ติดตามผ่านช่อง : Siammongkol Youtube Channel

ฉาก Y ชาย-ชาย ใน “ลักษณวงศ์” มเหสีถึงกับหึงหวง สู่จุดจบสุดดาร์กในวรรณคดีของสุนทรภู่

ฉาก Y ชาย-ชาย ใน “ลักษณวงศ์” มเหสีถึงกับหึงหวง สู่จุดจบสุดดาร์กในวรรณคดีของสุนทรภู่

พระลักษณวงศ์ และพราหมณ์เกสร หรือนางทิพเกรส ขณะปรนนิบัติรับใช้ ภาพวาดโดย จักรพันธุ์ โปษยกฤต (ภาพจาก หนังสือ อิเหนา ลักษณวงศ์ สมุทรโฆษ)

“ลักษณวงศ์” เป็นนิทานคำกลอน ผลงานกวีนิพนธ์ของสุนทรภู่ สันนิษฐานว่า ประพันธ์ในสมัยรัชกาลที่ 3

ลักษณวงศ์ เป็นเรื่องราวของ “พระลักษณวงศ์” สามารถแบ่งได้เป็นสองช่วงใหญ่ ๆ ช่วงแรกจะเป็นช่วงที่พระลักษณวงศ์ยังเป็นเด็ก ต้องเผชิญความยากลำบากในการตามหาพระมารดา สุดท้ายลงเอยด้วยดี ส่วนช่วงที่สองเป็นช่วงที่พระลักษณวงศ์โตเป็นผู้ใหญ่ ดำเนินเรื่องเกี่ยวข้องกับนางอันเป็นที่รัก คือ “นางทิพเกสร” แต่สุดท้ายลงเอยโศกนาฏกรรม

ในที่นี้จะขอกล่าวถึงช่วงที่สอง ระหว่างที่พระลักษณวงศ์กับนางทิพเกสรกำลังเดินทางกลับบ้านเมืองก็มีเหตุให้ต้องพรากจากกัน นางทิพเกสรพลัดหลงอยู่ในป่าก็โศการ้องห่มร้องไห้หาพระสวามี เป็นเหตุให้เทวดาแปลงกายเป็นพราหมณ์มาไถ่ถามและให้ความช่วยเหลือ ที่สุดเทวดาก็มอบแหวนวงหนึ่งให้นางทิพเกสร เมื่อสวมแหวน นางจะแปลงกายเป็นพราหมณ์รูปงาม มีนามว่า “พราหมณ์เกสร” เหตุที่ต้องจำแลงกายเพราะเห็นว่า นางนั้นมีรูปโฉมเป็นสมบัติ หากเดินอยู่กลางดงก็จะตกอยู่ในอันตราย

ฟากพระลักษณวงศ์ออกตามหาพระน้องนางแต่ไม่พบ ระหว่างนั้นไปถึงเมืองอลังกรณ์ก็ได้ “นางยี่สุ่น” พระธิดาของเจ้าเมืองเป็นพระมเหสี ฝ่ายพราหมณ์เกสรก็ร่อนเร่จนไปพบนายพรานผู้หนึ่ง กระทั่งนายพรานได้พาพราหมณ์เกสรมาเข้าเฝ้าพระลักษณวงศ์เพื่อถวายงานรับใช้

รูปลักษณ์ภายนอกของพราหมณ์เกสรนั้น เป็นที่ประจักษ์ว่า มีรูปงามมากจนเหมือนผู้หญิง นายพรานเมื่อแรกพบพราหมณ์เกสรก็นึกสงสัยอยู่เช่นกัน ดังว่า

“เห็นพราหมณ์ด้นมาคนเดียว   คิดเฉลียวหว่าหวาดประหลาดใจ

แฝงพฤกษาเพ่งพิศพินิจนิ่ง   ดูเพริศพริ้งนวลละอองงามผ่องใส

เอี่ยมสะอาดอ้อนแอ้นอ่อนละไม   แลวิไลกิริยาเหมือนนารี

รูปจริตเป็นหญิงทุกสิ่งสม   เว้นแต่นมมิได้เหมือนนารีศรี”

และเมื่อพระลักษณวงศ์ได้พบพราหมณ์เกสรเป็นครั้งแรก ก็ตกตะลึงในความงาม นึกสงสัยและประหลาดใจในตัวพราหมณ์ผู้นี้เช่นกันว่า รูปร่างลักษณะเหมือนนางทิพเกสร ดังว่า

“พระทรงเดชทอดพระเนตรเห็นพราหมณ์น้อย   ช่างแช่มช้อยชูจิตพิศวง

ตะลึงแลเพ่งพิศพินิจทรง   เหมือนอนงค์งามพริ้งทุกสิ่งอัน

ละม้ายเหมือนเกสรสมรมาศ   คิดประหลาดแต่ที่ไม่มีถัน

เหตุไฉนเข้ามาแล้วจาบัลย์   อัศจรรย์อั้นอึ้งตะลึงไป ฯ”

เมื่อพระลักษณวงศ์เรียกพราหมณ์เกสรมาดูใกล้ ๆ ได้สบตากับก็ยิ่งสงสัย พอทราบว่า พราหมณ์มีชื่อเดียวกับนางอันเป็นที่รัก ก็ยิ่งคิดหนัก ครั้นต่อมา พราหมณ์เกสรได้ถวายงานรับใช้ จนทำให้พระลักษณวงศ์โปรดมาก ทั้งสองสนิทสนมตัวติดกันอยู่แทบตลอดเวลา เมื่อพระลักษณวงศ์เสวยแล้วก็สั่งให้นางกำนัลนำของเสวยไปประทานให้พราหมณ์เกสร เวลาพระลักษณวงศ์สรง (อาบน้ำ) พราหมณ์เกสรก็คอยอยู่รับใช้ เวลาบรรทม ก็คอยพัดอยู่งานให้เสมอ

ถือเป็นฉาก Y ชาย-ชาย อีกฉากหนึ่งในวรรณคดีไทย ดังว่า

“ปางพระองค์ไสยาสน์บนอาสน์แก้ว   ให้ผ่องแผ้วปรีดิ์เปรมเกษมศานต์

เจ้าพราหมณ์น้อยเคียงแท่นแสนสำราญ   คอยรับรสพจมานโองการเธอ

ปางเสวยพระกระยาวรารส   พราหมณ์ประณตน้อมนอบหมอบเสนอ

ถวายพัชนีวีบำเรอ   ภูธรเธอทัศนาเป็นอาจิณ

ปางเสด็จจรลีเข้าที่สรง   พราหมณ์สีบาทบงสุ์พระทรงศิลป์

บิดภูษาผ้าทรงองค์นรินทร์   พราหมณ์ยุพินเสน่หาพระสามี

ปางพระองค์ทรงแต่งเรื่องอิเหนา   พราหมณ์ก็เข้าเคียงเขียนอักษรศรี

เมื่อท้าวติดพราหมณ์ก็ต่อได้พอดี   ท้าวเธอมีพิศวาสประภาษชม”

พระลักษณวงศ์โปรดปรานพราหมณ์เกสรมาก มากเสียจนหลงลืมนางกำนัล นางสนม หรือแม้แต่นางยี่สุ่น เพียงหนึ่งบุรุษกลับสร้างความระทมอมทุกข์ให้กับนางทั้งหลายเหล่านั้น

“เจ้าพราหมณ์น้อยปราโมทย์ยิ่งโปรดนัก   ยิ่งกว่าองค์นงลักษณ์นักสนม

จนห้ามแหนแสนเคืองทุกคนตรม   อกระทมไปทุกคนด้วยจนใจ ฯ”

……..

“พระปิ่นปักจักรพงศ์ดำรงโลก   กระสันโศกพิศวงให้สงสัย

ดูเจ้าพราหมณ์เหมือนนางค่อยสร่างใจ   ลืมอาลัยห้ามแหนแสนอนงค์

ลืมภิรมย์สมสนิทพิศวาส   พระนุชนาฏยี่สุ่นดรุณหง

ไม่วายพิศวาสพราหมณ์อันงามทรง   ละเลิงหลงมิได้ลืมอาลัยลาน”

พระลักษณวงศ์หลงพราหมณ์เกสรมากถึงกับตรัสว่า

“จึงตรัสว่าเจ้าพราหมณ์นี่งามนัก   เราก็รักเหมือนหนึ่งมิตรพิสมัย

ถ้าแม้นเป็นสตรีจะดีใจ   เราจะให้เป็นจอมกระหม่อมนาง ฯ”

และแล้วความอดทนอดกลั้นของนางยี่สุ่นก็ถึงจุดสิ้นสุด ทนไม่ได้ที่พระสวามีรักใคร่สนิทสนมกับพราหมณ์จนเกิดความหึงหวง “ตั้งแต่ได้พราหมณ์มาก็ราโรย นุชนาฏน้อยจิตเจ้าคิดแค้น ในทรวงแสนปั่นป่วนให้หวนโหย ยามบรรทมเพิ่มพูนอาดูรโดย พระพักตร์ผ่องหมองโรยระทมทรวง” เรียกได้ว่า นางยี่สุ่นคับแค้นอยู่ในอก แม้แต่ยามนอนก็โศกเศร้า จนสีหน้าหม่นหมอง

นางยี่สุ่นจึงวางแผนใส่ร้ายพราหมณ์เกสรถึงสองครั้ง แต่ก็ไร้ผลสำเร็จ จนครั้งที่สาม นางแสร้งอุบายว่า มีอะไรติดอยู่ที่ผ้าทรงของนาง แล้วเรียกให้พราหมณ์เกสรหยิบออก พราหมณ์เกสรที่ไม่ทันระวังตัวก็เอื้อมไปหยิบผ้าทรงหมายจะหยิบของที่ติดออกให้ ปรากฏว่า นางยี่สุ่นกลับร้องกรีดกราดขึ้นทันที แล้วปลุกพระลักษณวงศ์ที่บรรทมอยู่จนตื่น จากนั้นก็ฟ้องว่า พราหมณ์เกสรลวนลามนาง

พระลักษณวงศ์ก็หลงเชื่อนางยี่สุ่น สุดท้ายก็สั่งประหารพราหมณ์เกสร

“เพชฌฆาตเห็นนิ่งไม่ติงตน   ละลานลนเดินเรียงเข้าเคียงพราหมณ์

แล้วเงื้อดาบง่าง้างย่างขยับ   ฟันฉาดฉับเศียรกลิ้งกลางสนาม

ชีวิตดับกลับร่างเป็นนางงาม   พระนงรามก็ประสูติกุมารา

พวกคนดูเบียดเสียดกันเยียดยัด   ออกแออัดอลม่านขนานหน้า
เสียงเอะอะอึงโอ้อนิจจา   เจ้าแม่นาลูกพราหมณ์นี่งามจริง
ประหลาดโลกแล้วเห็นจะเป็นเหตุ   ผู้ชายตายกลายเพศเป็นผู้หญิง”

เมื่อประหารนางเกสรแล้ว ปรากฏว่า นางกลับคืนร่างผู้หญิงกลายเป็นนางทิพเกสรเช่นเดิม พร้อมกับคลอดบุตรออกมาอีกคนหนึ่ง ซึ่งก่อนหน้านี้ นางทิพเกสรท้องมาโดยตลอด แต่ด้วยอำนาจของแหวนที่จำแลงกายเป็นชายจึงทำให้ไม่มีใครล่วงรู้

จากนั้นก็เกิดความสับสนวุ่นวาย ทหารรีบไปแจ้งพระลักษณวงศ์

“แต่พอฟันเศียรขาดลงกลาดกลิ้ง   กลับเป็นหญิงพริ้งเพริศดูเฉิดฉาย

แล้วคลอดบุตรงามสุดประเสริฐชาย   วรกายเห็นผิดสกูลพล ฯ”

พระลักษณวงศ์ได้ทราบความจริงก็โศกาอาดูรมาก ในเรื่องก็พรรณาถึงพระลักษณวงศ์ที่ทำใจไม่ได้ ถึงกับต้องเปิดพระโกศดูศพนางอันเป็นที่รัก ฯลฯ จากนั้นก็จัดพิธีศพนางทิพเกสรอย่างยิ่งใหญ่ และเรื่องก็จบลงแต่เพียงเท่านี้

อย่างไรก็ตาม มีผู้วิเคราะห์ไว้ว่า เรื่องลักษณวงศ์น่าจะไม่จบลงเพียงเท่านี้ สุนทรภู่อาจจะยังแต่งไม่จบ เรื่องราวยังสามารถเล่าต่อได้ เพราะนางทิพเกสรไม่ใช่มนุษย์ธรรมดา นางประสูติมาจากดอกบัว น่าจะมีอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์เกิดขึ้นอีก และบุตรที่ประสูติมาก็น่าจะดำเนินเรื่องราวต่อไปได้อีกเป็นประมาณ

จบเรื่องราวสสุดดาร์กในวรรณคดีของสุนทรภู่

เตรียมพบกับนักแสดงซีรีส์ Y มากมาย ในงาน Feed Y Capital 24 กันยายน 2565 เวลา 10.00 น. เป็นต้นไป ที่ SIAM SQUARE ลานจอดรถที่ 3 (SEE FAH) งานนี้ไม่มีค่าใช้จ่าย

รายละเอียดเพิ่มเติม : feedforfuture.co/feed-read/7152

อ้างอิง :

บทนิทานคำกลอนเรื่องลักษณวงศ์ จาก https://vajirayana.org/%E0%B8%A5%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B8%A9%E0%B8%93%E0%B8%A7%E0%B8%87%E0%B8%A8%E0%B9%8C

นายตำรา ณ เมืองใต้. (2545). อิเหนา ลักษณวงศ์ สมุทรโฆษ. พิมพ์ครั้งที่ 5. กรุงเทพฯ : ไทยวัฒนาพาณิชย์.

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 20 กันยายน 2565

The post ฉาก Y ชาย-ชาย ใน “ลักษณวงศ์” มเหสีถึงกับหึงหวง สู่จุดจบสุดดาร์กในวรรณคดีของสุนทรภู่ appeared first on Thailand News.