ติดตามผ่านช่อง : Siammongkol Youtube Channel

การปราบปรามคอมมิวนิสต์ในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ พ.ศ. 2501-2506

การปราบปรามคอมมิวนิสต์ในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ พ.ศ. 2501-2506

ประเทศไทยในห้วงเวลาหนึ่ง ที่อุดมการณ์ทางความคิดได้ถูกแบ่งออกเป็นสองขั้วคือ โลกเสรี (ที่มีอเมริกาหนุนหลัง บ้างก็เรียก ทุนนิยม หรือจักรวรรดินิยม) กับ คอมมิวนิสต์ (ที่มีโซเวียตคอยหนุน) ตามกระแสสงครามเย็น ผู้นำไทยในสมัยนั้นได้เข้าร่วมกับฝ่ายโลกเสรี (จักรวรรดินิยมอเมริกา) ต่อต้านคอมมิวนิสต์ ด้วยเกรงว่าประเทศไทยจะถูกกลืนเป็นคอมมิวนิสต์เหมือนในแถบอินโดจีนแบบทฤษฎีโดมิโน

ภาพลักษณ์ของคอมมิวนิสต์จึงถูกรัฐบาลสร้างขึ้นเสมือนเป็น “ปีศาจ” ทางการเมือง มีการกระพือข่าว ปลุกปั่นต่อต้าน และปราบปรามต่างๆ นานา กระทั่งมีการกวาดล้างฝ่ายตรงข้ามอย่างรุนแรงขึ้นในสมัยที่ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก้าวขึ้นมาเป็นผู้บริหารประเทศ ภายหลังจากการรัฐประหารโค่นล้มจอมพล ป. พิบูลสงคราม เมื่อ พ.ศ. 2500 และรัฐประหารอีกครั้งเมื่อ พ.ศ. 2501

ภาพเหตุการณ์ที่ จอมพลสฤษดิ์ นำคณะนักศึกษาเข้าพบ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่ทำเนียบรัฐบาล ภาพหลังจากการเดินขบวนประท้วงการเลือกตั้งสกปรก พ.ศ. 2500
ทันทีหลังจากการทำการรัฐประหาร จอมพลสฤษดิ์ได้ประกาศห้ามตั้งพรรคการเมือง ยกเลิกรัฐธรรมนูญ และห้ามชุมนุมทางการเมืองเกินห้าคน พร้อมกวาดล้างผู้ที่ขัดแย้งกับรัฐบาล ในวันที่ 6 พฤศจิกายน 2501 จอมพลสฤษดิ์ใช้อำนาจคณะปฏิวัติสั่งประหาร นายซ้ง แซ่ลิ้ม ข้อหาจ้างวานวางเพลิงที่ตำบลบางยี่เรือ กรุงเทพฯ ในวันที่ 26 มิถุนายน 2502 จอมพลสฤษดิ์ สั่งประหาร นายศิลา วงศ์สิน ข้อหากบฏผีบุญ ในเรื่องการปราบปรามนั้นจอมพลสฤษดิ์ได้ใช้มาตรการขั้นเด็ดขาด คือ ออกมาตรา 17 ตามธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ. 2502 ใจความว่า…

“ในระหว่างที่ใช้รัฐธรรมนูญนี้ ในกรณีที่นายกรัฐมนตรีเห็นสมควรเพื่อประโยชน์ในการระงับ หรือปราบปรามการกระทำอันเป็นการบ่อนทำลายความมั่นคงของราชอาณาจักรหรือราชบัลลังก์ หรือการกระทำอันเป็นการบ่อนทำลาย ก่อกวน หรือคุกคามความสงบที่เกิดขึ้นภายใน หรือมาจากภายนอกราชอาณาจักร ให้นายกรัฐมนตรีโดยมติของ คณะรัฐมนตรีมีอำนาจสั่งการ หรือกระทำการใดๆ ได้ และให้ถือว่า คำสั่งหรือการกระทำเช่นว่านั้นเป็นคำสั่งหรือการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย เมื่อนายกรัฐมนตรีได้สั่งการหรือกระทำการใดออกไปตามความในวรรคก่อนแล้วให้นายกรัฐมนตรีแจ้งให้สภาทราบ”[1]

การใช้กฎหมายมาตรานี้ในสมัยนั้นรู้กันดีว่าเป็นเสมือนอาวุธหรือเครื่องมือสำคัญของรัฐบาลในการกำจัดกวาดล้าง ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาล

บทบาทการปราบปรามคอมมิวนิสต์ของรัฐบาล
จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ดำเนินนโยบายปราบปรามฝ่ายตรงข้ามด้วยข้อหาคอมมิวนิสต์ทันทีที่ขึ้นมามีอำนาจ มีผู้ที่ถูกจับกุมในข้อหาต้องสงสัยว่าเป็นคอมมิวนิสต์มีมากกว่า 40 คน ในบรรดาผู้ถูกจับกุมในครั้งนั้น มีทั้ง นักศึกษา นักหนังสือพิมพ์ กรรมกร และครูซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในแถบภาคอีสาน ด้วยข้อครหาที่ว่าผู้ต้องสงสัยเหล่านี้วางแผนจะแทรกซึมโรงเรียนโดยการโฆษณาชวนเชื่อ ให้หันมานิยมในลัทธิคอมมิวนิสต์ การปราบปรามคอมมิวนิสต์ในสมัยจอมพลสฤษดิ์นั้นมีอยู่มากมายหลายคดี คดีใหญ่ๆ ที่สำคัญและควรกล่าวถึงคือ

คดีของนายศุภชัย ศรีสติ ผู้นำสภาคนงานแห่งประเทศไทย ซึ่งต่อต้านระบอบเผด็จการต่อเนื่องมาตั้งแต่ก่อนหน้าการรัฐประหารของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์แล้ว นายศุภชัย ศรีสตินั้นจบวิศวกรจากญี่ปุ่นเขาได้เข้าทำงานครั้งแรกที่วิทยุการบิน แม้จะเป็นวิศวกรและเป็นนักเรียนนอกแต่เขานึกเสมอว่า เขาคือกรรมกรคนหนึ่ง เป็นคนขายแรงงาน เป็นคนที่ถูกมองว่าต่ำต้อยด้อยค่าในสังคม แต่เขาก็ภาคภูมิใจในความเป็นกรรมกรของเขา ด้วยจิตใจรักความเป็นธรรมและเชื่อมั่นในพลังแห่งชนชั้นกรรมาชีพ เขาจึงได้ตัดสินใจเข้าสู่ขบวนแถวของนักต่อสู้แห่งชนชั้นกรรมาชีพที่สมาคมกรรมกรไทย

นายศุภชัย ศรีสติ (ภาพจาก เว็บไซต์ พิพิธภัณฑ์แรงงานไทย)
จนกระทั่งภายหลังการรัฐประหารของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2501 ผู้นำกรรมกรหลายคนถูกจับกุมคุมขัง พร้อมกับนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยคนอื่นๆ แต่ศุภชัยและสภาคนงานแห่งประเทศไทยของเขายังคงซุ่มทำงานตามอุดมการณ์ต่อไปอย่างไม่เกรงกลัวอำนาจเผด็จการ เขากระจายใบปลิววิพากษ์รัฐบาลเผด็จการกับจักรวรรดินิยมอเมริกาอย่างรุนแรง ใบปลิวเขาถูกแจกจ่ายสู่สาธารณชน จนเป็นที่จับตาของรัฐบาล และแล้วในที่สุด วันที่ 30 มิถุนายน 2502 เขาได้ถูกจับกุมด้วยข้อหาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นข้อหาการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ บ่อนทำลายความมั่นคงของราชอาณาจักร และทรยศขายชาติ จนถูกลงโทษประหารชีวิตด้วยอำนาจตามมาตรา 17 โดยไม่ได้ผ่านกระบวนการยุติธรรม[2]

ต่อมาเป็นคดีปราบคอมมิวนิสต์ที่ต้องบันทึกไว้อีกคดีหนึ่งคือ คดีของครูครอง จันดาวงศ์ ซึ่งเป็นอดีตเสรีไทยสายอีสานร่วมกับเตียง ศิริขันธ์ อีกทั่งยังเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสกลนคร ครูครอง มีบทบาทการต่อสู้ทางการเมืองมากมาย เคยถูกจับข้อหาเป็นกบฏแบ่งแยกดินแดนและกบฏสันติภาพ ได้ถูกปล่อยตัวออกมาในช่วง พ.ศ. 2500 ในกรณีนิรโทษกรรมกึ่งพุทธกาล จนกระทั่งจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก่อการรัฐประหารครั้งที่สองเพื่อยึดอำนาจตนเองใน พ.ศ.2501 พร้อมกับการสถาปนาระบอบเผด็จการเต็มรูปแบบ และกวาดล้างฝ่ายตรงข้าม (ดังได้กล่าวไปแล้ว) ในตอนแรกนั้น ครูครองไม่ได้ถูกกวาดล้างในรอบแรกนี้ คุณครองออกจาก ส.ส.มาประกอบอาชีพเป็นครูควบคู่กับการทำเกษตรกรและค้าขายที่สกลนคร และยังคงทำงานร่วมกับประชาชนเช่นเดิม[3]

ครูครอง จันดาวงศ์
ครูครองและผองเพื่อนมีการจัดตั้งสมาคมลับที่ชื่อ “สามัคคีธรรม” เพื่อทำการต่อต้านอำนาจเผด็จการ และอบรมสั่งสอนประชาชนที่ทุกข์ยากให้รู้จักถึงความสำคัญของชนชั้นกรรมาชีพรวมทั้งให้อธิบายถึงลัทธิคอมมิวนิสต์ อย่างแท้จริงที่ไม่ใช้การกระจายข่าวของรัฐบาล ครูครองทำการต่อต้านอำนาจเผด็จการจนกระทั่งถูกล้อมจับในวันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2504 ท้ายที่สุดก็ถูกคำสั่งประหารชีวิตด้วยมาตรา 17 ของจอมพลสฤษดิ์ โดยไม่มีการไต่สวนพิจารณาคดีแต่อย่างใด ครูครองถูกประหารชีวิตพร้อมกับครูทองพันธ์ สุทธิมาศ ในวัน 31 พฤษภาคม ปีเดียวกัน

รัฐบาลกล่าวอ้างการประหารชีวิตครูครองในครั้งนี้ว่า เป็นการก่อการกบฏต่อความมั่นคงของราชอาณาจักรและราชบัลลังก์ เพื่อป้องกันการกระทำผิดชนิดนี้ต่อไปภายหน้า เจ้าหน้าที่จึงได้ดำเนินการประหารชีวิต รัฐบาลยังกล่าวอีกว่าครูครองบอกว่าอีสานนั้นมิใช่คนไทยหากแต่เป็นคนลาว และดินแดนอีสานนั้นเดิมทีเป็นรัฐอิสระจนกระทั่งไทยเข้ามาปกครอง นายครองจึงได้มีการเรียกร้องปลดปล่อยอีสานจากรัฐบาลกลาง และรวมกับพี่น้องฝ่ายประเทศลาว ดังนั้นรัฐบาลไทยจึงต้องตัดสินประหารชีวิตดังคำกล่าวอ้างที่ว่า[4] ซึ่งเป็นการใส่ร้ายป้ายสีเกินความจริง

อีกคดีหนึ่งคือ สั่งประหาร นายรวม วงศ์พันธ์ สมาชิกกรรมการเมืองพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ข้อหาคอมมิวนิสต์ เขาถูกจับได้และประหารชีวิตต่อหน้าประชาชน เมื่อวันที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2505 นอกจากคดีใหญ่ที่ยกมาเป็นตัวอย่างแล้วยังมีคดีปลีกย่อยต่างๆอีกมากมายที่ไม่สามารถกล่าวถึงได้ทั้งหมด ซึ่งส่วนอยู่ในแถบภาคอีสาน (รวมถึงอีกข้อหาที่ใหญ่หลวงคือ “ข้อหาการแบ่งแยกดินแดน” ที่ชาวอิสานถูกครหาอย่างมากในสมัยนั้น) ในสถานการณ์บ้านเมืองในช่วงเวลานั้น ที่ไร้สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเป็นอย่างมาก ใครก็ตามที่ขัดแย้งกับรัฐบาลของจอมพลสฤษดิ์ผลที่ได้คือถูกกวาดล้างอย่างโหดเหี้ยมจนถูกเรียกขานกันว่าเป็นยุค “ปืนปิดปาก” บทกวีที่สะท้อนภาพการปกครองของผู้นำเผด็จการออกมาได้ดีคือบทกวีของ จิตร ภูมิศักดิ์ ที่ชื่อ “โคลงสรรเสริญเกียรติกรุงเทพยุคไทยพัฒนา” ความว่า..

อำนาจบาตรใหญ่เหี้ยม โหดหืน
ย่ำระบบยุติธรรมยืน เหยียบเย้ย
ปืนคือกฎหมาย…ปืน ประกาศิต
“ผิดชอบอั๊วเองโว๊ย” “ชาตินั้นคือกู”

ถือม.สิบเจ็ดใช้ ประหารชน
เหมือนหนึ่งหมากลางถนน หนักล้า
เห็นคนบ่เป็นคน ควายโง่ (โอ๊ยพ่อ)
กดบ่ให้เงยหน้า “นิ่งโว้ย…ม่านตายู”[5]

และอีกบทกวีหนึ่งที่ว่า…

ถึงยุคทมิฬมาร จะครองเมืองด้วยควันปืน
ขื่นแปรจะพังครืน และกลิ่นเลือดจะคลุ้งคาว[6]

การที่รัฐบาลใช้วิธีรุนแรงเช่นนี้เข้าปราบปรามก็เพราะว่ารัฐบาลพยายามที่จะทำให้ผู้ที่เห็นต่างกับรัฐบาลเกิดอาการกลัว กล่าวคือเป็นการ “เชือดไก่ให้ลิงดู” รวมทั้งรัฐบาลเองในสมัยนั้นยังได้รับความสนับสนุนจากอเมริกาในรูปแบบต่างๆ รัฐบาลคาดหวังว่าการกระทำอย่างนี้ต้องปราบปรามคอมมิวนิสต์ได้อย่างราบคาบแน่นอน แต่แทนที่ปัญหาจะยุติลง (ตามความคิดของรัฐบาล) แต่เปล่าเลย คอมมิวนิสต์หาได้กลัวรัฐบาลไม่ กลับเป็นผลดีต่อพรรคคอมมิวนิสต์เสียอีกที่พรรคฯ จะใช้โอกาสอันนี้ในการปลุกระดมให้ชาวบ้านแอนตี้การกระทำของรัฐบาลมากขึ้น โดยอ้างว่าฝ่ายเจ้าหน้าที่ใช้กำลังปราบปรามประชาชน แล้วทำให้ประชาชนหันมาเข้ารวมกับพรรคคอมมิวนิสต์มากขึ้น จากการที่กวาดล้างคอมมิวนิสต์ของรัฐบาลเผด็จการภายในประเทศอย่างรุนแรงนี้เอง ได้ส่งผลที่ตามมาคือ

ประการที่หนึ่ง พรรคคอมมิวนิสต์ได้ประชุมสมัชชาครั้งที่ 3 ในเดือนธันวาคม 2504 ผลของการประชุมได้ลงมติให้ใช้แนวทางการปฎิวัติติดอาวุธ คือเริ่มฝึกใช้อาวุธเพื่อต่อสู่กับรัฐบาล

ประการที่สอง ชาวบ้าน ปัญญาชนจำนวนไม่น้อยที่ถูกบีบคั้นกดดันจากอำนาจเผด็จการ ตัดสินใจมุ่งสู่เขตป่าเขาไปเข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยจริงๆ สิ่งเหล่านี้ส่งผลให้กองกำลังของพรรคคอมมิวนิสต์ขยายตัวมากยิ่งขึ้น ดังคำกล่าวที่ว่า “ยิ่งปราบยิ่งโต”[7] และก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ โตขึ้นถึงขั้นใช้อาวุธเข้าทำการต่อสู้กับรัฐบาลได้ในสมัยต่อมา

ปลายสมัยของจอมพลสฤษดิ์
ตลอดช่วงเวลาการขึ้นมามีอำนาจของจอมพลสฤษดิ์ นอกจากการปราบปรามอันเด็ดขาดแล้วบทบาททางการเมืองของจอมพลสฤษดิ์นั้น ก็ยังมีด้านต่างๆ ที่ไม่ได้กล่าวถึงให้ได้เห็นด้วยกัน เช่น การออกกฎหมายปราบปรามอันธพาล ส่งเสริมสุขภาพและศีลธรรม ห้ามสูบฝิ่น ส่วนดีก็มีคือช่วยลดค่าครองชีพต่างๆ ของประชาชน เป็นต้น

การเสียชีวิตของจอมพลสฤษดิ์ นั้นเกิดจากโรคตับ โรคไต และอีกหลายโรค เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2506 หลังจากอสัญกรรม ผู้ที่สืบทอดอำนาจต่อมาก็คือ จอมพลถนอม กิตติขจร ในรูปแบบการปกครองนั้นก็เอาระบอบของจอมพลสฤษดิ์มาใช้ แต่หลังจากที่จอมพลถนอมขึ้นมามีอำนาจ คดีอื้อฉาวต่างๆ ของจอมพลสฤษดิ์ก็ผุดขึ้นมามากมาย ทั้งเรื่องคอรัปชั่น เรื่องผู้หญิง และอื่นๆ ส่งผลให้ถูกยึดทรัพย์ทั้งหมดให้ตกเป็นของรัฐ ถือเป็นการสิ้นสุดอำนาจจอมเผด็จการที่ยังไม่มีใครเทียบได้ในประวัติศาสตร์การเมืองไทยสมัยใหม่

เชิงอรรถ :

[1] ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2502 โดยรัฐบาลไทย ให้ไว้ ณ วันที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2502.

[2] รำลึก ศุภชัย ศรีสติ : ความตายของเขาเพื่อเกียรติยศแห่งชนชั้นกรรมาชีพ. ประชาไทย

[3] จากยอดโดมถึงภูพาน : บันทึกประวัติศาสตร์ฉบับสามัญชนบนเส้นทางประชาธิปไตย. กรุงเทพ : สถาบันการเมือง. หน้า105.

[4] ทักษ์ เฉลิมเตียรณ. (2552). การเมืองระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ. กรุงเทพฯ:โครงการตำราฯ. หน้า 268.

[5] จิตร ภูมิศักดิ์. (2517). รวมบทวิเคราะห์ศิลปะและวรรณกรรมของกวีการเมือง. เชียงใหม่ : แนวร่วมนักศึกษาเชียงใหม่. หน้า 10.

[6] จิตร ภูมิศักดิ์. เรื่องเดียวกัน. หน้า 11.

[7] บัญชา สุมา. การเคลื่อนไหวของพรรคอมมิวนิสต์กับนโยบายการป้องกันและปราบปรามของรัฐบาล (พ.ศ.2500-2523). วิทยานิพนธ์อักษรศาสตร์มหาบัณฑิต ภาควิชาประวัติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. 2528. หน้า 109.

อ้างอิง
ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2502 โดยรัฐบาลไทย ให้ไว้ ณ วันที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2502.

กอ.ปค. การก่อการร้ายของคอมมิวนิสต์ในประเทศไทย. กรุงเทพ : ศาสนาภัณฑ์

รำลึก ศุภชัย ศรีสติ : ความตายของเขาเพื่อเกียรติยศแห่งชนชั้นกรรมาชีพ. ประชาไทย

จากยอดโดมถึงภูพาน : บันทึกประวัติศาสตร์ฉบับสามัญชนบนเส้นทางประชาธิปไตย. กรุงเทพ : สถาบันการเมือง.

ทักษ์ เฉลิมเตียรณ. (2552). การเมืองระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ. กรุงเทพฯ:โครงการตำราฯ.

จิตร ภูมิศักดิ์. (2517). รวมบทวิเคราะห์ศิลปะและวรรณกรรมของกวีการเมือง. เชียงใหม่ : แนวร่วมนักศึกษาเชียงใหม่.

ณัฐพล ใจจริง. (2556). ขอฝันใฝ่ในฝันอันเหลือเชื่อ. นนทบุรี:ฟ้าเดียวกัน.

บัญชา สุมา. การเคลื่อนไหวของพรรคอมมิวนิสต์กับนโยบายการป้องกันและปราบปรามของรัฐบาล(พ.ศ.2500-2523). วิทยานิพนธ์อักษรศาสตร์มหาบัณฑิต ภาควิชาประวัติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. 2528.

ภิรมย์ แสนอิสระ. จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ กับการปกครองในระบบรัฐสภา พ.ศ. 2501-2506. ปริญญานิพนธ์การศึกษามหาบัณฑิตเสนอต่อมหาวิทยาลัยนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร. 2523.

พรภิรมณ์ เชียงกูล. (2535). ประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัย เล่ม 1. กรุงเทพ : โอเดียลสโตร์.

คริสเบเกอร์ และผาสุก พงษ์ไพจิตร. (2557). ประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัย. กรุงเทพ : มติชน.

จอมพลสฤษดิ์ ขุนศึกคู่พระทัย สื่อวิดิทัศน์

จุดจบเผด็จการสฤษดิ์กับการอุ้มฆ่าประชาชน สื่อวิดิทัศน์

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 25 มีนาคม 2560

Source: https://www.silpa-mag.com/

The post การปราบปรามคอมมิวนิสต์ในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ พ.ศ. 2501-2506 appeared first on Thailand News.