได้ แสงไฟฟ้ายังกลายเป็นสัญลักษณ์ของความหรูหราของบ้านเรือน งานพิธี เท่ากับว่ากลายเป็นสินค้าที่มีความหมายในเชิงสังคม ในแง่ช่วยยกสถานภาพของผู้ใช้ให้เป็นผู้มั่งคั่ง หรูหรา และมีเกียรติ กลายเป็นเครื่องวัดสถานภาพคน
ท้องพระโรงกลาง พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ภาพถ่ายเก่าสมัยรัชกาลที่ 5
ในสมัยรัชกาลที่ 6 ไฟฟ้าก็ยังมีความสำคัญต่อพระบรมมหาราชวังและหน่วยงานราชการอย่างมาก เมื่อสถานที่ราชการและถนนขยายไปมากเท่าใด รัฐก็ยิ่งจำเป็นต้องใช้ไฟฟ้ามากขึ้นเท่านั้น รัฐจึงเป็นลูกค้ารายใหญ่ที่สุดของกิจการไฟฟ้าในสมัยนั้น นอกจากนี้วังของเจ้านายองค์ต่าง ๆ ที่อยู่นอกพระบรมมหาราชวัง, บ้านเรือนขุนนางผู้ใหญ่, บริษัทห้างร้านของชาวตะวันตก ก็นิยมใช้ไฟฟ้าเช่นกัน ขณะที่ชาวบ้านราษฎรทั่วไปเริ่มเข้าถึงไฟฟ้ามากขึ้นแล้ว แต่คงเฉพาะพวกพ่อค้าคหบดี คาดว่าราว พ.ศ. 2468 พวกพ่อค้าคหบดีในกรุงเทพฯ มีไฟฟ้าใช้ประมาณ 700 คน
ไฟฟ้ายังมีส่วนสำคัญต่อกิจการรถรางไฟฟ้าที่เดินรถในกรุงเทพฯ ซึ่งเดิมใช้ไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าวัดราชบูรณะ (วัดเลียบ) แต่ต่อมาเมื่อมีการเพิ่มเส้นทางและจำนวนรถรางไฟฟ้ามากขึ้น จึงได้ตั้งโรงไฟฟ้าย่อยขึ้นเพื่อจ่ายไฟฟ้าไปยังรถรางไฟฟ้าสายต่าง ๆ โดยเฉพาะ นอกจากนี้ ไฟฟ้ายังมีประโยชน์จากต่อสิ่งอำนวยความสะดวกและการบันเทิงในสยาม ซึ่งเริ่มต้นการใช้ประโยชน์ในลักษณะนี้มาตั้งแต่ปลายสมัยรัชกาลที่ 5 บ้างแล้ว
ไฟฟ้ายังมีส่วนทำให้วิถีชีวิตของผู้คนเปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะการกำเนิดขึ้นของ ‘ความบันเทิงยามค่ำคืน’ กล่าวคือ ไฟฟ้าได้ทำให้เกิดสถานบันเทิงยามราตรีขึ้น เช่น โรงละครปรีดาลัย จะเปิดการแสดงในเวลากลางคืน เฉพาะวันเสาร์และวันอาทิตย์ เป็นโรงละครที่สร้างขึ้นโดยกรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ในช่วงประมาณปลายรัชกาลที่ 5 เป็นสถานที่แสดงละครร้องที่มีผู้นิยมมาดูเป็นจํานวนมาก นับตั้งแต่รัชกาลที่ 5 พระบรมวงศานุวงศ์ ชาวต่างชาติ และอื่น ๆ โรงละครปรีดาลัยนี้ใช้ไฟฟ้าในการให้แสงสว่างแก่ผู้ดูละครเป็นจำนวนไม่น้อย ต่อมาก็เกิดโรงละครเช่นนี้อีกมากมาย
แหล่งบันเทิงอีกอย่างที่เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 คือ โรงภาพยนตร์ ชาวญี่ปุ่นนําภาพยนตร์เข้ามาฉายในไทยในราว พ.ศ. 2447-2448 ในระยะแรก ๆ มีคนไทยและต่างชาติไปอุดหนุนกันอย่างแน่นขนัด เพราะเป็นของใหม่ โรงภาพยนตร์เหล่านี้ฉายในเวลากลางคืน ตั้งแต่ตอนค่ำเป็นต้นไป
กลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าได้ขยายกลุ่มการใช้จากระดับสูงลงสู่ระดับล่าง โดยที่สมัยแรกเริ่มของกิจกาจไฟฟ้า กลุ่มผู้ใช้จำกัดอยู่เฉพาะชนชั้นนำและหน่วยงานราชการเป็นหลัก และไฟฟ้าจะถูกใช้เพื่อให้แสงสว่างเท่านั้น ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 6 การใช้ไฟฟ้าได้ขยายตัวไปมากขึ้น แต่พื้นที่การจําหน่ายไฟฟ้าจำกัดอยู่ในส่วนกลาง
แม้ไฟฟ้าในยุคแรกเริ่มจะดูมีความสำคัญไม่มากนัก ไม่เป็นที่นิยม และประสบปัญหาหลายประการ แต่ไฟฟ้าเป็นวิทยาการพื้นฐานที่สำคัญต่อประเทศในยุคต่อมา ดังจะเห็นได้ว่า โทรเลขที่เคยมีบทบาทสำคัญกว่าไฟฟ้าก็ได้หมดความสำคัญไปอย่างสิ้นเชิง แล้วไฟฟ้าจึงค่อย ๆ เพิ่มความสำคัญต่อชีวิตและเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของคนไทยไปอย่างสิ้นเชิง
อ้างอิง :
วิภารัตน์ ดีอ่อง. (2534). พัฒนาการของกิจการไฟฟ้าในประเทศไทยระหว่างปี พ.ศ. 2427-2488. วิทยานิพนธ์ ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (ประวัติศาสตร์), มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 14 พฤษภาคม 2563
The post แรกมี “ไฟฟ้า” ในสยาม สิ่งฟุ่มเฟือยของชนชั้นนำ สู่กิจการโรงไฟฟ้า ไทยทำเจ๊ง ฝรั่งทำรุ่ง appeared first on Thailand News.