ติดตามผ่านช่อง : Siammongkol Youtube Channel

ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ เป็นประธานการประชุมหัวหน้าส่วนราชการประจำจังหวัดสมุทรปราการผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ครั้งที่ 3/2565

เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2565 เวลา 10.00 น. นายวันชัย คงเกษม ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ เป็นประธานการประชุมหัวหน้าส่วนราชการประจำจังหวัดสมุทรปราการผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ครั้งที่ 3/2565 ณ ห้องประชุม 1 ชั้น 2 ศาลากลางจังหวัดสมุทรปราการ โดยมี นายศุภมิตร ชิณศรี รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ นายชัยพจน์ จรูญพงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ นายเจนเจตน์ เจนนาวิน รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ นายประทีป นทีทวีวัฒน์ ปลัดจังหวัดสมุทรปราการ พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการ และนายอำเภอ เข้าร่วมการประชุมโดยพร้อมเพรียง
โดยก่อนการประชุมผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการเป็นประธานมอบเกียรติบัตรผู้ได้รับรางวัลด้านสวดมนต์สรภัญญะ และด้านบรรยายธรรม ประจำปี พ.ศ. 2565 มอบเกียรติบัตรให้แก่ข้าราชการกรมที่ดินผู้มีคุณธรรมและจริยธรรมดีเด่นประจำปี พ.ศ. 2564 และมอบโล่เกียรติคุณ “อาสาสมัครคุมประพฤติ กระทรวงยุติธรรม ดีเด่น
พ.ศ. 2564″
ที่ประชุมได้รับทราบกรณีหัวหน้าส่วนราชการที่ย้ายมาดำรงตำแหน่ง ดังนี้
1. นายมานพ ชมชื่น ตำแหน่ง ตำแหน่ง ผู้บัญชาการเรือนจำกลางสมุทรปราการ
2. นางสาวปาณิสรา สลากรธนวัฒน์ ตำแหน่ง หัวหน้าบ้านพักเด็กและครอบครัวจังหวัดสมุทรปราการ
3. นางพัชรางส์ ชัยวรมุขกุล ตำแหน่ง รักษาการในตำแหน่ง อัยการจังหวัดสมุทรปราการ
4. นายชนะ พรหมพิทักษ์กุล ตำแหน่ง ผู้อำนวยการสำนักงานบังคับคดีจังหวัดสมุทรปราการ
5. เรือเอก จิรวัฒน์ โอจารุทิพย์ ตำแหน่ง ตำแหน่งผู้อำนวยการกองบริการฝ่ายการร่องน้ำ การท่าเรือแห่งประเทศไทย
ที่ประชุมได้มีการหารือและรับทราบสถานการณ์ และมาตรการ โรคระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ในพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการ / สถานการณ์ความมั่นคงจังหวัดสมุทรปราการ ประจำเดือนมีนาคม 2565/ รายงานสถานการณ์ภาวะเศรษฐกิจประจำเดือนมีนาคม 2565 / ผลการเบิกจ่ายเงินงบประมาณของจังหวัดประจำเดือนมีนาคม 2565 / ผลการดำเนินงานป้องกัน ปราบปรามและแก้ไขปัญหายาเสพติดจังหวัดสมุทรปราการ ประจำเดือนมีนาคม 2565 / เรื่อง การดำเนินกิจกรรมจัดตั้ง 3 ด่าน ประสานใจครอบครัวปลอดภัยทุกเทศกาล ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ปี 2565 / สาธารณภัยของจังหวัดสมุทรปราการ ประจำเดือนมีนาคม 2565 / การดำเนินการตามนโยบายบริหารจัดการน้ำของจังหวัดสมุทรปราการ ประจำเดือนมีนาคม 2565 / ผลการปฏิบัติการแก้ไขปัญหาผักตบชวาของจังหวัดสมุทรปราการ ประจำเดือนมีนาคม 2565 และผลการดำเนินงานของศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดสมุทรปราการประจำเดือนมีนาคม 2565
ในการนี้ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการได้มีข้อเน้นย้ำ ข้อสั่งการในประเด็นสำคัญ ดังนี้
1. การป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด – 19
1.1 รณรงค์ขอความร่วมมือประชาชนปฏิบัติตามมาตรการ VUCA ได้แก่ V=Vaccine ฉีดวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน ลดโอกาสการป่วยหนักและเสียชีวิต U=Universal Prevention คือ การป้องกันตัวเองตลอดเวลา ด้วยการสวมหน้ากากอนามัย 100% เว้นระยะห่าง และหมั่นล้างมือด้วยน้ำสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์ ล้างมือสม่ำเสมอ C-Covid Free Setting คือ ร้านค้าและสถานประกอบการต้องมีการจำกัดจำนวนผู้ใช้บริการ จัดให้มีการเว้น
ระยะห่าง ผู้ให้บริการต้องได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์ และมีการตรวจ ATK ทุกสัปดาห์ และ A=ATK โดยรณรงค์ให้มีการตรวจวัดอุณหภูมิ ตรวจเชื้อโรคโควิด – 19 โดยเฉพาะผู้ที่มีอาการน่าสงสัยและมีประวัติสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ที่สงสัยติดเชื้อ หรือเดินทางไปยังพื้นที่กลุ่มเสี่ยง ให้รีบพบแพทย์และแจ้งข้อมูลทันที ใช้แอปพลิเคชันหมอชนะ/ไทยชนะ ทุกกลไกในระดับพื้นที่ ทั้งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำชุมชน หอกระจายข่าว และเสียงตามสายในพื้นที่
1.2 ห้ามจัดกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรค ตามมาตรการปลอดภัยสำหรับองค์กร (COVID-Free Setting)
1.3 มาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดเฉพาะสถานที่
1.4 การเร่งฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นเพื่อป้องกันโควิด – 19
2. การแก้ไขปัญหาความยากจนแบบพุ่งเป้าด้วย TPMAP
ด้วยกระทรวงมหาดไทยมีนโยบายในการแก้ไขปัญหาความยากจนแบบพุ่งเป้าด้วย TPMAP โดยเน้นแนวทางขับเคลื่อนการดำเนินงานของศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (ศจพ.) ในระดับพื้นที่
เพื่อให้การแก้ไขปัญหาความยากจนแบบพุ่งเป้าด้วย TPMAP เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ จึงขอเน้นย้ำให้ทุกหน่วยงานและส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการ ดังนี้
1) ใช้ข้อมูลจากระบบบริหารจัดการข้อมูลการพัฒนาคนแบบชี้เป้า (Thai People Map and Analytics Platform) หรือ TPMAP เป็นฐานข้อมูลในการขับเคลื่อน โดยเน้นย้ำการแก้ไขปัญหาความยากจนให้เสร็จสิ้นในระดับอำเภอ บูรณาการส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในอำเภอแก้ไขปัญหาด้วยการนำแนวทางจากเมนูแก้จน �5 ด้าน จาก TPMAP ได้แก่ 1) สุขภาพ 2) ความเป็นอยู่ 3) การศึกษา 4) ด้านรายได้ และ 5) การเข้าถึงบริการภาครัฐ
2) ให้อำเภอจัดตั้งศูนย์ประสานงานช่วยเหลือประชาชน เพื่ออำนวยความสะดวก รวบรวมปัญหาความต้องการของประชาชน และประสานงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความช่วยเหลือ/แก้ไขปัญหา
3) ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นช่วยเหลือประชาชนผ่านการจัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือประชาชนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชน เป็นศูนย์ข้อมูลที่รวบรวมปัญหาความต้องการของประชาชนและประสานการดำเนินงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการให้ความช่วยเหลือประชาชนผู้ได้รับความเดือดร้อนด้านต่าง ๆ ได้แก่ ด้านสาธารณภัย ด้านการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิต ด้านการป้องกันและควบคุมโรคติดต่อ การช่วยเหลือเกษตรกรผู้มีรายได้น้อย
4) ให้ศูนย์ดำรงธรรม เปิดช่องทางสายด่วน 1567 เพื่อเป็นช่องทางรับปัญหาความเดือดร้อนของ ศจพ.
3. แนวทางและมาตรการการจัดกิจกรรมในเทศกาลสงกรานต์ปี 2565
เพื่อให้การจัดกิจกรรมในเทศกาลสงกรานต์ปี 2565 ในพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการ เป็นไปตามแนวทางที่ ศบค. กำหนด จึงขอเน้นย้ำส่วนราชการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดกิจกรรมดังกล่าว ดำเนินการ ดังนี้
1) การจัดกิจกรรมรวมกลุ่มในชุมชน ศาสนสถาน ร้านอาหาร ขนส่งสาธารณะ การสรงน้ำพระ การละเล่น การแสดงทางวัฒนธรรม ประเพณีท้องถิ่น ขบวนแห่ การแสดงดนตรี ฯลฯ ขอให้ปฏิบัติ�ตามมาตรการ COVID Free Setting อย่างเคร่งครัด โดยให้
– ผู้จัดงานและกิจการ/กิจกรรม ลงทะเบียนบนระบบ Thai Stop COVID Plus (TSC2+)
– การตรวจ ATK ก่อนเข้าร่วมกิจกรรมเพื่อลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อ
– สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา พกเจลแอลกอฮอล์ รักษาระยะห่างตลอดเวลาร่วมงาน
– จัดกิจกรรมในที่มีการระบายอากาศได้ดีหรือโล่ง
– ห้ามผู้ติดเชื้อและผู้สัมผัสเสี่ยงสูงร่วมกิจกรรม
2) รณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ผู้สูงอายุซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยง 608 รีบเข้ารับการฉีดวัคซีนให้ครบตามเกณฑ์และรับวัคซีนเข้มกระตุ้นโดยเร็ว
4. การป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจากเหตุเพลิงไหม้หรือการระเบิดของวัตถุอันตราย
จากเหตุการณ์ไฟไหม้อุตสาหกรรมและเหตุระเบิดเรือบรรทุกน้ำมันเชื้อเพลิงบ่อยครั้งในห้วงเวลาที่ผ่านมา ดังนั้น เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์เหตุการณ์เพลิงไหม้ หรือการระเบิดของวัตถุอันตรายทั้งบนบกและทางน้ำขอให้สำนักงานป้องกันและบรรเทาสารณภัยจังหวัดสมุทรปราการ จัดประชุมหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เพื่อพิจารณารวบรวมข้อมูล ระเบียบ และข้อกฎหมายของหน่วยงานต่างๆ ในการบูรณาการจัดทำแผนเผชิญเหตุทุกระดับทั้งทางบกและทางน้ำ โดยประสานแผนร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และสถานประกอบการที่ครอบครองวัตถุอันตราย และให้มีการจัดเก็บแผนเชิญเหตุของสถานประกอบการไว้ที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ด้วย รวมทั้งจัดเตรียมทรัพยากร เครื่องจักร และอุปกรณ์ในการระงับเหตุสาธารณภัยทุกประเภทให้สามารถบูรณาการใช้งานร่วมกันได้ครอบคลุมทั่วทุกพื้นที่ การซักซ้อมแผนเผชิญเหตุประจำปีให้สถานประกอบการร่วมซักซ้อมแผนหน่วยงานทางราชการด้วย หากเกิดเหตุการณ์ที่รุนแรงที่ผู้ประกอบการไม่สามารถระงับเหตุการณ์ได้ด้วยตนเอง จะได้มีการประสานงานและร่วมกันระงับสถานการณ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ







เครดิตข่าวจากเว็บไซต์ สมุทรปราการ https://www2.samutprakan.go.th/