ติดตามผ่านช่อง : Siammongkol Youtube Channel

ไฉนสื่ออเมริกันเทียบชาวสยามเป็น “ชาวแฟรงค์แห่งเอเชีย” นักสู้เพื่อแผ่นดิน

ไฉนสื่ออเมริกันเทียบชาวสยามเป็น “ชาวแฟรงค์แห่งเอเชีย” นักสู้เพื่อแผ่นดิน

ภาพประกอบเนื้อหา – ภาพวาด การศึก Battle of Crécy ระหว่างอังกฤษ กับ ฝรั่งเศส เมื่อ 1346 ช่วงสงครามร้อยปี โดย Jean Froissart คาดว่าวาดสมัยศตวรรษที่ 15 (ไฟล์ public domain)

…สหรัฐอเมริกาเป็นชาติมหาอำนาจจากโลกใหม่ที่เติบโตอย่างรวดเร็วภายหลังการแยกตัวออกมาจากอาณานิคมเก่าของอังกฤษ ชาวอเมริกันจึงมองปูมหลังของตนเองอย่างนักวิเคราะห์ที่มีใจเป็นกลางถึงขั้วอำนาจแห่งโลกเก่าที่เคยกดขี่ข่มเหงตนมาก่อน และยกอุทาหรณ์เกี่ยวกับความกล้าหาญเด็ดเดี่ยวของชาวแฟรงค์ ผู้เป็นบรรพบุรุษของชาวยุโรปก่อนตั้งตัวเป็นปึกแผ่นของประชาคมยุโรป ในภายหลังว่ามีพื้นเพและประวัติความเป็นมาคล้ายชาวสยามในยุคเปิดประเทศ [8]

การต่อสู้เพื่อมาตุภูมิและความเสียสละของพระเจ้าแผ่นดินไทยในช่วงที่อังกฤษแผ่อำนาจเข้ามาไม่ต่างอะไรกับชนเผ่าแฟรงค์ที่เคยสร้างชาติของตนจนมั่นคงสถาพรให้ลูกหลานได้ภาคภูมิใจในภายภาคหน้า

บทความพิเศษจากหน้าหนังสือพิมพ์อเมริกัน ใน ค.ศ. 1857 ในยุคที่รัชกาลที่ 4 ทรงใช้นโยบายใหม่ๆ ต่อกรกับชาตินักล่าอาณานิคมเป็นที่เลื่อมใสของชาวอเมริกันผู้รักอิสระและปลดแอกตนเองมาแล้วจากการกดขี่ข่มเหงของพวกอังกฤษในยุคสร้างชาติอเมริกาบรรยายไว้โดยสังเขปว่า

ชาวสยาม-ชาวแฟรงค์แห่งเอเชีย The Siamese-The Franks of Asia

“สัญญาสำคัญฉบับหนึ่งที่รัฐบาล (อเมริกัน) ของเราจัดทำขึ้น คือสนธิสัญญาไมตรีและพาณิชย์กับประเทศสยาม โดยการเจรจาของท่าน ฯพณฯ ทาวน์เซ็น แฮริส

พระเจ้าแผ่นดินสยามทั้ง 2 พระองค์ [พระจอมเกล้าฯ และพระปิ่นเกล้าฯ – ผู้เขียน] ทรงมีความปรารถนาอันแรงกล้าที่จะติดต่อและสร้างสัมพันธ์อันดีกับทุกชาติตะวันตกรวมทั้งสหรัฐอเมริกา

มีเหตุผลหลายประการที่สยาม หรือชาวอารยันแห่งทวีปเอเชียแบบเดียวกับชนชาวแฟรงค์ นักสู้แห่งแผ่นดินยุโรปสมควรจะได้รับการกล่าวขานและนับถือเช่นกันด้วยวีรกรรมอันน่ายกย่อง ซึ่งเป็นที่รับรู้กันจากการเปิดเผยตัวตนต่อโลกภายนอกในเวลานี้ [8]

อาณาจักรของพวกเขานั้นสมบูรณ์พูนสุข มีขนาดไล่เลี่ยกับรัฐโอเรแกนของเรา เป็นที่อยู่ของพลเมืองผู้เต็มไปด้วยวิริยะอุตสาหะ ใจกว้าง และมีอัธยาศัยที่เป็นมิตร ปกครองโดยราชวงศ์เก่าแก่สืบทอดมายาวนาน พระเจ้าแผ่นดินองค์ปัจจุบัน (พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) ทรงเป็นกษัตริย์ผู้ซื่อตรงและปราดเปรื่อง สนพระราชหฤทัยในภาษาต่างประเทศและยอมรับวัฒนธรรมของอารยชนและทรงศึกษามันอย่างลึกซึ้ง

ทรงสันทัดในการเขียนภาษาอังกฤษด้วยความช่ำชองและทรงแสดงออกอย่างเปิดเผยที่จะปรับปรุงเปลี่ยนแปลงประเทศของพระองค์ตามแนวทางของประเทศที่เจริญแล้ว

อาณาจักรของพระองค์ตั้งอยู่กึ่งกลางระหว่างจักรวรรดิจีนและดินแดนของอังกฤษ ในเวลานี้กองเรืออันทรงอานุภาพของเครือจักรภพเดินหน้าคุกคามเข้าไปตามลำน้ำฮวงโหและแยงซีเกียง ในช่วงเดียวกันก็รุกรานเข้าไปตามลำน้ำอิรวดีจนถึงย่างกุ้ง

สยามและประเทศเพื่อนบ้านอันได้แก่ลาวและญวน ล้วนเป็นเสมือนดินแดนกันกระทบที่คอยปะทะผู้รุกรานเท่านั้น และเป็นปราการด่านสุดท้ายของเอเชียที่จะต้านทานความอหังการ์ของประเทศเจ้าอาณานิคมไว้ได้

สถานการณ์ในเวลานี้ชี้ชัดว่าพวกชาวอังกฤษจะไม่หยุดยั้งเพียงเท่านี้ แต่ยังจะเดินหน้าคุกคามสันติภาพในดินแดนแถบนี้ต่อไป ดังเช่นที่อังกฤษเคยราวีมาแล้วกับตุรกี

ชาวสยามก็เช่นเดียวกันกับชาวเอเชียกลุ่มอื่นๆ ที่ต้องคอยปกป้องตนเองให้รอดพ้นจากการแทรกแซงของพวกอันธพาลต่างถิ่น แต่ด้วยวิสัยทัศน์ที่มีหลักการชัดเจนและมิได้เกรงกลัวต่อผู้รุกรานเลย แต่กลับทรงดำเนินนโยบายต่างๆ ด้วยความสุขุมคัมภีรภาพ

เป็นเวลากว่า 500 ปีมาแล้วที่สยามหรือที่ถูกขนานนามว่าเป็นแผ่นดินของชาวแฟรงค์ เป็นที่อยู่ของอิสรชนต้นแบบ แม้นว่าจะเป็นเครือข่ายบริวารของจักรวรรดิจีนมาก่อน แต่ก็เป็นเพียงสัญลักษณ์เท่านั้น เพราะสยามมิใช่ดินแดนในอาณัติของจีน แต่ผูกพันอยู่กับจีนตามประเพณีโบราณเก่าแก่เท่านั้น [8]

เมื่อ เซอร์จอห์น เบาริ่ง ผู้แทนจากรัฐบาลอังกฤษเดินทางเข้ามายังสยาม เขาก็พบว่าที่แห่งนี้ปกครองโดยกษัตริย์ผู้มีวัฒนธรรม พระองค์ต้อนรับทูตอังกฤษอย่างนอบน้อมในฉลองพระองค์อย่างพระราชาประดับด้วยพระมหามงกุฎอันล้ำค่าเฉกเช่นประมุขแห่งราชบัลลังก์ในยุโรป ทรงยื่นซิการ์อย่างดีให้เซอร์จอห์นด้วยอาการที่เป็นมิตรตามวัฒนธรรมแบบผู้ดีในประเทศที่เจริญแล้ว

ภายใต้สนธิสัญญาฉบับใหม่ของสยามกับอังกฤษ ฝรั่งเศส รัสเซีย และสหรัฐอเมริกา ทำให้เชื่อว่าราชอาณาจักรนี้จะเป็นตัวอย่างอันดีและเป็นต้นฉบับน่ายกย่องในหมู่ประชาชาติเอเชียให้เจริญรอยตาม [8]

ภาพลักษณ์และอิทธิพลของอเมริกัน บัดนี้ขยายตัวออกไปทั่วทวีปเอเชีย (ไม่น้อยหน้าพวกอังกฤษ) เกิดจากปัจจัยความมีใจกว้างและความโอบอ้อมอารีของพระเจ้าแผ่นดินสยามผู้มองการณ์ไกล ความมีจิตใจเอื้อเฟื้อใฝ่หาความเสมอภาค และอยู่ร่วมกันอย่างสันติและแสวงหาภราดรภาพด้วยน้ำใสใจจริง

ถ้าหากว่าอิทธิพลของอังกฤษถูกกำจัดออกไป เครือข่ายของพวกอังกฤษในนามบริษัทอินเดียตะวันออกก็จะถูกจำกัดควบคุมไว้ มิให้เลยเถิดได้อีกต่อไป แต่ถ้าหากว่าอังกฤษยังดันทุรังที่จะวางก้ามแบบไม่มีขอบเขตต่อไป ก็อาจจะถึงเวลาแล้วที่สหรัฐอเมริกาจะได้ประกาศศักดาโดยไม่หวั่นเกรงมิให้อังกฤษลืมตัวว่าเป็นผู้ผูกขาดในภูมิภาคนี้แต่ฝ่ายเดียวดังที่ผ่านมา” [8]

ทำไมจึงเปรียบเทียบชาวแฟรงค์?

ไม่น่าแปลกใจเลยที่คนภายนอกประเทศเมื่อ 160 ปีมาแล้วมองสยามว่าเด็ดเดี่ยว กล้าหาญแบบชาวแฟรงค์ เพราะตามประวัติแล้วก่อนที่ประชาคมยุโรปจะเจริญถึงขีดสุด ในวันนี้ก็เคยนับศูนย์มาก่อน โดยมีชนชาวแฟรงค์เป็นผู้บุกเบิกก่อนจะสามารถก่อร่างสร้างตัวขึ้นมาเป็นปึกแผ่นได้เช่นกัน [8]

เรื่องมีอยู่ว่าภายหลังการล่มสลายของกรุงโรม (จักรวรรดิโรมันโบราณเมื่อปลายคริสต์ศตวรรษที่ 5- ผู้เขียน) นั้น ทวีปยุโรปยังเป็นบ้านป่าเมืองเถื่อน ปกครองโดยชาวชนเผ่าต่างๆ ที่รวมกันเป็นเมือง หลายเมืองเข้าก็สถาปนาตนเองขึ้นเป็นนครรัฐแบบหลวมๆ

จักรวรรดิโรมันเสื่อมโทรมลงตั้งแต่ประมาณ ค.ศ. 476 ด้วยปัจจัยต่อไปนี้ คือ 1. การสืบราชบัลลังก์ของซีซาร์ไม่เป็นระเบียบแบบแผน 2. การค้ากับโลกภายนอกเสื่อมทรามลง และ 3. ชนเผ่าเยอรมันจากยุโรปเหนือรุกราน ทำให้ล่มสลายลงในที่สุด

ชนเผ่าต่างๆ ที่ซ่องสุมกำลังและทวีความแข็งแกร่งจากยุโรปเหนือผู้มีบทบาทในการจัดตั้งนครรัฐต่อจากชาวโรมันประกอบด้วย 1. ชาววิสิโกธ (รวมตัวได้ในสเปน) 2. ชาวออสโตรโกธ (รวมตัวได้ในอิตาลี) 3. ชาวแซกซั่น (รวมตัวได้ในอังกฤษ) 4. ชาวแวนดัลส์ (รวมตัวได้ในแอฟริกาตอนเหนือ) และ 5. ชาวแฟรงค์ (รวมตัวได้ในดินแดนกอลส์ซึ่งต่อมาก็คือแผ่นดินฝรั่งเศส) [5]

การจัดตั้งนครรัฐยุคใหม่ก่อให้เกิด “ประวัติศาสตร์สมัยกลาง” ค.ศ. 500-1500 หรือในภาษาอังกฤษเรียกว่า Medieval Period ในยุคนี้ชนชาติที่ประสบความสำเร็จและมั่นคงสถาพร จนกระทั่งสามารถจัดตั้งประเทศชาติได้เป็นรูปธรรมที่สุดก็คือ “ชาวแฟรงค์”

“อาณาจักรแฟรงค์” ได้รับการสถาปนาโดยปฐมกษัตริย์ของชาวแฟรงค์ พระนามว่า พระเจ้าโคลวิส (Clovis) พระราชาพระองค์แรกของชนเผ่าแฟรงค์ ภายหลังรบชนะชนเผ่าวิสิโกธ ในดินแดนกอลส์และยึดมาเป็นของพระองค์ได้สำเร็จ นักประวัติศาสตร์จึงนับว่าพระเจ้าโคลวิสเป็นปฐมกษัตริย์ของประเทศฝรั่งเศสด้วย [6]

ภายหลังตั้งบ้านเมืองได้มั่นคงถาวรแล้ว รัชสมัยต่อมาของพระเจ้าชาร์เลอมาญมหาราช (Charlemagne the Great) แห่งราชวงศ์คาโรแล็งเชียงส์ ทรงก้าวขึ้นมาเป็นพระมหากษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ ผู้ปฏิรูปและวางรากฐานความเจริญแก่อาณาจักรแฟรงค์ในยุคเฟื่องฟูถึงขีดสุด

สถานะของพระเจ้าแผ่นดินจากประเทศ “โนเนม” ในสมัยบุกเบิกถูกยกฐานะให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากลเมื่อพระสันตะปาปาเลโอที่ 3 แห่งกรุงวาติกัน ได้ทรงสวมมงกุฎให้พระเจ้าชาร์เลอมาญเป็นพระจักรพรรดิแห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์อีกด้วย

สัมพันธภาพจากการที่ประมุขแห่งอาณาจักรเป็นที่ยอมรับของประมุขทางฝ่ายศาสนจักรนั้น นับเป็นปรากฏการณ์สำคัญ เพราะย่อมส่งผลให้อาณาจักรแฟรงค์เป็นที่เคารพนับถือของอาณาจักรอื่นๆ ในทวีปยุโรปที่เคารพนบนอบต่อพระสันตะปาปาโดยถ้วนหน้า

ทั้งยังเป็นข้อพิสูจน์ว่าจักรวรรดิโรมันเป็นสถาบันที่มีศักดิ์ศรีสูงส่งมากในจิตใจของผู้ที่มีอารยธรรมตะวันตก แม้นว่าจักรวรรดิโรมันจริงๆ จะล่มสลายไปแล้วเมื่อมีกษัตริย์ผู้ทรงอานุภาพเกิดขึ้นมาอย่างพระเจ้าชาร์เลอมาญ พระสันตะปาปาก็มีพระประสงค์จะสืบทอดอารยธรรมตะวันตกไว้ไม่ให้ขาดระยะโดยการเฉลิมพระนามพระเจ้าชาร์เลอมาญเป็นจักรพรรดิแห่งจักรวรรดิโรมันไว้ด้วย

พระกิตติศัพท์ของพระเจ้าชาร์เลอมาญก็เลื่องลือไปไกลทั่วทุกสารทิศ ทรงเป็นนักสู้เพื่อแผ่นดินอย่างแท้จริงทั้งการรบ การเมือง และการปกครอง ทรงเฉลียวฉลาดและเต็มไปด้วยปฏิภาณไหวพริบ พระอัจฉริยภาพส่วนพระองค์จึงโดดเด่นเป็นที่ยอมรับทั้งภายนอกและภายในราชอาณาจักร [6]

ทรงใช้คนเป็นและทรงมีบารมีเป็นที่เคารพนับถือของเสนาอำมาตย์น้อยใหญ่ เรื่องใดสำคัญสำหรับข้อราชการแผ่นดินก็จะทรงให้โอกาสขุนนางผู้ใหญ่รับรู้และปรึกษาหารือกัน แต่การตัดสินใจต้องเป็นของพระองค์ครอบคลุมถึงพระบรมราโชบายและพระราชวินิจฉัยในกิจการบ้านเมือง ล้วนได้รับการไตร่ตรองอย่างรอบคอบแม้นว่าพระราชานุกิจจะมากมายเพียงใด

ชาวแฟรงค์เป็นชนชาติที่มีความเชื่อว่ากฎหมายนั้นเป็นสิ่งที่มีมาในธรรมชาติ แม้แต่พระเจ้าชาร์เลอมาญก็ไม่ทรงลุแก่อำนาจร่างกฎหมายใดๆ ตามพระราชหฤทัยปรารถนา แต่จะทรงออกกฎหมายใดก็เพื่อแก้ไขปัญหาสถานการณ์ใดสถานการณ์หนึ่ง โดยพระองค์จะทรงประกาศคำสั่งหรือเป็นคำสอนให้พลเมืองทำตาม [6]

อาณาจักรของชาวแฟรงค์ หรือ “ประเทศฝรั่งเศส” ในยุคแรกก็เจริญรุ่งเรืองกว่าราชอาณาจักรใดของทวีปยุโรปในสมัยเดียวกัน โดยที่ทางภาคเหนือจรดถึงเดนมาร์ก (สแกนดิเนเวีย) ภาคตะวันตกจรดออสเตรีย-ฮังการี (ยุโรปตะวันออก) ภาคใต้จรดสเปน (ซึ่งปกครองโดยพวกมุสลิมในยุคนั้น) ซึ่งนับว่าเป็นอาณาจักรที่ใหญ่โตกว้างขวางมากที่สุดในยุคกลาง

อิทธิพลของพระเจ้าชาร์เลอมาญที่มีต่อราชอาณาจักรแฟรงค์ และต่อโลกที่ต้องจารึกไว้คือ

1. ทรงรวบรวมและปกป้องดินแดนของฝรั่งเศสเข้าเป็นปึกแผ่นอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน

2. ทรงทำให้ราชบัลลังก์ฝรั่งเศสเป็นที่ยอมรับของศาสนจักร (วาติกัน) และเป็นศูนย์กลางของคริสต์ศาสนาโรมันคาทอลิกในสมัยหลัง

3. ทรงสนับสนุนให้การศึกษาและปลูกฝังค่านิยมทางวัฒนธรรมแก่คนรุ่นหลังด้วยความใจกว้าง

4. ทรงวางระเบียบแบบแผนด้านการปกครอง โดยมีเหล่าขุนนางรับผิดชอบ และโดยมีพระราชาเป็นศูนย์กลางกำกับดูแลอีกทีหนึ่ง

5. ทรงวางรากฐานสังคมภายใต้กฎหมายอย่างมีขั้นตอนและค่อยเป็นค่อยไป

6. ทรงเรียกความเชื่อมั่นจากศัตรูและกระชับมิตรภาพของรัฐบริวาร จนเป็นที่ยอมรับและนับถือจากนานาอารยประเทศอย่างกว้างขวางและสนิทใจ [5]

จากการวิเคราะห์เปรียบเทียบแล้ว ราชบัลลังก์ไทยในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ก็ถูกสร้างขึ้นบนพื้นฐานแบบเดียวกันและในทิศทางเดียวกัน จึงเติบโตขึ้นมาจากมาตรฐานและคุณสมบัติที่ถูกมองโดยชาวต่างชาติว่าประสบความสำเร็จอย่างสูงในเวลาอันสั้นและรวดเร็ว ทว่าเพื่อความมั่นคงถาวรในระยะยาวเช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นมาแล้วในอาณาจักรของชาวแฟรงค์ก่อนหน้านั้น

[8]

รัชกาลที่ 4 แห่งสยามจึงทรงได้รับการเปรียบเปรยว่ายิ่งใหญ่ทัดเทียมพระเจ้าชาร์เลอมาญ จนเป็นที่เคารพนับถือของชาวต่างชาติด้วยเดชะพระบารมีอันแยบคายและเด่นชัด ส่งเสริมให้ชาวสยามถูกขนานนามว่าเป็น “ชาวแฟรงค์แห่งเอเชีย” ได้อย่างเต็มภาคภูมิ

อ่านเพิ่มเติม :

เอกสารประกอบการค้นคว้า :

[5] ปรีชา ศรีวาลัย, พลอากาศตรี. ประวัติศาสตร์สากล. สำนักพิมพ์โอเดียนสโตร์, 2542.

[6] สุริยา รัตนกุล, คุณหญิง. อารยธรรมตะวันตก. บริษัทเพชรรุ่งการพิมพ์ จำกัด, 2545.

[8] HARPER’S WEEKLY, 18 July 1857.

หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความ “สถาบันกษัตริย์เด่นที่สุดในเอเชีย ชาวสยามถูกยกเทียบชาวแฟรงค์ นักสู้เพื่อแผ่นดิน” เขียนโดย ไกรฤกษ์ นานา ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับเมษายน 2561

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 24 มีนาคม 2565

Source: https://www.silpa-mag.com

The post ไฉนสื่ออเมริกันเทียบชาวสยามเป็น “ชาวแฟรงค์แห่งเอเชีย” นักสู้เพื่อแผ่นดิน appeared first on Thailand News.